Kruwirote
นาย วิโรจน์ โรจน์ ขาวนอก

ลำดับรอบกองไฟ


รอบกองไฟ
การชุมนุมรอบกองไฟ
1. ความมุ่งหมายของการชุมนุมรอบกองไฟ
การชุมนุมรอบกองไฟ มีความมุ่งสำคัญอยู่ 5 ประการคือ
1.1 เป็นการฝึกอบรมตอนกลางคืน ดังที่ ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ หรือ บี.พี. ในการฝึกอบรมเด็กที่ได้
อยู่ค่ายพักแรม ณ เกาะบราวน์ซี
1.2 ให้ลูกเสือได้ร้องเพลงร่วมกัน หรือแสดงกิริยาอาการอย่างเดียวกันเป็นการปลุกใจหรือเปลี่ยน
อารมณ์ให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจ ผ่อนคลายความเคร่งเครียดให้บรรเทาเบาบางลง
1.3 ให้ลูกเสือแต่ละคนมีโอกาสแสดงออกในที่ชุมนุมโดยไม่เก้อเขิน กระดากอาย เป็นการส่งเสริม
ความสามัคคีของหมู่ให้ทุกคน รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่นและทำให้รู้ความสามารถของแต่ละคนได้ดี
1.4 ใช้เป็นโอกาสสำหรับประกอบพิธีสำคัญบางกรณี เช่น แนะนำบุคคลสำคัญในกิจการลูกเสือ
แนะนำผู้มีเกียรติสำคัญที่มาเยี่ยม การมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ เครื่องหมายตอบแทน เข็มสมนาคุณ หรือประกาศนียบัตรต่างๆ เป็นต้น
1.5 เชิญบุคคลสำคัญในท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนทั่วไป เป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริม
กิจการลูกเสือได้อีกทางหนึ่ง
2. สถานที่ใช้ชุมนุมรอบกองไฟ
            ค่ายลูกเสือทุกแห่งควรมีบริเวณสำหรับการชุมนุมรอบกองไฟไว้โดยเฉพาะอยู่ที่มุมหนึ่งของค่าย มีต้นไม้เป็นฉากหลังไม่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นในตอนกลางวัน และควรอยู่ห่างจากที่พักพอสมควรไม่ไกลเกินไปเพื่อมิต้องเสียเวลาและเกิดความยุ่งยากเมื่อลูกเสือต้องเดินจากที่พักไปยังบริเวณชุมนุมรอบกองไฟและต้องเดินกลับเมื่อการชุมนุมเลิกแล้ว ส่วนบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟควรมีต้นไม้เป็นฉากหลังนั้น จะทำให้บรรยากาศดีขึ้น และจะทำให้การร้องเพลงได้ผลดีกว่าที่โล่งแจ้งอนึ่ง ในการเลือกสถานที่สำหรับการชุมนุมรอบกองไฟนี้ ถ้าสามารถหาที่เป็นแอ่งให้ลูกเสือมีที่นั่งอยู่เหนือกองไฟเล็กน้อยจะดีมาก เช่น ในบริเวณที่มีเนิน อาจจัดทำบริเวณการแสดงและกองไฟอยู่ตอนล่างส่วนลูกเสือให้นั่งอยู่บนเนิน หรือจัดทำบริเวณการแสดงและกองไฟให้อยู่บนเกาะมีคูน้ำล้อมรอบ ผู้ชมนั่งอยู่ริมคูน้ำอีกด้านหนึ่ง สะพานข้ามคูทำด้วยไม้แบบสะพานชั่วคราว ปรากฏว่าสถานที่การชุมนุมรอบกองไฟเช่นว่านี้ใช้การได้ดีอย่างยิ่งการชุมนุมรอบกองไฟนี้ถ้าไม่สะดวก เช่น ฝนตก หรือมีเหตุอื่น จะจัดภายในอาคารและใช้กองไฟที่ให้แสงสว่างอย่างอื่นแทนได้
 
 
 
3. การเตรียมก่อนเริ่มชุมนุมรอบกองไฟ
3.1 คณะผู้ให้การฝึกอบรมจะต้องปรึกษาหารือกันเพื่อกำหนดว่า ในการชุมนุมรอบกองไฟนั้นจะมี
กิจกรรมอะไรบ้าง จะให้หมู่/กลุ่มใดทำหน้าที่บริการ ให้ผู้ใดเป็นพิธีกร และจะเชิญผู้ใดเป็นประธาน ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจขั้นตอนการชุมนุมรอบกองไฟดีพอสมควร หรือพิธีกรจะต้องซักซ้อมการที่ประธานจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆเสียก่อน ถ้าเป็นการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือธรรมดา โดยปรกติผู้กำกับลูกเสือที่พาลูกเสือไปอยู่ค่ายพักแรมนั่นเองจะทำหน้าที่ประธาน และให้รองผู้กำกับลูกเสือ หรือลูกเสือคนใดคนหนึ่งที่มีความสามารถทำหน้าที่พิธีกร
3.2 พิธีกร คือ ผู้นำในการชุมนุมรอบกองไฟ มีหน้าที่
            3.2.1 นัดหมาย
                        -ประธาน ขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติ
                        -ผู้ร่วมแสดง ขั้นตอนการปฏิบัติ การแต่งเพลงประจำหมู่/กลุ่ม การส่งเรื่องที่
                        จะแสดง, เวลาที่มาพร้อม เวลาที่ใช้ในการแสดง การแต่งกายตามเนื้อเรื่อง
                        การรายงานเมื่อเริ่มแสดง, การกล่าวคำชมเชย การตอบรับคำชมเชย
                        การกล่าวเมื่อมีผู้มาเยี่ยม ข้อห้ามในเนื้อเรื่องที่จะแสดง
                        -หมู่/กลุ่มบริการให้จัดสถานที่ กองไฟ จัดทำพวงมาลัย ทำพุ่มฉลาก และ
                        คนถือขบวนแห่ การช่วยเหลือพิธีกร การทำความสะอาดสถานที่เมื่อเลิกการแสดง
                        3.2.2 ชี้แจงลำดับการชุมนุม ซักซ้อม ข้อปฏิบัติ ข้อห้าม
                        3.2.3 ประกาศชื่อผู้ที่จะมาเป็นประธานและผู้ติดตาม
                        3.2.4 เชิญประธานและผู้ติดตามเข้าสู่ที่ประชุม
                        3.2.5 ควบคุมและดำเนินการให้ถูกต้องโดยให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับความสนุกสนาน
                        3.2.6 เลือกเพลงที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมกับผู้เข้ารับการฝึกอบรม
                        3.2.7 รักษาเวลาโดยเคร่งครัด
4. การจัดกองไฟ
            กองไฟจะเป็นกองไฟที่ก่อด้วยไม้จริง โดยก่อเป็นแบบผสม (คอกหมู+ปิรามิด) หรือจะใช้ไฟ ให้แสงสว่างอย่างอื่นๆแทนก็ได้ ถ้าเป็นกองไฟจริงจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งโดยปกติจะมอบให้หมู่/กลุ่มบริการในวันนั้นทำหน้าที่นี้ มีหน้าที่ก่อไฟให้เรียบร้อยก่อนทำพิธีเปิด คือ จุดแล้วให้ไฟติดและจะต้องคอยดูแลกองไฟให้ติดอยู่ตลอดเวลา ในการนี้จะต้องเตรียมฟืนอะไหล่และน้ำสำรองไว้ คือถ้าไฟชักมอดลงจะต้องเติมฟืนลงไปและถ้าไฟลุกลามมากหรือกระเด็นออกจากกองไฟ ก็ต้องพรมน้ำลงไป
ในปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาลให้อนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม จึงควรละเว้นการก่อไฟด้วยไม้จริง
เมื่อเลิกการชุมนุมรอบกองไฟผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องออกจากบริเวณไปอย่างเงียบๆ พร้อมกับลูกเสืออื่นการชุมนุมรอบกองไฟภายหลังอีกสักครู่จะต้องหวนกลับมาที่บริเวณการชุมนุมรอบกองไฟอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจัดการดับไฟให้เรียบร้อย ยิ่งกว่านั้นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นต้องมาดูทำความสะอาดสถานที่อีกครั้งหนึ่ง ไม่ให้เศษไม้หรือเถ้าถ่านเหลืออยู่เลยเรื่องการทำความสะอาดบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟนี้ อย่าถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ต้องถือว่าเป็นบทเรียนอันสำคัญในการฝึกอบรมลูกเสือด้วย
5. การจัดที่นั่งชุมนุมรอบกองไฟให้จัดเป็นรูปวงกลมหรือเกือกม้า
            การจัดที่นั่งรอบกองไฟให้จัดเป็นรูปวงกลมหรือเกือกม้า ให้กองไฟอยู่ตรงกลาง มีที่นั่งพิเศษสำหรับประธานและผู้รับเชิญ ตั้งอยู่ในทิศทางเหนือลม ที่นั่งของประธานเป็นที่นั่งเดี่ยว ให้ตั้งล้ำหน้ากว่าแถวของผู้ติดตามและผู้ร่วมชมการแสดง และให้มีโต๊ะวางพุ่มฉลากไว้ตรงหน้า ส่วนลูกเสือโดยปรกติให้นั่งตามหมู่ ณ สถานที่ที่ได้กำหนดให้ไว้
6. พิธีเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ
            มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
6.1 เมื่อผู้ร่วมแสดงแต่งกายตามเนื้อเรื่องที่จะแสดงเข้านั่งที่เรียงตามลำดับหมู่/กลุ่ม จากซ้ายของ
    ประธานไปทางขวาพร้อม ควรเป็นเวลาก่อนเริ่มแสดงที่กำหนดไว้ ประมาณ 10 นาที
6.2 พิธีกร ชี้แจงซักซ้อมการปฏิบัติแล้วแจ้งชื่อและตำแหน่งหน้าที่การงานหรือตำแหน่งทางลูกเสือ
    ของผู้เป็นประธานในพิธีและผู้ติดตามให้ทราบทั่วกัน
6.3 ผู้มีหน้าที่ของหมู่/กลุ่มบริการ จุดไฟ
6.4 พิธีกร ออกไปเชิญประธาน  ซึ่งมารอคอยอยู่ก่อนแล้วใกล้ที่ชุมนุม
6.5 เมื่อประธานเดินเข้ามาในพื้นที่การแสดง พิธีกรสั่ง “กอง (แพ๊ค) ตรง” ทุกคนลุกขึ้นยืนตรง
6.6 ประธานรับการเคารพแล้ว เดินตรงไปที่ตั้งกองไฟอยู่ระยะห่างพอสมควร ยกมือขวาแสดงรหัส
      ของลูกเสือชูสูงขึ้นไปข้างหน้า ทำมุมกับไหล่ประมาณ 45 องศา
6.7 ผู้ติดตามประธานและผู้มาร่วมชุมนุมเดินตามประธานเข้ามาให้เดินไปยืนอยู่ ณ ที่ตนจะนั่ง
6.8 ประธานกล่าวเปิดด้วยข้อความที่เป็นมงคลและจบลงด้วยถ้อยคำว่า “ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุม
     รอบกองไฟ ณ บัดนี้” โดยใช้เวลาประมาณ 3 นาที (ประธานยังคงยืนอยู่ ณ ที่เดิม)
6.9 ทุกคนผู้ร่วมในที่ชุมนุมกล่าวพร้อมกันว่า “ฟู่” 3 ครั้ง ในกรณีใช้ไฟอย่างอื่นแทน อาจงดกล่าวคำ
     นี้ก็ได้
 
 
6.10 พิธีกร นำร้องเพลง 1 หรือ 2 เพลง ควรเป็นเพลงปลุกใจ เพลงเป็นคติ ซึ่งมีทำนองเร่งเร้าให้เกิด
       การตื่นตัว หรือเพลงประจำสถาบัน และเป็นเพลงที่ผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ร้องได้
6.11 จบเพลงแล้ว ประธานเดินกลับไปนั่งยังที่นั่งซึ่งจัดไว้ ผู้ติดตามนั่งลงตามที่ของตน
        การชุมนุมรอบกองไฟ
6.12 พิธีกร สั่งให้ผู้ร่วมชุมนุม “นั่ง”
6.13 พิธีกร สั่งให้ผู้ถือพวงมาลัยและพุ่มฉลากมาตั้งขบวนอยู่ด้านขวามือของประธาน โดยมีสมาชิก
ของหมู่/กลุ่มเข้าแถวต่อท้ายอยู่ภายในวงที่นั่ง และ/หรือให้สมาชิกของหมู่/กลุ่ม อื่นๆเข้าร่วมขบวนด้วย ตามความเหมาะสมก็ได้
6.14 พิธีกรนำร้องเพลง ขบวนเริ่มออกเดินผ่านหน้าประธานเวียนรอบกองไฟเพื่อความสนุกสนาน
ขณะเดินไปก็รำและร้องเพลงด้วยก็จะเป็นการดี เมื่อครบ 3 รอบ ผู้ถือพวงมาลัยและถือพุ่มฉลากหยุดยืนตรงหน้าประธานบุคคลอื่นๆในขบวนให้กลับไปนั่งที่ของตนเรียบร้อยผู้ถือพวงมาลัย ส่งพวงมาลัยให้แก่ประธานก่อน ผู้ถือฉลากส่งให้ประธานภายหลัง เสร็จแล้วกลับเข้าที่นั่งของตน
7. กำหนดการ
            7.1 พิธีกร อาจให้มีการสนุกสนานจากการร้องเพลง หรือการร้องประกอบการรำเป็นการสร้าง
                  บรรยากาศที่ดีก็ได้ โดยคำนึงถึงเวลาที่เหมาะสม
            7.2 พิธีกร เชิญให้ประธานจับฉลาก รับฉลากจากประธานอ่านให้ทราบว่าหมู่/กลุ่มใด จะต้องแสดง
            7.3 ให้นายหมู่สั่งสมาชิกในหมู่ให้เคารพผู้เป็นประธาน “หมู่..... ตรง” นายหมู่เพียงผู้เดียว ทำ
วันทยหัตถ์ เอามือลง จากนั้นทุกคนร่วมกันร้องเพลงประจำหมู่ 2 จบ เริ่มการแสดง
            7.4 ผู้แสดงหันหน้าให้ประธานเป็นผู้ชม ใช้เวลาแสดงประมาณ 8-10 นาที
            7.5 จบการแสดง ทุกคนกลับไปยืน ณ ที่นั่งของตน นายหมู่สั่ง “หมู่..... ตรง” นายหมู่เพียง
                ผู้เดียวทำวันทยหัตถ์ เอามือลง แล้วทุกคนนั่งลง
            7.6 พิธีกร จะกล่าวขอให้ผู้หนึ่งผู้ใดในหมู่อื่นๆเป็นผู้นำกล่าวชมเชยตามแบบของลูกเสือให้แก่              หมู่ที่แสดง ผู้นำกล่าวชมเชยจะเชิญชวนให้หมู่อื่นๆลุกขึ้นยืน แล้วกล่าวคำชมเชย ดังตัวอย่าง เช่น “พี่
น้องลูกเสือโปรดยืนขึ้น แล้วกล่าวคำชมเชยให้แก่หมู่/กลุ่ม ด้วยคำว่า “ยอดเยี่ยม” 3 ครั้ง” ด้วยการแสดง
กิริยาประกอบ โดยก้าวเท้าซ้ายออกไปข้างหน้าประมาณครึ่งก้าวแล้วใช้มือขวากำไว้ระดับอก แล้วกล่าวคำชมเชยตามที่นัดหมายไว้แล้ว พร้อมกับเหยียดแขนขวาและผายมือไปยังหมู่ที่จะชมเชย ทำเช่นนี้จำนวน 3ครั้ง เสร็จแล้วนั่งลง ทุกคนในหมูที่ได้รับการชมเชย ลุกขึ้นยืน ใช้มือขวาซ้อนอยู่บนมือซ้าย ซึ่งยกขึ้นมาอยู่ตั้งฉากเสมอไหล่พร้อมกับคำกล่าวสั้นๆ เช่น “ขอบคุณ ครับ” พร้อมกับน้อมตัวลง 1 ครั้ง
            7.7 พิธีกร ดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ไปจนครบทุกหมู่/กลุ่ม เมื่อจบการแสดงของแต่ละหมู่ ก่อนจะเริ่มการแสดงของหมู่ต่อไป อาจมีการแนะนำบทเรียนหรือประกอบพิธีหรือมีกิจกรรมอื่น หรือร้องเพลงเพื่อเปลี่ยนกิริยาบทสลับเป็นครั้งคราวตามเวลาที่เหมาะสมการชุมนุมรอบกองไฟ
8. การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุม
            ในการชุมนุมรอบกองไฟ การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุมให้สนุกสนานร่าเริงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้เข้าชุมนุมอาจจะรู้สึกเบื่อและง่วงเหงาหาวนอน การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุมนี้อาจทำได้หลายวิธีและเป็นหน้าที่ของพิธีกรที่จะต้องเป็นผู้นำหรือมอบหมายให้ผู้รู้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำ เช่น นำให้ร้องเพลง รำวง นำให้แสดงกิริยาอาการต่างๆที่ขบขัน หรือปลุกให้เกิดความสนุกสนาน ตื่นตา ตื่นใจ ด้วยวิธีการต่างๆที่เห็นว่าเหมาะสมกับผู้เข้ารับการฝึกอบรม และเหมาะสมกับเวลา
9. พิธีปิด
            9.1 เมื่อจบการแสดงของทุกหมู่/กลุ่มแล้ว พิธีกร จะให้มีการร้องเพลงทำนองช้า อาจเป็นเพลงที่เป็นคติหรือสร้างสรรค์ เหมาะสมกับผู้ร่วมชุมนุม ทั้งนี้ควรเป็นเพลงที่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดได้ร่วมร้องด้วย
9.2 พิธีกรจะเชิญประธานกล่าวปิด
9.3 ประธานไปยืนในที่เหมาะสม กล่าวเรื่องสั้นอันเป็นประโยชน์ในเรื่องใดๆที่เห็นว่าเหมาะสม และ
จบลงด้วยถ้อยคำว่า “ข้าพเจ้าขอปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้” ใช้เวลาประมาณ 10 นาที
9.4 พิธีกร ให้ทุกคนล้อมวง โดยให้แขนขวาซ้อนบนแขนซ้ายของตนเอง และใช้มือขวาซ้ายจับคน
ข้างเคียงร่วมกันร้องเพลงสามัคคีชุมนุม พร้อมกับโยกตัวไปทางขวา ซ้าย ช้าๆจนจบเพลง
9.5 ผู้แทนหมู่บริการ นำ สวดมนต์อย่างยาว จบแล้วให้สั่งให้ทุกคนหันหน้าไปยังทิศที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในขณะนั้น ถ้าหากพระองค์มิได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ให้หันหน้าไปยังพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร สั่งทำความเคารพแล้วนำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี จน
จบ
9.6 พิธีกร นัดหมาย
9.7 ทุกคนแยกย้ายกันกลับที่พักอย่างสงบ ส่วนหมู่/กลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นหมู่บริการ กลับมาทำความ
สะอาดให้เรียบร้อย
 
10. หมายเหตุ
10.1 เพลงประจำหมู่ที่ใช้ร้องให้มีเนื้อร้องระบุชื่อหมู่/กลุ่ม มีสาระ, ปลุกใจ, เป็นคติ
10.2 เรื่องที่จะแสดง ควรเป็นเรื่องเป็นคติเตือนใจ ประวัติศาสตร์ ปลุกใจให้รักชาติ ส่งเสริม
ขนบธรรมเนียมประเพณี, สนุกสนาน
10.3 ไม่ควรแสดงเรื่องไร้สาระ เสียดสีบุคคล เรื่องการเมือง ผีสาง ลามก อนาจาร ล้อเลียนศาสนา
10.4 ห้ามใช้อาวุธจริงหรือของมีคมมาประกอบการแสดง
10.5 ห้ามสูบบุหรี่ในขณะนั่งอยู่ในบริเวณชุมนุม
10.6 ห้ามดื่มของเมา รวมทั้งนำมาใช้ประกอบการแสดง
10.7 ไม่ควรแตะต้องหรือนำสิ่งของข้ามกองไฟหรือใช้กองไฟประกอบการแสดงในทางไม่เหมาะสม
10.8 กรณีที่นายหมู่นำธงหมู่มาด้วย เมื่อสั่งให้ทุกคน “ตรง” นายหมู่ทำวันทยาวุธ และเรียบอาวุธ__
หมายเลขบันทึก: 478220เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะที่ช่วยชีวิตไว้ กำลังจะตายเพราะจำขั้นตอนพิธีการไม่ได้ค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท