สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๒.๔


ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย (ตอนที่ ๒.๔)

 [อ่านพระราชประวัติ ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๑.๑, ตอนที่ ๑.๒, ตอนที่ ๑.๓, ตอนที่ ๑.๔, ตอนที่ ๑.๕, ตอนที่ ๑.๖, ตอนที่ ๒, ตอนที่ ๒.๑, ตอนที่ ๒.๒, ตอนที่ ๒.๓

หมอเจ้าฟ้าที่เชียงใหม่

                  สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จถึงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ประทับร่วมอยู่กับครอบครัว ดร. อี.ซี คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้น ที่ประทับเป็นตึกเล็กๆ และทรงมีมหาดเล็กรับใช้เพียงคนเดียว สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพในสมัยนั้นคือ พลโทพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, ข้าหลวงเชียงใหม่คือ พระยาอนุบาลพายัพกิจ, สาธารณสุขมณฑล คือพระบำราบนราพาธ และสาธารณสุขจังหวัดคือ หลวงอายุกิจโกศล ทรงเปิดโอกาสให้บุคคลที่ต้องการเข้าเฝ้าฯ ได้อาทิตย์ละครั้งและเฝ้าได้ที่จวนสมุหเทศาภิบาลเท่านั้น นอกจากนั้นเวลาส่วนใหญ่ทรงใช้ไปกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญผู้หนึ่ง พระราชดำรัสและพระราชอัธยาศัยที่ทรงมีต่อผู้ป่วยนั้น เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรักษาผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะมีฐานะและความเป็นอยู่อย่างไร

                 หมอคอร์ท จัดที่ประทับให้ชั้นบนห้องทางทิศใต้ หลังจากพระกระยาหารเช้าซึ่งมักจะเป็นไข่ไก่ ข้าวโอ๊ตและกาแฟ จะทรงออกตรวจแผนกผู้ป่วยนอก พร้อมกับหมอคอร์ท ทรงโปรดรักษาเด็ก และโรคประสาทต่างๆ ซึ่งทรงตรวจอย่างละเอียดลออ ทรงทำงานทางด้านทดลอง blood film, blood grouping ตรวจอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยพระองค์เอง

              ตอนกลางคืนก่อนบรรทม ก็จะเสด็จออกตรวจคนไข้ทุกๆ เตียง และถ้าคืนใดมีการตามหมอคอร์ทกลางดึก ก็จะทรงทราบ จะเสด็จด้วย หรือถ้าหมอคอร์ทไม่อยู่ มีคนไข้ด่วนก็จะเสด็จออกตรวจแทนทุกครั้ง

              พระราชกรณียกิจที่กล่าวขานกันทั้งเมือง คือ เรื่องของเด็กชายคนหนึ่งกระสุนปืนลั่น ถูกที่แขนต้องตัดแขนทิ้ง และมีการถ่ายเลือดเป็นครั้งแรกในโรงพยาบาล ทรงประกาศหาผู้บริจาคเลือดและทรงทำ blood matching แม้กับพระโลหิตพระองคืเอง แต่ต่อมาเด็กผู้นั้นก็ตายด้วยโลหิตเป็นพิษ เพราะแผลเป็นพิษจากกระสุนยิงค้างอยู่ภายใน ทรงรับสั่งว่าถ้ามีเอกซเรย์ ผู้ป่วยก็จะไม่ตาย

              นอกจากทรงมีพระเมตตาผู้ป่วยแล้ว พระราชอัธยาศัยและการวางพระองค์ต่อบรรดาแพทย์และพยาบาลก็เป็นไปอย่างละมุนละม่อม ไม่ถือพระองค์         กับราชวงศ์เชียงใหม่ ก็ทรงวางพระองค์เป็นอย่างดี เสด็จเยี่ยมเจ้านายฝ่ายเหนือเป็นประจำเคยมีพระราชดำริ  จะซื้อที่ดินในเชียงใหม่ และแม้พลตรีเจ้าราชบุตร วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่ จะถวายที่ดิน ก็ไม่ทรงยอมรับ ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่าอย่างน้อยก์จะขอเช่า

                 ทรงวางพระองค์อย่างเป็นกันเองที่สุดกับครอบครัวหมอคอร์ท เสมือนเป็นคนสามัญเสวยกับหมอคอร์ททุกมื้อ ภรรยาหมอคอร์ทเป็นผู้ทำครัวเอง และระมัดระวังความสะดวกตลอดจนความสะอาดและรสชาติอาหารแต่ละชนิดเป็นพิเศษ อาหารแต่ละวันมี ๕ มื้อ คือ ตอนเช้า ตอนสาย ๑๐.๐๐ น. มีน้ำส้ม น้ำผลไม้ ตอนบ่ายมีน้ำชากับผลไม้ อาหารค่ำประมาณ ๒๐.๐๐ น. ส่วนมากมักจะเป็นอาหารฝรั่ง

             ปัญหาที่ว่าชาวเชียงใหม่จะกลัวเกรงพระองค์จนลนลาน แบบที่คิดว่าจะเกิดในกรุงเทพฯ ก็หมดไป ชาวเมืองขนานพระนามของพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า” ส่วนหมอคอร์ทเรียกว่า Dr. Prince Songkla และทรงลงพระนามในใบสั่งยาว่า “M.Songkla”

                ทางด้านการบำรุงโรงพยาบาล ทรงพระราชทานเงิน ๓,๐๐๐ ดอลลาร์ เพื่อซื้อเครื่อง X-rays และเคยทรงปรารภว่าจะขยายโรงพยาบาลให้กว้างขวางขึ้น

           ด้านสุขภาพของพระองค์ในระหว่างที่ประทับที่เชียงใหม่นี้ ทรงตรวจพบว่ามีไข่ขาวในพระบังคนเบาเสมอ นอกจากนั้นก็มี อาการพระโลหิตจางแต่ก็มีทรงย่อท้อที่จะปฏิบัติงาน

              สมเด็จพระบรมราชชนกประทับที่เชียงใหม่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จไปเชียงใหม่อีก และเสด็จไปศิริราช    มีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง (ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร) ได้พบว่า เสด็จขึ้นจากเรือจ้างที่ท่าน้ำศิริราช   ในตอนบ่ายวันนั้น พระหัตถ์ทรงหิ้วขวด specimen ที่มีลำไส้ผู้ป่วยโรคบิดอยู่ภายใน เมื่อทรงทักทายแล้วรีบรับสั่งให้ช่วยพาไปหานายแพทย์โนเบิล และนั่นคือโอกาสสุดท้ายที่เสด็จพระราชดำเนินไปโรงพยาบาลศิริราช     เพราะต่อมาอีก ๒-๓ วัน ก็ทรงพระประชวร    ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุมโดยไม่ได้เสด็จออกจากวังอีกเลย

             ระหว่างที่ประชวรหนักมิได้เสด็จไปที่ใดนั้น ได้ทรงดัดแปลงห้องในพระตำหนักขึ้นเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อจะได้ใช้ศึกษางานต่อไป

              สมเด็จพระบรมราชชนกประชวรอยู่ ๔ เดือน พระอาการดีขึ้น แล้วก็ทรุดลงพระวักกะที่ไม่ปกติกลับเป็นปกติ แต่พระยกนะลับเป็นพิษ อาการโรคพระโลหิตจางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พระอาการโดยทั่วไปเลวลง และไม่มีโอกาสที่จะหาย ตลอดเวลาที่ประชวร ตรัสเกี่ยวกับแพทย์ได้เป็นเวลานานๆ ตรัสถึงพระชนม์ชีพที่ผ่านมาขณะทรงเรียนแพทย์ ตรัสถึงกาลภายหน้า และงานที่ทรงทำเมื่อพระอาการดีขึ้น และทรงเตรียมที่จะส่งพยาบาลผู้หนึ่งไปสหรัฐอเมริกา แต่ทรงมอบให้นายแพทย์เอลลิสจัดการแทน

              ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงศิริราชอย่างล้นเหลือ  แม้ในยามทรงพระประชวรหนัก ยามใดที่มีคนใกล้ชิดเข้าเฝ้าจะรับสั่งถึงอยู่เสมอ พระศักดาพลรักษ์เล่าว่า เมื่อเข้าเฝ้าครั้งสุดท้ายนั้นรับสั่งว่า “น้อม ฉันจะตายก็ไม่เสียดายชีวิต ฉันทำพินัยกรรมไว้เรียบร้อยแล้ว แต่งานฉันที่กำลังทำอยู่ยังไม่เสร็จ” ทรงหมายถึงโรงพยาบาลศิริราชนั่นเอง และในเวลาต่อมาที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสไปเฝ้าเยี่ยม ก็รับสั่งเช่นเดียวกัน

          พินัยกรรม ที่ทรงรับสั่งก็คือลายพระหัตถ์ต่างพินัยกรรมแสดงพระราชประสงค์ไว้ว่า ถ้าแม้พระองค์เสด็จทิวงคตแล้วก็ขอให้ผู้ที่รับมรดกบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระองค์ โดยบริจาคเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แด่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายในกำหนด ๒๕ ปี    เพื่อตั้งเป็นทุนหาผลประโยชน์บำรุงการศึกษาแพทย์ การศึกษาสุขาภิบาล การศึกษาพยาบาลและปรุงยา

               ดร. เอลลิส ได้เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม และได้ทูลว่ามูลนิธิอาจจร่วมมือในเรื่องก่อสร้างตึกอีก คือจะขยายตึกพยาธิวิทยาออกไป และสร้างตึกใหม่ให้กับโรงเรียนพยาบาล ทรงพอพระราชหฤทัยมาก และรับสั่งว่าจะทรงเพิ่มเงินให้อีก เพื่อจะได้สร้างตึกให้ดีขึ้น เมื่อ ดร. เอลลิส ทูลว่าเงินที่จะใช้นั้นสถาบปนิกคำนวณแล้วว่าพอ   ก็รับสั่งว่าจะพระราชทานที่ดินให้ นับเป็นพระราชประสงค์สุดท้ายที่มีบันทึกไว้ เพราะต่อมาไม่ถึงเดือนพระอาการก็ทรุดหนักลง นายแพทย์โนเบิล ได้ถวายการรักษาอย่างเต็มความสามารถ ถวายการเจาะพระยกนได้หนอกออกมา พระอาการทุดลงเรื่อยๆ วาระสุดท้าย วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒  เวลา ๑๖.๔๕ น. ก็เสด็จทิวงคต สิริรวมพระชนมายุได้ ๓๗ ปี ๘ เดือน ๒๓ วัน     แพทย์ประจำพระองค์คือศาสตราจารย์ ที พี โนเบิล และศาสตราจารย์ดับบลิว เอช เปอร์กินส์ ได้ร่วมกันออกประกาศเวลา ๑๘.๐๐ น. ในวันนั้นว่าพระองค์เสด็จทิวงคตแล้ว จากพระอาการบวมน้ำที่พระปับผาสะและพระหทัยวาย การเสด็จทิวงคตนี้ เป็นที่เศร้าสลดอย่างยิ่งของผู้ที่มีโอกาสรู้จักพระองค์และเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่แก่กิจการแพทย์ของประเทศ

ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนกรมงานถวายพระเพลิงพระศพ

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖ 

พระบังคนเบา หมายถึง ปัสสาวะ

พระวักกะ หมายถึง ม้าม

พระยกนะ  หมายถึง ตับ

พระปับผาสะ หมายถึง ปอด

………….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ………..

หมายเลขบันทึก: 47109เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท