น้ำท่วมน่าน ( 8 ) ข้อสงสัยการจ่ายเงินชดเชย


ปัญหาน่าจะเป็นจากการใช้เครื่องมือสื่อสารไม่เป็นกัน หากทำตามระเบียบแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไร จึงได้แต่ตั้งข้อสังเกตว่าควรปรับปรุงเรื่องการสื่อสาร เพื่อให้สื่อหรือประชาชนผู้ประสบภัยมีความรู้และมีความเข้าใจ

                               ก่อนเที่ยงวันนี้ ( วันอังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2549 ) จากจากทำธุระเสร็จแวะไปที่ศูนย์อำนวยการฯ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จ.น่าน  อยู่ตึก อบจ.น่าน

                               พบปลัดจังหวัดน่าน  ( นายประเสริฐ เล็กสกุลดิลก ) รับโทรศัพท์  พูดไปบ่นไปดูสีหน้างง  แล้วท่านให้เราได้พูดกับผู้โทรมาหา  เท่าที่สนทนาเขาเป็นข้าราชการ  ได้ฟังรายการวิทยุของหนุ่ม นันทิวัฒน์  เกิดข้อสงสัยและไม่สบายใจ

                              เรื่องที่ได้ฟังมีอยู่ว่า   "  น้ำท่วมบ้านได้ครอบครัวละ 2,000 บาท มีการจ่ายไม่เหมือนกัน บ้างครอบครัวได้ 500 / 1,000 /  1,500  และ 2,000 บาท  ทำให้เกิดความสับสนและหลายคนโทรไปบอกสื่อ ต้องการคำตอบ  "

                               เราบอกไปว่า เท่าที่มีโอกาสไปร่วมรับรู้การทำการช่วยเหลือ ของนายวินัย สิทธิมณฑล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2549 หลายหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองน่าน  เห็นวิธีการดำเนินการโดยนายอำเภอจะพูดให้ที่ประชุมรับทราบหลักเกณฑ์  และแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ   โดยชั้นแรกแจ้งจะได้ 500 บาท หากผ่านคณะกรรมการที่มีหัวหน้าส่วนราชการ  ผู้ใหญ่บ้าน กำนันในพื้นที่รับรองจะได้เพิ่มอีกตามหลักเกณฑ์

                               หลังพูดไปเสร็จก็ไม่มั่นใจว่า  ผู้สนทนาจะเข้าใจดีหรือไม่เพียงใด  หากเขาอาศัยเพียงฟังดีเจแล้วพูดต่อว่า ต้องได้ทุกราย 2,000 บาทแล้ว  ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีกรรมการ  แต่หากกรรมการที่เป็นบุคคลน่าเชื่อถือ  เห็นว่าทั้งหมู่บ้าน ตำบล หรือทั้งอำเภอเห็นสมควรว่าให้จ่าย 2,000 บาทก็ไม่มีปัญหา  หากแต่กรรมการเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบ เมื่อภายหน้ามีการมาประเมินสุ่มตรวจจาก สตง.    ปัญหาน่าจะเป็นจากการใช้เครื่องมือสื่อสารไม่เป็นกัน  หากทำตามระเบียบแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไร  จึงได้แต่ตั้งข้อสังเกตว่าควรปรับปรุงเรื่องการสื่อสาร เพื่อให้สื่อหรือประชาชนผู้ประสบภัยมีความรู้และมีความเข้าใจ

                                หากเราไม่ได้ไปร่วมรับรู้เมื่อวานนี้  ก็คงเข้าใจว่าแจกเหมารวมครัวเรือนละ 2,000 บาท โดยไม่ต้องมีกรรมการอะไร แต่หากมีกรรมการแล้ว  ก็ควรให้สิทธินั้นกับกรรมการฯ กรณีผู้ประสบภัยไม่พอใจจำนวนเงินการจ่าย  ก็ควรจะทักท้วงขณะนั้น  จะใช้ความรู้สึกแล้วพูด ๆ กันไปจะเสียหายกันไปหมด  อย่างไรก็ดี  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งชี้แจงให้ประชาชน และส่วนราชการที่ลงพืนที่ไปพบประชาชนให้เข้าใจหลักเกณฑ์ตรงกันด้วย  การสื่อสารเพื่อความเข้าใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง.

                               

คำสำคัญ (Tags): #การสื่อสาร
หมายเลขบันทึก: 47106เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นเรื่องจนได้ เป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์ จนผู้ว่าต้องชี้แจงผ่านสถานีวิทยุต่าง ๆ ด้วยการทำสปอร์ทวิทยุ โถ หากดำเนินการตอนแรก ๆ ก็ไม่มีปัญหา นี่ปล่อยให้ชาวบ้านฟังจากวิทยุทั้งกระแสหลัก  กระแสวิทยุชุมชน บ่นกันไปต่าง ๆ นา  ๆ  เลยเป็นเรื่อง  อันที่จริง ผู้รับผิดชอบที่ปฏิบัติ  เขาทำกันตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว  เพราะเขาเข้าใจ และเข้าถึงความเดือนร้อน  หากแต่ท่านสื่อสารช้ามาก ตั้งแต่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ไม่มีประกาศต่อ ๆ มาเลย ตั้งแต่ 22 ส.ค. สำหรับอุตุ ส่วนกลางประกาศมาเรื่องฝนตกตั้ง 22 ฉบับแล้ว การสื่อสารช้า  สื่อสารไม่เป็น และบริหารสื่อในภาวะฉุกเฉินไม่เหมาะสม  ส่งผลเสียหายต่อขวัญกำลังใจของประชาชน และเจ้าหน้าที่ ข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง อยุติธรรม

สำเนามาเก็บเป็นข้อมูลไว้ที่นี่ เรื่องเงินทองช่่วงน้ำท่วมน่าน.......จาก นสพ.ประชาชาติธุรกิจ 14 ก.ย.2549.......ที่มีคนสำเนาไปแปะไว้ที่เว็ป นสพ.เสียงชาวน่าน เลยตามไปอ่านที่เว็ปต้นข่าว ตกลงมีข่าวนี้จริง  จึงสำเนามา

ปริศนา "ข้าวสุก" ช่วยน้ำท่วม ทุกข์ซ้ำกรรมซัดของคนน่าน

อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดของจังหวัดน่านที่เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกวันที่ 18 สิงหาคม และน้ำได้หลากท่วมไปแทบทุกตารางนิ้วอยู่เกือบสัปดาห์ ไม่เพียงทิ้งความเสียหายเกินกว่าจะประเมิน ทิ้งรอยด่างในชีวิตสงบเงียบของผู้คนในเมืองเล็กแห่งนี้

แต่ยังทิ้งโคลนตมเน่าเหม็นให้ต้องสะสางล้างไม่เหลือรอย และดูเหมือนว่าต้องใช้เหงื่อและน้ำตาของชาวน่านนั่นเองชะล้าง

เหตุเพราะหลังน้ำลดก็มีเรื่องแซดกันทั่วจังหวัดว่า ระหว่างเกิดอุทกภัย มีโทรสารจากหน้าห้องนักการเมืองคนหนึ่ง มาถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุให้ยืนยันการขอรับบริจาคอาหารแห้งจำนวน 3 แสนชุด เป็นข้าวหุงสุกบรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาหารกระป๋องรายใหญ่ เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ทางจังหวัดน่านมีหนังสือตอบรับอย่างปรีดิ์เปรมว่า ความต้องการอาหารแห้งมีมาก จึงขอรับบริจาคข้าวหุงสุก จำนวน 5 แสนชุด และได้แจกจ่ายสินค้าดังกล่าวไปยังผู้ประสบภัยจนหมดแล้ว

ต่อมามีโทรสารจากหน้าห้องนักการเมืองคนเดิม เรียกให้ชำระค่าข้าวกระป๋องดังกล่าว วงเงิน 13.7 ล้านบาท ระบุว่าลดลงจากราคาเต็ม 17.5 ล้านบาท หรือกระป๋องละ 27 บาทจากราคาขายปลีก 32 บาท

"ทางจังหวัดคิดว่าเป็นการบริจาค แต่เมื่อมีใบเรียกเก็บเงินส่งมาจากนักการเมืองที่มีบทบาทสูงมากในขณะนี้ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ ต้องพยายามหาเงินมาชำระค่าสินค้าดังกล่าวด้วยวิธีที่หลายคนรับไม่ได้ และหลายหน่วยงานต้องเดือดร้อนด้วย เข้าใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็อึดอัด แต่นี่เป็นใบสั่งของนักการเมืองใหญ่ ยากที่จะปฏิเสธ"

แหล่งข่าวระบุอีกว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องใช้ที่ได้รับบริจาคจากทั่วประเทศ ทราบดีว่าของบริจาคเหล่านี้ถูกแปลงให้เป็นทางออกของกรณีนี้ โดยมีเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน เป็นองค์กรรองรับ

ทั้งวิธีการแปลงของบริจาคเป็นของขาย และวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างมืดมนปัญญาที่ติดตามมา ล้วนทำให้คนน่านทุกข์ซ้ำทุกข์ซาก คนเห็นและรับรู้พากันสังเวช

เก้าอี้ของ "ปริญญา ปานทอง" ผู้ว่า ราชการจังหวัดน่าน ที่เพิ่งมารับตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรก สั่นคลอนทันทีเมื่อ นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเดินทางมาตรวจพื้นที่ และแสดงอาการผิดหวังรุนแรง ที่จังหวัดไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนรวดเร็วทันการกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เงินที่อยู่ในความดูแลของ ผู้ว่าฯ ถูกแจกจ่ายไปยังพื้นที่ล่าช้า ขณะที่ประชาชนที่ประสบภัยหลายพื้นที่ไม่ได้รับทั้งน้ำและอาหารตลอด 2 วัน ขณะที่ "จรินทร์ จักกะพาก" รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่านถูกส่งไปรายงานต่อคณะรัฐมนตรี ระบุว่าจังหวัดแก้ไขปัญหาได้อย่างดี

ทั้งการระมัดระวังในการจ่ายเงินช่วยเหลือ จะด้วยเพราะหวั่นเกรงการรั่วไหล เนื่องจากมีข้าราชการระดับสูงบางคน มีชื่อเสียงในเรื่องนี้ หรือจะเพราะเหตุใดก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน จำต้องรับข้อตำหนิเต็มที่ในเรื่องนี้

ส่วนข้าราชการระดับสูงบางคน ที่ปลาบปลื้มแสดงความยินดีกับผู้รับเหมา หลังรัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้ 996 ล้านบาท เพื่อนำมาก่อสร้างซ่อมแซมฟื้นฟูสาธารณูปโภคที่เสียหาย ยินดีกระทั่งร่วมวางแผนจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ด้วยกัน

แต่ที่น่ารังเกียจสุดกลับเป็นใครบางคน ที่ฉวยโอกาสหากิน สั่งให้คนน่านต้องกิน ข้าวสุก ส่วนใครบางคนในกรุงเทพฯ ที่ยัดเยียดสั่งการให้เกิดเรื่องน่าละอายนี้ขึ้นยังลอยนวลอยู่

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3827 (3027)

♣ ดูหลักการ ฟังมาเหมือนกันมีการพูดกันว่า เป็นการบริจาค จึงอยากเห็นความกล้า ว่าไม่ไปจ่ายให้มันรู้กันซิว่า อะหยั่งเป็นหยั่ง โดยทำคำขอบคุณไป เพื่อหักล้างบิล จะได้จบ คงส่งบิลมาจะได้เอาไปหักภาษี แล้วไม่ต้องไปอึดอัด ขอให้ทำตามความจริงอย่าไปหวั่นไหว เงินไม่ใช่น้อย ๆ บริจาคก็บริจาคซิ ไม่งั้นพวกที่นั่งฟังอยู่ที่ประชุมวันนั้น จะหัวเราะเอานะครับ

สำเนาข่าวบางตอน " ...ทางจังหวัดน่านมีหนังสือตอบรับอย่างปรีดิ์เปรมว่า ความต้องการอาหารแห้งมีมาก จึงขอรับบริจาคข้าวหุงสุก จำนวน 5 แสนชุด และได้แจกจ่ายสินค้าดังกล่าวไปยังผู้ประสบภัยจนหมดแล้ว..."


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท