ไปดูรูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศที่โรงเรียนนาดูนประชาสรรค์


อยากจะเล่าถึงความสามารถในการคิดค้นพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาในมิติต่างๆ โดยนำทฤษฎีการบริหารและการเรียนการสอนมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาได้อย่างบูรณาการและไม่แยกส่วน

    ช่วงที่ไปติดตามการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ สพฐ.  สพม.26(มหาสารคาม) ได้พาพวกเราไปเยี่ยมชมผลงานของโรงเรียนมัธยมศึกษา หลายโรงเรียน ซึ่งมีทั้งโรงเรียนในฝัน  โรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีเด่น และโรงเรียนที่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปจัดการศึกษา
     มีโรงเรียนหนึ่งที่ผมทึ่งและอยากจะเล่าถึงความสามารถในการคิดค้นพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาในมิติต่างๆ โดยนำทฤษฎีการบริหารและการเรียนการสอนมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาได้อย่างบูรณาการและไม่แยกส่วน
    
        นั่นคือโรงเรียนนาดูนประชาสรรค์  อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม  ความจริงจริงโรงเรียนนี้มีผลงานดีเด่นหลายเรื่อง แต่เนื่องจากเรามีเวลาจำกัด   ท่านผอ.มนูญ  เพชรมีแก้ว  จึงนำเสนอให้เราฟังเพียง 2 เรื่องคือ
    
       1.รูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศ  โดยมีเครื่องมือวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายคนเพื่อจัดกลุ่มนักเรียนตามสภาพความพร้อมทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ จากนั้นโรงเรียนก็บูรณาการสู่ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายกลุ่มรายคน และจัดการเรียนการเรียนรู้ พัฒนาผู้เรียนในทุกด้าน  เหมือนกับแพทย์ที่วิเคราะห์ผู้ป่วยแล้วทำการรักษาตามอาการของโรค  แต่นี่เป็นการสอนคนให้เจริญงอกงามทั้งด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคมอย่างบูรณาการ จึงเป็นความสามารถเฉพาะที่เหนือกว่าแพทย์เสียอีก(ผมคิดเช่นนั้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผู้เรียนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้อย่างเป็นเครือข่ายซึ่งต้องทำอย่างเป็นระบบ (ดูแผนภาพการดำเนินงานได้จากภาพข้างบน) นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในการสอนแบบบูรณาการ และพิสูจน์ให้เห็นว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทาง  ท่านได้สร้างโมเดลเป็นแผนภูมิประกอบการอธิบายได้อย่างชัดเจน(ดังภาพข้างล่าง)
    
     2.รูปแบบการสอนหลักสูตร ปวช.ในโรงเรียนควบคู่กับการเรียนวิชาสามัญ  เรื่องนี้ผมไม่ได้เห็นของจริง ได้ฟังแต่ที่ท่านเล่าให้ฟังว่า  โรงเรียนใช้การบริหารจัดการประสานและสร้างเครือข่ายกับอาชีวศึกษาที่อยู่ใกล้โรงเรียน ซึ่งเขามีความพร้อมด้านเครื่องมือ บุคลากร ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยเฉพาะ ในการช่วยสอนด้านวิชาชีพ  โดยโรงเรียนจะเน้นการสอนวิชาสามัญให้แน่น ซึ่งสามารถทำให้นักเรียนที่เรียนหลักสูตรนี้แน่นทั้งวิชาสามัญและวิชาชีพ  และเมื่อจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรทั้งสายสามัญ(ม.6)และสายอาชีพ(ปวช.) ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนสามารถเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในสายอาชีพและประสบผลสำเร็จในการทำงานทั้งสิ้น
      
      ตอนท้ายผมถาม ผอ.มนูญว่า "ท่านคิดได้ยังไงเนี่ย" รวมทั้งถามประวัติท่านด้วย  ท่านบอกว่าท่านเป็นคนพัทลุง จบวิศวกรรมศาสตร์ แต่อยากมาเป็นครู โดยเป็นคนช่างคิด  ช่างค้นคว้า ทดลอง ปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด  ท่านใช้ฐานนักคิดอย่างวิศวกรซึ่งแทนที่จะคิดสร้างทางวัตถุ แต่ท่านมาคิดสร้างพัฒนาคนแทน และสามารถสร้าง/พัฒนาคนได้อย่างมืออาชีพเสียด้วย  ทำให้นึกถึงบทกลอนของหลวงวิจิตรวาทการบทหนึ่งที่ว่า
        "สุขของฉันอยู่ที่งานหล่อเลี้ยงจิต    สุขของฉันอยู่ที่คิดสมบัติบ้า(งาน)
          คิดทำโน่นทำนี่ทุกเวลา               เมื่อเห็นงานก้าวหน้าก็สุขใจ..."
      ขอปรบมือดังๆให้กับผู้บริหารมืออาชีพ(เพชร) ผอ.มนูญ  เพชรมีแก้ว ด้วยความนับถือๆครับ  
      

หมายเลขบันทึก: 462665เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดมากเลยครับ ยอดเยี่ยมมากๆ ทั้งสองเครื่องมือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท