การพิจารณา "ผ้าบังสกุล" ที่ผมยังไม่เข้าใจในพิธีกรรมทางศาสนา


ทำไมเราจึงเรียกผ้าจีวรเหล่านั้นว่า ผ้าบังสกุล ทั้งๆที่ ผ้านั้นไม่เคยห่อศพใดๆ หรือเปื้อนฝุ่น (ตามรากศัพท์) มาก่อน และไม่คิดที่จะใช้ในการห่อศพหรือคลุกฝุ่นแต่อย่างใด ยกเว้นจะนับพระที่รับไปเป็นศพด้วยเท่านั้น และผมไม่เชื่อว่าใครจะคิดเช่นนั้น

เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสบรรยายเกี่ยวกับการใช้ความรู้ไม่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดปัญหาติดตามมาอย่างมากมาย

แล้วผมก็ย้อนมาพูดถึงการติดยึดในพิธีกรรมที่ทำตามๆกันจนไม่รู้ว่าที่ไปที่มาคืออะไร

..

ผมมีความคิดแว๊บไปถึงพิธีกรรมก่อนการฌาปนกิจศพ

ที่มักจะมีพิธีการสำคัญมากๆ ที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้ คือ

"ขั้นตอนของ พิจารณาผ้าบังสกุล"

  • ที่พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์มาก็จะเดินไปหยิบผ้าจีวรที่วางไว้หน้าศพ
  • แล้วก็สวดบทพิจารณาว่า "อนิจจังวัฏฎสังขารา...." สามจบ
  • แล้วก็หยิบผ้าไป
  • โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นศพด้วยซ้ำ

บางศพมีการพิจารณาอย่างยืดยาวหลายชุด เป็นสิบๆชุด

  • พระแต่ละรูปที่ได้รับนิมนต์มาในงานศพ ก็ต้องเดินเวียนพิจารณาผ้าบังสกุลอีกหลายรอบ "ผ้าบังสกุล"ก็ยังไม่หมด
  • จะพิจารณากี่รอบ ศพก็ยังไม่ปรากฏให้พระท่านได้พิจารณาตามคำสวดพิจารณา "สังขาร" สักที
  • .
  • แสดงว่าพระสามารถพิจารณาสังขารของศพได้ โดยไม่ต้องเห็นศพ เพียงการจินตนาการก็ได้
  • .
  • แต่ที่น่าประหลาดใจมาก คือ เจ้าภาพก็มิได้นิมนต์ให้ท่านพิจารณาสังขารศพ
  • แต่....เขานิมนต์ให้ท่านพิจารณาผ้าจีวร ที่สมมติอย่างเลื่อนลอยว่าเป็น "ผ้าบังสกุล" ต่างหาก

ทำให้ผมค่อนข้างจะสงสัยมากๆ ว่า พิธีกรรมที่ทำแบบนี้นั้น ทำแบบ "พูดอย่างทำอย่าง" ไปเพื่ออะไรกันแน่

  • จะพิจารณาผ้าจีวร ที่สมมติไปลอยๆว่าเป็น "ผ้าบังสกุล"

หรือ

  • พิจารณาสังขารของศพคนตายกันแน่

อย่างหนึ่งอย่างใดผมก็จะไม่สงสัยครับ

เพราะ ผมตีความตามคำศัพท์แล้ว

เข้าใจว่า

  • ผ้าบังสกุล ก็คือผ้าห่อศพ และเปื้อนฝุ่น

แต่พระสงฆ์ก็จะขอนำผ้าห่อศพไปใช้

  • พอดึงผ้าห่อศพออกมาก็จะพบศพเปลือยเปล่า ปราศจากสิ่งปิดบัง ทำให้พระท่านได้มีโอกาสได้พิจารณาสังขารของศพ
  • .
  • แต่ท่านอาจไม่ได้พิจารณาผ้าบังสกุล
  • เพราะ.....ในคำสวดเท่าที่ผมพอจับความได้คร่าวๆนะครับ ก็ไม่มีวรรคใดเลยกล่าวถึงผ้าบังสกุลที่เจ้าภาพนิมนต์ให้ท่านพิจารณาเลย

ผมจึงไม่เข้าใจในหลายประเด็นมากๆเลย เช่น

  1. ทำไมเราจึงเรียกผ้าจีวรเหล่านั้นว่า ผ้าบังสกุล ทั้งๆที่ ผ้านั้นไม่เคยห่อศพใดๆ หรือเปื้อนฝุ่นมาก่อน และไม่คิดที่จะใช้ในการห่อศพแต่อย่างใด ยกเว้นจะนับพระที่รับผ้าไปเป็นศพด้วยเท่านั้น ที่ผมไม่เชื่อว่าใครจะคิดเช่นนั้น
  2. ทำไมเราต้องมีผ้าบังสกุลหลายๆชั้น ที่(คาดว่า)จะใช้ในการห่อศพ ถึงกับต้องมีการพิจารณาตั้งหลายรอบ บางศพ พิจารณาเป็นสิบๆรอบก็ยังไม่หมด ผมจึงสงสัยว่า เป็นการประจานศพไหมว่า ยังมีกิเลสหนา ตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ ก็ยังมีผ้าห่อศพไม่รู้กี่ชั้น พระไปดึงออกมาตั้งหลายรอบแล้ว ก็ยังเหลืออีกมากมาย
  3. สุดท้ายยังมีผ้ามหาบังสกุล ชิ้นใหญ่ที่สุด เป็นชิ้นสุดท้ายก่อนที่จะเห็นศพเปลือยเปล่าพร้อมที่จะเผาหรือทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยไปก็แล้วแต่ ที่ผมคิดไปเองว่าน่าจะเป็นผ้าชั้นในสุด ที่ไม่น่าจะเป็นชิ้นใหญ่ ที่ตามธรรมชาติควรจะเป็นชุดชั้นในด้วยซ้ำ
  4. เมื่อมีผ้าบังสกุลจำนวนมาก พระท่านที่ได้รับนิมนต์รูปแรกๆ น่าจะยังไม่เห็นศพ เพราะยังมีผ้าห่ออีกหลายชั้น ท่านอาจจะพิจารณาผ้าบังสกุลได้โดยสะดวก เพราะยังไม่เห็นสังขารของศพที่มีผ้าบังอยู่ แต่.....ทำไมท่านจึงไม่พิจารณาผ้าบังสกุลตามคำนิมนต์ แต่กลับไปพิจารณาศพแทน
  5. ในทางปฏิบัติ ศพส่วนใหญ่ก็ถูกปิดบังอยู่ในโลง ที่จะมีหรือไม่ก็ได้ เช่น บางแห่งก็ทำพิธีเผาหลอก ไม่มีศพ การพิจารณาผ้าบังสกุลก็เป็นการหลอกๆ จะถือเป็นการหลอกลวงได้หรือไม่ โดยเฉพาะ การพิจารณาผ้าห่อศพ ที่ผมยังไม่เคยทราบหรือได้ยินว่ามีพระรูปใดกล่าวถึงผ้าบังสกุลตามที่ได้รับนิมนต์ให้ไปพิจารณาผ้าบังสกุล แม้แต่รูปเดียว

แต่ ผมมีความเชื่ออย่างมั่นใจว่าพิธีกรรมต้องมีเหตุ มีที่มา

ผมจึงพยายามเดาๆเอาว่าน่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของพิธีกรรม จนแทบไม่มีใครคิดตามว่า ความหมายที่แท้จริงคืออะไร

มีแต่การปฏิบัติต่อๆกันมา

และไม่มีใครถามว่าทำไมต้องทำ หรือทำไปเพื่ออะไร ไม่ทำได้ไหม ไม่ทำจะมีปัญหาอะไร หรือทำอย่างอื่นแทนได้ไหม

เพราะ ในสังคมปัจจุบันเรามักเน้นพิธีกรรมแบบหลับหูหลับตากัน

จนไม่รู้ว่า

  • อะไร ทำไปทำไม
  • ไม่ทำจะเสียอะไร
  • ทำแล้วได้อะไร
  • ถ้าทำอย่างนี้ไม่สะดวกควรจะทำอย่างไร

และเป็นที่มาของความยุ่งยากในชีวิตในแทบทุกเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็น

  • การอยู่ในสังคม
  • การเข้าสังคม
  • การพัฒนาตัวเองและชุมชน
  • การประกอบอาชีพ
  • การใช้ทรัพยากรของตนเองและสังคม
  • การปฏิบัติตัวในด้านต่างๆ

บางครั้ง พิธีกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรายุ่งยาก สับสน ต้องทำทั้งๆที่ไม่พร้อม จึงสร้างความสับสนวุ่นวายพอสมควร

แต่ถ้ามองผิวเผิน พิธีกรรมก็ดูเหมือนจะสร้างความเรียบร้อยในสังคมได้มากๆทีเดียว

แต่ถ้ามองลึกๆ จะเห็นความยุ่งยาก ซับซ้อน และบางทีก็สร้างปัญหาให้กับคนในสังคม ทั้งระดับปัจเจก และระดับชุมชนได้มากมายทีเดียว

โดยเฉพาะกับคนที่ไม่เคยคิด ไม่เคยเข้าใจชีวิต มีแต่วิ่งตามคำพูดคนอื่น วิ่งตามพิธีกรรมแบบไม่ลืมหูลืมตา ทำได้ไม่ได้ก็ต้องทำ

จนเป็นที่มาของปัญหาหนี้สิน และปัญหาทางสังคมมากมาย

หลังจากชี้ประเด็นข้อดีข้อด้อยของการปฏิบัติตามพิธีกรรมแล้ว

ผมจึงได้สรุปปิดท้าย ในการบรรยายเมื่อวันก่อนว่า

เราควรอยู่ด้วยความรู้และความเข้าใจ ทั้งตัวเอง และสังคม

เราจึงจะมีปัญหาในชีวิตน้อยลง และมีชีวิตที่เบาสบายขึ้น ทั้งในส่วนของตัวเรา ครอบครัว ชุมชน และสังคมครับ

ด้วยความเคารพ จึงอยากฟังความเห็นของท่านผู้รู้ครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้ามากครับ

หมายเลขบันทึก: 467164เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

I am reminded of a passage in the song "the Sound of Silence" (I am sure you know that one).

"... and the people bowed and prayed to the Neon God they made..."

and that ancient wisdom may be lost in context of modern ways of life.

ครับ

ผมคิดว่าเราคงอยู่กับสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ เข้าใจ อย่างไม่เข้าใจครับ

ขอบคุณครับ

พระสงฆ์มาเพราะเจ้าภาพนิมนต์ คิดว่าถวายผ้าให้พระแล้วคงได้บุญไปให้ญาติ พระก็สงเคราะห์โดยการเข้าพิจารณาผ้า

ผ้านั้นแท้จริงแล้วพระในเมืองไม่ต้องการ เพราะมาเหลือเฝือ บริจาคกันทุกวัน แต่พระในชนบทคงจะขาดแคลนบ้าง มีเครือข่ายของวัดบางกลุ่มจะส่งต่อ "ของสงฆ์" ไปให้พระวัดไกลๆ ยังถือว่ามีประโยชน์อยู่บ้าง

พระสวดให้เจ้าภาพฟัง ให้เจ้าภาพปลง ถ้าเจ้าภาพฟัง และฟังรู้เรื่อง จะได้ประโยชน์ ลดความอาวรณ์ว่าเดียวตัวเองก็ต้องตาย ทรัพย์สมบัติไม่ต้องหามาเก็บไว้มากนัก ส่วนการพิจารณาศพนั้น พระไปเปิดในป่าช้าดูเมื่อไหร่ก็ได้

การบริจาคศพละหลายๆผืนนั้น ถ้ามองสัดส่วนต่อศพก็คงจะมากไป แต่ถ้ามองว่าคนปัจจุบันหาโอกาสไปวัดได้น้อย โอกาสทำบุญกับเขาบ้างแม้เป็นงานศพก็ยังดีกว่าไปได้ทำ รอไปจนศพญาติหรือศพตัวเอง

ตัวเจ้าศพเองคงไม่ได้บุญโดยตรงมากนัก เพราะไม่ได้ตั้งใจจะทำ ทรัพย์ก็ไม่ใช่ของตนแล้ว ตนเองก็ไม่ได้บริจาค สาธุ อนุโมทนาเอาอย่างเดียว

จึงถือว่าเป็นพิธีที่สงเคราะห์สงฆ์ให้มีผ้าใช้บ้าง ให้โยมได้ทำบุญบ้าง ที่เหลือก็ได้หน้าว่าเป็นคนใหญ่โตร่ำรวย ได้ถวายผ้ามหาบังสกุล แต่ได้มหาบุญเปล่าไม่รู้

ด้วยความเคารพครับ

ตามพุทธจริง ๆ นะครับ ตายแล้วเผาได้เลย ปัจจุบันต้องแจ้งตายที่อำเภอก่อนนะครับ คำถามว่าแล้วทำยังไงจะให้ผู้ตายขึ้นสวรรค์ พระพุทธเจ้าได้ตอบไปแล้ว สามารถดูบทความพระพุทธเจ้าตรัสอะไรบ้างได้ที่ http://www.lannaphrae.com/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=213&Itemid=275 ครับ

พีธีกรรมที่เกิดขึ้นเราตั้งขึ้นมาเองครับ ไม่ได้บัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก

ครับ ผมได้ไปหาอ่านจนชัดแล้วครับ ว่าเรามั่วนิ่มกันไปเรื่อยๆ 55555555555555

อาตมาคิดว่าการกระทำในสมัยปัจจุบันนี้ ที่ทำกันอยู่หลายๆวัด ก็อาจจะเป็นเจตนารมณ์ของเจ้าภาพที่จะประกาศให้รู้ว่า "ตระกูลของฉันมีฐานะ..." ต้องนิมนต์พระมากๆหน่อย บ้างก็เป็นความสั่งเสียของผู้ตายว่า "ตอนตายให้นิมนต์พระมา มาติกา-บังสุกุล" พร้อมกันนั้นได้ถวายผ้าไตรตามจำนวนที่ต้องการจะถวายคือ นับจำนวนผ้าไตรที่ถวายให้เหมาะสมกับหน้าตาและฐานะของตระกูล ส่วนอีกมุมมองหนึ่งคือปัดความยุ่งยากในการเปิดศพที่อยู่ในโลง คือ สถานการณ์ในบางเวลาไม่เอื้ออำนวยต่อพิธีการ เช่น สถานที่วัดแแห่งนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อพิธีกรรม,ดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศ ฝนตกบ้าง ฯลฯอื่นๆ ฆราวาส ญาติโยมบางส่วนที่ไปงานศพนั้นๆ พิจารณาพิธีการมาเป็นแบบอย่าง คือการตัดบางช่วงบางตอน เพื่อความรวดเร็วต่อพิธีกรรมในขั้นตอนต่อไปให้แล้วเสร็จ.

ขอบพระคุณท่านมากครับ

 

หลังจากที่ผมบันทึกแล้ว ผมก็ไปเที่ยวเสาะหาข้อมูลที่ไปที่มา จึงชัดเจนทั้งหลักการและวิธีการแล้วครับ

 

ขอแสดงความเคารพต่อความกรุณาของท่านครับ

ไม่ว่าท่านเก่งแค่ไหน พระท่านจะเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้า แล้วก็จะพิจารณา บังสุกุลให้ ครับ

สมัยนี้ ท่านไม่ทำแล้วครับ อิอิอิอิอิอิ


น่าสนใจมากค่ะ ขอบคุณนะคะอาจารย์ ดิฉันมีความเห็นเพิ่มเติมเล็กน้อยค่ะ

1. บังสุกุล ไม่ใช่ บังสกุล

2. มีผู้อธิบายเรื่องนี้ไว้ค่ะ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=...

ทางภาคเหนือมีการชักผ้าบังสุกุลอยู่สี่อย่างด้วยกัน โดยเฉพาะที่กระผมดำเนินพิธีการอยู่ ก็ได้ทำตามขั้นตอนสืบต่อจากพิธีกรที่บอกเล่าต่อกันมา โดยที่ยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริง ขออนุญาติใช้พื้นที่แชร์และขอคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ เพื่อสดับสติปัญญาของกระผมด้วยครับลำดับแรกเป็นผ้าไตรบังสุกุลหนึ่งไตร เรียกว่าไตรเปิด นิยมนิมนต์พระที่รองจากองค์ประธานสงฆ์ที่มาในงานเป็นพระผู้มาพิจาร ลำดับที่สองเป็นผ้าบังสุกุลธรรมดา ส่วนมากเป็นสบง หรือผ้าอาบน้ำผืนเดียว ส่วนมากนิมนต์มาทั้งหมดทั้งพระและสามเณรมาพิจารณา เจ้าหน้าที่ก็จะสำรวจว่ามีกี่รูปแล้วก็จะจัดกองให้ครบตามจำนวนพระและสามเณร ซึ่งส่วนใหญ่จะมีมากบางองค์เป๋นสิบผืนิยู่ในกอง ลำดับที่สาม เป็นผ้าไตรทั้งชุด ส่วนมากเท่ากับพระที่นิมนต์มาในงานมาพิจารณา เรียกว่า ผ้าไตรบริวาร และลำดับสุดท้าย เป็นชุดผ้าไตรหนึ่งชุด นิยมนิมนต์ประธานสงฆ์มาพิจารณา ไตรนี้จะพิเศษกว่าชุดอื่นตรงที่มีสัปโทนกางให้พระ ปูเสื่อ และมีพัด ชุดนี้เรียกว่า ผ้าไตรบังสุกุลไตรปิด บางศพ ผ้าบังสุกุลมีมากจนผมงงอยู่เหมือนกัน ไม่รู้ว่ามันตรงกับพุทธานุญาติอย่างไร ขอผู้รู้มาตอบทีครับ กราบขอบพระคุณไว้เป็นอย่างสุง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท