อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลกกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


“เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตได้”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

        อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก

กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                    (เรียบเรียงและเพิ่มเติมจากข้อคิดเห็นของนายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ในการประชุมของคณะกรรมการ 

        เตรียมงานประชุมประจำปี 2554  ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของศรษฐกิจพอเพียง(มพพ.) 

                   เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฏาคม 2554 ณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) 

 

                ในขณะนี้โลกและประเทศไทยกำลังประสบสิ่งที่เรียกว่า “อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก”  ซึ่งอภิมหาอันตรายดังกล่าวสามารถสรุปได้ 3 ประเด็นดังนี้

                1 การมีประชากรหนาแน่นเกินไป เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีประชากรไม่ถึง 20 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีถึง 67 ล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรมีจำนวนเท่าเดิม คือ ที่ดินมีเท่าเดิม แต่ ป่าและน้ำจืด กลับมีจำนวนน้อยลงหรือสร้างปัญหามากขึ้น ในขณะที่ทั้งดิน น้ำ ป่า ทะเล  อากาศ  สิ่งแวดล้อม  ถูกทำลายและทำให้เสื่อมโทรมไปเยอะมากและสั่งสมมากขึ้น ๆ มาตลอด  แต่จำนวนคนกลับเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จึงเป็นเหตุขั้นพื้นฐานให้เกิด กรณีวังน้ำเขียว กรณีการขุดแร่ตะกั่ว  แร่ลิกไนต์  ที่ทำร้ายประชาชนให้ล้มตายและเป็นโรคกันมาก   ตลอดจนกรณี มาบตาพุด เป็นต้น  สาเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะความหนาแน่นของประชากร ทำให้ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ช่วงชิงทรัพยากร นำทรัพยากรมาใช้มากขึ้น ๆ เป็นผลให้ทรัพยากรหมดไปเหลือน้อยลง ๆ เกิดเป็นความขาดแคลนซึ่งบางกรณีถึงขั้นวิกฤติ หรือทรัพยากรถูกทำให้เสื่อมโทรมจนเป็นอันตราย หรือเป็นผลเสียต่อประชากรจำนวนมากขึ้น ๆ  และมีความรุนแรงมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ  รวมถึงการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ปรากฏมากขึ้น ๆ ทั้งโดยธรรมชาติและอันเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์  เรื่องประชากรหนาแน่นเกินไปกับผลที่ตามมานั้นไม่ได้เป็นสถานการณ์เฉพาะในประเทศไทย  แต่

เป็นสถานการณ์และเป็นแนวโน้มร่วมกันทั้งโลก  ทำให้ทั้งโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตซึ่งนับวันจะรุนแรงมากขึ้น  ๆ  หากไม่ได้รับการแก้ไขร่วมกันโดยประชากรของโลก ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลากว่าจะแก้ไขได้สำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

                2  วัตถุนิยมบริโภคนิยมมากเกินไป  วัตถุนิยมเป็นกระแสโลกที่ทำให้เรามุ่งสะสมความร่ำรวย สะสมวัตถุต่าง ๆ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นอะไร แต่ในขณะเดียวกัน เรายังมีความยากจน ความอดอยาก การขาดอาหารอยู่ในประเทศไทยและในโลก โดยประชากรของโลกประมาณ 1,000 ล้านคน ยังมีอาหารไม่พอรับประทาน  ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะประชากรที่รวยที่สุด 20 %  บริโภคถึง 55 % ของการบริโภคทั้งหมด  และคนที่จนที่สุด 20% บริโภคประมาณ 4 % นี่เป็นปัญหาที่ไปซ้ำเติมเพิ่มพูนปัญหาอันเกิดจากการที่เรามีประชากรหนาแน่นเกินไป ทำให้คนที่เก่งมีความสามารถที่จะครอบครอง ช่วงชิงเพื่อให้บริโภคได้มากกว่า  ทั้งโดยวิธีการที่ถูกกฏหมายและโดยวิธีการที่ผิดกฏหมายหรือไม่ชอบธรรม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง  ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ มากขึ้น ๆ บางกรณีนำไปสู่ความรุนแรง รวมถึงการใช้อาวุธประหัตประหารทำร้ายกัน ทำให้สังคมทั้งในประเทศและในโลกเกิดความแตกแยกและขาดความสันติสุขอย่างกว้างขวาง

                3  คุณธรรมความดีน้อยเกินไป ด้วยสาเหตุมาจาก 2 ข้อแรก ถ้าของมีมากพอสำหรับทุกคน ก็จะไม่เกิดการแย่งชิงกันเท่าไร  สมัยก่อนการแย่งชิงทรัพยากรมีน้อย เพราะมีทรัพยากรมากพอ  มาปัจจุบันทรัพยากรเหลือน้อย แถมถูกทำให้เสื่อมโทรม บวกกับวัตถุนิยมบริโภคนิยมมากเกินขอบเขต ทำให้ต้องแก่งแย่งแข่งขันต่อสู้แย่งชิงกันมากขึ้น ผู้คนนำลักษณะนิสัยส่วนที่ไม่ดีในจิตใจออกใช้ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความเกลียด  ความเห็นผิดเป็นชอบ ความยึดถือตัวตน ความเห็นแก่ตัว ความมีทิฏฐิมานะ และความไม่ดีอื่น ๆ  แต่ส่วนที่เป็นคุณธรรมความดี  ซึ่งเป็นพื้นฐานอยู่ในทุกคน ได้แก่  ความรัก ความเป็นมิตร  ความมีเมตตาไมตรี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรักความยุติธรรม การมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว  ความมีกตัญญูรู้คุณ ความรู้จักพอดีพอประมาณ  เป็นต้น  กลับถูกลดทอนความสำคัญ ไม่ถูกนำออกมาใช้ ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมากพอ คุณธรรมความดีในตัวคนและในสังคมจึงเสียดุลมากขึ้น ๆ เมื่อเทียบกับความไม่ดี

                จาก “อภิมหาอันตราย”  ของสังคมไทยและสังคมโลกนี้ ยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะช่วยได้คือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสกับท่านองคมนตรี น.พ.เกษม วัฒนชัย และผู้เข้าเฝ้าฯอื่น ๆ จำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 ว่า  “เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตได้  ถ้าเราคิดในภาพใหญ่แบบนี้เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องสำคัญมากทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม โลก และมนุษยชาติ การที่โลก

 กำลังประสบปัญหาวิกฤตใหญ่ ในรูปมหันตภัยมากมายทั้งทางธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์  ก็เป็นผลมาจากกิจกรรมทำร้ายตัวเองของมนุษย์นั่นเอง  มีบทความในวารสาร The  Economist เรียกยุคปัจจุบันว่าเป็น  Anthropocene - The age of man กล่าวว่าโลกในหมื่นปีที่ผ่านมา เป็นยุคของความมีเสถียรภาพพอสมควร แต่จากนี้ไปจะเป็นยุคที่มนุษย์ครองโลก และมนุษย์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดความเสียสมดุลอย่างแรงในโลก ถ้ามนุษย์ไม่แก้ไขมนุษย์จะต้องรับกรรม โดยมีการทำนายกันว่าภายใน 10 ถึง 20 ปี  หรืออย่างน้อยภายในศตวรรษนี้  จะมีอันตรายร้ายแรงประเภทน้ำทะเลเอ่อท่วมพื้นที่ต่าง ๆ ในโลกอย่างกว้างขวาง เป็นต้น

                ฉะนั้น “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  ถ้าคิดให้กว้าง คิดให้ไกล ไม่ไปเข้มงวดกับความหมาย แต่เอาหัวใจของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน การใช้คุณธรรมความดี และการใช้ความรู้ความสามารถอย่างรอบคอบระมัดระวังและเหมาะสม  ถ้าใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในความหมายเช่นนี้ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นยุทธศาสตร์และแผนงานในระดับประเทศและระดับโลก รวมทั้งทำให้เป็นขบวนการทางสังคม (Social Movement)  ที่ทุกฝ่ายในสังคมรวมถึงฝ่ายการเมือง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและชุมชน ตลอดจนนักการศาสนา นักวิชาการ นักวิชาชีพ ศิลปิน ฯลฯ  มาร่วมกันขับเคลื่อน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”โดยอาจดัดแปลง รูปแบบ การบวนการ วิธีการ ฯลฯ ให้เหมาะกับบริบทและสถานการณ์ในแต่ละกรณีด้วยก็ได้ เชื่อได้ว่าจะสามารถช่วยบรรเทาและแก้ปัญหา “อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก”  ได้แม้จะต้องใช้เวลาและความมานะพยายามอย่างยิ่งยวด เนื่องจากเป็นปัญหาที่มนุษย์ ประเทศ และโลก ได้ปล่อยปละละเลยให้ปัญหาสั่งสมมาเป็นเวลานานนับศตวรรษแล้ว

                ในการดำเนินการส่งเสริมขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหน่วยจัดการที่สำคัญ 2 ระดับที่ควรพิจารณา คือ :-

  1. ระดับฐานราก ซึ่งประกอบด้วย ท้องถิ่นและองค์กร คนในชนบทที่อยู่ในท้องถิ่น มีปฏิสัมพันธ์ มีการจัดการ เช่น มีการจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการท้องถิ่น องค์กรชุมชน อบต. เทศบาล อบจ. ซึ่งเป็นหน่วยจัดการที่เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง คลุมทั่วประเทศ แต่ยังมีประชาชนอีกประมาณ 50% ที่อาจจะไม่ผูกพันกับท้องถิ่นมากนัก  แต่ผูกพันกับองค์กรที่เขาทำงานด้วย คือ คนที่ทำงานในโรงงาน ในสถานประกอบการ  ในหน่วยงานของรัฐ ในหน่วยงานภาคประชาสังคม  องค์การมหาชน มูลนิธิ สมาคมต่าง  ๆ เป็นต้น เหล่านี้เป็นหน่วยจัดการระดับฐานราก  ซึ่งจำนวนมากได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจไปประยุกต์ใช้และเกิดผลดีอย่างน่าพอใจ
  2. ระดับประเทศทั้งประเทศ เป็นหน่วยจัดการที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าหน่วยจัดการในระดับฐานรากอย่างมาก เพราะต้องรวมถึงสถาบันระดับชาติ องค์กรระดับชาติ เช่น สถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ สถาบันฝ่ายบริหาร สถาบันฝ่ายตุลาการ หน่วยงานของรัฐระดับชาติ  หน่วยงานพิเศษต่าง ๆ ที่เป็นหน่วยงานระดับชาติ สถาบันภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่รวมตัวกันเป็นระดับชาติ  สำหรับหน่วยจัดการระดับประเทศทั้งประเทศนี้ การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ชัดเจน ยังไม่หนักแน่น ดังนั้น จะดีที่สุดหากรัฐบาลประกาศว่าจะเป็น “รัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียง” หรือมีการประกาศนโยบายสำคัญว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปทั้งด้านวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ วิธีทำ วัฒนธรรม ระบบ โครงสร้าง กลไก กระบวนการ ฯลฯ  ครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย  ก่อนที่จะพิจารณาไปนำเสนอต่อสหประชาชาติ  ให้พิจารณาประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับโลก เพราะ องค์การสหประชาชาติได้เริ่มเห็นแล้วว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเป็นทางออกของโลกที่กำลังวิกฤต ได้

ดังได้กล่าวแล้วว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องทำให้เป็น  Social Movement   ได้แก่การเป็น “ขบวนการทางสังคม”  ดังนั้นต้องมีอุดมการณ์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และต้องมีตัวชี้วัดเพื่อช่วย  ให้สามารถจัดการขบวนการได้อย่างมีคุณภาพมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย

องค์ประกอบสำคัญในการสร้างขบวนการทางสังคม ประกอบด้วย

  1.  ความรู้ ถ้ามีตัวชี้วัดจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
  2. การสร้างเครือข่าย จะเป็นกลไกช่วยให้เกิดขบวนการที่ขยายและมีพลังเพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
  3. การสื่อสาร  ควรมีการใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย มีคุณภาพและเหมาะสมทั้งภายในขบวนการเองและระหว่างขบวนการกับสังคม
  4. นโยบายสาธารณะ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงการมีนโยบาย กฏหมาย ข้อบังคับ การจัดสรรงบประมาณ ที่ดีและเหมาะสมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
  5. การจัดการ คือ การจัดการขบวนการ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการ ฝ่ายเลขานุการ คณะทำงานและผู้ทรงคุณวุฒิ  ต้องจัดการให้สามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ และยังหมายความรวมถึงการจัดการของทุกหน่วยที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
  6. การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวัดผล ประเมินผล พิจารณาทบทวน หาทางปรับปรุงพัฒนาสร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ นำมาวางแผนและดำเนินการใหม่ ฯลฯ ทำเช่นนี้ให้เป็นวงจรต่อเนื่องไม่รู้จบ  เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ และควรมีการใช้กระบวนการนี้เป็นระยะ ๆ อย่างน้อยปีละครั้ง

 

 

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

16  สิงหาคม 2554

หมายเลขบันทึก: 453867เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2011 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ประชากรมาก ควรใช้การจัดการเข้าช่วย พอแบ่งเบาภาระได้บ้างนะครับ

ปัญหา "ประชากรล้นโลก" เป็นปัญหาระดับโลก เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากหรือแทบแก้ไขไม่ได้เลย เพราะแต่ละคนจะอ้างสิทธิของตัวเองในการมีทายาทสืบทอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางศาสนาที่มีความเชื่อว่ามีลูกมากยิ่งได้บุญมาก การทำหมัน ทำแท้งเป็นบาปมหันต์ ซึ่งจำนวนประชากรโลกที่นับถือศาสนานี้ก็ถือว่ามีเยอะมากเสียด้วย แม้แต่ประเทศเผด็จการทุกประเทศในโลก ก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้มีบุตรได้ อยากมากก็ได้แค่จำกัดจำนวนบุตร ดังนั้นปัจจัยนี้ต้องปล่อยให้มันเป็นไป เป็นปัจจัยที่ถือว่าควบคุมไม่ได้

อีกแนวคิดหนึ่งคือ การยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับความจริงและพฤติกรรมจริงของมนุษย์โลก ซึ่ง "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นหลักปรัชญาที่ถูกเชื่อว่าเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมดนี้ ผมสนับสนุนหลักนี้ด้วยคนครับ

ขอบคุณแง่คิดดีๆจากหนังสือเล่มนี้..ได้นำไปรวมกับบันทึกนี้แล้วค่ะ=>

http://www.gotoknow.org/blog/nongnarts/432424

  • ขอสนับสนุนและถือเป็นประเด็นร่วมสำหรับสะท้อนไปสู่การทำงานและเคลื่อนไหวผ่านการทำงานต่างๆด้วยคนครับอาจารย์
  • ความเป็นประเด็นที่ใหญ่ ลึกซึ้ง เกี่ยวข้องและต้องการศัยความเชื่อมโยงกันของระบบสังคมอันซับซ้อน และเป็นอนาคตอันไกล หากทำเป็นวาระทางสังคมอีกวาระหนึ่ง ในจำนวนหลายๆวาระ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคม การสะท้อนสู่นโยบายและภาคปฏิบัติการของสาธารณะทุกระดับ พร้อมกับการได้สื่อสารเรียนรู้และผุดเป้าหมายใหม่ๆที่มีพลวัตรไปด้วยอยู่เสมอๆ น่าจะดีกว่าการมีเป้าหมายที่ตายตัวล่วงหน้าหรือเปล่านะครับ 

ผมขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคนนะครับท่านอาจารย์ ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าผมเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพราะนี่จะเป็นสิ่งเดียวที่สามารถแก้วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ได้

สำหรับอันตรายสามประการที่ท่านอาจารย์ว่านั้นหากเราทุกคนตระหนักและร่วมมือกันหาทางแก้ไขก็น่าจะสามารถทำได้ครับ

1.การมีประชากรหนาแน่นเกินไป ผมคิดว่าแนวโน้มอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในอนาคตเมื่อถึงจุดหนึ่งจะลดลงได้เองแม้ไม่ได้มีแผนงานรองรับอย่างเป็นระบบก็ตาม เนื่องจากความสามารถในการดำรงชีวิตของประชากรขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรต่อพื้นที่ เมื่อมีความแออัดของประชากรมากเกินไปอัตราการเกิดจะถูกจำกัดโดยตัวของพ่อแม่เองเช่นทุกครอบครัวจำเป็นต้องมีลูกเพียงคนเดียวก็จะทำให้อัตราการขยายตัวลดลงแต่อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นเช่นความสมดุลย์ระหว่างเพศขึ้นมาแทน

2.วัตถุนิยมบริโภคมากเกินไป ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว คนที่ทำอย่างนั้นอยู่ก็ยังคงทำต่อไป วิธีแก้ไขต้องปรับโครงสร้างของสังคมโดยเฉพาะด้านภาษีและกฎหมาย ปัญหาใหญ่ก็คือคนที่มีหน้าที่ในการออกกฎหมายเป็นกลุ่มบริโภคและวัตถุนิยมเสียเอง หากเราสามารถลดความอยากในการสะสมทรัพย์สมบัติเช่นการกำหนดอัตราภาษีเงินได้(ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา)ให้มีรายได้เพียงสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างสุขสบาย สามารถซื้อหาสิ่งของฟุ่มเฟือยได้บ้าง ไม่ใช่กอบโกยได้โดยไม่จำกัดเช่นกำหนดอัตราภาษีก้าวหน้าบุคคลธรรมดาที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเกินกว่า 10 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีที่ร้อยละ 70 (ก่อน 10 ล้านบาทให้คิดอัตราเดิม) และที่เกิน 20 ล้านบาทที่ ร้อยละ 90 ก็จะทำให้คนไม่มีความอยากที่จะสะสมจนเกินไป (จำนวนเงินรายได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม) ภาษีที่ได้ก็นำไปจัดรัฐสวัสดิการให้สังคม ประเทศในแถบยุโรปเหนือก็ทำแบบนี้ไม่ใช่หรือครับ

3.คุณธรรมความดีน้อยเกินไป ในความคิดของผมเป็นเพราะสังคมไทยคาดหวังกับ"ความดี"และ"คุณธรรม"ในรูปแบบมโนคติมากเกินไป

ตัวชี้วัดง่ายๆที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่นระบบการศึกษาที่มีระบบการบริหารจัดการและการวัดผลประเมินผลที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นคนที่เก่งที่สุด ดีที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุดในระดับ "Absolutely" ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีวันได้ผลลัพท์เช่นนั้น

เรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ความดี ความซื่อสัตย์ก็เช่นเดียวกัน สังคมของเราใช้วิธียัดเยียดข้อมูลด้านเดียวให้กัยเด็กตั้งแต่เกิดตลอดมาเช่น นำเสนอแต่สิ่งดีๆตามอุดมคติ ปิดบังสิ่งที่ไม่ดีไม่ให้เกี่ยวข้อง ไม่ให้เห็น ไม่ให้รับรู้ แต่ในความเป็นจริงในสังคมก็เต็มไปด้วยสิ่งเลวร้ายเหล่านี้และวันหนึ่งพวกเขาก็จะได้รู้ได้เห็นรวมถึงอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้นก็ได้

การขาดความสมดุลในการรับรู้ข้อมูลให้ครบทุกด้าน คนในสังคมเมื่อเติบโตมาจึงขาดภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเผชิญกับสิ่งเลวร้ายในสังคมจริงๆ เหมือนคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีน (ซึ่งก็คือเชื้อโรคที่ถูกควบคุม)เมื่อออกมาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคจึงไม่สามารถต้านทานโรคร้ายได้

เราอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณธรรมความดีได้ทั้งหมด หรือทำให้ทุกคนเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่ปัญหาเหล่านี้จะลดลงหากคนในสังคมเลิกสอดใส่ความ "ดัดจริต" ลงสู่สังคมเสียบ้างแล้วปล่อยให้สังคมดำเนินไปด้วยตนเอง สังคมของเราก็จะมีการตรวจสอบและคานอำนาจกันเองจนคนที่ขาดคุณธรรมความดีจะถูกลดทอนและหมดความสำคัญไปในที่สุด

ส่วนเรื่องการรณรงค์สร้างสังคมเศรษฐกิจพอเพียงนั้นอาจจะสำเร็จในบริบทที่จำกัดได้ แต่ถ้าจะให้เป็นไปอย่างทั่วถึงทั้งหมดผมยังมองไม่เห็นทางเพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนศัตรูที่สำคัญที่สุดของระบบทุนนิยมเสรีเนื่องจากหัวใจของระบบนี้คือการกระตุ้นการบริโภค ยิ่งมากยิ่งดี

หากมีคนเข้าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เอาแค่สักหนึ่งในห้าของประเทศแล้วคนเหล่านี้ลดการบริโภคของฟุ่มเฟือยลงมันหมายถึงขนาดของตลาดทุนนิยมในสินค้าฟุ่มเฟือยก็จะลดลงถึงร้อยละ 20 ซึ่งอาจหมายถึงการล้มละลายของธุรกิจจำนวนมากมาย

และก็เป็นที่รู้กันว่าทุกรัฐบาลมีกลุ่มทุนหนุนอยู่ทั้งนั้น..

..พวกเขาคงไม่ยอมกันหรอกครับ

สวัสดีค่ะ

ผู้คนนำลักษณะนิสัยส่วนที่ไม่ดีในจิตใจออกใช้ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความเกลียด  ความเห็นผิดเป็นชอบ ความยึดถือตัวตน ความเห็นแก่ตัว ความมีทิฏฐิมานะ และความไม่ดีอื่น ๆ  แต่ส่วนที่เป็นคุณธรรมความดี  ซึ่งเป็นพื้นฐานอยู่ในทุกคน ได้แก่  ความรัก ความเป็นมิตร  ความมีเมตตาไมตรี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรักความยุติธรรม การมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว  ความมีกตัญญูรู้คุณ ความรู้จักพอดีพอประมาณ  เป็นต้น  กลับถูกลดทอนความสำคัญ ไม่ถูกนำออกมาใช้ ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมากพอ

ในดิฉันมองว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนเรา "เห็นภัยในวัฏฏสงสาร" ค่ะ เพราะเมื่อเห็นภัย จะเห็นว่าการเวียนรับผลการกระทำเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่ว่าในขณะจิต หรือในชาติภพไหน

เมื่อเห็นภัย ก็จะเข้าใกล้คำสอนในศาสนามากขึ้น นำธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึก "พอเพียง" ขึ้นได้

อันโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท