ข้อคิดเรื่องการบริหารมหาวิทยาลัยยุคใหม่


 

          มหาวิทยาลัยวิจัยของประเทศไทยต้องการกระบวนทัศน์ใหม่ และการจัดการแบบใหม่ ในหลากหลายด้าน เพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการของกระบวนทัศน์และการจัดการแบบราชการ ที่เน้นการทำงานประจำ ไม่ยอมรับความเสี่ยง ใช้กฎระเบียบเดียวเหมือนกันหมด ขาดทักษะในการจัดการสมัยใหม่ ไม่มีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ

          ต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนของเรื่องใหญ่ๆ (เท่าที่สติปัญญาอันจำกัดของผมพอจะนึกออก) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยวิจัย และที่ออกจากระบบราชการแล้ว มีอิสระที่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์สังคม อย่างสร้างสรรค์แหวกแนวได้

 

     ๑. ระบบการบริหารเงิน หรือการลงทุนเพื่อการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาให้แก่สังคม มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพและมั่นคงจำนวนหนึ่งของไทยมีสินทรัพย์ที่เป็นตัวเงินอยู่ จำนวนหนึ่ง และในการดำเนินการประจำปีก็มักมีรายได้มากกว่ารายจ่าย พอกพูนเป็นเงินสะสมมากขึ้น ทุกปี ถือเป็นผลงานที่ดีของฝ่ายบริหาร

          แต่ก็มีคำถามว่า มหาวิทยาลัยควรสะสมเงิน (ซึ่งเวลานี้ดอกเบี้ยที่ได้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ แปลว่ายิ่งเก็บนานมูลค่ายิ่งหด) หรือควรเอาไปลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ต่อไปจะเพิ่มมูลค่า ทั้งด้านราคาและด้านการทำประโยชน์ให้แก่สังคม หรือควรเอาไปลงทุนสร้างคน

 

     ๒. ระบบการบริหารงานบุคคลที่ยืดหยุ่นและซับซ้อน เพื่อแข่งขันดึงดูดคนดีและคนเก่ง

          คนดีและเก่งย่อมเป็นที่ต้องการของทุกวงการ และในสังคมปัจจุบันวงการธุรกิจเอกชนให้ค่าตอบแทนสูงกว่าวงการวิชาการมาก แม้มหาวิทยาลัยไม่สามารถตั้งอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นให้เท่ากับอัตราตลาดได้ ก็ควรจะขยับให้ไม่ต่างมากนัก ซึ่งหมายความว่าบัญชีอัตราเงินเดือนของมหาวิทยาลัยควรมีหลายบัญชี ตามวิชาชีพ โดยกำหนดตามราคาตลาดของวิชาชีพนั้นๆ ไม่ใช่อัตราเดียวเหมือนกันหมดแบบราชการ

          นอกจากนั้น ควรเปลี่ยนจากประกาศรับสมัคร เป็นเสาะแสวงหาคนตามลักษณะที่ต้องการ และเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองได้

 

     ๓. กลไกนำนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ

          ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูงนั้น มักมีแนวความคิดดีๆ เสนอต่อที่ประชุมมากมาย รวมทั้งในเอกสารแผนพัฒนา หรือแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย มักมีแนวคิดดีๆ มากมาย ที่ยังไม่ได้มีการลงมือดำเนินการอย่างได้ผลจริงจัง เพราะการดำเนินการมีลักษณะเป็นการ “เข็นครกขึ้นภูเขา” หรือทวนกระแสวัฒนธรรมประเพณีที่ถือต่อๆ กันมาภายในมหาวิทยาลัย เช่นวัฒนธรรมรวมกลุ่มอยู่กันตามสาขาวิชา แต่ในการดำเนินการให้เกิดผลงานที่ดีมีนวัตกรรม ต้องการการรวมกลุ่มแบบใหม่ ทำงานข้ามสาขาวิชา ร่วมมือกันหลายสาขาวิชา จึงต้องมีวิธีการจัดการแบบใหม่ ดึงดูดนักวิชาการจากหลายสาขาวิชามาทำงานร่วมกันตามความต้องการของสังคม ดังตัวอย่างศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เพิ่งตั้งขึ้นของ มช. และสถานต่างๆ หลากหลายสถานของ มอ. ที่ตั้งขึ้นตามความต้องการของฝ่าย “ผู้ใช้” ความรู้หลากหลายแบบ และดำเนินการตามแนวทางการจัดการสมัยใหม่

          บางกลไกควรใช้รูปแบบการจัดการคล้ายภาคธุรกิจ แต่สวมจิตวิญญาณเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทำงานแบบ profit center ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และหารายได้ให้แก่มหาวิทยาลัย หรือเป็นฐานหรือกลไกของมหาวิทยาลัยในการเข้าถึงส่วนต่างๆ ของสังคม

 

     ๔. กลไกการทำงานที่ต้องทำโดยหลายสาขาวิชา

          มหาวิทยาลัยต้องทดลองหากลไกการทำงานที่ต้องทำโดยหลายสาขาวิชา ซึ่งมักเป็นงานบริการวิชาการตามความต้องการของฝ่าย “ผู้ใช้” ควรมีศูนย์บริการวิชาการหลากหลายศูนย์ตามกลุ่มผู้ใช้ (demand-side) บริหารงานและพัฒนาทักษะในการทำงานเพื่อสนองผู้ใช้ได้อย่างเป็นที่พอใจ ใช้วัฒนธรรมการให้บริการแบบเอกชน เป็น profit center ที่มีจิตวิญญาณสาธารณะ มีเป้าหมายเชิงคุณค่าอยู่ที่การทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง

          ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้กล่าวแล้วในหัวข้อที่ ๓

 

     ๕. นโยบายการทำงานพัฒนาที่ต้องเลือกเน้น ว่าจะเน้นถมบ่อหรือถมเนิน

          วัฒนธรรมราชการเน้นความเท่าเทียมกัน เน้นการเจือจานผู้อ่อนแอ ดังนั้น เมื่อมีการเสนอแผนงานหรือโครงการที่ต้องลงทุนทรัพยากรเพื่อทำงานนั้น ฝ่ายบริหารก็จะตั้งคำถามว่า หากให้ทรัพยากรแก่หน่วยงานนั้นในโครงการนั้น หากหน่วยอื่นมาขออีก จะพิจารณาอย่างไร เพราะทรัพยากรมีจำกัด ฝ่ายบริหารมักหาทางแบ่งทรัพยากรไปทั่วๆ กัน จนทรัพยากรที่แต่ละหน่วยได้ น้อยจนไม่มีหน่วยใดทำงานได้ผลจริงจัง

          ทั้งหมดนั้นเพราะใช้วัฒนธรรมแบ่งทรัพยากร โดยไม่ระบุเงื่อนไขผลงานไปพร้อมๆ กับการจัดสรรทรัพยากร และไม่มีการติดตามผลงาน วัฒนธรรมแบบนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัฒนธรรม “ถมบ่อ” หรือเกลี่ยดินให้สูงเท่าๆ กัน โดยที่ “บ่อ” มักถมไม่เต็ม

          แต่หากจัดทรัพยากรตามผลงานที่สังคมต้องการ และจัดโดยมีเงื่อนไขผลงาน พร้อมการติดตามงาน จะต้องจัดทรัพยากรแก่ “เนิน” คือกลุ่มที่มีความสามารถสูงในการผลิตผลงาน

          ที่จริง มหาวิทยาลัยต้องถมทั้งบ่อและเนิน แต่ต้องมีวิธีถมบ่อแบบที่ “ถมเต็ม” คือมีการสร้างขีดความสามารถ ยกระดับขึ้นอย่างได้ผล ผ่านการทำงานโดยมีการจัดการสมัยใหม่

 

มหาวิทยาลัยต้องปฏิรูปการบริหารระบบหลักๆ ๔ ระบบ ได้แก่

 •  การบริหาร university agenda เน้นที่การบริหารการเรียนการสอน และการบริหารความสัมพันธ์ภายนอก ให้เป็น university agenda ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างคณะต่างทำ หรือในบางกรณี ต่างภาควิชาต่างทำ ซึ่งจะมีผลให้ภาคีภายนอกงง ไม่รู้ว่าควรติดต่อกับใครดี เพราะที่มาติดต่อพูดต่างกัน

 •  การบริหารการเงิน หรือทรัพยากร ที่มองระยะยาวมากขึ้น มีการจัดการโดยใช้ความรู้และกล้าเสี่ยงมากขึ้น

•  การบริหารคน ที่ยืดหยุ่นและใช้มาตรการเชิงรุกมากขึ้น

•   ระบบการจัดองค์กรแนวราบ เพื่อทำงานสหวิทยาการ ตามความต้องการของ “ผู้ใช้”

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ธ.ค. ๕๔

เชียงใหม่

 

หมายเลขบันทึก: 474421เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2012 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท