พิพิธภัณฑฺท้องถิ่นบ้านนาอ้อ


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจวัดศรีจันทร์

              พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ  วัดศรีจันทร์  บ้านนาอ้อ  ตำบลนาอ้อ  อำเภอเมือง  จังหวัดเลย  เดิมตำบลนาอ้อมีเขตการปกครองไปถึงตำบลศรีสองรัก  เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น พ.ศ.2530  จึงได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2  ตำบล คือ ตำบลศรีสองรักปัจจุบัน  และเทศบาลตำบลนาอ้อ  นาอ้อเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี ผู้คนสืบเชื้อสายมาจากเวียงจันทน์และหลวงพระบาง  เดิมเรียกบ้าน  “หนองวังขอน”  เพราะมีหนองน้ำขนาดใหญ่  และมีขอนไม้อยู่กลางหนองน้ำ  ต่อมาราวปี 2226  ชาวบ้านไดอพยพลงมาทางใต้  ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์  คืออยู่ในบริเวณรอบๆ หนองอ้อ ชาวบ้านจึงเรียก “บ้านนาอ้อ” และได้ตั้งวัดศรีจันทร์ขึ้นเป็นวัดแรก ผู้เฒ่าผู้แก่ของบ้านนาอ้อเล่าว่า  ในครั้งนั้น  ได้นิมนต์เจ้าหัวพ่อเมืองขวา  และเจ้าหัวพ่อรางคำ  ชาวมุกดาหารที่จาริกธุดงค์เข้ามาในบ้านนาอ้อ  พร้อมกับหีบหนังสือใบลานติดตัวมาเป็นจำนวนมาก  เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์  วัดศรีจันทร์จึงเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการทำกิจกรรมทางศาสนา  รวมถึงการเรียนหนังสือของพระภิกษุสามเณรของวัดด้วย  หลังปี 2464  นับตั้งแต่ พระราชบัญญัติประถมศึกษามีผลบังคับทั่วประเทศ  ให้เรียนภาษาไทยกลางเป็นหลัก  บรรดาวัดต่างๆ ได้หันมาสอนอ่านและเขียนภาษาไทยกลางขึ้น  รวมถึงวัดศรีจันทร์ที่เจ้าครูวิจารณ์สังฆกิจ  หรือพระครูพา  เจ้าอาวาสในขณะนั้น

              พระครูวิจารณ์สังฆกิจ (พ.ศ.2522)  เป็นคนบ้านปากหมาก  ตำบลนาอ้อ  อำเภอเมือง  จังหวัดเลย  โดยกำเนิด  มีความรู้แตกฉานในวิชาความรู้หลายสาขา  ทั้งภาษาขอม  ลาว  และอักษรไทยกลาง  ทั้งยังมีพรสวรรค์ในการวาดภาพสัตว์  เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2457  และรั้งตำแหน่งเจ้าคณะเมืองเลย  ท่านถือว่าเป็นพระนักพัฒนาคนสำคัญของบ้านนาอ้อในยุคนั้น  ทั้งยังสร้างศาลาการเปรียญ  ซ่อมแซมโบสถ์  สร้างพระประธาน  สร้างเจดีย์องค์ใหญ่  เข้มงวดในระเบียบวินัยสงฆ์ ริเริ่มตั้งโรงเรียนวัดสอนภาษาไทยกลาง ชาวบ้านจึงต่างเคารพและศรัทธาท่านเป็นอันมากอุปนัยคุณูปการนานับการที่ท่านสร้างให้กับบ้านนาอ้อ  เมื่อทางบ้านนาอ้อภายใต้การสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย  กรมศิลปากร  สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ  ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นที่วัดศรีจันทร์  จึงได้อัญเชิญนามของท่านมาตั้งเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์  เพื่อเป็นอนุสรณ์นึกถึงคุณงามความดีของท่าน  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้กุฏิเดิมของพระครูวิจารณ์สังฆกิจเป็นอาคารจัดแสดง  สถาปัตยกรรมของอาคารเป็นแบบเรือนพื้นถิ่นของจังหวัดเลย  เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว  ใต้ถุนสูง  การจัดแสดงภายในแบ่งเป็นสองส่วนหลัก  คือ  ห้องหนึ่งประดิษฐานรูปหล่อของท่านพระครูวิจารณ์สังฆกิจ  เครื่องอัฐบริขาร  ภาพถ่าย  และประวัติของท่าน  พระพุทธรูปเก่าโบราณ  คัมภีร์ใบลานและสมุดไทย  พื้นที่ด้านหน้าติดกับห้องแรก  จัดแสดงตู้พระธรรม  รางรดน้ำรูปนาค  ตรงกลางรางแกะสลักเป็นนักหัสดีลิงค์  อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องโถงกลาง  จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน  ตรงกลางห้องมีหุ่นคุณตา  คุณยาย  นั่งอยู่บนแคร่กำลังเหลาตอกสานหวด  รายล้อมไปด้วยตู้ไม้ที่เก็บข้าวของ  เครื่องใช้ที่มีผู้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์  อาทิเช่น  เงินโบราณ  เครื่องมือจับสัตว์  เครื่องมือทอผ้าพื้นบ้าน (ซิ่นหมี่)  เครื่องดนตรีหมอลำไทเลย  บุ่มใส่ผ้า(เครื่องจักรสาน) เตารีด  ตาชั่ง  ตะเกียง  เครื่องปั้นดินเผา  ถาดใส่อาหารสังกะสี  ชามตราไก่  ผนังด้านหนึ่งของห้องจัดแสดง  “วีรกรรมบ้านนาอ้อ”  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านนาอ้อ ในสมัยรัชกาลที่ 5  ยุคล่าอาณานิคม  เมื่อบ้านนาอ้อถูกใช้เป็นสถานที่พักของทัพฝรั่งเศสที่จะยกมาตีเมืองเลย  โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดศรีจันทร์เป็นกองบัญชาการและเกลี้ยกล่อมชาวบ้านนาอ้อให้มาร่วมด้วย  แต่ไม่มีชาวบ้านคนใดร่วมมือด้วย  จนเมื่อกองกำลังของราชการไทยยกเข้ามาตี  ชาวบ้านนาอ้อเข้าร่วมมือลุกฮือขึ้นต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส  จนฝรั่งเศสพ่ายไปในที่สุด  ปัจจุบันยังหลงเหลือหลักฐานปรากฏมาจนทุกวันนี้ คือ ที่เขี่ยบุหรี่ทองเหลืองของฝรั่งเศส  ซึ่งจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์  และส้วมฝรั่งเศสจำนวน 2  ห้อง  ในบริเวณวัดศรีจันทร์

                จากการศึกษาประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ  วัดศรีจันทร์  บ้านนาอ้อ  ตำบลนาอ้อ  อำเภอเมือง  จังหวัดเลย  พบว่า  พิพิภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ  วัดศรีจันทร์  มีชื่อตามป้ายที่ติดไว้หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ว่า  “พิพิธภัณฑ์ประภัศร์จันทโชติ วัดศรีจันทร์  อนุสรณ์วิจารณ์สังฆกิจ”  วิจารณ์สังฆกิจเป็นการเรียกด้วยความเคารพศรัทธาที่มีต่อพระครูวิจารณ์สังฆกิจ  เจ้าอาวาสนักพัฒนา  ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ  ตั้งอยู่ภายในวัดศรีจันทร์  เลขที่  83  หมู่ที่ 1  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้  มาจัดเสนอในรูปแบบของวัฒนธรรมพื้นบ้าน  โดยแยกจัดเป็นหมวดหมู่  ดังนี้

                1.  ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนา  ได้แก่  นิทรรศการบุญข้าวจี่  ประเพณีประทายข้าวเปลือก  ประเพณีสงกรานต์  ประเพณีบุญบั้งไฟ  หีบพระธรรม  หนังสือผูกใบลาน  เครื่องอัฐบริขาร  พระพุทธรูปเก่า

                2.  ด้านภาษาและวรรณกรรม  จัดแสดงตู้พระธรรม  วรรณกรรมใบลาน  และสมุดไทย

                3.  ด้านศิลปกรรมและโบราณคดี  ประกอบด้วย  เครื่องจักรสาน  รางรดน้ำรูปนาคตรงกลางรางแกะสลักเป็นนกหัสดีลิงค์  เรือนไทเลย

                4.  ด้านกีฬาและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ  จัดแสดงการแสดงและการละเล่นพื้นบ้าน  ในเทศกาลงานประเพณีต่างๆ  เครื่องดนตรีหมอลำไทเลย  เครื่องดนตรีพื้นบ้าน

                5.  ด้านวิถีชีวิตและภูมิปัญญา  ได้แก่  เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร  เครื่องมือจับสัตว์  เครื่องมือทอผ้า   ผ้าทอพื้นบ้าน(ซิ่นหมี่)  เงินโบราณ  บุ่มใส่ผ้า  เตารีด  ตาชั่ง  ตะเกียง  เครื่องปั้นดินเผา  ถาดใส่อาหารสังกะสี  ชามตราไก่

                พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ  ได้รับการสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย  กรมศิลปากร  สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ  ตลอดจนคณะกรรมการวัดศรีจันทร์และชาวบ้านทุกคน  โดยมีการตั้งสภาวัฒนธรรมขึ้นมาบริหารงานโดย  นางจันทะนี   คะมาดา  ประธานสภาวัฒนธรรมหญิงคนแรกของตำบลนาอ้อ  และยังมีคณะกรรมการร่วมทำงานอีกรวม 17  คน  ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำชุมชนและกรรมการวัด  พิพิธภัณฑ์วิจารณ์สังฆกิจมีเจ้าอาวาสวัดดูแลอย่างใกล้ชิด  คือ  ท่านอธิการสนธ์   ปภัสโล  เจ้าคณะตำบลนาอ้อได้มีการพัฒนาและดูแลการสนับสนุน  รักษากระทั่งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่สมบูรณ์แบบ  จนกลายเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของนักเรียน  นักศึกษา  นักท่องเที่ยว  ผู้สนใจ  ตลอดจนนักอนุรักษ์วัฒนธรรม  ได้อย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์  เป็นโบราณสถานที่ชาวนาอ้อภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

                พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ  เป็นแบบอย่างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น  เนื่องจากในสภาพปัจจุบัน  บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  มีการประดิษฐ์วัตถุใหม่ๆ ขึ้นใช้แทนของเดิม  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ  เป็นเหตุให้เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  และวัตถุพื้นบ้านต่างๆ  อันเป็นงานฝีมือที่ผลิตขึ้นใช้เองตามท้องถิ่น  เริ่มหมดไปโดยมิได้คาดคิดว่าของพื้นบ้านเหล่านั้นหาได้มีประโยชน์เพียงเพื่อใช้สอยอย่างเดียวเท่านั้น  หากมีคุณค่าในงานฝีมือซึ่งเป็นศิลปะด้วย  ทั้งผลิตขึ้นในยามว่างเสียเงิน  เสียทองแต่อย่างใด  เป็นการดำรงชีพอย่างพึ่งพาตนเอง  เครื่องจักรสานที่ทำขึ้นจากหวายและไม้ไผ่  ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น  หากมีเหลือใช้ก็ส่งไปจำหน่ายในท้องตลาด  เป็นผลผลิตของท้องถิ่น  แต่เมื่อมีการผลิตพลาสติกขึ้นได้เองในประเทศ  ก็มีโรงงานผลิต  ตะกร้า  กระมุง  กระชอน  ฝาชี  และถังน้ำพลาสติก  มีสีสันฉูดฉาด  ส่งออกมาขายในเมือง  และแพร่หลายไปตามชนบท ผลก็คือชาวบ้านพากันหันมาใช้สิ่งของที่ทำจากพลาสติกกันมากขึ้น  ชุมชนเลิกผลิตและเลิกใช้ของพื้นบ้านเดิมของตนเอง  ความรู้เรื่องของการจักรสานก็ค่อยๆ  เจือจางไปเพราะไม่มีผู้สนใจเรียนและต่างถ่ายทอดสืบต่อ  การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของคนชนบทเป็นอย่างมาก

                ในทางวัฒนธรรมถือเป็นการสลายตัวของศิลปะและคุณค่าความสำคัญของท้องถิ่น  ส่วนทางเศรษฐกิจเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการที่ชาวบ้าน  ซึ่งเป็นผู้ผลิตกลายมาเป็นผู้ซื้อหาไปจากเมือง  ทำให้สิ้นเปลืองรายได้อย่างไม่สมควร  ผลที่ตามมาก็คือ  สังคมชนบทนับวันจะเสียความเป็นอิสระในการดำรงอยู่  กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเมือง  ต้องพึ่งพาเมืองในหลายๆ ด้าน  และเงินทองก็กลายเป็นสิ่งสำคัญเหนือความสัมพันธ์ที่เคยเป็นกันเอง  และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  อันเป็นวิถีชีวิตแต่เดิมของท้องถิ่น  มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในที่สุด  ดังนั้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ  วัดศรีจันทร์  บ้านนาอ้อ  ตำบลนาอ้อ  อำเภอเมือง จังหวัดเลยขึ้น  จึงเป็นการสื่อความหมายของคุณค่าในการมีวิถีชีวิตธรรมดาแบบพื้นบ้านตลอดจนช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การศึกษานอกระบบในการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านได้อย่างกว้างขวาง  และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

**************************************** 

                                 บรรณานุกรม

            ชูศรี     สุจารักษ์.ความคิดเห็นของผู้ปกครอง ครู และ นักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แบบมีส่วนร่วม. 2547.เชียงใหม่:บัณฑิตศึกษา ปริญญาศึกษาสาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสอนสังคมศึกษา มหาวิทยาลัย เชียงใหม่.

           ประกิจ   จันตะเคียน.ภาษากับวัฒนธรรม.2534. บุรีรัมย์:วิทยาลัยครูบุรีรัมย์.

           ประสิทธิ์    กาพย์กลอน และ นิพนธ์    อินสิน.ภาษากับวัฒนธรรม.2530.กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช.

           ศิราพร  ณ ถลาง และ สุกัญญา ภัทราชัย.คติชนกับคนไทย – ไท.2542.กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

           สมนึก   พลซา.เล้าเข้ากับวิถีชีวิตชุมชน : กรณีศึกษาบ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย.2546.เลย:บัณฑิตศึกษา ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

            หน่วยศึกษานิเทศก์กรมสามัญศึกษา.แนวทางส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม.2540.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา

หมายเลขบันทึก: 450295เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นายพรชัย อรุณชาติ ครูชำนาญการพิเศษ

ได้ดูประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ประภัศร์จันทโชติ จังหวัดเลย รู้สึกเหมือนย้อนเข้าไปในประวัติศาสตร์ เนื่องจากว่าเป็นการเก็บรักษาสิ่งของต่าง ๆตลอดจนสิ่งก่อสร้าง บรรยากาศใกล้เคียงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง อาคารสร้างด้วยไม้เก่ามีอายุกว่า ๕๐ ปี รู้สึกชอบมาก คิดถึงอาคารเหล่านี้เนื่องจากถูกรื้อถอนออกไปมาก สร้างอาคารสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งดีที่น่าสนใจและควรค่าแก่การอนุรักษ์ ถ้ามีโอกาสไปจังหวัดนี้ ต้องมาให้ได้ เพราะชอบมากๆ อยากให้ลงรูปถ่ายบรรยากาศภายในให้ได้ชมบ้าง จะเป็นพระคุณยิ่ง

วัตถุมงคลเหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่จัดสร้างขึ้นมาในปีไหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท