500 ใครอยากอาสาไปช่วยไทผาเก อัสสัม-เชิญชวนช่วยกันระดมสมองจัดการความรู้เพื่อหมู่บ้านนำผาเก รัฐอัสสัม


ช่วยคนไท ญาติเราเอง

 

 

บันทึกที่ 500 เชิญชวนช่วยกันระดมสมอง

จัดการความรู้เพื่อหมู่บ้านนำพาเก ชาวไทผาเก รัฐอัสสัม

 

 ชาวบ้านมารับกันทั้งหมู่บ้าน

ผมเคยเขียนเรื่องรัฐอัสสัมและชาวไตหรือไทผาเกมาแล้วหลายตอนในเว็บบล๊อค www.gotoknow.org/blog/poldejw  ไม่ว่าจะเป็นบันทึก 268 เล่าเรื่องจากภาพ...รัฐอัสสัม อินเดียและคนไทผาเก ญาติเราเอง   บันทึก 269 รอยยิ้มจากอัสสัม  บันทึก 270 คนไต หรือไท บันทึก 271 รัฐอัสสัม มีอะไรดี    บันทึก 272 ประวัติชาวไทผาเก เล่มที่ 1    บันทึก 273 ภาษาไทผาเก ฉบับประสบการณ์   บันทึก 274 แบบเรียนภาษาไทอาหม   บันทึก  277 ชี่ช้างไปจับแรดที่คาซิรังกา   บันทึก 280 ประวัติไทผาเก เล่มที่ 2   และบันทึก 281 ประวัติไทผาเก เล่มที่2 ต่อ เป็นการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ตรงในการไปเยือนอัสสัม 2 ครั้งซึ่งก็ไม่เคยนึกว่าจะมีการเยือนครั้งที่ 3 แต่ก็มีจนได้ 

สืบเนื่องจากปี 2552 ผมได้มีโอกาสไปเยือนหมู่บ้านนำผาเก Nam Phake เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวไทผาเก ในเขตสิวะสาคร เมืองดีบูรการ์ รัฐอัสสัม เหตุที่ไปเยือนครั้งนั้นคือการไปสำรวจหมู่บ้านก่อนการเสด็จฯ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งต่อมาพระองค์ได้เสด็จ เยือนหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552

การเสด็จเยือนของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าฟ้าจากประเทศไทยที่ได้เสด็จรัฐอัสสัมและเยือนหมู่บ้านนำผาเกของชาวไทผาเก เป็นที่ตื่นเต้นของชาวอัสสัมเป็นอย่างมาก เฉพาะที่หมู่บ้านนำผาเก ผู้คนทั้งหมู่บ้านราว 5000 คน มาต้อนรับเสด็จด้วยความปลื้มปีติยินดี ซึ่งผมได้ถ่ายทอดเรื่องราวไว้ใน “เจ้าหญิงจากแดนไกล” ด้วยความประทับใจในชาวไทผาเกเช่นกัน http://www.gotoknow.org/blog/poldejw/243608

ก็ไม่นึกว่าในที่สุด ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผมจะได้ไปเยือนหมู่บ้านแห่งนี้อีก เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งนี้ ผมตั้งใจว่าจะใช้เวลาอยู่ที่หมู่บ้านให้นานขึ้นและถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะค้างคืนที่หมู่บ้านด้วย เพื่อที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทผาเกให้มากขึ้น

 

 

วัดพุทธในหมู่บ้าน

การไปครั้งนี้ ในสมัยของทูตพิศาล มาณวพัฒน์ ซึ่งท่านได้ไปเยือนหมู่บ้านนำผาเกเป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จึงเกิดความประทับใจและในโอกาสที่ทางสอท.จะไปมอบหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยให้สถาบันไทศึกษา ของศจ. Girin Phukon เมืองดีบูรการ์ จึงมอบหมายให้ผมและข้าราชการ สอท. อีก 2 ท่านแวะไปเยี่ยมหมู่บ้านนี้อีก ในวันที่ 24-26 กันยายน 2554

 

ก่อนไปเยือน

สิ่งที่ตั้งใจในการไปหมู่บ้านนำผาเกครั้งนี้คือ การไปสำรวจอย่างละเอียดและหาทางแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะความเป็นอยู่ซึ่งคนทั้งหมู่บ้านมีเพียงประมาณ 5000 คนเท่านั้น ทำอย่างไรจึงจะให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข...มากขึ้นหรือมั่นคงขึ้น ทูตพิศาลก็ได้ให้การบ้านไปคิดเช่นกันว่า อยากจะมอบอะไรให้หมู่บ้าน ที่จะเป็นประโยชน์และใช้ได้นานซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร ผมก็จะไปหารือกับชาวบ้านในโอกาสนี้ด้วย

ข้อมูลที่เคยได้จากการไปเยือน จากหนังสือที่ผมได้มาและจากอินเตอร์เน็ตดูมากมาย แต่ยังไม่ใช่ข้อมูลที่ละเอียดนัก เพราะการไปเยือน 2 ครั้งที่ผ่านมา มีเวลาไม่มากและมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการจึงทำให้ผมไม่ได้มีโอกาสสนทนากับผู้คนอย่างเต็มที่นัก สิ่งที่อยากรู้หลายเรื่องยังไม่ชัดเจน เช่นโรงเรียนมีเด็กเรียนกี่คนและอายุเท่าใด หญิงชายจำนวนเท่าใด การเรียนเป็นอย่างไร  ในส่วนของชาวบ้าน ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือที่บ้านเราเรียกปราชญ์ชาวบ้านหรือหมอดินเป็นต้น และมีผู้เชี่ยวชาญในด้านอะไรบ้างนอกจากการเกษตร เช่นด้านทอผ้า ด้านประวัติศาสตร์ ด้านศิลปะและมีอยู่กี่คน ด้านศาสนา พระสงฆ์ที่มีอยู่ ท่านมีประวัติความเป็นมาอย่างไร บวชที่ไหน ศึกษาธรรมระดับใด ท่านได้โปรดชาวบ้านในเรื่องพุทธศาสนาเพียงใด มีกิจกรรมทางพุทธศาสนาเป็นประจำหรือไม่ มีเณรกี่องค์และมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาเพียงใด  ในหมู่บ้านมีสุขศาลาหรือไม่ มีห้องสมุดหรือไม่วิถีชีวิตของชาวบ้านตามปรกติ ทำอะไรกันบ้าง ฯลฯ 

 

รอยยิ้มและแววตาแบบนี้ ไม่ต่างจากญาติของเราในอดีตที่ห่างหายกันไปคนละที่

 

สิ่งที่ผมคิดไว้ในใจมานานแล้ว ก็คืออยากจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปแนะนำชาวบ้าน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านในระยะยาว แต่จะมีวิธีการอย่างไร ยังนึกไม่ออกครับ

จึงเป็นที่มาของบันทึกที่ 500 ในโกทูโน ที่ผมให้ความสำคัญ และที่จะขอให้กัลยาณมิตรทุกท่านช่วยกันระดมสมอง ว่าจะทำอย่างไรให้หมู่บ้านนำผาเกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่างเช่นที่มีอยู่ที่เมืองไทย

ช่วยกันแนะนำ เสนอแนะด้วยครับ ถือว่าผมโยนความคิดให้พวกเราช่วยกันจัดการความรู้นะครับ 

หมายเลขบันทึก: 460065เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2011 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

กราบนมัสการครับ

Ico24 พระมหาแล อาสโย ขำสุข และ

Ico24 มหาศรีบรรดร.

ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจครับ

ผมคงจะไปสำรวจอย่างละเอียดครับและนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อในอนาคต จะมีใครสนใจอยากไปเยี่ยมชมหมู่บ้านนี้ และช่วยคิดพัฒนาชาวไทพาเกให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียงในอินเดียต่อไป  

ที่คิดจะไปค้างคืนในหมู่บ้านแทนที่จะไปอยู่ในโรงแรมในเมือง ก็เพราะอยากจะไปเห็นวิถีชีวิตของคนกล่มนี้ หากทำให้เขาริเริ่มกิจการโฮมเสตย์ Homestay ได้ก็จะดีครับ

สามารถเป็นแหล่งที่พักราคาประหยัดสำหรับคนที่จะไปเที่ยวหมู่บ้านนี้

นมัสการครับ

ปล.แม้แต่เรื่องศาสนา พระสงฆ์ไทย หากประสงค์จะไปแวะที่หมู่บ้านนี้เพื่อช่วยกิจกรรมศาสนา ก็น่าจะดีนะครับ มีวัดหลายวัดแต่มีพระสงฆ์จำพรรษาไม่กี่รูปครับ

แค่เห็นภาพนี้ ถ้าไม่บอกว่าเป็นวัดอยู่ในประเทศอินเดียวแล้วละก็ ก็จะนึกว่านี่คือวัดในบ้านเราแน่เชียว
                  
เห็นด้วยที่ท่านทูตจะไปศึกษาเรียนรู้เก็บข้อมูลรายละเอียดในชุมชนมาเผยแพร่ ได้ตามไปอ่านบันทึกเกี่ยวกับชาวไทพาเกแล้ว มีความรู้สึกว่าอยากเห็นคนไทยพระสงฆ์ไทยที่มีโอกาสไปไหว้พระแดนพุทธภูมิ ไปศึกษาหรือที่จำพรรษาอยู่ในอินเดียอยู่แล้ว ได้ไปเยี่ยมญาติของเรากลุ่มนี้บ้างจังเลย

แล้วก็ขอสนับสนุนแนวคิดให้พระไทยไปปฏิบัติศาสนกิจที่นี่บ้างก็น่าจะดีเพราะ(๑)ที่นี่มีวัดอยู่แล้วไม่ต้องสร้างวัดใหม่(๒)ที่นี่มีคนไทยเป็นญาติกันกับเรา(๓)พูดภาษาเดียวกันอีก(๔)ได้สอนภาษาไทยให้กับเด็กๆเยาวชนรุ่นใหม่ไปด้วย

คุณพลเดชคะ

หนูคิดว่ากระบวนการที่จะทำได้นั้น หนูคิดว่าน่าจะขอคำแนะนำจากอ.วิรัตน์ได้ค่ะ เพราะท่านจะมีประสบการณ์ทำงานกับชุมชนโดยตรงค่ะ ^^

Ico48

นมัสการครับ

นมัสการนะครับ หากองค์ใดสนใจ ผมจะไปเสนอแนวคิดนี้กับเจ้าอาวาสวัดหมู่บ้านนำพาเกเอาไว้ หากพระสงฆ์ไทยองค์ใดประสงค์จะไปจำวัดที่นั่นจะได้สะดวกครับ

พระพุทธรูปในวัด ก็มาจากประเทศไทยครับ แต่กิจกรรมเผยแพร่ศาสนานั้น อาจต้องการการสนับสนุนจากไทยครับ

นมัสการ

Ico48

คุณมะปรางค์ครับ

ขอบคุณมากครับ นี่ละครับที่ต้องการ คำแนะนำ

เดี๋ยวจะรีบติดต่อ อจ.วิรัตน์เลยครับ

อจ.วิรัตน์ครับ

เชิญนะครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ หากมีอะไรแนะนำ ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ 

เอาภาพมาฝากเพิ่มเติมครับ (ภาพจากกล้องของ ดร.แจ่มใส เมนะเศวต เลขานุการเอก สอท.ณ กรุงนิวเดลี-ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ครับ)

บ้านชาวบ้านไทพาเก

 

หลังนี้เรียกว่าเรือน ของคนมีฐานะในหมู่บ้าน

 

ห้องครัวในบ้านหลังหนึ่ง หากไปค้างคืนคงได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้

  • Ico48    มะปรางเปรี้ยว

  • คุณมะปรางครับ ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจ

    กำลังรอผู้รู้มาแนะนำครับ

     

  • Ico48    ครูเล็ก
  • ครูเล็กครับ ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจ มีอะไรจะแนะนำไหมครับ ยินดีนะครับ

    เอาภาพมาฝากเพิ่มครับ

    พระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดหมู่บ้านนำพาเก อัสสัม ทราบจากพระที่นั่นว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้มาจากประเทศไทย

     

    หญิงสาวชาวบ้านไทพาเกทอผ้าใช้เองทุกคน ลวดลายสีสันสวยงามและช่างเหมือนผ้าถุงหรือผ้าซื่นทางเหนือของไทยมาก หากได้รับการพัฒนา น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่น่าส่งเสริม

     

    หญิงสาวชาวไทพาเกมารับและส่งเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จเยือนเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2552 สังเกตุการแต่งตัวเด่นชัด คล้ายทางเหนือบ้านเรา ไม่เหมือนสตรีอินเดียทั่วไปเลย

    ขอชื่นชม ในความมีน้ำใจและความคิดริเริ่มของท่าน เพื่อช่วยเหลือผู้คนรอบข้างโดยไม่เลือกเชื้อชาติวรรณะ คะ ในอินเดีย มีสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ที่สนใจการทำวิจัยในชุมชน บ้างหรือไม่คะ ทำเป็น Action research ร่วมกับสถาบันการศึกษาในไทย เพราะสามารถขอ ทุนสนับสนุนโครงการ เช่น ทุนรัฐบาลออสเตรเลีย

    Ico48    CMUpal


    ขอบคุณคุณหมอที่แวะมาให้ดอกไม้กำลังใจ

    หากมีโอกาส เชิญไปสำรวจหมู่บ้านแห่งนี้นะครับ จะประสานให้ครับ

    จะไปดูว่ามีสุขศาลาหรือไม่ ชาวบ้านรักษาพยาบาลกันอย่างไร แต่ตามข้อมูลที่ได้จากหนังสือ ชาวบ้านเขาใช้สมุนไพรรักษากันเองครับ

    Ico48    CMUpal

    คุณหมอ

    รับทราบครับและจะลองคิดต่อยอดจากที่คุณหมอแนะนำนะครับ

    ไปคราวนี้จะได้ไปริเริ่มงานต่างๆ ให้มากที่สุดครับ

    หากคุณหมออ่านเรื่อง"เจ้าหญิงจากแดนไกล" http://www.gotoknow.org/blog/poldejw/243608 ผมอาจจะไปตามล่าหา"อีคำ" ก็เป็นได้ครับ แล้วจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ

    เจริญสุขครับ

    ดูงามไปหมดเลยนะครับ รวมไปจนถึงมุมมอง-การลองคิดดังๆของท่านทูตพลเดช, การร่วมคิดของอาจารย์หมอ CMUpal พร้อมกับให้ข้อมูลทุนความร่วมมือทางการศึกษาวิจัยของออสเตรเลีย ก็ให้ปัญญาและเกิดมุมมองที่กว้างขวางดีจริงๆนะครับ   

    สวัสดีค่ะท่านเอกฯ

    เห็นภาพความงดงามในสัมพันธภาพค่ะ เรื่องความภาคีเครือข่าย

    ทำให้นึกถึงบล็อกเกอร์ อีกท่านอ. โสภนา เคยติดตามอ่านงาน

    ด้านอินเดียศึกษา ที่มหิดลเจ้า

    http://www.gotoknow.org/blog/indianstudies/184420

    สุขสันต์วันกลางสัปดาห์นะคะ ขอบคุณค่ะ

    Ico48

    อจ.วิรัตน์ครับ

    คุณมะปรางกรุณาแนะนำว่า 

    หนูคิดว่ากระบวนการที่จะทำได้นั้น หนูคิดว่าน่าจะขอคำแนะนำจากอ.วิรัตน์ได้ค่ะ เพราะท่านจะมีประสบการณ์ทำงานกับชุมชนโดยตรงค่ะ ^^

    หากอจ.มีข้อคิดดีๆ หรือคำแนะนำจากประสบการณ์ เช่นผมควรจะไปสำรวจข้อมูลในเรื่องอะไรบ้างที่จำเป็นหมู่บ้าน เป็นต้น ก็ยินดีนะครับ

    หลังจากไปเยือนแล้ว จะได้นำมารายงานให้กัลยาณมิตรทราบกันต่อไปครับ

    ขอบคุณครับ

    Ico48

     

    คุณ Poo ครับ

    ขอบคุณมากครับ คิดถึงอจ.โสภนาเหมือนกัน ได้คุณปูเตือนเลยรีบต่อสายตรงถึง อจ.โสภนาทันที รอ อจ.มาแนะนำสิ่งดีๆ ต่อไปครับ

    เจริญสุขครับ

    เรียนกัลยาณมิตรทุกท่าน

    การไปหมู่บ้านนำพาเกครั้งนี้ ต้องขอบคุณทูตพิศาลเป็นอย่างยิ่ง ที่มองการณ์ไกลและมีน้ำใจกับชาวไทพาเก ก็หวังจะนำข้อมูลและความคิดดีๆ กลับมาพิจารณากันต่อไปว่าจะช่วยเหลือญาติของเราอย่างไรครับ

    สวัสดีค่ะ

    มายกมือสมัครไปเป็นอาสาสมัครค่ะ

    ในส่วนของด้านสาธารณสุขตรวจคัดกรองสุขภาพ

    หรืออะไรก็ตามแต่ ที่เป็นที่ต้องการของที่นั่นและหมออนามัยทำได้

    หรือจะเป็นโครงการผ่าตัดต้อกระจกของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

    ก็ยินดีประสานงาน และจะลงมือศึกษาตั้งแต่บัดนี้

    ฝากพี่โยคีสำรวจข้อมูลด้วยนะคะ

    อ่านแล้วเกิดพลังอาสาสมัครขึ้นทันทีเลยค่ะ

    ขออนุโมทนาบุญนะคะ

    โอเค รับทราบ จะไปสำรวจข้อมูงตรงนี้ให้ด้วย

    สำหรับโครงการต้อกระจกของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เคยคุยโทรศัพท์กันแล้ว ได้เรียนถึงความละเอียดอ่อนของการไปดำเนินการที่อินเดีย อาจจะต่างจากเนปาล และโดยเฉพาะการไปผ่าตัดต้อกระจก ต้องมีโรงพยาบาลหรือหน่วยงานของประเทศเจ้าบ้านรองรับด้วย คือเจ้าภาพหลักต้องเป้นของเจ้าบ้าน แต่แพทย์ไทยไปช่วยเสริม เพราะหลังการผ่าตัด ต้องการระยะเวลาช่วงหนึ่ง หากมีอะไร จะต้องดูแลต่อโดยเจ้าบ้านได้....แต่ยังไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ แต่คงต้องหาเจ้าภาพในประเทศเจ้าบ้านให้ได้ก่อน

    ขออนุโมทนาบุญกับกุศลจิตของทีมโรงพยาบาลบ้านแพ้วจ๊ะ รอก่อนๆ

     

    • เรียนท่านทูตค่ะ
    • ปกติเวลาบ้านเราจะพัฒนาชุมชน
    • จะใช้วิธีค้นหาปัญหาจากกรอบจปฐ.ค่ะ
    • มีเรื่องราวที่พอช่วยให้เห็นทิศทางการพัฒนา
    • ผ่านเรื่องเล่าของอ.วิรัตน์ที่นี่
    • ซึ่งพอจะช่วยให้เข้าใจ
    • ความต้องการของชุมชนเองได้ตรงขึ้น
    • ......
    • ตามความเข้าใจของหมอ
    • ความพอดี พอเพียง ตามแนวพระราชดำริห์นั้น
    • สุดยอดของมันอยู่ที่คุณภาพชีวิต
    • ......
    • ดูเผินๆเหมือนชุมชนแห่งนี้
    • มีการพัฒนาที่ดีอยู่บ้างแล้ว
    • ถ้าได้มีประเด็นช่วยนำทาง
    • จะช่วยท่านได้มากขึ้นในมุมมอง
    • ......
    • มีสิ่งใดที่สามารถร่วมด้วยช่วยกัน
    • ในส่วนตัวหมอก็ยินดีช่วยด้วยคนค่ะ
    Ico48

    หมอเจ้ครับ

    ขอบคุณครับสำหรับการแนะนำ

    นักการทูตกับการพัฒนาชุมชน เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมจริงๆ แต่ก็เข้าใจที่หมอเจ้พูดว่า "ความต้องการของชุมชน" ผมก็คงไปหาข้อมูลของชุมชนนี้ก่อน ผมก็เพิ่'จะรู้จัก "จปฐ" จากข้อคิดของหมอเจ้นี่ละครับ :)

    สิ่งที่ผมคิดเอาไว้ แบบคนไม่เคยงานพัฒนาชุมชน ก็คือ สำรวจข้อมูลของชุมชนในทุกด้านให้มากที่สุด

    เพื่อที่จะได้รู้ว่า มีสภาพและสถานะอย่างไร และมีปัญหาและความต้องการอะไร

    และก็จะไปแนะนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้ชาวบ้าน ซึ่งหากเป็นอยู่บ้างแล้ว ก็จะได้แนะนำเพื่อเสริมแนวทางนี้ต่อไป

    ที่ผมคิดเอาไว้ ก็คืออยากจะไปแนะนำให้ชาวบ้านริเริ่มกิจการแบบโฮมเสตย์ เนื่องจากวิถีชีวิตของชุมชนนี้คือลักษณะพิเศษที่ยังคงอยู่ (ในขณะที่ชุมชนไทอื่นๆ เปลี่ยนไปแล้ว) ดังนั้นเพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปสัมผัสกับหมู่บ้านนี้ หากมีโฮมเสตยื ก็จะเปิดโอกาสตรงนี้

    ต้องยอมรับว่าผมไม่มีความรู้เรื่องการพัฒนาชุมชน(เลย) แต่ด้วยประสบการณ์จากที่ไปประจำการในประเทศต่างๆ ได้เห็นการพัฒนาของชุมชนในประเทศต่างๆ ก็คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนนี้

    คำถามของผมก็คือจะทำอย่างไรหมู่บ้านจะสามารถสร้างจุดเด่นและน่าสนใจให้เกิดขึ้นกับหมู่บ้านซึ่งจะสามารถเปลี่ยนจุดเด่นนั้นให้เป็นรายได้เสริมหรือธุรกิจครัวเรือน เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่คนอยากมาดู

    การสร้างงาน สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนนี้  น่าจะทำให้คนรุ่นหนุ่มสาวอยากจะอยู่กับหมู่บ้านเพราะเห็นอนาคต

    ก็ลองคิดไปเรื่อยๆ ครับ คงต้องอยู่ที่ข้อมูลเบื้องต้นที่ผมจะไปหาโดยการลงพื้นที่และไปค้างคืนในหมู่บ้าน ได้ความอย่างไร จะนำมาเพื่อให้กัลยาณมิตรช่วยคิดต่อครับ

    อยากเห็นผู้สนใจหาโอกาสไปเยี่ยมชมหมู่บ้านนี้ด้วยตัวเองในอนาคตครับ จะได้ช่วยกันคิดต่อไปได้

    ยังต้องการคำแนะนำจากนักพัฒนาชุมชนที่มีประสบการณ์อีกครับ

    เชิญนะครับ ช่วยกันคิด บางที อาจจะเป็นจุดเริ่มของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแห่งแรกในอินเดียนะครับ

     

    • ดีใจที่ข้อมูลที่นำส่งให้ท่านจะมีการใช้ประโยชน์
    • .....
    • มีเรื่องอยู่หลายมุมของชุมชนที่ควรทำความเข้าใจค่ะ
    • .....
    • การนำเอาการท่องเที่ยวเข้าไปสู่ชุมชน
    • มีพลวัตรที่ควรทำความเข้าใจด้วยค่ะ
    • .....
    • การคิดแทนของคนนอกชุมชน
    • แล้วเข้าไปชี้นำ
    • ในบางจังหวะก็เป็นจุดเล็ก
    • ที่ค่อยๆเซาะทำลายชุมชน
    • จนนำไปสู่
    • การทำให้วัฒนธรรมชุมชน
    • ล่มสลายไปได้
    • .....
    • พลวัตรหนึ่งที่เป็นตัวอย่าง
    • ที่ทำให้เกิดขึ้นและบานปลาย
    • อยู่ในวันนี้ของบ้านเรา
    • จนวันนี้ไม่รู้
    • จะนำความเป็นชุมชน
    • คืนกลับมา
    • ได้ยังไงมีตัวอย่างชัดๆ
    • ใน 3 จังหวัด 4 อำเภอใต้
    • .....
    • ความเปลี่ยนแปรที่
    • เป็นฐานรากก็มาจาก
    • คนนอกชุมชน
    • เป็นส่วนหนึ่ง
    • ที่ไปแซะทำลาย
    • .....
    • มาชวนท่านแวะไปเยือน
    • ท่านพี่ท่านนี้
    • เพื่อเรียนรู้จากท่าน
    • เกี่ยวกับงานพัฒนาชุมชนค่ะ
    • .....
    • พลวัตรของดงหลวง
    • สอนเรื่องการพัฒนาชุมชน
    • ได้มากมายเชียวค่ะ

    หมอเจ้ครับ

    เห็นประเด็นอยู่ครับ เรื่องการท่องเที่ยว ที่ในที่สุดค่อยๆ ทำลายวัฒนธรรมของชุมชน

    เป็นเรื่องที่ต้องระวังจริงๆ ครับ และคงต้องให้ชุมชนพิจารณาและเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับชุมชนเองครับ

    อย่างที่เรียน การไปคราวนี้ สิ่งที่ตั้งเป้าหมายประการแรกคือการหาข้อมูลเชิงลึกให้มากที่สุด โดยเฉพาะที่จะตอบคำถามว่าชาวบ้านต้องการอะไรมากที่สุด

    บันทึกของท่านบางทรายนั้น ก็ตามอ่านอยู่ครับ เป็นประสบการณ์จริงที่เป็นประโยชน์มาก

    ขอบคุณหมอเจ้ครับที่สนใจและให้ข้อคิดและแนะนำที่ดี จะพยายามรู้จักชุมชนนี้ให้มากที่สุดครับ ถ้าเป็นไปได้จะพยายามรายงานผ่านบันทึกในช่วงที่อยู่ในหมู่บ้านด้วยครับ จะได้ติดตามกันได้ และจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นครับ

     

     

    • น่าสนใจมากครับ
    • คงต้องสำรวจ จปฐ
    • ให้ได้ข้อมูลมากๆ
    • มีอะไรพอช่วยได้บอกนะครับ
    • แต่ต้องเป็นความต้องการของชาวไทพาเกเองครับ
    • ดูพื้นที่แล้วน่าจะปลูกต้นไม้ได้หลายอย่าง
    • รอข้อมูลครับคุณพลเดช
    Ico48

    อจ.ขจิตครับ

    ขอบคุณครับที่ย้ำเรื่อง จปฐ.และเรื่องความต้องการของชาวบ้าน

    จะไปสำรวจพื้นที่และนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

    ยินดีให้พวกเราทุกคนร่วมช่วยกันครับ รวมทั้งไปเยือนในอนาคต หากสนใจกัน

     

    ท่านพลเดช ขอประสานผ่านทางนี้เลย ลุงเอกกำลังจะพานักศึกษา สสสส.3 ไปอินเดีย 30 คนเป้าหมายเดิมแจมมูแคชเมีย ถ้าไม่ได้ก็อัสสัมแผนสองช่วยให้ความกระจ่างด้วยเพื่อประสานงานต่อ 13-19 พฤศจิกายน ทำเอกสารไปกระทรวงแล้ว

    Ico48

    ลุงเอกครับ ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ อยากให้ใช้แผนสองเลยครับ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจที่จะให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำและค้นคว้าต่อไป

    คุณหมอเจ้ คนสวยแซ่เฮ ได้กรุณาชี้แนวทางที่ชัดเจนในหลายเรื่องๆ แล้ว หากลุงเอกพานักศึกษา สสส.3 ไปอัสสัมได้ ก็จะดีมากครับ ผมรับจะประสานกับหมู่บ้านไทผาเกให้ครับ ถือว่าไปตามรอยการเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ เมื่อสองปีที่ผ่านมาด้วยและดูพัฒนาการของหมู่บ้านนี้ซึ่งเป็นญาติเราที่ห่างหายไป

    ที่สำคัญ นักศึกษาซึ่งเป็นผู้มีความรู้ในหลายสาขา สามารถจะไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมไปเริ่มเกริ่นไว้ให้แล้ว คนที่ชอบลุยหรือชอบออกค่าย จะไปพักค้างคืนที่หมู่บ้านก็สามารถทำได้ครับ (โฮมเสตย์) เขาบอกว่าสามารถรับได้ 20-30 คน ต้องประสานต่อไปครับ ใครที่ไม่ลุยก็มีโรงแรมพออยู่ได้ในเมืองครับ

    การไปอัสสัมนอกจากจะไปดูไร่ชาที่มีชื่อเสียงระดับสากลแล้ว ก็มีโบราณสถานของไทอาหมและไทผาเก รวมทั้งวัดให้ดูครับ บริษัททัวร์จะสามารถจัดการได้

    หากตัดสินใจอย่างไร ผมยินดีประสานให้ครับ ชาวบ้านคงจะยินดีมากหากมีคณะไทยนี้ไป

    ลุงเอกอ่านข้อมูลของผมจากการไปเยืนอครั้งนี้ได้เลยครับ 3-4 บันทึกล่าสุด เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดและจากพื้นที่จริงครับ น่าสนใจจริงๆ

    ลงุเอกครับ

    มือถือของผม  91 9958156932 นะครับ หรือลุงเอกส่งข้อความมาถึงผมก็ได้ ผมจะได้โทรไปหาครับ

    เรียน ท่านพลเดช

    ในแง่สถาปัตยกรรม น้าจะได้รวบรวมข้อมูลบ้านเรือน วัฒนธรรมเป็นฐานข้อมูลชุมชน เพราะที่น่าสนใจของบ้านไตในอัสสัม คือ ความมีชีวิตของบ้านเรือนไต ส่วนนี้น่าจะสำคัญต่อการสร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้มีคุณค่าทั้งต่อเจ้าบ้านและแขก

    พอดีศึกษาเกี่ยวกับโฮมสเตย์แบบพื้นถิ่นที่รักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ก็เลยสนใจ หากท่านฯ จะต้องการทีมเก็บข้อมูลหมู่บ้าน และสถาปัตยกรรมก็ยินดีค่ะ เพราะส่วนตัวได้เก็บข้อมูลหมู่บ้านพื้นถิ่นในอุษาคเนย์อยู่แล้วค่ะ

    ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี

    คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช.

    Ico48
    ระวิวรรณ

    อจ.ระวิวรรณ

    ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับที่อจ.สนใจหมุ่บ้านไทผาเก โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม

    ผมคิดว่าหมู่บ้านต้องการผู้เชี่ยวชาญหลายด้านที่จะเข้าไปให้ความรู้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมด่งเดิมเอาไว้ มิฉะนั้นจะกลายเป้นเช่นที่กลุ่มไทอาหมในอัสสัม ซึ่งในปัจจุบันลืมวัฒนธรรมดั่งเดิมจนหมดสิ้น และพยายามที่จะรื้อฟื้นให้กลับมาอีก ส่วนไทผาเก ถ้ายังคงเป็นเช่นนี้ไป ก็คงจะเป็นสภาพเช่นเดียวกัน

    วิการที่ดีก็คือผู้สนใจและต้องการจะช่วย ต้องเข้าไปเยี่ยมหมู่บ้านด้วยตนเอง จะได้รับทราบข้อมูลตรงและสามารถคิดวางแผนว่าจะช่วยต่อไปอย่างไร

    ผมคิดว่าหากเป้นสถาบันการศึกษา อจ.อาจจะเสนอโครงการเพื่อให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนเพื่อที่จะจัดทีมไปหมู่บ้านไทผาเก ผมยินดีประสานให้ครับหรือจะประสานโดยตรงที่ผู้แทยหมู่บ้าน คืออจ.ใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านไทผาเก Ngi Yot 919435138792 ซึ่งเป็นคนที่กำลังจะเรียนปริญญาเอกที่ ม.เกษตรในบ้านเรา

    หากมีโครงการแบบนี้ได้ เชื่อว่าจะสามารถเข้าไปช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมไทไว้ได้แน่นอน

    หากมีอะไรที่ผมจะช่วยเสริมหรือสนับสนุนได้ ก็ยินดีครับ

     

     

     

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท