ตราสารหนี้มีอะไรน่าลงทุน?


ตราสารหนี้

คุณคงทราบความหมายโดยรวมของ “ตราสารหนี้” มาแล้ว แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า หากคุณลงทุนกับตราสารหนี้ เท่ากับคุณเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ คุณจะไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆ ทำได้แค่เพียงรอรับผลตอบแทนจาก “ผู้ขอกู้” หรือลูกหนี้ (บริษัทนั้นๆ) ตามกำหนดระยะเวลาชำระตามที่ได้ตกลงกันไว้เท่านั้น เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปร่วมบริหารกิจการ เว้นแต่ว่า “กิจการนั้นจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด”

 

                ตราสารหนี้ มีระยะเวลาการไถ่ถอนของตราสารหนี้หลายระยะ ได้แก่

  1. ระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี
  2. ระยะกลาง 1 – 5 ปี
  3. ระยะยาว ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

 

                ตราสารหนี้ที่มีการซื้อขายในตลาดทุน ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 1 ปี (ระยะกลางถึงระยะยาว) โดยผู้ซื้อจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ ตามที่ตราสารหนี้เหล่านั้นกำหนด

                พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรบริษัทเอกชน หรือ “หุ้นกู้” คือคำที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ทั้งหมด คือ “ตราสารหนี้” แต่เรียกเพื่อให้ดูดี มีระดับ เหมาะสมกับการลงทุน เพราะ “ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้” แต่คำทั้งหลายเหล่านี้กลับมีความหมายเดียวกัน

                “พันธบัตร” จะเป็นนามเรียกขานตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชน ส่วน “หุ้นกู้” มักจะเป็นนามเรียกขานตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน เป็นส่วนใหญ่

                ทั้งนี้การเรียกขาน ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ในเรื่องของการค้ำประกันว่า จะเป็นตราสารหนี้ประเภทใด

                ส่วนในต่างประเทศจะใช้คำเรียกขานว่า Bond” ไม่ใช่ Mr. Bond 007 ภาพยนตร์สืบสวนกับบุรุษหนุ่มมาดนุ่ม Perfect Man ผู้ทรมานใจสาว ซึ่ง Bond จะใช้กับตราสารหนี้ทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน แต่เมื่อตราสารหนี้ไม่มีหลักค้ำประกัน จะเรียกให้ยาวขึ้นว่า “Debenture”

 

ทำไมจึงควรลงทุนกับตราสารหนี้?

                เมื่อคุณลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน คุณจะอยู่ในสถานะเจ้าหนี้ แม้ความเสี่ยงจะไม่สูง (ถ้าเลือกลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่มีสถานะภาพแข็งแรง) แต่ผลตอบแทนอาจจะน้อย และก็ยังเป็นการสร้างความมั่นใจในการลงทุน ซึ่งผู้ที่เลือกลงทุนกับตราสารหนี้นั้น ก็เพราะ

 

  1. 1.                                      ความเสี่ยงต่ำ

                เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะคุณแทบไม่ต้องออกแรงลุ้นระทึกให้หัวใจตึกตักโครมคราม ในเมื่อการลงทุนกับตราสารหนี้จะทำให้คุณเป็นเสมือน “เจ้าหนี้” จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเท่าตราสารทุน เพราะตราสารหนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคา (Volatility) น้อยกว่าตราสารทุน และเมื่อมีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนที่คุณจะได้ ก็ย่อมต้องต่ำตามไปด้วย

  1. 2.                                      สม่ำเสมอ

                เพราะตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่แน่นอน คงที่สม่ำเสมอ เพราะมีการกำหนดจ่ายดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า คุณจึงจินตนาการถึงดอกเบี้ยได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง จนสามารถคาดการณ์เป้าหมายล่วงหน้าได้ค่อนข้างชัดเจน แล้วไฉนไยไม่เลือก “ตราสารหนี้” ไว้เป็นสินค้าน่าพิจารณาอีกชิ้นหนึ่ง3.        เจอสภาพคล่อง

                ตราสารหนี้มีตลาดรองรับ (Marketability)  ทำให้การซื้อขายเปลี่ยนมือของตราสารหนี้ทำได้คล่องตัว ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนการซื้อหวยใต้ดิน ที่ต้องคอยหลบคอยซ่อน ในช่วงของการซื้อขาย

                หากเป็นตราสารหนี้ ที่ออกโดยรัฐบาลหรือบริษัทเอกชนที่สถานะทางการเงินมั่นคง ก็จะทำให้เกิดสภาพคล่อง (Liquidity) คือ คุณสามารถจะเปลี่ยนแปลงตราสารหนี้ ไปเป็นเงิน เพื่อที่จะนำไปชำระหนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพราะการซื้อขายเปลี่ยนมือของตราสารหนี้ มีความสะดวกสบายง่ายมาก

4.             สอดคล้องกฎหมาย

                คุณสามารถนำตราสารหนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงทรัพย์สินสภาพคล่องตามกฎหมาย ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน จึงนิยมลงทุนในตราสารหนี้ คุณจึงมั่นใจได้เลยว่า สภาพคล่องจะมีค่อนข้างสูงในตลาดตราสารหนี้

5.            ใช้เพื่อการอื่น

                นอกจากคุณจะลงทุนในตราสารหนี้แล้ว สิ่งที่คุณจะได้เพิ่มเติมเหมือนเป็นของแถมคือ สามารถนำไปอ้างอิง หรือการค้ำประกันทางธุรกิจ หรือการติดต่อราชการโดยต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน คุณก็สามารถนำเอกสารการลงทุนตราสารหนี้ยื่นแทนเงินสดได้ทันที

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #ตราสารหนี้
หมายเลขบันทึก: 478658เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท