ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


ปฐมเทศนา พระอัญญาโกณฑัญญะ ดวงตาเห็นธรรม ใจความสำคัญคืออะไร

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัจจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า
"ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"

แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า ก็ได้ประทานอุปสมบท ให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ
       
       สำหรับใจความสำคัญของการปฐมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ
       
       1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้อง และเหมาะสม ที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
       
       - การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
       
       - การสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
       
       ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า มรรคมีองค์แปด
       
       2. อริยสัจสี่ คือ ความจริง 4 ประการเกี่ยวกับทุกข์ ได้แก่ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ สี่ ประกอบด้วย
       
       ทุกข์ คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์
       
       สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง
       
       นิโรธ คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน
       มรรค
       มรรค คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติ ความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน
       
       สำหรับวันเข้าพรรษานั้น "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระเจ้าเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียว นั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
       
       ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตาม สมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
       
       โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้ มีประเพณีทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝน เนื่องในวันนี้สืบมา
       
       การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด นับว่าเป็นประโยชน์
       
       ก่อนวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
       
       แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น
       
       อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับ อานิสงส์อย่างสูง

หมายเลขบันทึก: 449304เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต

๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต

๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต

๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท