ตามรอยบาทพระศาสดาในปี พุทธชยันตี ๒๕๕๕


“...สังเวชนียสถาน ผู้มีศรัทธาจะมาดูด้วยระลึกว่า ...ตถาคตประสูติในที่นี้...ว่าตถาคตได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้...ว่าตถาคตประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้...ว่าตถาคตได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้

เมื่อวันที่ ๑๙ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ผู้เขียนได้ร่วมคณะผู้มีจิตศรัทธาที่จะไปตามรอยบาทพระศาสดา นมัสการสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ในประเทศอินเดียและเนปาล ซึ่งปีนี้เป็น มหาธรรมาพิสมัยโอกาสครบรอบ ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่า พุทธชยันตี

 

พี่แป๊ว-วัชรี พันธุ์วุฒิกร กัลยาณมิตรอาวุโส ผู้ชักชวน อธิบายธรรมให้ผู้เขียนได้เข้ามาเดินเส้นทางธรรมเป็นผู้ทำให้ทัวร์คณะพิเศษเกิดขึ้นมาได้ คณะเราเป็นคณะเดินทางขนาดกลาง มี ๒๖ คน กว่าจะได้บริษํทที่เข้ามาช่วยจัดการทุกอย่างได้อย่างลงตัวก็ใช้พลังของพี่แป๊ว และ น้องจา- จารุณี อัศวกาญจน์ ผู้เป็นจุดเริ่มของการขอให้พี่แป๊วจัดโอกาสให้ได้นำคุณพ่อ-คุณแม่ของน้องจาไปนมัสการสังเวชนียสถาน ธรรมะจัดสรรให้ได้บริษัททัวร์ที่เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้ผ่านการบวชเรียนกับพระอาจารย์นวลจันทร์ และ เขาเรียนนิมนต์ พระอาจารย์สมาน ปภาสโร ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่เมืองพาราณสี อยู่อินเดียมาหลายปี เป็นพระวิทยากร เมตตาให้ความรู้ทางธรรมและชีวิตผู้คนอินเดียแก่พวกเราตลอดการเดินทางด้วย  

ตอนจะขอร่วมคณะไปกับเขาก็ไม่ได้ทราบหรอกค่ะว่าเป็นโอกาสมหามงคล พุทธชยันตี เพิ่งได้ทราบความหมายของ พุทธชยันตี จากท่านพระอาจารย์วิทยากร นับว่าเป็นบุญที่ได้ไปเยือน พุทธภูมิในเวลาอันเป็นมหากุศลนะคะ

 

แน่นอนว่าการเดินทางจาริกบุญเช่นนี้ต้องมี ศรัทธา เป็นสิ่งนำพาไปเพราะการเดินทางไป สังเวชนียสถาน นั้นไม่ใช่จะไปกันได้ง่ายๆ จากเมืองไทยเรานั่งการบินไทยบินตรงไปลงเมือง คยา (Gaya) หรือ พุทธคยา นอกนั้นต้องนั่งรถโค้ช ไปตามท้องถนนชนบทเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยที่จะเป็นถนนเรียบที่เราคุ้นเคย 

ที่ทรหดที่สุดคือจากพุทธคยา ไปพาราณสีเพื่อไปค้างคืนก่อนต่อไปเมืองสารนาถ ไปล่องคงคายามเช้าเราต้องนั่งรถที่กระแทก กระเด็นกระดอน ขับเร็วน่าหวาดเสียวแต่แขกถือเป็นการขับแบบปกติ บวกเสียงแตรเกือบตลอดเวลาไปนานถึง ๗ ชั่วโมง ทำเอาผู้เขียนและอีกหลายท่านป่วยเลยค่ะ

พระอาจารย์สมานเตือนให้พวกเราใช้ ปัญญา มีความอดทน ถือโอกาสพิจารณาธรรมในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ให้นึกถึงความเสียสละของพระพุทธองค์ที่ทรงดำเนินด้วยพระบาทเปล่าๆไปทุกที่ เรายังสบายกว่ามากนัก การไปถึงจุดหมายจึงมิใช่แค่ไปถึง ไปกราบไหว้ซากปรักหักพัง ก้อนอิฐแตกหักของโบราณสถานว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือไปชมเพื่อปลงสังเวช สังเวชนี้แปลว่า ระลึกถึง จึงต้องเข้าใจความหมายที่ถูกต้อง ใจต้องน้อมระลึกถึงคำสอนนำมาปฏิบัติเป็น ปฏิบัติบูชา ให้จงได้

ขอยกข้อความในหนังสือ ร้อยวาทะธรรมะปิดทอง โดยพระราชรัตนรังสี (วีรยุทธ์ วีรยุทธฺโธ) พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ท่านได้ยกพระพุทธวจนะในมหาปรินิพพานสูตร มาไว้ที่หน้า ๓๙ ว่า

“...สังเวชนียสถาน ผู้มีศรัทธาจะมาดูด้วยระลึกว่า ...ตถาคตประสูติในที่นี้...ว่าตถาคตได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้...ว่าตถาคตประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้...ว่าตถาคตได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้

    ชนเหล่าใดจาริกไปยังเจดีย์จักมีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”

 

การไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง ได้แก่

  • สถานที่ประสูติ ณ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล

 

วิหารมหามายาเทวี(สีขาว) ที่สร้างขึ้นคลุมโบราณสถานที่มีการขุดค้นว่าเป็นที่ประสูติ ภายในห้ามถ่ายภาพ

ด้านนอกเห็นเสาพระเจ้าอโศกสูง ๒๒ ฟุตเศษ มีข้อความจารึกเป็นภาษาพราหมณ์ว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาบูชา

 

พระเบบี้บุดดา ในรูปทรงเมล็ดข้าวสาร นี้ได้รับจากพระอาจารย์สมาน ในโอกาสตอบปัญหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาถูก

ลักษณะเช่นนี้เรียกกันว่า ปางประสูติ คือเป็นท่าก้าวย่างอยู่บนดอกบัว นิ้วชี้พระสิทธัตถะกุมารชี้ขึ้น หมายถึงการเกิดมาทรงเป็นเลิศ เป็นผู้เจริญและประเสริฐที่สุด ส่วนอีกข้างทรงชี้นิ้วลง หมายถึง ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ภายหน้าไม่มี

 

  • สถานที่ตรัสรู้  ณ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย

พระมหาเจดีย์พุทธคยา และ ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ภาพบนซ้ายเห็นแม่น้ำเนรัญชราอักว้างใหญ่ที่แห้งเหือด เห็นสภาพว่าเป็นสายน้ำที่ท้องน้ำเป็นทรายที่ตื้นมาก คนลงเดินได้

ภาพล่างซ้าย ผู้มีบุญในคณะเราที่เก็บใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ ผู้มาสักการะมักจะคอยจ้องเก็บใบโพธิ์ร่วง วันคนมากๆ ไม่มีใบโพธิ์ร่วงเหลือให้เห็นเลย

  • สถานที่แสดงปฐมเทศนาธรรมเมกขสถูป ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย

 

 

 

 

  • สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา

 

 

ปรินิพพานวิหาร และ ปรินิพพานสถูป

คณะของเราได้มีผู้เตรียมผ้าทอสีทองประณีตงดงามไปห่มพระพุทธองค์ที่แกะด้วยหินทราย คณะจาริกธรรมของทัวร์เอื้องหลวงได้ร่วมบุญช่วยกันคลี่ผ้าห่มองค์พระอย่างเรียบร้อย

น้อมรำลึกถึงพระพุทธวจนะ ปัจฉิมวาจาของพระองค์ที่ทรงกล่าวว่า

“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา...เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด”

 นอกจากนั้นพวกเรายังได้เยือนสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาอีกมากมาย เช่น วัดเวฬุวันซึ่งนับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา พระคันธกุฏิ บนเขาคิชกูฎ ซึ่งเป็นที่พระพุทธเจ้าไปทรงประทับหลายครั้งหลายพรรษา มหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งเคยเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เกาแก่และใหญ่ที่สุดในโลก ได้ไปเยือนบริเวณที่เป็นบ้านนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสในถาดทองก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ และยังได้ล่องเรือในแม่น้ำคงคายามเช้าตรู่ รอชมแสงอาทิตย์ส่องสว่างให้เห็นรายละเอียดแห่งวิถีชาวฮินดูในการบูชาแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของเขา ปิดท้ายการจาริกบุญด้วยการไปสักการะสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธเจดีย์

แต่ละพุทธสถานที่ได้ไป ก็ได้กราบไหว้ สวดมนต์ ทำประทักษิณ ๓ รอบ และนั่งสมาธิ สบายๆ ไม่เร่งร้อน แต่ก็ไม่เยิ่นเย้อ ได้ร่วมทอดผ้าป่าที่วัดไทยพุทธคยา และ วัดไทยกุสินารา เป็นความตื้นตันใจ ปลื้มปิติ อิ่มเอมใจอย่างไม่สามารถอธิบายได้หมด

ขอแบ่งปันทั้งความรู้สึกปิติและผลบุญกุศลครั้งนี้มอบให้แก่กัลยาณมิตรทุกท่าน ขอให้ท่านมีความสุขเบิกบานในความดี ร่ำรวยในอริยทรัพย์กันถ้วนหน้าค่ะ

ผู้สนใจข้อมูลการจาริกสังเวชนียสถานหรือสนใจศาสนาพุทธกับประเทศอินเดียแบบอ่านง่ายได้ข้อคิด ขอชวนให้อ่านหนังสือเล่มนี้นะคะ

หมายเลขบันทึก: 480653เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2012 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ. นุชคะ

น่าปิติโดยแท้ เป็นบุญที่ได้ตามมาอ่าน

สาธุ อนุโมทนา รุ่นพี่กับคณะก็กำลังไปอินเดียด้วยเหมือนกัน

จะกลับมาเร็วๆนี้ครับ

สวัสดีค่ะพี่นุช

ขออนุโมทนาค่ะ

ได้ความรู้ที่ไม่เคยได้มาก่อนเลยค่ะ

(อยากได้รางวัลบ้าง.....แต่คงตอบคำถามไม่ถูกแน่เลย....)

ขอบพระคุณมากๆๆค่ะ ^^

ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมอนุโมทนาบุญด้วยกันค่ะ มีเรื่องเล่าชีวิตที่ได้ไปพบเห็นในอินเดียจะนำมาเล่าในตอนต่อไปนะคะ

กลับมาก็งานมากมาย แต่ก็อยากรีบเขียนเล่าบอกบุญกัน

แผ่นหินจารึก "เบญจศีล" หรือ ศีล ๕ ที่เราคุ้นเคยกัน แผ่นนี้ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าลุมพินีวัน ค่ะ

 

ร่วมอนุโมทนาบุญกับพี่นุชด้วยนะคะ...ช่วงนี้ไม่ได้พบกันเลย...อีกไม่นานจะรับมา ชื่นชมความเติบโตของ นาธรรม นะคะ คิดถึง ๆๆ ค่ะ

 

  • พี่นุชเจ้า..

วันนี้มีโอกาสเข้ามาอ่านบันทึกพี่นุช  ^^  

ช่วงนี้ได้ยินคำว่า "พุทธชยันตี" บ่อย  แต่เพิ่งมารู้ความหมายนี่เองค่ะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท