การเขียนเพื่อการจัดการความรู้ (2) : เขียนเพื่ออะไร ...ทำไมคุณถึงต้องเขียน"


 

ในเวทีการเรียนรู้สามครั้งล่าสุด  ผมรับผิดชอบกระบวนการเกี่ยวกับการเขียนเพื่อการจัดการความรู้
  
นับเป็นประเด็น หรือกระบวนการท้าทายมากเป็นพิเศษ  เพราะจะว่าไปแล้ว ผมก็ไม่ใช่ “นักเขียนมืออาชีพ” เลยสักนิด  ผลงานที่เป็นหนังสือจริงๆ จังๆ ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม  ส่วนงานเขียน “บล็อก” (Blog : gotoknow.org) ก็ส่อไปในทางไม่สม่ำเสมอ  “เขียนๆ หายๆ”  เสียเป็นส่วนใหญ่

 ...มิหนำซ้ำบางที หลายต่อหลายบันทึกก็ดูแปลกแปร่ง มองหาสาระ หรือแก่นคิดยากพอทน ! 

แต่ถึงกระนั้น  ผมก็พยายาม “พูดในสิ่งที่ทำ และย้ำในสิ่งที่มี”  เสมอ

การพูดในสิ่งที่ทำและย้ำในสิ่งที่มีในที่นี้ก็หมายถึง  การยึดโยงเอา “ประสบการณ์ตรงของตัวเอง” มาเป็นตัวชูโรง ในทำนองว่า “เอาประสบการณ์จริงเข้าว่า  เอาความศรัทธานำทางอย่างไม่หยุดยั้ง”  ซึ่งเป็นนิยามเดียวกันกับวาทกรรมที่ผมพูดซ้ำๆ เสมอมาว่า  “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”

 

ด้วยเหตุนี้  ในการบรรยายและทำกระบวนการเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเขียนนั้น  ผมจึงยึดแนวทางที่ตนเองดำเนินการอยู่  หรือพูดง่ายๆ ก็คือนำเสนอผลลัพธ์ด้วย “สไตล์” ของตัวเองเป็นที่ตั้งนั่นแหละ  โดยยึดเป้าหมายหลักคือนำเอา “ประสบการณ์ตรง” ของตัวเองมาหนุนนำให้ผู้ร่วมกระบวนการเกิดคลื่นที่เรียกว่า  “แรงบันดาลใจ” ให้ได้มากที่สุด  พอๆ กับการพยายามหลีกเลี่ยง “ความรู้” ในเชิงทฤษฎีของการเขียนที่ผู้ฟังอาจรู้สึกว่าเป็น “วิชาการ” มากจนเกินไป  จนพลอยให้เกิดความไม่มั่นใจที่จะลงมือ “คิดและเขียน”

 

และที่สำคัญก็คือ  เมื่อเวทีที่ผมรับผิดชอบเปิดตัวขึ้น  ผมเองก็มักเปิดประเด็นให้ผู้ร่วมกระบวนการได้ตั้งคำถามกับตัวเองอย่างง่ายๆ ว่า “การเขียนคืออะไร...ทำไมคุณถึงต้องเขียน” ?

 

แน่นอนครับ  คำถามที่ว่านั้น  อาจดูกว้างใหญ่ไพศาลอยู่พอสมควร แต่ก็เป็นคำถามที่ผมเจตนาให้มีการ “ทบทวน” หรือ “ถอดบทเรียนชีวิต” ของแต่ละคนไปในตัว

 

สารภาพแบบซื่อใสกันตรงนี้เลยครับว่า  คำถามทำนองนั้น  ผมได้แรงบันดาลใจมาจากวาทกรรมใน facebook ที่มักเปรยถามไว้อย่างเก๋ไก๋ว่า “คุณกำลังคิดอะไรอยู่”  ซึ่งฟังแล้วเหมือนเป็นกระบวนการของการ “เช็คสติ” และ “ทบทวนชีวิต” ไปในตัวได้เป็นอย่างดี  จนเมื่ออ่านแล้ว เกิดอาการสะดุดตาสะดุดใจ และก่อให้เกิดการไม่ลังเลที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในเวทีของการเรียนรู้ของตนเอง  โดยจะไม่วิตกว่าคำตอบที่ได้กลับมานั้น จะเป็นในทำนองใด แต่ย้ำชัดเจนว่า “ไม่มีถูก ไม่มีผิด” 

 

สำหรับผมแล้ว การเขียนคืออะไร...ทำไมคุณถึงต้องเขียน” ?  นั้น  ผมก็พอมีคำตอบอยู่บ้าง  เพราะผมเองก็ทำการบ้านด้วยการ “ทบทวน” วิธีคิดของตัวเองมาก่อนเหมือนกัน

ผมทบทวนง่ายๆ ด้วยการถามทักความในใจของตัวเอง เสร็จจากนั้นก็ทบทวนผ่านเรื่องราวที่เขียนไว้ใน “บล็อก”  กระทั่งผมว่าในเวทีสัมมนา GotoKnow Forum ครั้งที่ ๑  (๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒)  ผมได้สะท้อนเรื่องราวอันเป็นคำตอบที่มีต่อ “การเขียน...และเหตุผลของการเขียน”  ไว้เป็นกลอน ดังว่า

 

เขียนบล็อก..เขียนเพื่ออะไร
เขียนเพราะ “ใจ” สั่งให้เขียน
เขียนเพื่อร่ำเรียน
เขียนเพื่อสังคม


โกทูโนสอนให้รู้ (เอง) ว่า
เขียนให้รู้ค่าการสั่งสม
เขียนให้รู้ค่าการชื่นชม
เขียนเพื่อความสุขอุดมแห่งปัญญา


เขียนเพื่อชำระตัวตนอันหม่นเศร้า
เขียนเพื่อผ่อนเบาความเหนื่อยล้า
เขียนเพื่อให้รู้การพึ่งพา
เขียนเพื่อศรัทธาของชีวิต


ต่างคนต่างเขียนต่างนิยาม
ต่างเขียนต่างก้าวข้ามพรหมลิขิต
การเดินทางของถ้อยคำย้ำความคิด
สื่อพันธกิจทางใจไร้พรมแดน ...

....

ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้
สุขทุกข์แบ่งปันใจได้ทุกที่
มหัศจรรย์สัมพันธ์อันมากมี
โกทูโน-คือพื้นที่ของ "ชีวิต

 

ครับ, แล้วคุณละครับ จะลองทบทวนชีวิตด้วยคำถามนี้กันอีกสักรอบกันดีไหม

- ลองดูครับ ลองตอบดูสิว่าในวิธีคิดของคุณนั้น  “การเขียนคืออะไร...ทำไมคุณถึงต้องเขียน” ?

 

แต่สำหรับผม  ขอยืนยันว่า ใน “คำถามเดิม”  ก็ยังเป็น “คำตอบเดิม” อยู่วันยังค่ำ !

 

 

หมายเลขบันทึก: 449429เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)

สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน

  • คล้าย ๆ กัน....การเขียน คือ การทบทวนวรรณกรรมชีวิตตนเอง
  • เขียนที่เกี่ยวข้องกับงาน....เพื่องาน
  • เขียนที่นี่งานบ้าง....ไม่งานเลย...เพื่อความสุข
  • เขียนที่สมุดส่วนตัว...ทบทวนใจ

เห็นบทกวี ...

โกทูโนสอนให้รู้ (เอง) ว่า
เขียนให้รู้ค่าการสั่งสม
เขียนให้รู้ค่าการชื่นชม
เขียนเพื่อความสุขอุดมแห่งปัญญา

กำลังสอนการเขียนให้กับนักศึกษา ป.โท พอดีครับ

บางคนมีอัตตาน่ารำคาญ
บางคนไร้วินัยการเรียนรู้
บางคนมาเรียนแค่เชิดชู
ความรู้ ได้/ไม่ได้ ไม่รู้
อยากจะได้แค่ใบปริญญา

ขออนุญาตนำไปปรับใช้เสียล่วงหน้านะครับ

สบายดีครับ ;)...

สวัสดีค่ะอาจารย์ มาเยี่ยม นานมากๆ กำลังต้องการแรงบันดาลใจแบบกระตุ้น แรงฮึด ( ฮัด) ในการเขียนบันทึก อ่านแล้วใช่เลยจะต้องห่างทาง FB มาทางนี้บันทึกการเรียนการทำงานเพื่อสั่งสม สะสม ค่ะ และท่านอาจารย์วสวัตเอาแบบแรง..ทำเอาสะดุ้งค่ะ แต่ไม่ได้เป็นดังที่ว่าเน้อเจ้า อิอิ ต้องการความรู้พัฒนาตนเองอย่างแท้จริง ขอบคุณท่านทั้งสองคร้าๆๆๆๆ

ครายมาสะดุ้งครับเนี่ย 555

พี่แก้ว เขียนบันทึกไว้เพื่อจดจำเป็นหลัก อย่างอื่นเป็นผลพลอยได้ค่ะ

สวัสดีครับ ทพญ.ธิรัมภา

วันที่เขียนกลอนบทนี้นั้น ไม่คาดคิดหรอกนะครับว่าสักวันหนึ่งจะมีโอกาสได้นำมาใช้ประกอบการบรรยาย หรือจัดกระบวนการเรียนรู้ใดๆ  และสิ่งที่ผมย้ำคิดมาโดยตลอดก็คือ หากไม่คิดว่าการเขียนจะเป็นพลังในการสร้างสรรค์ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ในสังคม อย่างน้อยก็คือ งานเขียนจะเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่เป็น "จดหมายเหตุชีวิต" ของเราเอง...

เมื่อเวลาผ่านไป มีโอกาสได้กลับมานั่งอ่านงานเขียนอีกครั้ง เราจะเห็นผลึกชีวิตของเราได้ชัดเจนครับ...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

 


การเขียนไม่ใช่แค่การสื่อสารครับ แต่การเขียนคือกระบวนการกล่อมเกลาทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน  เสียดายทุกวันนี้เราเขียนจดหมายกันน้อยลง  ตอนนี้ผมเลยกำลังวางแผนประกวดการเขียน "จดหมายถึงแม่" (จดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน) 

เสร็จแล้วจะส่งไปให้ชาวเชียงใหม่ได้อ่านด้วยนะครับ

สวัสดีครับ อ.Rinda

ระยะหลังผมก็เขียน หรือเข้าไปใช้ชีวิตใน FB  น้อยลง  แต่พยายามรวบรวมพลังกลับมาสู่โกทูโนให้มากขึ้น แต่เพราะการงานอันเหนื่อยล้า พลอยให้เขียนบันทึกน้อยลง  ถึงกระนั้นก็ยังยืนยันว่าที่ตรงนี้คือ "พื้นที่ของชีวิต" โดยแท้

ตั้งใจจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับการเขียนฯ ไปเรื่อยๆ ครับ  เผื่อบางทีจะมีใครต่อยอดเกี่ยวกับการเขียนเพื่อการจัดการความรู้ได้ชัดเจนกว่าที่ผมกำลังเขียนถึง..

ขอบคุณครับ

 

ครับ อ.Wasawat Deemarn

ได้คิด ได้สะดุ้งกันถ้วนหน้าครับ
ผมเองก็สะดุ้งไปด้วย เห็นทีต้องจริงๆ จังๆ มากขึ้น 55

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ครับพี่แก้ว  การเขียน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็น "บันทึกช่วยจำ"  ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเกี่ยวโยงกับชีวิต หรือการงานก็เถอะ การเขียนก็ทำหน้าที่จดบันทึกให้เราได้เป็นอย่างดี  มิหนำซ้ำยังทำหน้าที่เป็นศิลปะบำบัดไปในตัว  ซึ่งนั่นคือความมหัศจรรย์ของการเขียน...

ขอบคุณครับ

เรียนท่านอาจารย์

  • คุณยายเขียนบล็อกเพื่อบอกต่อในสิ่งที่ตนเองทำ ในสิ่งตนที่รู้ เผื่อว่าผู้ที่อ่านจะได้ใช้ประโยชน์บ้าง เพราะคุณยายเป็นคนชอบอ่านหนังสือมากๆๆๆๆๆๆๆๆค่ะ ยิ่งอ่านมากยิ่งรู้มาก ยิ่งกระหายอยากอ่าต่อ มีเวลาเมื่อไหร่ก็จะเข้าห้องสมุด บางวันไปนั่งอ่านอยู่ที่ ศูนย์หนังสือมมส.จนปิดก็มี ผู้ดูแลก็ใจดีมากค่ะ ช่วยหาหนังสือให้เราด้วย
  • ทุกบทความ ทุกถ้อยคำที่บล็อกเกอร์แต่ละท่านได้บอกต่อผ่านบันทึกล้วนมีคุณค่าอยู่ในตัว ค่ะ
  • แป๋มเขียนเพราะอยากเขียนค่ะ
  • นี่เป็นเหตุผลหลัก...นอกจากนั้น
  • ยังอาศัยพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้
  • ทั้งของตนเองและลูกศิษย์ของแป๋ม
  • โดยมากไม่แสดงตัวแต่หลายคนได้ฝากผลงาน
  • ที่เกิดจากการตกตะกอนความรู้ขั้นพื้นฐานจากที่นี่ไว้
  • บางคนนำความรู้ที่ได้ไปเขียนเรื่องราวในเวปไซต์ต่างๆ
  • พวกเขาทำได้ดีทีเดียวค่ะ.. ขอบคุณพื้นที่แห่งนี้
  • ขอบคุณบล็อกเกอร์ทุกท่าน ที่อยู่ในบ้านโกทูโนว์แห่งนี้ค่ะ. 

สวัสดีครับ พี่มนัสดา

ผมเองก็พูดได้เต็มปากครับว่าผ่านพ้นวิกฤตมาจากการอ่าน  ชีวิตเติบโตมาจากการอ่าน ถึงแม้จะไม่ใช่นักอ่านตัวยงก็เถอะ แต่ก็ยอมรับว่าการอ่านมีพลังต่อการเสริมสร้างกระบวนทัศน์ของตัวเองเหมือนกัน

ผมอยากเขียนโน่นนี่ก็เพราะการอ่านนั่นแหละ....อ่านมากก็อยากเขียน อ่านมากก็สนใจและตั้งคำถามกับ "โลกและชีวิต" ว่าเป็นเช่นใด...

การเขียนบันทึกในบล็อกนั้น  ผมยึดหลัก "เขียนในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี" ...ซึ่งหมายถึงเรื่องที่ทำ เรื่องที่สนใจ เรื่องที่เราลงมือทำแล้วค้นพบบางอย่างก็นำมา "แชร์" ไว้ เผื่อบางทีจะได้รับการขยายและเพิ่มเติมจากกัลยาณมิตรในสิ่งที่เรา "คิดและเห็น" มา

และที่สำคัญที่ค้นพบ ณ โกทูโนก็คือ "มิตรภาพและการแบ่งปัน" นั่นเอง
ผมว่านี่แหละคือ "หัวใจของการจัดการความรู้"

...

ขอบคุณครับ

ขอบคุณบันทึกดีๆที่มีให้อ่านเสมอมาค่ะ..

ขอบคุณน่ะค่ะที่นำสิ่งดีๆมาฝากเสมอๆ ^^

สวัสดีค่ะ

เขียนเพราะอยากเขียนเท่านั้นเองค่ะ  ส่วนคนที่อ่านแล้วได้อะไรหรือจะนำไป

ต่อยอดอย่างไร  ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนว่าเขาได้อะไรจากการเขียนของเรา

เพราะเป็นคนอ่านไปเรื่อยๆและเขียนไปเรื่อยๆค่ะ  แต่....จับจุดให้ดีนะคะว่ามี

อะไรดีๆแฝงอยู่มากมาย

สุขสันต์วันบุญค่ะ....

  • ตามมาสนับสนุน
  • เขียนเพราะใจอยากจะเขียน
  • เขียนได้ทุกที ทุกเวลา
  • เย้ๆๆ

สวัสดีค่ะ พี่พนัส

บันทึกนี้ ฝากคำถามไว้น่าสนใจมากค่ะ

หนูเริ่มต้นการเขียนเพราะว่าต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่เราได้เห็น ได้พบ ได้เจอ แต่เมื่อเขียนไปสักพักก็พบว่า เราเขียนเพื่อได้รู้จักตัวเอง และยังทำให้ได้ทบทวนมุมมองที่เราอาจมองข้ามไป มันทำให้ใจเราละเอียดขึ้นค่ะ

ใน workshop อบรมการใช้งาน share.psu.ac.th หนูก็สรุปบทเรียนจากสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์และจากการอ่านหนังสือเพิ่มเติม ก็เลยมานั่งตกผลึกตัวเองว่า สิ่งที่เราเขียนส่วนใหญ่ กรอบของมันน่าจะมาจากคำถาม 3 ข้อนี้คือ

เห็นอะไร

สังเกตอะไร

คิดอะไร

สวัสดีครับ ครูครูแป๋ม

การนำพาเด็กๆ มาเรียนรู้ในเว็บบล็อกโกทูโน ถือเป็น ทุนและกำไรชีวิตของเด็กๆ ไปในตัว เพราะนี่คือคลังความรู้ และแรงบันดาลใจ หรือแม้แต่ความคิดเชิงบวกที่พวกเขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ช่วงนี้งานยุ่งมากครับ เดินทางถี่ยิบเลย เขียนบันทึกหลายเรื่องทิ้งค้างไว้ พยายามโหมโรงกำลังภายในตัวเองเสมอมา ...

ถัดจากนี้จะเขียนในประเด็นศรัทธาต่อความรู้และการเขียนครับ

สวัสดีครับ..คุณหนูรี

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ..
สิ่งที่ล้ำค่าของที่นี่ก็คือ "มิตรภาพและการแบ่งปัน" นะครับ  นั่นคือเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผมยังรู้สึกผูกพันกับการเขียนและผูกพันกับโกทูโนตราบวันนี้นั่นเอง

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

บันทึกนี้สะกิดให้หลายๆ ท่านสะดุ้งจริงๆนะคะ หลังจากที่ห่างๆ หายๆ ตามกาลเวลา

ทำให้ต้องมาคิดทบทวนเช่นกันว่า เอ ใช้เวลาอ่าน เขียนอยู่ที่นี่เกือบครึ่งทศวรรษแล้ว

นั่นสินะคะ เพื่ออะไร และทำไม ... ตามใจ พอใจ สุขใจ .. ได้จรรโลงใจ ได้มิตรภาพ

เหมือนใครกล่าวไว้หนอ:) โลกนี้ไม่เงียบเหงา เพียงเพราะมีใครให้ได้คิดถึง ... ขอบคุณค่ะ

..สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน...ยายก็กะเตาะกระแตะหัดเขียนมา..เอื่อยๆ..จนเกือบเต็มหน้ากระดาษชีวิตกับ..เขาเหมือนกัยเจ้าค่ะ..ดีนะเจ้าคะหน้า..โกทูโน..นี้..และขอขอบใจอย่างสุดซึ้งและด้วยความคาระวะ..ต่อบุคคลทุกๆท่านที่ร่วมด้วยช่วยกันและผู้สนับสนุน..และผู้เขียนผ่านหน้าคุณแผ่นดินมาด้วยเจ้าค่ะ..ยายธี

ชอบคำนี้ค่ะ "จดหมายเหตุชีวิต" ส่วนตัวเพิ่งปัดฝุ่นสมุดบันทึกของตัวเองค่ะ ที่ผ่านมาจะให้เหตุผลว่า "งานเข้า" แต่ตอนนี้เห็นประโยชน์ของการบันทึก ยิ่งงานเข้า...ยิ่งต้องบันทึกให้ตัวเอง(และอาจจะคนอื่นๆด้วย)ได้เรียนรู้ค่ะ

ขอบคุณสิ่งดีๆที่ถ่ายทอดให้กันนะคะ แค่อ่านเนื้อหาผสมกับความเห็นของแต่ละคน ต้องบอกว่า "สุดยอด" ค่ะ

สวัสดีครับ krugui Chutima

ผมเห็นด้วยนะครับ กับถ้อยคำที่ว่า "เขียนเพราะอยากเขียนเท่านั้นเองค่ะ  ส่วนคนที่อ่านแล้วได้อะไรหรือจะนำไปต่อยอดอย่างไร  ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนว่าเขาได้อะไรจากการเขียนของเรา"

ผมเองก็มองในมุมเดียวกันครับ การเขียน หรือคนเขียนทำหน้าที่สื่อสารความคิดหรือเรื่องราวไปสู่คนอื่น ไม่ว่าเรื่องนั้นจะยิ่งใหญ่ หรือสามัญก็เถอะ ถูก หรือผิด ผู้รับสารจะวิเคราะห์ความ สังเคราะห์ประเด็นเพื่อปรับแต่งประยุกต์ใช้กับตัวเองเป็นหลัก  เพราะสรรพสิ่งคงไม่มีอะไรสำเร็จทั้งหมดกระมังครับ

 

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

เขียนได้ทุกที่ทุกเวลา : ถือเป็นสุดยอดของการเขียนเลยครับ และถือเป็นทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการเขียนด้วยเหมือนกัน  หลายปีที่ผ่านมา ในกระบวนการจัดการความรู้ เราพูดถึงการพูดและการสนทนากันมาก แต่ระยะหลังๆ เหมือนเราพูดถึงการเขียนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ทั้งปวงนั้น ก็ถือเป็นกระบวนการของการจัดการความรู้ด้วยกันทั้งนั้น...

 

สวัสดีครับ มะปรางเปรี้ยว

การเขียนเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจภายในของเรานี่แหละ แรงบันดาลใจที่ว่านั้น อาจหมายถึงเรื่องเราที่เราเป็นต้นเรื่องโดยตรง หรือเป็นเรื่องราวที่เราเพ่งมองชะตากรรมของใครอื่นก็เป็นได้  แต่ที่สำคัญก็คือ "เขียนในสิ่งที่เห็น...เห็นอะไร...รู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เห็น..."  ซึ่งนั่นก็คงสอดคล้องกับที่มะปรางได้เกริ่นบอกดังว่า

เห็นอะไร

สังเกตอะไร

คิดอะไร

....ขอบคุณครับ...

สวัสดีครับ คุณปู..Poo

ภารกิจการงานและชีวิตเป็นยังไงบ้างครับ

ณ วันนี้ก็ยังยืนยันว่า ในโกทูโน บอกกับเราว่า "ไม่มีที่ใดที่ปราศจากการเรียนรู้" และ
ใน "โลกใบนี้ก็ไม่เงียบเหงา เพราะมีคนให้เราได้คิดถึง.."

 

สวัสดีครับ ยายธี

แท้ที่สุดแล้ว การเรียนรู้ก็คือการแบ่งปันนั่นเองครับ...ผมเองก็ยังเหมือนหัดเดินในโลกแห่งการเขียน แต่ก็รู้ว่าตัวเองจะไปได้ในระยะแค่ไหน มองและพยากรณ์ตลอดเวลาเหมือนกันครับ แต่ก็ไม่ละทิ้งความฝัน มีเวลาก็พยายามเขียน และเขียนให้ได้เท่าที่จะพึงทำได้

ให้กำลังใจเช่นกัน นะครับ

สวัสดีครับ กล้วยไม้สีชมพู

เห็นด้วยและไม่กังขาเลยครับกับความรู้สึกเช่นนี้

เห็นประโยชน์ของการบันทึก ยิ่งงานเข้า...ยิ่งต้องบันทึกให้ตัวเอง(และอาจจะคนอื่นๆด้วย)

 

ชอบ

พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี และ

ใจนำพา ศรัทธานำทาง

โดน

สวัสดีครับ อ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

ทั้ง "พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี" และ "ใจนำพา ศรัทธานำทาง" นั้น  เป็นส่วนหนึ่งในวาทกรรมที่ผมนำมาใช้กับการบริหารจัดการส่วนงานที่ตนเองรับผิดชอบ  ปูพรมความคิดและนำร่องมาร่วมสองปี  เห็นผลเป็นรูปธรรมใระดับหนึ่ง  รอการต่อยอดรุ่นต่อรุ่นครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท