“กรรมสิทธิ์ที่ดิน” : การแก้ปัญหาของสังคมไทยในระบอบเสรีนิยมสมัยใหม่


ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553, กรรมสิทธิ์ที่ดิน, การถือครองที่ดิน

1 ตุลาคม 2553
แรงบันดาลใจอยากศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องที่ดินซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องที่ทำกินของเกษตรกรและผู้ยากไร้ด้อยโอกาส จนกระทั่งรัฐบาลได้มีนโยบายในการ  ”ออกโฉนดชุมชน” ออกมาเพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าว  แต่การศึกษาปัญหานี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวโยงถึงเรื่องระบบเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง  ฉะนั้น การนำมาจัดทำรายงานในของเรื่อง “กฎหมาย” จึงมีข้อจำกัด  แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาก็ได้รวบรวมบรรดาหลักกฎหมายต่าง ๆ ในเรื่อง “กรรมสิทธิ์” เกี่ยวกับที่ดิน ที่มีในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเล็กน้อย  และ เรื่องหลัก “สิทธิครอบครอง” เพื่อให้เห็นประเด็นปัญหาที่มี รวมไปถึงการปฏิรูปที่ดิน
    จากข้อจำกัดที่ว่า การศึกษาเรื่องนี้มิใช่จำกัดเฉพาะกฎหมายด้านเดียว  ฉะนั้นรายงานฉบับนี้จึงเป็นการศึกษาถึงข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยพยายามโยงคิดไปถึงหลักกฎหมายต่าง ๆ ที่มีเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน  โดยเฉพาะเรื่อง “โฉนดชุมชน” ตามแนวนโยบายรัฐสวัสดิการ “ประชานิยม” ของรัฐบาลปัจจุบัน  ทั้งนี้เพื่อหามุมมอง “ด้านกฎหมาย” ที่จะเข้าไปช่วยเหลือจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป


ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ประเด็นปัญหา
    นับตั้งแต่อดีตกาล สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ.1822-1841 หรือ ค.ศ.1279-1298) สังคมไทยมีวิวัฒนาการเรื่องทรัพย์สิน โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน จากการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแบบเสรี ทรงดำเนิน รัฐประศาสโนบายส่งเสริมเศรษฐกิจเกี่ยวกับการทำประโยชน์ในที่ดิน เพื่อให้ได้พืชผลมาเป็นปัจจัยในการบริโภคและอุปโภคพอควรแก่ระดับการครองชีพ ในสมัยนั้น เมื่อราษฎรเข้าบุกเบิกหักร้างถางพงในที่ดินจนเพาะปลูกได้ผลได้ประโยชน์แล้ว ก็โปรดให้ที่ดินนั้น ๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ออกแรงออกทุนไป ดังปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “ฯลฯ …สร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าคาง (ขนุน) ก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ใครสร้างได้ไว้แก่มัน ...ฯลฯ” (กรมที่ดิน ,มปป.) แสดงให้เห็นถึง การเคารพในหลักกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ที่ผู้ใดได้ทำกินในที่ดินแล้วต้องได้สิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งหลักการนี้แม้จะเป็นคนละช่วงยุคสมัย แต่ก็สอดคล้องประจวบเหมาะกับแนวความคิดของ John  Locke (พ.ศ.2175-2247 หรือ ค.ศ.1632-1704)นักคิดชาวอังกฤษผู้ให้แนวคิดว่า “กรรมสิทธิ์เป็นอำนาจอันยิ่งใหญ่” และได้เสนอแนวคิดว่า “สามัญชนทุกคนควรมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน”  โดยเสนอแนวคิดว่า “สิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินเกิดจากแรงงานที่ผู้ใดใช้ในการทำที่ว่างให้เป็นไร่นาสวน ผู้ใดใช้แรงงานของตนทำไร่นาสวน ย่อมเป็นเจ้าของที่นั้นโดยสิทธิขาด (Absolute Right) จะซื้อจะขายหรือจะสืบทอดเป็นมรดกได้ หากรัฐละเมิดสิทธินี้เท่ากับ “โจรกรรม” (เว้นแต่กรณีพิเศษ) เช่น เจ้าของที่ดินละเมิดสิทธิคนอื่น หรือเบียดเบียนชาวส่วนรวม (Public Interest)”  ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในที่ดินที่ตนหักล้างถางพงที่ดินทำกิน  โดยปกติรัฐไม่มีสิทธิละเมิดหรือโต้แย้งได้
    แนวคิดสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นแนวคิดแบบ “พ่อปกครองลูก” (paternalism) ซึ่งต่อมาแนวความคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ซึ่งพวกขอมนำมา  โดยถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ที่ได้รับอำนาจจากสวรรค์ตามแนวความคิดแบบ“เทวราชา” หรือ “ลัทธิเทวสิทธิ์” (Devine Rights) ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ประมาณปี พ.ศ.1893 (ค.ศ.1350)  โดยถือว่า อำนาจในการปกครองของ “กษัตริย์” นั้น พระมหากษัตริย์ทรงได้รับมาจากสวรรค์  หรือเป็นไปตามเทวโองการ  การกระทำของพระมหากษัตริย์ถือเป็นความต้องการของพระเจ้า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเหมือนสมมุติเทพ  หรือพระเจ้า  หรือผู้แทนพระเจ้า  ซึ่งเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในสังคมโลกสมัยใหม่ในยุคนั้น  โดยกำหนดให้ “ที่ดิน” เป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้ามอบให้มาปกครองมนุษย์
    ครั้นมาถึงสมัยปฏิรูปการปกครองของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เริ่มมีการพระราชทานที่ดินโดยการออกโฉนดให้แก่ประชาชน เป็นครั้งแรก โดย ออกสำรวจที่ดินของประเทศเป็นครั้งแรก และดำเนินการรังวัดหมายเลขเขตที่ดิน ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ บริเวณบ้านพลับ ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ร.ศ.120 หรือ พ.ศ.2444 (ค.ศ.1901) อีกทั้งทรงออกประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศออกโฉนดที่ดินมณฑลกรุงเก่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน ร.ศ.120 ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ใช้ในการออกโฉนดที่ดินครั้งแรกของประเทศไทย (ไทบ้านพระเสาร์,นามแฝง,2552)
    จนกระทั่งมีการออกพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ซึ่งได้รวบรวมการดำเนินการเรื่องที่ดินแต่ดั้งเดิมหลายฉบับไว้เป็นฉบับเดียว และถือเป็นมูลฐานของกฎหมายเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินต่อมา และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินอีกหลายฉบับ ฉบับสุดท้ายคือพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 ซึ่งได้วิวัฒนาการ จนเป็นประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ใช้บังคับเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินและหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต่าง ๆ สืบมาจนถึงปัจจุบัน  (กรมที่ดิน , Op.cit.)
    ต่อมาสภาพเศรษฐกิจสังคมของไทยได้เติบโต มีการพัฒนาการของสังคมระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม และทุนนิยมแพร่หลายเข้ามา  ทำให้เกิดปัญหาการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน  ประชาชนเพิ่มมากขึ้น ลัทธิบริโภคนิยมที่แพร่หลายเข้ามาพร้อมกับระบบเสรีนิยมและทุนนิยม ทำให้เกิดการผลิตแบบการพาณิชย์เพื่อการค้าขายมากขึ้น มิใช่เพื่อการบริโภคเหมือนดังเช่นแต่ก่อน ทำให้ปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ “ที่ดิน” มีคุณค่ามากขึ้น  ประกอบกับจำนวนประชากรของประเทศไทยได้เพิ่มขยายตัวขึ้นอย่างมาก และสภาพเศรษฐกิจสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ประชาชนหมู่มากของประเทศยากจน ด้อยโอกาสทางสังคม จึงเกิดการแย่งชิงที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม  กรรมสิทธิ์ “ที่ดิน” ตกไปอยู่ในมือของนายทุน หรือ ผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจทางสังคมที่เหนือกว่า  จึงเกิดการบุกรุกที่ทำกินของประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินราชพัสดุ ที่ของส่วนราชการ ที่ป่า ที่ป่าสงวน หรือที่สงวนหวงห้ามอื่น ๆ ของรัฐ
    ปัญหานี้เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณว่า ปี พ.ศ.2545 มีประชาชนของประเทศร้อยละ 90 มีที่ดินเฉลี่ยเพียงคนละ 1 ไร่ เท่านั้น  นอกจากนั้นตกอยู่ในมือของผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่เหนือกว่าเพียงร้อยละ 10 ซึ่งถือครองที่ดินตั้งแต่ 100 ไร่เป็นต้นไป (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2545) แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างมากของสังคม และที่ดินมากกว่า 70% ผู้จับจองปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ( กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , 19 สิงหาคม 2553)
    ข้อมูลในปี 2549 แสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 69 ของทรัพย์สินทั้งประเทศอยู่ในความครอบครองของครัวเรือนที่รวยที่สุด ซึ่งมีเพียง ร้อยละ 20 ของทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นครัวเรือนที่ยากจนที่สุด มีทรัพย์สินรวมกันเพียง ร้อยละ 1 นั่นคือห่างกันถึง 69 เท่า
(จดหมายข่าว “ต้นคิด” รายเดือน , ฉบับที่ 27 ,มิถุนายน 2553)
สภาพปัญหาปัจจุบันจึงเป็นปัญหา “กรรมสิทธิ์ที่ดิน” แม้ล่าสุดรัฐบาลได้มีแนวคิดออก “โฉนดชุมชน” เพื่อหวังแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบุกรุกป่าที่หวงห้ามต่าง ๆ การไม่มีที่ทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมโดยให้ประชาชนที่เป็นเกษตรกรประมาณ 2 ล้านครอบครัว 10 ล้านคน ได้มีปัจจัยการผลิตของตนเอง  แต่การดำเนินการนโยบายดังกล่าวในระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและทุนนิยม ค่อนข้างจะมีปัญหาในทางปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง
    การวิเคราะห์สภาพปัญหา ในมุมมองด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและ ด้านกฎหมาย รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่อง “กรรมสิทธิ์” ที่ดิน จึง “น่าสนใจ” ทำการศึกษาทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 449434เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 01:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

วิเคราะห์ปัญหา

จากการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่อง “กรรมสิทธิ์” ในที่ดิน ของสังคมไทยในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบรัฐสภา ได้แยกประเด็นข้อพิจารณาที่จะนำเสนอในหัวเรื่องใหญ่ ๆ คือ

1. ระบบเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจโลก

2. ปัญหาที่ดิน

3. ปัญหาการปฏิรูปที่ดิน

4. เรื่อง”กรรมสิทธิ์”ในที่ดิน

5. โฉนดชุมชนแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชน

1. ระบบเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจโลก

1.1 ภาพรวมระบบเศรษฐกิจโลก 40 ปีข้างหน้า

ในปี ค.ศ.2050 หรือ ปี พ.ศ.2593 คือ ในอีก 40 ปีข้างหน้า ระบบเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯและยุโรป ซึ่งในปัจจุบันเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ในอนาคตจะสูญเสียสถานะดังกล่าว โดยการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จากเอเชียและลาตินอเมริกา ในปี 2050 60% ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G20 จะมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย และเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม ในอีก 40 ปี ข้างหน้า GDP ต่อหัว ของประเทศเหล่านี้จะยังคงต่ำกว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยเดิม คือ กลุ่มประเทศ G7 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบอย่างมากต่อระเบียบเศรษฐกิจโลก การปฏิรูปกลไกเศรษฐกิจโลกจาก G8 มาเป็น G20 ได้เริ่มชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของระเบียบเศรษฐกิจโลกในอนาคต (ประภัสสร์ เทพชาตรี , 2553)

1.2 เสรีนิยมใหม่ในประเทศไทย (Neo-Liberalism)

คำศัพท์นี้เป็นคำศัพท์สากลที่เป็นผลพวงมาจากระบบเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 (ค.ศ.1971-1980) ซึ่งต่อมาในยุคฟองสบู่แตก (พ.ศ.2540 หรือ ค.ศ.1997) ได้เกิดการบริหารประเทศโดยรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร 2 สมัย (พ.ศ.2544-2549) ภายหลังเกิดศัพท์การบริหารปกครองโดยนักวิชาการ อาทิ นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกระบอบการปกครองสไตล์ทักษิณว่า “ระบอบทักษิณ” หรือ

“ทักษิโณมิคส์” (Thaksinomics) ซึ่งได้รับแนวนโยบายมาจากระบบเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าเรื่องเขตการค้าเสรี มาตรการจูงใจส่งเสริมการลงทุน เศรษฐกิจชุมชน การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน นโยบายประชานิยม ฯลฯ เป็นการจัดการปกครองแบบทักษิณ นัยว่ารวมเอาระบบเศรษฐกิจแบบทักษิณและแนวทางการบริหารแบบทักษิณมารวมกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบบเศรษฐกิจไทยแบบ “เสรีนิยมใหม่” ในปัจจุบัน

แนวคิด “ทักษิโณมิคส์” เริ่มมาจากนักเศรษฐศาสตร์ชาวเปรู เฮอนานโด เดอ โซโต (Hernando De Soto) เกี่ยวกับ “ทุนที่ตายแล้ว (dead capital)” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในหนังสือ The mystery of capital โดยนำทฤษฏีของเดอ โซโตเรื่องทุนที่ตายแล้ว และภาคธุรกิจใต้ดินมาประยุกต์เป็นนโยบาย “แปลงสินทรัพย์เป็นทุน” ซึ่งถูกใช้เป็นนโยบายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน (เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร , 2551,Ibid.)

เนื่องด้วยประเทศไทยบริหารประเทศในทิศทางเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) มุ่งเน้น

การเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการเติบโตของตลาดเงินและตลาดทุน

รวมทั้งเร่งสร้างการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าการ

บริหารประเทศให้มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องจะทำให้ ประชาชนในประเทศมีความเป็นอยู่

อย่างมั่งคั่ง มีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง ด้วย เหตุนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ป่าไม้ พลังงาน หรือแรงงาน ที่ผ่านมาจึงถูกบริหารจัดการไปในทิศทางที่มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ดินในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากร ถูกมองว่าสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ มูลค่าการซื้อขายที่ดินในสังคมไทย ในรอบปีหนึ่งๆ มีมูลค่าสูงถึงหลายแสนล้านบาท การเก็งกำไรที่ดินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลสำคัญเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดินและเพิ่มมูลค่าการซื้อขายที่ดิน (พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์, 2553)

1.3 ประเทศไทยจุดเริ่มต้นใหม่ของ “รัฐสวัสดิการ”

โดยทั่วไปแล้ว “รัฐสวัสดิการ” หมายถึงระบบทางสังคมที่รัฐให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยรัฐจะจัดให้มีสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ

ที่สำคัญอันได้แก่ หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา หลักประกันด้านการมีงานทำ/ การว่างงานและหลักประกันด้านบำนาญชราภาพ กล่าวคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการป้องกันและรักษาโรค มีสิทธิ์ได้รับการศึกษาตามความสามารถ ได้รับการส่งเสริมให้มีงานทำรวมถึงได้รับความช่วยเหลือเมื่อตกงาน และสุดท้าย ได้รับเงินบำนาญเมื่อถึงวัยที่ไม่สามารถทำงานได้

ดังนั้น รัฐสวัสดิการจึงเป็นรูปแบบการจัดสวัสดิการโดยรัฐที่ครบวงจร ดังคำกล่าวที่ว่าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน หรือตั้งแต่บุคคลคนหนึ่งเกิดขึ้นมาจนกระทั่งตายจากไป นอกจากนี้ รัฐสวัสดิการยังเป็นระบบถ้วนหน้า นั่นคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการดังกล่าวจากรัฐ โดยรัฐไม่ต้องพิจารณาว่าบุคคลใดบ้างที่สมควรจะได้รับสวัสดิการ

มีข้อถกเถียงและข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับข้อจำกัดและผลที่ไม่ถึงปรารถนาของรัฐ

สวัสดิการ ซึ่งในที่นี้จะขอยกมานำเสนอในสองประเด็น

หนึ่งคือข้อโต้แย้งที่ว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้ประชาชนขี้เกียจและไม่รับผิดชอบต่อตนเอง

เนื่องจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจะลดแรงจูงใจในการทำงานเพราะทำมากก็จะ ถูกเก็บภาษีมาก ดังนั้น ทำน้อยๆ เพื่อจะได้ถูกเก็บภาษีน้อยๆ แล้วเอาเวลาไปพักผ่อนดีกว่า นอกจากนี้

อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากประชาชนจะไม่กลัวการว่างงานเพราะถึง แม้จะว่างงาน รัฐก็ยังจะเข้ามาดูแลรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ซึ่งข้อโต้เถียงหรือข้อโต้แย้งใน

ประเด็นนี้คงไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปได้ อย่างง่ายๆ และคงจะไม่มีข้อสรุปในลักษณะขาวดำหรือผิดถูก

สองคือประเด็นเรื่องงบประมาณของประเทศที่จะต้องใช้ในการจัดสรรสวัสดิการใน

รูปแบบของรัฐสวัสดิการ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ ประมาณการว่ารัฐจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากถึงสี่แสนล้านบาทเพื่อการดัง กล่าว นอกจากนี้ ยังมีการ

ยกตัวอย่างของอัตราภาษีในประเทศที่เป็นตัวแบบของรัฐสวัสดิการว่าจะ ต้องสูงถึงร้อยละ 50

หรือมากกว่า คำถามจึงมีว่าคนไทยพร้อมที่จะจ่ายภาษีในระดับที่สูงขนาดนั้นหรือไม่

อย่าง ไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องตระหนักไว้ก็คือไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูง

ขนาดนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าอัตราภาษีที่จะใช้เป็นอัตราภาษีแบบก้าวหน้า นั่นคือ ผู้มีรายได้สูงจะ

ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย (ตะวัน วรรณรัตน์ , 2552)

ใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการว่ารัฐบาลต้องเพิ่มการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า “เราจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลใช้นโยบายที่กระตุ้นกำลังซื้อและปกป้อง อาชีพการทำงานของคนธรรมดา และเราต้องย้ำว่าประชาชนไม่ควรจะผู้แบกภาระในการกอบกู้สถานการณ์ เหมือนกับที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยทำหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในยุคนี้ น้อยเกินไป ไม่มีความชัดเจนและไม่ตรงจุดที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพลเมืองส่วนใหญ่ ที่ร้ายกว่านั้นคือรัฐบาลพยายามจะตัดงบประมาณสาธารณสุข และเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับคนจนในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีเหล้าบุหรี่ ฯ ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลนี้ไม่จริงใจในการกระตุ้นกำลังซื้อและการปกป้องคนจนแต่ อย่างใดที่สำคัญคือเราจะต้องผนวกข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปกป้องรายได้และ อาชีพของคนจน ไปกับข้อเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เราจะต้องเข้าใจสภาพเศรษฐกิจและวิกฤตโลกว่าเป็นปัญหาของระบบทุนนิยมทั้งระบบ ที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และเราจะต้องไม่หลงคิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่ “นายจ้างฉวยโอกาสไล่คนงานออกเท่านั้น” ในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้น การขอให้รัฐบาลใช้โครงการฝึกฝีมือให้กับคนตกงานจะไม่มีประโยชน์เพราะเขาหา งานทำไม่ได้อยู่แล้ว รัฐบาลจะต้องนำภาษีที่มาจากประชาชน มาใช้เพื่อปกป้องงานของเรา โดยการนำกิจกรรมต่างๆ มาเป็นของรัฐและการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ที่สำคัญประเทศไทยต้องเปลี่ยนระบบภาษีไปใช้ระบบภาษีอัตราก้าวหน้า” (ใจ อึ๊งภากรณ์ , 2552)

สรุปโดยรวมว่า กระแสระบบเศรษฐกิจโลกโลกาภิวัตน์ปัจจุบันทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในวังวนของระบบเศรษฐกิจโลกเสรี คือ “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือระบบอิสรเสรีนิยม (Neo-Liberalism) โดยเฉพาะเรื่องเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ที่มีการแข่งขันด้านการตลาด ผลิตสินค้าเพื่อการบริโภค ที่ดินจึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ จึงมีราคาแพง และเน้นการผลิตเพื่อการพาณิชย์ มิใช่เพื่อการบริโภคเพียงอย่างเดียว มีการผลิตพืชผลเชิงอุตสาหกรรม มิใช่ผลิตเชิงเดี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่ตามมา บรรดานักวิชาการต่างสนับสนุนแนวคิด “รัฐสวัสดิการ” ในการแก้ไขปัญหาสังคมที่หมักหมมมานาน แต่การดำเนินการของรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการอย่างได้ผลในระยะสั้น จำต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กฎหมายใหม่ โดยเฉพาะการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เช่น การปฏิรูประบบภาษีอัตราก้าวหน้า หรือ การออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

2. ปัญหาที่ดิน

2.1 สถานการณ์เกี่ยวกับการจัดการที่ดิน

คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินภาคประชาชน ได้จัดสัมมนาการขับเคลื่อนขบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยภาคประชาชน ที่จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2552 ได้สรุปใน 2 ด้าน ดังนี้

2.1.1 ด้านสภาพเศรษฐกิจสังคมการเมือง -กระแสโลกาภิวัตน์

1. ทรัพยากรธรรมชาติลดลง เนื่องจากทรัพยากรต่าง ๆ ได้ลดลง เนื่องจากการเพิ่มของประชากร การใช้ประโยชน์ที่ไม่สมดุลต่าง ๆ มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างกว้างขวาง

2. เศรษฐกิจไม่มั่นคง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันมีการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน หรือกลุ่มทุนที่เหนือกว่า ทำให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ประกอบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสังคมที่มีมากขึ้น รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่แน่นอน นักลงทุนไม่กล้าลงทุน

3. FTA – Free Trade Area จากการขยายเขตเสรีทางการค้าออกไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ทำให้ปัจจุบันโลกต้องตกอยู่ในระบบเขตการค้าเสรี ประเทศใดมีข้อจำกัดที่ไม่ส่งเสริมเขตการค้าเสรี ก็จะถูกต่อต้านจากประเทศกลุ่มผู้นำทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ G7 ที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ

4. ที่ดินเป็นสินค้า จากการผลิตแบบเชิงพาณิชย์เพื่อการค้า ทำให้ที่ดินต้องนำมาให้เป็นทุนในระบบการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะการผลิตแบบอุตสาหกรรม การผลิตพืชผลเชิงเดี่ยวหมดหายไป ที่ดินจึงถูกกว้านซื้อจากนายทุน เพื่อเป็น “ทุน” ปัจจัยในการผลิตอุตสาหกรรม

2.1.2 ด้านรัฐบาล -นโยบายรัฐบาล

1. โครงสร้างบนลงล่าง เป็นโครงสร้างการบริหารงานของทางราชการ ที่ยังไม่กระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปยังภูมิภาค หรือ ท้องถิ่น

2. กลไกหน่วยงานแยกส่วนรับผิดชอบ หน่วยงานราชการมีการแยกซอยหน่วยงานเป็นอิสระ ไม่ประสานงานกัน ไม่มีองค์กรกลางที่มาร่วมตัดสินใจแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีความขัดแย้งกันในระหว่างหน่วยงาน หรือ กรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐนั้น ๆ เพราะ เป็นการกระทำที่อ้างว่ารัฐมีอำนาจ

3. กฎหมาย ระเบียบ คำสั่งหลายชุด ถือเป็นปัญหาหลัก เนื่องจาก ระเบียบกฎหมายบางฉบับล้าสมัย ซับซ้อน มีหลายฉบับ และ ถือบังคับโดยหน่วยงานหลายหน่วย

4. นโยบายรัฐบาลไม่นิ่ง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสังคมการเมืองแย่ มีความขัดแย้งกันในความคิด และเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัวในระหว่างกลุ่มการเมือง กลุ่มทุนต่าง ๆ ปัญหาสังคม ทุจริตคอรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่งผลให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักอก ทำให้ไม่มีเสถียรภาพ

จากสภาพปัจจัยหลักใน 2 ด้านดังกล่าว จึงเกิดกลุ่มองค์กรประชาชนขึ้นร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม โดยเฉพาะ “ปัญหาที่ดิน” ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับรากหญ้าที่ต้องร่วมกันแก้ไข จึงเกิดกระแสการรณรงค์เรื่อง “โฉนดชุมชน” และ “ธนาคารที่ดิน” ขึ้น

(คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินภาคประชาชน, 2552)

2.2 ภาพรวมปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในประเทศไทย

ได้มีการสรุปภาพรวมของปัญหาที่ดินในประเทศไทยว่า เป็นความขัดแย้งระหว่าง “คนจนไร้ที่ดิน” และ “หน่วยงานภาครัฐ” (มติชนออนไลน์ , 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551) สรุปดังนี้

2.2.1 ปัญหาพื้นฐานของที่ดิน

1).ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปาประมาณ 100 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 130 ล้านไร่ ทรัพยากรที่ดินในประเทศไทยมีเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์ของคนไทยทุกคนใน ประเทศ ถ้าทรัพยากรที่ดินเหล่านี้จะมีการจัดสรร แบ่งปัน และกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม

2).ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศคือ ประมาณ 90 % มีที่ดินถือครองแค่ไม่ถึง 1 ไร่ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มเล็ก ที่เหลือ 10 % มีที่ดินถือครองคนละ มากกว่า 100 ไร่ ชี้ให้เห็นถึง ความเหลื่อมล้ำของสัดส่วนคนในสังคมไทยที่มีที่ดินน้อยและมีที่ดินมาก

3).ข้อมูลจากการวิจัยของมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย ปี 2544 พบว่า 70 % ของที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึง 50 % ประเมินความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 127,000 ล้านบาทต่อปี ข้อมูลบ่งชี้ว่า มีคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยถือครองที่ดินจำนวนมากไว้โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร หากเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร เป็นสินค้าเพื่อขายต่อ

4).ในขณะที่ข้อมูลจากการจดทะเบียนคนจนของกระทรวงมหาดไทยระบุว่า มีประชาชนมาลงทะเบียนว่าตนเองมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนับ รวมได้ 4.2 ล้านปัญหา แบ่งเป็นคนไม่มีที่ดินเลย 1.3 ล้านคน มีที่ดินทำกินอยู่บ้างแต่ไม่พอทำกินแม้ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง 1.6 ล้านคน ขอเช่าที่ดินรัฐและครอบครองที่ดินรัฐอยู่ 3 แสนคน รวมแล้วมีเกษตรกรและคนไร้ที่ดินในสังคมไทยทีมีปัญหาที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัว ข้อมูลจากการสำรวจและการวิจัยเรื่องที่ดินจากทุกสถาบันโชว์ทุกครั้งว่าปัญหา ที่ดินเป็นปัญหาที่เกษตรกรทั่วประเทศเห็นว่าสำคัญ และวิกฤตสำหรับเกษตรกรไทย แต่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ มีเพียงมาตรการสำรวจและศึกษาวิจัยต่อไป โดยไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

2.2.2 รากฐานของปัญหาที่ดิน

1).การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมใน สังคม แต่มุ่งเน้นการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้กับเอกชนและ เกษตรกร ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนไร้ที่ดินได้

2).สังคมไทยไม่มีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน ใครรวยก็มีสิทธิซื้อที่ดินจำนวนเท่าไรมาถือครองไว้ก็ได้ จะซื้อครึ่งหรือค่อนประเทศก็ไม่มีใครจำกัดสิทธิได้ ในขณะที่คนจนจะสูญเสียที่ดินและไร้ที่ดินทำกินจำนวนกี่ล้านครอบครัวก็ได้ รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครอง ที่ดิน

3).สังคมไทยไม่มีกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่สำคัญที่จะทำให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากเอา ไว้ และไม่ได้ใช้ประโยชน์ ต้องเสียภาษีที่ดินจำนวนมาก ในระดับที่ไม่สามารถเก็บกักที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร ต้องปล่อยขายที่ดินออกมา ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถช้อนซื้อที่ดินเหล่านั้นไว้เพื่อนำมาปฏิรูปจัดสรรให้ กับเกษตรกรที่ต้องการที่ดินทำกิน

4).การปฏิรูปที่ดินของรัฐที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายปฏิรูปที่ดิน ปี 2518 ที่ต้องการให้รัฐใช้อำนาจและมาตรการต่างๆ นำที่ดินที่ถือครองโดยเอกชน มากระจายให้กับคนจนไร้ที่ดิน แต่กลับเบี่ยงเบนประเด็นไปที่การจัดสรรที่ป่าสงวนแห่งชาติให้กับเอกชน

5).ที่ผ่านมาคนจนไร้ที่ดินและไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีช่องทางและไม่สามารถเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการบริการจัดการทรัพยากรที่ดิน ให้เกิดความเป็นธรรมได้ การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาครัฐ ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น ขาดการตรวจสอบ และกรณีพิพาทความขัดแย้งเรื่องที่ดินจำนวนมาก

2.3 สรุปสภาพปัญหาปัจจุบันในเรื่องที่ดินของสังคมไทย

ขอสรุปสภาพปัญหาที่ดิน ซึ่งมีสภาพปัญหาที่สะสมและหมักหมมมานาน ที่นับวันจะสะสมและเพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาหลัก ๆ ได้แก่

1. ปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน

2. ปัญหาการไม่กระจายการถือครองที่ดิน

3. ปัญหาการบุกรุกที่ทำกินของราษฎร

4. ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับที่ดิน

5. ปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมในเรื่อง “กรรมสิทธิ์”ที่ดิน

ปัญหาเหล่านี้มีความผูกโยงสัมพันธ์กันและกันเป็นลูกโซ่ การจะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งจะต้องคำนึงถึงปัญหาหนึ่งด้วย การแก้ไขปัญหาเชิงระบบจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหานี้

ปัญหาใจกลางของการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรมที่สำคัญปัญหาหนึ่ง ก็คือ ปัญหาการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน โดยชาวนไร่ชาวนาเป็นผู้ประกอบการ “รายย่อย” นอกจากนี้ยังมีปัญหาการรุกรานของ “ทุนเกษตรอุตสาหกรรม” ยังนำไปสู่การล่มสลายของระบบ “การผลิตแบบปัจเจก” เนื่องจากไม่อาจต่อสู้กับนายทุนผูกขาดที่เข้ามาแย่งยิงปัจจัยการผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ (รุ่งโรจน์ วรรณศูทร ,2553)

3. ปัญหาการปฏิรูปที่ดิน

3.1 ข้อจำกัดของการปฏิรูปที่ดิน

รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 รวมเป็นระยะเวลา 35 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปที่ดินก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย ข้อจำกัดประการสำคัญก็คือ “เรื่องที่ดิน” (สิริอัญญา (นามแฝง) ,2552.)

ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นไม่ใช่ที่ป่า เพราะที่ป่าคือเขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ เขตต้นน้ำลำธาร หรือวนอุทยานทั้งหลายทั้งปวง อยู่ในความ

รับผิดชอบดูแลของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน ซึ่งพิทักษ์หวงแหนที่ดินนั้นสุดชีวิตจิตใจ ไม่มี

ทางที่จะยอมยกให้ใครโดยง่าย คงเหลือแต่การดูแลรักษา ไม่ให้ถูกบุกรุกแผ้วถางเท่านั้น

ส่วนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ป่านั้น มีอยู่สามลักษณะ คือ

หนึ่ง ที่ดินที่เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาแต่ก่อน แล้วถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งตำบลหรือทั้งอำเภอ

สอง ที่ดินที่เป็นไร่สวนของราษฎรที่ครอบครองทำกิน กันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ แล้วถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ครอบคลุมไปทั้งตำบลและอำเภอ และ

สาม ที่ดินป่าเสื่อมโทรมที่ราษฎรปกครองทำประโยชน์ หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก กรมป่าไม้ กรมอุทยาน กรมการปกครอง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเห็นพ้องต้องกันแล้ว จึงเสนอเป็นลำดับชั้น ให้คณะรัฐมนตรีลงมติให้โอนที่ดินดังกล่าวไปให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินนำไป ดำเนินการออก ส.ป.ก. 4-01

ที่ดินทั้งสามลักษณะนี้ จึงไม่ใช่ที่ป่าตามที่พูดกัน แต่เป็นที่ซึ่งพึงออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎร เพื่อให้เป็นหลักทรัพย์ ให้เป็นทุนรอนและเปิดโอกาสให้สามารถลงทุนทำกิจการใดๆ ได้

3.2 ปัญหาที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้เพื่อนำมาจัดสรร (ส.ป.ก.4-01)

ปัญหาการปฏิรูปที่ดินมีปัญหาที่ดินที่นำมาจัดสรร ซึ่งโดยปกติก็คือ “ที่ป่าเสื่อมโทรม” “เสื่อมสภาพ” สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ มีการเปลี่ยนมือถือสิทธิครอบครองโดยการซื้อขายในที่ดิน สปก.กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มนายทุน นักธุรกิจ ข้าราชการ ซึ่งบางส่วนไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในด้านการเกษตร แต่เข้าไปครอบครองก่อสร้างบ้านพักตากอากาศ จนเกิดคดีอื้อฉาว ไม่ว่า คดีมาดาม พีเค. หรือ คดีเขายายเที่ยง ในท้องที่ จ.นครราชสีมา เป็นต้น

ปัจจุบันสามารถแบ่งกลุ่มผู้ครอบครองที่ดินประเภทนี้ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1.กลุ่มผู้ได้รับการจัดสรรแบบถูกกฎหมาย กล่าวคือ เป็นราษฎรที่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรอย่างแท้จริง มีที่ดินในความดูแลไม่เกิน 50 ไร่ และใช้พื้นที่ทำการเกษตรกรรม ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการแจกเอกสารสิทธิไปแล้วจำนวน 25 ล้านไร่ ผู้ได้รับจัดสรรสิทธิ 1.6 ล้านคน

2.กลุ่มผู้ครอบครองที่ดินแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ เป็นราษฎรที่มีจำนวนที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และใช้พื้นที่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ไม่ได้เป็นเกษตรกรอย่างแท้จริงแต่ประกอบอาชีพอย่างอื่น อาทิ เป็นภารโรง อาจารย์ เจ้าของกิจการทั่วไป และ

3.กลุ่มผู้ครอบครองที่ดินแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างชัดเจน กล่าวคือ ไม่ได้เป็นเกษตรกร มีที่ดินในความครอบครองเกิน 50 ไร่ และไม่ได้ใช้พื้นที่ทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรม ซึ่งพื้นที่จำนวนนี้มีหลายล้านไร่

"เมื่อปัญหาเกิดขึ้นอย่างนี้ ส.ป.ก.จึงต้องการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของผู้ครอบครองที่ดินที่จำกัดเฉพาะแค่การเป็นเกษตรกรอย่างแท้จริง เพื่อที่จะทำให้กลุ่มผู้ครอบครองที่ดินกลุ่ม 2 (ที่ดิน ส.ป.ก.4-01) เข้ามาอยู่ในระบบของการปฏิรูปที่ดิน แต่ในส่วนของผู้ครอบครองที่ดินกลุ่มที่ 3 ที่มีพื้นที่จำนวนมาก และใช้ประโยชน์พื้นที่ในเรื่องของสิ่งปลูกสร้าง และทำกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกษตร จะเสนอให้มีสิทธิในการทำสัญญาเช่าที่ดินกับภาครัฐ แทนการให้เอกสารสิทธิ แต่มีกำหนดเวลาในการครอบครองเพียง 15 ปี และสามารถต่อสัญญาได้เพียง 1 ครั้ง คืออีก 15 ปี รวมเป็น 30 ปี จากนั้นจะต้องคืนที่ให้กับ ส.ป.ก. และจะได้รับสิทธิในการชดเชยค่าสิ่งปลูกสร้างให้ด้วย" (มติชนรายวัน 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548)

3.3 หลักกฎหมายปฏิรูปที่ดินผิดหลักนิติปรัชญาโดยทั่วไป

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เสนอแนวคิดในการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ในเวทีระดมความเห็นที่อิมแพ็คเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ว่า การปฏิรูปประเทศไทยต้องประกอบด้วย 3 พลัง คือ พลังทางปัญญา พลังทางสังคม และ พลังอำนาจรัฐ โดยเฉพาะ “พลังทางสังคม” ต้องเป็นฝ่ายนำ เช่น การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปภาษี (มูลนิธิชีววิถี, 2553)

ปรัชญาทางกฎหมายของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน เป็นไปเสียอีกทางหนึ่ง คือมีหลักการสำคัญอยู่ 2 ประการ ที่เป็นอุปสรรค กระทั่งมีลักษณะวิปริตผิดนิติปรัชญาโดยทั่วไป คือ

ประการแรก มีบทบังคับว่าที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ จะใช้ทำ

เกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ลองนึกดูเถิดว่า ถ้าพื้นที่ใดทั้งตำบลหรือทั้งอำเภอ ต้องปลูกแต่มันสำปะหลัง มีตลาด ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน โรงแรมหรือโรงพยาบาลหรือธนาคารไม่ได้เลยแล้ว สังคมหรือ ชุมชนนั้น จะอยู่ได้อย่างไร และอาชีพเกษตรกรรม มันทำให้คนไทยร่ำรวยสุดวิเศษหรือ ? จึงต้องบังคับให้ต้องทำแต่เกษตรกรรม ซึ่งรู้กันอยู่ว่านี่คือปมปัญหาความยากจนของคนไทยที่ยังแก้ไขไม่ตกอยู่ในขณะ นี้ ลองนึกดูเถิดว่าประชาชนทั้งตำบลหรือทั้งอำเภอ ที่เขาทำอาชีพมากมายหลายอาชีพ แล้วถูกบังคับให้เลิกอาชีพเหล่านั้น หันไปทำอาชีพเกษตรกรรม ใครเขาจะยินยอม ?

ประการที่สอง ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. จะต้องเป็นคนยากจน ซึ่งเคยได้รับการตีความว่าระดับของความยากจนนั้น หมายถึงไม่มีทรัพย์สินใดๆ ยกเว้นแต่จอบและ

เสียม หากมีฐานะดีกว่านี้ แม้แค่มีบ้านสักหลังหนึ่ง มีรถกระบะสักคันหนึ่ง ก็ไม่ใช่คนยากจนตามความหมายของกฎหมายนี้ จะไม่มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัยในแผ่นดินนี้อีกต่อไป ในวันนี้ผู้คนที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีหลากหลายอาชีพและมีหลากหลายฐานะ ทั้งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ยากจน ถึงขนาดที่มีแต่จอบและเสียม จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับ ส.ป.ก.4-01 ดังนั้นหยิบยกเรื่อง ส.ป.ก.4-01 ขึ้นเมื่อใด ไม่ว่าโดยฝ่ายไหน จึงเป็นเรื่องฮือฮาได้ทุกครั้งและก็เจ็บตัวกันถ้วนทั่วทุกครั้งเหมือนเดิม เพราะเวลานี้ ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน รวมทั้งผู้ที่อยู่นอกวงทางการเมือง ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ล้วนมีคุณสมบัติไม่ครบเงื่อนไขทั้งสองข้อนี้ทั้งสิ้น ดังนั้น ปมปัญหาแท้ จึงอยู่ที่นิติปรัชญาของกฎหมายปฏิรูปที่ดินที่จะต้องได้รับ การแก้ไขเพื่อให้แผ่นดินประเทศไทยมีราคา ให้ราษฎรได้เป็นเจ้าของสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินและฐานะของราษฎรเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ที่มีโฉนดที่ดิน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่รัฐจากค่าธรรมเนียมอีกด้วยจึงมีแต่ต้องดำเนินรอยตามพระบรมราโชบายของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระราชทานโฉนดที่ดินแก่พสกนิกรของพระองค์ เพื่อให้มีฐานันดรหรือเรียลเอสเตท (Real Estate) เช่นเดียวกับชาวยุโรป

(สิริอัญญา (นามแฝง) , 2552,Ibid.)

ด้วยข้อจำกัด หรือปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าในด้านข้อกฎหมาย หรือข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงทำให้ การปฏิรูปที่ดิน” ของประเทศไทย ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะที่ดินซึ่งถือเป็น “ทรัพย์สิน” ที่จะเป็น “ทุน” เป็น “หลักทรัพย์” ในการประกันความมั่นคงของครอบครัว และสังคม กลับไม่มีคุณค่า ประชาชนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีหลักทรัพย์ในการลงทุน หรือ เพื่อความมั่นคงของตนเอง และทางอีกด้านหนึ่งด้านมาตรการของรัฐกลับเพิกเฉยต่อปัญหานี้ จนกระทั่งเกิดการวิกฤตของปัญหาขึ้น กลุ่มองค์กรประชาชน และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ จึงได้รวมตัวกันผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถผลักดันรัฐบาลให้ยอมรับปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง จนสามารถออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการออกโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ขึ้นมา และกำลังเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งลูกสร้าง

4. เรื่อง”กรรมสิทธิ์”ในที่ดิน

4.1 ว่าด้วยทรัพยสิทธิ (สิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์)

ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า “ทรัพยสิทธิ” เสียก่อนว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในการที่จะยึดถือครองทรัพย์ ว่ามีความสำคัญอย่างไร

การมีสิทธิเหนือทรัพย์(jus in rem) ในที่นี้ เรียกว่าทรัพยสิทธิ(real right-droit reel) ปัจจัย 4 ซึ่งเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ล้วนเป็นทรัพย์ภายนอกตัวมนุษย์ทั้งสิ้น หากมนุษย์ปราศจากสิทธิในการถือครองทรัพย์อันเป็นปัจจัย 4 ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีทางมองออกเลยว่ามนุษย์จะดำรงอยู่ได้อย่างไร

บุคคลทุกคนตามแต่ละรัฐ ล้วนแล้วแต่มีสิทธิ(Right) เป็นของตนเอง ตามแต่ที่กฎหมายที่บังคับใช้ในรัฐจะได้รับรองและคุ้มครองให้ การมีสิทธิของบุคคล นำมาซึ่งความรับผิดชอบในหน้าที่ของอีกบุคคลหนึ่ง ดังนั้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การมีสิทธิเป็นเหตุที่ทำให้บุคคลมีหน้าที่ตามไปด้วย กล่าวคือหน้าที่ ที่จะต้องเคารพในสิทธิ และปฏิบัติตามเนื้อหาแห่งสิทธินั้น

สิทธิ (Right) ประดาที่ติดตัวมนุษย์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในความต้องการของมนุษย์ ทั้งนี้สิทธิบางอย่างไม่อาจปรากฏให้บุคคลสามารถแสวงเอาประโยชน์ได้ หากขาดซึ่งทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุที่รับรองความมีอยู่ของสิทธินั้นเอง (การมีสิทธิเหนือทรัพย์ (jus in rem) ในที่นี้ เรียกว่าทรัพยสิทธิ (real right-droit reel) ปัจจัย 4 ซึ่งเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ล้วนเป็นทรัพย์ภายนอกตัวมนุษย์ทั้งสิ้น หากมนุษย์ปราศจากสิทธิในการถือครองทรัพย์อันเป็นปัจจัย 4 ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีทางมองออกเลยว่ามนุษย์จะดำรงอยู่ได้อย่างไร) (อภิวัฒน์ นาคชำนาญ ,2550)

4.2 ปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดิน

จากสภาพปัญหาพื้นฐานของที่ดิน ปัญหาการปฏิรูปที่ดินของประเทศไทย ดังกล่าวข้างต้น ต้องย้อนมาดูเรื่อง “กรรมสิทธิ์” ในที่ดิน ซึ่งอาจถือว่าเป็น “รากเหง้าของปัญหา” ก็ได้ทั้งนี้ เพราะ เอกสารที่ดินที่เป็นสำคัญมีหลายรูปแบบ

มีคำที่มีความหมายโยงไปถึงคำว่า “กรรมสิทธิ์” (Ownership) หรือ “ความเป็นเจ้าของ” (Possession) ในที่ดินที่ประชาชนทั่วไปมักจะสับสน ก็คือคำว่า “กรรมสิทธิ์” กับ “สิทธิครอบครอง” ตามความหมายในประมวลกฎหมายที่ดิน ได้อธิบายขยายความว่า “กรรมสิทธิ์” ได้แก่ โฉนด (น.ส.4) หรือ โฉนดตราจอง การแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินต้องครอบครองปรปักษ์ 10 ปี ส่วน “สิทธิครอบครอง” ได้แก่ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก) จะใช้หลักสิทธิครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ แต่จะใช้สิทธิแย่งการครอบครอง 1 ปี ซึ่งหากพิจารณาตามหลัก ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้วจะเห็นความแตกต่างที่น่าชวนหัว คือ

กรณีแย่ง “กรรมสิทธิ์” โดยการครอบครองปรปักษ์ในอสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ตามกรณีที่ขอให้ข้อสังเกตก็คือ “ไม้จิ้มฟัน” (อาจจะทำจากของมีค่า หรือไม่มีค่าก็ได้) ถือเป็น สังหาริมทรัพย์ ที่ดินตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ถือเป็นสังหาริมทรัพย์ แต่ปรากฏว่า การใช้สิทธิแย่งการครอบครองในที่ดิน น.ส.3 นั้น ซึ่งถือเป็นทรัพย์ที่มีค่ามากอย่างหนึ่ง แต่ใช้เวลาในการแย่งการครอบครองเพียง 1 ปี ซึ่งในขณะที่ “ไม้จิ้มฟัน” ในกรณีที่ยกตัวอย่างต้องครอบครองถึง 5 ปี เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติและแนวคำพิพากษาฎีกาได้วางแนวทางไว้ โดยไม่ได้คำนึงว่า ที่ดิน น.ส.3 เป็นทรัพย์สินที่มีกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด เป็นเพียง “หนังสือรับรองการทำประโยชน์” ได้เฉพาะสิทธิในการครอบครองเท่านั้น

มีข้อสังเกตว่า ที่ดินของรัฐ ที่นำมาจัดสรร “ปฏิรูปที่ดิน” ที่เรียกว่า สปก.4-01 นั้น ถือว่าเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง ที่ให้สิทธิในการทำประโยชน์ใช้สอย ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เว้นแต่ทางมรดก แต่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนมือ ซื้อขายที่ดิน สปก.4-01 กันอย่างแพร่หลาย โดยรัฐไม่สามารถควบคุมได้

ซึ่งในประเด็นนี้ ตามหลักกฎหมายทำให้ทรัพย์สินอันเป็นส่วนควบของที่ดิน อาจมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ แม้ว่าหลักกรรมสิทธิ์นั้น เจ้าของทรัพย์สินจะมีอำนาจเต็มในการใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผล ติดตามเอาคืน หรือ ขัดขวางผู้อื่นที่เข้ามาก้าวล่วงได้ ก็ตาม แต่สิทธิดังกล่าวในกรณีของ ที่ดิน สปก.4-01 , สทก. เนื่องจากเป็นที่ป่า จึงไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้เต็มที่ รวมไปถึงเอกสารที่ดินประเภทที่ให้สิทธิเฉพาะ “สิทธิการครอบครอง” เช่น นส.3 ด้วย

4.3 หลักเบื้องต้นของการได้มาหรือเสียไปซึ่งสิทธิครอบครอง และกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า คำว่า "สิทธิครอบครอง" กับคำว่า "กรรมสิทธิ์" นั้นมีความแตกต่างกัน ผู้เป็นเจ้าของที่ดินจะต้องแยกแยะและระมัดระวังในการดูแล รักษาผลประโยชน์ในที่ดิน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียสิทธิใน ที่ดินไปโดยผลของกฎหมาย โดยเฉพาะคนที่มีที่ดินหลายๆแปลง และ หลายๆ จังหวัด หากขาดการระมัดระวังอาจเสียสิทธิในที่ดินไปเป็นของคนอื่นโดย ผลของ “กฎหมายปิดปาก” แม้ว่าเจ้าของที่ดินจะมีเอกสารทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายเก็บไว้ในตู้เซฟที่ธนาคารเป็นอย่างดี และเจ้าของก็ไปเสียภาษีให้กับรัฐทุกปี แต่เหตุใดอยู่มาวันดีคืนดีทำไมที่ดินของตนจึงตกเป็นของ คนอื่นได้ จึงขอยกตัวอย่างให้เห็นความแตกต่างใน 2 กรณี ระหว่าง “สิทธิครอบครอง” กับ “กรรมสิทธิ์”

ก. คำว่า "สิทธิครอบครอง" นั้น เป็นคำที่ใช้กับคนที่ได้ ที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ รัฐได้จัดสรรให้ทำกินตามประมวลกฎหมาย ที่ดิน พ.ศ. 2497 ไปก่อนแต่ยังไม่ให้กรรมสิทธิ์ในขณะนั้น เพียงแต่ให้ เอกสารสิทธิในการแสดงการครอบครองและใช้ประโยชน์ในการทำกินเท่านั้น ส่วนรัฐ จะให้ผู้ครอบครองไปขอกรรมสิทธิ์(ขอออกโฉนดที่ดิน) ได้เมื่อไหร่ก็แล้วแต่รัฐ จะเป็นผู้กำหนด ที่ดินจำพวกนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ที่ดินมือ เปล่า" พูดง่ายๆ ก็คือกรรมสิทธิ์ยังเป็นของรัฐอยู่นั่นเอง ที่ดินจำพวกนี้ ก็ได้แก่ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ เช่น หนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ ( น.ส.3,น.ส.3 ก) ส.ค.1 (หนังสือแสดงสิทธิครอบครอง) หรือ สปก-401 (ที่ โด่งดังเป็นข่าว) เป็นต้น ที่ดินจำพวกนี้ผู้เป็นเจ้าของจะต้องให้ความใส่ใจ เป็นพิเศษ กล่าวคือ จะต้องออกไปดูที่ดินของตนอย่างน้อยปีละครั้ง หรือมิ ฉะนั้นจะต้องหาคนเข้าไปดูแลแทนโดยทำสัญญากันไว้อย่างชัดเจนจะได้ไม่มีปัญหา ให้ต้องปวดหัวทีหลัง ซึ่งที่ดินจำพวกนี้ อาจถูกบุคคลอื่นแย่งสิทธิครอบ ครองของเราได้ เพราะที่ดินที่มีเพียงสิทธิ ครอบครองนี้ หากบุคคลอื่นเข้าไปทำกินในที่ของเรา โดยแสดงออกต่อบุคคลทั่วไป อย่างเปิดเผยว่าเป็นของเขาและอยู่อย่างสงบ(เจ้าของแท้จริงไม่เคยไปขับไล่ออก ไป) ถ้าเขาพิสูจน์ได้ว่าเขาทำกินมาเกินหนึ่งปี ที่ดินของเราแท้ๆ เอกสารก็ อยู่กับเราตลอด เสียภาษีก็เสียทุกปีไม่เคยละเว้น แต่สามารถตกเป็นของคน อื่นไปโดยผลของกฎหมายได้ ตามความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375

"มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วย กฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้น แต่ อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ซึ่งเป็นเหตุให้เรียกคืนจาก ผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง"

เห็นได้ว่าการเสียสิทธิในที่ดินในกรณีนี้ง่ายมาก( หนึ่ง ปีนับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง ไม่ใช่นับแต่วันที่เราทราบ) ต้องระวังให้ดี ถ้า เห็นใครไปบุกรุกที่ดินของเราถ้าภายในหนึ่งปีที่เขาเข้าไปเราก็แจ้งความจับ ดำเนินคดีอาญาได้ ตามความแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362

"มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อ ถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำ การใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ " และ หากการเข้ามาในที่ดินของเราในกรณีเดียวกันนั้นทำให้ทรัพย์ของเราเสียหายอีก ด้วย เราก็แจ้งความเพิ่มในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 อีกข้อหา หนึ่ง

"มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือ ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้ นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ข. คำว่า "กรรมสิทธิ์" นั้นก็จะเป็นกรณีที่ดินที่รัฐออก โฉนดที่ดินให้แล้วเจ้าของที่ดินจึงจะมีกรรมสิทธิ์ สิทธิต่างๆก็เหมือนๆกับ เอกสารสิทธิที่ได้กล่าวถึงในข้อ ก. เพียงแต่ว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจะ มีความมั่นคงกว่าสิทธิครอบครองตรงที่ว่าการที่บุคคลอื่นจะมาแย่งที่ของเราไป ก็ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า กล่าวคือ จะต้องใช้ระยะเวลาถึงสิบปี ตาม ความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

"มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความ สงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็น เวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์"

จะเห็นได้ว่าที่ดินมีโฉนดที่ดินอาจเสียกรรมสิทธิ์โดย " การครอบครองปรปักษ์"ได้ตามหลักกฎหมายดังกล่าว เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ดินถือ เอาการครอบครองและการทำประโยชน์อยู่จริงยิ่งกว่าสรรพเอกสารใดๆ ส่วนแนวทาง การป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับที่ดินก็ใช้หลักเดียวกันกับข้อ ก. (วิเนตร ผาจันทา ,มปป.)

4.4 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ตามหลักกฎหมาย “ที่ดิน” สามารถได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในกรณีต่าง ๆ แยกได้ 4 กรณี ดังนี้

1. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเช่นได้มาโดยได้โฉนดแผนที่ โฉนด ตราจอง, หรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว, ได้มาซึ่งที่บ้านที่สวน ตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 ที่ดินประเภทนี้เป็นที่มีกรรมสิทธิ์แต่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์และ ไม่ถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่า ฎีกาที่ 1570/2500 ที่พิพาทซึ่งเจ้าของได้ครอบครองทำที่ดินให้เป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนประกาศ ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 และ

พระราชบัญญัติ ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 แล้วแม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ก็ ต้องนำกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 มาใช้บังคับคดี โดยถืออายุความสละที่ดิน 9 ปี 10 ปี หาใช่อายุความ 1 ปี ไม่

2. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินตั้งตำบลและได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย (ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 และ 59)

3. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยนิติกรรม เช่น โดยการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้จำนอง, ขายฝาก ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

4. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยผลของกฎหมาย เช่น

4.1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินจากที่งอกริมตลิ่ง ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่งที่งอกนั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน แปลงนั้น โดยหลักของที่งอกริมตลิ่งจะต้องเกิดขึ้นโดย ธรรมชาติและติดต่อเป็นผืนเดียวกันแต่เจ้าของที่ดินมีจะมีกรรมสิทธิ์ในที่งอก ได้ต้องเป็นที่ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินแปลงใดเป็นที่มือเปล่าเกิดที่งอกออกมาเจ้าของที่แปลงนั้นก็ มีแต่สิทธิครอบครองที่งอกเท่านั้นดังนั้นหากเป็นงอกออกมาจากที่ดินมีโฉนด เจ้าของที่ดิน แปลงดังกล่าวมีกรรมสิทธิ์ในที่งอกผู้อื่นจะแย่งการครอบครองที่ดินส่วนนี้ ต้องครองครองปรปักษ์เกินกว่า 10 ปีจึงได้กรรมสิทธิ์ หากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมือเปล่า (ส.ค.1., นส.3) เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองหากผู้อื่นแย่งการครอบครองและเจ้าของไม่ฟ้อง ร้องเรียกคืนภายใน 1 ปี เจ้าของสิ้นสิทธิในที่งอกนั้น

4.2 ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์" ที่ดินที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ จะต้องเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน, โฉนดแผนที่, โฉนดตราจองตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้วที่บ้านที่สวนตามกฎหมายเบ็ด เสร็จ(บทที่ 42) ที่ดินมือเปล่า (ส.ค.1,น.ส.3) จะถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เช่น ก.ครอบครองที่ดินมือเปล่าอย่างเจ้าของมา 10 ปี ก.ก็คงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์จะต้องให้ศาลสั่งว่า ได้มาโดยครอบครองปรปักษ์แล้วนำคำสั่งศาลไปขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ประเภทได้มาโดยการครอบครอง หากเจ้าของได้โดยการครอบครองบางส่วนก็ไปขอจดทะเบียนในประเภทได้มาโดยการครอบ ครองเฉพาะส่วนหรือได้รับแบ่งมาโดยการครอบครอง

4.3 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยทางมรดกการจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดก ที่ดินมรดกนั้นต้องเป็นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เช่น โฉนดที่ดินถ้าที่ดินมรดกเป็นที่มือเปล่าเช่นที่ น.ส.3, ส.ค.1 ก็มีเพียงสิทธิครอบครอง ได้ทรัพย์มาโดยทางมรดกนี้จะต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเสียก่อนจึงจะ มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้เช่น นาย ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดให้นาย ข. เมื่อนาย ก. ตาย นาย ข. ก็ได้รับมรดกทันทีโดยผลของกฎหมายโดยไม่ต้องจดทะเบียนเนื่องจากพินัยกรรม มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หรือหากไม่มีพินัยกรมเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตายมรดกก็ตกไปยังทายาทโดย ธรรมทันทีแต่ต่อมาหากนาย ข.ต้องการขายที่ดินมรดกให้นาย ค. นาย ข.จะทำไม่ได้เพราะชื่อในโฉนดยังเป็นชื่อนายก. เจ้าของเดิมอยู่ นาย ข.จะต้องจดทะเบียน การได้มาประเภทมรดก ลงชื่อนาย ข. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะเอาที่ดินไปจดทะเบียนขายให้นาย ค. ต่อไปได้เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรค 2 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมสิทธิ์ของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ท่านว่าจะมี การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้"การได้มาทางมรดก ก็เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเช่นกัน (การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน,2552)

4.5 ข้อสังเกตเรื่อง “กรรมสิทธิ์รวม” ตาม ปพพ. “กรรมสิทธิ์ร่วม” (ไม่มีบัญญัติใน ปพพ. แต่บัญญัติไว้ใน พรบ.อาคารชุด พ.ศ.2522) และ หลักการให้สิทธิในที่ดินของรัฐ

ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ได้บัญญัติคำที่เกี่ยวกับ “ความเป็นเจ้าของ” โดยการ “ถือกรรมสิทธิ์” อยู่ ดังนี้

ในระบบเศรษฐกิจระบบทุนนิยม (Liberalism) มีหลักเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล ตามหลักปัจเจกชนนิยม (Individualism) กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล (ownership in private property) และ กรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ส่วนกลาง (co-ownership in common property) จะเห็นได้ว่ามีทรัพย์สินอยู่ 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินส่วนบุคคล (มิใช่ทรัพย์สินส่วนตัว ที่เรียกว่า personal property เช่น เสื้อผ้า แปรงสีฟัน หวี) กับ ทรัพย์สินส่วนกลางที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม ใน “หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด” (Housing unit document of life) จะเป็นหนังสือสำคัญที่แสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล (private property) และกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ส่วนกลาง (common property)

ศัพท์ความหมายที่แตกต่างระหว่าง “กรรมสิทธิ์ร่วม” กับ “กรรมสิทธิ์รวม” ใน “ทรัพย์สินส่วนกลาง”ตามศัพท์หรือศัพท์บัญญัติ (Technical term)และความหมายที่กฎหมายได้บัญญัติมีความหมายเพียงใด เพราะ ตามศัพท์บัญญัติ (คำแปล) ที่ กำหนดไว้ ทำให้น่าสับสน กล่าวคือ

ทรัพย์สินเป็น “ทรัพย์ส่วนกลาง” (อาจเรียกใหม่ว่าส่วนร่วม เพราะความเป็น “เจ้าของร่วม” มิใช่ “เจ้าของรวม”) แต่เป็น “กรรมสิทธิ์ร่วม” ทำให้นึกไปถึง “ทรัพย์สมบัติอันเป็นสาธารณะ” หรือ “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” (State property) เช่นที่ดินสาธารณะ ในที่นี้ “ที่ดินสาธารณะ” น่าจะมีความหมายว่าเป็น “กรรมสิทธิ์ร่วม” คือ ทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของ มิใช่ “กรรมสิทธิ์ร่วม” ในทรัพย์สินส่วนกลาง ซึ่งน่าจะคล้ายกับ “ทรัพย์สินส่วนรวม” (collective property) ที่มีรัฐเป็นเจ้าของ เอกชนไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ โดยเอาทรัพย์สินมารวมกันเป็นของรัฐ ทุก ๆ คน ต่างใช้สอยทรัพย์สินได้ทุกคน ความหมายเน้นไปทาง “สาธารณะ” เป็นหลักกรรมสิทธิ์ในรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หรือที่ไทยกำลังนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินสังคม โดยการออก “โฉนดชุมชน” ซึ่งไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่มีสิทธิใช้สอย ทำกิน และ ตกทอดเป็นมรดกแก่ลูกหลานได้ โดยนำหลักคิดเรื่อง “กรรมสิทธิ์เชิงซ้อน” ระหว่าง สิทธิ์ใน “ทรัพย์สินส่วนบุคคล” และ สิทธิ์ใน “ทรัพย์สินส่วนรวม” หรือ “ทรัพย์สมบัติของชุมชน” ซึ่งน่าจะมีความหมายรวมใน “ทรัพย์สินส่วนรวม” ในรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

ตามทฤษฎีความคิดดั้งเดิมของมาร์กซ์เกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์รวม คือ “การผลิตของสังคมนั้น สังคมจะต้องเป็นผู้ถือครองปัจจัยการผลิต” ประเทศสังคมนิยมจึงกำหนดรูปแบบการผลิตของประเทศโดยให้รัฐเป็นผู้ควบคุม ปัจจัยการผลิตทั้งหมด รูปแบบรัฐวิสาหกิจเพียงอย่างเดียว (ระบบกรรมสิทธิ์รวม) ภายใต้การกำกับของนโยบายเศรษฐกิจวางแผน

หากจัดวางเสรีนิยมใหม่กับคอมมิวนิสต์ เป็นแนวคิดสองขั้วตรงข้ามกันในเรื่อง กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชน โดยขั้วหนึ่งยึดมั่นว่ามันสัมบูรณ์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนอีกขั้วมุ่งปฏิเสธล้มล้างแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดประชาธิปไตยมีท่าทีในเรื่องนี้อยู่กลางๆ กล่าวคือไม่ปฏิเสธล้มล้างทรัพย์สินเอกชน แต่ขณะเดียวกัน ก็มุ่งจำกัดและกำกับขอบ เขตของมันด้วยสิทธิอำนาจของสังคมที่ทับซ้อนลงไป ถ้าพูดด้วยภาษาวัฒนธรรมชุมชนของอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คือสังคมประชาธิปไตยถือว่าทรัพย์สินเอกชนนั้นเป็น "สิทธิเชิงซ้อน" หมายความว่า ในภาวะธรรมชาติ บุคคลย่อมถือครองสมบัติ (possession) ใดๆ ที่ตนมีโดยลำพังต้องคอยปกป้องมันจากการแย่งชิงของผู้อื่นด้วยกำลังตนเอง การถือครองสมบัติของเอกชนในลักษณะดังกล่าวย่อมหาความมั่นคงยั่งยืนใดๆ มิได้ เพราะถ้าเจอปรปักษ์ที่ล่ำสันแข็งแรงหรือฉลาดเจ้าเล่ห์กว่าเข้ามาแย่งชิง เมื่อใด ก็ย่อมต้องสูญเสียไป มันจึงไม่แน่นอนมั่นคงพอจะนับเป็นทรัพย์สิน (property)ในกรรมสิทธิ์ของบุคคลได้ ภาวะล่อแหลมสุ่มเสี่ยงไร้หลักประกันในชีวิต

(เกษียร เตชะพีระ , 2551,Op.cit)

ในหลักกฎหมายอิสลาม ซึ่งถือเป็นกฎหมายศาสนา (canon law) ถือว่า ทรัพย์สินส่วนกลาง คือไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ เช่น ทรัพย์สินทางราชการที่เรียกว่า "ของหลวง" เป็นต้น ทรัพย์สินประเภทนี้ถือเป็น “สิทธิส่วนรวมทางสังคม” (หักกุ้ล-มุจญ์ตะมะอฺ) หรือเรียกอีกอย่างว่า "สิทธิของอัลลอฮฺ" (หักกุ้ลลอฮฺ) การดำเนินการในทรัพย์สินประเภทนี้ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม คือต้องเข้าสู่การดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยถือเอาคำตัดสินของศาลหรือองค์กรอิสระที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ป.ป.ช. เป็นต้น (อาลี เสือสมิง อัสสิยามีย์ , 2553)

4.6 ลักษณะของกรรมสิทธิ์ตามหลักสากล สู่ระบบกรรมสิทธิ์แบบใหม่ กรรมสิทธิ์ที่ดินชุมชน

หลักเด็ดขาด (Absolute)หลักมีลักษณะถาวร (Perpetual)และ หลักหวงกัน (Exclusive)

กรรมสิทธิ์ในทางสากล หมายถึงความเป็นเจ้าของ ที่มีเสรีภาพในการดำเนินการในทรัพย์สินนั้น ๆ อย่างไม่จำกัด เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์แห่งรัฐตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ข้อจำกัดของโฉนดชุมชน คือ ไม่ถือเป็น “กรรมสิทธิ์” ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากไม่สามารถซื้อขาย หรือจำหน่าย จ่าย โอน แก่กันได้ตามปกติ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกเป็นเพียงสิทธิครอบครองในที่ดินของรัฐ (ที่ดินสาธารณะ) ตามหลักประมวลกฎหมายที่ดิน

ในขณะที่การจัดการทรัพยากรแบบตะวันตกกำหนดให้ที่ดินเป็น “สมบัติของแผ่นดิน” จึงต้องมีการหวงแหนรักษาไม่ให้ใช้ประโยชน์ หรือเป็น “สมบัติของปัจเจกบุคคลหรือนิติบุคคล” กีดกันไม่ให้คนอื่นๆใช้ประโยชน์ ไม่ยอมรับว่าที่ดินเป็น “สิทธิเชิงซ้อน” และเป็น “สมบัติของชุมชน” เมื่อ ที่ดินไม่ได้เป็นของชุมชนจึงเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สืบทอดกันมา อย่างยาวนานจากที่ดินที่สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ได้กลายเป็นสินค้าที่สร้างกำไรและความร่ำรวย ค่านิยมที่ดีงามของบรรพบุรุษจึงค่อยๆหายไปจากสังคมไทย (เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย , 2553)

การระดมที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ใช่พื้นที่ป่าทั้งของรัฐและเอกชนมากองรวมกัน แล้ว

จัดสรรเป็นโฉนดชุมชนแจกจ่ายให้ไปทำมาหากิน (ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน) โดยมีเงื่อนเวลา

และเงื่อนการใช้ประโยชน์ หรือจัดตั้งธนาคารที่ดินซื้อที่ดินมาปล่อยต่อให้เกษตรกรผ่อนในระยะยาว (ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยเสนอแนวคิดคล้ายๆ แบบนี้ในเค้าโครงสมุดปกเหลืองเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว) แนวคิด "ธนาคารที่ดิน" จึงไม่ใช่ของใหม่ หรือเป็นนวัตกรรมทางนโยบายแต่อย่างใดเพียงแต่มันไม่เคยผลักดันให้สำเร็จเท่านั้นเอง (อนุสรณ์ ธรรมใจ , 2553)

จากปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิในที่ดิน จึงก่อเกิดแนวคิด “กรรมสิทธิ์ในที่ดินแบบเชิงซ้อน” ที่เรียกว่า “โฉนดชุมชน” ซึ่งเกษตรกรมีสิทธิในการทำมาหากิน ซ้อนกับสิทธิของชุมชนและสังคมในการควบคุมดูแลให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้อีกทางหนึ่ง

โดยการเปลี่ยนแปลงที่ดินจาก “ทรัพย์สินส่วนตัว” (Personal Property) มาเป็น “ทรัพย์สินทางสังคม” หรือ “ต้นทุนทางสังคม” (เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), 2552 ) ซึ่งแนวคิดนี้อาจมีผู้คิดว่าไปเหมือนกับแนวคิดของ “สังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์” ได้

ระบบ กรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นอยู่ในสังคมไทย ส่งผลสำคัญต่อปัญหาการกระจุกตัวของ

ที่ดิน การที่ภาครัฐยอมรับสิทธิที่ดินเพียงสองรูปแบบ คือ “ที่ดินรัฐ” และ “ที่ดินเอกชน” ที่เพิ่งถูกสถาปนาจากรัฐส่วนกลางเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา และละทิ้งระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหลักจารีตประเพณี อันเป็นกฎหมายดั้งเดิมที่คนท้องถิ่นถือปฏิบัติในชุมชนต่างๆ ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งในหลักการถือครองที่ดิน ในที่ดินที่คนท้องถิ่นยึดถือเป็นที่ดินของชุมชน ตามหลักการผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินคือผู้ถือสิทธิ์ กับที่ดินซึ่งรัฐส่วนกลางสถาปนาให้เป็นที่ดินของรัฐ

ใน ขณะที่ในที่ดินเอกชน ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชนได้ทำให้เกิดการถ่ายเทเปลี่ยนมือ

ที่ดิน โดยไร้การควบคุมและตรวจสอบจากฝ่ายใด ระบบกรรมสิทธ์ที่ดินเอกชน กลายเป็นระบบ

กรรมสิทธิ์ ที่ภาครัฐ หรือแม้แต่ชุมชน ก็ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่าย ควบคุม ตรวจสอบ การใช้

ประโยชน์หรือการไม่ใช้ประโยชน์ใดๆ ของเจ้าของที่ดินได้ ปัญหาการกว้านซื้อที่ดิน และเปลี่ยนมือที่ดินที่ผ่านมา จึงกลายเป็นปัญหาที่ไม่มีกลไกภาครัฐ หรือหน่วยงานทางด้านสังคมต่างๆ เข้ามารับผิดชอบแก้ไข

ระบบ “กรรมสิทธิ์ที่ดินเชิงซ้อน” เช่นนี้ สามารถป้องกันการกว้านซื้อที่ดิน การกระจุกตัวของที่ดิน และป้องกันการเปลี่ยนมือที่ดินจากเกษตรกรท้องถิ่น ไปสู่นายทุนภายนอกได้ ที่ดินที่อยู่ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ ที่ชุมชนสถาปนาขึ้นใหม่นี้ จึงเป็นที่ดินที่อยู่ภายใต้สิทธิของชุมชน

มิใช่สิทธิของรัฐ หรือสิทธิของเอกชนรายใดรายหนึ่ง ตามหลักประมวลกฎหมายที่ดินที่มีอยู่แต่อย่างใด หากถูกต้องตามหลักสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ที่ระบุว่าชุมชนท้องถิ่นใดก็ตาม มีสิทธิที่จะดูแล รักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นได้

(พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ,Ibid.)

5. โฉนดชุมชนแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชน

กว่าจะออกนโยบายมาเป็น “โฉนดชุมชน” นัยว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของประชาชนผู้ยากไร้ด้อยโอกาส ต้องมาลำดับความเป็นมา เบื้องหลัง สาเหตุ ต่าง ๆ ที่เป็นตัวผลักดันในเรื่องนี้เสียก่อน

5.1 การก่อกำเนิดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท.

(Thai Asset Management Corporation – TAMC)

จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างกิจการ โดยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ของสถาบันการเงินและบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย รวมทั้งสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น หรือ โดยการใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ

นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินใน ภูมิภาคเอเชียในปี 2540 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างรุนแรง การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวส่งผลให้ ค่าเงินบาท อ่อนตัวลงอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันการเงินและภาคธุรกิจต่อเนื่องเป็น ลูกโซ่ สถาบันการเงินมีภาระการกันสำรองและต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ผลประกอบการยังขาดทุนสูงจากภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและรายรับจากการปล่อย สินเชื่อที่ลดลง เนื่องจากสถาบันการเงิน ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเป็นพิเศษ ส่งผลให้ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถดำ เนินการต่อไปได้อย่างปกติ ด้วยเหตุนี้ ลูกหนี้ของสถาบันการเงินจึงไม่สามารถชำระสินเชื่อได้ ส่งผลให้สิน เชื่อเหล่านี้ได้กลายเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan - NPL) เป็นจำนวนมาก โดย มี NPL สูงสุดจำนวน 2.7 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 47.7 ของสินเชื่อรวมของสถาบันการเงิน ณ สิ้น เดือนพฤษภาคม 2542

กระทรวงการคลังจึงได้แต่งตั้ง "คณะทำงานเพื่อการจัดตั้งสำนักงาน บริหารสินทรัพย์กลาง" เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2544 โดยมีนายทนง พิทยะ เป็นประธาน และมีผู้แทน จากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรดังกล่าว รูปแบบและโครงสร้างขององค์กร รวมทั้งแนวทางในการบริหารงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

การเกิดขึ้นมาของ บสท. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินด้อยคุณภาพ หรือ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (Non-Performing Loan) นับเวลาถึงปัจจุบันเป็นเวลา เกือบ 10 ปีแล้ว และคาดว่า บสท.น่าจะปิดตัวลงในปี 2554 นี้

5.2 การเคลื่อนไหวขององค์กรเอกชนเพื่อสิทธิมนุษยชนและสังคม (เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย -คปท.)

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร คนจนไร้ที่ดินทั้งที่อยู่ในชนบทและเมือง ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลางของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 โดยมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนโครงสร้างการถือครองที่ดินให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืน

จุดร่วมของเครือข่าย คือการเรียนรู้ระหว่างกัน โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มคนไร้ที่ดินในทุกระดับ การผลักดันให้ภาครัฐกำหนดนโยบายปฏิรูปที่ดินให้กับชาวนาที่ไม่มีที่ดินและคนยากจนที่ต้องการที่ดินทำกินเป็นของตนเอง นอกจากนี้เครือข่ายได้เริ่มต้นพัฒนารูปแบบการจัดการที่ดินโดยชุมชน การจัดสรรโฉนดที่ดินชุมชน การพัฒนารูปแบบเกษตรกรรมทางเลือก เพื่อพิสูจน์ศักยภาพชุมชนในการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เพื่อที่ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรรายย่อยจะสามารถผลิตอาหารหล่อเลี้ยงครอบครัว ชุมชนและสังคมได้

กิจกรรมการเคลื่อนไหว ของ คปท.ที่สำคัญ ก็คือ การเคลื่อนไหวในเรื่อง “โฉนดชุมชน” และ “ธนาคารที่ดินของชุมชน” และ การต่อสู้ในเรื่องที่ทำกินให้แก่เกษตรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ทำกิน รวมถึงการต่อสู้เรื่องการประกาศเขตที่ดินของทางราชการที่ทับซ้อนที่ทำกินของราษฎร

5.3 การบุกยึดทรัพย์สิน และการต่อต้านการขายทรัพย์สินราคาถูกของ บสท.

จากข่าวโพสต์ทูเดย์เมื่อ 28 กรกฎาคม 2553 (“ผ่าทางตันปฏิรูปที่ดิน”,โพสต์ทูเดย์ ,2553) ระบุว่า กลุ่มเครือข่ายประชาชนได้บุกเข้ายึดที่ดินบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ลุกลามจาก 19 จังหวัดภาคอีสาน กระจายไปทั่วประเทศอีก 20 จังหวัด การบุกรุกเข้ายึดพื้นที่การครอบครองที่ดินเปล่าของ บสท.ทั้งหมดรวม 5 แสนไร่ ที่เป็นข่าวรุนแรงก็คือ ในท้องที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย บุรีรัมย์ สระแก้ว จังหวัดอุดรธานี สุรินทร์ นครราชสีมา มุกดาหาร โดยอ้างว่า ได้ตกลงซื้อที่ดินกับ บสท.ไว้แล้ว หรือการรอรัฐบาลจัดซื้อที่ดินจาก บสท. แล้วนำจัดสรรให้กับราษฎรบ้าง รอผลก

รอผลการเจรจาต่อรองที่กลุ่มแกนนำไปเจรจากับรัฐบาลเพื่อขอใช้พื้นที่จัดสรร ให้กับประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินบ้าง หรือรับไม่ได้ที่มีการขายที่ให้ต่างชาติจึงเข้าจับจองพื้นที่ไว้ก่อน หรือ เชื่อว่า บสท. ซึ่งกำลังจะปิดตัวลงในปี 2554 จึงต้องรีบระบาย ทรัพย์ที่เป็นที่ดินว่างเปล่าดังกล่าวออกขายในรูปแบบประมูลราคาถูกไม่ต่ำ กว่า 50% ให้กับนายทุน และในที่สุดที่ดินเหล่านี้ก็ไม่กระจายถึงมือประชาชนแต่กลับตกอยู่ในมือของ นายทุนเพียงกลุ่มเดียว ไม่เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดจากวิกฤติการณ์ที่ดินสมัยฟองสบู่แตก เมื่อปี พ.ศ.2540 ทำให้มีหนี้เสีย (NPL) มาก บสท.จึงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อมาจัดการทรัพย์สินที่เป็นหนี้เสียเหล่านี้ ประกอบกับข่าวที่จะมีการปิด บสท.ลงในปี 2554 ทำให้กลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินถือโอกาสเข้ายึดครองที่ดินของ บสท.

เหตุผลข้ออ้างที่ชาวบ้านต้องรวมตัวเข้าบุกยึดที่ดิน หากย้อนดูคำมั่นสัญญารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แถลงต่อรัฐสภา ประกาศนโยบายประชานิยมเมื่อ 30 ธันวาคม 2551 ว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน โดยการออก “โฉนดชุมชน” และ “ธนาคารที่ดิน” การจัดหาที่ดินให้กับคนยากจนให้มีที่ทำกิน มีที่อยู่อาศัยยังขาดความชัดเจนและล่าช้า ทำให้เกิดความเข้าใจผิด รวมทั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีหน้าที่จัดที่ดินและที่อยู่อาศัยให้กับเกษตรกร บกพร่องไปหรือไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร นี่อาจจะเป็นการสะท้อนผลงานของรัฐบาล มุ่งที่จะประกาศนโยบายประชานิยม แต่ยังสร้างความสับสน และมีการกระทำความผิดกฎหมายโดยไม่เกรงกลัวบทลงโทษ และเชื่อในพลังกฎหมู่ที่จะชนะกฎหมาย

ปรากฏการณ์ในช่วง3-4 เดือนที่ผ่านมา ข่าวแกนนำประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลางบุกเข้า ยึดครองที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะท้าทายและน่าจะเป็นบททดสอบได้เป็นอย่างดีว่า "โฉนดชุมชน" ทางเลือกใหม่ที่รัฐบาลชุดนี้นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และการบุกรุกที่ดินของรัฐ สามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ไขวิกฤตข้อพิพาทเกี่ยวกับปัญหาที่ดินของประเทศได้ ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ เพราะการเข้าบุกรุกยึดครองที่ดินของ บสท. เป็นเวลาห้วงเดียวกับการประกาศใช้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 (มีผลใช้บังคับ 11 มิถุนายน 2553)

ล่าสุด มีข่าวว่า บสท.ได้หารือร่วมกับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มเครือข่ายประชาชน 4 ภาค บุกยึดที่ดินซึ่งเป็นสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของ บสท. เนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ ใน 13 จังหวัดภาคอีสาน ได้ข้อสรุปว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ได้ประสานงานให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เข้ามารับซื้อที่ดินจาก บสท. 30,000 ไร่ทั่วประเทศ รวมมูลค่า 3,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยไร่ละ 50,000 บาท โดยคัดที่ดินที่มีขนาด 25 ไร่ขึ้นไป เพื่อนำไปจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรต่อไป พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านที่บุกรุกมีการขึ้นทะเบียน ไว้อย่างถูกต้อง (“รัฐซื้อที่ดินบสท. 3 หมื่นไร่แจกคนจน-แก้ปัญหาโดนบุกยึด,”6 กันยายน 2553)

5.4 เนื้อแท้ของ “โฉนดชุมชน” คือ การจัดสรรที่ดินของรัฐทุกประเภทให้แก่ประชาชน

รัฐบาลอาจสร้างความสับสนให้แก่ประชาชน เนื่องจาก การแก้ไขปัญหานี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ทำกินของประชาชนผู้ยากไร้ ยากจน ด้อยโอกาส ที่จะได้มีที่ทำกินของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงหลักกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ตามกฎหมายในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมแบบทุนนิยม

“ศัพท์ความหมายที่นำมาใช้” ใกล้เคียงกับคำว่า “โฉนดที่ดิน” ตามหลักประมวลกฎหมายที่ดิน อาจทำให้ประชาชนสับสน แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นกลยุทธ์ของรัฐบาลในการสร้างภาพ ตามนโยบาย “ประชานิยม” ได้เป็นอย่างดี หาได้มี “กรรมสิทธิ์” สมบูรณ์ตามหลักกฎหมายไม่ ประกอบการรุกลี้รุกรนออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาบังคับใช้ แทนที่จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือ พระราชบัญญัติ แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งนับว่าเป็นกลวิธีการหาเสียงของรัฐบาลในการหาเสียงอย่างแยบยลรีบชิงคะแนนเสียง ก่อนที่จะปิดฉากตัวเองเพราะสถานการณ์การเมืองที่ย่ำแย่ รวมไปถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ หรือ การรอยุบสภา

เพราะเนื้อแท้ก็คือการนำ “ที่ดินของรัฐ” คือ ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท มาจัดสรรให้แก่ประชาชน ตามความหมายใน ข้อ 3 แห่ง ระเบียบฯ อาทิเช่น

ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สงวนหวงห้ามของรัฐ ที่สาธารณประโยชน์ รวมถึงที่ราชพัสดุ และที่ดินซึ่งรัฐได้มาโดยธนาคารที่ดิน ตามคำนิยาม ดังนี้

"ที่ดินของรัฐ" ว่า หมายถึงที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท ได้แก่ ที่ดินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุที่อยู่ ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเสื่อมโทรม ที่ดินที่ประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นต้น

5.5 สถานะทางกฎหมายของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน

นายกรัฐมนตรีให้อำนาจตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ออกระเบียบนี้เพื่อใช้บังคับไปก่อน เนื่องจากพบว่า การเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติโฉนดชุมชน” ไม่สามารถดำเนินการในกระบวนการนิติบัญญัติได้ แม้จะมีความพยายามในการเสนอเข้าสู่สภาแล้วก็ตาม จึงเกิดการผลักดันแนวทางนี้ทั้งในภาคองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ขึ้น รวมทั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ และ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 2 ชุดคือ คณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานฯ จะสังเกตได้ว่าในรอบก่อนหน้านี้ประมาณ 3 – 4 ปี ก็มีการปลุกกระแส การแก้ไข “ปัญหาที่ดินทำกิน” โดยองค์กรพัฒนาเอกชน และ กลุ่มองค์กรชุมชนต่าง ๆ เช่น เครือข่ายคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) มาอย่างต่อเนื่อง จึงมาถึงบทสรุปเรื่อง “โฉนดชุมชน” ตามแนวทางที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 และ เพิ่งประกาศเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป

นับว่าเป็นการเริ่มแรกของการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฯ ซึ่งต้องรีบบริหารประเทศให้ทันต่อวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต่อไปในอนาคตสถานะทางกฎหมาย และ การบังคับใช้กฎหมาย จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็น “พระราชกฤษฎีกา” หรือ “พระราชบัญญัติ” ให้ถูกต้อง และ สามารถบังคับใช้ในทางกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์

5.6 ธนาคารที่ดิน กองทุนเพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย

เนื่องจากโฉนดชุมชนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือป้องกันการเปลี่ยนมือหรือการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร แต่ข้อเสียคือหากเกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ จะนำที่ดินเหล่านี้ไปเป็นหลักทรัพย์ได้อย่างไร ในกรณีนี้ “ธนาคารที่ดิน” ของชุมชนก็จะเข้ามาทำหน้าที่ (พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ,2553, Ibid.)

กองทุนธนาคารที่ดินที่มีการจัดตั้งกันในระดับชุมชน มีแนวคิดการจัดตั้งที่สำคัญคือ

1) จัดหาและซื้อที่ดินให้กับเกษตรกรรายย่อยและคนยากจน

2) ปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน ให้เป็นการใช้ที่ดินที่มีความยั่งยืน

3) รักษาและคุ้มครองที่ดินที่เหมาะสมเพื่อการทำที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองและการทำเกษตรกรรม

4) สนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาการเกษตรที่สอดคล้องกับนิเวศวิทยา ภูมิปัญญาวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

5) สนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน

ซึ่งปัจจุบันแนวคิดนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 30 กันยายน 2553 นี้ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (ธนวัฏ เสือแย้ม ,2553)

5.7 การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีทรัพย์สิน)

ระบบ การจัดการที่ดินเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่ง ปัจจุบัน การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในบางกลุ่มและการทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ การแก้ไขปัญหาโดยการจัดระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ โดยการออก “พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....” มีหลักการเก็บภาษีทรัพย์สินด้วย จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยใช้อัตราภาษี “ก้าวหน้า” ซึ่งขณะนี้รัฐบาล โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กำลังดำเนินการระดมความคิดเห็นจากส่วนราชการโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายในวันที่ 30 กันยายน 2553 นี้

สังคมไทยในปัจจุบัน คนที่ซื้อที่ดินจำนวนมากมาเพื่อการเก็งกำไร ไม่ได้มีต้นทุนในการ

ถือครองที่ดิน สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นักเก็งกำไรและคนที่มีเงินจำนวนมาก จึงนิยมซื้อที่ดินมากักตุนไว้ เพื่อหวังผลกำไรจากการขายที่ดินเหล่านี้ในอนาคตข้างหน้า พฤติกรรมเช่นนี้ก่อให้เกิด

ผลกระทบกับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทำให้ถูกกว้านซื้อที่ดินได้ง่าย

การ “เก็บภาษีที่ดิน” เป็นหนึ่งในมาตรการสร้างต้นทุนในการถือครองที่ดินให้กับผู้ที่ซื้อที่ดินมา เพื่อการเก็งกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ได้นำที่ดินเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ การจัดเก็บภาษีที่ดิน ในทางหนึ่งนอกจากจะสามารถเป็นรายรับของรัฐส่วนกลางและรัฐท้องถิ่นแล้ว จึงยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินให้มีความเท่าเทียมกันมาก ยิ่งขึ้นในสังคมไทย

ประกอบกับปัจจุบันมีปัญหาในการจัดเก็บภาษีที่ดิน และ ทรัพย์สิน เพื่อให้เป็นระบบในการบริหารจัดการภาษีที่ถูกต้อง รัฐต้องรีบออก “พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีทรัพย์สิน)” โดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมระบบการถือครองที่ดิน และทรัพย์สินให้เป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นตัวเสริมให้ ระบบ “กรรมสิทธิ์ชุมชน” หรือ “กรรมสิทธิ์เชิงซ้อน” (โฉนดชุมชน) เป็นไปอย่างมีประสิทธิ์ภาพ ที่ดินไม่กระจุกตัวการถือครอง และ ไม่ตกไปอยู่ในมือของนายทุน หรือผู้มีสถานะทางสังคมและการเมืองที่ได้เปรียบ

อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายภาษีที่ดินและทรัพย์สิน อาจมีอุปสรรคได้รับการต่อต้านจากนายทุนผู้มีอำนาจในระบบเศรษฐกิจการเมือง ฉะนั้น รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ และ วางแผนการณ์ในการดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ

5.8 ปัญหาเร่งด่วนในเรื่องที่ดินของรัฐบาล

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า เรื่องด่วนที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการมี 2 เรื่อง คือ “เรื่องโฉนดชุมชน” กับ “เรื่องการฟ้องร้องคดีที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ป่า ที่สาธารณะประโยชน์” โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับกรมป่าไม้ เป็นเรื่องด่วนที่รัฐต้องหยุดการฟ้องร้องชั่วคราวก่อน แต่ไม่ได้หมายถึงการยกเลิกฟ้องร้องคดี หากรัฐบาลควรเร่งทำเรื่องการพิสูจน์สิทธิ เพื่อสร้างความเป็นธรรมก่อน เพื่อพิสูจน์สิทธิตามความเป็นจริงที่แท้จริงก่อน ให้ชาวบ้านมีโอกาสในการพิสูจน์และเกิดความเป็นธรรม ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไขโดยเร็ว เฉพาะหน้า และทันที (เยาวเรศ หยดพวง , 2553)

5.9 การคัดค้านแนวคิด “โฉนดชุมชน”

แม้ว่ารัฐบาล และองค์กรเครือข่ายประชาชนจะพอใจกับการออกโฉนดชุมชนของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนก็ตาม แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อในแนวคิดลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมสมัยใหม่ที่กำลังครอบงำโลกดังกล่าวแล้วแต่ตอนต้น

ดร.โสภณ พรโชคชัย (โสภณ พรโชคชัย , “โฉนดชุมชน เรื่องวิบัติที่ต้องคัดค้านอย่างถึงที่สุด”, 2552) มีแนวคิดคัดค้านการออก ‘โฉนดชุมชน’ ของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องวิบัติที่จะสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติในอนาคต เปรียบเสมือนการออกโฉนดชนเผ่าแบบประเทศด้อยพัฒนา ทั้งที่ประเทศไทยก็มีโฉนดที่ดินให้บุคคลและนิติบุคคลถือครองมานับร้อยปีอยู่แล้ว และถือเป็นการแก้ปัญหาผิดจุดเป็นอย่างยิ่ง และได้เสนอแนวคิดและมุมมองให้รอบคอบก่อน ‘โฉนดชุมชน’ จะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ ด้วยเหตุผลเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้:

1. ป่าเสื่อมโทรมนั้น ไม่ควรให้ใครไปอ้างสิทธิ์เอาแผ่นดินของ “ส่วนรวม” ไปครอบครองเป็น “ส่วนตัว” อย่างเด็ดขาด จะอ้างความจนมาปล้นแผ่นดินไม่ได้ เราควรเอาป่าเสื่อมโทรม มาปลูกป่าในเชิงพาณิชย์เพื่ออนาคตของประเทศชาติในอีก 50-100 ปีข้างหน้า ไม่ใช่กลายเป็น ‘ของโจร’ มา ‘แบ่งเค้ก’ กันไปโดยคนที่อยู่ใกล้ ๆ ถ้าปลูกป่าแล้วมีคนบุกรุก หรือทุกวันนี้มีคนพยายามทำลายป่าสมบูรณ์ให้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ก็ต้องป้องปราม ไม่ใช่ ‘ยกประโยชน์ให้จำเลยไป’ หรือกลับไปคิดให้คนบุกรุกดูแลป่า ซึ่งเท่ากับ ‘ฝากปลาไว้กับแมว’

2. คนจนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ควรทำไร่-นา เพราะไม่มีระบบชลประทาน น้ำท่าก็ไม่สมบูรณ์ ปกติคนชนบทส่วนมากก็มีรายได้จากเกษตรกรรมเป็นรอง รายได้นอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว การให้แต่ละครอบครัวครอบครองกันคนละ 5-30 ไร่ ขึ้นอยู่กับการจับจองตามอำเภอใจ คงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ทุกวันนี้ บ้านชนบท ก็ไม่ค่อยได้ประกอบการอะไรมาก อยู่แต่เด็กและคนแก่เป็นจำนวนมาก และกลายเป็นเสมือน ‘รีสอร์ท’ ให้ญาติพี่น้องที่มาทำงานตามเมืองใหญ่ กลับไป ‘ชาร์ตแบตฯ’ เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว

3. ถ้าคนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ค่อยมีรายได้และยากจน รัฐบาลก็ควรหาทางสร้างงานทางอื่น ไม่ใช่ปล่อยให้ไปครอบครองที่ดินกันครอบครัวละมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งอาจเป็นงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่น ๆ จะสงวนให้พวกเขาอยู่ตามอัตภาพเช่นนี้ในสภาพที่ไม่เหมาะสมและเป็นการไม่ควร สาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น โรงเรียนประถม สถานีอนามัย ก็ต้องขยายออกไปอย่างไม่สิ้นสุด สิ้นเปลืองทรัพยากร เพราะคนใช้บริการก็น้อย สมมติให้ครอบครัวหนึ่งหาของป่าออกมาได้ 200 บาทต่อครัวเรือน และหากนับรวมค่ากินอยู่จากสิ่งที่หาได้ในป่าแล้ว เป็นเงินครัวเรือนละ 5,000 บาท หรือปีละ 60,000 บาท หากชุมชนชาวเขาหนึ่งมี 50 หลังคาเรือน ก็จะเป็นเงิน 3 ล้านบาท เชื่อว่าในปีหนึ่ง ๆ ความสูญเสียของป่าไม้เพื่อการยังชีพของพวกเขา คงมหาศาลกว่านี้ หากจ้างให้พวกเขาอยู่เฉย ๆ ไม่ทำลายป่า คงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมกว่านี้

4. กรณีชาวเขา ที่มักนำมาอ้างว่าไม่ได้ทำลายป่าจากการปลูกไร่เลื่อนลอย (หมุนเวียน) นั้น คงเป็นชาวเขากลุ่มเล็ก ๆ แต่เดี๋ยวนี้ชาวเขามีมากมาย ป่าไม้คงไม่พอให้พวกเขาหาเลี้ยงชีพ คนชาวเขาจำนวนมากก็ทำงานในเมือง เช่นคนชนบททั่วไป ชาวเขาที่หาของป่า จับสัตว์ป่ามาขาย ควรหรือที่จะทำเช่นนี้ และนี่หรือคือคนที่จะพิทักษ์ป่า บางทีการจ้างให้พวกเขาอยู่เฉย ๆ ไม่ให้บุกรุกป่า และทำหน้าที่ช่วยรักษาป่า ยังดีกว่าปล่อยให้พวกเขาบุกรุกป่าเช่นนี้

5. กรณีป่าสงวนออกมาทับซ้อนกับที่ดินของผู้ที่ครอบครองไว้ก่อน ก็เป็นปัญหาที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะแก้ไข จะถือมาเป็นข้ออ้างเพื่อสุมให้ดูมีปัญหามากมาย เพื่อจะได้ออกกฎหมายป่าชุมชน เป็นสิ่งที่ต้องทบทวน ถือเป็นเล่ห์เพทุบายที่ไม่ตรงไปตรงมา สำหรับคนที่อยู่ป่ามาก่อนประกาศเป็นเขตป่า รัฐบาลก็ยินดีออกเอกสารสิทธิ์ให้อยู่แล้ว หรือสามารถต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมได้ แต่ผู้ที่มาบุกรุกภายหลัง ถือว่าเป็นผู้บุกรุก ไม่ควรให้อยู่ หาไม่ใครต่อใครก็จะมาอ้างสิทธิ์ไม่สิ้นสุด

6. ผู้สนับสนุนเรื่องโฉนดชุมชน ยังอ้างว่า คนจนที่บุกรุกอยู่ในเมือง ก็ควรจะได้รับโฉนดชุมชนเช่นกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดส่วนมาก ไม่ได้เป็นคนจน และโดยเฉพาะชุมชนประเภทบุกรุกอยู่ฟรีบนที่ดินของคนอื่นมา 2 ชั่วคนแล้ว ทำผิดกฎหมายและได้ประโยชน์มาโดยตลอด ยังจะถือโอกาสจะอ้างสิทธิ์ให้มีโฉนดชุมชนอีกหรือ ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปที่ก่อร่างสร้างฐานะขึ้นมา ต้องไปซื้อบ้านชานเมืองไกล ๆ ตอนเช้าก็ออกจากบ้านตอนตีห้าเพื่อเลี่ยงรถติด กว่าจะกลับถึงบ้านก็สองทุ่ม ส่วนคนที่บุกรุกอยู่ใจกลางเมือง ยิ่งถ้าใกล้รถไฟฟ้า ยิ่งสบายใหญ่ แถมรัฐบาลยังจะให้สิทธิ์อยู่ฟรีไปอีกไม่สิ้นสุด อย่างนี้คงไม่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

7. มีตัวอย่างชุมชนแออัดแห่งหนึ่งที่หลายฝ่ายที่ไม่รู้ก็ยกย่องว่าเป็นชุมชนที่ดี โดยรัฐบาลอนุญาตให้คนเหล่านี้ที่บุกรุกที่ดินของส่วนรวมอยู่ฟรีมา 2 ชั่วคน ได้รับสิทธิเช่าอยู่แบบถูก ๆ แบบถูกกฎหมาย แถมจัดระเบียบบ้านให้ดูสวยงาม มีสวนหย่อมน่ารัก แล้วสุดท้ายก็สรุปว่าชุมชนประเภทนี้ทำดี เป็นชุมชนพอเพียง ทั้งที่นี่คือการ ‘ปล้น’ สมบัติของชาติและส่วนรวมไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง

8. เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับองค์กรชุมชนบางคนถึงขนาดเขียนบทความสนับสนุนโฉนดชุมชนว่า ชาวบ้านที่บุกรุกที่ดินของเอกชนควรได้รับโฉนดชุมชนบนที่ดินที่ตนบุกรุกอยู่โดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ หรือเป็นที่ดินที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ นี่เป็น ‘อาชญากรรม’ การปล้น การละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัด การปล้นไม่ใช่การทวงถามความเป็นธรรม จึงเป็นบาป หากมีโฉนดที่ดินในลักษณะนี้ก็เท่ากับสร้างอนาธิปไตยให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย แผ่นดินนี้ก็จะลุกเป็นไฟ ประเทศก็จะมีแต่ความวิบัติ บรรพบุรุษของเรา ตั้งแต่ระดับกษัตริย์ ข้าราชการ (ที่ดี) และประชาชนที่สละชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ก็คงต้องเสียใจกันขนานใหญ่แน่นอน การไปเบียดบังสมบัติของแผ่นดิน ที่หลวง มาเป็นของตนเองโดยถือว่าอยู่ใกล้ เหยียบย่ำเอาตามใจชอบ มันเป็นบาปที่ปฏิเสธไม่ได้ และอาจเป็นเพราะเหตุนี้จึงไม่เป็นมงคลต่อชีวิต ทำมาค้าขายอะไรก็ไม่ขึ้น และยังอาจเป็นบาปติดตัวไปถึงลูกหลาน บาปมากหรือน้อย ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะดีกว่าทำบาปต่อไป หรือถ้าได้ทำบาปไปแล้ว ก็ต้องรู้จักลด ละ เลิก ไม่เช่นนั้น จะไม่พบกับบั้นปลายที่ดีงาม

9. กรณีบ้านสระพัง ต.บางเสาธง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราชที่ชาวบ้านครอบครองที่ดิน 1,600 ไร่มาตั้งแต่ปี 2491 นั้น รัฐบาลก็ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะที่นี้ ไม่ใช่กลายเป็นต้นแบบการทำโฉนดชุมชนในบริเวณอื่นทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนไปใหญ่ ทางราชการมีโฉนดตราครุฑ แต่ที่นี่มี ‘โฉนดช้างดำ’ ถ้ามองให้ลึกซึ้งถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐซึ่งเป็นของประชาชนคนส่วนใหญ่ชอบกล ในหลาย ๆ กรณีเช่นนี้ รัฐบาลก็สามารถให้ชาวบ้านเช่าที่ดินได้ในระยะยาว พวกเขาจะได้เอาที่ดินไปจำนองหรือทำนิติกรรมต่าง ๆ เช่นกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ด้วย

10. ถ้าหน่วยงานของรัฐบางหน่วยจะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรณีชาวบ้านบุกรุกป่าสงวน ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน นั้น ไม่ควรไปเพียงสร้างผลงาน และกลายเป็นการกึ่งรับรองสิทธิ์ของการบุกรุกไปเสีย เพราะการแก้ไขปัญหาในภายหลัง จะทำได้ยากขึ้น แต่กรณีใดที่สมควรประชาชนได้เช่าให้ถูกต้อง หรือให้หนังสือแสดงการครอบครอง ก็อาจเป็น สปก.4-01 ให้ได้เช่นกัน

11. ในบางกรณีถึงกับมีการอ้างอิงการแก้ปัญหาที่ดินชายฝั่งทะเลอันดามัน ภายหลังเกิดสึนามิ นั้น แต่เดิมชาวบ้านทั่วไปก็มีเอกสารสิทธิ์อยู่แล้ว ส่วนผู้บุกรุก ก็ควร ‘พอ’ เสียที ไม่ใช่ยังจะอ้างสิทธิ์ที่ไม่พึงได้ต่อไปอีก นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่ากรณีสึนามิที่มีองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กร NGO และองค์กรอาสาสมัครต่าง ๆ เข้าไปมากมายนั้น เชื่อว่างบประมาณที่ใส่เข้าไป อาจรวมเป็นนับพันนับหมื่นล้านไปแล้ว แต่ก็แทบไม่ได้เห็นโภคผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และจนบัดนี้ก็ยังมีเรื่องให้ทำไม่มีวันจบสิ้น ประหนึ่งเป็นการ ‘หากิน’ กับสึนามิชอบกล

12. ในการแก้ไขปัญหานั้น ควรแก้เป็นจุด ๆ ไม่ใช่เหวี่ยงแหออกกฎหมายใช้ไปทั่ว ที่ไหนประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องต่อสู้อย่างสันติ เช่น กรณียายไฮ ไม่ใช่เห็นนายทุนปล้นชาติ คน (อยาก) จน ก็จะปล้นชาติบ้าง กรณีออกกฎหมายคลุมไปทั่วนั้น อาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบได้ คล้ายกรณี สปก.4-01 ที่ถือโอกาสแจกที่ดินให้คนรวยไปด้วย หรือการออกกฎหมายโฉนดชุมชนนี้คือการปูทางสู่การปล้นแผ่นดินดังกล่าว

13. แม่น้ำหนองบึงในย่านชุมชน ก็ล้วนเป็นของส่วนรวม แต่ไม่ใช่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เพราะถ้าเช่นนั้น ชุมชนอื่น ก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ในการใช้สอยด้วย กลายเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา ของหลวงหรือของส่วนรวม คือสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ให้ใครอยู่ใกล้ทรัพยากร ก็มือใครยาว สาวได้สาวเอา เราต้องคิดเสียใหม่ว่า ของที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรถือครอง ไม่ว่าตนจะเป็นคนรวยหรือคนจน ของส่วนรวม ของหลวงก็คือของที่ต้องรักษาไว้เพื่อทุกคน

14. การให้คนมีที่ดินเป็นของตนเอง ควรพ้นสมัยได้แล้ว มีที่ดีก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป บางคนพอได้ที่ดินเป็นของตนเอง ก็เอาไปขาย เพราะพวกเขาไม่เคยอาบเหงื่อต่างน้ำจนหาซื้อมาเองได้ แต่ได้จากการแจก พวกเขาจึงขาด Sense of Belonging (ความรู้สึกเป็นเจ้าของ) จึงขายไป แสดงว่าเราไม่ควรแจกที่ดินให้ใคร และการแจกที่ดินไม่ใช่ทางออกของปัญหา และขนาดที่ดินของตนเองยังรักษาไว้ไม่ได้ โฉนดชุมชนก็คงหาคนรักษาได้ยาก อาจกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือหากเป็นกรณีผู้นำชุมชนที่ทุจริต ในอนาคตก็อาจได้เห็นภาพที่เอาโฉนดชุมชนไปให้คนอื่นหรือนายทุนเช่าต่อไปก็ได้ กลายเป็นที่ตั้งโรงสี โรงเลื่อยหรือโรงงานอะไรไป รายได้ก็เข้าทำนอง ‘วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง’ อย่างที่เห็นอยู่ทั่วไป

15. เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แทบไม่มีหมู่บ้านชาวเขาอยู่บนเขาเลย แต่เดี๋ยวนี้มีมากมาย บุกรุกกันเพิ่มแทบทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี จึงคงเป็นไม่ได้ได้ที่จะให้ขยายตัวอย่างนี้ บางแห่งกลายเป็น อบต. กลายเป็นเมืองไปแล้ว อย่างนี้จะบอกว่าชาวเขาอยู่อย่างพอเพียงไม่ขยายตัวได้อย่างไร เราจึงควรจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ในเวียดนามเมื่อปลายเดือนกันยายน 2552 ก็อพยพย้ายคนนับแสน ๆ เพื่อหนีพายุ คนนับล้านที่อาจต้องย้ายออกจากป่า ถ้าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อนแบบหนีพายุ ก็น่าจะสามารถทำได้ เชื่อว่า ในจีน ลาว เขมร เวียดนามหรือมาเลเซีย เขาคงไม่ปล่อยให้มีการบุกรุกป่ากันตามอำเภอใจเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา เราอาจต้องไปดูงานการจัดการป่าไม้ของประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าไปดูงานที่ยุโรปและอเมริกาเสียแล้ว

16. ในการจัดการปัญหาของชาตินั้น ทางราชการต้องดำเนินการโดยเด็ดขาดโดยไม่เลือกปฏิบัติ จะย่อหย่อนจนปัญหาลุกลามเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ คนที่รับราชการมาจนได้ดิบได้ดีใหญ่โต ได้ลาภยศมากมาย แต่กลับปล่อยให้แผ่นดินไทยถูกปล้นชิงโดยเสมือนไร้ขื่อแป สมควรได้รับการประณามเป็นอย่างยิ่ง เราต้องปกครองกันโดยกฎหมายให้เคร่งครัด ไม่ใช่ให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย พวกมากลากไป เสียงดังไว้ก่อน หรือมือใครยาว สาวได้สาวเอา

17. ในประเทศสังคมนิยม ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน เวียดนาม เขาก็เลิกระบบนารวมกันไปแล้ว เรายังจะย้อนยุคไปถึงโฉนดชุมชนเสียอีก การแก้ไขปัญหาของชาตินั้น แน่นอน เราก็ควรฟังเสียงของผู้สูญเสียผลประโยชน์ และหากเขาได้รับผลกระทบ ก็ต้องชดเชยกันให้เต็มที่ แต่จะฟังแต่คนเดือดร้อน โดยไม่นำพาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และประเทศชาติ ก็เท่ากับเรานำพาแต่กฎหมู่ ในมาเลเซีย หากรัฐบาลมีโครงการพัฒนาใด ๆ ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับค่าทดแทนที่จ่ายให้ เพราะเขาต้องการให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม แต่จะมาโหวกเหวกโวยวายไม่เห็นด้วยกับโครงการ ไมได้เด็ดขาด แต่ของไทย หากจะทำอะไรแต่ละที กลับไปถามแต่ผู้สูญเสียประโยชน์ส่วนน้อย อีกไม่ช้าประเทศไทยต้องด้อยกว่าเพื่อนบ้าน (ยกเว้นพม่า) อย่างแน่นอน

ในท้ายสุดของบทความนี้ ได้ยกความเห็นของผู้อ่านบทความที่ ดร.โสภณได้ทดลองเผยแพร่ไว้ก่อนในหนังสือพิมพ์ online ประชาไท ว่า:

เลิกมันซะที กับความหน้าด้าน ที่อ้างความยากจนบังหน้า หัดเคารพตนเองบ้าง หัดเคารพตนเองที่ไม่โลภอยากจะได้ของๆใคร หัดเคารพตนเองที่จะไม่โลภ บุกยึดที่ป่า มาเป็นของตน

- คนที่เคารพตนเองนั้น ขนาดกล้วยไม้ ในป่าก็ต้องไม่ไปเอามันออกมา ต้องปล่อยเอาไว้เยี่ยงนั้น

- คนที่เคารพตนเอง ต้องไม่ยิงแม่นก ต้องไม่ยิงลิงหรือยิงหมียิงแม่เสือเพื่อที่จะเอาลูกของมันมาขาย

- คนที่เคารพตนเอง ต้องรังเกียจ การค้าสัตว์ป่า หรือแม้นกระทั่งการกินอาหารป่า ไม่ว่าจะเอามาทำเป็นยาบ้าบอคอแตกอะไรทั้งสิ้น

- คนที่เคารพตนเอง ถ้าจะเอาต้นไม้ในป่ามาใช้ ก็ต้องเลือกเอาเฉพาะกิ่งที่มันหักโค่นเท่านั้น ไม่ใช่ไปลักตัดต้นไม้ในป่า

- คนที่เคารพตนเองต้องไม่เผาป่าเพื่อบุกรุกหรือต้องไม่แผ้วถางป่าเพื่อบุกรุก

ทุกคนสามารถที่จะเคารพตนเองได้ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะยากดีมีจนอย่างไร และพึงระลึกเสมอว่า ความยากจนนั้นสามารถที่จะแก้ไขให้หายยากจนได้ ถ้าหากมีความพยายาม หมั่นเพียร ไม่ตั้งในความประมาท นั่นคือไม่ตั้งอยู่ในสิ่งที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ไม่เคยมีคนขยันและเอาจริงที่อดตาย และที่สำคัญที่สุด ต้องให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น และต้องมีกฎหมายที่ควบคุมการผูกขาด และกฎหมายที่ควบคุมไม่ให้มีการถือครองที่ดินที่มากเกินไป นั่นคือระดับร้อยไร่ มันก็น่าที่จะพอแล้ว

5.10 ส่วนราชการ “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”(ทส.) ไม่สนับสนุนโฉนดชุมชน

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้ร้องเรียนนายกอภิสิทธิ์ กรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ไม่สนับสนุนโฉนดชุมชน เช่น เจ้าหน้าที่สั่งให้ตัดฟันพืชผลการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูป ที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง การฟ้องร้องคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่งข้อหาทำให้โลกร้อนกับชาวบ้านในพื้นที่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ภาคเหนือ และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดจังหวัดตรัง การฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านในพื้นที่สวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นต้น นอกจากนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการฯและส่วนราชการในสังกัดไม่ยอมรับนโยบายโฉนดชุมชน ไม่อนุญาตให้นำพื้นที่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรฯ มาดำเนินการจัดสรรเป็นโฉนดชุมชนแต่อย่างใด (“รัฐดันตั้งแบงก์ปฏิรูปที่ดินแจกที่ดินคนจน,” 25 มิถุนายน 2553)

ข้อสังเกตในกรณีนี้ก็คือ ที่ดินที่จะนำมาดำเนินการจัดทำเป็น “โฉนดชุมชน” นั้น ได้แก่ที่ดินของรัฐ รวมทั้งที่ดินสาธารณทุกประเภท แต่ที่ป่า ที่ป่าสงวน ที่เขตอุทยานฯ เขตอนุรักษ์ฯ

นั้น ไม่สามารถนำที่ดินดังกล่าวมาดำเนินการเพิกถอน หรือจัดทำเป็นโฉนดชุมชนได้เลย โดยเฉพาะที่ดินที่เกิดจากการบุกรุกครอบครองของราษฎรเข้าไปทำกินในเขตป่า หรือ เขตที่ดินในความควบคุมดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกฎหมายที่ควบคุมอย่างเข้มงวด

ราษฎรผู้บุกรุกมักจะอ้างว่าทางราชการประกาศเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนที่ทำกินของราษฎรซึ่งอยู่ทำกินมานานก่อนหน้านั้นแล้ว นอกจากนั้นยังอ้างป่าเสื่อมสภาพ ต้องเพิกถอนสภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปทำกิน

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

บทสรุป

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553

กฎหมายว่าด้วยโฉนดชุมชน ไม่มีหลักกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย (Ownership) ออกตามกฎหมายที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ คือ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ตาม มาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

จากการศึกษาข้อมูลประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องในเรื่อง “กรรมสิทธิ์” ในที่ดิน ของสังคมไทยในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบรัฐสภา พบว่ามีปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ตั้งแต่ ข้อกฎหมาย สภาพเศรษฐกิจสังคม การเมือง มีข้อสรุปที่สำคัญคือ

1 เรื่องระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย

เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของไทยรับแนวนโยบาย “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมสมัยใหม่” หรือ “ระบบเศรษฐกิจแบบอิสรเสรีนิยม” ตามแบบอย่างของประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกทั้งหลาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของไทย ซึ่งมีโครงสร้างสังคม และ แบบแผนธรรมเนียมของสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ ค่อนข้างแตกต่างจากสังคมตะวันตก เช่น การมีระบบสังคมแบบอุปถัมภ์ (Patronage and Client System) ที่เหนียวแน่นในทุกระดับชั้นของสังคม การนำระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งเน้นการบริโภคนิยม (Consumerism) ซึ่งเน้นการผลิตเพื่อการค้าขายเชิงพาณิชย์ จึงเกิดการแย่งชิงทรัพยากรอันเป็นปัจจัยในการผลิต คือ “ที่ดิน” (Land) ซึ่งถือว่าเป็น “ทรัพย์สินเอกชน” หรือ “ทรัพย์สินส่วนบุคคล” (Private Property) มิใช่ “ทรัพย์สินส่วนตัว” (Personal Property)ที่สำคัญในระบอบการปกครองประชาธิปไตย จากสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำ ในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่ได้เปรียบทางสังคมต่อประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะ “เกษตรกร” ทำให้เกษตรกรไม่มีปัจจัยในการผลิต เนื่องจาก ไม่มีที่ทำกิน โดยไม่ต้องพูดถึงหลัก “กรรมสิทธิ์” ในทรัพย์สิน ขอให้เพียงแค่มี “สิทธิครอบครอง” และได้ทำกิน ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการผลิตก็เพียงพอแล้ว

กฎหมายปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดขัดจากผู้มีอำนาจทางสังคมการเมือง ทำให้การบังคับใช้กฎหมาย หรือการออกกฎหมายเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปที่ดินไม่เป็นผล จากแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมสมัยใหม่ดังกล่าว จึงเกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาการ “ใช้ประโยชน์ที่ดิน” จากหลัก “กรรมสิทธิ์” (Ownership) มาเป็นหลัก “สิทธิเชิงซ้อน” ที่มีเป้าหมายเรื่อง “สิทธิของชุมชน และ เอกชน” ต้องควบคู่กันไป จึงเกิดแนวคิดเรื่อง “โฉนดชุมชน” และ “ธนาคารที่ดิน” ขึ้น

จากแนวคิดนี้จะเห็นได้ว่าสังคมไทยได้นำแนวคิด “รัฐสวัสดิการ” โดยมีนักวิชาการเสนอให้นำมาใช้ (วรพล โสคติยานุรักษ์ , 2553) เข้ามาใช้ ซึ่งถือเป็นแนวทางการเมือง “สังคมนิยม” (Socialism) ประกอบกับนโยบายในการบริหารประเทศเน้นเชิง “ประชานิยม” (Popularism) ที่มุ่งเน้นเอาใจประชาชนในระดับล่าง (Grassroots) โดยการผูกใจประชาชนในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะว่าไปก็สอดคล้องกับคำว่า “รัฐสวัสดิการ” อยู่กลาย ๆ เช่น นโยบายต่าง ๆ เรื่องปลอดหนี้เกษตรกร รักษาฟรีทุกโรค 30 บาท เรียนฟรี 15 ปี การแจกจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ขึ้นรถเมล์ฟรี ฯลฯ

2. นโยบาย “โฉนดชุมชน” และ “ธนาคารที่ดิน”

เนื้อแท้แล้วเป็นการแก้ไขปัญหาของระบบสังคม โดยเฉพาะในเรื่องระบบ “กรรมสิทธิ์” ในที่ดิน และ นัยหนึ่งเป็นกระแสต่อสู้กับกระแสโลกในระบบเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยมสมัยใหม่” ดังได้กล่าวแล้วในข้างต้น

ความหวังของประชาชนในระดับล่าง ซึ่งอาจถือว่าเป็นเสาหลักของประเทศในด้านการผลิต จะได้มีปัจจัยการผลิตคือ “ที่ดิน” ไว้ในครอบครอง โดยมิหวังไปมากกว่า “กรรมสิทธิ์” ตามหลักกฎหมาย ก็คิดว่าเพียงพอแล้วสำหรับประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในระดับล่าง

โดยมี “ธนาคารที่ดิน” เป็นกลไกกลางในการประเมินราคาที่ดินซื้อขายเปลี่ยนมือ ถือเป็นแหล่ง “เงินทุน” ในการบริหารจัดการ “โฉนดชุมชน” ซึ่งถือว่าเป็น “ทรัพย์สิน” (Property) จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงที่ดินจาก “ทรัพย์สินส่วนตัว” (Personal Property) มาเป็น “ทรัพย์สินทางสังคม” หรือ “ต้นทุนทางสังคม” (คณะทำงานศึกษามาตรการทางกฎหมายและนโยบาย ( คปท.) ,2552)

ในรูปของ “กรรมสิทธิ์เชิงซ้อน” หรือ “กรรมสิทธิ์ชุมชน” จากเพื่อให้มีการจัดการและใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยมี ระเบียบสำนักนายรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 เป็นกฎหมายหลัก

เนื้อแท้อีกประการหนึ่งก็คือ การนำที่ดินของรัฐในประเภทต่าง ๆ ไม่ว่า มาจัดให้ประชาชนให้มี “สิทธิ์ถือครองทำกิน” หาได้มี “กรรมสิทธิ์” ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่

ข้อเสนอแนะ

จากการศึกษามีข้อสังเกตเป็นข้อเสนอแนะในเรื่อง “กรรมสิทธิ์” ในที่ดิน โดยเฉพาะในระบบสังคมเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมสมัยใหม่ เพื่อต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่แผ่ครอบคลุมไปทั่วโลก สรุปดังนี้

1. เรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

เนื่องจากมีการนำระบบเศรษฐกิจสังคมแบบ “รัฐสวัสดิการ” มาใช้ เห็นควรมีการแก้ไข หรือ ปรับปรุงหลัก “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน” โดยเฉพาะ กรรมสิทธิ์ในที่ดินเสียใหม่ โดยเฉพาะกรรมสิทธิ์ในที่ทำกินของเกษตรกร หรือ ประชาชนในระดับล่าง เพื่อมิให้ที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ถูกเปลี่ยนมือ และ ตกไปอยู่ในมือ(กรรมสิทธิ์)ของนายทุน หรือผู้ที่ได้เปรียบทางสังคมการเมือง และ ในขณะเดียวกัน ควรเร่งรัดให้มีการ “ปฏิรูปที่ดิน” เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และจำกัดการถือครองที่ดิน มิให้การถือครองที่ดินกระจุกตัวตกไปอยู่ในมือของนายทุน

2. การจัดสรรที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ

รวมทั้งที่ดินของรัฐ ที่ดินสาธารณะ ควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสานต่อยอดการบริหารจัดการ “โฉนดชุมชน” เพื่อประโยชน์ของชุมชน ให้ยั่งยืน ในการเร่งรัดการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตราเป็น “พระราชบัญญัติโฉนดชุมชน” ต่อไป

3. ควรจัดทำประมวลกฎหมายหลักเกี่ยวกับที่ดินทั้งหมด

เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินมีมากมายหลายฉบับ ตั้งแต่ ประมวลกฎหมายที่ดิน(เดิม) พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2517 รวมทั้งพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับที่ดินอื่น ๆ ของรัฐทั้งหมด เช่น พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ฯลฯ มาไว้เป็น “ประมวลกฎหมายที่ดิน” เสียใหม่

4. ควรจัดทำกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง(ภาษีทรัพย์สิน)

เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดินในปัจจุบันแยกเก็บหลายอย่าง เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง) มิได้ยึดหลักการจัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน แต่ประเมินจากค่ารายปี (ค่าเช่า) ภาษีที่เปล่า เสียภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งมีอัตราการจัดเก็บภาษีที่ถดถอย ไม่สอดคล้องกับการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก ๆ หรือ ภาษีที่ดินโอนเปลี่ยนมือกันก็ เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และ ค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ทำให้ยุ่งยากในการจัดเก็บมาก ไม่สอดคล้องกับการบริหารจัดการที่ยุ่งยากซับซ้อน นอกจากนี้ยังเป็นฐานรายได้ใหม่ในการพัฒนาประเทศให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

นับเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งปัจจุบัน ร่าง “พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.....” โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกำลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2553 นี้ โดยเฉพาะหน่วยราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหลักการใหม่ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเด็นการกระตุ้นให้มีการนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้น การลดหย่อนและยกเว้นการจัดเก็บภาษีให้แก่เกษตรกรและเจ้าของโรงเรือนที่อยู่อาศัยตามความเหมาะสม และการจัดตั้งธนาคารกองทุนที่ดินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากไร้ (ธนวัฏ เสือแย้ม ,2553 ,Ibid.)

Thank you for sharing 'your thesis' on land ownership.

I have skimmed over but not read the whole thesis properly yet ;-)

but I seemed to have missed 'any environmental concerns' like national reserves, water catchments, animals and plants habitats, historic and religious sanctuaries, and open-access public spaces (where people can enter and enjoy activities).

Certain land use restrictions and regulations should be described in plain and easy language -- for everyone to understand without asking lawyers. For examples: land filling (to raise house level over flood level) in one place may cause flooding in nearby areas - currently no control or compensation is specified; discharge of toxin wastes on land and other land and environment degradation - again currently uncontrolled and unspecified - allowing mining and industries to harm people's health and livelihood UNJUSTLY.

I think these issues on land must be included in any discussion and resolution.

เป็นเพียงความเห็นเล็ก ๆ ที่นำมาร้อยเรียง ขอขอบคุณ สำหรับความเห็น

ปัญหาการถือครองที่ดิน เกี่ยวข้องกับ "การจัดการสิ่งแวดล้อม" ไม่ว่าการอุตสาหกรรม การค้าพาณิชย์ ..การเกิดปัญหาสังคม การใช้ที่ดิน ขยะ ขยะพิษ มลพิษ การแย่งทรัพยากรของชุมชนเมือง .....

ปัญหาที่ดินกับสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่อง "กรรมสิทธิ์" คงไม่จบง่าย ๆ เพราะสังคมไทยเป็น "สังคมที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยม" ใครใคร่ค้าค้า ใครใคร่ขายขาย ไม่มีขีดจำกัด การเอารัดเอาเปรียบในสังคม หรือ การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับการใส่ใจ ปากว่า ตาขยิบ มือยาวสาวได้สาวเอา .....

ข้อจำกัดทางกฎหมายต่าง ๆ ผูกโยงมาจากระบบเศรษฐกิจ และ นโยบายการค้า การลงทุน "แบบเสรี" (Free Trade)

การหันมาคำนึง "สิ่งแวดล้อม" "คนด้อยโอกาส" "สวัสดิภาพสังคม" "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยฺ" เป็นสิ่งจำเป็น

"สำนึกและความรับผิดชอบ" ต่อสังคมเท่านั้น ที่จะเหนี่ยวรั้งการดำเนินการที่แย่ ๆ ลงได้

I am definitely on your side on the issues of 'capitalistic economy'.

Many people fail to see that building grand mansions for themselves over rubbish mountains is no way to live. Sooner or later, they would get sick and have to move away or to re-build environment to live in.

Moving rubbish from one place to another place is not really a solution. Stop making rubbish in the first place is more effective.

Land fill with materials from rubbish tips are become common. Rubbish tips operators cannot get more land for more rubbish. They bury rubbish for a few years then dig it up and sell. They simply contaminate other land areas. What are the health risks for the owners of the filled land and their neighbors? Ownership of a land must include responsibilities to keep the land 'clean and safe'. Before any parcel of land can be sold, 'land health statement' should be declared.

I think you have written well and pointing to many issues in land laws and land registration processes.

I would like to read more of your view.

ความจริงรายงานฉบับนี้ผู้เขียนยังลงไม่หมด เพราะ เนื้อหาที่ผู้เขียนวิเคราะห์ไว้ยาวมากเกือบ 70 หน้ากระดาษ เอ4 ก็จะขอลงในส่วนที่เหลือ

 

บทที่ 2 

ความหมาย ประวัติ วิวัฒนาการ และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

 

ความหมาย

            ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาขอจำกัดขอบข่ายในการนำเสนอเกี่ยวกับ “กรรมสิทธิ์

ในที่ดิน” ซึ่งถือว่า “ที่ดิน” (Land) เป็น “อสังหาริมทรัพย์” (immovable property) “ทรัพย์สินอย่างหนึ่ง” ของมนุษย์  เป็น “สินทรัพย์”(Assets) ที่เป็น “ทุน” ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบสังคมแบบ “ทุนนิยม” ซึ่งปัจจุบันระบบเศรษฐกิจสังคมโลกเสรีได้มีการแปรเปลี่ยนเป็น “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมสมัยใหม่” (Neo-Liberalism)

            ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับ การแย่งชิงทรัพยากรปัจจัยการผลิต “ที่ดิน” เป็นไปอย่างแพร่หลาย

ในที่นี้ ขอจำกัดขอบข่ายการศึกษาวิเคราะห์เพียงประเด็น “กรรมสิทธิ์ที่ดิน” และ การแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดิน ในสังคมไทย ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและ ด้านกฎหมายบางส่วน

 

ประวัติ วิวัฒนาการ และแนวความคิดทฤษฏีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

การศึกษาในครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้กำหนดประเด็นในการทบทวนวรรณกรรมแนวความคิดทฤษฎีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แยกเป็น 4 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

(1) สิทธิในทรัพย์สิน

(2) แนวคิดเกี่ยวกับทรัพย์สินในระบบเศรษฐกิจโลก

(3) กรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย

(4) ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ ของการศึกษาทบทวนวรรณกรรมนี้มีดังต่อไปนี้

 

2.1 สิทธิในทรัพย์สิน

ทรัพย์สินถือเป็นสถาบันทางกฎหมาย (institution) สถาบันหนึ่งในสังคม (Carol M. Rose,1994 : 26 อ้างถึงใน นัยนา  เกิดวิชัย, การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่รัฐเวนคืนจากประชาชน , 2549) ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล เริ่มต้นจากเครื่องมือที่ใช้ในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ จนถึง “ที่ดิน” ที่หวงกันไว้เพื่อกระทำกิจกรรมดังกล่าว สิทธิในทรัพย์สินมีความเป็นมาทางความคิดที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคมนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

2.1.1 ความเป็นมาทางความคิดเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน

พัฒนาการ 3 ยุค คือ ยุคโบราณ ยุคที่มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และยุคที่เข้าสู่รัฐสมัยใหม่ดังต่อไปนี้

 

2.1.1.1 ยุคโบราณ

ในยุคโบราณเป็นยุคที่มนุษย์เลี้ยงชีพด้วยการเก็บพืชผักผลไม้หรือล่าสัตว์ในป่า มนุษย์ยังมิได้กำหนดระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่ดินจึงเป็น “สมบัติส่วนรวม” ไม่มีใครหวงห้ามและกันเป็นของตนได้ แม้ต่อมามนุษย์จะรู้จักการเพาะปลูกซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดิน แต่การเพาะปลูกในยุคนั้นยังไม่มีการถือสิทธิในที่ดิน เพราะที่ดินมีมากมาย เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม จึงมีความจำเป็นในการถือสิทธิในที่ดินเป็นการชั่วคราวเพื่อแบ่งสันปันที่ดินกันทำการเพาะปลูกก็มีมากขึ้น เมื่อเผ่ารวมกันเป็นประเทศ การปกครองมีความมั่นคงยิ่งขึ้น อำนาจของครอบครัวเสื่อมลง แต่ละคนมีสิทธิมากขึ้น และหัวหน้าครอบครัวไม่มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนก่อน จะทำการงานสิ่งใดต้องปรึกษาสมาชิกอื่น บางครั้งต้องยอมแบ่งปันที่ดินแก่สมาชิกด้วย ดังนั้น หลักกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนจึงเริ่มก่อตั้งขึ้น (ภาสกร ชุณหอุไร, 2529 : 2  อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

 

2.1.1.2 ยุคที่มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

การที่ประเทศทางตะวันตกเริ่มตื่นตัวกับแนวคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีการยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพไว้ในกฎหมายหรือคำประกาศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของประชาชน เริ่มต้นจาก “The Great charter” (มหาบัตรแม็คนาคาร์ตา) ในปี ค.ศ.1215 คำประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1776 และคำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ของฝรั่งเศส  ปี ค.ศ.1789

 

2.1.1.3 ยุคที่เข้าสู่รัฐสมัยใหม่

บทบาทของรัฐในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นย่อมแตกต่างกันออกไปตามสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในยุคนั้น ๆ ในระหว่างทศวรรษที่ 18 แนวความคิดว่าด้วยบทบาท

และภารกิจของรัฐที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ คือ “ลัทธิเสรีนิยมและลัทธิปัจเจกชนนิยม” ซึ่งแนวความคิดนี้เห็นว่ารัฐจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการทางเศรษฐกิจการค้าหรือการอุตสาหกรรมของประชาชน โดยจะต้องปล่อยให้ประชาชนจัดทำหรือประกอบกิจการโดยเสรี หน้าที่ของรัฐสมัยใหม่คือการรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันประเทศ การอำนวยความยุติธรรม  การจัดเก็บภาษีเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐ

เมื่อรัฐมีภาระในการดำเนินกิจการต่าง ๆ มากมาย บางครั้งรัฐจึงจำเป็นต้องมีการล่วงละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของประชาชน ในสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย และเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

2.1.2 การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน

มนุษย์เป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว และเมื่อมนุษย์เริ่มใช้กฎหมายมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม สิทธิในที่ดินก็ได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมาย ซึ่งในระยะแรกจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างเอกชนที่ใช้ยันกันระหว่างเอกชนด้วยกันเอง จะนำมาใช้ยันกับรัฐไม่ได้ สิทธิในทรัพย์สินจึงเป็นเรื่องของ “กฎหมายเอกชน”  เมื่อใดที่รัฐต้องการทรัพย์สินของเอกชน เอกชนก็ไม่อาจขัดขืนได้จนในที่สุดเมื่อปลายสมัยกลางที่ชนชั้นกลางได้ก่อกำเนิดขึ้นพร้อม “แนวความคิดเสรีนิยม” ได้เรียกร้องให้รัฐคุ้มครองทรัพย์สินของเอกชน รัฐจะละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนมิได้

 

2.1.2.1 สิทธิในทรัพย์สินในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน

ยุคหลังระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำให้มีการบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของเอกชนไว้ในเอกสารสำคัญทางการเมืองของบรรดารัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย โดยการนำเอาปรัชญาอุดมการณ์ทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติทั้งหลายมาบัญญัติเป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายบ้านเมือง (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, 2538 : 347 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.) สิทธิในทรัพย์สินถือว่า เป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจพรากไปเสียได้ ตามคำสอนทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติของจอห์น ล็อค ถือว่าเป็นเรื่องที่ซื้อไม่ได้ ขายไม่ขาด (บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ,2535 : 41 – 42 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

แนวความคิดดังกล่าวปรากฏให้เห็นในเอกสารสำคัญทางการเมืองต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) Magna Carta ของอังกฤษ “The Great charter” (มหาบัตรแม็คนาคาร์ตา) ในปี ค.ศ.1215 ในรัชสมัยของพระเจ้า John บัญญัติรับรองสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนไว้ในมาตรา 39

(2) Bill of Rights คำประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776

(3) คำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789

และจากคำประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมืองของฝรั่งเศสนี้เอง ที่ภายหลังได้ถูกนำไปเป็นแบบอย่างให้อีกหลายประเทศใช้ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ อันเป็นเอกสารสำคัญและมีสถานะสูงสุดของประเทศ (วิษณุ  เครืองาม ,2533 : 4 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

(4) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของมนุษย์ไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และสิทธิประการหนึ่งที่ได้กล่าวไว้ในปฏิญญานี้ คือ สิทธิในทรัพย์สิน โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 17 ว่า (1) บุคคลมีสิทธิทั้งในฐานะลำพังตนเอง ตลอดจนการร่วมกับผู้อื่นในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (2) การยึดเอาทรัพย์สินของบุคคลใดไปเสียโดยพลการจะกระทำมิได้ (สุวรรณ มหัตเดชกุล, 2535 : 10 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

 

2.1.2.2 หลักกรรมสิทธิ์ในรัฐเสรีประชาธิปไตย

ในบรรดาสิทธิในทรัพย์สินนั้น กรรมสิทธิ์ถือได้ว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินซึ่งมีศักดิ์สูงสุดเหนือทรัพย์สินนั้นกรรมสิทธิ์ได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นในยุคเสรีนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส

คำว่า “กรรมสิทธิ์” มาจากคำว่า “Dominium” ในกฎหมายโรมันซึ่งปรากฏอยู่ใน Corpus Juris Civilis ของพระเจ้าจัสติเนียน (Justinian) ถือว่าเป็นสิทธิเหนือทรัพย์ที่สมบูรณ์ที่สุดในสถาบันกฎหมายเอกชน เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สอย จำหน่ายจ่ายโอนและทำลายทรัพย์สินของตนอย่างสมบูรณ์ สิทธิดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้บ้าง แต่ยังคงถือว่ามีความสมบูรณ์อยู่ (F. H. Lawson, 1977 : 87 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

หลักกรรมสิทธิ์มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ (ก) ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ ได้แก่ เอกชนทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (ข) วัตถุแห่งกรรมสิทธิ์ ได้แก่ ตัวทรัพย์ แต่ที่มีปัญหามากที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์หรือที่ดิน เพราะอาจถือได้ว่าการรับรองหลักกรรมสิทธิ์มีขึ้นก็เพื่อคุ้มครองความเป็นเจ้าของที่ดินของเอกชน และสิทธิในอสังหาริมทรัพย์เป็นสิทธิที่มีข้อจำกัดมากที่สุด และ (ค) ขอบเขตของกรรมสิทธิ์ ซึ่งมีการพัฒนาแนวความคิดทางสังคมจากปัจเจกชนนิยมไปสู่แนวคิดที่มุ่งประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมอันนำไปสู่การจำกัดการใช้อำนาจกรรมสิทธิ์ เช่น การเวนคืนการโอนเป็นของชาติในวิสาหกิจต่าง ๆ ข้อจำกัดสิทธิในการก่อสร้างอาคาร การเก็บภาษีทรัพย์สิน (สุรพล นิติไกรพจน์, 2537 : 818 – 822 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

 

2.1.3 การจำกัดสิทธิในทรัพย์สิน

2.1.3.1 แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

ภาระหน้าที่ของรัฐได้เติบโตและมีความซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับ การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้มีความหมายเพียงว่ารัฐจะไปเพิกถอนไม่ได้เท่านั้น แต่มิได้หมายความว่ารัฐจะจำกัดมิได้ เสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ย่อมทำให้เกิดสภาวะอนาธิปไตย (anarchie) ดังนั้นรัฐจึงไม่อาจปล่อยให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพของตนกระทำการต่าง ๆ ได้โดยปราศจากการแทรกแซงจัดระเบียบของรัฐ แต่รัฐต้องเข้ามาจัดระบบการคุ้มครองมิให้มีการก้าวล่วงเสรีภาพต่อกัน นอกจากนี้ รัฐยังมีผลประโยชน์สาธารณะ (public interest) ที่จะต้องดำรงรักษาไว้ บางกรณีรัฐจึงสามารถล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ แต่รัฐจะกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้โดยแจ้งชัด และภายในขอบเขตที่กำหนด  กรณีจึงอาจกล่าวได้ว่าภารกิจของรัฐที่ขยายตัวออกไปเพื่อการดำเนินการใด ๆ อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณะเป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

2.1.3.2 การจำกัดกรรมสิทธิ์

สิทธิในทรัพย์สินของเอกชน จัดได้ว่าเป็นประเภทหนึ่งของเสรีภาพในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่บรรดารัฐเสรีประชาธิปไตยให้การรับรองคุ้มครองไว้โดยรัฐธรรมนูญ แต่รัฐก็สามารถจำกัดสิทธิดังกล่าวได้ เพื่อการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ ในปัจจุบันหลักกรรมสิทธิ์จะแสดงบทบาทพร้อมกันสองด้าน คือ ด้านหนึ่งเอกชนมีอิสระในการใช้สอยทรัพย์สินที่เป็น “กรรมสิทธิ์ของตน” อีกด้านหนึ่งกรรมสิทธิ์มีความผูกพันต่อสังคม กล่าวคือ การใช้สิทธิในทรัพย์สินของบุคคลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมด้วย ในฐานะที่ “เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม” ในการแสดงบทบาทด้านแรกได้เรียกร้องให้มีการประกันสิทธิดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันการแสดงบทบาทในด้านที่สองก็เรียกร้องให้รัฐสามารถออกกฎหมายมากำหนดขอบเขตการใช้สอยทรัพย์สินของเจ้าของเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้ (Gunnar Folke Schuppiet, 1988 : 108 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

เดิมกฎหมายลักษณะทรัพย์ของประเทศฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับหลักสิทธิในทรัพย์สินหรือหลักกรรมสิทธิ์มาก ต่อมาภายหลังแนวความคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมที่เข้ามามีบทบาทในประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งผลกระทบต่อหลักสิทธิในทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ลีออง ดูกีต์ (Leon Duguit) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้ปฏิเสธแนวความคิดที่ว่าสิทธิในทรัพย์สินเป็นสิทธิตามธรรมชาติชนิดหนึ่งของมนุษย์ แต่เห็นว่าสิทธิในทรัพย์สินจะต้องมีอยู่เนื่องจากหน้าที่ตามสังคมชนิดหนึ่ง (อุกฤษ มงคลนาวิน, 2517 : 41อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.) แต่รัฐบาลในยุคต่อ ๆ มา เช่น ในช่วงสุดท้ายของสาธารณรัฐ ครั้งที่ 3 ในรัฐบาลชุดที่เรียกว่ารัฐบาล Front populaire ซึ่งเป็นรัฐบาลสังคมนิยมได้มีการกำหนดมาตรการใหม่ ๆ ขึ้นใช้ในลักษณะจำกัดตัดรอนกรรมสิทธิ์เพื่อประโยชน์สังคม เช่น กฎหมายที่กำหนดขอบเขตและข้อจำกัดเกี่ยวกับขนาดของอาคารและความหนาแน่นของอาคารในเขตที่กำหนด  กฎหมายจำกัดการใช้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในเมืองและชนบทเพื่อการต่าง ๆ อาทิ เพื่อการคุ้มครองผู้เช่าที่เป็นเกษตรกรหรือเพื่อการอนุรักษ์สภาวะแวดล้อม เป็นต้น

ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ก็ยอมรับว่าสิทธิในทรัพย์สินเป็นสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดแต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าสิทธิในทรัพย์สินนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อการบรรลุถึงสิ่งที่ดีที่สุดของประชาคมทางการเมืองด้วย กรณีจึงได้รับการมองว่าการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินคงมีอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือ ไม่ห้ามที่รัฐจะพรากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปจากเอกชน แต่รัฐต้องจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เอกชนนั้นด้วย ซึ่งเป็นหลักประกันเพียงหนทางเดียวที่เหลืออยู่ (บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, 2535 : 49 – 50 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

ในกฎหมายแพ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ปัจจุบันสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพย์สินถูกรับรองไว้ในมาตรา 14 วรรค 1 ของกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law หรือ Grundgesetz) โดยวางหลักว่าเอกชนชอบที่จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และได้รับประโยชน์สูงสุดจากทรัพย์สินของตนในทุกกรณีที่กฎหมายอนุญาตไว้ แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายพื้นฐานได้กำหนด “หน้าที่ในทางสังคม” (social obligation) ของสิทธิในทรัพย์สินไว้ในวรรคสองของมาตราเดียวกันว่า “ทรัพย์สินก่อให้เกิดหน้าที่ การใช้สอยทรัพย์สิน ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” หมายความว่า สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของเอกชนได้ถูกจำกัดไว้โดย “ประโยชน์ของคนทั้งชาติ” (commonwealth) ซึ่งมีผลทำให้สิทธิในทรัพย์สินได้สูญเสียความสำคัญและหมดสภาพของการเป็นสิทธิสูงสุดและเด็ดขาด (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2531 : 495 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

 

2.1.3.3 รูปแบบของการจำกัดกรรมสิทธิ์

ทรัพย์สินทุกชนิดต่างอยู่ภายใต้ข้อจำกัดการใช้ที่ว่า “Sic utere too ut non alienum laedus” หมายความว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินของตนได้ตราบเท่าที่ไม่ทำความเสียหายให้แก่บุคคลอื่นและสังคม ด้วยเหตุนี้รัฐมีอำนาจที่จะออกกฎหมายควบคุมการใช้สอยทรัพย์สินเพื่อปกป้องความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ และเพื่อการส่งเสริมสวัสดิการอันดีของรัฐสวัสดิภาพ ความดีงามร่วมกันและศีลธรรมอันดีของชุมชน ดังนั้นภายใต้การใช้อำนาจเช่นนี้ของรัฐสิทธิในทรัพย์สินย่อมอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมาย (American Jurisprudence, Second Edition, Volume 26, 1966 : 327 - 328 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

 

1) ข้อผูกมัดกรรมสิทธิ์

การกำหนดข้อผูกมัดกรรมสิทธิ์เป็นกรณีที่รัฐยังปล่อยให้เอกชนเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินได้ แต่มีการวางเงื่อนไขอันจำเป็นโดยฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อจำกัดตัดรอนสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน โดยปกติมักเป็นการจำกัดสิทธิใช้สอยทรัพย์สินในความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเองเพื่อมิให้เอกชนคนหนึ่งคนใดใช้สอยทรัพย์สินของตนในทางที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือในบางกรณีเจ้าของทรัพย์สินยังอาจต้องยอมให้ผู้อื่นเข้าใช้สอยทรัพย์สินของตนด้วย นอกจากนี้ ข้อผูกมัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอาจมีความมุ่งประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคม (ศุภเชษฐ์ คูสุวรรณ, 2540 : 45 – 46 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

 

2) การเวนคืน (Expropriation)

การเวนคืนถือว่าเป็นรูปแบบของการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินที่รุนแรงที่สุดเนื่องจากเป็นการพรากเอากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนมาเป็นของรัฐจึงต้องมีการบัญญัติรับรองการใช้อำนาจเวนคืนของรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยวางเงื่อนไขว่าการเอาทรัพย์สินของเอกชน

ไปใช้นั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและต้องมีการจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เอกชนผู้ต้องสูญเสียทรัพย์สินของตนไป (John Murphy, 1993 : 218 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

เมื่อมีการประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 120 ในสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเริ่มมีการรับรู้ในกรรมสิทธิ์ของเอกชนในที่ดินบ้างแล้ว เมื่อจะมีการเวนคืนที่ดินเอกชนกลับมาเป็นของรัฐก็เริ่มมีแนวความคิดที่จะมีการจ่ายค่าทดแทนให้ราษฎร แต่การเวนคืนก็ยังไม่มีพิธีการที่แน่นอนกฎหมายที่กำหนดให้การเวนคืนต้องมีการจ่ายค่าทดแทนฉบับแรก คือ ประกาศกรมโยธาธิการจัดที่ดินทำทางรถไฟ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มกราคม ร.ศ. 110 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พุทธศักราช 2461 สำหรับกฎหมายในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อาจถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดหรือรอยต่อของการใช้อำนาจเวนคืนตามแนวทางกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พุทธศักราช 2464 ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนของการใช้อำนาจเวนคืนไว้เป็นระบบมากขึ้น เพราะกิจการรถไฟเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเวนคืนให้เป็นระบบระเบียบ (ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, 2525 : 97 – 98 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.) 

 

ต่อมาในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักการและแนวความคิดเกี่ยวกับที่ดินทั้งหมดว่าเป็นของพระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวจึงได้เปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยแต่เดิมที่ถือกันว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่มีใครจับจองเป็นของพระมหากษัตริย์ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ให้ถือเป็นของรัฐ หรือแต่เดิมการเวนคืนหรือการบังคับซื้อที่ดินจะอ้างหลักที่ดินเป็นของพระมหากษัตริย์ ก็เปลี่ยนเป็นอ้างหลักเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมแทน (สุวรรณ มหัตเดชกุล, 2535 : 16 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)  

2.2 แนวคิดเกี่ยวกับ”ทรัพย์สิน”ในระบบเศรษฐกิจโลก

ลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่ หรือ แนวคิดอิสรเสรีนิยม (Libertarianism or Neo-liberalism)

แนวนโยบายหลักของรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ ประกอบด้วย การแปรรูปบริการของรัฐเป็น

เอกชน (Privatisation) การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน (Trade and Financial liberalization) และการผ่อนคลายและลดกฎระเบียบ (Deregulation) เพราะหลักการของเสรีนิยมใหม่ ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า เงื่อนไขที่จำเป็นของการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้นคือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล (ในการประกอบการ) ดังนั้น โครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่คือ การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดและระบบตลาดแข่งขันเสรี ลัทธิเสรีนิยมใหม่ปรากฏโฉมหน้าให้เห็นอย่างชัดเจนในทศวรรษ 1970 ภายหลังผู้กำหนด

นโยบายเศรษฐกิจในประเทศนำทางอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐฯและอังกฤษ เสื่อมความเชื่อมั่นใน

ลัทธิเศรษฐกิจการเมืองแบบเคนส์เซียน (Keynesianism) (เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร, 2551)

ลัทธิเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมนั้นมีวิวัฒนาการในลักษณะต่อเนื่องและ ไม่ต่อเนื่องมาโดยตลอดนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 กล่าวคือ ตามแนวคิดของกลุ่มเสรีนิยมคลาสสิคที่นำโดย จอห์น ล็อค (John Locke : 1632 - 1704)สิทธิและเสรีภาพถูกอ้างอิงอยู่กับหลักสิทธิธรรมชาติเขาจึงถือสิทธิและ เสรีภาพเป็นเป้าหมายสูงสุดในตัวเอง นอกจากนี้มนุษย์มีสิทธิพื้นฐานในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินเพราะมนุษย์เป็น เจ้าของแรงงานของตนเอง ตามความเชื่อของล็อค สิทธิที่เรารู้จักในภายหลังว่า"กรรมสิทธิ์" (Ownership)นี้จึงไม่ได้เกิดจากรัฐ (ถือว่ามีลักษณะปฏิกิริยากับระบอบศักดินาซึ่งขุนนาง และชนชั้นสูงเท่านั้น สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สิน) หลักการเรื่องกรรมสิทธิ์ ส่วนบุคคลนี้ถือเป็นหลักการสำคัญที่ถูกนำมาปรับปรุงและพัฒนาในภายหลัง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราละเลยคือคำกล่าวของเขาว่า" กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะ ต้องไม่นำไปสู่การกดขี่หรือขูดรีดแต่ต้องช่วยสนับสนุนให้มนุษย์มี อิสระ" กรรมสิทธิ์จึงเป็นเครื่องมือไปสู่เสรีภาพ ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 อดัม สมิท (Adam Smith : 1723 –1790)ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักคิดรุ่นก่อนและนักคิดร่วมสมัย ไม่ว่าเรื่องความมีกฎเกณฑ์และระเบียบของธรรมชาติ รวมทั้งมนุษย์มีศีลธรรม สามารถแยกแยะการกระทำที่ถูกและผิดออกจากกันได้ สังคมจึงมีระเบียบและกฎเกณฑ์ เช่นเดียวกับโลกกายภาพ ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคมจึงสามารถประสานลงตัวกันได้ แนวคิดลักษณะนี้ ทำให้เขาเชื่อว่าความเห็นแก่ตัวหรือการที่แต่ละคนต่างมุ่งหาประโยชน์ส่วน ตัว จะทำให้สังคมได้ประโยชน์สูงสุดตามไปด้วยจากสิ่งที่เขาเรียกว่า "มือที่มองไม่เห็น" (Invisible hands)ที่ภายหลังสำนักนีโอคลาสสิคทำให้กลายเป็นเพียง "กลไกตลาด" หรือกลไกของอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง) ในช่วงปลาย ศตวรรษที่ 18 นักคิดกลุ่มเสรีนิยมนีโอคลาสสิคหรือสำนักประโยชน์นิยม ที่นำโดยเจเรมี เบนแทม (Jeremy Bentham : 1748-1832) นำหลักจริยธรรมที่เรียกว่าหลักแห่งประโยชน์ (Principle of Utility) เข้ามาแทนที่หลักสิทธิธรรมชาติ ทำให้สิทธิและเสรีภาพถูกลดความสำคัญลง เป็นเพียงเครื่องมืออันนำไปสู่เป้าหมาย นั่นคือ ความสุข และความสุขของปัจเจกต้องหลีกทางให้กับสังคม ตามแนวความคิดที่โด่งดังของเขาที่ว่าด้วย "ความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด (the greatest happiness of the great number)" อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวถูกท้าทายและทัดทานจากนักคิดอีกหลายคนเช่น จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill : 1806 –1873) ที่หันเหความสำคัญกลับมาที่ปัจเจกและเน้นความสำคัญของความสุขทางสติปัญญาและ ศีลธรรมมากกว่าทางกายภาพ แต่อิทธิพลของประโยชน์นิยม ที่เดินคล้องแขนร่วมไปกับแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบ laissez-faire ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการและคนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้นในยุโรป ทำให้แนวความคิดตามแบบเบนแทมและอดัม สมิทกลายเป็นเสาหลักให้กับเสรีนิยมใหม่ในเวลาต่อมา (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, 2550 อ้างถึงใน เกษียร เตชะพีระ , 2551)

ในบรรดาแนวคิดหลักๆ เกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคมเศรษฐกิจการเมืองในโลก

สมัยใหม่ นอกจากแนวคิดอิสรเสรีนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ (Libertarianism or Neo-liberalism)

ของศาสตราจารย์ Robert Nozick (พ.ศ.2481-2545) นักปรัชญาการเมืองเลื่องชื่อแห่ง

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ไม่มีสำนักคิดอื่นใดยืนกรานหลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเอกชนอย่างเด็ดขาด สัมบูรณ์โดยปราศจากข้อแม้เงื่อนไขเลย แม้แต่สำนักเสรีนิยม (Liberalism) คลาสสิค แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 บิดาของเสรีนิยมใหม่ปัจจุบันก็ไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น แน่นอน ด้านหนึ่งเสรีนิยมยืนยันเหมือนเสรีนิยมใหม่ว่าทรัพย์สินเอกชน (private property) เป็นสิทธิเด็ดขาดสัมบูรณ์ของปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของ มันเป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่เกิดมาก่อนบุคคลจะมารวมตัวกันเป็นสังคมและก่อ ตั้งรัฐขึ้น (pre-social, prestate natural right) สิทธิในทรัพย์สินเอกชนจึงศักดิ์สิทธิ์ชอบธรรมกว่าอำนาจของสังคมและรัฐบุคคลอื่นรวมทั้งสังคมและรัฐจะไปจำกัดหรือล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน เอกชนมิได้ยกเว้นเจ้าของยินยอม (consent) แต่กระนั้น เสรีนิยมคลาสสิคก็ยังตั้งข้อแม้เงื่อนไขไว้ว่าในกรณีเจ้าทรัพย์มีทรัพย์สิน เอกชนส่วนเกินเหลือเฟือ ขณะที่คนอื่นขัดสนจนยากอดอยากยากไร้ไม่มีสิ่งใดพอยาไส้ยังชีพต่อไปได้นั้น ฝ่ายหลังย่อมมีสิทธิ (Right or Title)ในส่วนเกินของฝ่ายแรก - นี่ไม่ใช่การขอทานซึ่งอาจจะขอได้หรือไม่ได้แล้วแต่เจ้าทรัพย์จะเมตตาปรานี โดยไม่มีใครบังคับ หากเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของคนยากไร้เหลือแสน ที่จะเอื้อมหยิบส่วนเกินจากเจ้าทรัพย์มาประทังยังชีพตนในยามความจำเป็นบีบ คั้น - ตามหลักที่เรียกว่า Charity หรือการกุศล (John Locke, Two Treatises of Government, Book 1, Chapter IV, Passage 42, ค.ศ.1689 อ้างถึงใน เกษียร เตชะพีระ ,Ibid.)

ในทางตรงข้ามสุดขั้ว ลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communism) ถือว่าทรัพย์สินเอกชนเป็นของโจร แรกเริ่มเดิมทีก็สะสมด้วยการปล้นชิงมาจากเมืองขึ้น ในระบบทุนนิยมก็งอกงามงอกเงยด้วยการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานรับจ้างในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม ฉะนั้น คอมมิวนิสต์ จึงปฏิเสธว่าทรัพย์สินเอกชนไม่ใช่สิทธิชอบธรรมใดๆ หากเป็นสถาบันค้ำยันอำนาจชนชั้นนายทุนและอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาขั้นต่อไป ของสังคมต่างหาก ต้องยกเลิกเสียแล้วแทนที่ด้วย “กรรมสิทธิ์ส่วนรวม” ของสังคม ลัทธิคอมมิวนิสต์มุ่งล้มล้าง “ทรัพย์สินเอกชน” หรือ “ทรัพย์สินส่วนบุคคล” (private property) เหนือปัจจัยการผลิตหลักทางเศรษฐกิจเช่นที่ดิน โรงงาน สื่อมวลชน ฯลฯ เป็นสำคัญไม่ได้รวมถึง “ทรัพย์สินส่วนตัว” (personal property) เช่น แปรงสีฟัน ผ้าถุง กางเกงใน ฯลฯ (เกษียร เตชะพีระ ,Ibid.)

2.3 กรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย

2.3.1 แนวความคิดและความเป็นมาของกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย

การศึกษาจะแยกการศึกษาพัฒนาการของแนวความคิดและความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกเป็น 2 ยุค คือ

2.3.1.1 ยุคสุโขทัย ถึงปี พ.ศ. 2475

ในสมัยสุโขทัย บุคคลมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินได้โดยอาศัยวิธีการจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาทำประโยชน์และเมื่อทำประโยชน์แล้วตนก็มีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้นและสิทธิในที่ดินนี้ตกทอดไปยังทายาทได้ (ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, 2525 : 66 อ้างถึงใน นัยนา ,Op.cit) ดังหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่ว่า “ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม สร้างป่าหมาก ป่าพลู ทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างไว้ให้แก่มัน ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าขุนผู้ใด แลล้มตายหายกว่าเหย้าเรือนเพื่อเชื้อเสื้อคำมัน ข้างขอลูกเมียเยียข้าวไพร่ฟ้า ข้าไทย ป่าหมาก ป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น”

ในสมัยอยุธยา มีการใช้หลักกฎหมายที่ว่าที่ดินทั้งหมดในพระราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว ดังปรากฏในพระอัยการเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 ว่า “ที่ดิน

ในแว่นแคว้นกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามหาดิลกนพรัตน์ราชบุรีธานีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรก็หามิได้” เมื่อพระมหากษัตริย์ผ่อนผันให้ราษฎรเข้าจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาเป็นของตน เพื่อใช้ทำประโยชน์หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัย และเมื่อทำประโยชน์ในที่ดินนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตนก็เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น แต่ราษฎรจะอ้างสิทธิในที่ดินยันต่อรัฐไม่ได้ การได้อยู่อาศัยในที่ดินแห่งหนึ่ง มิใช่ที่ดินนั้นจะเป็นของผู้นั้นตลอดไป แต่ยังคงอยู่ในบังคับการจัดการของรัฐได้ เช่น การละทิ้งที่ดินไป รัฐก็จะจัดให้ผู้อื่นเข้าอยู่แทน หรือกำหนดให้มีการเสียภาษี หรืออาจใช้พระราชอำนาจบังคับเวนคืนมาใช้เป็นประโยชน์ของรัฐ เป็นต้น (ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, 2525 : 68 – 69 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการบัญญัติไว้ในข้อบังคับการหวงห้ามที่ดิน ศก 117 ถึงการได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินของราษฎรว่า บรรดาที่ดินรกร้างว่างเปล่าทั้งหลาย เมื่อราษฎรเข้าทำประโยชน์แล้ว จะถือว่ามีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของก็ต่อเมื่อได้มีการขอ “ใบเหยียบย่ำ” และจะต้องต่ออายุใบเหยียบย่ำทุก 12 เดือน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 120 เพื่อออก “โฉนดแผนที่” ให้เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับเอกชนโดยในข้อ 7 แห่งประกาศดังกล่าวกำหนดว่า “ให้เจ้าของมีกรรมสิทธิ์เหมือนอย่างนาคู่โค” และในข้อ 14 กำหนดว่า “ถ้าผู้ใดจะขอถือที่ดินซึ่งว่างนั้นต่อเมื่อผู้นั้นได้รับโฉนดอย่างนี้แล้วจึงอาจมีกรรมสิทธิ์ในที่รายนั้นตามกฎหมาย” (ร. แลงกาต์, 2526 : 375 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.) นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน (private ownership) แบบตะวันตกมาใช้ในสังคมไทย หากแต่กรรมสิทธิ์ในขณะนั้นอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายในอันที่เจ้าของจะต้องเสียภาษี หรือในการที่รัฐจำเป็นต้องใช้ที่ดินเพื่อราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะหลังจากนั้นได้มีการตรากฎหมายเพื่อออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ราษฎรมาเป็นลำดับ เช่น พระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 พระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายฉบับหลังนี้มีบทบัญญัติยืนยันหลักกรรมสิทธิ์ในที่ดินเอกชนอยู่ในมาตรา 35 โดยรับรองว่า ที่ดินซึ่งได้ออกโฉนดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ตามพระราชกำหนดกฎหมาย (ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, 2525 : 83 – 84 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.) แต่มาตรา 36 ได้กำหนดให้รัฐสามารถเรียกเอาที่ดินที่ให้กรรมสิทธิ์คืนมาได้ตลอดเวลาเพื่อนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณ เช่น ทำทางรถไฟ ตัดถนน ฝังท่อประปา เป็นต้น ในสมัยต่อมาได้มีการตรากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2479 กำหนดหลักการให้ราษฎรสามารถจับจองที่รกร้างว่างเปล่าของรัฐได้ และเมื่อผู้นั้นได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วจะมีสิทธิได้รับ “ตราจอง” ซึ่งตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือรับโฉนดแผนที่เป็นหลักฐานรองรับกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น นอกจากนั้นได้มีการนำระบบทอเรนส์ (Torrens) ที่ใช้ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมาใช้ โดยจัดให้มีการทำทะเบียนที่ดิน การขึ้นทะเบียนและการจดทะเบียนการโอนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการวางหลักเกณฑ์ในเรื่องกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อยู่ในตัว (วิษณุ วรัญญู, 2536 : 111 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.)

ในสมัยปัจจุบัน ภายหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินเมื่อ พ.ศ. 2497 วางหลักการยอมให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้เมื่อได้รับโฉนดแล้ว ส่วนการเข้าครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าโดยก่นสร้างหักร้างถางพงลงเป็นสวนเป็นนายังมีข้อจำกัดอยู่ว่าจะทำโดยพลการมิได้ ต้องได้รับอนุญาตและเข้า

ทำประโยชน์ในที่ดินจริง ๆ เช่น ต้องมีการยื่นแบบแสดงการครอบครอง (ส.ค.1) ซึ่งแบบ ส.ค.1

จะออกให้แก่ผู้ครอบครองหรือผู้ทำประโยชน์อยู่แล้วก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และเมื่อเข้าทำประโยชน์แล้วก็ขอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบออกหนังสือสำคัญรับรองการทำประโยชน์ว่าทำเสร็จไปแล้วมากน้อยเท่าใดแล้วจึงได้รับโฉนดให้เป็นกรรมสิทธิ์เท่าจำนวนเนื้อที่ซึ่งได้ทำสำเร็จแล้วนั้น และด้วยเหตุที่มีกฎหมายใหม่บัญญัติชัดเจนแล้ว ข้อความใดที่ขัดกับกฎหมายเก่า กฎหมายเก่านั้นย่อมเป็นอันถูกยกเลิกไปโดยปริยาย (สุทธิวาทนฤพุฒิ, หลวง, 2529 : 176 อ้างถึงใน นัยนา ,Ibid.) ปัจจุบันกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนได้มีการรับรองไว้อย่างสมบูรณ์ และเป็นระบบซึ่งนอกจากจะใช้ยันกันเองระหว่างราษฎรด้วยกันแล้ว ยังยกขึ้นอ้างต่อรัฐได้ด้วย การที่รัฐจะพรากกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปจากเอกชนโดยปกติย่อมมิอาจกระทำได้ดังเช่นสมัยก่อนที่ถือว่าที่ดินทั้งหลายเป็นของพระมหากษัตริย์ หากแต่จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเท่านั้น

ในปัจจุบันที่ดินกลายเป็นทรัพย์สินที่มีค่าในทางเศรษฐกิจและมีประโยชน์ต่อมนุษย์หลายด้าน เช่น เป็นแหล่งอาหาร ป่าไม้ เป็นที่อยู่อาศัย ล่าสัตว์ ฯลฯ การใช้ประโยชน์ในที่ดินก็มีมากมายหลายอย่างแตกต่างกันไปตามลักษณะของวัฒนธรรมของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ มีการผ่อนคลายว่าการเอาที่ดินกลับคืนมาเป็นของรัฐนั้นต้องเป็นไปเพื่อใช้ประโยชน์ของทางราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจเวนคืนไว้โดยตรง วิธีการโดยมีประกาศพระบรมราชโองการเพื่อเวนคืนที่ดินมาเป็นของรัฐ

2.3.1.2 ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน

กรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้รับการเคารพจากรัฐมากขึ้น จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักการในการปกครองประเทศ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองใหม่ได้

ให้หลักประกันแก่ราษฎรว่าสิทธิในทรัพย์สินของราษฎรจะไม่ถูกล่วงละเมิดจากการใช้อำนาจของรัฐ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจ อันเป็นไปตามหลักนิติรัฐที่ถือว่าผู้ปกครองที่แท้จริงคือกฎหมายรัฐไม่อาจใช้อำนาจโดยพลการดังเช่นที่เคยกระทำได้ในระบอบการปกครองเก่าต่อราษฎรของตนเองอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพรากกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปจากผู้อยู่ใต้การปกครองจะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา 14 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ที่บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทกฎหมายบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ” อันเป็นการวางหลักการว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในทรัพย์สินภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย

2.4 ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

2.4.1 “ปัญหาการครอบครองที่ดินมือเปล่า,” ตรีเพชร์ จิตรมหึมา , นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2538

ที่ดินมือเปล่าเป็นที่ดินที่ไม่มี หนังสือสำคัญแสดง กรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเอกชนสามารถเข้าครอบครองเป็น เจ้าของได้ ศาลฎีกาได้มี คำวินิจฉัยโดยวางเป็นแนวบรรทัดฐานว่า ผู้เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าหามีกรรมสิทธิ์ไม่ เมื่อศาลนำหลักครอบครอบมาปรับใช้กับกรณีของที่ดินมือเปล่า จึงทำให้เกิด ปัญหาที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรกคือปัญหาอัน เกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของส่วนควบในที่ดินมือเปล่านั้น หากปรากฏว่าผู้เป็นเจ้าของได้นำเอาทรัพย์ ซึ่งตนมี กรรมสิทธิ์ไปปลูกสร้างติดตรึงลงบนที่ดินมือเปล่าของตนทรัพย์จะตกเป็นส่วนควบของที่ดินนั้น และผู้เป็นเจ้าของก็ อาจมีได้แต่เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น กรณีนี้ ส่งผล กระทบและขัดต่อหลักการที่จะสนับสนุนให้บุคคลเข้าทำ ประโยชน์ในที่ดินเหล่านั้น

ประการที่สอง คือปัญหาเรื่อง การโอนสิทธิความเป็นเจ้าของในที่ดินมือเปล่าประเภท ที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยศาลฎีกาวินิจฉัย ให้กระทำการโอนแก่กันได้ 2 วิธี กล่าวคือ การโอนทาง ทะเบียน ซึ่งทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 4 ทวิ ของประมวลกฎหมายที่ดิน วิธีหนึ่ง กับการโอนโดยส่งมอบการครอบครองตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378-1380 อีกวิธีหนึ่ง และหากผู้เป็นเจ้าของได้โอนโดยส่งมอบการครอบครองที่ดิน โดยชอบแก่บุคคลอื่นไปก่อนแล้วกรณีย่อมมีผลให้ผู้รับโอน ทางทะเบียนที่เสียค่าธรรมเนียมแก่รัฐ ไม่ได้รับความ คุ้มครองจากการโอนดังกล่าว

ประการที่สาม คือปัญหาการนำหลักการแย่งการครอบครองตามมาตรา 1375 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับกรณีของการแย่งสิทธิ ในที่ดินมือเปล่า โดยกำหนดให้เจ้าของที่ดินมือเปล่าต้อง ฟ้องคดี เพื่อเรียกคืนการครอบครองที่ดินของตนจากผู้แย่ง การครอบครอบไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง กรณีนี้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ เจ้าของที่ดินมือเปล่า โดยทำให้ผู้เป็นเจ้าของนั้นต้อง สูญเสียสิทธิในที่ดินของตนไปอย่างง่ายดาย การปรับใช้หลักการเรื่องสิทธิครอบครองในกรณี ดังกล่าวนี้ จึงไม่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้เป็นเจ้าของ ที่ดินมือเปล่า

โดยแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ควรแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน อันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ของผู้เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และครอบคลุมถึงปัญหาข้างต้น กล่าวคือ

1. เพิ่มข้อความ ในบทนิยามคำว่า สิทธิในที่ดิน ให้หมายความรวมถึงสิทธิ แห่งความเป็นเจ้าของในที่ดินด้วย

2. กำหนดอย่างชัดเจน ให้การโอนที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ถ้ามิได้ ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมเป็น โมฆะ และบัญญัติห้ามโดยชัดแจ้งมิให้มีการโอนโดยวิธีส่ง มอบการครอบครองอีกต่อไป และ

3. ขยายระยะเวลาการ ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งที่ดินของเจ้าของที่ดินมือเปล่าออกไป เป็นห้าปีนับแต่เวลาถูกแย่งที่ดินเมื่อได้มีการบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินตามข้อเสนอของผู้ศึกษา ทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้วจะมีผลช่วยในการใช้ และการตีความหมายในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินมือเปล่า

โดย ทำให้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสิทธิครอบครองตาม ธรรมดาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับสิทธิในที่ดิน ของผู้เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า และเนื่องจากการปรับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงเหตุผลของเรื่อง (nature of things) สำหรับที่ดินมือเปล่าด้วย ดังนั้น จึง

ควรปรับใช้สิทธิ ครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งให้สิทธิแห่งความ เป็นเจ้าของในที่ดินนั้น และควรยึดถือหลักการนี้โดย เคร่งครัด และจะต้องไม่นำเอาหลักว่าด้วยการโอนการ

ครอบครองและการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาปรับใช้กับกรณีของที่ดินมือเปล่าอีกต่อไป กรณีนี้อาจเป็นแนวทางประการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขและขจัด ปัญหาความเดือดร้อนของผู้เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าได้

2.4.2 “มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองที่ดินที่เกษตรกรได้รับมา จากการเช่าซื้อในเขตปฏิรูปที่ดิน,” ปิยะรัตน์ ตัณฑศรี , นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.

ความพยายามของรัฐที่จะกระจายสิทธิในที่ดินให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินหรือ

เกษตรกรผู้มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ เท่าที่ผ่านมาการดำเนินงานนี้ไม่ประสบ

ความสำเร็จนัก เพราะเมื่อรัฐได้กระจายที่ดินไปแล้วปรากฏว่า เกษตรกรที่ได้รับที่ดินไปไม่สามารถรักษาที่ดินเอาไว้ได้ บางรายขายที่ดินไปประกอบอาชีพอื่น บางรายก็ขายที่ดินแล้วอพยพครอบครัวไปบุกรุกป่าสงวน ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินทำกิน หรือบางรายก็ขายที่ดินแล้วไปเช่าที่ดินประกอบเกษตรกรรม ที่ดินที่ขายไปก็ตกอยู่ในมือของผู้ที่มิได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็ต้องตกเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินอีกเหมือน เดิม

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงได้มุ่งที่จะศึกษามาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครอง ที่ดินที่เกษตรกรได้รับจากการเช่าซื้อในเขตปฏิรูปที่ดิน มาตรการที่สำคัญก็คือมาตรการทางกฎหมายซึ่งจะเป็นมาตรการแรกที่จะช่วยให้ ที่ดินที่เกษตรกรได้รับไปไม่ต้องตกไปสู่การถือครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกรอีก ต่อไป อีกทั้งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถทำกินในที่ดินที่มีขนาดพอเหมาะเพียงพอแก่การ เลี้ยงชีพ แต่จากการศึกษาพบว่า กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีอยู่ยังไม่สามารถที่จะคุ้มครองที่ดิน ที่เกษตรกรเช่าซื้อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ เพราะกฎหมายที่มีอยู่มีเพียงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 มาตราเดียวที่วางหลักการคุ้มครองไว้กว้างๆ โดยให้อำนาจ ส.ป.ก ออกกฎกระทรวงและระเบียบในการดำเนินงานต่างๆ หากออกให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินแล้ว ไม่สามารถใช้บังคับได้ เนื่องจากกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ เหล่านี้ซึ่งถือว่ามีศักดิ์เป็นกฎหมายลำดับรองไปขัดกับหลักการเกี่ยวกับ สิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันถือว่าเป็นกฎหมายหลัก นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น

อีกประการหนึ่งคือ บทบัญญัติตามาตรา 39 มีถ้อยคำที่ทำให้เกิดปัญหาข้อโต้เถียงและปัญหาในการตีความ และในบางครั้งก็เป็นช่องว่างอันทำให้ ส.ป.ก. ไม่สามารถคุ้มครองที่ดินที่เกษตรกรเช่าซื้อไปให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ วางไว้ได้ ดังนั้นเพื่อให้มาตรการทางกฎหมายสามารถคุ้มครองที่ดินที่เกษตรกรเช่าซื้อจาก ส.ป.ก. เป็นไปได้อย่างแท้จริง การแก้ไขที่เป็นหลักใหญ่คือ

1. จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 39 ซึ่งจะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดแจ้งขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นการอุดช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นจากการตีความกฎหมาย

2. บัญญัติกฎหมายในส่วนที่ต้องการแยกออกจากหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

3. ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลต่างๆ เข้าใจถึงหลักการในการปฏิรูปที่ดิน และกฎหมายปฏิรูปที่ดินโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่แตกต่างจากสิทธิในที่ดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และชี้แจงให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบถึงหลักการในการดำเนินงานเช่าซื้อ เพื่อที่เกษตรกรจะได้เข้าใจถึงสิทธิในที่ดินที่ได้รับไปดีขึ้น

การแก้ไขกฎหมายนี้จะทำให้ ส.ป.ก. มีกฎหมายที่สมบูรณ์สามารถใช้เป็นหลักและแนวทางในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่อง ตัวไม่ติดขัดและสอดคล้องกับหลักการที่วางไว้ นอกจากมาตรการกฎหมายแล้วรัฐจะต้องมีมาตรการอื่นที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถ รักษาที่ดินเอาไว้ได้ การที่เกษตรกรจะสามารถรักษาที่ดินเอาไว้ได้นั้น เกษตรกรจะต้องสามารถทำกินบนที่ดินได้ก็คือ การให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบแปลงเกษตรกรรม การปรับปรุงดิน การส่งเสริมการผลิต การให้สินเชื่อ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในด้านการตลาด วิธีการเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอจากการผลิตสามารถเลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ และจะส่งผลให้เกษตรกรเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนในที่ดิน ต้องการที่จะรักษาที่ดินเอาไว้ให้นานที่สุด

2.4.3 โครงการศึกษาการถือครองและใช้ประโยชน์และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด,”วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ และคณะ, 2544 พบว่า ที่ดินในประเทศไทยซึ่งมีทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ มีปัญหาในเรื่องต่าง ๆ คือ มีผู้ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย สิทธิในที่ดินที่ประชาชนได้รับแตกต่างกัน เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินจากความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินแตกต่างกัน ทรัพยากรดินและที่ดินเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการใช้ที่ดินผิดประเภทหรือไม่เหมาะสมกับสมรรถนะของที่ดิน ขาดมาตรการทางกฎหมายที่จะจำกัดขนาดของการถือครองที่ดินทำให้การถือครองที่ดินกระจุกตัว มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ขาดมาตรการทางภาษีที่จะทำให้มีการกระจายที่ดินและสร้างความเป็นธรรมในสังคม และหน่วยงานบริหารจัดการที่ดินกระจายอยู่ในกระทรวงและกรมต่าง ๆ ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ

2.4.4 “การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่รัฐเวนคืนจากประชาชน,” นัยนา เกิดวิชัย, 2548 ได้ศึกษาพบว่า การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่รัฐเวนคืนจากประชาชน โดยเฉพาะกรณีของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย พบว่า มีทั้งกรณีที่หน่วยงานของรัฐทั้งสองไม่ใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เวนคืนจากประชาชนภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย กรณีการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เวนคืนจากประชาชนไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายและกรณีการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เวนคืนจากประชาชนตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายเวนคืน แต่มีที่ดินเหลือจากการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งบางกรณีเจ้าของเดิมหรือทายาทของเจ้าของเดิมมีสิทธิเรียกคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนไปได้ก็ตาม แต่สิทธิในการเรียกร้องที่ดินที่ถูกเวนคืนของเจ้าของเดิมหรือทายาทของเจ้าของเดิมก็เป็นอันไร้ผลแล้วทั้งสิ้น เพราะศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่าระยะเวลาแห่งการใช้สิทธิเรียกคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนได้ล่วงเลยมาแล้ว ศาลปกครองไม่อาจรับเรื่องไว้พิจารณาพิพากษาได้ ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยและการท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงควรพิจารณาทบทวนกรณีที่เอกชนได้เรียกร้องที่ดินที่ถูกเวนคืนดังกล่าว โดยหากการรถไฟแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทยมิได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เวนคืนจากประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย ความชอบธรรมในการถือกรรมสิทธิ์ย่อมหมดสิ้นไปแล้ว แม้ว่าในทางกฎหมายเอกชนไม่อาจเรียกคืนได้ แต่หน่วยงานทั้งสองก็ยังผูกพันที่ควรจะต้องคืนที่ดินดังกล่าวให้แก่เอกชนตามหลักความชอบธรรม

บทที่ 3

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

บทบัญญัติเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน

3.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล

ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา 5 ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความ

คุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

มาตรา 6 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ

หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้

เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 41 สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิของบุคคลในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามที่

กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 42 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตาม

บทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ

สิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การกำหนดค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การได้มา สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนและประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน

กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท

การคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทตามวรรคสาม และการเรียกคืนค่าทดแทนที่ชดใช้ไป ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมี

สิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา

และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง

ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษา

และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มี

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา 85 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และ

สิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยให้คำนึงถึงความ

สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งผืนดิน ผืนน้ำ วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดมาตรฐานการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินนั้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย

(2) กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร

(3) จัดให้มีการวางผังเมือง พัฒนา และดำเนินการตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและ

ประสิทธิผล เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

(4) จัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่นอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล

(5) ส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน

3.2 รัฐธรรมนูญต่างประเทศ

3.2.1 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ค.ศ.1950

สิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศอินเดีย

สิทธิขั้นพื้นฐาน, บัญญัติไว้ ในส่วนที่ III ของรัฐธรรมนูญ รับประกันสิทธิของพลเมืองชาวอินเดียทั้งมวล และป้องกันไม่ให้ รัฐล่วงละเมิดในเสรีภาพส่วนบุคคล ในขณะเดียวกันก็มีภาระที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการล่วงละเมิดโดยสังคม สิทธิขั้นพื้นฐาน 7 ประการได้บัญญัติไว้ตามเดิมในรัฐธรรมนูญ -- สิทธิในความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ สิทธิต่อต้าน สิทธิเสรีภาพในการศาสนา วัฒนธรรมและ สิทธิการศึกษา, สิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สิทธิในทรัพย์สิน ถูกยกเลิกจากส่วนที่ III ของรัฐธรรมนูญโดย แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 44 ในปี 1978

สิทธิในทรัพย์สินยังคงมีสิทธิได้รับการยอมรับในรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้อยู่นอกส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานในมาตรา 300A เกี่ยวกับรัฐ :

บุคคลจะไม่ถูกตัดสิทธิ์จากทรัพย์สินของตน โดยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

3.2.2 รัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1946

มาตรา 29 สิทธิในทรัพย์สิน จะละเมิดมิได้

เนื้อหาแห่งสิทธิในทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยให้สอดคล้องกับประโยชน์สุขอันร่วมกันของสาธารณะ

ทรัพย์สินส่วนบุคคล สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ ภายใต้การชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม

3.2.3 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ค.ศ. 2003

มาตรา 15 (ใหม่).

รัฐส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สร้างสิ่งแวดล้อมอำนวยความสะดวกให้แก่การนำเอาทุน, เทคโนโลยี และการคุ้มครองที่ก้าวหน้าเข้าสู่กระบวนการผลิต, ธุรกิจ และการบริการ.

ทรัพย์สมบัติ และทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้ลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะมิถูกเก็บเกณฑ์, มิถูกยึด หรือโอนเป็นของรัฐ.

มาตรา 16.

รัฐปกป้อง และเสริมขยายบรรดารูปการกรรมสิทธิ์ของรัฐ, ของรวมหมู่, เอกเทศ, เอกชนภายใน และต่างประเทศที่ลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว.

มาตรา 17 (ใหม่).

รัฐปกป้องสิทธิเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ (สิทธิ์ครอบครอง, สิทธิ์นำใช้, สิทธิ์ได้รับ ดอกผล, สิทธิ์ชี้ขาด) และสิทธิ์สืบทอดทรัพย์สมบัติของการจัดตั้ง และของบุคคล. สำหรับที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของวงคณาญาติแห่งชาติ, รัฐรับประกันสิทธิ์นำใช้, สิทธิ์โอนและสิทธิ์สืบทอดตาม กฎหมาย.

มาตรา 18 (ใหม่)

รัฐคุ้มครองเศรษฐกิจ ตามกลไกเศรษฐกิจตลาดที่มีการควบคุมของรัฐ, ปฏิบัติหลักการสบทบการคุ้มครองรวมศูนย์ เป็นเอกภาพของแขนงการศูนย์กลางกับการแบ่งความรับผิดชอบคุ้มครองให้ท้องถิ่น ตามระเบียบกฎหมาย.

กรรมสิทธิ์ในที่ดินของ สปป.ลาว

กรรมสิทธิ์ในที่ดินของ สปป.ลาวทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์รวมของชาติ แต่รัฐบาลของ สปป.ลาว อาจมอบสิทธิในที่ดินบางส่วนให้แก่ประชาชนชาวลาวได้ โดยสิทธิที่รัฐบาลจะมอบให้นั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือการให้สิทธินำใช้ที่ดิน และการให้สิทธิใช้ที่ดิน

สิทธินำใช้ที่ดินถือเป็นสิทธิความเป็นเจ้าของแบบสมบูรณ์แบบสำหรับเอกชน ชาวลาว เทียบได้กับหลักกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายไทย สามารถนำไปใช้ได้รับประโยชน์ โอน สืบทอด เอาไปลงทุนเป็นหุ้น หรือให้เช่า โดยจะมีเอกสารแสดงสิทธินำใช้ที่ดิน คือ “ใบตราดิน” ซึ่งมีความสมบูรณ์เทียบเคียงได้กับโฉนดที่ดินตามกฎหมายไทย หากเอกชนที่เสนอให้เช่าสิทธิในที่ดินดังกล่าวมีใบตราดิน ที่แสดงขอบเขตของพื้นที่ที่ตกลงจะดำเนินการให้เช่ามาแสดงแก่นักลงทุนต่าง ประเทศ นักลงทุนนั้นย่อม มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า สิทธิที่นักลงทุนจะเช่านั้นมีความสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ยังมีประเด็นอื่นอีกที่ต้องพิจารณา

ส่วนสิทธิใช้ที่ดิน แม้ชื่อของสิทธิทั้งสองจะใกล้เคียงกัน แต่สิทธิที่ได้นั้นแตกต่างกันมาก สิทธิใช้ที่ดินนั้นเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไขจำกัดค่อนข้างมาก โดยมีเพียง “ใบยั้งยืน” ที่ดินออกมา สิทธิใช้ที่ดินนั้นรัฐบาล มอบให้แก่เอกชนชาวลาว เพื่อวัตถุประสงค์ ในการใช้ที่ดินใน 2 ประการ คือที่ดินกสิกรรมและที่ดินป่าไม้ชั่วคราว สิทธิดังกล่าวไม่มีความสมบูรณ์ เป็นเพียงสิทธิเบื้อง ต้น มีเพียงสิทธิสืบทอดตามอายุใบยั้งยืน ซึ่งจะมีอายุเพียง 3 ปี โดยไม่มีสิทธิโอนเอาไปลงทุนเป็นหุ้น หรือให้เช่า สามารถเทียบเคียงได้กับใบจอง หรือ สค.1 ตามกฎหมายไทยเท่านั้น ทั้งนี้ หากใช้พื้นที่ดินดังกล่าวโดยสมบูรณ์ ภายหลังระยะเวลา 3 ปี เอกชนดังกล่าวสามารถนำใบยั้งยืนที่ดินดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นใบตราดิน เพื่อรับสิทธินำใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นสิทธิสมบูรณ์ได้ (รับขวัญ ชลดำรงกุล, 2552)

3.2.4 รัฐธรรมนูญแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1982

มาตรา 7

เศรษฐกิจระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐคือ เศรษฐกิจระบบกรรมสิทธิ์ร่วมกันของประชาชนทั่วประเทศ เป็นกำลังหลักและน้าวนำเศรษฐกิจประชาชาติ รัฐคุ้มครองความมั่นคงและการพัฒนาของเศรษฐกิจระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ

3.3 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 137 ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง

มาตรา 138 ทรัพย์สินหมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

มาตรา 139 อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพย์สินอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย

มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้และ สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา 1356 ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกันท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

3.4 สรุปหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า " แดนแห่งกรรมสิทธิ์" (Extent of Ownership) นั้น มีประเด็นในข้อกฎหมายที่ถือเป็นหลักปฏิบัติดังนี้คือ

1. ในทางกฎหมายถือว่าแดนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น หมายถึงเหนือพื้นดิน และ ใต้พื้นดินด้วย ดังนั้น เจ้าของที่ดิน จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดิน บนดิน และ ใต้พื้นดินในอาณาเขตของตัวเองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335

2. ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของที่ดินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายที่ดินของตน และได้ซึ่งดอกผลจากที่ดินนั้น มีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งที่ดินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีมีสิทธิจะยึดถือเอา ไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของตนโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

3. ถ้ามีบุคคลใดใช้สิทธิของตนอันเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์(ที่ดิน)ได้รับความเสียหาย หรือต้องเดือดร้อนเกินควร หรือคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์(ที่ดิน)มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้ ทั้งนี้ มีสิทธิเรียกค่าทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้อีกด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337

4. เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะต้อง ไม่ทำสิ่งปลูกสร้าง อื่นใดที่ทำให้ น้ำฝนตกลงไปยัง ทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่อยู่ติดกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1341

5. ห้ามขุด ที่ดินในระยะ 2 เมตรจากที่ดินของบุคคลอื่น เนื่องจากอาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย จากการพังทลาย หรือ ความเสียหายอื่น ๆ จากการใช้ประโยชน์จากการชุดที่ดินดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1342

6. ห้ามขุดดิน หรือ บรรทุก น้ำหนัก บนพื้นดินเกินควร จนส่งผลกระทบต่อที่ดินที่อยู่ติดกัน เว้นแต่จะต้องมีการจัดการอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1343

7. รั้ว กำแพง รั้วต้นไม้ คู ซึ่งหมายเขตที่ดินนั้น กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1344

8. ถ้า รั้ว กำแพง รั้วต้นไม้ คู ที่ใช้เป็นแนวเขตที่ดิน เป็นของเจ้าของที่ดินรวมกัน ดังนั้น เจ้าของ ที่ดินฝั่งหนึ่งฝั่งใด มีสิทธิตัดรั้วต้นไม้ หรือ ถมคูได้ จนถึงแนวที่ดินของตนเอง แต่ทั้งนี้ ต้องทำกำแพง หรือ ทำรั้วตามแนวเขตนั้นด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1345

9. ถ้ามีต้นไม้อยู่แนวเขตที่ดิน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองฝั่งเป็นเข้าของต้นไม้ร่วมกัน ดังนั้นดอกผล จึงเป็นเจ้าของเท่าๆกันกรณีมีการตัดต้นไม้นั้น ไม้ก็จะเป็นของเจ้าของที่ดินคนละส่วนเท่าๆกัน ค่าใช้จ่ายกรณีที่แต่ละฝ่ายต้องการให้ตัด หรือ ขุดดิน ก็จะต้องจ่ายฝ่ายละเท่ากัน แต่ถ้าเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่งสละสิทธิในต้นไม่ ผู้ที่ต้องการตัดก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายฝ่ายเดียว ยกเว้นกรณีต้นไม้ เป็นหลักเขตสำคัญ ถ้าโค่น แล้วจะทำให้หลักเขตหายไป กรณีนี้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะต้องการให้ชุด หรือ ตัดต้นไม้ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1346

10. เจ้าของที่ดินสามารถตัดรากไม้ ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อได้ แต่ถ้าเป็นกรณีกิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา จะต้องบอกกล่าวผู้ครอบครองทีดินติดต่อให้ตัดกิ่งไม้นั้นในเวลาอันควร ก่อน หากเจ้าของที่ดิน ติดต่อไม่ยอมตัด จึงจะสามารถตัดกิ่งไม้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1347

11. ดอกผลต้นไม้ที่หล่นตามธรรมชาติ ลงในที่ดินแปลงใด ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1348

12. ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นห้อมล้อมอยู่จนไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้กฎหมายกำหนดให้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ทั้งนี้ โดยวิธีทำทางผ่าน ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า "ทางจำเป็น" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349

13. เจ้าของที่ดินมีสิทธิวางท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่น ผ่านที่ดินแปลงอื่นมายังที่ดินของตนได้ แต่ต้องยอมจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินนั้นตามสมควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352

14. เจ้าของที่ดินริมทางน้ำ หรือ มีทางน้ำผ่านไม่มีสิทธิจะชักเอา น้ำไว้กินเกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของตนตามสมควร จนเป็นเหตุเสื่อมแก่ที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ตามทางน้ำนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1355

(สำนักงานกฎหมายออนไลน์ , 2552)

3.5 พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

มาตรา 1 พระราชบัญญัติ นี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497"

มาตรา 2 พระราชบัญญัติ นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ประมวลกฎหมายที่ดินตามที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัติ นี้ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497 เป็นต้นไป

3.6 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้

"ที่ดิน" หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไป และให้หมายความรวมถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ ชายทะเลด้วย

"สิทธิในที่ดิน" หมายความว่า กรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึง สิทธิครอบครองด้วย

"ใบจอง" หมายความว่า หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครอง ที่ดินชั่วคราว

"หนังสือรับรองการทำประโยชน์" หมายความว่า หนังสือคำรับรอง จากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว"ใบไต่สวน" หมายความว่า หนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อการ ออกโฉนดที่ดิน และให้หมายความรวมถึงใบนำด้วย

"โฉนดที่ดิน" หมายความว่า หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้หมายความรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจอง ที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว"

มาตรา 6 นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อย ที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกินสิบปีติดต่อกัน

(2) สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปี ติดต่อกันให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้น ตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป

หมายเหตุมาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515

3.7 พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511

มาตรา 6 ให้ รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดิน นั้น โดยจัดตั้งเป็นนิคมตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 7 การจัดตั้งนิคมตามมาตรา 6 ในท้องที่ใด ให้กระทำ โดยพระราชกฤษฎีกา และให้มีแผนที่กำหนดแนวเขตที่ดินของนิคมไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น

3.8 นโยบายรัฐบาล

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชิน

วัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีการกล่าวถึงนโยบายด้านการเกษตรกรรม

ในส่วนที่ 1 ฟื้นฟูและส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรว่า ... (3) ส่งเสริมให้เกษตรกรมีที่ดิน

ทำกินอย่างพอเพียงโดยการวางแผนการใช้ที่ดินอย่าง มีประสิทธิภาพและการจัดการใช้ที่ดินรก

ร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูง สุด... เป็นเพียงถ้อยแถลงและยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน

เช่นเดียวกับบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่ว่า...เช่นเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มี

กฎหมายที่ออกมารองรับเจตนารมณ์ดังกล่าว เพื่อที่ก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง ภายใต้

ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ความเป็นอุตสาหกรรมโดยการชี้นำของสภา พัฒนาเศรษฐกิจ

และสังคมแห่งชาติเป็นเวลาร่วมกว่า 40 ปี ได้ส่งผลกระทบสังคมไทยในหลาย ๆ ด้าน จนกระทั่งถึงขั้นก่อให้เกิดวิกฤติอย่างปัจจุบัน กล่าวแค่เฉพาะปัญหาในชนบทหรือภาคเกษตรกรรมนั้น เนื่องจากชาวนาชาวไร่ต้องตกเป็นเหยื่อของการพัฒนามาโดยตลอด ภาคการเกษตรถูกใช้เป็นฐานให้กับการเติบโตของเมือง ภาคอุตสาหกรรมและภาคอื่น ๆ

วันที่ 30 ธันวาคม 2551 เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่มีความหวังว่าจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในด้านที่ดินของคนจนได้ ข้อ 4.1.2.8

“คุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการ ทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดินจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจน และชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปแบบโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปนิคมการเกษตร”

3.9 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553

กฎหมายว่าด้วยโฉนดชุมชน ไม่มีหลักกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย (Ownership) ออกตามกฎหมายที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ คือ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ตาม มาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

มาตรา 11 นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

……..

(8) วางระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

(9) ดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย

ข้อ 3 ในระเบียบนี้ ...

“ที่ดินของรัฐ” หมายความว่า ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท

“โฉนดชุมชน” หมายความว่า หนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ การครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน ซึ่งชุมชนมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยกฎหมายและระเบียบนี้ และให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน

ข้อ 4 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มี

โฉนดชุมชน” เรียกโดยย่อว่า “ปจช.”…

ข้อ 7 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

…(2) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบนี้

…ฯลฯ…..

บรรณานุกรม

กฎหมาย พระราชบัญญัติ ระเบียบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น

รัฐธรรมนูญของสปป.ลาว

รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีน

รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอินเดีย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประมวลกฎหมายที่ดิน

พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511

พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553

บทความ ข่าว หนังสือพิมพ์ วารสาร

กรมที่ดิน .“ความเป็นมาของการออกโฉนดที่ดิน.” [Online], Available URL : http://www.dol.go.th/dolwcag/?p=236

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร .“กำเนิดและพัฒนาการแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่.” 2551 [Online], Available URL : http://kriangsakt.blogspot.com

เกษียร เตชะพีระ .“กรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน ในสังคมประชาธิปไตย.” 2551 [Online], Available URL : www.lawonline.co.th

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท)., คณะทำงานศึกษามาตรการทางกฎหมายและนโยบาย .“ข้อเสนอแนวทางและมาตรการ การกระจายการถือครองที่ดินในสังคมไทย.” 30 มิถุนายน 2552 [Online], Available URL :

http://www.thailandreform.net/data/index.php?option=com_content&view=article&i

d=39:2010-04-28-07-11-23&catid=94:2010-05-20-05-01-45&Itemid=16

ใจ อึ๊งภากรณ์ .“ร่วมกันเข้าใจวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลก.” 21 พฤษภาคม 2552 [Online], Available URL : http://www.varinthorn.com/WordPress/?p=501

ตะวัน วรรณรัตน์ .“ทำความรู้จักกับรัฐสวัสดิการ.” 1 กันยายน 2552 [Online], Available URL :

http://downtoearthsocsc.thaigov.net/index.php?option=com_content&task=view&id=203&Itemid=3

ไทบ้านพระเสาร์,นามแฝง.” โฉนดที่ดินฉบับแรกของไทย ...อยู่ที่ใหน...ใครครอบครอง...” 10 กรกฎาคม 2552 [Online], Available URL : http://www.oknation.net/blog/su/2009/07/10/entry-1

ธนวัฏ เสือแย้ม .“คลังเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ 30 ก.ย.นี้.” สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) ,23 กันยายน 2553 [Online], Available URL: http://www.ryt9.com/s/iq03/991050

ประภัสสร์ เทพชาตรี , คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .“ระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2050.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ,15 - 21 มกราคม 2553 16 กุมภาพันธ์ 2553 [Online], Available URL : http://thepchatree.blogspot.com/2010/02/2050.html

พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ .“บทสรุปงานวิจัยการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน.” 21 พฤษภาคม 2553 [Online], Available URL :

http://www.thailandreform.net/data/index.php?option=com_content&view=article&i

d=72:2010-05-21-07-33-41&catid=96:2010-05-20-09-47-19&Itemid=21

มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI) . “เวทีระดมปฏิรูปประเทศไทยเสนอ 7 ข้อลดเหลื่อมล้ำ.” 2553 [Online], Available URL : http://biothai.net/news/2776

เยาวเรศ หยดพวง .“หมอนิรันดร์ ชี้บางมาตราในระเบียบโฉนดชุมชนมีตำหนิ.” 26 มิถุนายน 2553 [Online], Available URL :

http://www.thaireform.in.th/news-strong-communities/1417-2010-06-26-02-46-58.html

รับขวัญ ชลดำรงกุล. “ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาในการถือสิทธิที่ดินใน สปป.ลาว.”

นิตยสารผู้จัดการ, มีค. 2552 [Online], Available URL : http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=78023

รุ่งโรจน์ วรรณศูทร .“หลักนโยบาย 3 ข้อแก้ปัญหาเกษตรกร.” , 25 พฤษภาคม 2553 [Online], Available URL : http://arinwan.co.cc/index.php?topic=270.0

วรพล โสคติยานุรักษ์ , สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ .“นักเศรษฐศาสตร์ร่วมแก้วิกฤติ ถอดรหัสแผนปรองดองชาติ.” ไทยรัฐออนไลน์ ,31 พฤษภาคม 2553 [Online], Available URL : http://www.thairath.co.th/column/eco/ecoscoop/86297

วิเนตร ผาจันทา (คลินิคทนายความ) .“หลักของการได้มาหรือเสียไป ซึ่งสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดิน.” มปป. [Online], Available URL : http://www.fpmconsultant.com/htm/advocate_dtl.php?id=21

สิริอัญญา,นามแฝง .“ส.ป.ก.4-01 ผิดที่คนหรือกฎหมาย ?.” นสพ.ผู้จัดการรายวัน , 26 มกราคม 2552 [Online], Available URL : http://www.dlo.co.th/node/160

โสภณ พรโชคชัย , มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย .“โฉนดชุมชน เรื่องวิบัติที่ต้องคัดค้านอย่างถึงที่สุด.” 2552 [Online], Available URL :

http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market265.htm

2009-09-27 23:39. และ www.prachatai.com/journal/2009/09/25985

สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ .จดหมายข่าว “ต้นคิด” รายเดือน , ฉบับที่ 27 , มิถุนายน 2553 [Online], Available URL :http://www.tonkit.org/upload_mag/84.pdf

อนุสรณ์ ธรรมใจ .“ความท้าทายของการปฏิรูปที่ดิน.” 6 กันยายน 2553 [Online], Available URL : http://www.rsunews.net/Think%20Tank/TT274/Challenges.htm

อภิวัฒน์ นาคชำนาญ . “ว่าด้วยทรัพยสิทธิ (สิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์),” 24 สิงหาคม 2550 [Online], Available URL : http://learners.in.th/blog/human-right/63417

อาลี เสือสมิง อัสสิยามีย์ . “คนที่โกงทรัพย์สินส่วนรวมนั้นหากจะสำนึกผิดและประสงค์ที่จะให้พ้นจากบาปจะทำอย่างไร.” 9 พฤษภาคม 2553 [Online], Available URL : http://www.alisuasaming.com/qa/index.php?topic=1194.0

“การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน.” 6 พฤษภาคม 2552 [Online], Available URL : http://www.1asiaproperty.net/index.php?mo=3&art=288972

“ชำแหละกม.ปฏิรูปที่ดิน ประเด็นร้อนท้าทายรัฐบาล ดับเครื่องชนที่ทำกินเกษตรกร.” มติชนรายวัน, 9 กุมภาพันธ์ 2548 [Online], Available URL :

http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q1/article2005february09p7.htm

“ผ่าทางตันปฏิรูปที่ดิน.” โพสต์ทูเดย์ ,28 กรกฎาคม 2553 [Online], Available URL : http://friendfeed.com/soclaimon/542dbdca

“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม.” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , 19 สิงหาคม 2553 [Online], Available URL : http://mblog.manager.co.th/phakri/th-102378/

“รัฐซื้อที่ดินบสท. 3 หมื่นไร่แจกคนจน-แก้ปัญหาโดนบุกยึด.” 6 กันยายน 2553 [Online], Available URL : http://www.corehoononline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=7618%3A-3--&catid=14%3A2010-03-15-03-55-40&Itemid=1

“รัฐดันตั้งแบงก์ปฏิรูปที่ดินแจกที่ดินคนจน.” 25 มิถุนายน 2553 [Online], Available URL : http://www.suthichaiyoon.com/detail/3807

“เอ็นจีโอเสนอนายกฯเร่งจัดที่ดินทำกิน-คนจนไร้ที่ดิน.” มติชนออนไลน์ , 20 ธันวาคม 2551 [Online], Available URL : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1229747237

รายงานวิจัย

นัยนา เกิดวิชัย . การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่รัฐเวนคืนจากประชาชน. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา , 2549.

วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ และคณะ .โครงการศึกษาการถือครองและใช้ประโยชน์และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด. 2544.

วิทยานิพนธ์

ตรีเพชร์ จิตรมหึมา . “ปัญหาการครอบครองที่ดินมือเปล่า.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2538. URL : http://www.tkc.go.th/thesis/abstract.asp?item_id=9504URI:

ปิยะรัตน์ ตัณฑศรี . “มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองที่ดินที่เกษตรกรได้รับมา จากการเช่าซื้อในเขตปฏิรูปที่ดิน.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530. URL : http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/10883

หนังสือ

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

เอกสารประชุม วิชาการ

คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินภาคประชาชน.“การสัมมนาการขับเคลื่อนขบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยภาค ประชาชน.” เอกสารประกอบการสัมมนา ณ วังธารรีสอร์ท อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ , 21-23 เมษายน 2552. [Online], Available URL : http://www.paknue.com/images/upload/20090522172238_1.pdf

เวบไซต์

กรมที่ดิน http://www.dol.go.th/

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร http://kriangsakt.blogspot.com

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) http://www.thailandreform.net/

บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) http://tamc.or.th/

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย http://www.thaiappraisal.org/

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน http://www.lawonline.co.th

สำนักงานกฎหมายออนไลน์ http://www.wichianonline.com/

นโยบายเศรษฐกิจการเมืองของรัฐบาลทักษิณ อยู่ในกรอบทฤษฎีลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1) ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การลงทุนเสรีไร้พรมแดน ระบบการเงินเสรี และระบบการค้าเสรี (สุดขั้ว)

2) ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางการเมือง ได้แก่ การแปรรูปเป็นเอกชน (Privatization) การทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratize) ที่มุ่งหวังพัฒนาประชาธิปไตยให้เป็นแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จของกลุ่มทุน โดยอ้างคำว่าเพื่อให้การเมืองนิ่ง ไม่มีคนคัดค้าน หรือปกครองแบบบริษัทประเทศไทย และแอบอ้างธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่หลายประเทศใช้ดำเนินการคอรัปชั่นทางนโยบาย และคอรัปชั่นทางการเมือง

 

http://www.reocities.com/save_egat/col_ex_2.htm

 

บทเรียน 8 ปีของรัฐบาลทักษิณ แนวคิดสำคัญในการบริหารประเทศผ่านคำขวัญ “คิดใหม่ ทำใหม่” ของพรรคไทยรักไทยนั้นคือ “ทฤษฎีขวาใหม่” (new right) หรือเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism)

 

ระวัง! รัฐบาลเอียงซ้ายกับนโยบายขวาใหม่ 

31 กรกฎาคม 2554 - 00:00

http://www.thaipost.net/tabloid/310711/42557

 

ตัวกูของกู  เป็นกฎที่ปฏิสัมพันธ์กับสังคมส่วนรวม   ถ้าตัวกูของกูเข้มข้นมากเท่าไหร่  ความเป็นสังคมและรัฐก็จะน้อยลงเท่านั้น   ลัทธิเสรีนิยม  หรือเสรีนิยมใหม่  (Neo-Liberalism)   ที่เน้นตัวกูของกูสูง  สามารถเปิดให้มนุษย์แสวงหาผลประโยชน์อย่างกว้างขวางไปทั่วโลก  ด้วยการแข่งขันกันอย่างเสรีและพล่าผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างเสรี  ไร้ขีดจำกัด  จึงเป็นสิ่งที่เชิดชูยกย่องควบคู่ไปกับประชาธิปไตยที่เห็นแก่ตัว   โดยไม่มีใครมองถึงผลด้านกลับที่จะเกิดขึ้น   เพราะแต่ละคนคิดแต่จะเอาตัวรอดไว้ก่อน   สังคมหรือชาติจะฉิบหายโลกจะฉิบหายช่างมัน

 

พรรคการเมืองใหม่แบบชั่วคราว   

Written by Administrator  

Monday, 20 June 2011 12:52

http://www.cpcs.nida.ac.th/home/index.php?option=com_content&view=article&id=110:2011-06-20-05-52-28&catid=41:2011-06-20-05-09-17&Itemid=38

พรรคการเมืองใหม่แบบชั่วคราว : พิทยา ว่องกุล

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  บทความพิเศษ 8 มิถุนายน 2552

เพราะก่อนหน้าวันเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 ปีก่อน พรรคประชาธิปัตย์ มีฐานภาพเป็น Thesis ในขณะที่ พรรคไทยรักไทย (รวมทั้ง พรรคความหวังใหม่) มีลักษณะเป็น Anti-thesis

 

สังคมไทยเห็นเค้าโครงนโยบายและยุทธศาสตร์ของ พรรคประชาธิปัตย์ ในช่วง 6 ปีสุดท้ายของการเป็นรัฐบาล 2 สมัย ปี 2535 - 2538 และ ปี 2540 - 2543 ซึ่งมี จุดขาย อยู่ที่ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์, ศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่ยึดกุม นโยบายการเงิน-การคลัง อยู่ถึง 6 ปีเต็ม

 

ค่อนข้าง ชัดเจน ว่าดำเนินการขับเคลื่อนประเทศไปตามทิศทางของกระแส ลัทธิเสรีนิยมใหม่ : Neo-Liberalism นำพาประเทศเข้าสู่กรอบพันธะกรณีกับ กฎ-กติกาของลัทธิเสรีนิยมใหม่ อย่างก้าวกระโดด 2 ขั้นตอน

 

ขั้นตอนแรกคือ เปิดเสรีทางการการเงิน ที่รู้จักกันในนาม BIBF ขั้นตอนต่อมาหลังฟองสบู่แตกก็นำประเทศเข้าสู่ กรอบผูกมัดขององค์กรโลกบาล แบบแผนของระบบเศรษฐกิจที่นำมาใช้ล้วนไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลก่อน ๆ ก่อนหน้านั้นที่เดินตามทิศทางของ ระบบราชการไทย รวมทั้ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวคือเป็นสิ่งที่เรียกว่า Neo-Liberal Economic Model วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใน ปี 2540 ทำให้ พรรคไทยรักไทย ที่เกิดขึ้นใหม่ต้อง ทำงานจริงจัง ในเชิง นโยบาย, ยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิด ความแตกต่าง ไปจาก Thesis ในที่สุดก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็น Anti-Thesis ที่ โตเร็ว, ทรงพลัง เพราะแม้แนวโยบายและยุทธศาสตร์โดยรวมจะยังคงอยู่ในกรอบของ ลัทธิเสรีนิยมใหม่

 

แต่ได้ผสมผสาน ลัทธิเคนส์ : Keynesian ที่ถูกเรียกขานว่า ประชานิยม : Populism เข้ามา ผูกใจประชาชนระดับรากหญ้า นอกจากนั้นองค์ประกอบของ แกนนำพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นตัวแทนของ ทุนชาติ, ทุนใหม่ ที่ได้รับผลกระกระเทือนจากวิกฤตเศรษฐกิจน้อยมากจนสามารถยัง ความแข็งแรงทางเศรษฐกิจ ไว้ได้และกลายเป็นที่พึ่งพิงของทั้ง กลุ่มทุนขนาดเล็กและกลาง, กลุ่มเกษตรกรรายย่อย และ ทุนชาติ (รวมทั้ง ทุนเอ็นพีแอล) ทำให้ผสมผสานลักษณะของ ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ เข้ามาในระดับหนึ่ง

 

"บัญญัตินิยม" ประชานิยมฉบับขัดเกลาใหม่ โดย เซี่ยงเส้าหลง http://www.singhakheow.com/use_part14.htm

"...จะว่ากันไป ในบรรดาแนวคิดหลักๆ เกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคมเศรษฐกิจการเมืองในโลกสมัยใหม่ นอกจากแนวคิดอิสรเสรีนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ (Libertarianism or Neo-liberalism) ของศาสตราจารย์ Robert Nozick (พ.ศ.2481-2545) นักปรัชญาการเมืองเลื่องชื่อแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เพิ่งวายชนม์ไป เมื่อวันที่ 23 มกราคมศกนี้ ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารแล้ว ก็ไม่มีสำนักคิดอื่นใดยืนกรานหลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเอกชนอย่างเด็ดขาด สัมบูรณ์โดยปราศจากข้อแม้เงื่อนไขเลย

 

แม้แต่สำนักเสรีนิยม (Liberalism) คลาสสิคแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 บิดาของเสรีนิยมใหม่ปัจจุบันก็ไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น แน่นอน ด้านหนึ่งเสรีนิยมยืนยันเหมือนเสรีนิยมใหม่ว่าทรัพย์สินเอกชน(private property) เป็นสิทธิเด็ดขาดสัมบูรณ์ของปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของ มันเป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่เกิดมาก่อนบุคคลจะมารวมตัวกันเป็นสังคมและก่อ ตั้งรัฐขึ้น(pre-social, pre-state natural right) สิทธิในทรัพย์สินเอกชนจึงศักดิ์สิทธิ์ชอบธรรมกว่าอำนาจของสังคมและรัฐ บุคคลอื่นรวมทั้งสังคมและรัฐจะไปจำกัดหรือล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน เอกชนมิได้ยกเว้นเจ้าของยินยอม(consent)..."

 

กรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน ในสังคมประชาธิปไตย

http://www.panyathai.or.th/wiki/

เสรีนิยมกับเสรีนิยมใหม่ (Liberalism and Neo-liberalism)

เสรีนิยม (Liberalism) คือพวกที่นิยมความเสรีของปัจเจกชน เสรีนิยมแบบเดิมเป็นความเสรีของปัจเจกชนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

เสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) เป็นเสรีนิยมของตลาดไม่ใช่ของปัจเจกชนอีกต่อไป เมื่อเอาตลาดเป็นตัวตั้งปัจเจกชนก็ต้องหลบไป เมื่อใดก็ตามที่เสรีนิยมของปัจเจกชนไปขัดแย้งกับเสรีนิยมของตลาด เมื่อนั้นเสรีนิยมใหม่ต้องชนะเสมอ

Neo-liberalism แบ่งออกเป็น 3 ช่วง

คลื่นลูกที่ 1 เป็นยุคล่าอาณานิคมของตะวันตก

คลื่นลูกที่ 2 ยุคเมืองขึ้นได้รับเอกราช

คลื่นลูกที่ 3 ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)

Globalization เป็นคลื่นลูกที่ 3 ของ Neo-liberalism อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับองค์การระหว่างประเทศด้วย เพราะในยุคของ Globalization องค์การระหว่างประเทศได้รับการสร้างพลังให้แข็งแกร่ง เพื่อสามารถปฏิบัติงานตามที่ประเทศใหญ่ ๆ จัดตั้งได้ โดยเฉพาะ IMF, IBRD, WTO การเสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งให้องค์การเหล่านี้เพื่อว่าประเทศพัฒนา แล้วจะได้ได้เปรียบในทางเศรษฐกิจ

WTO นั้นถือว่าทุกประเทศต้องมีความเท่าเทียมกันทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่เท่า อาจจะมีการผ่อนผันให้บ้างในระยะแรก ๆ เท่านั้น ในที่สุดแล้วทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องเท่าเทียมกัน เห็นได้ว่าแค่หลักการนี้ประเทศพัฒนาแล้วก็เอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนาทั้ง หลาย

นอกจาการค้าแล้วยังมีการลงทุนจากต่างประเทศโดยบรรษัทข้ามชาติและบรรษัท ทุนที่อาศัยเงินเข้าไปหากำไรในกิจการเก็งกำไร เช่น หุ้น ส่วนต่างในอัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงิน) รวมทั้งการเข้าไปเกี่ยวข้องกับระเบียบแบบแผนทางเศรษฐกิจของโลก การตั้งกฎเกณฑ์ในอัตราการแลกเปลี่ยนว่าจะเป็นแบบคงที่หรือลอยตัว เงินสกุลใดบ้างที่จะใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ปัจจุบันใช้ทองคำและเงินสกุลหลัก (Key Currency) อันเป็นสกุลเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร

ปัญหาที่ยุ่งยากของไทยคือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศในองค์การระหว่างประเทศสามองค์การคือ IMF, IBRD และ WTO

แนวคิดกระแสหลักกล่าวว่า Globalization มีแนวคิดสำคัญอยู่ 4 ประการ

1. กระแสโลกาภิวัตน์จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รุ่งโรจน์และยิ่งใหญ่

2. แนวตลาดเสรีคือยุทธศาสตร์โลกที่จะนำความเจริญก้าวหน้าสู่ระบบโลกและสังคมทุกแห่งหน

3. กระแสโลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดอารยธรรมโลกใหม่ที่สวยสด นั่นคือสังคมข่าวสาร สังคมแห่งความรู้

4. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นไปโลกจะก้าวสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองครั้งใหม่ ยิ่งปี 2000 เป็นต้นไปอนาคตที่สดใสจะปรากฏให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

แนวคิดกระแสหลักนี้มีชาติตะวันตกเป็นเจ้าลัทธิ และได้มอบแนวคิดนี้ให้กับชาวโลกว่าเป็นอนาคตที่สดใส ถ้า Globalization แล้วเจริญรุ่งเรืองอย่างที่กล่าวไว้จริง ๆ ก็ย่อมไม่มีประเทศใดเลยที่จะต่อต้าน

สรุป

PS 713 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ( International Political Economy) ผศ.ธนียา หรยางกูร

http://www.geocities.ws/puotai/taneeya.htm

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ : พัฒนาการและอิทธิพล

เขียนโดย ไท เมื่อ 19 กรกฎาคม 2551 - 16:37

http://arayachon.org/article/20080719/554

ที่มา - เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร, Ph.D. Candidate, University of Paris II , ประเทศฝรั่งเศส

บทนำ

แนวนโยบายหลักของรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ ประกอบด้วยการแปรรูปบริการของรัฐเป็นเอกชน( Privatisation) การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน (Trade and Financial liberalization) และการผ่อนคลายและลดกฎระเบียบ (Deregulation)

เพราะหลักการของเสรีนิยมใหม่ ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า เงื่อนไขที่จำเป็นของการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้น คือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล (ในการประกอบการ) ดังนั้น โครงสร้างเชิงสถาบัน ที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่คือ การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดและระบบตลาดแข่งขันเสรี

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ปรากฏโฉมหน้าให้เห็นอย่างชัดเจนในทศวรรษ 1970 ภายหลังผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ในประเทศนำทางอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐฯและอังกฤษ เสื่อมความเชื่อมั่นในลัทธิเศรษฐกิจการเมืองแบบเคนส์เซียน (Keynesianism) ที่ไม่สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ที่มีปัญหาการว่างงานควบคู่กับภาวะเงินเฟ้อสูง (stagflation) ได้

ในเดือนพฤษภาคม ปี 1979 มากาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ พร้อมด้วยภารกิจในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ด้วยอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ เธอยอมรับว่า จำเป็นจะต้องละทิ้งนโยบายแบบเคนส์เซียนและหันมาใช้วิธีการบริหารตามแนวทฤษฎี สำนักการเงินนิยม (monetarism) หรือแบบเน้นอุปทาน (supply-side) เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อังกฤษประสบอยู่ในช่วงทศวรรษ 1970

กระบวนการทำให้เป็นเสรีนิยมใหม่ (neoliberalisation) หยิบฉวยเอาทุนทางวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมที่ฝังราก (Embedded liberalism) อย่างมั่นคงในสังคมตะวันตก โดยผู้นำกระบวนการนี้ ได้เน้นนำคุณค่าที่เป็นเสาหลักของแนวคิดเสรีนิยมคือ “อิสรภาพและเสรีภาพส่วนบุคคล” รวมทั้งรังสรรค์ปั้นแต่งใหม่ ด้วยกลวิธีตอกย้ำ (ละเลย) คุณค่าที่พึงปรารถนา (ไม่พึงปรารถนา) ในสายตาของตน เพื่อออกแบบ ผลิต และผลิตซ้ำคุณค่าเหล่านั้น ให้เข้าแทนที่คุณค่าเดิมและผสมกลมกลืนกับคุณค่าอื่นอย่างแนบเนียนจนกลายเป็น “สามัญสำนึก” ของสมาชิกแต่ละคนในสังคม

ดังคำกล่าวที่โด่งดังของแทตเชอร์ประโยคหนึ่งว่า no such thing as society, only individual men and women ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศสงคราม ต่ออุดมคติแบบสังคมนิยม (หรือคุณค่าที่เสนอโดยพรรคแรงงาน พรรคการเมืองคู่แข่งฝ่ายซ้าย) ด้วยการตอกย้ำอุดมคติแบบปัจเจกนิยม (individualism) ครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 11 ปี ที่เธอดำรงตำแหน่งนายกฯ ถึงความเป็นสากลแท้จริงและอยู่เหนือสังคมของสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกชน

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เธอประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ในการเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจและสังคม อังกฤษและสามารถทำลายพื้นที่ในสังคม ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นแรงงานอย่างราบคาบ

บทความนี้ ต้องการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการของลัทธิ (Doctrine)เสรีนิยมใหม่ ในเชิงปรัชญาและเชิงประวัติศาสตร์การเมือง

เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดกระแสหลักในสังคมไทยและสังคมโลกาภิวัตน์อย่างรู้ เท่าทัน

เอกสารสิทธิ์ที่ใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกร(ทพศ.)
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/484950
นาย นายสมเกียรติ โสภา 12 เมษายน 2555
นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร
สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น


ประเภทของหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน

โครงการประกันรายได้เกษตรกร (ทพศ.)

   กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องแสดงเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จะนำเสนอหนังสือสำคัญแต่ละชนิด ดังนี้

   1.โฉนดที่ดิน โฉนดที่ดินเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งทางราชการออกให้แก่ราษฏรตามประมวลกฏหมายที่ดิน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2497 เป็นต้นมา (เป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาด)

  2.แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินที่แสดงว่าในขณะยื่นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) นั้น ผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้แจ้งเท่านั้น ไม่ใช่เอกสารที่ทางราชการออกให้เพื่อรับรองสิทธิของผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินว่าเป็นผู้ซึ่งมีสิทธิครอบครองที่ดินนั้นแต่อย่างใด

  3.ใบจอง  หมายความว่าหนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราวที่รัฐอนุญาตให้บุคคลเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเพื่อใช้อยู่อาศัยและทำมาหากินเพื่อให้ได้สิทธิในที่ดินเป็นของตนเองต่อไป มิใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และที่ดินที่รัฐยอมให้ราษฏรเข้าครอบครองชั่วคราวยังคงเป็นของรัฐอยู่

  4.ใบไต่สวน  เป็นเพียงหนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเพราะยังไม่เป็นโฉนดที่ดิน

  5.น.ส.3 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ประเภทที่ออกให้ในท้องที่อื่นซึ่งมิใช่ท้องที่ที่ออก น.ส.3 ก และ น.ส.3 ข

  6.น.ส.3ก เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ประเภทที่ออกให้ในท้องที่ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ

  7.น.ส.3 ข เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ประเภทที่ออกให้ในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ

  8. ภ.บ.ท.6  หรือใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ถือว่าผู้นั้นมีสิทธิครอบครองที่จะนำมายันกับรัฐได้ เพราะใบเสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นหลักฐานแสดงเพียงว่าผู้นั้นได้ชำระภาษีแล้วไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นมีสิทธิในที่ดินโดยชอบ (นำมาขึ้นทะเบียนไม่ได้ ไม่มีบทบัญญัติของกฏหมายรองรับ)

  9. นค. ราษฏรซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองหรือสมาชิกนิคมสหกรณ์ได้มาตามกฏหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511

  11.ส.ป.ก. 4 - 01 ตามมาตรา 3(2) แห่งประมวลกฏหมายที่ดิน ผู้ได้มาคงมีแต่เพียงสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น และไม่อาจโอนสิทธิให้แก่บุคคลใดได้เว้นแต่เป็นการโอนโดยทางมรดกเฉพาะกรณีที่ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เอกสาร ส.ป.ก. 4 - 01 เป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ไมมีผลเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฏหมายของที่ดิน

  12.สัญญาเช่าที่ดิน เป็นทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์(จะมีหนังสือหรือไม่ก็ได้ แต่ในโครงการกำหนดให้มีหลักฐานเป็นหนังสือ)

  หวังว่าคงเป็นประโยชน์โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้รับขึ้นทะเบียน ทพส
คำสำคัญ (keywords): ประเภทของหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน
· เลขที่บันทึก: 484950

บัญญัตินิยม" ประชานิยมฉบับขัดเกลาใหม่
http://www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums/http/www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P2786134/P2786134.html
จากคุณ : นัท - [ 27 เม.ย. 47 17:14:55 A:202.183.152.163 X: ]
(ผู้จัดการ)


บัญญัติ บรรทัดฐาน กับชุดนโยบายใหม่ 4 ข้อ

•• ถ้าเรียกชุดนโยบายของ พรรคไทยรักไทย ที่ประกาศออกมาตั้งแต่ ปี 2543ว่า ประชานิยม หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าคือการนำแนวทาง Keynesian เข้ามาผสมผสานกับ Neo-Liberalism ชุดนโยบายใหม่ของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอออกมาเมื่อ วันที่ 25 เมษายน 2547 นี้ก็อยู่ใน ทางเดินเดียวกัน เป็น ประชานิยมฉบับขัดเกลาใหม่ หาใช่เป็น อีกขั้วหนึ่ง ไม่ “เซี่ยงเส้าหลง” ชอบใจพาดหัวข่าวหน้า 1 ของ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันวานที่ให้ภาพชัดพอสมควรด้วยการกล่าวว่าเป็นการชูนโยบาย บัญญัตินิยม มาสู้กับ ทักษิณเอื้ออาทร นั่นเอง

•• เช่นนี้แล้วกล่าวเฉพาะ ในเชิงนโยบาย ก็เท่ากับว่า พรรคประชาธิปัตย์เดินตามพรรคไทยรักไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ วิพากษ์วิจารณ์ มาโดยตลอดว่า สร้างผลเสียหายต่อประเทศชาติในระยะยาว ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วไม่รู้ว่าจะ แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง หรือเปล่า

•• การเมืองไทยวันนี้จึงไม่ใช่ การเมือง 2 ขั้ว (ใน ความหมายที่แท้จริง)หากแต่ยิ่งเป็น การเมืองขั้วเดียว หากคำว่า ขั้ว หมายถึง ขั้วทางนโยบาย, ขั้วทางยุทธศาสตร์

...............

https://www.facebook.com/4lawsForPeople?hc_location=stream

กฏหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับ

7 พฤศจิกายน 2556

ทราบหรือไม่ว่า ที่ดินในประเทศไทยมี 321 ล้านไร่ เป็นที่ดินเอกชน 124 ล้านไร่ ที่ดิน 90% ถูกครอบครองโดยคนเพียง 10% ของประเทศเท่านั้น และที่ดินเหล่านั้น ก็ถูกปล่อยให้รกร้างเป็นจำนวนมาก ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ทำกิน เกษตรกรส่วนหนึ่งลดรอนสิทธิจากกฏหมาย และ ถูกคุกคามจากนายทุน

ปัญหาการกระจุกตัวและการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมเหล่านี้ สามารถแก้ไขได้โดยกฏหมาย 4 ฉบับ คือ

1. ร่าง พรบ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร (โฉนดชุมชน)

2.ร่าง พรบ.ธนาคารที่ดิน

3.ร่าง พรบ. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า

4. ร่าง พรบ.กองทุนยุติธรรม ศึกษารายละเอียดกฏหมายดังกล่าว ดาวน์โหลด ไฟล์ร่างพรบ.ทั้งหมด

https://www.facebook.com/notes/กฏหมายเพื่อคนจน-4-ฉบับ/รวมไฟล์-pdf-ร่าง-พรบ-เพื่อคนจนทั้ง-4-ฉบับ/498031553601485

ท่านสามารถสนับสนุนการร่างกฏหมายทั้ง 4 ฉบับได้ง่ายๆโดย กดไลค์ เพจ

https://www.facebook.com/4lawsForPoor

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท