เรียนรู้ถิ่นเก่า เรื่องเล่าวังท่าพระ


เรียนรู้ถิ่นเก่า เรื่องเล่าวังท่าพระ

วังท่าพระ กับความประทับใจของฉัน

     สรรพชีวิตต่างล้วนมีการเริ่มต้น ดำเนินชีวิต และดำรงวงศ์เผ่า แตกลูกแตกหลาน สืบไป
    ความสูญเสียแห่งสรรพชีวิตหนึ่ง ยังไม่อาจให้สรรพชีวิตอื่นนั้น เสื่อมสลายไปด้วยได้....
    ศิลปะคือความงามแห่งสรรพชีวิต คือบทเรียนอันสวยงามแห่งธรรมชาติ วิถีชีวิต และการดำเนินชีวิต อันเป็นความงดงามที่ธรรมชาติบันดาลดลให้
   ศิลปะจึงมีอยู่ทุกอณูแห่งสรรพชีวิต ยังความเป็นธรรมชาติ และคงความเป็นธรรมชาติด้วยศิลปะที่ยืนยาวไว้
    และยังให้เราคำนึงถึงห้วงแห่งความจริงที่ว่า "ชีวิตสั้น" นั่นคือ วัฏจักรที่วนเวียนด้วยการเกิด แก่ เจ็บ และตาย
   ห้วงเวลาแห่งห้วงชีวิตที่แสนสั้นดั่งภาพวาดแต่งแต้มระบายสี ให้เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ นั่นคือ "บทเรียนของศิลปะแห่งชีวิต"

    เรื่องที่ฉันจะเล่านี้ เป็นมุมมองหนึ่งต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร อันเป็นสถานที่ทำงานที่แรกของฉัน หากจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาคร่าวๆ ศิลปากรนี้กำเนิดในรัชกาลที่ 7 ราว พ.ศ. 2476 1. เดิมชื่อโรงเรียนปราณีตศิลปกรรมต่อมาได้รวมเอา โรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ ด้วยแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนศิลปากร และยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2486 5. ซึ่งถือเป็นเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร และได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงาน และสดุดีผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 อีก 2 ปีที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งศิลปะและวิทยาการที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว
    แต่เมื่อเอ่ยถึงมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วนั้น แม้กระทั่งในปัจจุบัน เมื่อพูดถึง "ศิลปากร" หลายคนมักนึกถึง การฟ้อน ร่ายรำ การแสดงต่างๆ อันเป็นศิลปะการแสดงของไทย ก็เข้าใจมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นคือ มหาวิทยาลัยกรมศิลปากร
  หลายครั้ง เมื่อถามว่า ทำงานที่ไหน เมื่อบอกว่ามาจากศิลปากร หลายคนมักจะถามด้วยคำถามตามมาว่า "ไหนลองรำให้ดูหน่อยสิ"  เป็นอย่างนี้เสียทุกครั้ง ซึ่งโดยความจริงแล้วนั้น มหาวิทยาลัยได้เป็นแหล่งรวมของศิลป์และศาสตร์ในหลากหลายแขนงด้วยกัน
  มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันมีวิทยาเขต อยู่ 3 วิทยาเขตซึ่งฉันจะเริ่มเล่าจากวิทยาเขตแรกนั่นคือ วิทยาเขตวังท่าพระ 2.
    วังท่าพระนี้ เดิมเรียกว่า "วังล่าง" ตั้งอยู่ข้างพระบรมมหาราชวัง ริมถนนหน้าพระลาน  เดิมในรัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐานที่ วัดสุทัศน์ เมื่อพระพุทธรูปมาถึงประตูท่าช้างปรากฏว่าอัญเชิญเข้ามาไม่ได้เนื่องจากองค์พระนั้นมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะนำผ่านเข้ามาได้ จึงจำเป็นต้องรื้อทั้งประตูถอนทั้งกำแพงออก จึงได้เรียกขานอดีตท่าเรือนี้แทนว่าท่าพระ วังที่อยู่ใกล้กันนั้นจึงเรียกตามว่า วังท่าพระ
     วังท่าพระ ยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หลายพระองค์ อาทิประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์3. ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดงานวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทย
    นอกจากนั้น วังท่าพระเป็นสถานที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์4. ผู้ทรงเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดงานวันนริศเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมระลึกถึง"สมเด็จครู"  ซึ่งพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ โดยผลงานสำคัญของท่านได้แก่ การออกแบบก่อสร้างวัดเบญจมบพิตร ออกแบบตรากระทรวงต่างๆ, อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1,พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และทรงออกแบบพระเมรุมาศ และพระเมรุของพระบรมวงศ์หลายพระองค์ นอกจากนั้น ทรงพระนิพนธ์คำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และพระนิพนธ์เพลงเขมรไทรโยค ด้วยพระกรณียกิจที่นับเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ในปีพ.ศ. 2506 อีกด้วย
    และเมื่อวันที่ 1-13 กันยายน พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดงาน"วังท่าพระ ศูนย์กลางของช่างสิปป์หมู่ 200 ปี" ในโอกาสที่ครบรอบ 200ปี วังท่าพระ และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เคยประทับ ณ วังท่าพระ ตลอดระยะเวลา 200 ปี นับตั้งแต่พ.ศ.2352-2553

ความประทับใจเมื่อไป วังท่าพระ
    ฉันกล่าวได้ว่า ตัวฉันเองมีความประทับใจที่ได้เข้ารับราชการทำงานในรั้วในวังท่าพระ ในปี พ.ศ. 2544 หรือราว 10 ปีมาแล้ว เมื่อย่ำเท้าก้าวสู่ความโอ่อ่าและงดงามของสถาปัตยกรรมสิ่งแรกที่สัมผัสถึงกลิ่นอายที่เรียกว่า "อยู่ในรั้วในวัง" นั่นคือ กำแพงวังท่าพระ ที่ก่ออิฐถือปูนสีขาวมีใบเสมาประกอบ อยู่ฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง กำแพงวังนี้ ฉันว่ามันมีมนต์ขลังดียิ่งนัก เพราะเหมือนกับทำให้เรารู้สึกว่าอยู่ในรั้วในวัง ครั้งพอเดินต่อไปจะพบกับ อาคารหลังคาทรงไทยตั้งตระหง่านที่แห่งนี้ เราเรียกว่า ท้องพระโรง เดิมเป็นท้องพระโรงในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งได้ชำรุดผุผังไปตามกาลเวลา และมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทำการบูรณะใหม่โดยยึดเอาตามแบบดั้งเดิมไว้ ปัจจุบันท้องพระโรงแห่งนี้ เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการในระดับประเทศหลายงานด้วยกัน และเป็นที่ตั้งของหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย
ถัดไปด้านหลังหอศิลป์ จะเห็นอาคารเก่าตั้งอยู่ 2 หลังติดกัน ได้แก่ ตำหนักกลาง และตำหนักพรรณราย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสถาปัตยกรรมในตอนต้นสมัยรัชกาลที่ 5 อาคารพรรณรายนี้เคยเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อีกด้วย
  หากจะนั่งพักเหนื่อย บริเวณด้านข้างตำหนักพรรณราย จะเห็นเป็นสวนหย่อม มีต้นจัน ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยปลูกอยู่ และแวดล้อมด้วยต้นแก้ว ซึ่งส่งกลิ่นหอม เป็นที่ชื่นอกชื่นใจแก่ผู้ผ่านไปมา นอกจากนั้น ยังมี ศาลเจ้าแม่เฮงหลุย เป็นศาลที่เคารพของนักศึกษา แม้กระทั่ง ตัวฉันเอง สมัยก่อนที่ไปอยู่แรกเริ่มนั้น หัวหน้าของฉัน ต้องพาฉันไปไหว้ศาลเจ้าแม่เฮงหลุยก่อนเพื่อขอพรให้ประสบความสำเร็จ ราบรื่นด้วยดี 
  วังท่าพระจึงเป็นสถานที่ฉันประทับใจและเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานของฉัน ที่ผูกพันยาวนานกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งนอกจากจะใช้ชีวิตในการทำงานแล้ว วังท่าพระยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของฉัน เป็นสถานที่ออกกำลังกาย เป็นสถานที่ให้ทั้งความบันเทิง สาระความรู้ ทั้งกิจกรรมและการแสดง และบริเวณรอบยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ ของประเทศ อาทิ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ท้องสนามหลวง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น
  ในปัจจุบัน วังท่าพระเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน คณะวิชาของมหาวิทยาลัยศิลปากร อาทิ คณะจิตรกรรมประติมาและภาพพิมพ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะโบราณคดี คณะมัณฑนศิลป์ หอสมุดสาขาวังท่าพระ สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร กองบริการการศึกษา กองกิจการนักศึกษา สโมสรนักศึกษา ศูนย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งหากจะมองในแง่มุมของการเติบโตของจำนวนนักศึกษาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากบริเวณพื้นที่ในวังท่าพระคับแคบมาก ไม่สามารถจะขยายพื้นที่ออกไปได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้ขยายเขตการศึกษาไปยังพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม 5. และวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ซึ่งจะขอเล่าในครั้งต่อไปครับ    

แหล่งอ้างอิง

  1.  วิกิมีเดีย สารานุกรมเสรี. 2554. มหาวิทยาลัยศิลปากร (Online).
        http://th.wikipedia.org/wiki/มหาวิทยาลัยศิลปากร, 18 สิงหาคม 2554.
  2. วิกิมีเดีย สารานุกรมเสรี. 2553. วังท่าพระ (Online).
        http://th.wikipedia.org/wiki/วังท่าพระ, 18 สิงหาคม 2554.
  3. วิกิมีเดีย สารานุกรมเสรี. 2554. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (Online).
        http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, 18 สิงหาคม 2554.
  4. วิกิมีเดีย สารานุกรมเสรี. 2554. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (Online).
        http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, 18 สิงหาคม 2554.
  5. มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2545. ประวัติมหาวิทยาลัยศิลปากร (online).
       http://www.su.ac.th/html_about/about_background.asp, 18 สิงหาคม 2554.
หมายเลขบันทึก: 454757เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ได้แวะชมนิทรรศการผลงานอาจารย์และนักศึกษาเป็นประจำ

ได้รื่นรมย์กับธรรมชาติอันสงบ ทั้งได้ชื่นชมศิลปะทุกแขนง

ยินดีด้วยนะคะ...ขอร่วมประทับใจด้วยคน

ขอบพระคุณ คุณแจ๋วมากครับ Ico48 

  • ศิลปะกับธรรมชาติ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กัน และศิลปะกับธรรมะเองก็เกิดมาคู่กันเช่นกันครับ การเข้าถึงธรรมชาติ ทำให้มองเห็นธรรมะ และการเข้าถึงธรรมะ แท้จริงทำให้เราเข้าใจความเป็นธรรมชาติมากขึ้น
  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท