"เคยรักกันแล้วก็รักกันอีก"...บันทึกรักจาก note taker ตาโกโก R2R ฉากที่ ๓


ต่อจากตอนที่แล้วในฉากที่ ๒...

ช่วงที่สองหลังพักเบรกเรียบร้อยแล้ว อ. กะปุ๋มก็ชักชวนให้ทุกคนเข้ามาร่วมเสวนาต่อ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้เข้าฟังไปร่วมกิจกรรมในภาคบ่ายของวันพรุ่งนี้ ณ ห้องนำเสนอจูปีเตอร์ 6 7 ของอาจารย์สมบูรณ์ด้วย

อยู่ๆ อ.กะปุ๋มก็พูดขึ้นว่า “ด้านหลังใช่ ดร.โชคมั้ยคะ...ฮะๆๆ...” ทุกคนในห้องก็ปรบมือรับ ดร.โชค จึงได้ร่วม ลปรร.ที่ไมล์กลางห้องตามประสาคนคอเดียวกัน “...เดี๋ยวจะพาชาวกาฬสินธิ์ ไปเยี่ยมพี่คำผิวที่ป่าติ้ว...ฮะๆๆ...” และเริ่มการเสวนาต่อไปด้วยพี่หน่อย: ศุภลักษณ์ ธนธรรมสถิต จากศูนย์อนามัยที่ 7 จ.อุบลราชธานี

 

พี่หน่อยกล่าวสวัสดีและเล่าเรื่องราวเส้นทางการทำ R2R  ของตนเองที่ยาวนานพอสมควร ซึ่งย้อนถึงอดีตที่ผ่านมาหลังจากที่ได้ฟังอาจารย์หมอโกมาตรบรรยาย  จากการที่ได้มีการบันทึกเรื่องราวทำให้เห็นสิ่งที่พี่โอได้ทำใน GotoKnow รวมทั้ง อ.กะปุ๋มด้วยที่เมื่อท่านเดินทางไปที่ไหนก็ได้บันทึกไว้  แล้วจึงได้ย้อนคิดในงานของตนเอง เส้นทาง R2R  เป็นตัวแทนของศูนย์ฯซึ่งไม่ได้เป็นการทำเพียงคนเดียว  แต่เป็นการทำงานร่วมกันโดยได้รับการเกื้อหนุนจากผู้บริหาร ซึ่งตนเองเป็นผู้รับผิดชอบงานพัฒนาบุคลากร  มีกระบวนการทำงานในการดูแลภารกิจให้ทุกคนขับเคลื่อนงานของตนเองได้อย่างมีความสุขในงานที่แต่ละคนรับผิดชอบให้ดีที่สุด  ในส่วนนี้ทีมก็จะมีน้องๆรับผิดชอบงานบุคลากร และตนเองเป็นพีให้การดูแลน้องๆ  มีหัวหน้ากลุ่มที่ซึ่งเป็นพี่ใหญ่  สำหรับตัวเองเป็นเสมือนพี่คนกลาง มีน้อง ที่คอยดูแล  คอยสอนงาน แนะนำให้เติบโตขึ้น คอยใส่ปุ๋ยให้งอกงาม ซึ่งน้องๆถือเป็นกำลังสำคัญและเป็นอนาคตของศูนย์อนามัย

การย้อนรอยเส้นทาง R2R ของศูนย์อนามัยที่ 7 โดยมีพี่หน่อยเป็นคุณอำนวยนั้น เริ่มจากการลองผิดลองถูก ตั้งแต่การคิดงานอย่างเป็นระบบและความพยายามเริ่มแทรก R2R เข้ามาในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 เริ่มมีในงานวิชาการซึ่งได้รับงบประมาณจากในกรมฯ ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนโดยคนในองค์กรเริ่มพูดถึง R2R มากขึ้นและเริ่มมีผลงานมากขึ้นตามลำดับ

ปี พ.ศ. 2552-2553 มีการเรียนรู้เรื่องการทำระเบียบวิจัยและเชื่อมโยงคณะกรรมการพัฒนาวิชาการกรมอนามัย ซึ่งเป็นนโยบายของผู้อำนวยการศูนย์ฯ และท่านผู้อำนวยการได้พูดถึงการทำ R2R มาโดยตลอด พยายามผลักดันให้ R2R เป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาองค์กรโดยให้พัฒนางานคนละ 1 เรื่อง

ในปีที่ผ่านมา มีน้องได้นำเสนอผลงานวิจัย ได้ลงนำเสนอในเอกสาร   จากการได้ลงไปขับเคลื่อนในหน่วยงาน  ทำให้เห็นว่าทุกตำแหน่งทุกระดับก็สามารถทำได้  เหมือนพี่คำผิวที่ทำ R2R ในหน่วยงานสนับสนุนมากขึ้นและทำได้จริงจากการพัฒนากระบวนงาน 

นอกจากนี้พี่หน่อยยังเล่าถึงน้องกระป๋อง ซึ่งรับผิดชอบงานอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ได้สร้างนวัตกรรมส้วมลอยน้ำ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อมีการสู้รบ  ช่วยพัฒนาหลายเวอร์ชั่นเพื่อลดต้นทุนลง  หลังการเข้าร่วมงานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของการทำงานประจำสู่การวิจัยทำให้เกิดแรงหนุนให้มีการพัฒนางานต่อยอดเกิดพลัง ครั้งนี้มาร่วมงานนี้ทั้งหมด 9 คน การได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแบบนี้ รับฟังถือเป็นโอกาสที่ดีให้มาดูงานทำให้เกิดพลัง

หลังจากเล่าความเป็นมาในเส้นทางการทำ R2R ของศูนย์อนามัยฯมายาวพอสมควรแล้ว พี่หน่อยก็บอกเล่าถึงสถาณการณ์ในปัจจุบันว่า ปี พ.ศ. 2554 นี้เป็นก้าวต่อมาที่มีขบวนการขับเคลื่อนจนกระทั่ง  “หาเพื่อนจนเจอ” ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์อนามัยฯมีการขับเคลื่อนจึงทำให้มีการพูดถึง R2R มากขึ้น  และมีหลายหน่วยงานจนกระทั่งได้จัดตั้งเป็นเครือข่าย  มีการทำหนังสือเชิญประชุมเครือข่าย R2R จากโรงพยาบาลศูนย์ เป็นการเรียนรู้การทำงานทั้งภายนอกและภายในองค์กร  พี่หน่อยบอกว่าท่านจะเดินทางไปร่วมประชุมเสมอเท่าที่สามารถไปได้ถือเป็นโอกาสที่ต้องรีบไขว่ขว้าโดยเร็วที่สุดและทำให้ได้พบกับดร.กะปุ๋ม  จึงได้ขอเชิญท่านมาเป็นวิทยากรทันที “พอไปประชุมก็เจอกับผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่ง...ใช่เลย อ.กะปุ๋ม gotoknow...ก็ปิ้งเลยนี่ล่ะ ผู้หญิงที่จะเป็นวิทยากร...” และได้เริ่มมีการเรียนรู้ขบวนการวิจัยอย่างมีความสุข ในทุกหน่วยงานทุกระดับในศูนย์ฯ “อ.กะปุ๋มน่ะ ชอบนั่งพื้น...ความจริงวันนี้น่าจะนั่งพื้นนะคะ...ฮะๆ...ทุกคนทุกระดับ ลงมานั่งพื้นจะเสมอกัน ทำให้กล้าเปิดความคิด...” พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า “เราจะเดินทางไปเรื่อยๆ...”

พี่หน่อยพูดจบลง บรรยากาศในห้องที่เคยเงียบอยู่ดีๆก็กลายเป็นเสียงปรบมือกึกก้องขึ้นมาแทนที่...[สงสัยแฟนคลับจะมาให้กำลังใจกันเยอะ]

            อ.กะปุ๋มกล่าวเสริมถึงการพัฒนางานที่ศูนย์อนามัยฯว่า ไปครั้งใดมีแต่ความสุขและรอยยิ้ม โดยเฉพาะคนหน่วยสนับสนุน   สามารถลุกขึ้นมาทำ R2R ได้ เช่น น้องที่อยู่สนาม สังเกตว่าจอกแหนในสระลดลงแสดงว่า ปลาเริ่มโต   

ในที่สุดวิทยากรท่านสุดท้ายที่ อ.กะปุ๋ม ให้เล่าเรื่องราวการทำ R2R ก็คือ คุณอดิเรก: อดิเรก เร่งมานะวงศ์ คุณอดิเรกเล่าว่า ก่อนที่ได้มารู้จัก R2R ท่านก็ทำงานแบบ GO-DAY-DAY (ไปวันวัน) เนื่องจากวิทยากรแต่ละท่านที่ผ่านมาพูดได้ดี จึงอยากให้ผู้ฟังทุกคนได้อะไรจากตัวท่านบ้าง ว่าแล้วท่านก็นำเสนอผ่านจอแสดงผลด้านข้างเวทีด้วยรูปแบบของไฟล์ powerpoint

คุณอดิเรกเริ่มเกริ่นถอยเวลาไปเมื่อครั้งสมัยเรียนที่วิทยาลัยการสาธารณสุข  กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อเห็นเกสรดอกชมพู  สีแดงๆที่หล่นลงพื้นอยู่หลังห้องพักจึงได้ฉุกคิดว่า “เราเองก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้” นับเป็นที่มาของการทำงาน R2R เมื่อเริ่มบรรจุทำงานใหม่ๆ ได้เห็นการนำเสนอของพี่ๆเครือข่ายนครชัยบุรินทร์ ก็นึกอยากขึ้นเวทีบ้าง “...เกิดมาเพราะความอยาก แต่พี่หมออ้อบอกว่ารักเหนือรักทำแบบไม่ต้องการสิ่งตอบแทน แต่ผมเริ่มต้นด้วยความอยาก ตอนนั้นผู้ชนะเลิศจะได้ไปเกาหลี ผมคอซีรี่เกาหลี...ฮะๆๆ ใครเป็นคอซีรี่เกาหลีเหมือนผมบ้าง...ฮะๆ...” ทำให้ต่อมฮาของผู้ฟังระเบิดออกมาเพราะมุกคอหนังซีรี่เกาหลีของคุณอดิเรก...ฮาๆๆ

กลับมาที่หน้าจอนำเสนอ เนื้อหา...

            รอยเท้าเล็กๆ ของผม...จุดเริ่มต้น...หมออนามัย  ความรัก ( เล็กๆ ของผม เป็นสิ่งเดียว ที่ทำให้โลกเคลื่อนไหว

            จุดเปลี่ยนเส้นทางเดินของผม  ขอให้ความโง่ ทุก ครั้งทำให้ผมฉลาดขึ้น  ผมเกิดพร้อมความไม่รู้

            สิ่งที่...ครูเป็น....ครูทำ...สำคัญกว่าสิ่งที่ครูสอน

            คุณอดิเรกเล่าว่า “ผมเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้จริงๆ...ตั้งคำถามกับตัวเองว่าผมทำอะไรให้ชาวบ้านได้บ้าง ผมตอบว่า ไม่รู้...” ช่วงนั้นท่านเจอกับมรสุมชีวิต รวมทั้งมรสุมเกี่ยวกับเรื่องความรักด้วย...ท่านจึงได้ตัดสินใจไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาโท ซึ่งท่านได้พบกับครูดีๆมากมายที่หมายรวมถึงครูที่ไม่ใช่ตัวคนแต่เป็นตัวหนังสือหรือสื่อทางอินเตอร์เนท เช่น youtube

 

            ผมได้ยินสิ่งที่แม่ให้พรอันวิเศษ 

            ขอให้ลูกมีโอกาสได้ทำดีตลอดชีวิต

            ขอให้ลูกได้ให้กำลังใจแด่ผู้อื่น

            และขออย่าให้ลูกหมดกำลังใจ

            คุณอดิเรกเล่าถึงมารดาของท่านว่า “...แม่ผมไม่ได้เรียนหนังสือ...เหมือนพุ่มพวง...แม่สนับสนุน ขอให้เราทำดี...อย่าหมดกำลังใจ...”

 

            เสียงกระซิบจากหมู่บ้าน ทุกคนคือครูและสิ่งมหัศจรรย์ต่อชีวิตผม

            ทุกคนมีความคิดและความเชื่อของตัวเอง

            R2R แบบสามัญชน...ของชาวบ้านผม คือ ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องมี “ใบปริญญา”

            มีเหตุผลที่เหตุผลไม่รู้จัก คือ ง่าย...คือ...งาม

คุณอดิเรกบอกว่า ท่านเป็นหมออนามัยทำทุกอย่าง ทั้งเลี้ยงหมู ดำนา ฯลฯ และพบเจอกับปัญหาทางสังคมมากมาย และไม่วายที่จะมีมุกตลกภาษาอิสานคั่นให้ต่อมฮาของผู้ฟังแตกอีกรอบ “ทุกคนถือว่าเป็นครูของผม ไม่ใช่ คู...คันนา...นะ ฮะๆๆ...”

            จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับชาวบ้านนั้น ท่านบอกว่าชาวบ้านจะมีความคิด ความเชื่อของเขา ท่านโชคดีที่ได้เห็นการทำ R2R โดยธรรมชาติแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านในหมู่บ้าน เช่น การที่คุณตาท่านเอากระป๋องมาทำเป็นรางน้ำรองน้ำฝน ส่วนของการทำงานร่วมกับ อสม.นั้นก็ได้มีการประกวดนวัตกรรมของ อสม.เช่น นวตกรรมที่นวดเท้าด้วยไม้ไผ่

 

    R2R แรงงานอ้อยกับการดื่มสุรากรณีศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน (รางวัลดีเด่น ครั้งที่ 2)

            R2Rภาวะสุขภาพและการรับบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ภาคผลิต เกษตรกรรม (2553) (รางวัล R2R ดีเด่น ครั้งที่ 3)

            รางวัลแรก...ขอให้ได้ทำดีทุกวัน

            รางวัลมากมาย...แต่...ว่างเปล่า  (ภาพโล่ รางวัลเต็มตู้)           

            R2R วิถีชีวิตผลกระทบด้านสุขภาพและสิทธิแรงงานนอกระบบกรณีศึกษาแรงงานทอผ้าขิดที่หมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ   ความแตกต่างคือความงาม

            R2R การดูแลสุขภาพวิถีพุทธ กรณีศึกษา ปู่สอนกล้าศึก The man Who Planted Trees (2555)

            “ผมก็จบปริญญาโท...ทำไมยังไม่มีความคิด...” ท่านได้เห็นปัญหาในสังคมมากมายแต่ไม่รู้ว่าจะแก้ยังงัย จึงคิดว่าน่าจะทำ R2R เพื่อแก้ไขปัญหา [พร้อมกับแทรกขำขันประมาณว่ามุกยกตนข่มท่าน] “ผมจบปริญญาโทด้วยงานวิจัยเชิงปริมาณ...เบ๋ย...ฮะๆๆ”

            ที่อำเภอภูเขียว มีป่าอ้อย มีโรงงานน้ำตาล ท่านได้เห็นวิถีชีวิตของแรงงานอ้อยทุกวัน แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร ในที่สุดจึงตั้งตัวตั้งใจได้ว่าจะศึกษาโดยทำวิจัยเรื่องแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรากรณีศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ท่านสังเกตสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมของแรงงานอ้อยว่า หน้าโรงงานมีทั้งคาราโอเกะ มีซ่องด้วย เก็บข้อมูลจากการสังเกตและการสนทนากลุ่มเท่าที่ทำได้ และนำเสนอให้ชุมชนดู ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับรางวัล ทำให้ได้พบกับอาจารย์หมอโกมาตรและชวนให้มาทำงานอยู่ที่กอง บก.ของวารสารสุขศาลา แต่ท่านไม่สะดวกในการมาอยู่ในกรุงเทพฯ

            นอกจากนี้ท่านเล่าว่าได้ทำการวิจัยภาวะสุขภาพและการรับบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ภาคผลิต เกษตรกรรมในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7 คน ด้วยความซับซ้อนทำให้ต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลถึงหมู่บ้านตับเต่า ที่ประเทศลาว เป็นการทำวิจัยร่วมกับประเทศลาวด้วยความสนุกมาก งานชิ้นนี้ทำให้ท่านหลุดพ้นจากความกลัว “การเกิดเป็นมนุษย์มันน่าจะไร้พรมแดน...ครั้งหนึ่งผมขึ้นเวทีกับ อ.ประเวศ วะสี...สอนเหมือนแม่เราเลยเนอะ...”

            คุณอดิเรกได้รับรางวัลจากการงานวิจัยหลายเรื่องมาก แต่ท่านบอกว่าในใจท่านกลับว่างเปล่า “...เคยรู้สึกมั้ย...นั่งท่ามกลางคนเยอะๆ...แต่ใจเรากลับว่างเปล่า...ทางออกของผม คือกลับมาที่ทางเข้าใหม่ ทบทวนคำสอนแม่...ทำเพื่อความรัก...ก็ทำ...”

            ท่านเล่าถึงถิ่นฐานที่ท่านอยู่ว่า ตำบลโนนเสลา มี 3 สิ่งมหัศจรรย์ คือ 1) แห่นาคโหด 2) ขิดชัยภูมิ และ 3) The man who planted trees คือปู่สอน ผู้ปลูกป่ามาแล้ว 5 แสนกว่าต้น ไม่จำเป็นต้องจบปริญญา ก็เป็นปราชญ์ชาวบ้านได้

 

บันทึกแรก : Happiness R2R Power FA มาเป็นหนุ่มเชียร์ R2R ใน GotoKnow

            เพราะรัก...รักผู้อื่น...ทำให้ท่านตัดสินใจมาเขียน gotoknow blog “ความสุขของหมออนามัย” ใช้นามแฝงว่า “ทิมดาบ” นอกจากนี้ก็ยังมี blog สำหรับให้ อสม. ได้แชร์ (share) กัน เช่น เข้าไปดูว่ามีการฉีดวัคซีนวันไหนบ้าง ไปๆมาๆ ก็มีแฟนคลับอยากขอสัมภาษณ์ปู่สอน “ผมก็เลยตั้งตัวเป็นผู้จัดการส่วนตัวของปู่สอน...ฮะๆๆ...” คุณอดิเรกปล่อยฮาอีกแล้ว

 

ให้ความสุขเดินทางมาเจอกัน...

ท่านได้เดินสายทำแผนที่ SRM แล้วก็จัดค่ายเด็กๆเกี่ยวกับเรื่องความคิด...เป็นการแบ่งปันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด “ผมเริ่มเข้าใจว่า...มันก็เท่านั้น...” ท่านบอกว่าสิ่งที่โลกทำให้อยู่ ก็คือการสร้างสมดุล ความฝันเปรียบเสมือนไอน้ำ ความหวังดุจก้อนเมฆ และความจริงคือสายฝน

 

อ้อมกอดที่กอดโลก...

คุณอดิเรกให้ข้อคิดชีวิตมากมายแก่ผู้ฟัง...ท่านบอกว่า คนเรานั้นมีแง่ดีงามเสมอ หลายสิ่งที่คนอื่นมี เราอาจจะไม่มี หรือหลายสิ่งที่คนอื่นไม่มี เราก็อาจจะมีก็ได้และฝากเคล็ดลับในการทำ R2R ไว้ 3 อย่างคือ 1) ค้นหาสิ่งที่เรารัก เราทำแล้วสนุก 2) เติมเอกลักษณ์ลงไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และ 3) แบ่งปันความสุขให้กันและกัน

“เราคนเล็กๆแต่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เหมือนผมทำอยู่ตอนนี้...R2R ทำให้เราเข้าใจโลก ผมหลงรักR2R..."

 

เมื่อคุณอดิเรกเล่าเรื่องราวของท่านจบลงทุกคนในห้องประชุมก็ปรบมือให้เป็นกำลังใจ...อ.กะปุ๋มพูดคุยกับผู้ฟังที่นั่งอยู่ในห้องประชุม ซึ่งมีจำนวนบางตาลง คนที่อยู่มีใจ คือคนที่เห็นคุณค่า สำหรับคนที่ไม่อยู่นั้น ไม่ใช่ไม่มีใจแต่ว่ายังก้าวไม่พ้นบางอย่าง...การทำ R2R ไม่มีใครสั่ง แต่เราบอกไม่ได้ว่าทำไมต้องทำ...ไม่รู้...แล้วหันไปคุยกับพี่คำผิวซึ่งเสริมมาว่า...การทำ R2R นั้นมันอยู่ในเนื้อในตัว ในสายเลือดของตนไปแล้ว [พูดไป...พี่คำผิวก็ยิ้มไป]

โปรดติดตามตอนสุดท้ายในฉากที่ ๔...


หมายเลขบันทึก: 451257เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2011 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
กะป๋อง ศูนย์อนามัยที่ 7 อุบล

ถูกพาดพิงครับ ก็ดีใจครับที่พี่หน่อย ผู้ที่ผลักดันน้อง ๆ ให้เรียนรู้การทำ R2R แล้วให้นำเสนอให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย ได้กล่าวถึง ก็ดีครับ ได้เรียนรู้การทำวิจัยในอีกรูปแบบหนึ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท