ปลายฝน ต้นหนาว


จะไม่ให้อกสั่นขวันแขวนได้อย่างไร กลัวเหลือเกินเลยตอนนี้กับคำว่า "น้ำ" และ "เอาอยู่"

เมื่อวานนี้(4 ธันวาคม 2555) ช่วงเวลาประมาณทุ่มเศษๆ มีฝนตกลงมาครู่ใหญ่ ทั้งๆที่ในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงฤดูต้นหนาวเสียมากกว่า ปลายฝนน่าจะเป็นช่วงลอยกระทงเมื่อเดือนพฤศจิกายนหรือเอื้อนเลื่อนมาในต้นเดือนธันวาคมบ้างเล็กน้อยก็ไม่ว่ากัน ตามความผันผวนปรวนแปรของสภาพแวดล้อมที่ส่วนหนึ่งมาจากอาการที่โลกร้อนขึ้นทุกวัน แต่นี่ดันตกลงมาในช่วงที่เข้าหนาวมาแล้วหลายสัปดาห์ ประชาชนคนกรุงเทพฯกำลังชื่นชมสมฤดีกับอากาศที่เย็นสบายยาวนานกว่าหลายๆปีที่ผ่านมาพอๆกับในปี 2538 ที่ท่านบรรหาร ศิลปอาชาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่21ของประเทศไทยพอดี นับว่านานเกือบ 20 ปีทีเดียวที่กรุงเทพฯจะหนาวได้นานแบบนั้นอีก(ที่จำได้เพราะเป็นปีแรกที่ผมซื้อเสื้อกันหนาวมาใส่..หลังจากนั้นมายังไม่เคยซื้ออีกเลย)แถมปีนี้ยังมีฝนแถมให้ด้วยสมกับเป็นปีสองห้าห้าห้าจริงๆ

ฝนที่ตกแหวกหนาวลงมาเล่นเอาใจคอไม่ค่อยดีต้องรีบออกไปดูท่อระบายน้ำหน้าบ้านที่ตื้นเขินไร้คนของกทม.มาเหลียวแลอยู่นานโข ก็ไม่ใช่อะไรหรอกดอกครับกลัวน้ำจะท่วมซ้ำสอง ครั้งแรกผ่านไปยังเข็ดขยาดไม่หาย จะไม่ให้อกสั่นขวันแขวนได้อย่างไร กลัวเหลือเกินเลยตอนนี้กับคำว่า "น้ำ" และ "เอาอยู่" เนี่ย! ฮ่ะฮ่า ฮ่าฮ่า นอกเรื่องเสียยืดยาวความจริงตั้งใจจะมาบอกกล่าวในช่วงที่เข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวนี้ ความชื้นในอากาศมีมากเสียจนอิ่มตัวล้นเหลือให้ระวังในเรื่องของเชื้อราโรคพืช สปอร์ของเชื้อราโรคพืชที่ปลิวละลิ่วล่องลอยอยู่ในอากาศเมื่อสะสมความชื้นมากเข้าก็หน่วงหนักพักตัวตกลงสู่ใบพืชและลุกลามขยายตัวก่อเกิดกลับกลายเป็นโรคราน้ำค้างระบาดมากในพืชจำพวก ฟัก แฟง แตงกวา แคนตาลูป เมลล่อน ฯลฯ

 

ควรฉีดพ่นด้วยน้ำเปล่าหรือจะใส่สารสะกัดจากเปลือกมังคุด (แซนโธไนท์) ลงไปสัก2-3 ซี.ซีต่อปี๊ปเพื่อล้างใบทำลายสปอร์ยับยั้งโรคภัยช่วยผ่อนให้หนักกลับกลายเป็นเบาได้เป็นอย่างดีเชียว อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับผู้เพาะเห็ดในช่วงระยะหนาวนี้เห็ดที่ไม่ควรเพาะหรือควรหยุดผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงต่อภาวะขาดทุนเพราะให้ผลผลิตไม่ดีในหน้าหนาวอย่างเช่น เห็ดขอนดำ เห็ดขอนขาว เห็ดภูฏานสีครีม เห็ดรม เห็ด เห็ดกระด้าง ควรสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาเพาะเห็ดที่ให้ผลผลิตดีในฤดูหนาวอย่างเช่นเห็ดยานางิ, เห็ดหอมและเห็ดภูฏานดำจะดีกว่า  ผู้ที่เพาะเห็ดฟางควรทำกองวัสดุเพาะ เช่น ฟาง ทะลายปาล์ม เปลือกถั่ว เปลือกมันให้มีขนาดใหญ่ เพื่อจะได้รักษาอุณหภูมิความร้อนให้ยาวนานและปิดกองให้มิดชิด ถ้าเป็นโรงเรือนก็ควรพ่นไอน้ำเข้าไปเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงมาก ๆ โดยในระยะที่เส้นใยกำลังสร้างดอกควรอยู่ระหว่าง 28 -32  องศาและพยายามรักษาอุณภูมิไว้ให้ดี ปิดโรงเรือน ประตู หน้าต่างให้มิดชิดอย่าให้อากาศจากภายนอกเข้ามาได้จะทำให้ผลผลิตลดลง

 

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ. Www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 473578เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2012 06:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

- เข้ามาเยี่ยมชม / ได้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร พอสมควรค่ะ

- เห็นด้วยกับ อาการ อกสั่นขวัญ แขวน ( เขียนถูกรึป่าวไม่แน่ใจ) กับ สถานการณ์ธรรมชาติ

- ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ..สองสามวันนี้ เพียงแค่เห็น ฝนฟ้า ตกไม่ตามฤดูกาลที่ควรจะเป็น ก็รู้สึก หลอน..หลอน ... ยังไง...บอกไม่ถูก...

- เราคงต้องปรับตัว อยู่กับธรรมชาติ ให้ได้ต่อไปนะคะ

ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ผ่านมาอย่าลืมแวะมาคุยกันอีกนะครับ

ปล.คำว่า "อกสั่นขวัญแขวน" ถูกต้องแล้วครับ

ขอบคุณค่ะ..หล้งฝนตกในคืนนั้น รุ่งเช้าไปมองต้นไม้ในสวน.. เปียกปอนไม่ได้ทันตั้งตัว..เหมือนผู้คนที่ไม่ได้พกร่มมาค่ะ..

 

..มาขอ..อกสั่นขวัญหาย..ด้วยคน..กับ..คำว่า"น้ำ"และ.."เอาววว..อยู่.".อ้ะ..ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท