วิถี โหนด-นา-เล


ย้อนหลังนับไปนานนับพันปีที่วิถีของผู้คนบนแผ่นดินบก หรือคาบสมุทรสทิงพระปัจจุบันที่ผูกพันกับ ๓ วิถีอาชีพ คือ วิถีอาชีพ "โหนด-นา-เล" มาจวบจนถึงปัจจุบันชาวบ้านจึงให้คำนิยามใน ๓ วิถีอาชีพนี้ว่า “สามเกลอหัวแข็ง”

วิถี โหนด-นา-เล ภูมิปัญญาชาวบก บนคาบสมุทรสทิงพระ

  ย้อนหลังนับไปนานนับพันปีที่วิถีของผู้คนบนแผ่นดินบก หรือคาบสมุทรสทิงพระปัจจุบันที่ผูกพันกับ ๓ วิถีอาชีพ คือ วิถีอาชีพ "โหนด-นา-เล" มาจวบจนถึงปัจจุบันชาวบ้านจึงให้คำนิยามใน ๓ วิถีอาชีพนี้ว่า “สามเกลอหัวแข็ง”

ตาลโตนด เป็นพืชสารพัดประโยชน์อย่างหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กับวิถีชีวิตการเกษตรของคนไทยตั้งแต่โบราณกาลมาจวบจนถึงปัจจุบัน ตาลโตนดมีทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีการขยายพันธุ์โดยการนำมาปลูกในพื้นที่การเกษตรทุกภาค โดยเฉพาะบนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่มีต้นตาลโตนดมากกว่าสามล้านต้นซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย ได้มีการนำส่วนต่างๆของต้นตาลโตนดมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย และคุ้มค่า

 ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของภาคใต้  โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงพัทลุง สงขลาและปัตตานี  โดยมากพืชชนิดนี้จะปลูกตามแนวคันนา ในอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พื้นที่นา ๑ ไร่ จะมีต้นตาลโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐ ต้น แต่บางแห่งเช่น บริเวณที่นาบ้านดอนคันเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลคูขุด พบมีต้นตาลขึ้นเป็นจำนวนมากพื้นที่ ๑ ไร่มีต้นตาลขึ้นตามคันนาหนาแน่นถึง ๑๑๐ ต้น  และเมื่อปี ๒๕๒๕ นายสมพงศ์  กุลวิจิตร นายอำเภอสทิงพระ สมัยนั้นได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในหมู่บ้าน ตำบลต่างๆของอำเภอสทิงพระ สำรวจนับจำนวนต้นตาลโตนด เฉพาะอำเภอนี้แห่งเดียวมีต้นตาลโตนด ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ต้น และในปัจจุบัน(๒๕๕๐) ต้นตาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประมาณ ๑ ล้านต้น และหากนับรวมๆทั้งจังหวัดสงขลา มีต้นตาลโตนดประมาณ ๓ ล้านต้น ด้วยความหนาแน่นของต้นตาลโตนด เช่นนี้ซึ่งปรากฏในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆได้ใช้ตาลโตนดให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางจนกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

        การปลูกตาลโตนดมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปี จากการค้นพบจารึก ตาลังตูโวที่เมืองปาเล็มบัง กล่าวถึงการปลูกตาลโตนดในการสร้างสวนเกษตรหรือสวนสาธารณะของพระราชา ศรีชัยนาศ หรือ ศรีชยนาถ เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๒๗ ดังคำอุทิศความว่า “สิ่งที่พระองค์ทรงปลูกลงที่นี่คือ มะพร้าว หมาก ตาล สาคู และต้นไม้อื่นอีกหลายชนิดที่มีผลรับประทานได้ รวมทั้งต้นไผ่ เพื่อเป็นหนทางอันดีที่สุดแก่พวกเขาในอันที่จะได้ความสมบูรณ์พูนสุข หากเมื่อใดเขาหิวในขณะหยุดหรือระหว่างทางก็สามารถจะหาอาหารและน้ำดื่มได้ (ตามรอยศรีวิชัย,นงคราญ ศรีชาย,๒๕๔๔ : ๒๓)

       จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านบนคาบสมุทรสทิงพระ ของจังหวัดสงขลา(อำเภอสิงหนคร,สทิงพระ,ระโนด และกระแสสินธุ์) ถึงการปลูกตาลโตนดยังไม่มีใครคิดที่จะปลูกตาลโตนดเป็นแปลงใหญ่ๆเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสันเหมือนพืชสวนอื่นๆ จากการบอกเล่าของชาวบ้านว่า “ในอดีตส่วนใหญ่เป็นการปลูกโหนดเพื่อบอกอาณาเขตที่นา ที่ทำกินว่ามีความกว้างยาวเท่าใด ต่อมาปลูกตามคันนาเพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตคันนาเมื่อมีการขุดถากชายหัวนาในฤดูกาลทำนา” ต่อมาจึงมีการปลูกเพื่อเอาผลผลิตและอาศัยร่มเงาในการทำนา ส่วนใหญ่การขยายพันธุ์เพิ่มของตาลโตนดเป็นการงอกของลูกตาลที่สุกหล่นโดยธรรมชาติ

      ส่วนการปลูกตาลโตนดครั้งสำคัญอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่มีการบันทึก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กรมป่าไม้ ขณะนั้น มี  พันเอก เพียร สฤษฏ์ยุทธศิลป์ พิริยะโยธิน เป็นอธิบดี ได้ริเริ่มให้มีการปลูกต้นไม้ประจำปีขึ้นทำนองเดียวกันกับ Arbor Day ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากระยะเวลานั้นเป็นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และแผ่กระทบมาถึงเมืองไทยในรูปสงครามมหาเอเชียบูรพา ป่าไม้เมืองไทยได้รับการกระทบกระเทือนไปด้วยหลายประการ กรมป่าไม้จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตามส่วนภูมิภาคร่วมกับคณะกรรมการจังหวัด และคณะกรรมการอำเภอ(สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการอำเภอในยุคต่อมา) จัดปลูกต้นไม้ตามสถานที่ราชการ และโรงเรียนต่างๆ (วารสารบางกอก,คอลัมน์ : ณ บางกอก,ศรี  ชัยพฤกษ์.๒๕๔๕) และเท่าที่ได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้จากชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสทิงพระ บอกว่า "แต่ก่อนการปลูกต้นตาลโตนดเพื่อหมายที่ทำกิน และบอกแดนพื้นที่นาว่าเป็นของใคร"

     ต้นโหนดให้ประโยชน์สารพัดสารพัน มาถึงยุคหนึ่งราวปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่าๆมีการส่งเสริมอาชีพให้มีการแปรรูปจากไม้โหนด เพราะไม้ป่าหายาก มีราคาแพง ชาวบ้านที่ไม่เข้าใจคุณค่าของต้นโหนดก็โค่นไม้ขายเป็นว่าเล่น ครูฑูรย์ จึงต้องเดินขอร้องชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องประโยชน์ของต้นโหนด ว่า เป็นทั้งไม้ที่ให้อาหาร ให้ไม้สร้างบ้าน ให้รายได้เลี้ยงครอบครัว เป็นแนวกำลังลมอย่างดีของชุมชน และอีกสารพัดจะยกประโยชน์มาอ้างให้ชาวบ้านชะลอการโค่นต้นโหนด ด้วยเกรงว่าโหนดจะสูญพันธุ์เหลือแต่ตำนานเหมือนกับ “ช้างแกลบ”แถบคลองนางเรียม จากนั้นผู้เขียนได้เดินศึกษาข้อมูล “วิถีโหนด” ในชุมชนต่างๆบนคาบสมุทรสทิงพระ(ระโนด,กระแสสินธุ์,สทิงพระ และสิงหนคร) พร้อมทั้งศึกษาตำนาน ชาวบก ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์พบว่าวิถีดั้งเดิมของชาวบกในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือชาวชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระปัจจุบันพบว่าชาวชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระ หรือ “ชาวบก” ในอดีต จะมีวิถีการทำมาหากินอยู่ ๓ วิถี คือ วิถีอาชีพการขึ้นโหนดคาบตาลเอาน้ำหวาน วิถีอาชีพการทำนา และวิถีอาชีพการออกทะเลหาปลา เรียก ๓ วิถีอาชีพนี้ว่า “สามเกลอหัวแข็ง” เพราะสามารถสืบทอดต่อกันมานานนับ ๑,๐๐๐ ปี และใน ๓ วิถีอาชีพนี้จะจับคู่ทำร่วมกันได้อยู่ ๒ คู่อาชีพ คือ วิถีการทำนา จะทำคู่กันกับขึ้นโหนด  หมดหยาม(ฤดู)การทำนา ก็จะเริ่มขึ้นโหนดคาบตาล และ วิถีออกเลหาปลา สามารถทำคู่กับวิถีการทำนา ไม่ปรากฏหรือพบว่า วิถีการขึ้นโหนด ทำคู่กับการออกเลหาปลา เป็นเพราะฤดูกาล และวิถีอาชีพโดยธรรมชาติเป็นกรอบกำหนด ในวิถี โหนด-นา-เล ของผู้คนในชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระ

     ปัจจุบันวิถีโหนด ได้รับความสนใจ และมีการให้ความสำคัญจากหลายภาคส่วน เห็นได้จากผู้คนทั้งในถิ่น และนอกถิ่น พูดถึง วลีที่ว่า โหนด-นา-เล” กันมากขึ้น มีการพัฒนาอาชีพเกี่ยวกับโหนดมากขึ้น มีกลุ่มอาชีพที่แปรูปผลิตภัณฑ์ของกินของใช้ และสร้างรายได้มากขึ้น และยิ่งราคาน้ำผึ้งราคาถีบตัวสูงขึ้นจากปี๊บละ๔๐๐-๕๐๐บาท เป็นปี๊บละ ๑,๐๐๐ กว่าบาท ทำให้คลายความเป็นห่วงเรื่อง โหนดสูญพันธุ์ ลงได้มากและนับวันเป็นวิถีอาชีพที่มีอนาคตดี ทำรายได้ให้ผู้คนสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนปีละหลายร้อยล้านบาท  

 

     ส่วน วิถีนา มีสภาพที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นการทำนาแต่ละปีต้องอาศัยน้ำฝนเสียส่วนใหญ่ ปีไหนฝนตกดี “ทำนาได้” ปีไหนแล้งฝนไม่พอ “นาม้าน” ไม่ได้ผลผลิต ปีไหนฝนตกมาน้ำท่วมขังนานข้าวเน่าเปื่อย “นาล่ม” เป็นอย่างนี้มาช้านาน และวิถีการทำนาปีของชาวนาบนคาบสมุทรสทิงพระ คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าในรอบทุก ๔ ปี จะทำนาได้ดี ๓ ปี อีก ๑ ปี หากไม่นาล่ม ก็จะเป็นนาม้าน วิถีอาชีพการทำนาของที่จึงทำแต่เพียงพอกิน และเหลือเก็บมากกว่าทำนาเพื่อขายข้าว ปัจจุบันการนายิ่งลำบาก ยุ่งยากและขาดทุนมากขึ้น เนื่องจากฤดูกาลฝนฟ้าอากาศแปรปรวน และชาวนาหลงใช้ปุ๋ยเคมีกันมาช้านานจนเสพติดทางความรู้สึก ทำให้หน้าดินเสีย และผลผลิตก็ตกต่ำ รวมทั้งต้นทุนก็สูงขึ้นตามราคาปุ๋ยเคมี ปัจจุบันบางพื้นที่ทำนาเพื่อขายข้าว ปีละ ๒ ครั้ง คือทำนาปี และนาปรัง อย่างเช่น ตำบลตะเครียะ ตำบลบ้านขาว และตำบลแดนสงวน ของอำเภอระโนด จะมีการทำนากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีเครื่องมือทุ่นแรงพร้อม และยังพบว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีสูงในการทำนาของชาวนาหลายราย จนมีสภาพวิถีการทำนาที่ว่า “ทำนาปี มีแต่หนี้กับซัง พอทำนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้”

     วิถีเล ยังมีสภาพที่ดีกว่าวิถีนา คือยังพอออกเลหาปลาเป็นรายได้พอเพียงยังชีพหากเทียบกับในอดีตเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านที่ประชากรในรอบลุ่ม’เลสาบสงขลายังมีจำนวนน้อย ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมยังมั่งคั่งสมบูรณ์ดี เนื่องไม่มีการทำเกษตรเคมี ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ไม่มีวิถีบริโภคนิยม

แต่เมื่อมาถึงปัจจุบัน บ้านเมืองเจริญมากขึ้น ประชากรมากขึ้น สังคม และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ผลทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติในร่อยหรอลดลง การออกทะเลหาปลาของชาวประมงพื้นบ้านในรอบลุ่มทะเลสาบ ทั้ง ๓ จังหวัด (นครศรีฯ,พัทลุง และสงขลา) รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านในทะเลอ่าวไทยของคนบนคาบสมุทรสทิงพระต้อง ต้องออกทะเลไปหาปลาไกลขึ้น ใช้เวลา,เชื้อเพลิงมากขึ้น ใช้เครื่องมือมากขึ้น แต่กลับหาปลาได้น้อยลงแทบไม่พอกินในบางฤดูกาล จึงต้องผันตัวเองไปทำอาชีพรับจ้างเป็นช่างก่อสร้างบ้างเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว

       โดยสรุปว่า ในวิถี โหนด-นา-เล” ของผู้คนบนคาบสมุทรสทิงพระ วิถีนา มีสภาพที่น่าเป็นห่วงมากกว่าวิถีใดๆหากไม่ได้รับการ พัฒนาทางความคิด ค่านิยม และองค์ความรู้ใหม่ เรื่องการทำนา

 

หมายเลขบันทึก: 466755เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2011 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

รูปนี้เป็นรูปรถอะไรครับอาจารย์..รถดำ.หรือรถไถ..แถวๆบ้านผมหากเป็นรถแบบนี้คล้ายจะเป็นเรือพระในช่วงเทศกาลออกพรรษา

เผยแพร่ได้ไหมคะ

อัยย่๊ะ...ผมพลาดบันทึกนี้ได้ปรือที ทั้งคลังความรู้ คลังภาพ นำมาแบ่งปัน เอาไปใช้ในการทำเวที วิถีคนลุ่มน้ำ ครบถ้วนกระบวนความ ผู้เชี่ยวชาญ เรื่องโหด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท