มองโรคในแง่ดี ตอนที่ 2


การบำบัดความทุกข์ ด้วยหัวใจที่มีแต่ความรัก

ในตอนที่ 1ได้เล่าถึงความเป็นมา ก่อนจะมีโรคเป็นของตัวเอง ในตอนนี้จะเล่าถึงจุดเริ่มต้นการปรับตัวที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เคยเล่าในตอนที่ 1 ว่า เป็นคนเรียนเก่ง ได้เกียรตินิยม ในการเรียน มีความสามารถหลายอย่าง งานฝีมือเย็บปักถักร้อย ทำอาหาร กีฬา หรือแม้แต่ IT ก็เก่งไปหมด เป็นประทาน website ของโรงพยาบาลพิมาย เป็นทั้งช่วยเขียน web ทั้งช่วยออกแบบ ทำให้ website ของโรงพยาบาลเกิดขึ้น ด้วยความเก่งนี่เองที่มันทำให้เกิดปัญหา ซึ่งปัญหาที่เกิดก็มาจากอัตตาของตัวเอง คือมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ทุกสิ่งอย่างฉันทำได้จนทำให้มองคนอื่นว่าไร้สาระไปหมด โน่น นี่ นั่น ก็ทำไม่ได้ นี่คือภาพก่อนป่วย จะไม่ค่อยมีเพื่อน ทุกคนไม่กล้าเข้าใกล้ ไปนั่งอยู่วงไหนทุกคนจะเกรงใจ ไม่เป็นธรรมชาติ ชีวิตมีแต่แบบแผนวิชาการ แถมกำกับให้คนอื่นต้องอย่างนั่น อย่างนี่  ดูเคร่งเครียดไปหมด ชีวิตไม่เคยอยู่นิ่งคิดงานใหม่ๆ ตลอด จนคนอื่นตามความคิดไม่ทัน แต่พอป่วยนี่ซิ  ความคิดมันไปได้เหมือนเดิม  แต่สังขารมันไม่ตอบสนอง เรากลาย เป็นคน ดีแต่พูด จริงๆแล้วอยากบอกคนอื่นๆว่า ฉันไม่ได้ดีแต่พูดจริงๆฉันทำได้แต่สังขารมันไม่ไปและด้วยใบหน้าที่เฉยเมยที่เกิดจากโรคพาร์กินสัน ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกแสดงออกทางสีหน้า ก็ทำให้คนอื่นๆไม่กล้าเข้าใกล้ใหญ่ ช่วงนั้นถามตัวเองตลอดว่า ฉันทำอะไรผิดทำไมไม่มีใครชอบฉันเลย ทำให้มีปัญหาที่ทำงานเก่า หัวหน้างานเกิดความเข้าใจผิดว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดเป็นเพราะเราเป็นต้นเหตุ จึงต้องทำให้ต้องเปลี่ยนที่ทำงาน

ตอนแรกที่รู้เครียดพอสมควร ที่ต้องป่วย วันที่ไปตรวจครั้งแรก คุณสามีไปด้วย พอออกจากห้องตรวจเขาถามว่าเป็นอะไร เราบอกว่าเป็นพาร์กินสัน เขาไม่รู้จักโรคนี้ เขาก็เครียด ยิ่งเราอธิบายว่าจุดกำเนิดของโรคอยู่กลางสมอง เกิดบริเวณ basal ganglia คงทำอะไรไม่ได้รักษาไม่หาย อาการมีแต่ทรงกับทรุด แต่ส่วนใหญ่จะทรุด ตามอายุ เขาไม่พูดอะไร แต่นั่งเงียบตลอดระยะทางที่ขับรถ เมื่อเห็นคนที่เรารักเริ่มไม่สบายใจ มันเป็นกลไกการปรับตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์ เราก็เลยเริ่ม คิดให้คนที่เขารักเราสบายใจขึ้น  เริ่มคิดเล่นๆกับความเจ็บป่วยของตัวเอง เริ่มคิดบวก บอกคุณสามีว่า "ฉันโชคดีนะที่เป็นโรคคนแก่ทั้งที่ยังไม่แก่ จะได้ไม่ต้องเป็นตอนแก่แล้วช่วยตัวเองไม่ได้ไง" เขาถามย้อนว่า "หมอบอกอย่างนั้นหรือ " โกหกตัวเองและเขาอีกว่า ใช่ คนที่เป็นในอายุแค่นี้ ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าเป็นตอนแก่ท่าจะแย่กว่านี้ เดี๋ยวนี้ วิทยาการก้าวหน้ามากรักษาได้ไม่เหมือนคนแก่หรอก ได้ผลนะ เขาสบายใจขึ้น แต่เรารู้ว่านั่นตรงข้าม เพราะโรคนี้เมื่อเกิดในคนแก่ มักเป็นความเสื่อมตามวัย  ไม่ต้องทำอะไรมากยังไงแกก็แก่แล้ว  แต่ถ้าเป็นอายุน้อยๆอย่างฉันนี่น่าห่วงส่วนใหญ่ มักมีสาเหตุที่ทำให่เกิด และสาเหตุนั้นก็อาจจะอันตรายด้วย แต่การที่ฉันได้ พยายามใช้ความรักในการบำบัดความรู้สึกของคนที่เรารักและรักเรา มันทำให้ฉันเห็นมุมมองชีวิตที่เปลี่ยน คือ เมื่อไรก็ตามที่ เรา ทุกข์ ไม่เพียงทุกข์แค่เราแต่คนที่รักเราทุกข์ตามมาอีกเป็น 10, 20, 30 เป็นทวีคูณตามจำนวนคนที่รักเรา แต่เมื่อไรก็ตามที่ เราทำให้คนอื่นสุข ความทุกข์จะเหลือแค่ 1 คือเรา ฉันก็เลยเลือก ที่จะมีความสุขกับทุกข์ที่เกิดขึ้น เป็นอยู่  และจะดับไปพร้อมกับฉันในอนาคต ซึ่งอาจจะเร็วกว่าคนอื่น  แน่ๆความทุกข์จะไม่ทวีคูณ แต่จะเหลือแค่ 1 หรือเหลือเพียงครึ่ง เพราะใจฉันสุข  แต่ทุกข์อยู่เพียงกายเท่านั้น .............ตอนนี้ได้เล่าให้ฟังถึง จุดเริ่มต้นของความสุข และคิดบวก ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เกิดอะไรขึ้นอีกใน 4 ปีที่เป็นพาร์กินสัน เดี๋ยวเล่าตอนต่อไป  ต่ะ

หมายเลขบันทึก: 480586เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2012 03:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2013 05:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

* เป็นการคิดเชิงบวกที่สร้างความสุขแก่ตนและผู้อยู่รอบข้างนะคะ

* สาเหตุของโรคนี้ในกรณีที่เป็นกับคนสาวๆ คืออะไรคะ?

 

สวัสดีครับ

              การเจ็บป่วยช่วยให้หายได้คิดบวก

              เหมือนปลดหมวกหมองหม่นจากบนหัว

              แล้วปล่อยวางไม่หลงดงความกลัว

              คนใกล้ชิดเป็นรั้วคอยปลอบใจ

เก่งมากค่ะ กับความคิดเริ่มต้น

"ฉันโชคดีนะที่เป็นโรคคนแก่ทั้งที่ยังไม่แก่ จะได้ไม่ต้องเป็นตอนแก่แล้วช่วยตัวเองไม่ได้ไง"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท