หมออนามัย โรคต้อหิน


หมออนามัย โรคต้อหิน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ โรคต้อหิน เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคต้อ ที่พบบ่อยๆ มีต้อกระจก ต้อเนื้อ และต้อหิน เป็นต้อเพียงชนิดที่ไม่มีตัวต้อให้เห็นเพราะต้อหิน เป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นการนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง ซึ่งขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลายสายตาเมื่อเป็นมากๆ ก็สูญเสียการมองเห็นในที่สุด ซึ่งเป็นการสูญเสียชนิดถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้ ต้อหิน เกิดจากการทำลายขั้วประสาทตา อาจเกิดขึ้นไม่มีสาเหตุปัจจัยภายนอก หรืออาจพบร่วมกับ โรคทางตาอื่นๆ ที่แทรกซ้อนมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดรักษาโรคอื่นๆในดวงตา หรือแม้แต่เกี่ยวพันกับโรคทางกายอื่นๆถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในตัวบุคคลนั้นๆ ที่ทำให้เสื่อมของขั้วตา ปัจจัยเสี่ยง ต้อหินและเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่ควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือความดันในลูกตาที่เพิ่มขึ้นสูง ซึ่งอาจขึ้นสูงตามธรรมชาติ เนื่องจากความเสี่ยงในลูกตา หรือเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยาที่ใช้ จากอุบัติเหตุหรือจากการผ่าตัด น้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาความดันภายในปกติ แต่ถ้าหากมีการอุดตันบริเวณที่ท่อระบายจะทำให้ความด้นลูกตาสูงขึ้นได้ สาเหตุการเกิดต้อหิน เกิดจากเส้นประสาทถูกทำลายจากการมีความดันน้ำในลูกตาสูง สามารถแบ่งออกตามสาเหตุได้ดังนี้ 1.ต้อหินมุมเปิด เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี มักสังเกตไม่พบความผิดปกติหรือสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นเริ่มจากการสูญเสียการมองเห็นจากรอบรอบนอกลานสายตาและค่อยๆลามเข้ามาตรงกลางจนมืดไปในที่สุด 2.ต้อหินแต่กำเนิด พบได้ในเด็กแรกเกิดหรือภายในช่วงอายุ 2 – 3 ขวบ เกิดจากระบบระบายน้ำในลูกตาไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ตั้งครรภ์ 3.ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน เกิดจากมีการอุดตันของทางระบายน้ำในลูกตาทำให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมีอาการปวดตาและบริเวณหัวคิ้วอย่างรุนแรง ตาแดง การมองเห็นลดลงอย่างมาก มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ต้อหินกลุ่มนี้ต้องการ การรักษาทันทีเพื่อลดอาการรวมทั้งป้องกันตาบอดที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาข้ามวันหากไม่ได้รับการลดความดันลูกตา 4.ต้อหินจากสาเหตุอื่น เช่นโรคเบาหวาน อุบัติเหตุทางตา แล้วมีการอุดตันของทางระบายน้ำในลูกตาทำให้ความดันตาสูงขึ้น อาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือรวดเร็วเฉียบพลัน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน 1. อายุ คนที่มีอายุมากจะมีโอกาสเป็น ต้อหิน มากกว่าคนที่มีอายุน้อย ต้อหินบางชนิดเกิดขึ้นในเด็กแรกเกิดหรือกลุ่มเด็กเล็กได้เช่นกัน แต่พบไม่บ่อยเท่าผู้สูงอายุ ต้อหินชนิดมุมเปิดพบมากในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี 2. ความดันในลูกตา คนที่มีความดันในลูกตาสูงจะมีโอกาสเกิดโรค ต้นหิน ได้มาก 3. ประวัติครอบครัว หากมีสมาชิกภายในครอบครัว หรือบรรพบุรุษเป็นต้อหินก็จะมีโอกาสเป็น ต้อหิน มากขึ้นและควรได้รับการตรวจเป็นระยะๆ 4. สายตาสั้นมากหรือยาวมาก พบว่าคนที่สายตาสั้นมากๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค ต้อหิน ชนิดมุมเปิดมากกว่าคนปกติ และในคนที่สายตายาวมากๆ โดยมีขนาดของลูกตาเล็กกว่าปกติ ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหิน ชนิดมุมปิด 5. โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และความผิดปกติทางเลือดและเส้นเลือด ปัจจุบันมีหลักฐานบ่งชี้ว่าความเข้มข้นของเลือดที่ผิดปกติอาจสัมพันธ์กับโรคต้อหิน โรคของเส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคลูปัส ก็เป็นปัจจัยเสี่ยง ที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงขั้วประสาทตา และทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินได้ 6. ผู้ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่นบางคนเป็นต้อลม ต้อเนื้อ หรือคันตา บางครั้งไปซื้อยามาใช้เอง ถ้าเป็นยาที่มีสเตียรอยด์ผสมอยู่ เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและเกิดเป็นต้อหินได้ ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญถ้าไม่จำเป็นอย่าไปซื้อยาหยอดตามาใช้เอง 7. การได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน และโรคตาบางชนิด อาการของต้อหิน โรคต้อหินส่วนใหญ่เป็นชนิดไม่มีอาการ การดำเนินของโรคจากเริ่มเป็น จนถึงการสูญเสียการมองเห็นใช้เวลานานเป็นปีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อหินที่เกิดจากความเสื่อม ซึ่งไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็น ซึ่งใช้เวลา 5 - 10 ปี ขึ้นอยู่กับว่าจะมาตรวจพบต้อหินระยะใด เช่น พบตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มเป็น จะสามารถควบคุมไว้ได้ และอาจจะไม่สูญเสียการมองเห็น แต่ถ้าตรวจพบต้อหินระยะที่เป็นมากแล้ว หรือระยะท้ายๆ ก็อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่นภายในเวลาเป็นเดือน ก็จะตาบอดได้ ส่วนต้อหิน ชนิดมุมเปิดที่มีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการ อาการปวดตา เมื่อมองไปที่ดวงไฟ จะเห็นเป็นวงกลมจ้ารอบดวงไฟ ตาแดงทันที่ทันใน ปวดมากจนคลื่นไส้อาเจียนต้องมาที่โรงพยาบาล ปวดศีรษะมากในตอนเช้า ความดันตาเพิ่มขึ้นอย่างทันที่ทันใด กระจกตาบวมหรือขุ่น อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปจะไม่ทราบว่าตัวเองนั่นเริ่มเป็น ต้อหิน ยกเว้นต้องมาให้จักษุแพทย์ตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม ต้อหิน ที่มีระยะเรื้อรังจากความเสื่อมที่ค่อยๆเป็นค่อยๆไป การวินิจฉัยโรค 1. การตรวจโรคต้อหิน จักษุแพทย์จะทำการตรวจเช็คตาโดยละเอียดรวมทั้งการซักประวัติทางร่างกาย ประวัติทางครอบครัว 2. การวัดสายตา ขั้นตอนการตรวจหาต้อหินเริ่มแรกจะวัดการมองเห็นก่อนว่าอยู่ในเกณฑ์ใด ปกติหรือไม่ 3. วัดความดันภายในลูกตา สิ่งที่เน้นสำหรับการตรวจต้อหิน คือการวัดความดันลูกตา ซึ่งเป็นการตรวจที่สำคัญมากของการตรวจต้อหินเพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่ควบคุมได้ 4. ตรวจดูขั้วประสาทตา และจอตา เป็นการตรวจการทำงาน และรูปลักษณะของขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่กระทบกระเทือนโดยตรงจากต้อหิน 5. การตรวจพิเศษโดยเฉพาะสำหรับโรคต้อหิน คือการตรวจดูมุมตาด้วยเครื่องตรวจลานสายตาอัตโนมัติ เพราะให้ข้อมูลละเอียดกว่าและการตรวจดูการกระจายของเส้นใยประสาท 6. การตรวจขั้วประสาทตาด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถถ่ายภาพและวิเคราะห์ขั้วประสาทตาได้ด้วยคอมพิวเตอร์ โดยการถ่ายรูปขั้วประสาทตาได้มุมเฉพาะ แล้วส่งสัญญาณจากกล้องไปที่คอมพิวเตอร์ จากนั่นแสดงออกทางจอภาพได้ทันที่ ด้วยเครื่องมือนี้ จักษุแพทย์จะสามารถวัดความกว้าง ยาวและลึกของขั้วประสาทตา ได้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และใช้ในการติดตามผู้ป่วยโรคต้อหินได้อย่างใกล้ชิดและละเอียดลออ การรักษา การรักษาอาการแบบเฉียบพลัน มักใช้การผ่าตัดหรือร่วมกับการใช้ยาหยอดและยารับประทานการรักษาแบบเรื้อรัง ใช้ยารับประทานแต่ มักรับประทานตลอดชีวิต ปัจจุบันมีการใช้แสงเลเซอร์รักษาต้อหินทั้งในแบบอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง การป้องกัน 1. ผู้ที่มีอาการปวดตา และศีรษะพร้อมกันอย่างรุนแรงควรไปพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด 2. ไม่ควรซื้อยาหยอดตา มาหยอดตาเป็นเวลานานๆ 3. ผู้ที่มีอายุ 35 – 40 ปีขึ้นไปขึ้นไปควรวัดความดันลูกตาปีละหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นต้อหิน ได้แก่ ผู้ที่มีต้อหินเป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีปานแดงหรือปานดำบนใบหน้า และผู้ที่เคยถูกกระทบกระเทือน บริเวณตาอย่างแรงเพราะต้อหินที่ค่อยๆทำลายประสาทตาไปแล้ว การรักษาจะทำให้ไม่เป็นมากขึ้นเท่านั้นแต่ไม่กลับดีเท่าเดิม การผ่าตัด การผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยต้อหินเป็นสิ่งจำเป็นมาก หากไม่สามารถควบคุมโรคได้ด้วยยาและเลเซอร์ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเพื่อลดความดันในลูกตาแบบธรรมดาไม่ได้ผล ก็อาจจำเป็นต้องใช้ท่อสงเคราะห์พิเศษ ซึ่งเชื่อมต่อกับจานหรือที่เก็บกัก การผ่าตัดชนิดจุลศัลยกรรม เป็นการผ่าตัดต้อหินเพื่อลดความดันลูกตา โดยแพทย์ทำการผ่าตัดเจาะรูหูที่ผนังลูกตา เปิดทางระบายน้ำข้างในออกมาใต้เยื่อบุตา เพื่อลดความดันในลูกตา การผ่าตัดชนิดนี้เรียกว่า Filtering Microsurgery อาจทำเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในได้ ยังมีการใช้สารเคมีบำบัด หรือยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด มาช่วยเสริมการผ่าตัดโดยออกฤทธิ์ไม่ให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดรูนั้น เพื่อจะได้ระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาออกจากรูระบายได้นานขึ้นหรือตลอดชีวิต การผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ถ้าผ่าตัดแล้วยังไม่ได้ผลลดความดันลูกตา อาจเป็นเพราะร่างกายสร้างพังผืดมาปิดแผลผ่าตัดหมด ท่อระบายน้ำเป็นท่อขนาดเล็ก ลิ้นในท่อทำหน้าที่เปิด-ปิด โดยเมื่อความดันลูกตาเพิ่มขึ้น ลิ้นจะเปิดเพื่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ได้ผลดีร้อยละ 70 – 90 ในเวลาหนึ่งปีภายหลังการผ่าตัด ในช่วงเวลาผ่าตัดระยะแรก อาจจะมีการอักเสบขึ้นบ้าง ผู้ป่วยอาจมองไม่ค่อยชัดในช่วงแรกแต่อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่สภาพปกติภายใน 4 – 6 สัปดาห์ไปแล้ว พบว่าสายตาสายตาก็จะกลับมามองเห็นเหมือนก่อน การผ่าตัดไม่ได้ดีหรือแย่ไปกว่าเดิม สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดแล้ว ก็ยังจะต้องมีการควบคุมความดันในลูกตาไปตลอดชีวิต และต้องหมั่นมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าคุณเป็นโรคต้อหิน สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจคือ 1.โรคต้อหินส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาควบคุมโรคไม่ให้แย่ลงได้ 2.โรคต้อหินทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีดังเดิมได้ การรักษาจึงมุ่งหวังที่จะไม่ให้มีการสูญเสียมากขึ้น หรือป้องกันไม่ให้ตาบอด แม้การรักษาทั้งหมดในปัจจุบันจะเน้นที่ความดันลูกตา แต่ความดันลูกตาไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวที่ใช้ติดตามดำเนินโรค การรักษาจะต้องติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อโรค ซึ่งอาจแตกต่างไปในผู้ป่วยแต่ละราย จักษุแพทย์จึงอาจจะใช้การการตรวจและรักษาที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย 3.เป้าหมายของการลดความดันลูกตาไม่มีค่าตัวเลขที่แน่นอนสำหรับผู้ป่วยทุกคนแต่จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความดันลูกตาและระดับความรุนแรงของโรคเมื่อเริ่มการรักษา และการเปลี่ยนแปลงของลานสายตา และความหนาของเส้นใยประสาทตา ระหว่างการดำเนินการรักษา ดังนั้นการที่ผู้ป่วยหยอดยาลดความดันลูกตาและสามารถควบคุมค่าความดันลูกตาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ไม่ได้หมายความว่าควบคุมโรคได้ จึงไม่ควรใช้ยาเองโดยไม่ได้พบแพทย์เมื่อรับการตรวจติดตามการดำเนินโรคและประสิทธิภาพตลอดจนผลข้างเคียงของยาเป็นระยะ 4.ผู้ป่วยรายใดที่มีปัจจัยเสริมต่างๆที่จะทำให้โรคแย่ลงร่วมด้วย เช่นถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะต้องพยายามควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 5.ในกรณีที่ได้รับการรักษาด้วยยาหยอดตา จะต้องตอบตอบคำถามตัวเองเกี่ยวกับการใช้ยาให้ได้ คือ ชื่อของยา วิธีการใช้ยา หยอดอย่างไร บ่อยแคไหน ต้องตรงเวลาทุกครั้งหรือไม่ ถ้ามียาหยอดหลายตัวจะต้องหยอดแต่ละตัวห่างกันเท่าไหร่ สามารถใช้ยาร่วมกับยาตัวอื่นหรือไม่ วิธีการเก็บยา ต้องแช่ตู้เย็นหรือไม่ ต้องป้องกันยาจากการถูกแสงโดยตรงหรือไม่ เมื่อเปิดใช้แล้วจะเก็บยาได้นานแค่ไหน อาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาที่ใช้คืออะไรจะป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร ยาจะมีผลกระทบกับโรคประจำตัวที่มีอยู่หรือไม่ โดยผู้ป่วยต้องขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาจากจักษุแพทย์ ตั้งแต่รับการรักษา 6.ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์หรือการผ่าตัดจนสามารถควบคุมโรคได้ดีแล้ว จะต้องได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะ เพราะอาจมีความดันลูกตากลับมาสูงอีกได้ภายหลัง 7.ไม่ควรซื้อยาหยอดตาแก้อักเสบ หรือยาหยอดตาอื่นใดมาใช้เอง เพราะยาบางตัวจะมีผลทำให้ความดันลูกตาสูงได้ 8.โรคต้อหินถือเป็นรายโรคประจำตัว จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งเมื่อต้องได้รับการรักษาโรคอื่น
คำสำคัญ (Tags): #ต้อหิน
หมายเลขบันทึก: 480276เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2012 06:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท