ระบบการเรียนรู้ในสังคมยุคใหม่


สังคมยุคใหม่ที่เรียกกันว่าเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระบบการเรียนรู้ก็เช่นเดียวกันต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันกับสังคมยุคโลกาภิวัตน์

 

 

 

 

โดย

นางสาวสุวิมล  อินทร์บริสุทธิ์  รุ่น 10 หมู่ 2  รหัส 54D0103220

นางสาวอังสนา  อุดแจ่ม  รุ่น 10 หมู่ 2  รหัส 54D0103221

          สังคมยุคใหม่ซึ่งเรียกกันว่าเป็นยุคโลกาภิวัฒน์  ยุคไร้พรมแดนหรือยุคข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ  เป็นยุคที่มีการสื่อสารโดยทั่วถึงกันอย่างรวดเร็ว  มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาโลกตะวันออก  หรือวัฒนธรรมตะวันออกก็แพร่ขยายเข้าไปยังโลกตะวันออก  เพราะฉะนั้นเพื่อการปรับตัว  และเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม  จึงต้องเร่งทำความเข้าใจ  และพร้อมรับมือโดยการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ

การสร้างประชากรให้มีคุณภาพของแต่ละประเทศ  ก็คือการสร้างประชากรด้วยระบบการเรียนรู้  ประเทศใดมีประชากรที่มีคุณภาพ  พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง  และสามารถสร้างความเป็นเอกภาพของชาติได้  ย่อมแสดงถึงศักยภาพของประเทศนั้นๆ  ซึ่งประเทศไทยก็ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม  จึงมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ในประเทศอย่างต่อเนื่อง  ทั้งการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาระดับอุดมศึกษา

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน

            1.  คุณภาพการจัดการศึกษาไทยในปัจจุบัน

             1) ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน เป็นระบบที่เน้นการเรียนหนังสือตามช่วงอายุและระดับชั้นเป็นหลัก โดยมีโรงเรียน สถาบันการศึกษา และกระทรวงที่จัดการศึกษาเป็นแหล่งอำนาจเดียวในการแบ่งระดับชั้นดังกล่าว ยังมีการแบ่งหน่วยงานรับผิดชอบที่ไม่มีการประสานสัมพันธ์กันเท่าที่ควร ทำให้การศึกษากลายเป็นกระบวนการแยกส่วนจากชีวิตประจำวัน และเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องทุกข์ทรมานกับการแก่งแย่งแข่งขัน  ยิ่งไปกว่านั้นค่านิยมในประกาศนียบัตรหรือใบปริญญาทำให้การศึกษาไม่ได้เป็นกระบวนการที่ช่วงพัฒนาการเรียนรู้ของคนได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

             2) แนวคิดในการจัดการศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นการผลิตคน เพื่อรับใช้สังคมเมืองเท่านั้น เนื่องจากหลักสูตรที่จัดทำออกมาและมุ่งพัฒนาสังคมเมืองเท่านั้นไม่ได้สอดคล้อง กับชีวิตของคนในชนบท ทำให้คนเหล่านั้น ก้าวจากสังคมชนบท ไปตั้งหลักแหล่งในสังคมเมือง แทนที่จะกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

            3) ผลสัมฤทธิ์การศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวมแล้วอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพต่ำ คิดไม่เป็น ทำไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่รักการเรียนรู้ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพต่ำ การเรียนการสอนไม่ได้เน้นความสามารถสากลเท่าที่ควร ขาดการอบรมบ่มนิสัย ไม่ได้ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและภูมิปัญญาไทยอย่างเพียงพอ ทั้งนี้เพราะคุณภาพครูส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน และหลักสูตรการเรียนการสอนและการประเมินผลผู้เรียน เน้นวิชาและครูเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียน การเรียนการสอนไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เน้นการท่องจำ แต่ไม่เน้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการคิดริเริ่มสร้างสรรค์

          2. ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

             ในโลกแห่งยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีมีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มากยิ่งขึ้นทุกวัน ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันจากที่เคยดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป  แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีที่มีความเจริญก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ใหญ่โตมโหฬาร ทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่อย่างรวดเร็ว แทบจะตั้งรับไม่ทัน เพื่อให้ชีวิตก้าวทันกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน           ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อการศึกษาของไทย ทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึงในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมทั้งการสื่อสารโทรคมนาคมที่ผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต ดาวเทียม หรือโทรทัศน์ ทำให้การเรียนการสอนตามวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่มีผู้เรียนและผู้สอนร่วมทำกิจกรรมการเรียนการสอนภายในห้องเรียนได้ถูกเปลี่ยนไป ผู้เรียนกับผู้สอนไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในที่ที่เดียวกัน จะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ก็คงยังติดต่อสัมพันธ์กันได้ หรือแม้แต่ผู้เรียนจะเรียนในเวลาใดก็ได้ จะทบทวนบทเรียนให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นกี่ครั้งก็ยังได้ ทำให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ผู้คนมีโอกาสและทางเลือกในการศึกษามากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางไกล (Distance Education) และการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning)

            3. ด้านเศรษฐกิจ

          โลกกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวควบคู่ไปกับปัญหาเงินเฟ้อ (STAGFLATION)  อันเนื่องจากน้ำมัน ธัญพืชที่เป็นอาหาร วัสดุก่อสร้างฯลฯ มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคงจะอยู่ในระดับสูงต่อไป ประเทศไทยซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมาก มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้สูง ในแง่ที่ว่าไทยต้องพึ่งพาการผลิตเพื่อการส่งออก ที่ต้องการการนำเข้าสินค้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และน้ำมันมาก  หากประเทศสหรัฐและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นต่างมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว พวกเขาก็จะซื้อสินค้าจากไทยลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากมีปัญหาชะลอตัวด้วย

          แม้ไทยจะผลิตข้าวและพืชที่เป็นอาหารอื่นได้มากและอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกอาหาร แต่การทำการเกษตรสมัยใหม่เพื่อการส่งออกนั้น ต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืชซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ของน้ำมันมาก ทั้งต้องใช้รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำและเครื่องทุ่นแรงอื่น ๆ ในการผลิตและการขนส่งสินค้าซึ่งล้วนต้องใช้น้ำมัน  ดังนั้นการที่น้ำมันมีราคาสูงจึงทำให้ต้นทุนการเกษตรของไทยสูงไปด้วย เกษตรกรจึงได้ประโยชน์จากที่ธัญพืชราคาสูงขึ้นได้ไม่มากนัก

          เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการสั่งเข้าน้ำมันและพลังงานต่าง ๆ มาก  โดยที่คนรวยคนชั้นกลางยังใช้น้ำมันหรือพลังงานทั้งหมดอย่างเป็นการบริโภคสิ้นเปลือง (เช่น ใช้รถยนต์ส่วนตัวมาก ใช้ไฟฟ้าเพื่อการค้าและการพักผ่อนหย่อนใจมาก) ไม่ได้ใช้พลังงานอย่างมุ่งเกิดประสิทธิภาพการผลิตมากนัก บวกกับการมีโครงสร้างและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดที่เป็นบริวารบรรษัทข้ามชาติ ต้องพึ่งพาทุนและการค้ากับต่างประเทศมาก ตลาดภายในประเทศคับแคบเพราะคนรวยส่วนน้อยเอาเปรียบคนจนส่วนใหญ่ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวคู่ไปกับปัญหาเงินเฟ้อที่หนักหน่วง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย จะยิ่งเจอปัญหาของแพงแต่มีงานทำหรือมีรายได้ลดลงอย่างหนักหน่วงมากขึ้น  

          จากการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ในการจัดการศึกษาที่ดีจึงควรมุ่งตอบสนองความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ การผลิตแรงงานทั้งในสาขาที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เช่น ช่างฝีมือ นักวิชาชีพต่าง ๆ และสาขาที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ผู้ทำงานด้านภาครัฐ และสังคม ประชาอย่างใกล้เคียงกับความต้องการ   ปัจจุบันมีปัญหาคนจบมหาวิทยาลัยที่ว่างงานเป็นสัดส่วนสูงขึ้น แต่แรงงานอาชีวะระดับกลาง(ปวช.) และระดับสูง (ปวส.) ยังขาดแคลน   

                4. ด้านสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม

                จากความหมายของ “โลกาภิวัตน์” ที่ว่าคือ กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทำให้เกิดการติดต่อด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  สร้างตลาดการค้า  การแข่งขัน  การส่งออก  การบริการ  การลงทุน  และองค์ความรู้ เทคโนโลยีร่วมสมัยและเป็นการหลอมรวมความสัมพันธ์ต่างๆ ทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในทุกมุมโลก ให้เป็นอันหนึ่งเป็นเดียวกันและใกล้ชิดกันมากขึ้นตามแบบอย่างโลกตะวันตก 

          การจัดการศึกษาในปัจจุบันก็มีทิศทางตามกระแสของโลกตะวันตก โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นตัวสนับสนุนให้สังคมโลกใกล้กันมากขึ้น จนเกิดเป็นลักษณะของหมู่บ้านโลก

            5. แนวโน้มของจำนวนประชากรไทย

          เนื่องจากมีการวางแผนประชากรเพิ่มขึ้น และคนไทยแต่งงานช้าลง นิยมมีลูกน้อยลง  ทำให้อัตราการเพิ่มประชากรต่ำ คือจะเพิ่มอย่างช้า ๆ  และเพิ่มถึงจุดสูงสุดที่ 65.2 ล้านคน ในราว 12-13 ปีข้างหน้า  หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงเล็กน้อย กลับมาทรงตัวอยู่ที่ระดับ 60 ล้านคน ในอีก 30-50 ปีข้างหน้า

แต่โครงสร้างด้านอายุของประชากรจะเปลี่ยนไป คือ เนื่องจากมีอัตราเกิดลดลง ประชากรวัยเด็กจะค่อย ๆ มีสัดส่วนลดลง  ขณะที่มีการพัฒนาด้านสาธารณสุขสูงและการที่คนรู้จักดูแลสุขภาพดีขึ้น  ทำให้คนอายุยืนขึ้น สัดส่วนของผู้สูงอายุ เช่น 60 ปีขึ้นไปจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ปราโมทย์ ประสานกุล  และคณะ. 2550) 

จะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านแนวโน้มของจำนวนประชากรไทย มีผลต่อแนวโน้มการจัดระบบและระดับการศึกษา ดังจะเห็นได้จากตารางนี้

ตารางแสดงประชากรวัยเรียนในอนาคต พ.ศ. 2548 – 2583   (ล้านคน)

ระดับการศึกษา

2548

2553

2558

2563

2568

2573

2578

2583

ต่ำกว่า 3 ปี

2.8

2.3

2.2

2.1

1.9

1.8

1.7

1.6

ก่อนประถม (3-5 ปี)

2.7

2.6

2.3

2.2

2.0

1.9

1.8

1.6

ประถมศึกษา (6-11 ปี)

5.7

5.5

5.1

4.5

4.3

4.0

3.7

3.5

มัธยมต้น (12-14 ปี)

3.0

2.8

2.7

2.4

2.2

2.1

2.0

1.8

มัธยมปลาย (15-17 ปี)

3.0

3.0

2.7

2.8

2.3

2.2

2.1

1.9

อุดมศึกษา (18-24 ปี)

7.1

7.0

6.8

6.3

6.2

5.4

5.1

4.8

ที่มา : ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และ ปราโมทย์ ประสาทกุล “ประชากรไทยในอนาคต”  อ้างถึงใน กฤตยา อาชวนิจกุล และ วรชัย ทองไทย(บรรณาธิการ)  ประชากรและสังคม 2549 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล Institute for Population and Social Research, Mahidol University

             6.ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของโลก

             การที่โลกมีปัญหามีมลภาวะและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เรียกว่าโลกร้อนเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพภูมิอากาศเกิดความแปรปรวน จึงเกิดปัญหาภัยแล้ง มีพายุและภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ บ่อยขึ้นรุนแรงขึ้น และในปี 2554 นี้ประเทศไทยประสบกับอุทุกภัย น้ำท่วมครั้งใหญ่  เป็นปัญหาที่จะกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่าง ๆ เศรษฐกิจและการเกษตรของไทยเป็นอย่างมาก   รวมไปถึงวีถีชีวิตและสุขภาพของคนทั่วไป

          จากผลกระทบดังกล่าว เราจะต้องตระหนักถึงความสำคัญและจัดการศึกษาให้คนไทยรู้จักการประหยัดในการผลิตและการบริโภค และเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเพื่อลดการทำให้โลกร้อนและเกิดมลภาวะน้อยลง  ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเรื่องพลังงานทางเลือก เกษตรทางเลือก สาธารณสุขทางเลือกฯลฯ เพิ่มขึ้น  ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกคนในระยะยาวมากกว่า การพัฒนาแบบใช้เทคโนโลยีตะวันตกเน้นการเพิ่มผลผลิต การเพิ่มการบริโภค เพื่อการหาเงินหากำไรอย่างที่รัฐบาลทุกรัฐบาลทำอยู่

แนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคต

          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2550) ได้ดำเนินการวิจัยเรื่อง ผลกระทบโลกาภิวัตน์ต่อการจัดการศึกษาไทยใน 5 ปีข้างหน้า โดยมอบให้มูลนิธิสถาบันอนาคตการศึกษาเพื่อการพัฒนา(ไอเอฟดี) เป็นผู้ดำเนินงานวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา  สภาพปัจจุบันและอนาคตสังคมโลกและสังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ใน 5 ปีข้างหน้า   ผลกระทบสังคมโลกและสังคมไทยภายใต้โลกาภิวัตน์ต่อการจัดการศึกษาใน 5 ปีข้างหน้า และจัดทำข้อเสนอสำหรับการศึกษาไทย เพื่อรองรับสภาพโลกาภิวัตน์ก่อนนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาไทย ให้เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป  โดยมีขอบเตการศึกษา เพื่อศึกษาสภาพสังคมไทยและสังคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ศึกษาด้านสังคมและประชากร เศรษฐกิจและการอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง รวมถึงการศึกษาสภาพการจัดการศึกษาไทยด้านระบบการศึกษา ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ด้านผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลการทางการศึกษา และด้านทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา โดยจะศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอุดมศึกษา การอาชีวศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียน

          วิธีการศึกษา มีดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1 ประเด็นในการศึกษา (Study Issues) เพื่อเป็นพื้นฐาน เป็นกรอบสร้างความเข้าใจ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ คาดการณ์อนาคตการศึกษา กำหนดแนวทางพัฒนาการศึกษาไทยให้พร้อมรับสภาพโลกาภิวัตน์

          ขั้นตอนที่ 2  การสืบค้นปัจจัยหลัก (Detection of factors) เป็นกระบวนการค้นหาว่าปัจจัยใดมีอิทธิพลต่อการกำหนดภาพอนาคตการศึกษาไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

          1.  ปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมโลกและสังคมไทย

               - ปัจจัยด้านสังคมและประชากร สังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ สังคมการแข่งขัน สังคมที่เกิดช่องว่าง สังคมที่   อยู่ภายใต้กรอบมาตรฐานสากล สังคมที่เคารพในสิทธิมนุษยชน สังคมผู้สูงอายุ สังคมที่มุ่งสร้างเอกลักษณ์ของชุมชน สังคมที่แสวงหาการเติมเต็มทางจิตใจ

                - ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เศรษฐกิจเสรี เศรษฐกิจเครือข่าย เศรษฐกิจดิจิตอล เศรษฐกิจฐานความรู้ เศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก เศรษฐกิจที่พึ่งพา 

                    - ปัจจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

                    - ปัจจัยการเมืองการปกครอง

          2.  ปัจจัยด้านสถาบันการศึกษาไทย

          3.  ปัจจัยด้านรัฐต่อการจัดการศึกษาไทยภายใต้สภาพโลกาภิวัตน์  ภาวะผู้นำของผู้นำรัฐบาล

การกำหนดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ การกำหนดจุดยืนแนวทางปฏิบัติต่อการเปิดเสรีการศึกษา การนำสู่ภาคปฏิบัติ การประเมินติดตามผล การกำหนดกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง การเชื่อมโยงด้านยุทธศาสตร์ แผนงานและทรัพยากรกับภาคีอื่น

          โดยผลวิจัย ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์( http://www.kriengsak.com/node/77) ได้อธิบายแนวโน้มสำคัญของการศึกษาไทยใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้กระทบต่อสังคมและประชากร เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง ซึ่งมีทั้งที่เป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านบวก และด้านลบ โดยบทความนี้ผมนำมาเสนอบางประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

            แนวโน้มด้านบว

            - หลักสูตรใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก จากการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้คนในสังคมต้องการเพิ่มความรู้ความสามารถให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงหันมาสนใจศึกษาต่อในหลักสูตรที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในสังคมสถาบันการศึกษาจึงมุ่งพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ อาทิ หลักสูตรที่บูรณาการระหว่างสองศาสตร์ขึ้นไป เช่น ระดับอาชีวศึกษาหลักสูตรเดียวจะมีหลายสาขาวิชา เรียนช่างยนต์จะผนวกการตลาดและการบัญชีเข้าไปด้วย เป็นต้น หลักสูตรที่ให้ปริญญาบัตร 2 ใบ และมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา

            - หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการคนที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการการศึกษาที่เป็นภาษาสากลมีมากขึ้น ที่สำคัญการเปิดเสรีทางการศึกษา ยังเป็นโอกาสให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทย และเปิดหลักสูตรภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ ยิ่งมีส่วนกระตุ้นให้หลักสูตรการศึกษานานาชาติมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่เนื่องจากหลักสูตรนานาชาติมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การเรียนในหลักสูตรนี้ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เรียนที่มีฐานะดี

            - การจัดการศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้น สภาพโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงในทุกด้านร่วมกันทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ กฎกติกา การดำเนินการด้านต่าง ๆ ทั้งการค้า การลงทุน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เชื่อมต่อถึงกัน ประกอบการเปิดเสรีทางการศึกษา ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลหลักสูตรการเรียนการสอน บุคลากรด้านการสอน หลักสูตร จากสถาบันการศึกษาต่างประเทศเข้าสู่ไทย อันมีผลทำให้เกิดการเปรียบเทียบและผลักดันให้สถาบันการศึกษาไทยต้องพัฒนาการจัดการศึกษาที่มีความเป็นสากลที่เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนกับนานาประเทศของไทย ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมในระดับสากล

            - ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาลดลง เนื่องจากสภาพการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกระแสระดับโลกเกิดขึ้นควบคู่กับคลื่นประชาธิปไตยแผ่ขยายวงกว้างถึงไทย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ส่งเสริมการเพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน อีกทั้งสภาพการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนการสอน ทำให้ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงคนได้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม อาจเป็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาจะลดลงในกลุ่มสถาบันการศึกษาของรัฐ ส่วนการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาเอกชน ผู้เรียนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยอาจเข้ารับบริการทางการศึกษาได้ลดลง เนื่องจากค่าเล่าเรียนแพง

            - โอกาสรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เมื่อเปิดเสรีทางการศึกษา จะก่อเกิดการแข่งขันในการจัดการศึกษาทั้งจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น หากพิจารณาในแง่บวก การเปิดเสรีทางการศึกษา เป็นการสร้างโอกาสให้คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เนื่องด้วยสถาบันแต่ละแห่งจะแข่งด้านคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษา คุณภาพการศึกษาจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากการเปิดเสรีทางการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาต่างชาติเข้ามาเปิดการเรียนการสอน จึงเป็นแรงกดดันให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น

            แนวโน้มด้านลบ

            - การเพิ่มช่องว่างด้านคุณภาพในการจัดการศึกษา แม้ว่าสภาพการแข่งขันทางการศึกษาจะเป็นแรงผลักให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เร่งพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น แต่เนื่องจากทรัพยากรตั้งต้นของแต่ละสถาบันการศึกษามีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถและปริมาณของบุคลากรการศึกษา งบประมาณ เงินทุน เทคโนโลยี สถานที่ ความมีชื่อเสียง ฯลฯ ส่งผลให้โอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษาย่อมแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาขนาดเล็ก หรือสถาบันการศึกษาที่ยังไม่มีความพร้อม/มีทรัพยากรตั้งต้นไม่มาก ย่อมไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาคุณภาพมากนัก

            - การผลิตบัณฑิตเกินความต้องการของตลาด เนื่องจากความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีสูงขึ้น และการพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ต้องหาเลี้ยงตนเอง มีอิสระในการบริหารและเปิดหลักสูตรเพื่อหาผู้เรียนเข้าเรียนให้ได้จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบระยะยาวคือ มีบัณฑิตจบเป็นจำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่สามารถรองรับได้หมด โดยกลุ่มแรงงานระดับอุดมศึกษาที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่จบจากสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ จะถูกผลักสู่แรงงานนอกระบบ หรือหาทางออกโดยเรียนต่อระดับสูงขึ้น ซึ่งอาจก่อเกิดภาวะแรงงานระดับปริญญาโทและเอกไม่มีคุณภาพและล้นตลาดตามมาเช่นกัน

            - การสอนทักษะการคิดและทักษะทางอารมณ์ยังไม่มีคุณภาพ สภาพเศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขัน ทำให้การจัดการศึกษามุ่งพัฒนาทางวิชาการเป็นสำคัญ ในขณะที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนได้เท่าที่ควร เนื่องจากการเรียนการสอนยังมุ่งสอนให้ผู้เรียนคิดตามสิ่งที่ผู้สอนป้อนความรู้มากกว่าการคิดสิ่งใหม่ ๆ ประกอบกับครูผู้สอนมีภาระงานมาก จนส่งผลต่อการพัฒนาบุคคลในด้านอื่น เช่น การพัฒนาเชิงสังคม รวมถึงการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีในกิจวัตรประจำวันหรือใช้ในการเรียนการสอนทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ลดลง ส่งผลให้ช่องทางการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และทักษะทางสังคมของผู้เรียนลดลงด้วย

            - การสอนคุณธรรมจริยธรรมยังไม่มีคุณภาพ แนวคิดของทุนนิยมที่มุ่งแข่งขันได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ผู้คนต่างมุ่งแข่งขัน และพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประกอบกับสถาบันการศึกษาจำนวนมากมุ่งพัฒนาความรู้ทางวิชาการ และประเมินผลการเรียนที่ความสามารถทางวิชาการ จนอาจละเลยการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม นอกจากนี้ การไม่ได้มีผู้สอนที่รู้เชี่ยวชาญด้านการสอนคุณธรรมจริยธรรมโดยตรงหรือมีคุณภาพ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการสอนของวิชาคุณธรรมจริยธรรมได้

            - การสอนภาษาต่างประเทศยังไม่มีคุณภาพ ยิ่งก้าวสู่โลกไร้พรมแดนมากขึ้นเท่าใด ผู้มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีนที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกใช้ติดต่อสื่อสาร เจรจาต่อรอง การค้า การศึกษา ฯลฯ ย่อมมีความได้เปรียบ ทั้งในเรื่องการติดต่อสื่อสารและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือ การสอนภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศของไทยยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เนื่องจากครูผู้สอนมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะครูผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูจำนวนมากไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง และมีแนวโน้มว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า การพัฒนาการสอนทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษแม้ปัจจุบันจะตื่นตัวมากขึ้น แต่ยังไม่ก้าวหน้าไปมากเท่าที่ควร เพราะทรัพยากรด้านบุคลากรสอนภาษาต่างประเทศนี้ขาดแคลนมาก

          ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาไทยมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้พร้อมต่อสภาพโลกาภิวัตน์ได้นั้น จำเป็นต้องเตรียมพร้อมในเชิงรุกตั้งแต่วันนี้ โดยรัฐควรเน้นการบริหารจัดการในส่วนที่ไทยได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในสถาบันการศึกษา สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษา และสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษารองรับกระแสโลกาภิวัตน์

การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

          การศึกษาของไทยจะมีแนวโน้มเป็นระบบการศึกษาที่เพิ่มศักยภาพ การเรียนรู้ ส่งเสริมทักษะเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต สามารถพัฒนาหรือปรับตัวให้เท่าทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ในเรื่องของ ECIT

          ECIT ก็คือ

                   • E : Electronic เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์

                   • C : Computer เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

                   • I : Information เทคโนโลยีสารสนเทศ

                   • T: Telecommunication เทคโนโลยีโทรคมนาคม

ความสำคัญการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

          - เป้าหมายของการศึกษา จะเป็นไปในลักษณะที่มุ่งพัฒนาวุฒิของความเป็นมนุษย์ ที่วัดไม่ได้ด้วย วุฒิบัตร

          - เนื้อหาของการศึกษา จะเน้นส่งเสริมสร้างการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมดุล

          - รูปแบบของการจัดการศึกษาในอนาคต จะให้อิสระแก่ผู้เรียนมากขึ้น ให้คนรักท้องถิ่นและสามารถดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างพึงพอใจ มีการใช้รูปแบบขององค์กรต่าง ๆ เข้ามารวมกับการศึกษามากขึ้น เช่น ครอบครัว ชุมชน สื่อมวลชน องค์กรศาสนา ภาคเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรเฉพาะกิจ

          - ระบบการศึกษาจะเป็นการเรียนรู้ เป็นแบบเสรี มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศข้อมูลของโลก มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการศึกษา

          - โรงเรียนในอนาคต จะเป็นแบบลักษณะ Plug-in Scool และ Global Classes ซึ่งครูกับนักเรียนไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน แต่จะกลายเป็น Cyber Space Curriculum คือ บทเรียนสมัยใหม่ที่ผ่านสื่อยุคใหม่ เช่นอินเตอร์เน็ต อันจะทำให้สามารถศึกษาค้นคว้าแหล่งข้อมูลต่าง ๆทั่วโลกได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

 

         จากการจัดการระบบการเรียนรู้ในสังคมยุคใหม่  พบว่ามุ่งการจัดการเรียนรู้ด้ว

หมายเลขบันทึก: 475603เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2012 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การศึกษาของไทย เมื่อพิจารณาจากหลักสูตรแกนกลางฯ จะเห็นว่ามีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเด็กไทย โดยยึดหลักว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด และเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นเราจึงเห็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ก็สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่เป็นยุคข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ แหล่งความรู้มีอยู่อย่างมากมายและองค์ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี เช่น กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เป็นต้น ทั้งนี้ ดิฉันเห็นด้วยกับแนวโน้มที่ว่า ECIT จะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับตัวและเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ครูผู้สอนเองจึงต้องเร่งทำความเข้าใจและพัฒนาสมรรถนะของตนเองในเรื่อง ECIT เพื่อให้สามารถนำ ECIT มาช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ จนทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองและสังคมในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้องเหมาะสมและมีคุณธรรม

โดย พิชญกานต์ บำรุงกลาง

ปัจจุบันนี้ระบบการศึกษาก็ดีนะ แต่ทำไมเด็กนักเรียนถึงเก่งลงทุกวันๆๆๆๆๆๆๆๆ

การจัดการศึกษาในยุคใหม่ ครูทำหน้าที่ในการเป้็นผู้ชี้แนะแก่นักเรียน ผู้เรียนก็ต้องเรียนด้วยตนเอง เป้นการศึกษาตามอัธยาศรัยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการศึกษาในยุคใหม่ต้องการศึกษาของไทยจะมีแนวโน้มเป็นระบบการศึกษาที่เพิ่มศักยภาพ การเรียนรู้ ส่งเสริมทักษะเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต สามารถพัฒนาหรือปรับตัวให้เท่าทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ในเรื่องของ ECIT

ECIT

• E : Electronic เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์

• C : Computer เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

• I : Information เทคโนโลยีสารสนเทศ

• T: Telecommunication เทคโนโลยีโทรคมนาคมมีการพัฒนาทางเทคโนโลยี

สุวิมล อินทร์บริสุทธิ์

สังคมโลกในอนาคต จะมีระบบเศรษฐกิจ การติดต่อสื่อสาร การศึกษาหาความรู้เป็นแบบไร้พรมแดน มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร เป็นอย่างมาก สังคมโลกจะแคบลงมีการลื่นไหลระหว่างวัฒนธรรมมากขึ้น ระบบการศึกษาไทยในอนาคต จะต้องเป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างคน สร้างงาน และสร้างชาติ เป็นการศึกษาแบบองค์รวมและบูรณาการ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง เพื่อพัฒนาประเทศยั่งยืน การศึกษาจะเป็นการเรียนรู้แบบเสรี มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศข้อมูลของโลก มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการศึกษา เช่น ในปัจจุบันมีการใช้ แท็ปเลท มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้หลากหลายขึ้น และสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท