การเพาะพันธุ์ปลาแบบเลียบแบบธรรมชาติ


การเพาะพันธุ์ปลา แบบเลียบแบบธรรมชาติ

การเพาะพันธุ์ปลาแบบเลียนแบบธรรมชาติ

             การเพาะพันธุ์ปลาแบบเลียนแบบธรรมชาติ หมายถึง การปล่อยพ่อแม่ปลาลงในภาชนะหรือบ่อ ที่จัดสภาพไว้คล้ายคลึงกับแหล่งวางไข่ปลาตามธรรมชาติ เพื่อให้ปลาผสมพันธุ์วางไข่ หรือกระตุ้นให้ปลาผสมพันธุ์วางไข่กันเอง (อุทัยรัตน์ , 2538)  ทั้งนี้สามารถจำแนกประเภทการเพาะพันธุ์ปลาแบบเลียนแบบเลียนแบบธรรมชาติ ออกเป็น   2  ประเภท คือ

1. การเพาะพันธุ์ปลาแบบธรรมชาติ 

เป็นวิธีที่ปล่อยพ่อแม่ปลาลงในบ่อหรือภาชนะที่จัดให้ปลาผสมกันเอง และเลี้ยงดูลูกอ่อนหรือวางไข่เองตามธรรมชาติ เมื่อลูกปลามีขนาดโตพอที่จะจับแยกไปในบ่ออื่น  จึงรวบรวมหรือวิดจับเพื่อดำเนินการต่อไป ปลาที่นิยมเพาะเลี้ยงวิธีนี้ได้แก่  ปลานิล ปลาสลิด ฯลฯ  สำหรับวิธีการเพาะพันธุ์ปลาแบบนี้มี  2  ลักษณะคือ

      1.1 แบบกึ่งควบคุมธรรมชาติ  การเพาะพันธุ์ปลาประเภทนี้เป็นการเพาะพันธุ์โดยเตรียมสภาพแวดล้อมบางส่วน เช่น ระดับน้ำ อาหารและกำหนดอัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์เท่านั้น เช่น การเพาะปลานิล โดยผู้เพาะเตรียมสภาพแวดล้อมบางส่วน เริ่มจากสูบน้ำเข้าบ่อเพาะพันธุ์ ซึ่งเป็นบ่อดิน ขนาดพื้นที่  50 – 1,600 ตารางเมตร  ระดับน้ำ  50 –100 เซนติเมตร  จากนั้นจึงปล่อยพ่อแม่ปลาลงบ่อเพาะพันธุ์อัตราส่วน พ่อพันธุ์ 160 ตัว แม่พันธุ์ 240 ตัว ต่อพื้นที่บ่อ 1,600 ตารางเมตร หรือ 1 ไร่  และควบคุมระดับน้ำในบ่อ ระหว่างการเพาะให้มีระดับความลึก 50 – 100 เซนติเมตร ตลอดระยะเวลาการเพาะพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์จะผสมพันธุ์วางไข่และดูแลลูกเองในบ่อเพาะพันธุ์

      1.2 แบบควบคุมธรรมชาติ  การเพาะพันธุ์ปลาประเภทนี้เป็นการเพาะพันธุ์โดยการเตรียมสภาพแวดล้อมของบ่อผสมพันธุ์วางไข่ ให้คล้ายคลึงกับแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ในธรรมชาติ เช่น การเพาะพันธุ์ปลาไน หลังจากปล่อยแม่พันธุ์ขนาด 2 กิโลกรัม จำนวน 3 ตัว  พ่อพันธุ์ขนาด 1 – 2 กิโลกรัม จำนวน 6 ตัว ลงในบ่อซีเมนต์ ขนาด 12 ตารางเมตร ระดับน้ำ 30 เซนติเมตร แล้วฉีดพ่นน้ำให้เป็นฝอยลงในบ่อเพาะพันธุ์ให้มีลักษณะคล้ายฝนตกในฤดูฝน พร้อมกับจัดเตรียมสาหร่ายเทียมโดยใช้เชือกฟางฉีกเป็นฝอยผูกรวมกันเป็นกำ แล้วผูกติดกับกรอบไม้ไผ่  วางแช่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ เพื่อเป็นที่เกาะติดของไข่ปลาแทนพืชน้ำในธรรมชาติ ปลาไนจะผสมพันธุ์วางไข่ในตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น  จากนั้นจึงนำสาหร่ายเทียมที่มีไข่ติดไปฟักในบ่อฟักต่อไป

2.  วิธีการเพาะพันธุ์ปลาแบบช่วยธรรมชาติ

       โดยการจัดเตรียมบ่อเพาะพันธุ์และบ่ออนุบาลให้เหมาะสมกับชนิดของปลา  จัดสภาพแวดล้อมในบ่อให้เหมาะสม  จากนั้นจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาที่เลือกไว้ลงในบ่อเพาะพันธุ์  หลังจากปลาผสมพันธุ์และวางไข่แล้ว  จึงแยกไปพักในบ่อเพาะฟักและบ่ออนุบาลต่อไป  ปลาที่สามารถใช้วิธีการเพาะพันธุ์แบบนี้ได้แก่  ปลาดุก  ปลาแรด ปลาไน  ปลาสลิด ฯลฯ   ดังเช่นรายละเอียดของการเพาะพันธุ์ปลาแบบช่วยธรรมชาติของปลาบางชนิด  ตามตัวอย่างต่อไปนี้

       2.1  การเพาะพันธุ์ปลานิล (Tilapia  nilotica) 

       การเพาะพันธุ์ปลานิล เป็นการเพาะพันธุ์แบบกึ่งควบคุมธรรมชาติ มีวิธีการตามลำดับดังนี้  (กรมประมง , 2542)

             2.1.1 การเตรียมบ่อ  บ่อเพาะพันธุ์ปลานิลควรเป็นบ่อดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ตั้งแต่ 50 – 1,600 ตารางเมตร เก็บน้ำได้ในระดับความลึกเฉลี่ย 1 เมตร มีชานกว้าง 1 – 2 เมตร  ถ้าเป็นบ่อเก่าควรวิดน้ำและกำจัดศัตรูปลาโดยใช้โล่ติ้นแห้ง 1 กิโลกรัม ต่อปริมาตรน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร โรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตร ใส่ปุ๋ยคอกแห้ง 300 กิโลกรัม ต่อไร่  ตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 วัน จึงปล่อยน้ำเข้าบ่อผ่านผ้ากรอง หรือตะแกรงตาถี่ให้มีระดับความลึกประมาณ 1 เมตร  การใช้บ่อดินเพาะปลานิลจะมีประสิทธิภาพสูง เพราะเป็นบ่อที่มีสภาพคล้ายคลึงสภาพตามธรรมชาติ

             2.1.2 การคัดเลือกพ่อแม่ปลานิล  พ่อแม่ปลานิลสามารถคัดเลือกได้โดยตรงจากปลาในบ่อเลี้ยงขุนเพื่อส่งตลาด คัดเลือกโดยสังเกตจากลักษณะภายนอกของปลาที่สมบูรณ์ ไม่มีบาดแผล แม่ปลาที่พร้อมวางไข่ อวัยวะเพศจะมีสีชมพูแดง  ส่วนพ่อปลาสีบนลำตัว และบริเวณครีบเข้มสดใสมากกว่าปกติ  ขนาดของพ่อแม่ปลาที่เหมาะสมมีขนาดยาวตั้งแต่ 15 – 25 เซนติเมตร  น้ำหนัก 150 – 200 กรัม

            2.1.3  อัตราส่วนที่ปล่อยพ่อแม่ปลาลงบ่อเพาะพันธุ์ ในอัตราส่วนพ่อปลา 160 ตัว แม่ปลา 240 ตัว ต่อพื้นที่บ่อ 1,600 ตารางเมตร หรือ 1 ไร่ หรือ อัตราส่วนพ่อปลา 2 ตัว แม่ปลา 3 ตัว ต่อพื้นที่บ่อ 20 ตารางเมตร  การเพาะปลานิลแต่ละรุ่นใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงเปลี่ยนพ่อแม่ปลาชุดใหม่

            2.1.4 การให้อาหารและปุ๋ยระหว่างเพาะพันธุ์  ให้อาหารสมทบซึ่งมีส่วนผสมของ ปลายข้าว  สาหร่าย หรือพืชผัก รำละเอียด ในอัตราส่วน 1 : 2 : 3  โดยให้ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของ น้ำหนักตัว วันละ 1 ครั้ง ส่วนปุ๋ยคอกแห้งต้องใส่ในอัตราส่วนประมาณ 100–200 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน เพื่อให้เกิดแพลงค์ตอน (Plankton) หรือพืชน้ำ  ไรน้ำขนาดเล็ก อันเป็นประโยชน์ต่อลูกปลานิลวัยอ่อนก่อนย้ายลงในบ่ออนุบาล

           2.1.5 การอนุบาลลูกปลานิล  ทำโดยรวบรวมลูกปลานิลจากบ่อเพาะพันธุ์ภายหลังการปล่อยพ่อแม่ปลาครั้งแรกประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นรวบรวมลูกปลา 2 – 3 สัปดาห์ต่อครั้ง โดยใช้อวนหรือตะแกรงตาถี่รวบรวมปล่อยในบ่ออนุบาลซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 200 ตารางเมตร ระดับน้ำลึก 1 เมตร  บ่ออนุบาลดังกล่าวลูกปลาขนาด 1 – 2 เซนติเมตร ได้ครั้งละ 50,000 ตัว  ให้อาหารสมทบ เช่น รำละเอียด กากถั่ว วันละ 2 ครั้ง  จนลูกปลามีขนาด 3 – 5 เซนติเมตร จึงจับปลาลงบ่อเลี้ยงหรือขายต่อไป

         2.2  การเพาะพันธุ์ปลาสลิด (Trichogaster pectoralis)

การเพาะพันธุ์ปลาสลิด เป็นการเพาะพันธุ์แบบกึ่งควบคุมธรรมชาติ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้

           2.2.1  การเตรียมบ่อพันธุ์ปลาสลิด  บ่อเพาะพันธุ์ปลาสลิดมักใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของนาปลาสลิดหรือสร้างให้อยู่ติดกับแปลงนา  พื้นที่บ่อเพาะใช้ประมาณ 1 ใน 10-20  ส่วนของแปลงเลี้ยงขุดคูโดยรอบกว้าง 3 เมตร ลึก 75 – 100 เซนติเมตร  ดินที่ขุดจากคูนำมาสร้างบ่อให้แข็งแรง และล้อมคันบ่อด้วยมุ้งไนล่อนเพื่อป้องกันศัตรูลูกปลา เช่น งู  กบ

          2.2.2   ขั้นตอนการเพาะพันธุ์  มีขั้นตอนตามลำดับดังนี้

          1) ปล่อยพ่อแม่ปลาในอัตรา 1 ต่อ 1 จำนวน 160 คู่ต่อบ่อเพาะขนาด 1 ไร่  เตรียมพ่อแม่พันธุ์ก่อนการเพาะพันธุ์ 1 เดือน โดยให้อาหารสมทบ เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของปลายข้าว เศษผัก และรำละเอียด ในอัตราส่วน 1:2:3 ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวต่อวัน

          2) ก่อนระบายน้ำให้ท่วมพื้นนาเพื่อให้ปลาขึ้นมาผสมพันธุ์วางไข่ ให้ตัดหญ้ารวมไว้เป็นกองในบ่อ เหลือไว้บางส่วนให้ปลาสลิดก่อหวอดวางไข่พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกให้ทั่วบ่อ อัตรา 200 – 300 กิโลกรัมต่อพื้นที่บ่อ 1 ไร่

          3) เพิ่มระดับน้ำให้ท่วมพื้นนาประมาณ 30 เซนติเมตร พ่อแม่ปลาจะขึ้นไปวางไข่ภายใน 1 สัปดาห์

          4) ใส่ปุ๋ยคอกให้ทั่วบ่อทุกวัน  วันละ 5 กิโลกรัม

          5) เมื่อครบ 2 เดือน  ระบายน้ำออกจากบ่อเพาะลงสู่แปลงเลี้ยงปลา ซึ่งลูกปลาจะออกไปพร้อมกับน้ำ จำนวนลูกปลาเหลือรอดประมาณ 500 ตัวต่อแม่ การเพาะโดยวิธีนี้สามารถเพาะปลาสลิดได้ปีละ 2 ครั้ง  หรือถ้าหากเพาะพันธุ์ในบ่อเพาะแบบเดี่ยว ไม่ปล่อยลูกปลาออกสู่แปลงนาก็กระทำได้เช่นเดียวกัน  เพียงแต่ต้องจับลูกปลาออกจากบ่อเพาะพันธุ์หลังจากปล่อยพ่อแม่ปลาแล้ว 1 – 2 เดือน  จะได้ลูกปลาสลิดขนาด 2 – 3 เซนติเมตร

         2.3  การเพาะพันธุ์ปลาไน  (Cyprinus carpio)

การเพาะพันธุ์ปลาไน เป็นการเพาะพันธุ์แบบควบคุมธรรมชาติ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้

          2.3.1 การคัดเลือกพ่อแม่ปลา  แม่ปลาที่ไข่แก่ท้องจะอูมอิ่ม ช่องเปิดของอวัยวะเพศมีสีชมพูแดง  ส่วนพ่อปลาเมื่อใช้มือบีบท้องเบา ๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมาทางช่องเพศ

          2.3.2    บ่อและการเตรียมบ่อเพาะพันธุ์  บ่อที่ใช้เพาะพันธุ์ใช้ได้ทั้งบ่อดินและบ่อซีเมนต์  ขนาดบ่อตั้งแต่ 10 – 200 ตารางเมตร  เตรียมบ่อโดยการปล่อยน้ำเข้าบ่อผ่านตะแกรงตาถี่เพื่อป้องกันศัตรูที่มาพร้อมกับน้ำ ให้มีระดับน้ำ 30 เซนติเมตร

          2.3.3    การเตรียมที่วางไข่  เนื่องจากปลาไนเป็นปลาที่ไข่ติดกับวัสดุ จึงจำเป็นต้องเตรียมวัสดุสำหรับวางไข่ เช่น สาหร่ายหางกะรอก ผูกรวมกันเป็นกำประมาณกำละ 10 ต้น  ใช้ 10 กำต่อแม่ปลา 1 ตัว  หรือใช้เชือกฟางฉีกเป็นฝอยผูกกับกรอบไม้ หรือท่อ พีวีซี รูปสี่เหลี่ยมวางไว้กลางบ่อ  ข้อดีของการใช้เชือกฟางคือ ไม่ขาด  และเมื่อฟักไข่ออกเป็นตัวแล้วล้างทำความสะอาด ผึ่งให้แห้งเก็บไว้ใช้ในการเพาะครั้งต่อไปได้หลายปี

          2.3.4    การปล่อยพ่อแม่ปลา  และอัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่ปลาลงบ่อเพาะพันธุ์ ใช้อัตราส่วนแม่ปลาขนาด 2 กิโลกรัม 1 ตัว พ่อปลาขนาด 1–2 กิโลกรัม 2–3 ตัว ต่อพื้นที่บ่อ 10 ตารางเมตร  โดยปล่อยพ่อแม่ปลาในเวลาเย็น

 ตารางที่ 1  อัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่ปลาไนต่อพื้นที่บ่อเพาะพันธุ์

แม่ปลาขนาด 2 ก.ก.

(ตัว)

พ่อปลาขนาด 1 – 2 กก.

(ตัว)

ขนาดของบ่อ

(ตารางเมตร)

สาหร่าย

(กำ)

1

5

2 – 3

10 – 15

10

50

10

50

        ที่มา  :  ปกรณ์ (2532)

            2.3.5  การผสมพันธุ์และวางไข่  หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงบ่อเพาะพันธุ์ในเวลาเย็น  เมื่อถึงเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นปลาจะวางไข่ โดยพ่อปลาไล่คลอเคลียแม่ปลา จากนั้นแม่ปลาจะปล่อยไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อพ่อปลาในน้ำ ในขณะเดียวกันแม่ปลาจะใช้หางโบกพัดให้ไข่ไปติดกับสาหร่ายที่เตรียมไว้

           2.3.6  การฟักไข่  เมื่อปลาหยุดวางไข่แล้ว 2 – 3 ชั่วโมง จึงจับพ่อแม่ปลาออกจากบ่อเพาะนำกลับไปเลี้ยงในบ่อพ่อแม่พันธุ์ตามเดิม  หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนน้ำโดยการถ่ายน้ำเก่าออกทิ้งประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์  แล้วเติมน้ำใหม่ที่สะอาดให้เท่าเดิม ไข่ปลาที่ได้รับการผสมแล้ว จะฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 30 – 60 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 20 – 30 องศาเซลเซียส

 ข้อดีและข้อจำกัดของการเพาะพันธุ์ปลาแบบเลียนแบบธรรมชาติ

ข้อดี

       1. พ่อแม่ปลาไม่บาดเจ็บเนื่องจากปลาผสมพันธุ์กันเองไม่ได้ผสมเทียม

       2. ไม่จำเป็นต้องทราบช่วงเวลาที่แม่ปลาตกไข่

       3. ไม่จำเป็นต้องรีดไข่

       4. ไข่ที่ปล่อยออกมาไม่แก่เกินไป (Over ripening oocyte)

 ข้อจำกัด

       1.ไข่มีสิ่งเจือปนเนื่องจากผสมกันในแหล่งธรรมชาติ

       2.ประเมินจำนวนไข่ที่แน่นอนได้ยาก

       3.แม่ปลาอาจวางไข่ไม่หมด หรือวางไข่ได้แค่ 50 %

       4.ผสมข้ามพันธุ์ไม่ได้

 บทสรุป

        การเพาะพันธุ์ปลาแบบเลียนแบบธรรมชาติเป็นวิธีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่นิยมทำกันมานานแล้ว  ซึ่งมีวิธีการในการปฏิบัติที่ไม่ยุ่งยากและมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำสามารถทำได้โดยการศึกษาสภาพของการผสมพันธุ์วางไข่ตามธรรมชาติของสัตว์น้ำชนิดนั้นๆว่ามีการผสมพันธุ์วางไข่และเลี้ยงดูตัวอ่อนกันในลักษณะใด  เมื่อต้องการที่จะเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชนิดใดก็จัดให้มีการจำลองสถานการณ์ในการเพาะพันธุ์ให้เหมือนหรือใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของสัตว์น้ำในชนิดนั้นๆให้มากที่สุด  ก็สามารถที่จะช่วยกระตุ้นให้สัตว์น้ำนั้นๆสามารถที่จะทำการผสมพันธุ์วางไข่ในบ่อเพาะฟักที่จัดเตรียมไว้ได้

หมายเลขบันทึก: 449411เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเยี่ยมการเพาะพันธุ์ปลาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท