ชีวิตกับการเมือง


ชีวิตกับการเมือง

ชีวิตกับการเมือง

การเมืองคืออะไร

การเมืองคือ การใช้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในสังคมอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

การใช้อำนาจในการจัดสรรคือ อำนาจในการจัดการหรือบริหาร ในทางการเมืองผู้มีอำนาจได้แก่ประชาชน แต่ประชาชนได้มอบอำนาจให้แก่นักการเมือง โดยเลือกตั้งให้ไปใช้อำนาจแทน

ทรัพยากร หมายถึง คน วัสดุสิ่งของ สิ่งมีชีวิต ดิน น้ำ อากาศและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่า

สร้­างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม คือ จุดมุ่งหมายสูงสุดของการใช้อำนาจในการบริหารทรัพยากร

เมื่อพูดถึง การเมือง หลายคนมักจะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากสนใจ ไม่อยากข้องเกี่ยว เพราะ เรามักจะเห็นการเมืองเต็มไปด้วย การทุจริตโกงกิน  การกอบโกยผลประโยชน์  การแย่งชิงตำแหน่ง  การซื้อเสียง  การเล่นพรรคเล่นพวก  การใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ฯลฯ  แต่ถ้าหากพิจารณาให้ดีแล้ว เราจะเห็นว่า สิ่งที่เราเบื่อหน่ายนั้นคือ พฤติกรรมของนักการเมืองบางคนต่างหาก ไม่ใช่ การเมือง

การเมืองคืออะไร?  สำคัญอย่างไร?  ทำไมต้องมีการเมือง?  ไม่มีการเมืองได้ไหม?

     โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม กล่าวคือ มนุษย์มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เนื่องจากมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน  เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ก็ต้องมีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้นว่า อาหาร ทรัพยากรต่างๆ ความมั่นคงปลอดภัย  ฯลฯ จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้

ระบบการจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีร่วมกันของคนไทยในสังคมนี่แหละคือ   การเมือง ลองคิดดูว่า ถ้าเราอยู่คนเดียว เราก็ต้องปลูกข้าวกินเองเลี้ยงสัตว์เอง   ทอผ้าใช้เอง สร้างที่อยู่อาศัยและผลิตยารักษาโรคเอง ซึ่งก็อาจพออยู่ได้ แต่ก็คงลำบากมากที่เดียว การอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกันนี่เอง ที่ทำให้เราอยู่อย่างสุขสบาย

ดังนั้น จึงต้องมี การเมือง ตราบเท่าที่มนุษย์ยังต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม  เมื่อต้องมีการเมือง หนีการเมืองไม่พ้น และการเมืองก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อเราอย่างมาก ฉะนั้นแทนที่เราจะเบื่อการเมือง ไม่สนใจการเมือง เรากลับต้องคิดว่า เราจะทำอย่างไรการเมืองถึงจะดีขึ้น ซึ่งก็คือ เราจะทำอย่างไรกับระบบการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมจึงจะดีขึ้น และเป็นธรรมขึ้น

เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยเรานี้ สามารถผลิตอาหารส่งออก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เนื้อไก่ กุ้ง สับปะรด ยางพารา ฯลฯ เป็นลำดับต้นๆ ของโลก นี่แสดงว่า ประเทศไทย ของเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก แต่ทำไม คนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่กันอย่างลำบากยากจน

ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ระบบการจัดสรรผลประโยชน์ (ความอุดมสมบูรณ์)

หรือการเมืองเรายังไม่ดี และถ้าพวกเรายิ่งไม่สนใจที่จะเข้ามาทำให้ระบบการจัดสรรผลประโยชน์ หรือการเมืองดีขึ้น ถ้าหากเราปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน เราจะต้องมีชีวิตที่ลำบากยากจนอยู่อย่างนี้ตลอดไป ยิ่งไปกว่านั้นการที่เราอยู่ร่วมกันในสังคม เราก็ต้องมีสิ่งสาธารณะต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ถนนหนทาง สนมกีฬา สวนสาธารณะ ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น  ซึ่งเราแต่ละคนอาจจะไม่รวยพอที่จะมีสิ่งเหล่านี้เป็นของเราคนเดียวได้ เราจึงต้องมีการเก็บภาษี เพื่อนำมาสร้างสิ่งสาธารณะต่างๆ ไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ภาษีต่างๆ ที่เก็บจากพวกเรา ได้แก่ ภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ภาษีเงินได้นิติบุคคล  ภาษีเงินได้ที่หักจากดอกเบี้ยเงินฝาก  ภาษีเงินได้จากรางวัลต่างๆ  ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม  ภาษีสรรพสามิตเหล้า บุหรี่  ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ฯลฯ  ภาษีทางอ้อมและภาษีอื่นๆ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม  ภาษีการค้า  ภาษีธุรกิจเฉพาะ  อากรแสตมป์  ภาษีสรรพสามิต  ภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือย  ค่าภาคหลวงแร่  ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม  ภาษีที่เก็บจากทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ  ภาษีสินค้าขาเข้า  ภาษีสินค้าขาอก  ภาษีลักษณะอนุญาต ฯลฯ

เชื่อไหมว่า ภาษีที่รัฐบาลเก็บจากพวกเราไปรวมกับรายได้อื่นของรัฐบาลเป็นงบประมาณแผ่นดิน ปีหนึ่งๆ มีมูลค่ามากกว่า 1,000,000,000,000 (หนึ่งล้านล้านบาท) เงินเหล่านี้เป็นเงินที่เราจ่ายไปเพื่อให้ย้อนกลับมาหาเราในรูปสาธารณะสมบัติและบริการต่างๆ จากรัฐบาล เชื่อได้เลยว่าถ้าเงินเหล่านี้ย้อนกลับมาหาเราครบ พวกเราน่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว 

เราจะได้เรียนฟรี  รักษาพยาบาลฟรี  มีถนน  ประปา  ไฟฟ้า  โทรศัพท์  สวนสาธารณะ  สนามกีฬา  และสวัสดิการต่างๆ ที่ดีและทั่วถึงสำหรับทุกคน

แต่อย่างไรก็ดี ภาษีอากรที่เก็บไปเป็นงบประมาณแผ่นดินนี้ ไม่สามารถย้อนกลับมาหาเราได้เอง จึงจำเป็นต้องมีตัวแทนที่จะทำหน้าที่จัดสรรและบริหารการใช้จ่ายเงินมหาศาลนี้ ซึ่งก็คือรัฐบาล นั่นเอง และถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ก็แสดงว่า การไปใช้สิทธิเลือกตั้งของเรา หมายถึง การมอบอำนาจให้บุคคลกลุ่มหนึ่งไปทำหน้าที่จัดสรรและบริหารการใช้จ่ายเงินของเราปีละหนึ่งล้านล้านบาท และถ้า 4 ปี ก็เท่ากับ 4,000,000,000,000 บาท หรือ สี่ล้านล้านบาท เลยที่เดียว

นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เพียงจัดสรรและบริหารการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลนี้เท่านั้น รัฐบาลยังมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและจัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ที่ดิน แหล่งน้ำ  ป่าไม้  และแร่ธาตุต่างๆ อีกทั้งยังมีอำนาจในการอนมุติ อนุญาต การให้สัมปทานต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อเราอย่างมาก

ถ้าหากเราไม่สนใจการเมือง แล้วปล่อยให้คนทุจริตไปทำหน้าที่ผลประโยชน์ของส่วนรวมก็คงถูกกอบโกยไปโดยคนทุจริตเหล่านี้อย่างแน่นอน

ความเชื่อ (บางประการ) เกี่ยวกับเรื่องการเมืองและประชาธิปไตย

1. ความเชื่อที่  1 

“การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง ประชาชนไม่เกี่ยว”

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่คิดเช่นนี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนไทยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมานาน แต่แท้ที่จริงแล้วการเมืองก็คือ

“การใช้อำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม”

หากเราปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองแต่ฝ่ายเดียว ประชาชนก็คงจะไม่ได้รับผลประโยชน์ต่างๆ เท่าที่ควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม เช่น สาธารณสมบัติ  สาธารณูปโภค  ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น หรือ ผลประโยชน์ที่เป็นนามธรรม เช่น ความยุติธรรม  เสรีภาพ  ความเสมอภาค เป็นต้น

2. ­ความเชื่อที่ 2 

“ไม่อยากสนใจเรื่องการเมือง สนใจเรื่องทำมาหากินดีกว่า”

แท้ที่จริงแล้ว การทำมาหากินของเราจะดีหรือไม่นั้น การเมืองมีอิทธิพลต่อการทำมาหากินและความเป็นอยู่ของเราอย่างมาก หากการเมืองดี ประชาชนเลือกนักการเมืองที่ดีมาบริหารประเทศ เศรษฐกิจก็จะเจริญก้าวหน้า การทำมาหากินก็จะดีขึ้นอย่างมากด้วย

แต่ในทางตรงกันข้าม หากการเมืองไม่ดี ประชาชนเลือกนักการเมืองไม่ดีมาบริหารประเทศ เศรษฐกิจก็จะถดถอย การทำมาหากินของเราก็จะฝืดเคืองอย่างมาก

3. ความเชื่อที่  3 

“เห็นพฤติกรรมนักการเมืองแล้วรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากสนใจการเมือง”

เมื่อพูดถึงนักการเมือง หลายคนรู้สึกเบื่อหน่าย เซ็งการเมืองเพราะนักการเมืองมักมีแต่เรื่องทุจริต  โกงกิน  ขัดแย้ง  ทะเลาะวิวาท

หากพิจารณาให้ดีแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงพฤติกรรมของนักการเมืองบางคนเท่านั้น  ไม่ใช่การเมือง

      สิ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเมือง ยิ่งเราไม่สนใจการเมือง การเมืองก็จะไม่มีวันดีขึ้นและเราเองนั่นแหละที่ต้องได้รับผลกระทบ แม้จะหนีไปอยู่ประเทศอื่น ก็ต้องได้รับกระทบจากการเมืองของประเทศอื่นอยู่ดี

      ดังนั้น แทนที่เราจะเบื่อการเมือง ไม่สนใจการเมือง เรากลับจะต้องศึกษาและติดตามการเมืองอย่างจริงจัง  หากพิจารณาให้ดี นักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้ ก็ล้วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั่นเอง

      ถ้าไม่อยากให้นักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้เข้าไปก่อความเดือดร้อน ทุจริตคดโกง เราก็ควรที่จะสกัดกั้นไม่ให้คนเหล่านี้เข้าไปมีอำนาจได้  ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ปัญหาความทุจริตของระบบการเมือง

     ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยของเรากำลังประสบปัญหาการทุจริตอย่างรุนแรง เนื่องจากคนไทยมีค่านิยมใฝ่บริโภคมากขึ้น จึงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มุ่งหน้าแสวงหาความร่ำรวยด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมเข้ามาเล่นการเมืองเพื่อแสวหาอำนาจ และผลประโยชน์มากกว่าที่จะทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นได้ว่า การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปเลือกนายกรัฐมนตรี  และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อควบคุม บังคับบัญชาข้าราชการให้ทำงานรับใช้ประชาชน

แต่ความเป็นจริงในปัจจุบัน ประชาชนเลือกคนไม่ดีไม่มีคุณภาพไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวนมาก ซึ่งส่งผลทำให้ไปสนับสนุนคนไม่ดีไม่มีความสามารถมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วไปแต่งตั้งคนไม่ดีไม่มีความสามารถเป็นรัฐมนตรีอีก ทำให้แทนที่จะควบคุมบังคับบัญชาให้ข้าราชการทำงานรับใช้ประชาชน กลับร่วมมือกับข้าราชการกอบโกยผลประโยชน์จากประชาชน

      เมื่อเป็นเช่นนี้ จุดสำคัญของปัญหาการเมืองไทย จึงอยู่ที่การใช้สิทธิ  เลือกตั้งของประชาชน และเป็นที่น่าสงสัยว่า เหตุใดประชาชนจึงเลือกคนไม่ดีไม่มีความสามารถไปเป็นตัวแทนของตน ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ประชาชนมักจะใช้ความรู้สึกในการรับรู้เรื่องการเมืองมากกว่าที่จะใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ จึงทำให้ประชาชนเบื่อการเมือง ไม่สนใจการเมือง เมื่อไม่สนใจการเมืองก็ย่อมไม่มีความรู้ เป็นต้นว่าไม่รู้ว่าการเมืองมีความสำคัญอย่างไร ไม่รู้กติกาการเมือง ไม่รู้พฤติกรรมของนักการเมือง

      ดังนั้นเมื่อประชาชนไม่มีความรู้ เวลาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ก็เลือกอย่างไม่มีวิจารณญาณที่ดี หรือเลือกเพราะอามิสสินจ้าง จึงทำให้ได้คนไม่ดีเข้าไปมีอำนาจ คนเหล่านี้จึงเข้าไปทุจริตขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ เมื่อประชาชนทราบก็มักจะเบื่อการเมืองอีก และวนเวียนอยู่เช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เมื่อประชาชนขายเสียง ก็จะทำให้คนดีมีความสามารถไม่ได้รับเลือกตั้ง และจะเกิดผลร้ายตามมาในระยะยาวคือ จะไม่มีคนดีมีความสามารถมาสมัครรับเลือกตั้งอีกเลย ก็ยิ่งจะทำให้ประชาชนหมดหวังและเบื่อหน่ายการเมืองมากยิ่งขึ้นไปอีก ประชาชนก็ยิ่งไม่สนใจ ไม่มีความรู้ และเลือกตั้งอย่างไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป

ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ได้อำนาจสูงสุดปกครองประเทศ อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของประชาชน ดังนั้น ประชาชนนี่แหละที่จะทำให้ประเทศดีขึ้นหรือแย่ลง ดังที่ท่านพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต)ได้กล่าว   ไว้ว่า

“ตามปกติคุณภาพของการปกครองนั้น ย่อมขึ้นต่อคุณภาพของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ในเมื่อประชาชนมาเป็นผู้ปกครอง ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพแค่ไหนก็อยู่ที่คุณภาพของประชาชร… ประชาชนมีคุณภาพดีประชาธิปไตยก็มีคุณภาพดีด้วย ถ้าประชาชนมีคุณภาพต่ำ ประชาธิปไตยก็จะเป็นประชาธิปไตยอย่างเลวด้วย เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน”

หลักการประชาธิปไตย

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ

การปกครองระบอบประชาธิปไตย ยึดหลักการสำคัญ 6 ประการ คือ

1. หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชน หมายความว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของปวงชน การปกครองต้องเป็นของประชาชน และเพื่อประชาชน โดยประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมโดยวิธีการต่างๆ เช่น การเลือกตั้ง การแสดงความคิดเห็น การแสดงความต้องการ การแสดงประชามติ การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หรือมีส่วนในการถอดถอนหรือโดยวิธีอื่นๆ ที่กำหนดไว้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน

2. หลักเสียงข้างมาก แต่คุ้มครองสิทธิเสียงข้างน้อย หมายความว่า การตัดสินใจนโยบายสำคัญ ยึดถือเสียงข้างมากของส่วนใหญ่เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ก็คุ้มครองสิทธิของเสียงข้างน้อยด้วย

3. หลักการปกครองโดยกฎหมาย หมายความว่า อำนาจการปกครองและสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองโดยที่ทุกคนได้รับความยุติธรรมภายใต้กฎหมายเดียวกัน หรือเสมอภาคกันในกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเท่าๆ กัน

4. หลักสิทธิและเสีภาพ คือ ประชาชนได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา และปฏิบัติพิธีกรรมในขอบเขตของศาสนา โดยไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นๆ

5. หลักความเท่าเทียมกัน ถือว่ามนุษย์เกิดมาด้วยความเท่าเทียมกันในทุกโอกาส ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกเพศ ผิว ภาษา ศาสนา ชนชั้น เรียกว่า ไม่ลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชัง

6. หลักเหตุผล คือ ฟังเหตุผลของกันและกัน เคารพความคิดเห็นคนอื่น

 

อำนาจอธิปไตย

อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ลักษณะการใช้อำนาจอธิปไตย

1.  ใช้อำนาจโดยตรงตามสิทธิ – กลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

2.  ใช้อำนาจโดยตรงร่วมกับผู้อื่นในรูปแบบต่างๆ

3.  ใช้อำนาจโดยอ้อม โดยผ่านตัวแทน เพื่อไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร/ตรวจสอบการบริหาร

 

หมายเลขบันทึก: 451952เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2011 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท