๒๓๓.มายาคติ กับทิฐิของชาวพุทธ


จะอย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็คือมนุษย์ สิ่งที่ต้องการแสวงหาที่พึ่งทางใจ แม้ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่กับการกระทำ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนแล้วแสดงถึงปรัชญาในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ยังมีความทุกข์อยู่ในใจ

     "มายา" คือสิ่งที่ไม่จริงแท้ หรือสิ่งที่ลวงตา เพื่อทำให้เหมือนจริง เช่น มายากล เป็นต้น ส่วนคำว่า "คติ" คือทางไป อันหมายถึงทางไปแห่งความคิดความเชื่อที่ตนเองเข้าใจว่าถูกต้องดีงาม

     สรุปแล้ว คำว่า "มายาคติ" จึงหมายความว่าความคิด ความเชื่อในสิ่งที่ไม่จริงแท้

     สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีทั้งดี-ปานกลาง-เลว ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการที่แสดงออก การมีผลกระทบต่อสังคมในด้านใดบ้าง ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความเข้มของการให้น้ำหนักของ "มุม หรือ จุด ที่คนๆ นั้นมองออกไป"

     ตามทัศนะของผู้เขียนแล้ว "มายา" บางอย่าง บางกรณี นั้นดี เช่น กรณีวันที่ ๘ มกราคม ๕๕ ที่ผ่านมา ชาวล้านนา ได้มีการทานข้าวใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับชีวิต นอกจากนั้นแล้วยังได้มีการ จัดหาฟืนเพื่อจุดบูชาพระเจ้าตนหลวง หรือพระพุทธเจ้า

     มายาคติ ก็คือ การที่ชาวบ้านเข้าใจว่า พระเจ้าตนหลวงมีความรู้สึกหนาว จึงต้องการสุมไฟเพื่อให้เกิดความอบอุ่นขึ้นในช่วงเทศกาลนี้ จึงสมมติขึ้นมาว่ามีการถวายฟืนให้กับองค์พระ

     แต่ความเป็นจริง องค์พระอยู่ในพระวิหารหลวง ย่อมตอบสนองต่อมายาคติของประชาชนไม่ได้ แต่ประชาชนก็สมมติและเข้าใจเอาเองว่า ไม่เป็นไร ไปจุดที่ลานหน้าวัดก็ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์มักจะดึงเอาความเชื่อ ความศรัทธา มาตอบโจทย์ในมายาคติของตนเอง หรือเรียกอีกนัยะหนึ่งก็คือการนำเอาศาสนามาสนองความต้องการเบื้องต้นของตนเอง

     อันที่จริงแล้ว มายาคติเหล่านี้ เกิดขึ้น แทรกอยู่กับชาวพุทธเราอยู่ตลอดเวลา เช่น กรณีการแห่ผ้าห่มพระเจ้าตนหลวง ก็เพราะกลัวว่าองค์พระจะหนาว จึงมีการรื้อฟื้นประเพณีขึ้นมาใหม่

     หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นระเบียบพิธีในระดับประเทศ ก็คือการเปลี่ยนเครื่องทรงให้กับพระแก้วมรกรต ที่ทางราชวังก็จัดให้มีการเปลี่ยนเครื่องทรงในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ เช่น ฤดูหนาวก็ถวายเครื่องทรงอีกอย่าง ฤดูฝนก็ถวายเครื่องทรงอีกอย่าง ฤดูร้อนก็ถวายเครื่องทรงอีกอย่าง ฯลฯ

     หรือกรณี การถวายข้าวพระพุทธรูป ก็มีมุมมอง หรือวิธีคิดที่คล้าย ๆ กัน คือการนำเอาความรู้สึกของเรา ของคน ไปผูกเข้ากับความเชื่อ จึงสะท้อนออกมาเป็นประเพณี ดังที่กล่าวมานี้

     ดังนั้น แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นมายาคติในกลุ่มชาวพุทธก็จริง แต่สิ่งที่ทำกันมา จากรุ่นสู่รุ่นก็กลายมาเป็นวัฒนธรรมประเพณี หากมุมที่เรามองอยู่บนฐานแห่งเมตตาจิต เราก็จะได้แนวคิดอีกแนวคิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์แห่งความรู้และความเข้าใจในที่สุด

     จะอย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็คือมนุษย์ สิ่งที่ต้องการแสวงหาที่พึ่งทางใจ แม้ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่กับการกระทำ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนแล้วแสดงถึงปรัชญาในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ยังมีความทุกข์อยู่ในใจ

     ผู้เขียน จึงมองมายาคติเหล่านี้ เป็นกุศโลบายในการเชื่อมโยงชุมชน รวมคนมีศรัทธา จนเกิดเป็นความสามัคคี เกื้อกูลกันในสังคมและชุมชนนั้น ๆ หรือผู้อ่านมีทัศนะเป็นอย่างอื่น ?

 

หมายเลขบันทึก: 474256เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2012 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท