วันนี้เป็นวันครบรอบ 11 เดือน ของการเป็นสมาชิก GotoKnow ของผู้เขียน ผู้เขียนบอกกับตนเองอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "11 เดือนกับการเป็นสมาชิก GotoKnow ทำให้ผู้เขียนได้ให้และได้รับในสิ่งที่เป็นการเติมเต็มให้กับชีวิต (Self-fulfillment) และเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมา" การเติมเต็มให้กับชีวิต คงจะกล่าวลอยๆ ไม่ได้ จึงขอใช้ลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์ (Maslow's Hierachy of Needs) ดังภาพข้างล่าง ประกอบคำอธิบาย ดังนี้
ตามแนวคิดของมาสโลว์นั้น มนุษย์จะสนองความต้องการของตนไปตามลำดับ จากขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุดไปจนถึงขั้นที่ 8 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด ความต้องการขั้นที่ 1 เป็นความต้องการพื้นฐานทางชีววิทยาและสรีรวิทยาหรือทางกาย (Biological and Phisiological Needs) เช่น ต้องการอากาศหายใจ และปัจจัย 4 เป็นต้น ขั้นที่ 2 เป็นความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) เช่น การปกป้องคุ้มครอง และความปลอดภัย เป็นต้น การเป็นสมาชิก GotoKnow ได้ตอบสนองความต้องการของผู้เขียนตั้งแต่ขั้นที่ 3 ขึ้นไป กล่าวคือ ทำให้ผู้เขียนได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ได้ให้และได้รับความรักจากกัลยาณมิตร (Belongingness and Love Needs : ความต้องการขั้นที่ 3) ทำให้รู้สึกว่า ตนเองมีค่า (Esteem Need) ที่ได้มอบคุณค่าด้านจิต (Mind) และ วิญญาณ (Spirit) ผ่านการเขียนบันทึก การให้กำลังใจ และให้ความเห็นต่อกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นความต้องการในขั้นที่ 4 ได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นและมีทัศนะในการมองโลกกว้างขึ้น อันเป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าประกอบการเขียนบันทึก การอ่านบันทึก และการแลกเเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตร (Cognitive Needs : ความต้องการขั้นที่ 5) ได้ซาบซึ้งในความงามทั้งจากการอ่านบทร้อยแก้วร้อยกรอง ได้ชมภาพสวยงาม และได้ฟังเพลง-ดนตรีอันไพเราะ (Aesthetic Needs : ความต้องการในขั้นที่ 6) จากที่กล่าวมา ก็เท่ากับเป็นการเติมเต็มให้กับชีวิตของตนเอง (Self-actualisation : ความต้องการขั้นที่ 7) และเป็นการช่วยเติมเต็มให้กับชีวิตของคนอื่น (Transcendence : ความต้องการขั้นที่ 8) ไปด้วยในขณะเดียวกัน
ในเวลา 11 เดือนของการเป็นสมาชิก GotoKnow ผู้เขียนได้สร้าง Blogs สำหรับการเขียนบันทึกที่มีขอบข่ายเนื้อหาแตกต่างกันไป 5 Blogs ได้แก่ 1) Pridetoknow ใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านพฤกษานานาพันธุ์และการทำเกษตรแบบพอเพียง (7 บันทึก) 2) Learntoknow ใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษา (4 บันทึก) 3) GoaltoKnow ใช้เขียนบันทึกตามแรงบันดาลใจและเหตุการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา (8 บันทึก) 4) Mantoknow ใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ (3 บันทึก) และ 5) Let's Learn English by the Situation Together ใช้เป็นเวทีเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามสถานการณ์ทางธรรมชาติและสังคม (4 บันทึก) และได้สร้าง Plannets เพื่อรวบรวมบันทึกของสมาชิกใน 10 ด้าน
ตัวอย่างปฏิสัมพันธ์กับกัลยาณมิตร GotoKnow ในเดือนมีนาคม เดือนแห่งความรักของชาวพุทธ คือ ในวันแรกของเดือน ผู้เขียนได้อ่านบันทึกและได้เขียนความเห็นในบันทึกของพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480496) ไว้ดังนี้
ย่างขวบปี...ที่ได้มา เสริมปัญญากับ GotoKnow
ได้เรียนรู้ และเติบโต (รู้ทั้ง) where to go (และ) what to be
มีหนึ่งมิตร ที่ชิดใกล้ คือ "พี่ใหญ่" ผู้แสนดี
มี "ให้ปัน" เป็นวิถี ให้น้อง-พี่ ได้เดินตาม
ขอชื่นชม และเชิดชู ยอดพธู เมืองสยาม
เกียรติประวัติ อันงดงาม ทุกเขตคาม จงยลยิน
ในส่วนของการปฏิบัติงานวิชาชีพนั้น ผู้เขียนได้ให้ความทุ่มเททั้งเวลา (ปกติจะเตรียมการสอน ผลิตสื่อ ตรวจงาน แทบทุกวันที่บ้านในช่วงเวลาประมาณ 20.00-24.00 น., และ 04.30 -07.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่อนุญาตให้นักศึกษาโทรศัพท์ติดต่อได้ตามความจำเป็น) สละแรงกาย แรงใจ สติปัญญา และทรัพย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนในขั้นที่ 8 คือ การสามารถช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพของตน โดยได้ตั้ง “อุดมการณ์ในการทำงานตามหลักอิทธิบาท 4” ไว้ว่า
อุทิศตนเพื่อหน้าที่มี "ฉันทะ" "วิริยะ" บากบั่นหมั่นฝึกฝน
เอาใจใส่ "จิตตะ" ภาระตน มุ่งคิดค้น "วิมังสา" พัฒนางาน
อุปสรรคมากมีมิเคยท้อ แค่ยังพอมีแรงกายไว้สืบสาน
พลังจิตมั่นบ่มอุดมการณ์ งานและงาน... คือมาลีแห่งชีวิต
ภาพข้างล่าง เป็นตัวอย่างของการจัดการเรียนรู้ในภาคเรียนนี้ (2/2554) ในรูแบบต่างๆ ซึ่งมีทั้งการเรียนรู้แบบร่วมมือในกลุ่มย่อย (Co-operative Learning) เพื่อพัฒนาการทำงานเป็นทีมที่เป็นจุดอ่อนของสังคมไทย การเรียนรู้แบบเพื่อนเรียน (Pair Learning) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการเรียนรู้เป็นรายบุคคล เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (Self-directed Learning) โดยเน้นการพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Competencies) ได้แก่ การมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ มีพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียน และมีทักษะในการเรียนรู้ มีการผลิต DVD เพื่อใช้เป็นสื่อในการจัดการเรียนรู้โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ส่วนตัว และสละเวลาให้นักศึกษาที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมทำกิจกรรมนอกเวลานอกตึกเรียน ทำให้ต้องกลับบ้านค่ำบ่อยๆ
เมื่อพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้้ ก็ได้หาทางเสริมพลังใจ ดังส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ที่ได้ร้อยกรองขึ้น ให้นักศึกษาอ่าน และแสดงความรู้สึกนึกคิดอยางเสรีโดยไม่มีการชี้นำใดๆ ซึ่งได้ผลเป็นที่่น่าพอใจ เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่จะเกิดพลังที่จะพัฒนาตนจากข้อความกระตุ้นและเสริมพลังใจ ดังตัวอย่าง
ในด้านการดูแลสุขภาพกายนั้น ผู้เขียนใช้การทำงานบ้านแทนการออกกำลังกาย โดยทำเองทุกอย่าง รวมทั้งงานสวนซึ่งมีทั้งสวนหน้าบ้านหลังบ้านและไม้ประดับระเบียงชั้นสอง ตามประสาคนที่รักต้นไม้ ในที่ทำงานก็ได้ใช้การเดินขึ้นลงบันได ประมาณ 90 % แทนการใช้ลิฟท์ ดังคำอธิบายในภาพล่าง
นอกจากการสอนแล้ว ผู้เขียนยังต้องทำหน้าที่เป็นอาจารย์นิเทศการสอนภาษาอังกฤษของนักศึกษา ซึ่งก็ทุ่มเทอีกเหมือนกัน โดยการขับรถส่วนตัวเติมน้ำมันเองไปนิเทศ ดูการสอนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ และบันทึกภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้นักศึกษาดูประกอบการวิจารณ์เสนอแนะหลังสอน
แม้จะทำงานหนัก แต่ผู้เขียนก็ไม่เครียดเพราะมีความสุขที่ได้ทำตามที่ใจต้องการ และได้หาทางส่งเสริมสุขภาพจิตของตนเอง อย่างเช่น ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ทำงานที่คณะตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ดังกิจกรรมที่ระบุในภาพบน วันนั้นได้รับประทานนมกล่องเดียวเป็นอาหารกลางวัน แต่หลังเสร็จภารกิจ ผู้เขียนก็ยังมีแรงปีนสะพานลอยไปถ่ายภาพถนนสีม่วง และภาพศูนย์ศิลป์ฯ ต่อจากนั้นก็กลับบ้านไปรดน้ำต้นไม้ เตรียมของเข้าฟาร์ม (ที่อยู่ห่างจากบ้านพักในเมืองประมาณ 38 กม.) จ่ายตลาดและขับรถเข้าฟาร์ม ที่ฟาร์มก็ได้บริหารกายบริหารใจในเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนภาคบ่ายและกลางคืนก็ทำงานหลวงที่หอบไปทำที่ฟาร์มด้วยเช่นเคย
ลูกกสาวถามผู้เขียนบ่อยๆ ว่า เมื่อไหร่แม่จะเลิกทำงานหนัก และเมื่อไหร่จะเลิกช่วยคนจนไม่มีเวลาทำงานของตนเอง ผู้เขียนไม่ตอบออกมาเป็นวาจา ได้แต่ตอบในใจว่า…"เมื่อแม่ไม่มีแรงที่จะทำมั้ง" ความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการพัฒนางานของผู้เขียนนั้น น้องชายคนสุดท้อง ได้เขียนความเห็นในบันทึกแรกของผู้เขียน ว่า “ตลอดชีวิตที่ผ่านมา...พี่เป็นคนจริงจังกับงาน จนบางครั้งน้องรู้สึกว่า…มันเกินไป เพราะทุกสิ่งอย่างมันมีเหตุผล มีบริบทที่หลากหลายที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพ คุณลักษณะของงาน แต่ก็ภูมิใจที่เป็นน้องของพี่ ใครที่เป็นศิษย์คงซึมซับคุณลักษณะแม่พิมพ์ผู้ใฝ่เรียนรู้ มุ่งมั่นในการทำงาน เสียสละและทุ่มเทเวลาพัฒนาคุณภาพลูกศิษย์จากพี่ไปบ้าง สิ่งนั้นก็จะไปผลิดอกออกผลในตัวเยาวชนของชาติทั่วทั้งแดนไทย” พี่สาวของผู้เขียนซึ่ง Early Retired ในปี 2547 (ทั้งที่จะเกษียณจริงในปี 2553 แต่เพราะป็นคนเครียดและสุขภาพไม่ค่อยดี จึงขอออกก่อน เวลาใครถามเธอจะตอบทุกครั้งว่า “ขอคืนกำไรให้กับชีวิตโดยการออกไปหาความสุขความสบายให้กับตนเอง ไม่อยากเป็นเหมือนแม่ที่ทำงานจนเกษียณอายุราชการ เสร็จแล้วได้พักอยู่แค่ 4 เดือนเศษๆ ก็เสียชีวิต”) ได้แนะนำผู้เขียนกับครูผู้เข้ารับการอบรมที่เธอได้ไปร่วมเป็นวิทยากร ว่า
ด้วยเห็นเธอมุ่งมั่นสู้ฟันฝ่า พัฒนาครูไทยดังใฝ่ฝัน
อุปสรรคนานาเธอฝ่าฟัน หวังแบ่งปันภูมิปัญญาเทิดค่าครู
เธออุทิศกายใจไม่พักผ่อน แม้เหนื่อยอ่อนกล้ำกลืนยืนหยัดสู้
ด้วยสมองและสองมือฝึกปรือครู ขอเชิดชูด้วยศรัทธาร่วมฝ่าฟัน
.............................................. ...............................................
พี่ๆ ได้บอกให้ผู้เขียน Early Retired ทุกครั้งที่เห็นหน้า เพราะห็นว่าผู้เขียนทำงานหนักแต่กลับไม่ได้รับการเสริมแรงตามที่ทุ่มเทในการทำงานมาถึง 35 ปี มีตำแหน่งบริหารสารพัดริเริ่มงานใหม่ๆ ในทุกตำแหน่ง แต่ได้ความดีความชอบพิเศษ 2 ครั้ง ผู้เขียนก็บอกว่า ตนเองไม่ได้ทำงานหนักเพื่อให้ได้สิ่งเสริมแรงตามที่พี่ๆ กล่าวถึง และที่ยังทำงานอยู่ก็เพราะเห็นว่าคนที่ทุ่มเทพัฒนาวิชาชีพครูมีไม่มากนัก ก็อยากจะทำจนถึงเกษียณ เพื่อวางรากฐานให้กับอาจารย์รุ่นน้อง จะได้ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา ที่ผู้เขียนเคยทำหน้าที่เป็นกรรมการ/ประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้เขียนได้สละเวลาให้คำปรึกษาทั้งในและนอกเวลางานครั้งละหลายๆ ชั่วโมง เป็นวันก็มี ที่ต้องใช้เวลามากเพราะผู้เขียนเน้นคุณภาพของงาน และมักจะให้นักศึกษาทำวิจัยเรื่องใหม่ๆ หรือใช้ทฤษฎีใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากจึงต้องให้เวลาทำความเข้าใจกับนักศึกษา มีอยู่รายหนึ่งมัวไปทำผลงานกลับมาอีกจวนหมดเวลา ผู้เขียนต้องให้เวลาช่วยเหลือหามรุ่งหามค่ำจนจบ เขาได้พูดในวันสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ว่า ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผศ.วิไล ผมก็ไม่จบ เมื่อเสร็จจากช่วยนักศึกษาดังกล่าว ผู้เขียนก็เดินทางเข้ากทม.ไปพบอาจารย์เรื่องเรียนของตนเอง ปรากฏว่าอาจารย์บอกว่าติดต่อช้า จึงไม่ดำเนินเรื่องให้ ทั้งที่มีเวลาอีก 1 ปีการศึกษา (เรื่องในอดีต) เป็นเหตุให้ผู้เขียนหมดโอกาสในการเรียนให้จบหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ (เน้นวิจัย) ทั้งที่สอบภาษาอังกฤษ และ สอบ Qualifying ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจบหลักสูตรผ่านเรียบร้อยแล้ว
ก่อนนี้ ผู้เขียนไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนต่อคำถามของพี่ๆ น้อง และลูก ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ผุู้เขียนทุ่มเทให้กับงาน ให้กับการช่วยคนจนตนเองเสียโอกาสครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งโอกาสในการส่งผลงานขอ รศ. ที่ทำเสร็จตั้งแต่ปี 2548 เหลือเพียงการดำเนินการด้านงานธุรการ แต่ผู้เขียนก็ไม่ให้เวลาในการจัดการ พอได้อ่านบันทึกของของ ดร.จันทวรรณ ปิยวัฒน์ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480596) ก็ทำให้ได้คำตอบชัดขึ้นว่า "Doing this way makes me happy, so I decided to keep doing whatever I have been doing." (ดังภาพล่างขวา http://applechaz.com/faved isuals/are-you-happy/) และคำตอบจากบันทึกของท่าน JJ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480596) ที่ว่า "เป้าหมายในการทำงาน คือ ความสุขใจ การเข้าใจชีวิต และเข้าถึงธรรม ไม่ใช่ลาภยศ" ก็ยิ่งช่วยให้ผู้เขียนมีภาพที่ชัดเจนขึ้น ว่า นั่นแหละคือแนวทางในการทำงานของตน (หวังว่ากัลยาณมิตรจะไม่มองว่าผู้เขียนเป็นพวกองุ่นเปรี้ยวนะคะ) ขอขอบพระคุณทั้งสองท่านที่ได้ช่วยชี้คำตอบ ให้ผู้เขียนนำไปตอบพี่ๆ น้องและลูก ได้ชัดถ้อยชัดคำขึ้น
สวัสดีค่ะ
ชื่นชมความสุข........ของท่านอาจารย์ ที่รับรู้ผ่านจากบทความที่อ่านทุกครั้งค่ะ
บ่อยครั้งไม่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น
ขอขอบพระคุณค่ะ
น้องวิไลใฝ่ใจแต่สิ่งดี
เกือบหนึ่งปีที่ได่้พบสบสุขสันต์
อุดมด้วยวิชาสาระพัน
เป็นกำนัลแก่มวลมิตรทั่วทิศไทย
สวัสดีครับคุณน้องอาจารย์ วิไล ประโยคนี้ใจ ( ลูกกสาวเคยถามผู้เขียนว่า เมื่อไหร่แม่จะเลิกทำงาน เมื่อไหร่จะเลิกช่วยคน) เพราะลูกสาวก็ถามแบบนี้เหมือนกัน ก็ไม่ตอบเหมือนกัน แต่เขียนกลอนติดไว้ที่โต๊ะทำงาน ว่า.....
"สู้ทุกหน ทนทุกคำ ทำทุกอย่าง
ใครถากถาง อย่างไร ไม่เคยสน
ไม่บิดเบือน ไม่เคยเบื่อ ไม่เคยบ่น
ช่วยเหลือคน มีทุกข์ สุขใจเรา" ......ทุกวันนี้จึงไม่รบเร้า ให้เออร์ลี่....
เป้าหมายการทำงาน คือความสุขใจ
การทำงานหากไม่มีความสุข ยากจะสำเร็จ
"ความสำเร็จ เกิดจากความพยายาม แต่ต้องมีความสุข ...โดยไม่หวังเกียรติยศ"
ขอบพระคุณกัลยาณมิตรมากนะคะ ที่กรุณาแวะมาใก้กำลังใจ
พยายามจะตอบเมื่อคืนนี้แล้วและตอนเช้าตรู่แต่ไม่สำเร็จค่ะ วันก่อน นำ Notebook ไปให้ช่างประจำดู พบว่า UHB ช็อตไป 2 ช่อง ซ่อมไม่ได้เสียด้วย เหลือช่องเดียว ต้องใช้ Hub เพื่อเพิ่ม UHB ส่วนการมีปัญหาต่อเน็ทยาก และหลุดบ่อยที่สุด นำ Aircard ไปให้ร้านที่ซื้อมาดู เขาก็บอกว่าใช้ได้ปกติ แต่เวลาเราใช้กลับมีปัญหามาก เลยเป็นอุปสรรคในการเข้ามาพูดคุยกับกัลยาณมิตรค่ะ
สวัสดีค่ะอาจารย์
*** หลายครั้งที่ดิฉันได้รับมอบหมายหน้าที่ใหม่ๆ ให้ ดิฉันรูึกท้อและกลัว ไม่ชอบการเป็นผู้นำหน่วยแต่เราก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เปิดภาคเรียนนี้ดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้างานห้องสมุด พี่ที่มาขอให้ทำก็จบให้ทำมากจากสถาเดียวกันทั้ง 2 คน ไม่กล้าปฎิเสธ แม้ว่าใจจริงไม่อยากทำ เพราะไม่ค่อยมีความรู้ด้านบรรณารักษ์ การมาคิดโครงการใหม่ๆไม่ใช่เรื่องง่ายนักกับงานที่ไม่ถนัด
*** ได้อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว รู้สึกดีขึ้นค่ะ ก็คงต้องสู้ต่อไป
เรียน ผศ.วิไล
มันมากมายเหลือเกินเอาไว้กลับไปอ่านที่บ้าน...ขณะนี้อ่านเล็กน้อยผมอยู่ กทม.ครับ
เรียน ผศ.วิไล
ผมขอโทษนะครับ ผมทดลองนำรูปใส่เข้าไปปรากฎว่ามันเข้าได้ เย้ๆๆๆๆ
สวัสดีครับ
ครูคือใคร กันแน่ ?
ครู คำพูดสั้นๆ ที่สอดแทรกความหมายอันละเอียดลึกซึ้งคำๆนี้เป็นคำเพียงเล็กๆแต่ความหมายสุดจะพรรณนา เด็กๆมักให้ความหมายของคำว่าครู ว่า "เป็นผู้สั่งสอน อบรม บ่มนิสัย" แต่คนเป็นครูเองมักให้ความหมายของคำนี้มา "ผู้ให้ ผู้ดูแล ผู้รักษา"นั้นหมายถึงพร้อมที่จะให้ทุกอย่างที่ครูมี แก่ศิษย์ด้วยความเต็มใจ เพราะศิษย์คือ"ลูก" ลูกของครูทุกคน ครูไม่เคยต้องการรางวัลใด แต่ทำทุกอย่างเพื่อให้ศิษย์ได้รางวัล นั่นคือรางวัลชีวิต รางวัลชีวิตของศิษย์ก็คือรางวัลชีวิตของครู
เพราะครู สอน"คน" ให้เป็น "คน" คนที่ดี มีคุณภาพ คืองานของครู จึงจะเรียกได้ว่าเป็นครูอาชีพ
ไม่มีใคร ไม่มี "ครู"
ใกล้สอบแล้ว ผมขอฝากบทความนี้มา บูชาครู
งานเพื่องาน...เพื่อมวลชนคนทำดี
มาเป็นกำลังใจค่ะ
ด้วยความเคารพยิ่ง
อิน
เรียนท่าน ผศ.วิไล ขอตอบท่านดังนี้
-ขออนุญาตแนะนำท่านอย่าหักโหมเรื่อง IT มากนักนะครับ พักผ่อนให้มากๆครับ...ช่วงนี้เป็นบั้นปลายของชีวิตการรับราชการแล้วนะครับ...มีแต่การนับถอยหลัง...เดินสายกลางเถอะ...ผมเองก่อนจะเกษียณก็มีอาการคล้าย ๆ ท่านนี่แหละ...ขยันมากๆตอน สว. 555 และที่สำคัญคือสายตาต้องถนอมมันมากๆ
-ท่านเก่งนะแก้ปัญหา IT ได้ ถ้าเป็นผมคงจนปัญญา
-ดีใจนะที่มีครูดีๆอย่างท่าน...เห็นอะไรก็คิดถึงนักศึกษา..เตรียมการสอนตลอดเวลา....วันก่อนผมเขียนไว้ในอนุทินเรื่องนักศึกษารุ่นที่ 2 ที่ผมเคยดูแลเขามาก่อน...พวกเขามารับพระราชทานปริญญาบัตรที่สวนอัมพร..นักศึกษาเขาถามหาป๋าเด รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์ (คณบดีอยู่ส่วนกลาง) อาจารย์น้องๆบอกว่าป๋าเดแกเกษียณแล้ว...นักศึกษาบอกว่า "คิดถึงแกนะ" แค่นี้เราก็ภูมิใจแล้ว...เพราะแต่ก่อนเคยดูแลพวกเขามา
-ผมทำอย่างไรก็ว่าตามนั้นนะ ไม่มีแสแสร้ง..เมื่อวานผมอยู่ กทม.ไปดูแลอาการป่วยของลูกชาย (เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ก่อนจะไปปฏิบัติงานกีฬาแห่งชาติที่ขอนแก่น เพื่อนเขาขับรถชนสพานลอยสนามราชมังคลาฯ) พอดีเอาโนตบุ๊คไปด้วยเปิดดูบล็อกของท่านพบพอดีแต่อ่านไม่ไหว...มันมาก....จึงบอกว่าอ่านได้เล็กน้อย Save ไว้เพื่อนำกลับมาอ่านที่บ้าน
-ภาพที่ใส่ได้นั้นเป็นตัวจริงเสียงจริงครับ...บันทึกไว้ตอนก่อนเกษียณ ผมนั่งดูช่างเขาตกแต่ง "จ้าวตุ๊ดตู่" รถยนต์คู่ใจผม..เสื้อที่ใส่ลูกชายให้มาจึงดูเหมือนวัยสรุ่น 555 (ทั่งๆที่ สว.แล้ว) อาการดีใจคงติดมาจาก ดร.ขจิต ลูกชายของอาจารย์แม่นั่นแหละ .....
-ไก่ฟ้าพญาลอ ผมจะทดลองเพาะจริงๆ ถ้าไม่รบกวนท่านจนเกินไปก็ส่งมาได้ที่ สนง.ท่องเทียวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000 ครับท่าน
อ่านทุกคำเลยครับ ละเอียดมาก โดนพี่เดชาแซวเลยว่าหัวเราะ 555 ตอนนี้ผมไม่ได้เพาะต้นไม้ใหม่เลย แอบปลูกถั่วพู ในมหาวิทยาลัยกำลังงอกงาม เย็นนี้จะไปรดน้ำเสียหน่อย เอาน้ำใส่ขวดใหญ่เจาะรู ทำน้ำหยด สนุกดี อาจารย์แม่อย่าไปปีนต้นมะพร้าวแบบคุณยายใน TV นะครับ 555 เอานิสิตที่มาจากใต้(ปัตตานี) มาฝาก เขาเอาน้องตุ๊กตาไปบริจาคให้เด็กๆ น่ารักดี
ถามว่าเอามาจากไหน เอาบอกผมว่าเอามาจากงานวัด 555 ไปซ้อมยิงปืนมา...
ในสัปดาห์ "วันมาฆบูชา วันแห่งความรักของไทย" ได้รับกำลังใจจากกัลยาณมิตรเมืองสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาจากทั้ง 4 ภาค ที่เป็นที่รู้จักทั่วไป ขอขอบพระคุณทุกท่านมากนะคะ
"คุณครูกาญจนา สุวรรณเจริญ" คุณครูภาษาอังกฤษจากเมืองพระพุทธชินราช (พิษณุโลก : ภาคเหนือ)
"น้องสุภัทร่า-เจติโคตร" จากมุกดาหาร ที่ตราประจำจังหวัดมีพระธาตุพนมเป็นส่วนประกอบ เพราะแยกมาจากจังหวัดนครพนม (ภาคอีสาน)
"ลูกขจิต" (ตอนแรกยังไม่มีความเห็น จะคุยด้วยรอบหลังนะคะ) ที่มีที่ทำงานอยู่ที่เมืองพระปฐมเจดีย์ (ภาคกลาง)
และ "คุณประทีป วัฒนสิทธิ์" เจ้าของสโลแกน "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" จากเมืองพระมหาธาตุเจดีย์ (นครศรีธรรมราช : ภาคใต้)
ขอโทษที่เข้ามาอ่านช้าค่ะ ไม่ทราบพลาดบันทึกนี้ของอาจารย์ไปได้อย่างไร
อ่านข้อความบทท้ายสุด ซ้ำแล้วซ้ำอีก
อาจารย์สามารถมีความสุขเพราะได้ทำตามอุดมการณ์ โดยไม่สนใจกับลาภยศที่กระแสภายนอกนิยามว่าเป็นความสำเร็จ
ทำให้นึกถึง อาจารย์หมอโรคหัวใจท่านหนึ่ง
ท่านเป็นคนเก่ง ชอบทำงานเพื่อสังคม แต่ไม่ขอตำแหน่งวิชาการ (เวลาว่างพาลูกไปชมธรรมชาติ)
...
ขอบคุณจากใจ ครูรุ่นหลัง ผู้กำลังติดอยู่บันไดขั้นที่สามค่ะ ;)
"where am I from? and where I do belong?"
***ขอบคุณอาจารย์ที่เข้าใจและให้กำลังใจ เราต้องเรียนรู้และเชื่อว่าเราทำได้ และต้องทำให้ได้ค่ะ
*** ทุกถ้อยคำของอาจารย์ เป็นความเอื้ออาทร ที่อบอุ่น...ดิฉันจะนำไปเป็นแนวทางในการทำงานให้สำเร็จค่ะ
เรียนท่าน ผศ.วิไล
-ลูกชายต้องเข้าเฝือกที่หัวเข่าและขา...ร่างกายส่วนอื่นไม่เป็นอะไรหมอบอกว่าไม่ต้องผ่าตัดก็ได้แต่จะมีผลตอนอายุมากขึ้น...ผมบอกให้ผ่าตัดต้องรอให้ ผอ.หัวหน้างานของน้องต้องกลับจากขอนแก่นก่อนเพื่อติดต่อหมอผ่าตัดที่ศิริราช....ที่สำคัญคือคงหลายเดือนจึงจะหายเป็นปกติและไม่ได้ไปสอนว่ายน้ำพิเศษเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ขาดรายได้
-ถ้าเราจริงใจและตั้งใจสั่งสอนลูกศิษย์เมื่อเขาโตขึ้นเขาจะคิดถึงเราครับ
-อย่าเทียวไปปีนต้นมะพร้าวเชียว...ดร.ขจิต ลูกชายอาจารย์แม่เป็นห่วงนะ...แต่ถ้าจะปีนจริงๆจะติดต่อ TV ไปทำสารคดี 555
-สำหรับไก่ฟ้าพญาลอถ้าได้รับแล้วจะทดลองเพาะดูครับ.....การบริจาคที่ดินสร้างวัดเป็นการทำบุญที่สูงส่ง (หายากมาก) ขอผลบุญจงบังเกิดกับ ผศ.วิไลและครอบครัวนะครับ...
-ผู้บันทึกภาพเสื้อสีเหลืองทายว่าเป็นพี่ผู้ใหญ่สอ.....
มอบดอกบัวบูชาแด่คุณพี่นะคะ
วันนี้ทานอาหารแล้วรู้รสชาติอีกหนึ่งวัน
ขอบพระคุณค่ะ
อิน
ยิ่งทำงานหนัก...
ยิ่งผลักให้มีการเติบโตในตัวเอง
ยิ่งทำงานหนัก
ยิ่งทำให้หลงรักชีวิต
ยิ่งทำงานหนัก
ยิ่งเรียนรู้ว่าตัวเองมีคุณค่ามหาศาล
...
ขอบพระคุณครับ
วันที่ 6 มีนาคมภาคเช้าประชุมคณะฯ มีรับประทานอาหารกลางวัน ตามด้วย Karaoke ได้ร้องเพลงตามวัย "เก็บรัก" และขอเพลงสากลจังหวะ/ทำนองสนุกๆ จากดร.พงษ์ธร ซึ่งร้องได้เพราะมาก ภาคบ่ายตรวจงานและทำคะแนนนักศึกษาฝึกประสบการณ์ กว่าจะได้กลับไปรดน้ำต้นไม้ที่บ้านเรือนขวัญ จ่ายตลาด ก็ทำให้ไปถึงฟาร์มเวลาประมาณ 20.20 น. เลยไม่มีเวลาส่งเมล็ดพันธุ์ไก่ฟ้าฯให้ "ผศ.เดชา" ตามที่บอกไว้ ขอเคลียร์งานด่วนอีก 2 งานนะคะท่าน เสร็จแล้วจะรีบส่งมาให้ ขอบคุณนะคะที่ให้ข้อมูลการบาดเจ็บของลูกชาย หวังว่าหมอจะจัดการดูแลรักษาให้อย่างดีที่สุดนะคะ
เช้าวันที่ 7 มีนาคม ไปร่วมทำบุญตักบาตรที่วัด (ถวายน้ำผึ้งและผลไม้พระด้วย) เสร็จแล้วไปกินซุบมะเขือ กับตำแตงกับชาวบ้าน 4-5 คำก่อนที่จะกลับไปชงกาแฟให้พ่อใหญ่สอ (พ่อใหญ่นะคะ ผศ.เดชา ไม่ใช่ผู้ใหญ่ เป็นคำเรียกผู้สูงวัยแบบชาวบ้านค่ะ) สายๆ พ่อใหญ่สอพาคนงาน 3 คนไปพัฒนาวัด (จ้างรายวันแต่ให้ไปทำงานที่วัดแทนที่ฟาร์ม) เราเองก็เลยไม่ต้องไป อยู่ทำงานบ้าน และจัดสวนหย่อมรอบบ้าน
ช่วงบ่ายพ่อใหญ่สอบอกให้ไปดูของประหลาด มีรอยขุด และส่วนหนึ่งของวัตถุคล้ายกะลามะพร้าวเผาโผล่ขึ้นมา แกซึ่งเป็นอาจารย์สอนสาขาวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้ให้การอบรมครูเรื่องทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่กล้าทำอะไร กลัวอันตราย แต่เราเป็นพวกอยากรู้อยากเห็นสูงจึงเอาน้ำไปเทลงในหลุม และขุดขึ้นมาปรากฏว่าเป็นไข่อย่างที่เห็น จะเอาไปล้างน้ำพ่อใหญ่สอห้ามไว้กลัวอันตราย แต่ก็ยังดมดู....คราวหลังจะเล่าต่อ ตอนเย็นมีีกิจกรรมเวียนเทียนที่วัด ใช้ดอกลีลาวดี (ดอกไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม ที่ทำงานของ "ลูกแผ่นดิน" เป็นดอกไม้บูชา เพราะที่บ้านฟาร์มออกดอกเยอะมาก ไม่มีดอกบัวบูชาเหมือนที่ "น้องอิน" ให้มา ถาดบัวประดิดประดอยสวยงาม และให้ความรู้สึกสงบเย็นจริงๆค่ะ น้องอิน ขอบคุณมากนะคะ เกษียณแล้วพี่มีโครงการจะทำร่องบัวทางเข้าฟาร์มด้วยนะคะ
วันที่ 8 ช่วงเช้า ใช้บันไดยาวตัดแต่งกิ่งชงโคข้างบ้านและสราญรมย์หน้าบ้าน พ่อใหญ่สอมาบอกให้ไปตัดเครือกล้วยที่สุก ก็เลยบอกแกว่า มันน่าจะเป็นงานของแกนะเพราะเราก็กำลังตัดกิ่งค้างอยู่ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่แกทำตามโดยไม่มีคำพูดอะไรให้หงุดหงิดตามมา พอกล้วยเดินทางมาถึงบ้านก็จัดแจงแบ่งให้คนงานและนำไปแขวนที่เรือนไทย แขกไปใครมาจะได้กิน มีกล้วยหักมุกเหลืออยู่หนึ่งหวี เลยนำไปแขวนไว้ด้วย พ่อใหญ่สอไปประชุมที่อบต. 09.00 น. เราเองก็เดินทางเข้าเมืองไปถึงบ้านเรือนขวัญแล้วก็ตัดดอกนางแย้มบูชาแม่ : สตรีสู้ชีวิตผู้ไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ จากทางการ (บูชาเป็นพิเศษเนื่องในวันสตีสากล)
คนทำงานหนักเพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีค่าให้กับลูกศิษย์อย่าง "ลูกแผ่นดิน" จึงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า "ยิ่งทำงานหนัก...ยิ่งผลักให้มีการเติบโตในตัวเอง ...ยิ่งทำงานหนัก ยิ่งทำให้หลงรักชีวิต ...ยิ่งทำงานหนัก ยิ่งเรียนรู้ว่าตัวเองมีคุณค่ามหาศาล" ขอบคุณนะคะ ที่เข้ามาทักทายพูดคุยให้หายคิดถึง
ดีใจมากค่ะ ที่ "น้องกิติยา " ให้คุณค่าแก่ถ้อยคำของพี่ และจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการทำงานให้สำเร็จ ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ
สวัสดีค่ะ
คิดถึงนะคะ มะม่วงน้ำตาลทรายมาฝากก่อนค่ะ
วันที่ 21-25 มี.ค.2555 นี้ ผมจะพาลูกๆ ไปเยี่ยมย่าที่ศรีสะเกษนะครับ
พอดีวันที่ 23 มี.ค.จะไปที่มุกดาหาร....อยากจะแวะเข้าไปเยี่ยมอาจารย์ที่อุบลฯ ด้วย แต่โทรไปทีไรก็ไม่มีใครรับสาย
ก็เลยแวะเข้ามาส่งข่าวให้อาจารย์ทราบในนี้นะครับ
อึดอัดใจมากค่ะ ที่ผ่านมายังมีปัญหาการใช้ Internet ผ่าน Aircard เหมือนเดิม พอเข้ามาคุยกับกัลยาณมิตร ก็จะมีข้อความขึ้นว่า "Errors on page." บ้าง "Done, but with errors on page." บ้าง ทุกครั้งไป ผลที่ตามมาคือ จัดเก็บข้อมูลไม่สำเร็จค่ะ
อาทิตย์ที่แล้วลองไปใช้ Internet ระบบ Wireless จาก Notebook ของตนเองก็ยังมีปัญหาเหมือนเดิม หันไปใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในห้องทำงานที่ไม่ได้ใช้มาทั้งภาคเรียน (เพราะภาคเรียนนี้ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวทั้งหมดในการทำเอกสารและสื่อการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน เพราะมีอุปกรณ์ครบและทำได้โดยไม่จำกัดเวลา) ก็พบว่า ใช้ Internet ไม่ได้ ให้เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการคอมฯ เช็คให้เขาก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน และได้ลง Window ให้ใหม่ ช่วงนี้ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของคณะก็ถูกรื้อปรับปรุงใช้งานไม่ได้ เลยขาดการติดต่อกัลยาณมิตรเป็นเวลานาน ค่ะ
วันนี้นำ Notbook ไปให้ร้านเปิดใหม่ใกล้บ้านเช็คและแก้ปัญหาอีกครั้ง โดยเล่าข้อสันนิษฐานสาเหตุของปัญหาให้ฟัง เห็นว่าได้ลงโปรแกรมใหม่ให้ ทำท่าว่าจะใช้งานได้จะลอง จัดเก็บขอมูลดูนะคะ ข้อความที่คุยกับอ.ธนิตย์ข้างล่าง คุยไว้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม แต่จัดเก็บข้อมูลไม่ได้ค่ะ
ขอบคุณ "คุณครูธนิตย์ " เพื่อนร่วมวิชาชีพมากค่ะ ที่เข้าใจและให้การยอมรับในแนวทางการทำงาน และการดำเนินชีวิตของดิฉัน และขอบคุณที่ยกให้เป็น "ครูจริง" ค่ะ
เดินออกไปข้างนอกสิคะ
แล้วมองไปให้สุดสายตา
พร้อมสูดอากาศเข้าปอดให้เต็ม
แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออก
ความอึดอัดจะคลี่คลายนะคะ
care naka
inn
ศุกร์สวัสดีค่ะอาจารย์แม่
เห็นภาพที่ทำงานแม่ เหมือนคุ้นๆว่าเคยผ่านเส้นทางนั้น เวลานั่งรถจากอุบลฯ ไปศรีสะเกษ
อ่านบันทึกด้วยอาการสุขใจ และรู้สึกดีใจที่ได้รู้จักอาจารย์แม่ ชื่นชมด้วยจิตคารวะค่ะ
กำลังฟังเพลงนี้พอดีเลย ทุกคนต้องเอ่ยประโยคนี้กับอ. แม่นะคะ ขอบคุณค่ะ
Love in your eyes, Sitting by my side,....Teaching me to love with heart.
Give me love, Make me smile, Helping me open my mind.....................
ขอบคุณ "ท่านผอ. ครูวุฒิ" มากนะคะ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ในการจัดการศึกษากัน ตามคำชี้ชวน
ชอบมากค่ะ กับข้อความที่ว่า "เห็นตัวตนของท่าน ผศ.ชัดเจนถ่องแท้" สมแล้วที่ท่านเป็นผู้บริหาร เพราะให้ความใส่ใจในเรื่องของ "คน" ดังที่มีคำกล่าวว่า "มนุษยสัมพันธ์เป็นหัวใจของนักบริหาร"
ดูภาพเด็กๆ และแปลงผักแล้วชอบมากค่ะ จินตนาการว่า น่าจะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองจุดหมายของหลักสูตร ตลอดจนการพัฒนาสมรรถนะสำคัญ (ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต) และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง และมุ่งมั่นในการทำงาน) ของผู้เรียนอย่างแท้จริง
นึกถึงตอนที่ดิฉันได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ไปดำเนินโครงการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) เพื่อพัฒนาการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้หน่วยไม้ดอกไม้ประดับที่โรงเรียนโดยการลงมือปลูกเองและดูแลให้เจริญเติบโตด้วยตนเอง หน่วยผักผลไม้ให้คุณค่า ก็ได้เรียนรู้จากครอบครัวโดยการช่วยผู้ปกครองปลูก ดูแลพืชผักผลไม้ เก็บและนำผลผลิตจากบ้านไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ว่า ผลผลิตของตน (ส้มโอ มะละกอ แตง ถั่วฝักยาว บวบ ฯลฯ) คือ อะไร ได้มาอย่างไร นำไปปรุงอาหารอะไรได้บ้าง และมีประโยชน์อย่างไร เป็นต้น ผลพลอยได้คือได้ฝึกการสื่อสารจากสิ่งใกล้ตัว ซึ่งเด็กๆ ชอบมากค่ะ
ในบรรดา 5 จังหวัดที่ดิฉันเกี่ยวข้อง ดิฉันมีอะไรที่สมพงศ์กับ จ.ศรีสะเกษมากที่สุด เพื่อนคนเดียวในระดับปริญญาตรีที่สนิทสนมที่สุดและยังติดต่อกันอยู่เป็นชาวปรางค์กู่ ลูกศิษย์ปริญญาโทสาขาวิจัยฯ ที่เรียกดิฉันเป็นแม่และกลับไปเยี่ยมทุกปีตั้งแต่ปี 2548 ที่จบการศึกษา อยู่อ.เมือง ลูกศิษย์ระดับปริญญาตรีที่เป็นผู้ตรวจผลงานครูร่วมกันและมีน้ำใจกับดิฉันมาตลอดอยู่ที่อุทุมพรพิสัย และกัลยาณมิตร Gotoknow ที่เป็นท่านแรกที่ไปเยี่ยมฟาร์มไอดินฯ เป็นชาวขุนหาญ และดิฉันเองได้ไปเที่ยวดูงานด้านการเกษตรที่ศรีสะเกษหลายอำเภอรวมทั้งอ.ภูสิงห์ ค่ะ
ยินดีอย่างยิ่งค่ะที่จะได้ต้อนรับท่านที่ฟาร์มไอดินฯ ในโอกาสที่เหมาะสมค่ะ
ขออนุญาตรบกวนท่านช่วยประชาสัมพันธ์ การอบรมตามโครงการพัฒนาความแข็งแกร่งทางวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่อง "การวิจัยทางการแนะแนวเพื่อพัฒนาครูและผู้เรียน" ด้วยนะคะ กำหนดจัดวันที่ 27-29 เมษายน 2555 ณ คณะครุศาสร์ มรภ.อุบลฯ ค่่าสมัคร 450 บาท เป็นค่าอาหารกลางวัน 3 มื้อ ค่าอาหารว่าง 6 มื้อ และค่าเอกสารที่จัดทำแบบมาตรฐานการอบรมครูแกนนำ 1 เล่มพร้อมถุงผ้า ส่วนค่าตอบแทนวิทยากรและ วัสดุอุปกรณ์และค่าดำเนินการอื่นๆ ใช้งบประมาณบริการวิชาการของคณะค่ะ สมัครได้จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2555 ค่ะ หัวเรื่องที่ดิฉันรับผิดชอบคือ เรื่อง "การวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน" และ "การเขียนรายงานการวิจัยและรายงานโครงการ" ซึ่งจะให้เห็นตัวอย่างจากผลงานวิจัยจริงของครู ที่ชี้ให้เห็นจุดอ่อนและแนวทาางการแก้ไขให้ถูกต้องสมบูรณ์ และตัวอย่างเค้าโครงที่น่าวิจัยในปัจจุบันและอนาคตค่ะ
คุณครูที่สนใจสมัครติดต่อได้ที่ ดร.รสวลีย์ อักษรวงศ์ โทร. 086-878-1676 e-mail : [email protected] หรือ ที่ ผศ.วิไล แพงศรี โทร. 087-105-4376 e-mail : pwilai_
[email protected] ค่ะ ขอบพระคุณมากนะคะ
มาขอบคุณความรู้จากท่านอาจารย์ในเรื่องการจัดการเรียนการสอนครับ..
สวัสดีครับอาจารย์ น้อง วิไล.....
นานหลายวันแล้วไม่ได้แวะมา ด้วยชีพจร ต้องจากบ้าน มุ่งหน้าสู่อิสานเหนือ จังหวัดเลย
แล้วย้อนกลับมา เขาค้อ ประทับในงานสร้างของวัด ผาซ่อนแก้ว
ไปชมมาแล้ว น่าไปวิปัสนา นั่งกรรมมัฎฐาน จากนั้นล่องมาอยุธยา พักกายาพอหายเหนื่อย ชมวัดอีกหนึ่งวัน
มุ่งหน้าเข้ากทม. ร่วมงาน HA Forum อีกสามวัน สรุปรวมๆเกือบครึ่งเดือนที่เดินทาง
เสียดายไม่ผ่านเส้นทางไปอุบล จะได้แวะยล สวนไอดิน
สบายดีครับผม
..มาขอแสดงความยินดี..ที่"คุณ ผศ วิไล แพงศรี" ได้ถึงซึ่ง..ความจริงใจต่อ "ตนเอง..และ..สังคม"...เจ้าค่ะ...ยายธี