วัฒนธรรมการกินหมากจากวรรณคดี


วัฒนธรรมการกินหมากจากวรรณคดี 

 

     การกินหมาก ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของคนไทยอย่างหนึ่ง จากเอกสารของจีนโบราณได้กล่าว ถึงกลุ่มชนฟันดำซึ่งหมายถึงคนกินหมาก เมื่อ 200 ปี อยู่ทางทิศใต้ซึ่งหมายถึงไทย และลาว ในสมัยสุโขทัยมีหลักฐานจากศิลาจารึก หลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงว่า  “ป่าหมากป่าพลูพ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมัน สิ้น”   ซึ่งมีการปลูกหมากปลูกพลู  และมีวัฒนธรรมในการกินหมากสืบต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยา  ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงการกินหมากไว้หลายตอน

ขุนแผนตัดพ้อวันทอง

      เจ้าลืมนอนสุมทุมกระทุ่มต่ำ 

เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย

พี่กินหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย 

แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน

เตรียมการบวชพลายแก้ว

       ฝ่ายพวกข้าไทไปหาของ

หมากพลูใบตองที่มีอยู่

บ้างก็มาเย็บกรวยช่วยกันดู 

ปอกหมากพันพลูทั้งฟั่นเทียน

     จากหลักฐานที่พบที่ชุมชนบ้านเก่า บางกระบือ เต้าปูนทองแดง/สำริด  แสดงให้เห็น ว่าคนในชุมชนบ้านเก่ามีการกินหมาก เป็นสำรับเรียกว่า “เชี่ยนหมาก” มีอุปกรณ์ประกอบด้วย ตลับใส่ยาเส้น ใส่หมากแห้ง สีผึ้ง สีเสียด เต้า ปูนใส่ปูนแดง ซองพลูใส่ใบพลู  กรรไกรหนีบหมาก ครกหรือตะบันหมาก กระโถนบ้วนน้ำหมาก  เชี่ยนหมากหรือหีบหมากเป็นของใช้ประจำตัวที่จะต้องพกพาติดตัวไปนอกบ้านด้วย

ขุนช้างแต่งตัวไปวัดป่าเลไลย์

    ...คนโทถาดหมากเครื่องนากใน 

มึงถือไปอ้ายจีดอย่ากรีดกราย

 

นางพิมแต่งตัวไปฟังเทศน์มหาชาติ

        อีเด็กเอ๋ยหีบหมากเครื่องนากใน  

ขันถมยาเอาไปอย่าได้ช้า

     เชี่ยนหมากเป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมของไทยในสมัย โบราณได้  เช่น พวกขุนนางและพระเจ้าแผ่นดิน จะพระราชทานเครื่องประดับยศมีหีบหมากทองคำ  ดาบ  เรือยาว สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ  ทาสสำหรับใช้สอย 

    จากราชาธิราช ตอน พระเจ้ามณเฑียรทองพระราชทานเลี้ยงสมิงพระราม เมื่อสมิงพระรามได้ชัยชนะหลังจากอาสาสู้กับกามะนี  รางวัลสำคัญที่สมิงพระรามได้รับคือ...

“...ตรัสแล้วจึงสั่งให้พระราชธิดายกพานพระศรีมาตั้ง  ให้เจ้าสมิงพระรามกินต่อหน้าพระที่นั่ง  พระราชธิดาก็อายพระทัยยิ่งนัก  ด้วยเป็นราชบุตรีกษัตริย์  แต่ทรงพระเยาว์มาจนเจริญพระชนม์  ยังไม่เคยยกพานพระศรีให้ทหารและขุนนางผู้ใดกิน   แต่ขยับขยั้นยั้งพระองค์อยู่มิใคร่จะแหวกพระวิสูตรออกมาได้  พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็ตรัสเตือนว่ามาเร็วๆ พระราชธิดาเกรงพระราชอาญาขัดรับสั่งสมเด็จพระราชบิดามิได้  ก็ยกพานพระศรีมาตั้งลงเฉพาะหน้าสมิงพระรามแต่ห่างๆ  ช้อยชำเลืองดูสมิงพระรามไม่ทันเต็มพระเนตร  ด้วยความอายก็เสด็จกลับเข้าไป..”

ในที่สุดพระเจ้ามณเฑียรทองก็จัดการอภิเษกสมิงพระรามขึ้นเป็นอุปราชและอภิเษกพระราชธิดากับสมิงพระราม 

     ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามา  ได้แต่งหนังสือไว้เรียกว่า “จดหมายเหตุของลาลูแบร์”  บันทึกเรื่องราว ในสมัยอยุธยาไว้เป็นอันมากได้กล่าวถึงเรื่อง การกินหมากของคนไทยในสมัยอยุธยาไว้ว่า “เป็นธรรมเนียมเจ้าของบ้านต้องยอมให้แขก ที่มาสู่เหย้านั่งที่ตนเคยนั่ง และต้องเชื้อเชิญให้ยอมนั่ง  ภายหลังก็ยกผลไม้ ของว่างและของหวานมาเลี้ยง  บางที่ก็ถึงเลี้ยงข้าวปลาด้วยและข้อสำคัญนั้นเจ้าของบ้าน ต้องส่งเชี่ยนหมากแลทีชาให้แขกรับประทาน ด้วยมือเอง  ถ้าเป็นราษฎร์สามัญแล้วไม่ลืมเลี้ยง เหล้า” 

จากบทละครเรื่องอิเหนา ตอน ประไหมสุหรีดาหาจะให้บุษบาไหว้จินตะหรา

         เมื่อนั้น    

ระเด่นบุษบาศรีใส

ดูทีชนนีก็แจ้งใจ  

ขุ่นเคืองพระทัยไปมา

จึงหยิบพานสลามาวาง 

เชิญเสวยพี่นางจินตะหรา

มิได้เคียมคัลวันทา  

แต่ชำเลืองนัยนาดูที

 

เป็นเหตุให้

...จินตะหรายิ่งแค้นเคืองระคายนัยนา 

กัลยามิใคร่จะยั้งได้

จึงเอาพระหัตถ์ซ้ายทรามวัย  

รับพานเสือกไสไว้ตรงพักตร์

 

วรรณคดีไทยหลายเรื่องกล่าวถึงการคายชานหมากให้ผู้อื่นกินต่อไว้อีกหลายตอน

  สมภารมีวัดป่าเลไลย์ถ่ายทอดวิชาให้เณรแก้ว

...กูจะให้วิชาสารพัด  

 ให้ชะงัดเวทย์มนต์พระคาถา

ท่วงทีเอ็งจะดีดังจินดา   

แล้วคายชานหมากมาให้เณรกิน

เณรแก้วรับแล้วกินชานหมาก  

ขรัวต่อยด้วยสากแทบหัวบิ่น

ไม่แตกไม่บุบดังทุบหิน 

ท่านขรัวหัวเราะดิ้นคากคากไป

อิเหนาใช้สียะตราไปขอชานหมากจากนางบุษบา

          เมื่อนั้น          

สียะตราจึ่งทูลแถลงไข

ว่าชานเก่าจืดไม่ชอบใจ   

พี่นางจงได้เมตตา

เคี้ยวประทานชานอื่นเหมือนน้องใหม่  

เอาเครื่องหอมใส่ให้หนักหนา

ว่าพลางทางหยิบเอาหมากมา  

ป้อนระเด่นบุษบาฉับพลัน

แล้วรับชานหมากจากพี่นาง    

 วิ่งวางออกไปขมีขมัน

   ...ครั้นถึงประเสบันอากง    

วิ่งตรงเข้ามาขมีขมัน

เอาชานซ่อนป้อนให้พี่ยาพลัน...

 

อิเหนาประทานชานหมากให้สามนาง

พระตรัสชวนโฉมยงทรงต่อแต้ม   

ยิ้มแย้มเย้ายวนสรวลสันต์

ต่างองค์ลงไพ่เป็นเชิงชั้น  

งอนจริตบิดผันพาที

ภูธรประทานชานสลา  

ให้โฉมงามสามสุดามารศรี

   วัฒนธรรมการกินหมาก สืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งไม่ให้มีการค้าขายหมาก  ทำให้คนไทยเลิกกินหมาก   วัฒนธรรมการกินหมากกับสังคมไทยก็ค่อย ๆ เลือนหายไป

 


 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 471518เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2011 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2013 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีจ้ะ หมากไทยมีมาแต่ช้านานแล้ว สม้ัยนี้ก็ยังพอเห็นคนไทย รุ่น ปู่ ย่า ตา ยายกินหมากกันอยู่บ้าง ขอบคุณที่นำเรื่องราวดี ๆ มาให้ได้อ่านนะจ๊ะ  

น่าสนใจมากครับ ได้ความรู้ใหม่ๆอีกมากเลย ปกติแล้วเวลาผมอ่านวรรณคดีไม่เคยได้สังเกตเลย ว่ามีเกี่ยวกับการกินหมากแบบนี้ด้วย พออ่านไปแล้วรู้สึกเหมือนมันมีมนต์สเน่ห์อย่างน่าประหลาดเลย 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท