พราหมณ์ : ศาสนาพราหมณ์ในสมัยอยุธยา


 

                เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ ๑ (พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๑๙๑๒) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในปี พ.ศ. ๑๙๘๓ ทรงได้รับเอาวัฒนธรรมของขอมเข้าไว้ด้วย เช่น ระบบการปกครองที่แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนคือ เวียง วัง คลัง นา หลักการปกครองแบบนี้เป็นหลักการที่ยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราชา และมีพราหมณ์ในราชสำนักทำหน้าที่อภิบาลองค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะที่พระมหากษัตริย์เป็นมหาจักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียว เป็นสมมติเทพเทียบเท่าเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งถือว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุด ที่ถือว่า ผู้ที่เข้าพิธีนี้แล้วจะเป็นกษัตริย์โดยชอบธรรม เป็นผู้ซึ่งใช้พระบรมราชโองการได้เต็มอำนาจ เป็นเจ้าแห่งแผ่นดินและประชาชนทั้งปวง ผู้ที่ประกอบพิธีพระบรมราชภิเษกได้ก็คือพราหมณ์เท่านั้น   ด้วยเหตุนี้ในสมัยอยุธยา  พราหมณ์จึงมีความสำคัญมากในราชสำนัก  และเป็นผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

                เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงเลือกตำบลหนอกโสนเป็นที่ตั้งแห่งราชธานีแห่งใหม่ ทรงให้พราหมณ์ประกอบพิธี พระราชพิธีกลบบัฏสุมเพลิง (กลบบัตรสุมเพลิง) ถือว่าเป็นพิธีอวมงคล เพื่อทำการล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากแผ่นดินก่อนจะมีการตั้งราชธานี และเป็นการปักเขตราชวัตรกำหนดอาณาเขตการสร้างกรุงตามลัทธิพราหมณ์ นี้ดังนี้

 

                “ศุภมัสดุศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก วันศุกร์  เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ เพลา สามนาฬิกาเก้าบาท สถาปนากรุงพระมหานครศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลปบาตร ได้สังข์ทักษิณวัตรได้ต้นหมันขอนหนึ่ง และสร้างพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไพธยนต์มหาปราสาทองค์หนึ่ง แล้วพระเจ้าอู่ทองเสด็จเข้ามาครองราชย์สมบัติ...” (ศิลปากร, กรม, ๒๕๑๔ : ๑)

 

                ไม่มีรายละเอียดเรื่องพิธีกลบบัตรสุมเพลิง เข้าใจว่าคือ พิธีวางหลักเมืองในลักษณะฝังแผ่นบัตรลงไป (สุภาพรรณ ณ บางช้าง. ๒๕๓๕ : ๕๑)

                ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ (พ.ศ. ๑๙๖๗ – ๑๙๙๑) กองทัพกรุงศรีอยุธยาสามารถตีนครหลวงของเขมรได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยตีได้ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ในการตีเขมรครั้งนี้ ได้กวดต้อน เจ้านาย ขุนนาง ประชาชน ทรัพย์สมบัติต่าง ตลอดจนพรามหมณ์ในพระราชสำนักเข้ามาในอยุธยา จึงปรากฏร่องรอยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ในราชสำนัก ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนักด้วย 

                ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนานาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑ – ๒๐๓๑) ทรงได้ตราพระราชอำนาจของกษัตริย์ตลอดจนหลักปฏิบัติเกี่ยวกับพระองค์เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏในรูปแบบกฎมณเฑียรบาลอีกทั้งยังจัดระเบียบการปกครองและสังคมโดยตราพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและนาทหารหัวเมือง ทรงได้กำหนดภาระหน้าที่ของพราหมณ์ไว้ดังนี้          

 

              “อนึ่งการอายัดมหาราชครู พระราชครู พระอาลักษณ พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ พระศรีศักดิ์ ให้กำหนดราชประเพนีโดยขบวนโบราณ และให้ถือกำหนดพิทธีโดยดำหรับสาตราเวท มีทวาทโศศกโสฬศกรรมเปนต้น แลปัถมพิเศก ราชาภิเศก อินทราภิเศก สังครามาภิเศก อาจาริยาภิเศก แลการภิเศกโดยสารทดำหรับทังปวง...”  (กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑, ๒๕๔๘ : ๙๓ - ๙๔)

 

              กล่าวคือ  พราหมณ์มีหน้าที่เป็นปุโรหิต  ให้คำปรึกษาราชการ  เป็นครูผู้สอนศิลปวิทยาการ  เป็นโหราจารย์ถวายคำพยากรณ์และถวายพระฤกษ์ในการประกอบพระราชพิธีต่างๆ  และเนื่องจากพราหมณ์เป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  พราหมณ์ราชสำนักในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงมีหน้าที่เป็นผู้พิจารณาชี้ตัวบทกฎหมายในคดีต่างๆ  แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับคดี  พราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า  ลูกขุน  ณ  ศาลหลวง  มีทั้งสิ้น  ๑๒  คน  โดยมีพระมหาราชครูปุโรหิต  และพระมหาราชครูมหิธรเป็นหัวหน้า

                พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนในกฎหมายตราสามดวง (๒๕๔๘ : ๑๕๗ – ๑๕๙) ได้กำหนดตำแหน่งพร้อมศักดินาของพราหมณ์ไว้ดังนี้

 

ตำแหน่งพราหมณ์ในศาล 

-       พระมหาราชครูพระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดีศรีวิสุทธิคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรม จาริยาธิบดีศรีพุทธาจารย

        นา ๑๐๐๐๐

-       พระราชครูพระครูพิเชดษราชธิบดีศรีษรคม นา ๕๐๐๐

-       พระธรรมสารทราชโหระดาจารย ปลัดมหิธร นา ๓๐๐๐

-       พระอัฐยาปรีชาธิบดีโหระดาจารย ปลัดพระครูพิเชด นา ๓๐๐๐

-       พระญาณประกาษอธิบดีโหระดาจารย์        นา ๓๐๐๐

-       พระศรีสังกอรอธิบดีโหระดาจารย์ นา ๓๐๐๐

-       ขุนไชยอาญามหาวิสุทธิปรีชาจารย์  นาคล ๑๕๐๐

-       ขุนจินดาพิรมยพรมเทพวิสุทธิวงษาจารย์ นาคล ๑๕๐๐

-       พระมหาราชครูพระราชประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงษองคบุริโสดมพรหมญาณวิบุลสิลสุจริตวิวิทธเวทยพรหมพุทธาจารย์ นา ๑๐๐๐๐

-       พระราชครูพระครูพิรามราชสุภาวดีตรีเวทจุทามะณีศรีบรมหงษ์ นา ๕๐๐๐

-       พระเทพราชธาดาบดีศรีวาสุเทพ ปลัดพระราชครูประโรหิต นา ๓๐๐๐

-       พระจักปานีศรีสิลวิสุทธิ ปลัดพระราชครูพิราม นา ๓๐๐๐

-       พระเกษมราชสุภาวดีศรีมณธาดุลราช เจ้ากรมแพ่งเกษม นา ๓๐๐๐

-       ขุนสุภาเทพ ๑ ขุนสุภาพาน ๑ ปลัดนั่งศาล นาคล ๔๐๐๐

-       ขุนหลวงพระไกรศรีราชสุภาวดีศรีมณธาดูลราช เจ้ากรมแพ่งกลาง นา ๓๐๐๐

-       ขุนราชสุภา ๑ ขุนสุภาไชย ๑ ปลัดนั่งศาล นาคล ๔๐๐

 

ตำแหน่งพราหมณ์ผู้ประกอบพระราชพิธี 

-        พระครูพระราชพิทธี จางวาง นา ๑๐๐๐

-        พระครูอัศฎาจารย์ เจ้ากรม นา ๘๐๐๐

-         หลวงราชมณี ปลัดกรม นา ๖๐๐

-         ขุนพรมไสมย ครูโล้ชิงช้า นา ๔๐๐

-         ขุณธรรมณะราย สมุบาญชีย นา ๓๐๐

-         ขุนในกรม นา ๓๐๐

-         หมื่นในกรม นา ๒๐๐

-          พราหมเลวรักษาเทวสถาน นาคล ๕๐

 

ตำแหน่งพราหมณ์กรมคชบาล 

-           พระอิศวรธิบดีศรีสิทธิพฤทธิบาท จางวาง นา ๑๐๐๐

-           หลวงสิทธิไชยบดี เจ้ากรม นา ๘๐๐

-           หลวงเทพาจาริย รองพระตำรับขวา นาคล ๖๐๐

-            หลวงอินทฦๅไชยไชยาธิบดีศรียศบาท รองพระตำรับซ้าย นาคล ๖๐๐

-            ขุนในกรมพฤทธิบาท นา ๓๐๐

-            หมื่นในกรมพฤทธิบาท นา ๒๐๐

-            ประแดงราชมณี นา ๒๐๐

 

                ความสำคัญของพราหมณ์เห็นได้จากการกำหนดศักดินาให้แก่พระมหาราชครู  ซึ่งมีอยู่  ๒  ตำแหน่ง  คือ  พระมหาราชครูพระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดีศรีวิสุทธิคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรมจาริยาธิบดีศรีพุทธาจารย  เป็นพระมหาราชครูฝ่ายลูกขุน  ณ  ศาลหลวง  และพระมหาราชครูพระราชประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงษองคบุริโสดมพรหมญาณวิบุลสิลสุจริตวิวิทธเวทยพรหมพุทธาจารย  ซึ่งเป็นพระมหาราชครูฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตทั้งสองตำแหน่งมีศักดินา  ๑๐,๐๐๐  เท่ากัน  ซึ่งเทียบเท่ากับ  ออกญา  หรือ  พระยา  ตำแหน่งสูงสุดของเสนาบดีชั้นสูงของสมัยอยุธยาเลยทีเดียว

                ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) นอกเหนือจากการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดแล้ว ยังถือว่าเป็นยุคแห่งการเผยแพร่ศาสนาต่าง ๆ ในอยุธยาด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงมีขันติธรรมทางศาสนา ไม่กีดกันนักสอนศาสนาต่าง ๆ มีการพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างศาสนาสถานต่าง ๆ มากมายทุกศาสนากับนักบวช ที่ขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมพาน สำหรับศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุด สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเกล้าให้ทำการหล่อเทวรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ขึ้นหลายองค์ดังปรากฏในพงศาวดารว่า

 

                “...ในเดือนยี่ปีวอกนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวบำเพ็ญพระราชกุศลนานาประการ แล้วให้หล่อรูปพระอิศวรเป็นเจ้ายืนสูงศอกคืบมีเศษพระองค์หนึ่ง รูปพระศิวาทิตย์ ยืนสูงศอกมีเศษพระองค์หนึ่ง รูปหระมหาวิฆเนศวรพระองศ์หนึ่ง รูปพระจันทราทิศวรพระองค์หนึ่ง และรูปพระเจ้าทั้งสี่พระองค์นี้สวมทองนพคุณ และอาภรณ์ประดับนั้นถมยาราชวดีประดับแหวนทุกพระองค์ ไว้บูชาสำหรับการพระราชพิธี...ครั้นปีระกา นพศก  พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัสสั่งพระยาจักรี ให้แต่งโรงพระราชพิธีพรหม และชมรมสำหรับการพระราชพิธีทั้งปวงในทะเลหญ้าตำบลพระเนียด และทรงพระกรุณาตรัสให้หล่อพระเทวกรรมทองยืน สูงศอกหนึ่งหกหุ้มด้วยเนื้อเจ็ดแล้วพระเครื่องอาภรณ์นั้นถมราชวดี ประดับด้วยแหวนไว้สำหรับการพระราชพิธีคชกรรม...แล้วก็ตรัสให้หล่อพระบรมกรรมพระองค์หนึ่งสูงสี่ศอกทั้งฐานแล้วภิเษกเสร็จ ก็ให้รับไปประดิษฐาน ไว้ในอารามพระศรีรุทรนาถตำบลชีกุล แล้วตรัสให้หล่อพระเทวกรรมพระองค์หนึ่งสูงประมาณสี่ศอกไว้ในเทวกรรม...”  (ศิลปากร, กรม, ๒๕๑๖ : ๔๒ - ๔๖)

 

                ศาสนาพราหมณ์และพราหมณ์ในสมัยอยุธยานับว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั่งแต่ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีการในสร้างเมือง พระราชพิธีสถาปนาบุคคลเป็นพระมหากษัตริย์สมมติเทพตามคติพราหมณ์ ปรากฏในสมัยอยุธยา ๗ พระราชพิธีคือ พระราชพิธีราชาภิเษก พระราชพิธีปราบดาภิเษก พระราชพิธีสงครามภิเษก พระราชพิธีอินทราภิเษก พระราชพิธีบุษยาภิเษก พระราชพิธีจาริยาภิเษกหรือพระราชพิธีอาจาริยาภิเษก และพระราชพิธีปถมาภิเษก (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, ๒๕๓๕ :  ๙๗ – ๙๘) อีกทั้ง พระราชพิธีเกี่ยวกับวงจรชีวิต พระราชพิธีประจำเดือนหรือที่เรียกว่าพระราชพิธีสิบสองเดือน (รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือนดูในภาคผนวก ข.)  พราหมณ์ทำหน้าที่ปรึกษา เป็นปุโรหิต ทำนายผลสงคราม ทำนายฟ้าฝน ความอุดมสมบูรณ์ ทำนายฝันลางบอกเหตุ เป็นพระอาจารย์สั่งสอนศิลปวิทยาต่าง ๆ ถวายแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์  พิธีทางคชกรรม  ทำหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมาย ฯลฯ นับว่าศาสนาพราหมณ์ในยุคที่เจริญถึงขีดสุด พราหมณ์ได้รับการยกย่องนับหน้าถือตาจากผู้คนทุกระดับไปทั่วทุกหัวเมือง  พราหมณ์ยังได้รับการยกย่องจากพระมหากษัตริย์ทุกประองศ์โดยมีเงินเดือนประจำและไม่ต้องเสียภาษี

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

อ้างอิง

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. แก้ไขปรับปรุงใหม่ ๒๕๔๘. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. ๒๕๔๘.

ศิลปากร, กรม. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพันรัตน์ วัดพระเชตุพน. พิมพ์ครั้งที่ ๔.พระนคร : กรมศิลปากร. ๒๕๑๔.

__________. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒. กรุงเทพฯ :กรมศิลปากร. ๒๕๑๖.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. “ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวการปฏิบัติในสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง .” โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์. ๒๕๓๕.

 

 

หมายเลขบันทึก: 449352เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท