การตลาดเมื่อน้ำท่วม


“คิดสั้นๆ ก็ย่อมได้กำไรสั้นๆ คิดเอาเปรียบกันย่อมปิดกั้นความเจริญ” หากินบนความเดือดร้อน ใครจะเป็นยังไงก็ไม่ทราบได้ “ขอให้ฉันได้กำไร ฉันต้องรอด” เจริญล่ะทีนี้!

“การตลาดเกิดขึ้นเสมอ

ไม่ว่าจะเจอมรสุมหรือความสำเร็จรุมเข้าหา”

ท่ามกลางภาวะวิกฤตหลายครั้ง เป็นที่ถูกอกถูกใจของบางกลุ่มบางก้อน โดยเฉพาะกับอุทกภัยขั้นร้ายแรง กลุ่มงานพลาสติกกับสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันน้ำ ต่างยิ้มเริงร่า ได้ทีท่าทำกำไร เช่น กางเกงกันน้ำ เรือยาง เสื้อชูชีพ หรืออาชีพที่ต้องข้องเกี่ยวกับกิจกรรมทางน้ำ หรือเรื่องของการช่วยชีวิต!

            เพราะความคิดที่ว่า “ในวิกฤตมีโอกาส” จึงได้ใช้โอกาสนี้ ในการบังคับปรับราคาให้สูงเว่อร์ ผู้ค้าปลีกมีหลากหลาย ของชนิดเดียวกัน ราคาต่างกัน ตั้งแต่ “ถูกจัดจัดยันแพงระยับ” เพราะนานๆ ที ของที่ขายไม่ค่อยได้ จะขายได้ก็ตอนหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้! ราคาจึงไม่ตายตัว สามารถลื่นไหลได้เหมือนกองกำลังน้ำมหากาฬ แต่ที่น่าประจานคือผู้ค้ากำไรเกินควรมากกว่า!

แท้ที่จริงต่างก็ทราบกันอยู่ว่า “ต้นทุนเท่าไหร่?” เหตุไฉนยังมีน้ำใจกันเยี่ยงนี้! หรือนี่คือ แนวการตลาดในช่วงวิกฤตอย่างแท้จริง ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม ดีครับ! ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น “ราคาถูก ทู้ก ถูก!!” หึหึ! เข้าขั้นว่า “คิดแต่กำไร ใครเป็นยังไงไม่สน!”

สงสัยผู้ค้าอาจตีความผิดก็ได้ ทีหลังผู้ที่ให้คำจำกัดความว่า “ในวิกฤตมีโอกาส” คงต้องสอนจริยธรรม คุณธรรมและมารยาทในการดำเนินธุรกิจกันด้วยแล้ว

            แต่งานนี้จะโทษผู้ค้าปลีกและค้าส่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องกำหนดราคาที่ผู้ผลิตสินค้าหรือโรงงานโดยตรงว่า “ไม่ต้องแพงหูดับขนาดนั้น!! ขอให้อยู่ด้วยกันได้ในสภาวะแบบนี้ก็น่าเพียงพอแล้ว”

            ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ที่อดใจไม่ไหวก็จำใจต้องซื้อ เพราะคิดว่า “นานๆ ครั้ง ไม่เป็นไร” ส่วนผู้ค้าก็คิดเหมือนกัน “นานๆ ครั้งมีที ขอเหอะพี่!”

            เรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องของ Demand & Supply แล้วครับ เพราะเป็นการบังคับซื้อ ด้วยราคาที่เป็นธรรม...จริงๆ!

            ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า สามัญสำนึกดีๆ หายไปไหนหมด การเอาตัวรอดอาจจะถูกปลูกฝังในใจผู้ค้าขาย หรืออาจจะด้วยแนวคิดทางการตลาดที่ต้องฟาดฟันกันให้ตาย ใครมีเงินมากก็ไม่กังวล ใครที่ยากจนก็กัดฟันดิ้นรนจ่ายไป! อือ...ทำไปได้ คนไทยด้วยกันแท้ๆ ไม่เห็นใจกัน

            การตลาดในช่วงน้ำท่วม จึงเป็นการตลาดแบบลวกๆ ไม่เน้นคุณภาพ รีบๆ เพื่อให้เสร็จ เพราะผู้บริโภคก็ต้องการความรวดเร็ว ผู้ผลิตจึง “จัดให้” ดังนั้น อย่าหวังว่าจะได้รับความประณีตในงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ เลย ด้วยข้ออ้างที่แย้งกันว่า “เมื่ออยากได้เร็ว ก็ต้องหยาบ หากอยากได้ละเอียดก็ต้องนาน”

            รับรองว่าหากมีหน่วยงานที่ “ให้ทั้งคุณภาพความละเอียดบวกด้วยความเร็ว” ธุรกิจเอาเปรียบย่อมหมดไป แล้วผู้บริโภคหรือประชาชนที่ทนพฤติกรรมยอดแย่ไม่ไหว! ก็จะไล่ธุรกิจเอาเปรียบให้จมลงไปเอง

            “คิดสั้นๆ ก็ย่อมได้กำไรสั้นๆ คิดเอาเปรียบกันย่อมปิดกั้นความเจริญ” หากินบนความเดือดร้อน ใครจะเป็นยังไงก็ไม่ทราบได้ “ขอให้ฉันได้กำไร ฉันต้องรอด” เจริญล่ะทีนี้!

“ร่องจริยธรรมตื้นเขิน ต้องถูกเมินจากเส้นทางธุรกิจ

เพื่อให้ชีวิตอับเฉา เพื่อให้เศร้ากับกิจการ”

 บทความโดย Trainerpatt

www.trainerpatt.com

หมายเลขบันทึก: 473930เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท