ความหมายของคำว่า "อุปนิษัท"


ปัจจุบัน เราทราบดีว่า อุปนิษัท เป็นชื่อคัมภีร์พระเวทประเภทหนึ่ง ที่มีเนื้อหาในด้านปรัชญาของฮินดู แ่ต่คำว่า "อุปนิษัท" หมายถึงอะไรแน่ ศาสตราจารย์มักซ์ มึลเลอร์ได้ค้นคว้ามาเล่าให้เราฟัง (เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว)...

ความหมายของคำว่า อุปนิษัท*

 

เหตุใด “อุปนิษัท” จึงกลายเป็นชื่อเรียกคัมภีร์ปรัชญาอันเป็นส่วนหนึ่งของพระเวทนั้นเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก นักวิชาการชาวยุโรปส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า อุป-นิ-ษทฺ นี้มาจากธาตุ สทฺ  แปลว่า นั่ง โดยมีอุปสรรคนำหน้าสองคำ คือ นิ (ลง) และ อุป (ใกล้)  คำนี้จึงแสดงถึงความคิดเกี่ยวกับ การประชุม หรือชุมนุมศิษย์ที่นั่งใกล้อาจารย์เพื่อฟังคำสอน  ในตำราศัพท์ ชื่อตฺริกาณฺฑเศษ ได้อธิบายคำว่า อุปนิษัท โดยใช้คำว่า สมีปสทน ซึ่งหมายถึง การนั่งใกล้บุคคล [เชิงอรรถ 1]

อย่างไรก็ตาม คำดังกล่าวอาจใช้เรียกส่วนหรือบทต่างๆ ของพระเวท โดยเรียกว่า อุปนิษัท แต่ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดจึงมีความหมายเช่นนั้น และยังคงแปลกยิ่งไปอีก ที่อุปนิษัท ในความหมายว่า “การประชุม” หรือ “ชุมนุม” นั้น ไม่ปรากฏอยู่ด้วยกัน (เท่าที่ผู้เขียนทราบ)  เมื่อปรากฏคำนี้ ก็ล้วนความหมายถึง คำสอน คำสอนอันเป็นความลับ หรือเพียงแค่เป็นชื่อคัมภีร์ทางปรัชญา ซึ่งอยู่ในส่วนชญานกาณฑ์ หรือส่วนที่เป็นความรู้ (ตรงข้ามกับ กรรมกาณฑ์ หรือ ส่วนที่เป็นพิธีกรรม) ของพระเวท

นักนิรุกติศาสตร์ของอินเดียดูเหมือนจะไม่ได้คิดว่าคำศัพท์ อุปนิษัท นี้จะมาจากธาตุ สทฺ ที่แปลว่านั่ง แต่คิดว่ามาจากธาตุ สทฺ ที่หมายถึง ทำลาย เพราะคิดว่าคัมภีร์โบราณเหล่านี้มีชื่อดังกล่าวก็เพราะมุ่งที่จะทำลายราคะ และโมหะ เพราะถือว่าเป็นคัมภีร์ศรุติ [เชิงอรรถ 2] หรือคิดว่ามาจากธาตุ สทฺ ที่หมายถึง เข้าไปหา เพราะความรู้เกี่ยวกับพรหมันเข้ามาใกล้เรา โดยการอาศัยอุปนิษัท หรือเพราะเราเข้าใกล้พรหมันด้วยการอาศัยอุปนิษัท  คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งที่สังกราจารย์ได้อธิบายไว้ในอรรถกถาแห่งไตรติรียะ อุปนิษัท II, 9 ก็คือ “ความสุขสูงสุดมีอยู่ในอุปนิษัท” (ปรํ ศฺเรโย’สยำ นิษณฺณมฺ)

คำอธิบายเหล่านี้ดูเหมือนเจตนาที่จะรักษาเอาไว้เพื่อให้ยากแก่การเข้าใจถึงความเห็นของนักวิชาการท้องถิ่น  แต่เราควรจะต้องรำลึกว่า ในหมู่ประชาชนที่มีการศึกษาปานกลางโดยทั่วไป มีแนวโน้มที่จะยอมรับศัพทมูลวิทยาของความหมายที่โดดเด่นที่สุดของคำนี้  คัมภีร์อารัณยกะมีศัพทมูลวิทยาเหล่านี้มากมาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่ศัพทมูลวิทยาที่แท้จริงในแง่ความหมายศัพท์ของเรา แต่ก็เป็นการเล่นคำ ที่ช่วยแสดงถึงความหมายได้บ้าง  แน่นอนว่า อุปนิษัทต่างๆ มุ่งที่จะทำลายราคะและโมหะ และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นธรรมดาที่ศัพทมูลวิทยาจะเพ่งไปยังความหมายที่ว่า ผู้ทำลาย [เชิงอรรถ 3]

ประวัติศาสตร์และอัจฉริยภาพของภาษาสันสกฤตแทบจะไม่สงสัยความหมายเดิมของอุปนิษัท ที่ว่าหมายถึง การชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมที่มีศิษย์ห้อมล้อมรอบอาจารย์ โดยมีระยะห่างอันแสดงถึงความความเคารพ

 

ประวัติการใช้คำ

การใช้เฉพาะ อุป กับ สทฺ นั้น ปรากฏมาตั้งแต่ในบทสวดฤคเวท โดยมีความหมายว่า เข้าไปหาด้วยความเคารพ  [เชิงอรรถ 4] ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ฤคเวท IX, 11, 6 กล่าวไว้ว่า นมสา อิตฺ-อุป สีทต” (จงเข้าไปหาเขาพร้อมกับการนอบน้อม” (โปรดดูเพิ่มเติมจาก ฤคเวท X, 73, II และ I, 65, I.)

ฉานโทคฺยะ อุปนิษัท VI, 13, I อาจารย์บอกศิษย์ว่า “อถ มา ปฺราตรุปสีทถาะ” (จงมาหาข้าฯ (เพื่อฟังข้อแนะนำ) ตอนเช้าวันพรุ่งนี้)

ในอุปนิษัทเรื่องเดียวกันนี้ (VII, 8, I) มีการแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้ที่รับใช้อาจารย์ (ปริจรตา) และผู้ที่ได้รับการยอมรับในสังคมที่คุ้นเคย (อุปสตฺตา, สมีปคะ, อนฺตรํคะ, ปริยะ)

นอกจากนี้ ในฉานโทกยะ อุปนิษัท VII, I มีเนื้อความว่า ลูกศิษย์เข้าไปหาอาจารย์ (อุปาสสาท หรือ อุปสสาท) และอาจารย์บอกให้เขาเข้าไปหาพร้อมกับสิ่งที่เขารู้ นั่นคือ เข้าไปบอกสิ่งแรกที่เขาเรียนรู้แล้ว (ยทฺ วตฺถ เตน โมปสีท [เชิงอรรถ 5])

ส่วนในคัมภีร์สูตระ (โคภิลีย คฺฤหยสูตระ II, 10, 38) แสดงให้เห็นว่า อุปนิษัทคือ ท่าที่ศิษย์พนมมือ แหงนมองไปที่อาจารย์ซึ่งกำลังจะทำการสอน  

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เราไม่พบข้อความใด ที่มีการใช้ “อุป-นิ-ษทฺ” ในความหมายว่า ศิษย์เข้าไปฟังครู  มีเพียงข้อความเดียวที่ปรากฏคำว่า อุปนิษสาท (ไอตเรย อารัณยกะ. II, 2, 1) ที่ใช้บรรยายว่า พระอินทร์นั่งข้างฤษีวิศวามิตร และเป็นเรื่องแปลกที่พบว่า ทั้งต้นฉบับและอรรถกถา แสดงคำ “อุปนิษสสาท” และเป็นรูปแจกอปกติโดยตลอด

 

กรณีเทียบเคียง

กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับธาตุอีกสองตัวด้วย ซึ่งแทบจะใช้แทนกันได้กับ สทฺ นั่นคือธาตุ อาสฺ และ วิษฺ  เราพบว่ามีการใช้ อุป+อาสฺ เพื่อหมายถึง สถานะที่ศิษย์แสดงเมื่อฟังครู เช่น ปาณินิ. III, 4, 72 อุปาสิโต คุรุมฺ ภวานฺ (เจ้าได้เข้าไปหาครูแล้ว) หรือ อุปาสิโต คุรุรฺภวตา (ครูถูกเข้าพบแล้วโดยเจ้า)  เราพบว่ามีการใช้ ปริ+อุป+อาสฺ หมายถึง ญาติที่รายล้อมที่นอนของเพื่อนที่กำลังจะตาย (ฉานโทคยะ อุปนิษัท. 6, 15) หรือ กลุ่มเด็กที่หิวนั่งล้อมรอบแม่ และเช่นเดียวกับ บุคคลที่กำลังประกอบพิธิอัคนิโหตระ (ฉานโทคยะ อุปนิษัท. 5, 24, 5) แต่ผู้เขียนยังไม่พบ “อุป-นิ-อาสฺ” ในความหมายดังกล่าว

ในทำนองเดียวกัน เราพบการใช้ อุป-วิษฺ ในความหมายว่า การนั่งเพื่อถกเถียง (ฉานโทคยะ อุปนิษัท. 1-8-2) แต่ผู้เยียนยังไม่พบ อุป-นิ-วิษฺ ที่หมายถึง ศิษย์กำลังฟังอาจารย์

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสองคำ คือ อุป- และ นิ- นั้นปรากฏกับธาตุ ปตฺ (บิน หรือ ตก) ในความหมายว่า ปลิวลง หรือ วางอยู่ใกล้บุคคล  (ฉานโทคยะ IV, 7, 2; IV, 8, 2) และอุปสรรคเดียวกันนี้ยังใช้กับธาตุ ศฺริ ซึ่งมีความหมายหนึ่งว่า นั่งด้านล่างของบุคคล (เพื่อแสดงถึงความเคารพ) ดังใน พฤหทารัณยกะ อุปนิษัท I, 4, II. ความว่า แม้พระราชาผู้สูงส่ง ก็ยังประทับที่ปลายพื้นพิธี ต่ำกว่าพราหมณ์ “พราหไมวานฺตต อุปนิศฺรยติ”

ธาตุ สทฺ กับอุปสรรค อุป- และ นิ- นั้นปรากฏเฉพาะในศัพท์ อุปนิษาทินฺ เท่านั้น และหมายถึง ขึ้นอยู่กับ เช่น ใน สตปถะ พราหมณะ IX, 4, 3, 3 “กฺษตฺราย ตทฺ วิศมฺ อธสฺตาทฺ อุปนิษาทินีมฺ กโรติ” แปลว่า เขาจึงทำให้วิศ (พลเมือง) ข้างล่าง ขึ้นอยู่กับกษัตริยะ

บางครั้งมีการใช้ทั้ง นิษทฺ และ อุปนิษทฺ และเมื่อพิจารณาแล้ว พบว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายไม่มีความแตกต่างกัน [เชิงอรรถ 6]

ดังนั้น ในตอนนี้ เท่าที่เรากล่าวได้ก็คือ อุปนิษัท นอกจากหมายถึงคัมภีร์ปรัชญาแล้ว ยังปรากฏในความหมายว่า คำสอน และคำสอนอันเป็นความลับ และดูเหมือนจะได้ความหมายนี้จากการใช้แต่เดิม ที่ว่า ช่วงเวลาหรือกลุ่มที่มีศิษย์หนึ่งคนหรือมากกว่าเข้ารับคำสอนจากอาจารย์

 

สรุปความหมายของอุปนิษัทในคัมภีร์อุปนิษัท

เราพบคำว่าอุปนิษัท ที่ใช้ในคัมภีร์อุปนิษัทเองนั้น มีความหมายดังนี้

 

1. คำอธิบายอันเป็นความลับหรือเร้นลับ ไม่ว่าถูกหรือผิด ดังตัวอย่าง

-ไอตเรย อารัณยกะ. III, 1, 6, 3. “ตารุกษยะยอมทำหน้าที่เป็นคนเลี้ยงโคนานหนึ่งปีเพื่ออุปนิษัทนี้ นั่นคือ เพื่อจะได้ความรู้เกี่ยวกับความหมายที่แท้ของสังหิตา”

-ไตตติรียะ อุปนิษัท. 1, 3. “บัดนี้เราจักอธิบายอุปนิษัทแห่งสังหิตา”

-ไอตเรย อารัณยกะ. III, 2, 5, 1. “ต่อไปเป็นอุปนิษัทนี้ของคำพูดทั้งปวง จริงๆ แล้ว ทั้งปวงนี้คืออุปนิษัทของคำพูดทั้งปวง แต่สิ่งนี้พวกเขาได้ประกาศไว้โดยเฉพาะ”

-เกนะ อุปนิษัท. IV, 7. 'ดังที่ท่านขอให้เราเล่าเรื่องอุปนิษัท บัดนี้อุปนิษัทถูกเล่าแก่ท่าน เราได้เล่า พราหมี อุปนิษัทแก่ท่าน” นั่นคือ ความหมายที่แท้ของพรหมัน

- ฉานโทคยะ อุปนิษัท III, II, 3, หลังจากอธิบายความหมายของพรหมันแล้ว คัมภีร์กล่าวว่า “สำหรับผู้ที่รู้พรหมอุปนิษัทนี้ (คำสอนอันเป็นความลับแห่งพรหมัน) แล้ว พระอาทิตย์จักไม่ขึ้น และจักไม่ตก” ในย่อหน้าถัดไป มีการใช้คำว่า พรหม หมายถึง พรหมัน ในฐานะสิ่งที่สอนไว้ในอุปนิษัท หรือหมายความเปลี่ยนไปเล็กน้อยว่า ตัวคัมภีร์อุปนิษัทเอง

- ฉานโทคยะ อุปนิษัท I, 13, 4. “คำพูดให้ผลแก่เขาผู้รู้อุปนิษัท (คำสอนอันเป็นความลับ) แห่งสามันในลักษณะเช่นนี้”

- ฉานโทคยะ อุปนิษัท VIII, 8, 4 เมื่อพระอินทร์ และวิโรจนะ เข้าใจผิดเรื่องคำสอนของประชาปติ พระประชาปติจึงตรัสว่า “พวกเขาทั้งสองออกไปโดยไม่รับรู้ และไม่ได้รู้ถึงตัวเอง และในบรรดาทั้งสองนี้ ไม่ว่าเทวะ หรืออสุระ (แม้น)จักดำเนินตามคำสอนนี้ (อุปนิษัท) ก็จักพินาศ

 

2. ความรู้ที่ได้จากคำอธิบายดังกล่าว

- ฉานโทคยะ อุปนิษัท I, i หลังจากพรรณนาความหมายอย่างลึกซึ้งของ อุทฺคีถ หรือ โอมฺ แล้ว มีการพรรณนาถึงประโยชน์แห่งการรู้ถึงการรู้ความหมายอันลึกซึ้งยิ่งขึ้น และกล่าวว่า การสังเวยที่บุคคลประกอบพิธีโดยมีความรู้ มีศรัทธา และมีอุปนิษัท นั่นคือ ความเข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้ง นับว่ามีพลังยิ่งกว่า

              

3. กฎพิเศษหรือการประกอบพิธีที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะรับความรู้ดังกล่าว

- เกาษีตกิ อุปนิษัท II, I; 2, มีเนื้อความว่า “เขาจงอย่าได้ขอ นี่คืออุปนิษัทสำหรับเขาผู้รู้เรื่องนี้” คำว่าอุปนิษัท ในที่นี้ หมายถึง พรต (วฺรต) หรือ รหัสยพรต (รหสฺยวฺรต) ซึ่งหมายถึง กฎ นั่นเอง

              

4. ชื่อหนังสือที่มีความรู้เหล่านั้น

- ไตตติรียะ อุปนิษัท ตอนท้ายของบทที่สอง ชื่อ พฺรหฺมานนฺทวลฺลี และอีกครั้งตอนท้ายของบทที่สิบ ตัวคัมภีร์กล่าวว่า “อิตฺยุปนิษทฺ” แปลว่า นี้คืออุปนิษัท (คำสอนที่แท้) 

 


เชิงอรรถ

1. .ปาณินิ I. 4. 79 มีคำว่า “อุปนิษตฺกฺฤย”

2. M. M., History of Ancient Sanskrit Literature, p. 318; Colebrooke, Essays, I, 92; Regnaud, Matériaux, p. 7.

3. ความแตกต่างระหว่างศัพทมูลวิทยาที่เป็นไปได้และที่เป็นจริง นั้นเทียบได้กับความแตกต่างระหว่างตำนานและประวัติศาสตร์ นั่นเอง

4. ดู M. M., History of Ancient Sanskrit Literature, p. 318.

5. ดู ฉานโทคยะ อุปนิษัท VI, 7, 2.

6. มหาภารตะ, ศานติบรรพ, 1613.

 

*เรียบเรียงจาก "Meaning of the Word Upanishad" by Max Müller [1879]

 

หมายเลขบันทึก: 476969เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2012 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท