ทำไมต้องกองทุนรวม?


กองทุนรวม

 

“อยากลงทุน แต่ยังไม่อยากเสี่ยงอ่ะ!”

 

          คำบ่นเพื่อหาตัวช่วยตัดสินใจก่อนการลงทุน แล้วประโยคยอดฮิตติดชาร์ต ก็จะวิ่งเข้ามาในสมองของคุณทันที “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษารายละเอียดก่อนการลงทุน!” เป็นรอบที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้กว่าที่คุณจะเริ่มลงทุน เพราะพอตั้งใจจะลงทุน “ประโยคอมตะก็มาอีกแล้ว” คอยปลุกระดมให้คุณเหี่ยวเฉาตลอดเวลา แล้วคุณก็ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลใหม่อีก เพื่อให้แน่ใจว่า “จะไม่ขาดทุน” จนกลายเป็นวัฏจักรซ้ำซาก หากคิดจะลงทุน

 

กองทุนรวม ดียังไง?

 

“จะลงทุนแต่ไม่แน่ใจ โปรดเลือกใช้กองทุนรวม”

 

          เพราะกองทุนรวม (Mutual Fund) มีความเสี่ยงน้อย คุณไม่ต้องคอยเช็คข้อมูลบ่อยๆ มีหลายคนแนะนำมือใหม่ว่า “การลงทุนที่ไม่ค่อยเสี่ยง มาลงทุนกับกองทุนรวมสิ” แล้วกองทุนรวมมีดียังไง คุณถึงวางใจและมั่นใจได้ว่า “ไม่เบี้ยว ไม่บิดพลิ้ว”

 

          กองทุนรวม คือ การนำเงินจากนักลงทุนหลายๆ คนมารวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ พร้อมกับจดทะเบียนให้กลายเป็นนิติบุคคล แล้วนำเงินของทุกๆ คน มาร่วมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา

 

          สิ่งที่คุณจะได้รับจากกองทุนรวมก็คือ “หน่วยลงทุน (Unit Trust)” เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงว่า คุณเป็นเจ้าของเงินจำนวนนั้นจริง จัดตั้งและบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) และนำผลตอบแทนมาเฉลี่ยคืนแก่คุณตามสัดส่วนที่ลงทุนในครั้งแรก

 

          ดังนั้น กองทุนรวม คือ การที่คุณนำเงินที่ต้องการลงทุนมาให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ดูแลเรื่องการลงทุน แทนคุณ!

 

สินค้าของกองทุนรวม

 

          เมื่อทราบความหมายทั้งหมด ของกองทุนรวมแล้ว ก็ย่อมทำให้คุณเกิดความสบายใจขึ้นระดับหนึ่ง กองทุนรวมอาจจะเป็นเสมือนโค้ชส่วนตัว เกี่ยวกับการลงทุนเลยก็ว่าได้ การที่คุณค่อยๆ เรียนรู้จากกองทุนรวม จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความพร้อม เมื่อคุณเต็มร้อยหลีกถอยความกลัว ก็ขยับขยายไปลงทุนด้วยตัวเอง เดินเข้าตลาดเงินด้วยความองอาจมาดมั่น เพราะสินค้าของกองทุนรวม ไม่ได้แตกต่างจากสินค้าหลักในตลาดทุนเลย ได้แก่

 

  1. 1.    หุ้นสามัญ (Common Stocks หรือ Ordinary Shares)

          เป็นการออกตราสารสิทธิ แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ หรือตราสารทุน เมื่อกิจการนั้นมีกำไรจากการดำเนินงาน คุณจะได้รับเงินปันผลในอัตราที่จัดสรรตามสัดส่วนผู้ถือครอง โดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เงินปันผลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่ผลกำไรและกระแสเงินสดรายรับ จากการดำเนินการประจำปีของกิจการหรือบริษัทนั้นๆ

 

  1. 2.    หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stocks)

          ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ โดยมีการจดบุริมสิทธิอย่างชัดเจน ยกเลิกไม่ได้ คุณจะได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ตามที่จดไว้ตั้งแต่แรก อาจจะมากหรือน้อยกว่าการถือหุ้นสามัญ แต่เมื่อกิจการนั้นจำเป็นต้องยุติ และมีการชำระบัญชีทั้งหมดด้วยการขายทรัพย์สิน คุณจะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

 

  1. 3.    ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (Warrants)

                ตราสารสิทธิที่กิจการออกให้คุณ เพื่อให้สิทธิ ในการซื้อหุ้นออกใหม่ ในราคา จำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด หากคุณถือครองใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นแล้ว คุณมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการก็ต่อเมื่อ ได้ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นของกิจการ ตามที่กำหนดไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้น

 

  1. 4.    หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน

                ตราสารสิทธิในการเป็นเจ้าของหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ที่เน้นการลงทุนในตราสารทุน คุณจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการที่กองทุนรวมลงทุนไว้ ตามสิทธิเฉลี่ยระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดในกองทุนรวมนั้น

 

  1. 5.    ตราสารแสดงสิทธิในอนุพันธ์ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น (Stock Options & Futures)

          สัญญาที่คุณและบริษัทตกลงซื้อหรือขายหุ้นในราคา และจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

 

  1. 6.    ตราสารหนี้ (Debt Instruments)

                ตราสารแสดงความเป็นหนี้ หรือ สัญญาเงินกู้ที่บริษัทออกให้แก่คุณ โดยสัญญาว่าจะจ่ายเงินและดอกเบี้ยตามกำหนด เท่ากับคุณเป็นเสมือน “เจ้าหนี้ของกิจการ”

ตราสารหนี้ในกองทุนรวมมีอะไรบ้าง?

                การลงทุนตราสารหนี้ในกองทุนรวม ไม่มีความแตกต่างจากการลงทุนด้วยตัวเองที่ตลาดลงทุนเลย ซึ่งสามารถจำแนกตราสารหนี้ออกได้อีกหลายประเภท ขึ้นอยู่ที่คุณชอบแบบไหน เชิญเลือกลงทุนตามความถนัด

 

  1. 1.     ตราสารหนี้ภาครัฐ

                ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล (Government bond) พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-owned enterprise bond) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ตั๋วเงินคลัง (Treasury bill)

 

                การลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ จะมีความเสี่ยงต่ำสุดในด้านความสามารถในการชำระหนี้ เพราะมีรัฐบาลเป็นผู้รับประกัน แต่การลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐจะมีอัตราผลตอบแทนไม่สูง เพราะความเสี่ยงของการลงทุนค่อนข้างต่ำ จึงได้รับผลตอบแทนที่ต่ำเช่นกัน

 

                ตราสารหนี้ภาครัฐ มักจะมีอายุการลงทุนค่อนข้างยาว เพื่อไม่ให้เป็นภาระ ในด้านการบริหารและการจัดการหนี้ ยกเว้น “ตั๋วเงินคลัง” ซึ่งรัฐบาลออกเพื่อใช้ในการกู้ยืมเงินระยะสั้น (ไม่เกิน 180 วัน) หรือเพื่อดูดซับเงินสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดเงิน เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ย

 

  1. 2.     ตราสารหนี้ภาคเอกชน

                ได้แก่ หุ้นกู้ (Debenture) มีลักษณะและคุณสมบัติตามสถานะของการเป็นเจ้าหนี้ ดังนี้

 

-        หุ้นกู้มีประกัน (Secured debt) มีการค้ำประกันหนี้โดยบุคคลที่สาม (ได้แก่ บริษัทแม่หรือ สถาบันการเงิน) หรือมีการวางหลักทรัพย์ไว้เป็นประกัน การชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เหนือกว่าเจ้าหนี้รายอื่น

 

-        หุ้นกู้ไม่มีประกัน (Non-secured debt) ปลอดการค้ำประกัน และปลอดหลักทรัพย์ที่วางไว้เป็นประกัน การชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน

 

-        หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior debt) ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ เท่าเทียมกับเจ้าหนี้รายอื่นแต่ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน

 

-        หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated debt) ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เป็นรองเจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่ด้อยสิทธิ นั่นคือ ได้รับชำระหนี้คืนหลังสุด

 

  1. 3.     ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange)

                เป็นตราสารการเงินระยะสั้น ที่บุคคลรายหนึ่งสั่งให้บุคคลอีกรายหนึ่ง จ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วแลกเงิน ให้แก่บุคคลอีกรายหนึ่ง ในวันที่กำหนดบนหน้าตั๋วแลกเงิน

 

                ตั๋วแลกเงินสามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือได้ในตลาดเงิน (Money Market) ส่วนใหญ่จะมีธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นผู้ค้ำประกัน รับรอง หรือรับอาวัล (คืออะไร?) หรือสลักหลัง อย่างไม่มีเงื่อนไข

 

 

  1. 4.     ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note)

                คือ ตราสารการเงินระยะสั้นที่ออกโดยบุคคลรายหนึ่งสัญญากับบุคคลอีกรายหนึ่งว่า ขอกู้ยืมเงิน และจะใช้คืนเงินจำนวน ที่ระบุบนหน้าตั๋วสัญญาใช้เงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ในวันที่กำหนด

 

                ตั๋วสัญญาใช้เงินโดยส่วนใหญ่ จะแลกเปลี่ยนมือไม่ได้ (Non-negotiable) และมีข้อความแสดงไว้บนหน้าตั๋ว แต่ถ้าไม่มีการแสดงไว้ และตั๋วสัญญาใช้เงิน มีธนาคารหรือสถาบันการเงินค้ำประกัน รับรอง หรือรับอาวัล ก็จะสามารถนำมาซื้อขายในตลาดเงินได้

 

  1. 5.     บัตรเงินฝากแลกเปลี่ยนมือได้ (Negotiable Certificate of Deposit)

                ตราสารที่แสดงการฝากเงินกับธนาคาร สามารถแลกเปลี่ยนมือได้ในตลาดรอง (Secondary Market)

 

สรุป

                ตราสารหนี้ภาคเอกชน มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ เมื่อมีความเสี่ยงสูงอัตราผลตอบแทนก็ย่อมสูงตามด้วยเช่นกัน และมีอายุการลงทุนให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว  ตามความอึดในการรอคอยของคุณ

 

                จึงเป็นแนวทางให้คุณว่า “การลงทุนใดๆ หากมีความเสี่ยงสูง อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับก็จะสูงเช่นกัน” หากคุณคาดหวังกำไรเร็วก็เรียนเชิญภาคเอกชน แต่หากไม่สนใจกำไรอย่างเร่งร้อน แนะนำให้มองภาครัฐ

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #กองทุนรวม
หมายเลขบันทึก: 478653เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท