ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๘๓. สามชื่นใจในวันเดียว


          วันที่ ๕ ม.ค. ๕๕ เป็นวันชื่นใจ ๓ เรื่องสำหรับผม เริ่มจากช่วงเช้าเป็นการประชุมคณะกรรมการอำนวยการของขบวนการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ(HPER – Health Professional Education Reform) ที่มี ศ. นพ. ประเวศ วะสี มาให้แนวคิดเชิงระบบ และ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา แม้จะไม่ได้มาร่วมประชุมวันนี้ แต่ก็ได้ให้คำแนะนำแล้วในวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๕๔ ผลการประชุมเช้านี้ สรุปสั้นที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ คือต้องสื่อสารสังคมทั้งในวงการวิชาชีพ และในสังคมวงกว้าง ให้เห็นความจำเป็น คอขาดบาดตายของการเปลี่ยนแปลงนี้ และต้องเข้าสู่ action ในระดับคณะวิชาด้านสุขภาพ

          บ่ายเป็นการประชุมคณะกรรมการชี้ทิศทางของโครงการ คศน. ที่ตอนนี้หมดห่วงด้านการจัดการโครงการแล้ว เพราะ รศ. ทพ. ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล เข้ามาเป็นผู้จัดการโครงการเต็มตัว ท่านเห็นคุณค่าของเครือข่าย คศน. ถึงกับจะลาออกจากการเป็นอาจารย์จุฬาฯ มาทำงานนี้เต็มที่ ปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายคนที่มีใจต่อสังคม แต่แต่ละคนมีภารกิจยุ่งอยู่ตลอดเวลา แบบ คศน. ต้องการการจัดการเชื่อมโยงที่เก่งและเอาจริงเอาจัง เพื่อดึงดูดเครือข่ายมาร่วมกันทำงานที่สำคัญแต่ไม่ด่วน รวมทั้งมีมิติด้านการเรียนรู้ เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้เข้าไปในกลุ่ม และแพร่ออกสู่สังคมไทย

          ค่ำเป็นการประชุม R2R เป็นการประชุมคณะกรรมการดำเนินการที่มี ผอ. สวรส. เป็นประธาน ผมจำใจไปเพราะ รศ. นพ. สมพนธ์ ทัศนิยม ขอร้อง เป็นการประชุมเพื่อมองการขับเคลื่อนขบวนการ R2R ประเทศไทย โยงกับการประชุมมหกรรมประจำปี R2R ซึ่งปีนี้จัดวันที่ ๑๑ - ๑๓ ก.ค. ๕๕ ที่อิมแพ็คท์ เมืองทองธานี ผมฟังการนำเสนอกิจกรรมของแต่ละเครือข่าย และความเห็นของกรรมการอยู่ชั่วโมงเศษ ก็เสนอว่า (๑) ควรมองเครือข่าย R2R ว่าเป็นวงที่ไม่เป็นทางการ ใช้พลังของความไม่เป็นทางการ เสริมด้วยพลังของทางการหรือระบบบริหารของหน่วยงาน (๒) ข้อมูลที่นำมาใช้ในการพิจารณาเป็น เฉพาะข้อมูลจากแบบสอบถามในงานประชุมประจำปี ๒๕๕๔ ควรนำข้อมูลจากแต่ละเครือข่ายมาใช้ด้วย และควรมองกิจกรรม R2R ว่าหลากลายและเป็นพลวัตมาก น่าจะใช้เคื่องมือ KM เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อน R2R ประเทศไทย เสาะหา SS (Success Story) ที่แสดงความก้าวหน้า หรือมีนวัตกรรมในการดำเนินการ R2R ในมิติที่หลากหลาย เอามาตั้งวง SSS (Success Story Sharing) และ SS ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับปี ๒๕๕๕ คือ ความสำเร็จในการทำให้ฝ่ายที่เป็นทางการเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งการจัดทรัพยากรให้

          ผมไม่ชอบประชุมตอนเย็นหรือค่ำ เพราะทำให้ผมเข้านอนดึก และหลับยาก

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ม.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 476926เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2012 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

...ถึงเข้านอนดึก และหลับยาก ...

แต่เรื่อง R2R เบ่งบานเสมอครับ

เมื่อไรที่นำ KM มาเป็นเครื่องมือหลัก...เมื่อนั้นพลังแห่งชีวิต แห่งความสุขจะปรากฏ

รวมถึงในช่วงเวลาของการประชุมด้วยค่ะ

แต่...เมื่อไรที่เริ่มเป็นรูปแบบ(ฟอร์ม) ความเคลื่อนเข้าไปสู่ Routine จะมีมากจนขาดพลังแห่งการดึงดูดแห่งความเป็นชีวิตชีวา

...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท