อนุสรณ์ทหารเอกพระนเรศ ที่เมืองนคร


พอถึงวันที่เจ็ดตอนพลบค่ำพระรามราชท้ายน้ำ ซึ่งอยู่ในวัยชรา ได้เป็นลมล้มลงเสียชีวิต ทำให้ทหารของนครเสียขวัญ ข้าศึกเกิดฮึกเหิมรุกไปจนถึงวัดท่าโพธิ์ แล้วทำการเผาวัดท่าโพธิ์รวมทั้งชุมชนแห่งนั้นจนเสียหายยับเยิน

วันนี้ 26 ก.ย.54 ได้มีโอกาสแวะเวียนเข้าไปในวัดพระบรมมหาธาตุ นครศรีฯ พาลูกๆ เข้าไปกราบอัฐิเจ้าเมืองนคร เล่าประวัติให้ลูกๆ ฟัง ถึงความกล้าหาญของท่าน กลับถึงบ้านจึงได้ค้นหาบทความที่เคยเขียนไว้ นำมาปัดฝุ่นเพิ่มเติม  ลูกหลานชาวนครจงภูมิใจ ในบรรพชนของเราที่ได้กอบกู้ชาติ จนเต็มกำลังสามารถ

 

ในหน้าประวัติศาสตร์ สมัยพระนเรศวรมหาราช มีขุนศึกทหารเอกหลายท่านที่ร่วมสู้รบกันมากับพระนเรศ ขุนศึกผู้หนึ่งที่มีนามปรากฏในพงศาวดารอยู่บ่อยครั้ง คือ "พระยารามราชท้ายน้ำ" เมื่อครั้งพระนเรศทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ทัพหลวงในขณะนั้นมีพระเอกาทศรถทรงช้างศึก ในทัพกลาง ทัพหลังของพระเอกาทศรถ มีพระยารามราชท้ายน้ำ ทรงช้างศึกร่วมทัพในครั้งนั้นด้วย หลังเสร็จศึกทำยุทธหัตถี ก็ปรากฎชื่อพระยารามราชท้ายน้ำ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองนคร พร้อมขุนเยาวราช มาเป็นปลัดเมืองนคร (พระนเรศวรส่งมาปกครองเมืองนคร เมื่อ พ.ศ.2144) 

อัฐิพระยารามราชท้ายน้ำ

กลับมาดูตำนานพระบรมธาตุเมืองนคร ในตอนท้ายๆ ของตำนาน ได้กล่าวถึงพระยารามราชท้ายน้ำ ไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อพระรามราชท้ายน้ำครองเมืองนครแล้ว ก็รู้ข่าวมาว่าพวกโจรสลัด (อุชงคนะ) จะมาตีนครศรีธรรมราช จึงได้เตรียมตัวรับศึกในครั้งนี้ โดยให้ขุดคู (สนามเพลาะ) ทางด้านทิศตะวันออก ตั้งต้นจากลำน้ำท่าวังผ่านทุ่งหยามไปทางทิศเหนือ ไปบรรจบกับคูเมือง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคลองปากนคร การสู้รบในครั้งนั้น มีการสู้รบกันถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน เจ้าเมืองนครเป็นผู้นำทัพออกรบเอง ถือว่าเป็นศึกใหญ่ของเมืองนคร ฝ่ายข้าศึกได้ยกพลขึ้นบกที่ใกล้วัดท่าโพธ์ทางด้านตะวันออกของวัด เพื่อรุกคืบหน้าเข้าสู่ตัวเมืองทางด้านทิศตะวันตก พอถึงวันที่เจ็ดตอนพลบค่ำพระรามราชท้ายน้ำ ซึ่งอยู่ในวัยชรา ได้เป็นลมล้มลงเสียชีวิต ทำให้ทหารของนครเสียขวัญ ข้าศึกเกิดฮึกเหิมรุกไปจนถึงวัดท่าโพธิ์ แล้วทำการเผาวัดท่าโพธิ์รวมทั้งชุมชนแห่งนั้นจนเสียหายยับเยิน 

 

มีทหารเอกท่านหนึ่งของเมืองนคร ชื่อ "ขุนพัญจา" คุมกำลังอยู่ทางทิศใต้ของเมือง ได้พยายามรวบรวมผู้คนและนำทหาร ยกกำลังมาโจมตีข้าศึกจนพวกสลัดแตกพ่าย เป็นอันว่าเมืองนครได้พ้นจากเงื้อมมือของโจรสลัดได้อีกวาระหนึ่ง การศึกครั้งนี้น่าจะเรียกว่า ศึกอุชงคนะ (ผมเรียกเอง)

 

ต่อมาพระยาแก้วซึ่งเป็นหลานของพระรามราชท้ายน้ำ ได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ในวิหารธรรมศาลาวัดพระบรมมหาธาตุ นครศรีฯ (ตั้งอยู่บริเวณประตูกลาง ตรงกันข้ามเป็นวัดหน้าพระบรมธาตุ) ซึ่งพระยาแก้วคนนี้ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองนคร คนต่อไป (และมายอมสวามิภักดิ์ ต่อออกญาเสนาภิมุข นางามาซะ ที่ถูกอยุธยา ส่งมาปราบ สุดท้ายพระยาแก้วก็ถูกลูกของออกญาเสนาภิมุข นางามาซะ (ออกญาเสนาภิมุข โอนิน) ฆ่าตาย จากการแย่งชิงอำนาจกัน) และในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ทางเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ได้ให้เกียรติแก่ท่าน โดยได้ตั้งชื่อถนนหน้าวัดมุมป้อมว่า “ถนนพระรามราชท้ายน้ำ“ ถนนสายนี้พุ่งตรงไปทางทิศตะวันออกสู่ทุ่งหยาม เป็นอนุสรณ์ทางวีรกรรมของท่านตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 463016เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2011 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ ขอร่วมสดุดีวีรกรรมบรรพชนแห่งเมืองนครฯค่ะ

สวัสดีครับ .......

ขอบคุณที่นำข้อมูลทางประวัติศาสตรมาให้เรียนรู้

วันนี้ที่ทวินโลตัส ผู้ตรวจการแผ่นดิน บรรยายเรื่องการใช้อำนาจรัฐ โดย อ. ศรีราชา เจริญพานิช

วันหลังต้องแวะไปเที่ยวละครับ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท