นั่งอ่านเค้าโครงวิจัย...Organization Commitment


ในชีวิตที่ผ่านมาหลายปี…

แต่ละเดือน...ผมจะได้อ่าน เค้าโครงวิจัย ประมาณเดือนละ  1-2 ฉบับ

จากนักศึกษา...ที่เป็นหมออนามัย  เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล  เจ้าหน้าที่ อบต. และเพื่อนพ้อง

ที่กำลังเรียนวิจัย และการค้นคว้าอิสระ...ในหลักสูตรปริญญาตรี และปริญญาโทหลากหลายสาขา

ขอให้ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเครื่องมือวิจัยให้

 

ผมไม่เคยขัดขืนเลยนะครับ...บอกเพียงว่า....ถ้ามหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษาอนุญาต

ให้ผมทำได้...เพราะผมไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ และเป็นหมออนามัย (น้อย ๆ คนหนึ่ง)

ผมยินดีอย่างยิ่ง...และมีความสุขอย่างยิ่ง

เหมือนได้เดินทางท่องโลกยุทธจักรวิชาการกับทุกท่านเหล่านั้นไปด้วย

ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ผ่านมาแล้วให้ลึกซึ้ง

และหลายเรื่องราวที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ครับ

 

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554...ผมตื่นแต่เช้า…

ผมนั่งอ่านเค้าโครงวิจัย...Organization Commitment จากนักศึกษาปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยบูรพา

ชื่อเรื่องเต็ม ๆ คือ ความผูกพันต่อองค์การของบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลชุมชน

กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย หลากหลายวิชาชีพในโรงพยาบาล ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว

 

ผมชอบแนวคิดหนึ่งจากการทบทวนวรรณกรรม…จากงานของ The Gallup Organization

 

ได้ทำการศึกษาถึงพฤติกรรมและธรรมชาติของมนุษย์ โดยจากการสำรวจพนักงานจำนวน 1.98ล้านคน จากองค์การทั้งหมด 36 แห่งที่อยู่ใน 21 อุตสาหกรรมของ 28 ประเทศ เพื่อค้นหาองค์ประกอบที่ส่งผลต่อความผูกพันของพนักงาน โดยดูจากผลผลิต ปริมาณการผลิต ยอดขาย อัตราการลาออก อัตราการเกิดอุบัติเหตุ กำไรต่อหน่วยการผลิต เป็นต้น

 

จากการสำรวจ ทำให้ Gallup ค้นพบ คำถาม 12 ประการ (Q12) ที่สามารถวัดความผูกพันของพนักงานได้อย่างแท้จริง ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคำถามที่ใช้วัดความผูกพันของพนักงานทั้ง 12 ประการกับอัตราการลาออก (Turnover) การรักษาพนักงาน (Retention) ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า (Customer Metric) ความปลอดภัยในการทำงาน  (Safety) ผลผลิต (Productivity) และความสามารถในการสร้างผลกำไร (Profitability) ซึ่งจะส่งผลต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจขององค์การ

 

คำถามที่ใช้วัดความผูกพันของพนักงาน ดังนี้

 

1) ฉันรู้ว่าฉันถูกคาดหวังอะไรบ้างในการทำงาน (I know what’s expected of me at work)

2) ฉันมีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงานที่เหมาะสม (I have materials and equipment to do work right)

3) ณ ที่ทำงาน ฉันมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ฉันทำได้ดีที่สุดทุกวัน (At work, I have opportunity to do what I do best everyday)

4) ในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมา ฉันได้รับการยกย่องหรือชมเชยในงานที่ออกมาดี (In the last seven days, I have received recognition or praise for doing good work)

5) ฉันมีหัวหน้าหรือคนที่ทำงานคอยดูแลเอาใจใส่ฉัน (My supervisors, or someone at work, seem to care about me as a person)

6) มีบางคนในที่ทำงานที่คอยสนับสนุนฉันให้ได้รับการพัฒนา (There is someone at work who encourage development)

7) ในที่ทำงานความคิดเห็นของฉันได้รับการยอมรับ (At work my opinion seem to count)

8) พันธกิจหรือจุดมุ่งหมายขององค์การทำให้ฉันรู้สึกว่างานของฉันนั้นสำคัญ

(The mission or purpose of company make me feel my job is important)

9) เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องของฉันทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้งานมีคุณภาพ (My associates or fellow employees are committed to doing quality work)

10) ฉันมีเพื่อนที่ดีที่สุดในที่ทำงาน (I have a best friend at work)

11) ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา มีคนในที่ทำงานพูดถึงความก้าวหน้าในงานของฉัน (In the last six months, someone at work has talks to me about my progress)

12) เมื่อปีที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสที่เรียนรู้และเติบโตในที่ทำงาน (This last years, I have had opportunities to learn and grow at work)

 

จากคำถามทั้ง 12 คำถามข้างต้น สามารถสรุปเป็นปัจจัย 12 ด้าน ซึ่งแบ่งตามลำดับขั้นความผูกพันทั้ง 4 ขั้น ได้ดังนี้

 

1) ด้านความต้องการพื้นฐาน (Basic Need) ประกอบด้วย

  • ความคาดหวัง
  • เครื่องมือและอุปกรณ์

 

2) ด้านการสนับสนุนทางการบริหาร (Management Support) ประกอบด้วย

  • โอกาสที่จะทำงานให้ได้ดีที่สุด
  • การได้รับการยอมรับ
  • การดูแลเอาใจใส่
  • การพัฒนา

 

3) ด้านสัมพันธภาพ (Relatedness) ประกอบด้วย

  • การยอมรับในความคิดเห็น
  • ภารกิจ / วัตถุประสงค์
  • เพื่อนร่วมงานมีคุณภาพ
  • เพื่อนที่ดีที่สุด

 

4) ด้านความก้าวหน้าในงาน (Growth) ประกอบด้วย

  • ความก้าวหน้า
  • การเรียนรู้และพัฒนา

 

         จากแนวคิดเรื่องการวัดความผูกพันของพนักงานต่อองค์การนี้เอง The Gallup Organization ได้นำมาศึกษาวิจัยเรื่องความผูกพันของพนักงานในการทำงาน โดยได้แบ่งประเภทของพนักงานไว้ 3 ประเภท คือ

1) พนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กร (Engaged) คือ พนักงานที่ทำงานด้วยความเต็มใจและตั้งใจ และคำนึงถึงองค์การ

2) พนักงานที่ไม่ยึดติดกับผูกพันต่อองค์กร (Not-engaged) คือ พนักงานไม่มีความกระตือรือล้นในการทำงานทำงานโดยไม่ตั้งใจ

3)  พนักงานที่ไม่มีความผูกพันต่อองค์กร(Actively disengaged) คือ พนักงานที่ไม่มีความสุขในการทำงาน

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ The Gallup Organization จากจำนวนพนักงาน จำนวน 3 ล้านคน ใน 350 องค์กรของสหรัฐอเมริกา พบว่า ร้อยละ 70 ของพนักงานไม่มีความผูกพันในงาน และคนกลุ่มนี้หากอยู่ในองค์กรนานขึ้นก็จะยิ่งมีความผูกพันลดน้อยลง แต่การให้พนักงานได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในองค์กร จะทำให้พนักงานมีความผูกพันกับองค์กรเพิ่มมากขึ้น

 

จากผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายจ้างควรมุ่งเน้นที่ความต้องการพื้นฐานของพนักงาน กล่าวคือ ควรตั้งจุดมุ่งหมายหรือความคาดหวังให้ชัดเจน เพราะทำให้พนักงานรู้ว่าผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการคืออะไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไร ที่สำคัญนายจ้างต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุด และควรแสดงความเอาใจใส่ ต่อพนักงาน ซึ่งแนวทางต่างๆ นี้จะช่วยสร้างให้พนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น…

 

ผมได้ให้คะแนนและความคิดเห็นในแบบฟอร์ม....การหาค่าความสอดคล้องแบบ IOC

(อ่านเพิ่มเติมการหาค่าความสอดคล้องแบบ IOC ครับ …. http://itcstatistic.blogspot.com/2009/06/blog-post.html)

และได้ให้ข้อคิดเห็นในเค้าโครงวิจัย (บทที่ 1-3) เพิ่มเติม ในมุมมองของผม

 

ที่พิเศษสุดผมมอบคำอวยพรให้...ขอให้มีกำลังใจ...มีความสุข...ประสบผลสำเร็จ...กับการเรียนรู้

และผมอยากเพิ่ม “ความผูกพันต่อองค์การ” ซึ่งส่วนใหญ่จากการทบทวนเป็นองค์กรที่มุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ

แต่หน่วยงานโรงพยาบาลของรัฐ ของเรามีมิติและจิตวิญญาณมากกว่านั้น

เพราะ....

 

บทพิสูจน์ “คนทำงาน” คือ “หัวใจขององค์กร”

บทพิสูจน์ “หมอ” คือ “การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์”

 

หมายเหตุ…

น่าจะเป็นคำคมของอาจารย์หมอประเวศ วะสีที่กล่าวว่า “แม่คือหมอคนแรกของลูก”

จึงไม่แปลกที่คนในชนบทชอบเรียก หมออนามัย...คนเข็นเปล...คนทำบัตร...พยาบาล...คนอื่น ๆ ในโรงพยาบาล และสถานีอนามัย...ว่า “หมอ”

ทั้งที่ควรจะเรียกคำว่า “หมอ” กับ “แพทย์” เท่านั้น

ตอนผมเรียนจบหมออนามัยมา (หลักสูตรอนุปริญญาเอง) ไปทำงานครั้งแรกที่ตำบลที่ไม่น้ำประปา

(ได้ทำคลอดประมาณ 10 กว่าชีวิต...ดีที่ไม่มีเหตุร้ายใดใด...สาธุ....น้อง ๆ คงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วครับ)

ชาวบ้านเรียกผมว่า “หมอ” ก็รู้สึกแปลก ๆ ชอบกล

 

พอมาระยะหลัง ๆ ผมรู้สึกคุ้นชิน

เพราะชาวบ้านเห็นว่า...ผมสามารถทำให้ชาวบ้านทุเลาอาการป่วย...และมีความสุขได้บ้างตามความสามารถของผม

 

คิดได้อย่างนั้น...ผมก็เลยแทนตัวเองว่า “หมอ” ครับ

และมีความสุขกับชีวิต “หมออนามัย” เป็นต้นมา.....

 

 

หมายเลขบันทึก: 465555เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2011 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สองปีที่แล้วอ่านไป3เรื่อง ผลงานทางวิชาการของเพื่อนครูด้านภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ ภาษาไทย 1 ฉบับ

ไม่อยากขัดขืนเหมือนคุณหมอถ้ามีเวลาพอเฉลี่ยกันไป

แต่ไม่ค่อยเสมอต้นเสมอปลายเลยครับ

ดีจังเลยค่ะ

เอามาแบ่งปันคนอื่นด้วย

ในฐานะรับผิดชอบ HRD ของโรงพยาบาล

อ่านตอนนี้ก็มีประโยชน์

ถ้าได้อ่านตอนผลวิจัย อภิปรายและสรุปด้วย

ก็ยิ่งประโยชน์เพิ่มอีก

ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

ดร.พรรัตน์ แสดงหาญ

ดีจังค่ะ ได้ความรู้มาเอาเผื่อแผ่ให้คนอื่นรู้ด้วย เป็นวิทยาทานที่น่าชื่นชมจริงๆ

สำหรับเค้าโครงงานวิจัยที่นิสิตส่งให้อ่านนั้น คงมีความคาดเคลื่อนไปบ้าง ที่จริงแล้วแบบสอบถาม

ของ Gallup จะใช้สำรวจ Engagement ซึ่งเป็นคนละตัวกับ Commitment ค่ะ

Engagement และ Commitment มีความใกล้เคียงกันมาก แต่แปลเป็นภาษาไทยว่า "ความผูกพัน" เหมือนกัน

จึงอาจทำให้นิสิตสับสน ตอนทบทวนวรรณกรรมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท