ภาษาศาสตร์ : พัฒนาการอักษรไทย จากเริ่มต้นสู่วิบัติ


ประเทศไทยในปัจจุบัน แม้ภาษาพูดจะมีสำเนียง  คำบางคำ ที่ต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แต่ภาษาเขียนและอักขรวิธีนั้นใช้แบบเดียวกัน ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า ๑,๓๐๐ ปีของการพัฒนานั้นผ่านการลองผิดลองถูกจากมันสมองของบรรพบุรุษไทยตั้งแต่กษัตริย์ นักอักษรศาสตร์ นักบวช นักวิชาการไทยมาหลายต่อหลายครั้ง หลายรูปแบบ และหลายรุ่น จนกว่าจะมาเป็นรูปแบบปัจจุบัน  เป็นมาตรฐานเดียวกัน สรุปพัฒนาการแบบสั้น ๆ ได้ดังนี้

                ตัวอักษรหรือตัวหนังสือเริ่มต้นจากภาพลายเส้นในพิธีกรรม เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอุดมสมบูรณืและการสื่อสารกัน ภายหลังปรับเป็นลายเส้นง่าย ๆ  เรียกว่า "อักษรภาพ" (Pictrographs) ซึ่งใช้เขียนคำสำคัญ ๆ ที่เป็นรูปธรรม เช่น ต้นไม้ บ้าน ไฟ สัตว์ ฯลฯ แล้วพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อใช้เขียนคำที่เป็นนามธรรมได้ เช่น รัก เกลียด กลัว ฯลฯ เรียกว่า "อักษรความคิด" (Idegraphs) ตัวอักษรภาพและอักษรความคิดได้ใช้กันอย่างกว้างขวางและมีวิวัฒนาการของมันเองเป็นระยะเวลานับพัน ๆ ปี ใช้ในสมัยอารยธรรมโบราณ ๓ ชนิดด้วยกันคือ ๑) อักษรอียิปต์โบราณหรืออักษรฮีโรกลิฟ (Hieroglyphs) ๒) อักษรรูปลิ่ม (Cuneiforms) ๓) อักษรจีนหรืออักษรพู่กัน อักษรทั้ง ๓ ชนิดเจริญรุ่วเรื่องอยู่ในยุคไล่เลี่ยกัน อักษรฮีโรกลิฟเจริญรุ่งเรื่องอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำไนล์ อักษรรูปลิ่มเจริญอยู่ลุ่มแม่น้ำไทกรีสและยูเฟติสรวมถึงบริเวณปากอ่าวเปอร์เซีย ส่วนอักษรจีนเจริญรุ่วเรื่องอยู่ในประเทศจีนปัจจุบัน และส่งอิทธิพลให้กับญี่ปุ่นและเกาหลีในภายหลัง อักษรเหล่านี้ได้แพร่กระจายไปทั่วดินแดนใกล้เคียงและออกไปเรื่อย ๆ จากปัจจัยทางการค้าเป็นหลัก พ่อค้าสำคัญที่ทำให้อักษรลิ่มเกิดการแพร่กระจายไปในดินแดนต่าง ๆ และพัฒนาเป็นของตนเองคือชาว "ฟินีเชียน" (ในเลบานอลปัจจุบัน)

 

รูปอักษรลิ่ม

ที่มา : http://en.wikipedia.org/wiki/Cuneiform_script

 

                 อักษรของไทยมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอักษรอินเดีย ซึ่งถูกพัฒนามาจากอักษรของชาวฟินิเชียนอีกต่อหนึ่ง อักษรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในอินเดียพบในศิลาจารุกที่สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเรียกว่า “อักษรพราหมี” และในสมัยเดียวกันได้พบอักษร “ขโรษฐี” ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ส่วนอักษรพราหมีเป็นอักษรที่ใช้อย่างกว้างขวางในสมัยหลังต่อมา จนพัฒนารูปสันฐานเป็น “อักษรเทวนาครี” ที่ใช้ในอินเดียเหนือ และ “อักษรคฤน์” หรือที่เรียกว่า “ปัลลวะ” (ใช้ในสมัยราชวงศ์ปัลลวะจึงเรียกอักษรปัลลวะ)  อักษรปัลลวะได้แพร่กระจายเข้าสู่ดินแดนเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย เขมร พม่า และชาติอื่น ๆ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นอย่างน้อย

 

อักษรพราหมี พระเจ้าอโศกมหาราช ราวพุทธศตวรรษที่ ๓

ที่มา : http://en.wikipedia.org/wiki/Br%C4%81hm%C4%AB_script

 

                ราวพุธศตวรรษที่ ๑๒ พบจารึกรุนแรกของประเทศไทย ใน จ. อุบลราชธานี จ. ปราจีนบุรี คือ จารึกของเจ้าชายจิตเสน หรือมเหนทรวรมันแห่งอาณาจักรเจนละ ใช้ตัว “อักษรคฤนถ์” หรือ “ปัลลวะ” ภาษาสันสกฤษ เช่นจารึกเขารัง จ.ปราจีนบุรี ลง พศ. ๑๑๘๒ จารึกหมาไนของเจ้าชายจิตเสน อยู่ที่วัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นอักษรของฝ่ายอินเดียใต้ที่แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์ และพบจารึก “เยธัมมาฯ” บนเหรียญกษาปณ์ ของอาณาจักรทวารวดีในภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  อักษรปัลลวะพบในภาคกลาง ๓๓ หลัก

 

ภาพจารึกชื่องสระแจง พุทธศตวรรษที่ ๑๒ อักษรปัลวะ  ภาษาสันสกฤต

ที่มา : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/main.php?p=ZGV0YWls&id=12

 

                ราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๒ – ๑๕ เป็นต้นมา พบอักษร “ขอมโบราณ” ที่พัฒนามาจากอักษรปัลลวะ ทั่วบริเวณภาคอิสาน

                หลังจากพุทธศตวรรษ์ที่ ๑๕ อักษรขอมโบราณได้พัฒนาไปเป็น “อักษรขอม”

                ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ “อักษรมอญโบราณ” อักษรมอญโบราณเด่นชัดในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในอาณาจักรพุกามของพม่า แล้วเพร่เข้ามาสู่ดินแดนประเทสไทยทางภาคเหนือ ปรากฏที่อาณาจักรหริภุญชัย จ.ลำพูน มีอายุสมัยพุทธศตวณณที่ ๑๘ จำนวน ๗ หลัก และ ที่วัดเวียงมะโน อ.หางดง จ. เชียงใหม่ อีกหนึ่งหลัก

                พ.ศ. ๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย นำตัวอักษร “มอญโบราณ” และ “อักษรขอมโบราณ” (ซึ่งพัฒนามาจากอักษรปัลลวะทั้งคู่) มาจัดระบบอักขรวิธีใหม่โดยการวางสระไว้บนบรรทัดเดียวกับพยัญชนะและดัดแปลงรูปแบบเรียกว่า “ลายสือไทย” ในปี พ.ศ. ๑๘๒๖ และสร้างศิลาจารึหลักที่ ๑ ในปี พศ ๑๘๓๕ เป็นต้นแบบของตัวอักษรไทยในปัจจุบัน

 

จารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง อักษรไทยพ่อขุนรามคำแหง ภาษาไทย

ที่มา : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/main.php?p=cGFydA==&id=5&id_part=1

 

                ราว พ.ศ.๑๙๐๐ พระยาลิไทยแห่งอาณาจักรสุโขทัย พัฒนาระบบอักขรวิธีอักษรไทยโดยวางสระไว้รอบทั้งในบรรทัดและด้านบน ล่าง ของพยัญชนะ เรียกว่า “อักษรสมัยพระยาลิไทย” จากนั้นจึงแพร่กระจายเข้าไปในภาคเหนือ และปะปนกับ “อักษรยวน” กลายเป็น “อักษรธรรมล้านนา” บันทึกวรรณกรรมเกี่ยวกับศาสนา  และ “อักษรฝักขาม” บันทึกวรรณกรรมทางโลก แล้วแพร่กระจายต่อไปยังอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) และภาคอิสาน เรียกว่า “อักษรธรรมอิสาน” บันทึกเรื่องทางธรรม และ “อักษรไทยน้อย” บันทึกเรื่องทางโลก อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของ “อักษรลาวปัจจุบัน” อีกด้วย นับแต่นี้ไป วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา พระสงฆ์มีหน้าที่สอนหนังสือ

 

จารึกวัดช้างค้ำ ๑ อักษรธรรมล้านนนา ภาษาไทย

ที่มา : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/main.php?p=ZGV0YWls&id=802&userinput=%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2

 

                อาณาจักรอยุธยา สมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช รูปสัณฐานตัวอักษรเปลี่ยนแปลงเป็นทรงเหลี่ยม เส้นตรงหักเหลี่ยมย่อมุม เรียกว่า “อักษรไทยย่อ” ใช้ในเอกสาราชการ ลักษณะตัวอักษรคล้ายปัจจุบัน เกิดหนังสือแบบเรียน “จินดามณี” มีสระครบทุกตัว วรรณยุกต์ ๒ รูป คือ เอก โท ในสมัยอยุธยาตอนปลาย พยัญชนะครบ ๔๔ ตัว  

 

บันทึกรายวันของออกพระวิสุทธสุนธร (โกษาปาน) หน้า ๑ อักษรไทยย่อ ภาษาไทย

ที่มา : http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/main.php?p=ZGV0YWls&id=1920&userinput=%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%99

 

                สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบวรรณยุกต์ครบทั้ง ๔ รูป คือ เอก โท ตรี จัตวา

                ในรัชกาลที่ ๓ แหม่มจัตสัน ชาวอังกฤษออกแบบหล่อตัวอักษรไทยที่ประเทศพม่า 

                พ.ศ. ๒๓๗๑ ร้อยเอกเจมส์ โลว์ ได้นำไปพิมพ์ที่เมืองกัลป์กาตาประเทศอินเดีย

                พ.ศ. ๒๓๗๙ หมอบลัดเลย์ ซื้อเครื่องพิมพ์อักษรไทยมาพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งโรงพิมพ์ครั้งแรกในปีเดียวกัน จากนั้นโรงพิมพ์ก็เจริญรุ่งเรื่องในเมืองไทย มีการปรับปรุงแบบเรียนจินดามนีอีกครั้ง

                พ.ศ. ๒๓๙๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชได้ประดิษฐ์ “ตัวอักษรอริยกะ” เพื่อใช้เขียนคำบาลี แต่ไม่เป็นที่นิยม

 

อักษรอริยกะ

ที่มา : http://nora.exteen.com/20090219/entry

 

                ในรัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงได้เสนอปรับปรุงอักขระวิธีอีการไทยเรียกว่า “อักขรวิธีแบบใหม่” นำรูปแบบอักขรวิธีแบบตะวันตกมาประยุกต์โดยวางสระประสมกันไม่ตรงเสียง วางตัวพยัญชนะติดกันเป็นพืดไม่เว้นวรรค ไม่มีสระกำกับการออกเสียง แต่ไม่ได้ใช้เป็นราชการ

                พ.ศ. ๒๔๘๕ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้อำนาจผู้นำเปลี่ยนแปลงอักขระวิธีไทย โดยตัดตัวอักษรที่มีเสียงซ้ำออกไป ๑๓ ตัว ตัดสระออกไป ๕ ตัว ประกาศให้เป็นตัวหนังสือของทางราชการ และเลิกใช้เมื่อหมดอำนาจในปี พ.ศ. ๒๔๘๗

รูปแบบเอกสารและอักขระวิธรสมัยจอมพล ป.

ที่มา : www.dek-d.com/borad/view.php?id=1449605

                พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นมา อักขรวิธีไทยก็เข้าสู่รูปแบบปัจจุบัน

                และ นับตั้งแต่ “ระบบอินเตอร์เน็ท” เข้ามาในประเทศไทย “เด็กไทยส่วนหนึ่ง” ก็พัฒนาอักขรวิธีไทยให้ “วิบัติ" และ "วินาศสันตะโร”

 

ล้อเลียนภาษาวิบัติในปัจจุบัน

ที่มา : http://forum.mthai.com/view_topic.php?table_id=1&cate_id=34&post_id=52205

 

                ภาษาและตัวอักษรมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน ย่อมเป็นสื่อให้เรียนรู้วิชาการ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิดความรู้สึกต่อกันในรูปแบบของวรรณกรรมในรูปแบบต่าง ๆ

                ภาษาไทยและอักขรวิธีไทย จึงเป็นเครื่องส่งเสริมจิตสำนึกของคนไทยให้รู้สึกถึงความเป็นไทยที่ใช้ภาษาเดียวกัน มีความผูกพันของคนทุกกลุ่มคนให้เป็นหนึ่งใจเดียวกัน เอกภาพของความเป็นชาติไทยย่อมมีพลังเข้มแข็งเมื่อคนไทยรู้สึกถึงความผูกพันและความสำคัญของภาษาไทยและอักขรวิธีไทย

                 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

หนังสือประกอบการเขียน

ธวัช ปุณโณทก. การอ่านจารึกสมัยต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๘.

วิโรจน์ ผดุงสุนทรารักษ์. อักษรไทยและอักษรขอม. พิมพ์ครั้งที่ ๑ (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๗.

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อักษรไทย
หมายเลขบันทึก: 449330เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กว่าจะทำเสร็จ เวปนี้ไม่รู้เป้นไร ช้ามาก

สังกรานติ์ ลิปิการี

ดีใจท่ยังมีผู้ท่สนใจเรื่องอักษรโบราณ บทความท่ยกมายังน้อยนิด ขาดข้อมูลด้าน epigraphy โดยเฉพาะ indology

เข้ามาสนับสนุน ถ้ามีการศึกษาอักษรโบราณรุ่นหลังสมัยพระเจ้า Ashok เช่นสมัย Satavahana (นาคารชุน) ไล่มาจนถึง

สมัยอักษรครึนถ์ (grantha ครันถะ) ของ Pallava แห่ง Kanchipuram (ตะมีฬ) บางทีความคิด ท่ว่า อักษรไทยได้รูปแบบ

มาจากอักษร Pallava grantha นั้นอ่อนหลักฐานด้าน Epigraphy อยู่มากโขทีเดียว

ชอบพระคุณสำหรับข้อความแสดงความคิดเห็น

แต่ความรู้ด้านอักษรโบราณของผมยังน้อยนิดนัก

และก็ไม่ได้เรียบนเป็นวิชาเอก

แต่บทความนี้ก็ตั้งใจเขียนและนำเสนอให้เด็กไทยรักอักขระวิธีไทยครับผม

ขอบคุณสำหรับกระทู้ดีๆมีสาระนะค่ะ

หนูขอเอาไปเผยแพร่นะค่ะ

เก่งจังเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท