สถานการณ์เด่นด้านเด็กกับไอซีที


เมื่อพูดถึงไอซีทีกับชีวิตของเรา คงเป็นเรื่องที่เหมือนกับกิจวัตร เหมือนการอาบน้ำ แปรงฟัน บางทีเช็ค Email เล่น Facebook ก่อนการอาบน้ำ แปรงฟันด้วยซ้ำ เป็นกิจวัตรตั้งแต่ลืมตาตื่นนอน หัวยังไม่ออกจากหมอนเลย จนบางทีใช้ Smart phone เป็นหมอนข้างกันเลยทีเดียว นอกจากคนรุ่นใหม่ๆ แล้ว อายุเฉลี่ยของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตอนนี้ก็น้อยลงเรื่อยๆ เรามาดูกันว่า ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนในเรื่องไอซีทีกับเด็กไทย ทั้งด้านของโครงข่ายพื้นฐาน ด้านอุปกรณ์สื่อสาร ด้านเทคโนโลยีเก็บข้อมูล ด้านสื่อสมัยใหม่ ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย ด้านราคาของอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ ด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และ ด้านกฎหมาย/นโยบาย

ด้านโครงข่ายพื้นฐาน เร็วขึ้น แต่ ไม่เสถียร ไม่ครอบคลุม

โครงข่ายอินเทอร์เน็ตมีความไวมากขึ้น (เข้าสู่ยุค 3G หลังจากรอคอยกันมานาน) แต่ก็ครอบคลุมเพียงแค่พื้นที่ชุมชนเจริญเท่านั้น โครงข่ายพื้นฐานอินเทอร์เน็ตทั่วไปที่ไม่ต้องเร็วมาก เอาแค่พอใช้งาน ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้ หรือเข้าได้ก็ไม่เสถียรนัก ในแง่ของเด็ก หากเด็กต้องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง เช่น การเข้าถึงโลกออนไลน์หรือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ก็ต้องอาศัยการเดินทางผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ ซึ่งหากไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ หรือเข้าได้ แต่ไม่มีคุณภาพ ก็ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย เพื่อให้เด็กสามารถใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่น่าจะลองหันมามองการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น เปลี่ยน "ร้านอินเทอร์เน็ต" ในชุมชนเป็น "ศูนย์การเรียนรู้" ของชุมชน เพื่อให้ฮาร์ดแวร์และอินเทอร์เน็ตที่ร้านมีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษาของเด็ก ดังนั้น ต้องศึกษาว่ามีร้านเกมส์เท่าไหร่ ได้มาตรฐานเท่าไหร่ ทำกิจกรรมแบ่งเวลาการเรียนรู้อย่างไร เพื่อใช้งาน Hardware และ Network ที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านอุปกรณ์สื่อสารสะดวกสบายขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น 

ผู้ใช้หันมาเข้าถึงเว็บไซต์ด้วย Smart phone และ Tablet เป็นจำนวนมากขึ้น เช่น iPhone, iPad, O2, HTC เป็นต้น ทำให้วัฒนธรรมการใช้งานโปรแกรมในการเข้าถึงข้อมูลออนไลน์เปลี่ยนไป หันมาใช้ Mobile Application มากขึ้น ในการทำสิ่งต่างๆเช่น ทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่าน Internet Banking Application, การแต่งรูป ผ่าน Appication ต่างๆ เช่น MoreBeauty แทนที่จะใช้ Photoshop ในคอมพิวเตอร์, ส่ง Email ผ่าน Mail Application รวมทั้ง Application อื่นๆ ที่มักจะมีฟังก์ชันให้ Share ผ่าน Email ได้เลยทันที คนจึงหันมาพัฒนา Application บน Mobile และ Tablet มากขึ้น แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร เพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งความรู้, เครื่องมือ, และตลาด ส่วน Application หรือ Software ที่ไว้สำหรับใช้งานบนคอมพิวเตอร์ก็ยังคงได้รับการพัฒนา เพราะยังคงมีการใช้งานในการทำงานสายอาชีพเฉพาะ เช่น โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ (เช่น Adobe Premiere), โปรแกรมแต่งภาพแบบมืออาชีพ (เช่น Light Room) เป็นต้น แต่หลายๆ โปรแกรมเองก็ถูกพัฒนาในเวอร์ชัน ของ Mobile และ Tablet Application ไปด้วยก็มี แต่ทำงานได้ไม่ครบทุกฟังก์ชัน ในแง่ของเด็ก เด็กเล็กๆ ในชั้นประถมหลายๆ คน ผู้ปกครองมักจะปล่อยให้เด็กๆ หยิบ Smart phone และ Tablet ไปเล่นเกมส์ โดยคิดว่าลูกตัวเองเก่งใช้ Smart phone เป็นแล้ว และปล่อยให้ลูกเล่นอยู่แบบนั้น โดยไม่แนะนำการใช้งานที่ถูกต้องให้แก่ลูก หรืออยู่กับลูกเวลาที่เค้าเล่น ทำให้เด็กหลายๆ คน กลายเป็นคนก้าวร้าว เพราะเล่นเกมส์ที่รุนแรง โดยไม่มีคำแนะนำ, เด็กขาดทักษะทางสังคมบนโลกแห่งความจริง, เด็กยึดติดวัตถุ, สุขภาพ-สายตาเด็กเสีย ฯลฯ อีกมากมายตามมา ซึ่งจริงๆแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ หากใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เช่นการสอนลูกเปิด Dictionary หรือหาคำตอบให้สิ่งที่สงสัยผ่านมือถือ สอนเด็กถ่ายรูปเล่นกับครอบครัวและเพื่อนๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี สร้างจินตนาการ มุมมองและความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก สอนเด็กใช้ Game การศึกษาตามสมควร ที่ทำให้เด็กเล่นไปเรียนรู้ไป อยู่ในขอบเขตเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะนโยบายของรัฐที่เป็นเรื่องของ One Child, One Tablet นั้น ก็อาจจะมีคุณอนันต์ หากมีการใช้อย่างถูกต้อง มีการเตรียมการที่ดี เช่น การเตรียมการ 5 ระยะ 15 ขั้นตอน ของอาจารย์ อิทธิพล ปรีติประสงค์ http://www.gotoknow.org/blog/archangoh/450437 

ด้านเทคโนโลยีเก็บข้อมูล  เชื่อมโยง ดึงข้อมูลอัตโนมัติ 

เทคโนโลยีด้านเว็บไซต์ ที่เป็นเว็บ 3.0 กันมากขึ้น มีเว็บที่เป็น Social Network เกิดขึ้นเกือบทุกวัน แต่เว็บที่ได้รับความนิยมกันมากๆ คือ Facebook, Twitter, Foursquare, และน้องใหม่ Google+ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีอัตราการเติบโต มากกว่า 1,000,000 user ต่อวันเลยทีเดียว นั่นแสดงให้เห็นว่า คนเราเริ่มเคยชินกับวัฒนธรรมการแบ่งปันกันมากขึ้น บางคนก็เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป โดยไม่รู้จักขอบเขตความเหมาะสมและระวังความปลอดภัยของตัวเอง เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และภาพส่วนตัวต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน บน Facebook และ Google+ หรือการบอกระบุว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ที่ไหนอย่างไร บ้านอยู่ตรงไหน ตอนนี้อยู่บ้านหรือไม่ บน Foursquare หรือ Twitter ที่จริงๆมีประโยชน์มาก ในการแสดงสิ่งที่คิดออกมากันแบบ Real-Time เน้นข้อความสั้นแต่บ่อย เคยถูกใช้ขอความช่วยเหลือต่างๆ เช่นกรณีหลงทาง หรือติดอยู่ในตึกไฟไหม้ แต่หากใช้มากเกินไป ก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมการพูดแบบเกินพอดี พูดแบบไม่สนใจว่ามีคนจะฟังหรือไม่ เหมือนบ่นอะไรก็ได้ที่อยากจะบ่น เช่น หิว, ง่วง, ตาจะปิด, คนเยอะจัง, มาม่าจะสุกแล้ว, เครื่องแฮงค์อ่ะ, นอย, อยู่ในห้องน้ำ, พระเอกอย่างหล่อ (อันนี้กรณีดูละครอยู่) เป็นต้น ในแง่ของเด็ก การเข้าสู่สังคมออนไลน์ หรือ Social Network โดยขาดความรู้ความเข้าใจและวิธีการใช้งานอย่างปลอดภัยนั้น จะทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ผู้ไม่หวังดี สามารถรู้ว่าเด็ก อายุ เท่าไหร่ หน้าตา สัดส่วน (จากภาพ Profile) เบอร์ติดต่อ เรียนอยู่โรงเรียนอะไร กลุ่มเพื่อนเป็นไง Lifestyle เป็นอย่างไร (จากหน้า Info บน Facebook) บ้านอยู่ที่ไหน ตอนนี้ตัวเด็กอยู่ที่ไหน (จาก Foursquare) ครอบครัวมีใครบ้าง (จากภาพถ่ายครอบครัวบน Facebook) โดยอาจจะเป็นข้อมูลที่เด็กเต็มใจใส่เข้าไป หรือเป็นข้อมูลที่สังคมเพื่อนๆ ใส่มาให้เด็ก เช่น Tag รูปมาให้ มาโพสทิ้งไว้บน Wall เป็นต้น รวมถึงอาจเกิดวัฒนธรรมการพูดแบบเกินพอดีดังที่กล่าวมา ซึ่งเรื่องตรงนี้ ผู้ปกครองควรเรียนรู้ และให้ความรู้กับเด็กได้ว่า การเล่นสังคมออนไลน์นั้น ควรจะระมัดระวังอย่างไร ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยกับตัวเอง และระวังการเล่นจนเกินพอดี เพื่อไม่ให้ทำลายสุขภาพ และสร้างให้เด็กมีนิสัยสื่อสารเหมาะสมตามความจำเป็นด้วย 

ด้านสื่อสมัยใหม่ เร็ว ง่ายแค่ปลายนิ้วไม่ต้องทนรอ

การมี Internet TV, TV On demand, Youtube นั้น มีข้อดีในการรับสื่อที่หลากหลายขึ้น จัดโปรแกรมการดูของตัวเองได้ ว่าอยากดูอะไร เวลาไหนบ้าง เหมือนเป็นช่องของตัวเอง ซึ่งการปล่อยอิสระนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับเด็กเองการให้เด็กเลือกรับสื่อเอง โดยไม่มีวิจารณญานในการรับสื่อที่เพียงพอ ทั้งยังไม่สามารถควบคุมได้เหมือนกับ TV นั้น จะมีผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของเด็ก เช่นการดูซีรี่ต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน โดยไม่มีโฆษณาหรือรายการอื่นคั่น, การดูละครที่เรทไม่เหมาะสมโดยไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วยก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น ดูตอนโรงเรียนเลิกเร็ว กลับมาบ้าน แล้วผู้ปกครองยังไม่กลับมา ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบต่างๆทั้งดีและไม่ดีของเด็กได้ ยังไม่รวมถึงนิสัยที่ไม่สามารถอดทนรอคอยสิ่งใดได้ ใจร้อน เพราะทุกอย่างแค่คลิก

ด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยไม่ค่อยคำนึงเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

เมื่อกระแสการออนไลน์มา ทุกคนพยายามนำข้อมูลขึ้นไปไว้บนออนไลน์ หน่วยงานราชการและเอกชน มีการนำข้อมูลที่เปิดเผยได้แก่สาธารณะชนและข้อมูลการทำงานที่ต้องเก็บเป็นความลับขึ้นสู่ออนไลน์ เพื่อการทำงานที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทันสมัย Real-Time แต่ขาดการไตร่ตรองในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่นำขึ้นไป หรือใช้งานกันอยู่บน Online ซึ่งสังคมไทยขาดทรัพยากรบุคคลด้านนี้อีกมาก ส่วนใหญ่จะเป็นด้านการนำขึ้น การใช้งาน แต่ไม่มีด้านการป้องกันโดยเฉพาะ สังเกตได้จากหลักสูตรต่างๆ ที่มีการทำการเรียนการสอนกันอยู่ในสถานศึกษาต่างๆ ทำให้ข้อมูลที่มีค่าถูกโจรกรรมไปทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัตรเครดิต ซึ่งต่อไปข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเราทำธุรกรรมต่างๆผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ใช้งานเว็บไซต์ต่างๆมากขึ้น เรากรอกประวัติใส่ข้อมูลของเราให้กับเว็บต่างๆ โดยไม่เคยเฉลียวใจหรือระแวงว่าข้อมูลเหล่านั้น จะถูกนำไปทำอะไร มีการเก็บรักษาข้อมูลดีแค่ไหน จนทำให้เกิดอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตมากมาย และจับกุมได้ยาก เพราะตำรวจเองก็ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเท่าที่ควร ประกอบกับช่องทางในการหลบเลี่ยงหลบหนีบนอินเทอร์เน็ตมีอยู่เยอะมาก ถึงแม้จะมีพ.ร.บ. ด้านการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตออกมาก็ตามในแง่ของเด็กก็เช่นเดียวกัน ในอนาคตต่อไปข้อมูลตั้งแต่เกิดจนตายนั้นจะมีอยู่บน Internet โดยเฉพาะเด็กที่มีผู้ปกครองใช้งานเทคโนโลยีเป็น ก็จะบันทึกข้อมูลต่างๆ ภาพต่างๆ เกี่ยวกับลูกเอาไว้ มีการสร้าง Twitter user หรือ Website ข้อมูลของเด็ก โดยไม่ได้คำนึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงข้อมูลบริการของหน่วยงานรัฐ ทะเบียนราษฏร์ หรือประวัติการรักษา ทางการแพทย์ ในโรงพยาบาล ประวัติการศึกษาในโรงเรียน ที่ข้อมูลทุกอย่างออนไลน์ ข้อมูลของเด็กในทุกด้าน สามารถแอบเข้าถึงและนำออกมาใช้ได้โดยง่ายดายจะเป็นอย่างไร เอาแค่ข้อมูลที่ถูกใส่อยู่ในปัจจุบัน ก็คงต้องระวังรักษาเรื่องความปลอดภัยกันมากกว่านี้ 

ด้านราคาของอินเทอร์เน็ต เหมาจ่าย เล่นได้ไม่จำกัด

ค่าใช้จ่ายในการเล่นอินเทอร์เน็ตกำลังถูกลงเรื่อยๆ ราคาอุปกรณ์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูง และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ประหยัดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หาซื้อได้ง่ายขึ้น เล่นค่าเล่นค่าแชทก็มักเป็นระบบเหมาจ่าย ซึ่งการนำไปใช้งานในทางที่ดี ก็เป็นผลดี เพราะค่าใช้จ่ายถูกลง ได้ข้อมูลมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน การเหมาจ่ายค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็น Internet package หรือ BB package ทำให้เกิดการพยายามใช้งานมากเกินจำเป็น เพราะรู้สึกว่าจ่ายไปแล้วต้องเล่นให้คุ้ม หรือเพราะคิดว่า ฟรี ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มอยู่แล้ว เลยเล่นแม้จะไม่จำเป็น ทำให้ติดเป็นนิสัยที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งกระทบไปยังการใช้พลังงานที่มากขึ้นด้วย เช่น พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีคน มีความรู้ แต่ไม่ทันสมัย

คนที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กและไอซีทีนั้น สามารถแบ่งได้เป็นผู้เกี่ยวข้องทางตรงและผู้เกี่ยวข้องทางอ้อม ผู้เกี่ยวข้องทางตรง คือ ผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง เช่น พ่อแม่ ครู หรือ ผู้ดูแลเด็ก ส่วนผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางอ้อม คือ ผู้ที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง แต่มีผลกระทบ เช่น ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอ็พพลิเคชั่นต่างๆ ผู้พัฒนา e-book เป็นต้น ในกลุ่มของผู้เกี่ยวข้องทางตรง ควรจะมีความรู้ความเข้าใจในไอซีที และมีรู้วิธีการใช้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถมอบโจทย์ หรือ แนะนำเด็กให้ใช้อย่างถูกต้องได้ ในปัจจุบันเรามีผู้ที่เกี่ยวข้องทางตรงกับเด็กเยอะ แต่ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในไอซีทีอย่างลึกซึ้ง หรืออาจรู้แต่ตามไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถสื่อสาร แนะนำ ป้องกันและแก้ไขให้กับเด็กได้ จึงเกิดเป็นปัญหามากมายตามมา เมื่อปล่อยให้เด็กซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอใช้ไอซีทีสมัยใหม่ตามลำพัง ส่วนกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องทางอ้อม จะเป็นผู้ที่เตรียมสิ่งแวดล้อมไอซีทีดีๆ ให้เด็กๆ เช่น ผู้พัฒนาแอ็พพลิเคชั่น ควรจะพัฒนาแอ็พพลิเคชั่นที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้ ส่งเสริมการศึกษา เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้เด็กมีแอ็พพลิเคชั่นดีๆไว้ให้เลือกใช้งาน หรือจะเป็นการเตรียม E-book ที่มีสาระ น่าเรียน อัพเดททันสมัย น่าสนใจ กระตุ้นการเรียนรู้และการจดจำของเด็ก หรืออาจเป็นผู้วางหลักสูตรต่างๆ ที่ทันสมัยกับการเรียนรู้ด้านไอซีทีของเด็ก

ตัวเด็กเอง ควรได้รับทราบตัวอย่างการใช้ไอซีทีดีๆ เพื่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างในการสร้างสรรค์ เช่น การเผยแพร่ผลงานการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง เช่น โครงการเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีทีไอซีที Youth Connect มาประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้แก่เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกวงการไอซีทีด้วย รวมทั้งเด็กๆควรมีหลักสูตรที่ทันสมัยในการเรียนรู้เรื่องไอซีที ไม่ว่าจะเป็นการรับ การใช้ และการสร้าง ไอซีที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ชุมชน และสังคมได้

พ่อแม่ ของเด็กในยุคนี้ มักจะอยู่ในช่วงก่อนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในการใช้ไอซีทีใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถเฝ้าระวัง ให้คำแนะนำแก่ลูกได้ เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ มีประโยชน์อนันต์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้องก็จะมีโทษมหันต์ ดังนั้นพ่อแม่ควรจะพยายามหาความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีเหล่านี้ เช่นการเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับไอซีทีและเด็ก หรือติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไอซีที เช่น เหตุการณ์ล่อลวงเด็กผ่าน Facebook โดยทำความเข้าใจรู้จริง ทำให้สามารถดูแลและป้องกันลูกน้อยได้ รวมถึงการหาที่ปรึกษา เป็นเด็กโตที่พ่อแม่ไว้วางใจ อาจจะเป็นพี่ข้างบ้าน ที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีและมีวุฒิภาวะ มีเหตุมีผล รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการใช้ไอซีทีกับเด็ก เพื่อเป็นตัวเชื่อม ช่องว่างที่หายไประหว่างพ่อแม่กับลูกน้อยได้ ซึ่งการใช้วิธีให้เด็กโตให้คำปรึกษาแทนนั้น จะช่วยให้เด็กเล็กรับฟังมากขึ้น เพราะพูดคุยภาษาเดียวกัน เข้าอกเข้าใจความรู้สึกกันมากกว่า

ครู อีกสถาบันหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็ก เพราะเป็นผู้ดูแลเด็กในบ้านหลังที่สองของเด็กๆ ครูมีอิทธิพลต่อตัวเด็กมาก และถ้าหากครูมีความรู้ความเข้าใจในไอซีทีอย่างลึกซึ้ง ก็จะสามารถให้โจทย์ เพื่อนำเด็กให้ใช้ไอซีทีในเชิงสร้างสรรค์ได้ เช่น คุณครูที่โรงเรียนบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่พาเด็กๆใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น ดังนั้นควรมีการร่างมาตรฐานครูในด้านไอซีทีขึ้นมาใหม่ให้ทันสมัย และมีการประเมินความรู้ว่าได้ถึงมาตรฐานหรือไม่ มีใบรับรองและมีการให้โบนัสเพื่อเป็นแรงจูงใจ ตัวครูเองก็สามารถกระตุ้นตัวเอง ให้สามารถเรียนรู้ไอซีทีอย่างกระตือรือร้น เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ที่ทันสมัย และจุดประกายความคิดดีๆ ในการใช้ไอซีทีเชิงสร้างสรรค์ให้แก่เด็กๆได้

ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอ็พพลิเคชั่นต่างๆ เช่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ควรจะร่วมกันพิจารณาและวางแผนร่วมกัน ในการพิจารณาเครื่องมือและเนื้อหาที่มีอยู่ ว่ามีประโยชน์และครอบคลุมความต้องการของเด็กในทางสร้างสรรค์เพียงใด ควรจะมีเครื่องมือหรือเนื้อหาอะไรเพิ่มเติม โดยกำหนดกรอบการทำงานให้ชัดเจน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ด้านไอซีทีที่พร้อมแก่เด็กและเยาวชนสื่อ ปัจจุบันสื่อเองมีผลอย่างมากในเรื่องทัศนคติของเด็กต่อสิ่งต่างๆ ดังนั้นสื่อจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะพูดไปในทางเดียวกันกับครูและผู้ปกครอง ในทัศนคติด้านที่ถูกต้อง ไม่ใช่เน้นที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง ปลูกฝังสิ่งที่ไม่ดีให้กับเด็กๆ อยากให้สื่อเลือกนำเสนอเรื่องๆดี สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชน   

ภาครัฐ ผู้วางนโยบาย และผู้บังคับใช้นโยบาย ทางส่วนของภาครัฐเองก็สำคัญ ในการวางนโยบายและออกกฏหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และสิ่งสำคัญมากไม่แพ้กัน คือ เมื่อมีกฏหมายแล้ว มีผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีความรู้ความเข้าใจ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น พ.ร.บ.การทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผู้บังคับใช้ ต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์อย่างมาก ในการตรวจสอบ ติดตาม และจับกุม ผู้กระทำผิด และไม่มีการละเว้นโดยเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ

ด้านกฎหมายและนโยบาย ไม่เฉพาะ ไม่ครอบคลุม ไม่ชัดเจน 

จากบทความสถานการณ์ด้านกฏหมาย โดยอาจารย์ อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ไอซีทีและเด็กกล่าวไว้ว่า..."สถานการณ์ด้านกฎหมาย นโยบาย พบว่า กฎหมายที่มีผลต่อการคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กในระบบไอซีที ยังไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่เกี่ยวข้องโดยตรง มีการใช้ มาตรา ๒๗ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ มาบังคับใช้แก่กรณีปัญหาการจงใจเปิดเผยข้อมูลที่ส่งผลเสียหายต่อเด็ก อีกทั้ง กฎหมายเกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาสื่อใหม่ ยังคงต้องรอการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.... ในการเพิ่มเติมเรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของเกมคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ ปรากฎในรุปของ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.. และ กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งในส่วนหลังต้องรอกฎกระทรวงในการใช้จ่ายเงินจากกองทุน" อยากขอเสนอให้มองเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและไอซีทีโดยตรง ต้องมีกฎหมายที่มีความละเอียดและชัดเจนกว่านี้ เพื่อคุ้มครองเด็กและไอซีทีโดยเฉพาะ เพราะว่าไอซีทีมีความเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลกับเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นผ่านทางไอซีทีก็มีมากขึ้น และอีกส่วนคือกฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กและไอซีทีทางอ้อม เพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่มีผลต่อเด็กทางอ้อมนั้น สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็ก เช่น การลดภาษีจากการทำซอฟแวร์ที่มีประโยชน์ทางการศึกษา เป็นต้น 

 

อริญชยา ตรีคุณประภา
นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล 

อาจารย์ อิทธิพล ปรีติประสงค์
อาจารย์ที่ปรึกษา 
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ (Tags): #เด็ก#ไอซีที
หมายเลขบันทึก: 462664เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โอ เค เลย ให้ภาพรวมที่ดีมาก อยากรู้ต่อว่า "ถ้างั้นเราควรจะเดินต่อไปทางไหนดี" บอกแนวทาง (ใหม่) หน่อยได้ไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท