น้ำท่วม กับลมหายใจของชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ ตอนที่ ๑


ด้วยความขยันขันแข็งและใจรักในการทำสวนของครอบครัว จึงจัดได้ว่า ครอบครัวของเขาเป็นกลุ่ม “คนเคยรวย” ระดับหนึ่งทีเดียว

          ผู้เขียนไม่ได้เป็นลูกหลานชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์มาโดยกำเนิด แต่เป็นลูกหลานชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์โดยความสัมพันธ์ ดังนั้น การทำความรู้จักทุเรียนเมืองนนท์จึงอาจจะไม่มาก สัมผัสได้เพียงระดับรสชาติที่ได้ลิ้มลองเท่านั้น แต่วันนี้ขอสะท้อนความเป็นมาและการต่อสู้ของชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

          โดยผู้เขียนได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติม ถึงความเป็นมาของทุเรียนเมืองนนท์ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตอ้างอิงและยกข้อความดังนี้

          สำหรับการปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี จากคำบอกเล่า ของนายธำรง  ธรรมนิตยกุล  อดีตรับราชการในตำแหน่งครูใหญ่ และเป็นศึกษานิเทศก์จังหวัดนนทบุรี  เขียนในหนังสือ  เมืองนนท์เมืองไม้ผล  ความตอนหนึ่ง  ดังนี้

          “เมื่อ ปี พ.ศ. 2480  คุณสงวน  ฉิมคล้าย  เพื่อนนักเรียนฝึกหัดครูรุ่นเดียวกับผู้เขียน  ได้บอกกับผู้เขียนว่า  คุณพ่อของคุณสงวน  เคยเล่าให้ฟังว่า  เมื่อ ปี พ.ศ. 2330  ประมาณ  200 ปี  ล่วงมาแล้ว  คุณปู่สาย  ฉิมคล้าย  ได้ถูกเกณฑ์ไปกับกองทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ครั้งที่พระองค์เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองตะนาวศรี และเมืองมะริดนั้น  คุณปู่สายเล่าว่า  ขณะที่กองทัพเข้าล้อมเมืองทั้งสองไว้  ได้เกิดขาดแคลนเสบียงอาหารลง  นายทัพนายกองได้ให้ทหารออกตระเวนหาเสบียงอาหารแถวนั้นมากินกัน  คุณปู่สาย บอกว่า ในป่าใกล้เมืองทั้งสองนั้น  มีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ในป่ามากมาย  ต้นสูงใหญ่แหงนคอตั้งบ่า  ซึ่งจะเห็นลูกของมัน  ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันว่า ทุเรียน” 

          พวกทหารไปเก็บลูกทุเรียนที่หล่นมากินกันเป็นอาหาร  มีรสหวานอร่อยดี  แต่มีเนื้อน้อย  เนื้อบางติดกับเมล็ด  คุณปู่สาย เป็นลูกชาวสวนเมืองนนท์  เมื่อกินเนื้อทุเรียนแล้วก็เก็บเมล็ดมันใส่ย่ามไว้  โดยตั้งใจว่าจะเอามาปลูกที่สวนที่บ้าน  เมื่อกองทัพยกกลับกรุงเทพฯและปล่อยทหารกลับบ้าน  คุณปู่สายก็นำเอาเมล็ดทุเรียนที่เก็บ มาแจกจ่ายเพื่อนฝูง  อีกส่วนหนึ่งเก็บเอามาปลูกที่สวนใกล้วัดสัก  อำเภอบางกรวย  ต้นทุเรียนได้ดินดี  มีปุ๋ยธรรมชาติ  ก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  ปลูกได้ไม่กี่ปีก็ผลิดอกออกผล  ชาวสวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ชิมรสชาติของทุเรียนอร่อยติดอกติดใจ  ก็โจษขานบอกกล่าวกันทั่วไป  และมาขอพันธุ์ไปปลูกกันทั่วไปในเขตบางกรวย และเมืองนนทบุรี           

           นั่นแสดงว่า ทุเรียนเมืองนนท์ โดยเฉพาะที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีการปลูกมา ๒๐๐ กว่าปีแล้ว

          นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้รู้จักสวนทุเรียนเมืองนนท์เพิ่มเติม ผ่านคนใกล้ชิดของผู้เขียนเอง เพราะเป็นลูกหลานชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ รุ่นทวด รุ่นปู่ย่าตายาย เกิดและเติบโตที่สวนทุเรียนเมืองนนท์มาจวบจนอายุ ๔๒ ขวบปี

          ชีวิตในวัยเด็กของคนใกล้ชิดผู้เขียนมีเพียงบ้าน โรงเรียน และสวน ทุกวันหลังเลิกเรียน เขาและน้องชายต้องติดตามพ่อกับแม่เข้าสวน เพื่อช่วยรดน้ำต้นไม้ในท้องร่องสวน วันหยุดหรือช่วงปิดเทอมก็ต้องเข้าสวนตั้งแต่เช้า กว่าจะกลับเข้าบ้านได้ก็มืดค่ำแล้ว ของเล่นและที่เล่นของเขาและน้องชาย จึงเป็นหนังสติ๊ก ลูกหินที่ทำเป็นกระสุน เบ็ดตกปลา มีด และย่ามใบย่อมประจำกาย อยู่ภายในพื้นที่ของสวนผลไม้นั่นเอง ของเล่นสำเร็จรูป เครื่องเล่นเกมต่างๆ และห้างสรรพสินค้าไม่เคยได้สัมผัส สวนผลไม้จึงเป็นสวรรค์ของเขาและน้องชาย

          ด้วยความขยันขันแข็งและใจรักในการทำสวนของครอบครัว จึงจัดได้ว่า ครอบครัวของเขาเป็นกลุ่ม “คนเคยรวย” ระดับหนึ่งทีเดียว เพราะผลิตผลจากสวนที่ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย เพียงไม่กี่ไร่ แต่สามารถสร้างรายได้ และส่งเสียลูกชาย ๒ คน ร่ำเรียนจนจบได้อย่างสบาย  ครอบครัวเล็กๆ ของเขาจึงไม่ขัดสน แม้จะไม่ได้ร่ำรวยเหลือล้น แต่ก็มีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายตามอัตภาพและเรียบง่ายตามวิถีชีวิตคนสวนเมืองนนท์แบบดั้งเดิม

          (ติดตามตอนต่อไป)

หญิง สคส.

๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 467616เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท