วิเคราะห์งบการเงิน "มติชน"


ผมเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ "ทางไท" หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้ของ คุณวิชาญ ช่วยชูใจ เพื่อนผู้ซึ่งมีแรงใจมหาศาลในการพัฒนาสื่อมวลชนท้องถิ่นให้เป็นที่พึ่งของชุมชนได้ บทความต่อไปนี้เป็นบทความล่าสุดของผมที่กำลังตีพิมพ์ ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านนอกเหนือจากในพื้นที่ที่หนังสือพิมพ์ทางไทวางจำหน่าย จึงนำมาใส่ในบล๊อกของผมไว้ด้วย เชิญอ่านและให้ความเห็นต่อมุมมองอันแตกต่างของผมได้เลยครับ

-------

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากมายในประเทศไทยอย่างที่เราทราบกัน ในเรื่องเหล่านั้น หลายเรื่องผมไม่รู้ตื้นลึกหนาบางแล้วว่าอะไรคืออะไร (ได้แก่เรื่องสามจังหวัดภาคใต้) แต่หลายเรื่องผมก็พอรู้พอคำนวนได้อยู่บ้าง และเรื่องหนึ่งที่ผมพอเข้าใจและติดใจอยากจะเล่าใครต่อใครว่าผมเข้าใจอย่างไรมาตลอดในช่วงนี้คือเรื่อง “ฮุบสื่อ” ที่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) (ซึ่งมีสัญลักษณ์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า GMMM) จะเข้าครอบงำกิจการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) (หรือ MATI) และ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) (หรือ POST)

ผมเองเป็น “แฟน” มติชน และ Bangkok Post มาอย่างยาวนาน ผมเลือกอ่านหนังสือพิมพ์ของเครือมติชนและสมัยหนุ่มๆ ผมก็เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยการอ่าน “Bangkok Post” นี่เอง สองบริษัทนี้เป็นบริษัทที่สร้างผลงานคุณภาพมาตลอดต่อเนื่อง มูลค่าแฝงที่คิดคำนวนเป็นตัวเงินไม่ได้ของบริษัททั้งสองนี้มากมายมหาศาลทั้งสำหรับผมและสำหรับคนไทยโดยทั่วไป

ในขณะเดียวกันในฐานะนักดนตรีเก่าผู้เลือกฟังเฉพาะเพลงที่ไพเราะสวยงามเท่านั้น ผมเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของเพลงที่ออกมาจากบริษัท GMMM ผมคิดว่าบริษัทนี้ผลิตเพลงได้อย่างไร้คุณค่าทางดนตรีอย่างสิ้นเชิง เสียงเพลงของบริษัทนี้มีสภาวะเป็น “ขยะทางเสียง” กับหูผมมากทีเดียว ได้ยินเมื่อไหร่เป็นต้องปิดหรือหนีไปไกลๆ

ภายใต้มุมมองของผมอย่างที่เล่าคุณมานี้ ผมจึงไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ที่ GMMM จะเข้าครอบงำ MATI กับ POST ผมกลัวของดีๆ จะเสียของไปเสียหมด แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก็คือธุรกิจ ต้องดำเนินไปตามกติกาของมัน ผมก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่พอผมได้ยินว่ามี “ใคร” อยู่เบื้องหลัง ผมเลยต้องตรวจสอบเสียหน่อยแล้ว ว่าเรื่องนี้เป็นการ “ครอบงำสื่อ” หรือ “สื่อรายหนึ่งต้องการดับสื่อคู่แข่งที่จะไปร่วมมือกับบริษัทอื่นโดยใช้สังคมเป็นเครื่องมือ”

ด้วยความสงสัยผมก็เริ่มตรวจสอบ ซึ่งไม่ยากอะไรมากนัก คนอย่างผมจะหาข้อมูลเพื่อจะตรวจสอบบริษัทเหล่านี้ได้ไม่ยากครับ ไม่ใช่ว่าผมใหญ่หรือกว้างขวางแต่อย่างไร แต่บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทเมื่อจดทะเบียนฯ แล้ว จะมีกฎหมายควบคุมหลายอย่าง อย่างหนึ่งนั้นคือต้องรายงานข้อมูลในหลายประเด็นต่อตลาดฯ และตลาดฯ ก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นเปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไป คุณสามารถอ่านข้อมูลเหล่านั้นได้ที่ http://www.set.or.th/set/marketsummary.do แล้วเลือก “ข้อมูลบริษัทจดทะเบียน” ในด้านซ้ายของหน้าจอ พิมพ์ MATI (หรือสัญลักษณ์หุ้นที่คุณต้องการ) เพื่อให้ข้อมูลแสดงบนหน้าจอ

การจะดูว่าธุรกิจใครทำอะไรเป็นอย่างไรนั้น เราดูข้อมูลในสองที่ครับ ที่แรกคือ “งบการเงิน” ที่ที่สองคือ “รายงานประจำปี” สองอย่างนี้ถือเป็นลายแทงทางธุรกิจที่จะทำความเข้าใจบริษัท ลายแทงสองอย่างนี้สำคัญมาก ใครจะลงทุนในตลาดฯ ต้องเรียนรู้ที่จะอ่านลายแทงทั้งสองแบบนี้ให้กระจ่าง ส่วนบริษัทที่ดีนั้น ก็ต้องจัดทำลายแทงทั้งสองอย่างนี้ให้ถูกต้องและมีข้อมูลที่พร้อมทันต่อเหตุการณ์ให้แก่นักลงทุนในการตัดสินใจ

ปรากฎว่า MATI ส่งรายงานประจำปีล่าสุดแค่ปี 2545 เท่านั้น เท่าที่ผมจำได้ตลาดฯ ไม่บังคับให้ส่งรายงานประจำปี แต่เรื่องนี้ถ้าตรวจสอบตามหลักธรรมาธิบาลแล้ว MATI เสียคะแนนครับ ไม่เป็นไร เรามาดูสิ่งที่ตลาดฯ บังคับให้ส่งดีกว่า นั่นคืองบการเงิน ซึ่ง MATI ก็มีครบถ้วน

พอเปิดงบการเงิน MATI มา ผมก็ถึงขั้นตะลึง! ไม่ใช่ตะลึงเพราะ MATI มีงบการเงินที่แย่อะไรครับ แต่ตะลึงเพราะ MATI เป็นบริษัทที่เหมาะสำหรับการเข้าไปครอบงำกิจการทุกอย่าง ตรงตามตำราการเงินแบบอนุรักษ์นิยมเกือบทุกประการทีเดียว เน้นว่าตำราแบบอนุรักษ์นิยมนะครับ ไม่ใช่ตำราแบบโลดโผนด้วยซ้ำ!! ผมไม่อยากเชื่อว่าจะมีบริษัทอย่างนี้จริงๆ ในปัจจุบัน นึกว่ามีแต่ในตำรา เพราะมันเสี่ยงเหลือเกินที่จะปล่อยให้สถานะของกิจการเป็นแบบนี้ นักการเงินแบบอนุรักษ์นิยมชื่อ Warren Buffet ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและปัจจุบันเป็นคนรวยอันดับสองของโลก สร้างตัวด้วยการครอบงำกิจการที่มีลักษณะแบบ MATI นี่ละครับ ดังนั้นเรื่องงบการเงินแบบนี้จะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปของคนที่เรียนด้านการเงินว่าเป็นงบที่เหมาะกับการเข้าไปครอบงำกิจการตามตำรา

เราจะเริ่มจากงบดุล ณ วันที่ 30/06/2548 โดยดูจากสินทรัพย์ก่อน MATI มีสินทรัพย์ 1,856.11 ล้านบาท ในนั้นเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน (ซึ่งจะแปลงสภาพเป็นเงินสดภายในหนึ่งปี) อยู่ถึง 1,031.10 ล้านบาท คิดเป็น 55.5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด สำหรับการครอบงำกิจการนั้นหมายความว่าถ้า GMMM ใช้เงินกู้ 2,000 ล้านบาทเพื่อซื้อ MATI แล้ว GMMM จะเสมือนว่าได้เงินคืนทันทีจากสินทรัพย์หมุนเวียนของ MATI เป็นมูลค่าครึ่งหนึ่งของเงินกู้ ส่วนจะเป็น “เงินคืนทันที” แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนนั้นของนักการเงินของ GMMM

การมีสินทรัพย์หมุนเวียนเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าเหมาะต่อการครอบงำกิจการครับ เราต้องดูหนี้สินด้วย ปรากฎว่า MATI มีหนี้สินรวมทั้งหนี้สินหมุนเวียนและไม่หมุนเวียนทั้งสิ้น 198.92 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 195.28 ล้านบาท เป็นหนี้สินไม่หมุนเวียนเพียง 3.64 ล้านบาท MATI มีหนี้สินน้อยมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ ในทางการเงินเราจะวิเคราะห์สัดส่วนหลายตัวหลายแบบด้วยกัน ผมคงไม่ยกมากล่าวตรงนี้ แต่งบดุลอย่างนี้สะท้อนว่าบริษัทนี้บริหารการเงินไม่ได้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้างบดุลของครอบครัวไหนเป็นอย่างนี้ถือว่าดีครับ แต่ถ้าเป็นงบดุลของบริษัทแล้วไม่ดี บริษัทจะไม่โต แถมจะถูกครอบงำได้ง่าย

ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะจากงบกำไรขาดทุน MATI มีกำไรสุทธิในรอบหกเดือนที่แล้วเพียง 54.82 ล้านบาทเท่านั้นเอง กำไรแค่นี้ไม่ดีต่อผู้ถือหุ้น ยกเว้นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพราะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ส่วนใหญ่จะมีเงินเดือนประจำกับบริษัท ซึ่งเงินเดือนประจำนั้นจะกลืนหายไปอยู่ในส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่ถ้าเงินเดือนผู้ถือหุ้นรายใหญ่เยอะเกินไปก็เสียคะแนนหลักธรรมาธิบาลอีกเช่นกัน ถือว่าเป็นการผันเงินของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ผมไม่ทราบนะครับว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน MATI มีเงินเดือนเท่าไหร่ ใครเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยของ MATI คงต้องไปหาเอาเอง

เราจะเปรียบเทียบอีกครั้งครับ สำหรับงบดุลของ MATI อย่างนี้นั้น ถ้า GMMM ใช้เงิน 2,000 ล้านบาทซื้อ MATI แล้ว GMMM จะเสมือนได้เงินคืน 1,031.10 ล้านบาท แต่ GMMM จะเสมือนต้องจ่ายหนี้ 198.92 ล้านบาท ดังนั้นเทียบแล้ว GMMM จะต้องใช้เงิน 1,167.82 ล้านบาท แต่ GMMM จะได้สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนมีมูลค่าตามบัญชี 825.02 ล้านบาท หมายความว่าเงินของ GMMM จะอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่ต้องประเมินจากการครอบงำกิจการครั้งนี้เพียง 342.8 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนของ MATI ที่ไม่ได้บันทึกในบัญชีแล้ว ราคาขนาดนี้ถูกมากครับ

เมื่อดูจากงบการเงินแล้ว ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง GMMM หรอกครับ งบการเงินของ MATI อย่างนี้ GMMM คงเปิดตำราครอบงำกิจการแบบอนุรักษ์นิยมตรงไปตรงมาทีเดียว ส่วนทำไมต้องเป็นการครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตรนั้น เรื่องนี้ก็ตรงกับตำราอีกเหมือนกัน กิจการอย่าง MATI ต้องครอบงำอย่างไม่เป็นมิตรเพราะถ้าไปบอกเสียก่อนแล้ว MATI จะรู้ตัวและเริ่มดูแลกิจการของตัวเองทำให้ GMMM ไม่ได้ “ของถูก” อีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ไม่คุ้มกับการครอบงำ

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมต้องเรียนคุณผู้อ่านก่อนว่า การครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตรนั้น เป็นกลไกอย่างหนึ่งของตลาดทุนครับ ไม่ได้มีอะไรผิดกฎหมายแต่อย่างไร ระบบทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่ออกแบบมาให้ดูแลตัวเองได้อัตโนมัติ นักคิดของระบบทุนนิยมถึงกับบอกไว้ว่าระบบทุนนิยมที่ดีนั้นภาครัฐ (หรือภาคไหนๆ) ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ เพราะระบบจะจัดการตัวเองให้อยู่ได้ เปรียบเสมือนมี “มือที่มองไม่เห็น” มาช่วยจัดการให้ นึกถึงหลัก Demand-Supply ที่เราเคยเรียนกันมา เมื่อคนปลูกทุเรียนเยอะ ทุเรียนก็ราคาถูกลง เมื่อบริหารธุรกิจจนมีงบการเงินเหมือน MATI ก็ย่อมตกเป็นเป้าของการครอบงำกิจการเป็นธรรมดาครับ

MATI เป็นสื่อมวลชน แต่ MATI ก็เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้ากลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก MATI ก็ต้องหานักการเงินมาดูแลธุรกิจให้เข้ารูปเข้ารอยเสียหน่อย เงินสดพันกว่าล้านนี่ทำอะไรเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าให้แก่บริษัทได้เยอะแยะมากมาย อาทิเช่น รายการโทรทัศน์หรือวิทยุ เครือข่ายร้านหนังสือของตัวเอง หนังสือพิมพ์หัวใหม่ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือถ้านึกไม่ออกก็ปันผลออกไปเสีย แต่ถ้า MATI ต้องการบริหารแบบบริษัทครอบครัวก็ควรออกจากตลาดฯ ไปเป็นบริษัทจำกัดธรรมดาอย่างไทยรัฐหรือเดลินิวส์ก็ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร ที่จริงแล้วผมเห็นคนประท้วงเรื่องครอบงำสื่อครั้งนี้มากมาย แต่ไม่เห็นมีใครบอกให้ MATI ออกจากตลาดฯ เลยสักคน ทำให้เริ่มสงสัยว่ามีใครสั่งให้คนประท้วงควรประท้วงเรื่องอะไรและไม่ควรประท้วงเรื่องอะไรหรือเปล่า มีใครสงสัยเหมือนผมสงสัยบ้างไหมครับ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสงสัยกว่าว่าทำไมไม่มีนักประท้วงคนไหนเดือดร้อน นั่นคือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีนักลงทุนที่ใช้ “บริษัทตัวแทน” (Nominee) จากอเมริกาบ้างจากสิงค์โปร์บ้าง ถือหุ้นมากมายกระจายไปหลายบริษัท ผมเคยเขียนว่าในประเทศไทยมีคนรวยกว่านายกทักษิณเสียอีก ผมเขียนได้ก็เกิดจากการสังเกตการถือหุ้นของบริษัทตัวแทนเหล่านี้นั่นเองครับ มีอะไรน่าสงสัยอยู่เยอะเหมือนกัน ถ้าคุณสังเกตการถือหุ้นของ Nominee ประกอบกับการเคลื่อนไหวของหุ้นเหล่านี้ในอดีตในหลายๆ รัฐบาลคุณก็จะเริ่มสงสัยอย่างที่ผมสงสัย แต่ถ้าคุณจะให้ผมบอกว่าผมสงสัยอะไรบ้างนั้น ผมคงบอกไม่ได้ครับ ผมเลิกสงสัยไปแล้วด้วย แค่นี้ก็หาเรื่องใส่ตัวมากพอแล้ว ต่อจากนี้ผมจะเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับการเลี้ยงแมวแล้วครับ

หมายเลขบันทึก: 4573เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2005 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สิ่งที่อาจารย์เขียนไว้ตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจดิฉันหลายอย่าง เป็นต้นว่า

  • ถ้าบริษัทฯ บางบริษัท ไม่ประสงค์จะระดมทุนมหาศาล (ด้วยการขายหุ้นตัวเองออกไป แทนที่จะไปกู้แบงค์) ด้วยวิธีเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ครั้นมีคนประสงค์จะซื้อหุ้นจำนวนมากจนอาจกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ แล้วบริษัทฯ นั้นจะเข้าตลาดฯ ทำไม? ทำไมไม่ออกหุ้นกู้? ทำไมไม่ตั้งสหกรณ์แทน?
  • และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทที่จะซื้อหุ้นนั้น ผิดตรงไหน ในเมื่อบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ย่อมเข้าใจกติกาของการอยู่ในตลาดว่า หุ้นของเรามันพร้อมจะเป็นหุ้นของทุกคนได้ตลอดเวลา โดย "ทุกคน" นั้นมันอาจจะเป็นแค่ "บุคคล หรือ นิติบุคคล เดียว" ก็ได้ ไม่จำเพาะจะต้องเป็น "ประชาชน 60 ล้านคน - คนละ 1 หุ้นหรอกค่ะ"
  • ทำไมตลาดไม่มีกลไกที่เป็นบรรทัดฐานชัดเจนว่า บริษัทที่อยู่ในตลาด ถ้าไม่ต้องการให้มีการ trade บริษัทนั้นๆ ก็ไม่สมควรจะ qualify เพื่อเป็นสินค้าหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์อีกต่อไป (เพราะตลาดจะเป็นอะไรล่ะคะ ถ้ามีแต่หุ้นที่เจ้าของบริษัทไม่อยากขายคนอื่น)
  • ประเด็นของ MCOT เมื่อเทียบกับ MATI และ POST ทำไมมันจึงเป็น double standard ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
  • และหรือ "สื่อสารมวลชน" เขามีวรรณะ มีชนชั้นที่แบ่งด้วยใยบางๆ จนคนนอกอาชีพมองไม่เห็น "สื่อทีวี" ย่อมไม่ใช่ "สื่อหนังสือพิมพ์" ซึ่งอาจจะแปลเป็นนัยๆ ได้ว่า "พวกเอ็ง ไม่ใช่ พวกข้า" เมื่อ POST, MATI มีปัญหา พวกสื่อหนังสือพิมพ์ก็ประโคมข่าว แต่ครั้ง MCOT ถึงคราว, สื่อโทรทัศน์ไม่สามารถช่วยกันและกันได้ แปลกแต่จริงมีให้เห็น
  • ขอยืมคำกล่าวของคุณสมา แห่งรายการถอดรหัส มาไว้ ณ ตรงนี้ว่า "สังคมไทย เป็นสังคมที่ใช้ความรู้สึกมากเกินไป ถ้าใช้แค่เพียงความรู้ ไม่ต้องมีสึก มันก็จะทำให้มองเห็นปัญหา และจะเห็นทางแก้ปัญหาได้"
  • ถ้ารักสัตว์ ว่าจะไปเป็นแมวให้อาจารย์เขียนถึงค่ะ
  • หากไม่เคยรู้มาก่อนว่า อ.ธวัชชัย เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์และเป็นผู้คิดค้นG2K แล้วหล่ะก็ คงจะต้องนึกว่าอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน-บัญชีแน่นอนค่ะ
  • อาจารย์เขียนบันทึกให้คนที่ไม่เข้าใจงบการเงินและการวิเคราะห์งบการเงินให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ เยี่ยมยอดค่ะ
  • คนที่รวยที่สุดในโลกในขณะนี้ เค้ารู้เรื่องทั้งคอมพิวเตอร์และการเงิน-บัญชีด้วยนะค่ะ ^_^

เอ๋ ใช่องค์กรที่มีชื่ออยู่ในเพลงฮิตล่าสุดของวง อพาร์เมนต์คุณป้า รึเปล่าครับ ? :P

ทุกอย่างเกิดขึ้น  ตั้งอยู และดับไป เป็นธรรมดาค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท