15 อินเดีย-เนปาล : กระชากใจ ณ ลุมพินีวัน


บทธรรมที่ได้เรียนรู้ที่ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินทางไปอินเดีย-เนปาลครั้งนี้ของข้าพเจ้า คือ สถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล กว่าเราจะเดินทางไปถึงที่นั่นก็เป็นครึ่งหนึ่งของระยะเวลาการเดินทางทั้งหมด

ที่นี่ข้าพเจ้ามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะปรารถนาให้ได้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งในตอนนั้นข้าพเจ้าก็ไม่รู้หรอกว่าการเรียนรู้ที่ว่านั้นจะเป็นเรื่องอะไร แต่มีความรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ข้าพเจ้าจะได้รู้ซึ้งเข้าไปในจิตในใจ

เมื่อไปถึงสถานที่นั้น...ข้าพเจ้าตัดสินใจเดินภาวนาเข้าไปซึ่งเป็นระยะทางไม่ไกลพอเดินได้ เขาคิชกูฎ ก็เดินมาแล้ว และที่นี่เป็นทางเดินทางราบด้วยซ้ำ ผู้ที่ตัดสินใจเดินมีไม่มาก ครูบาอาจารย์นำพาครั้งนี้คือ พระอาจารย์ต้อ ท่านเดินให้ดูเดินให้เห็นเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบที่งดงาม และน้องหนุ่ยที่ชะตาทำให้ได้ร่วมทุกข์กันในอินเดียก็ตัดสินใจเดินในขณะที่คนอื่นๆ นั่งรถสามล้อเข้าไป

ขณะที่เดินไปด้วยก็ใช้หลักการภาวนา...ในสายปฏิบัติสายป่าตามปฏิปทาหลวงปู่มั่นท่านวางแนวทางของการเรียนรู้แห่งธรรมผ่านการปฏิบัติที่น้อมเข้ามาในจิตในใจให้มีการส่งจิตออกนอกให้น้อยที่สุด ให้สมถะเรียบง่ายที่สุด...ในตอนนั้นข้าพเจ้าเดินไปและพิจารณาไปด้วย ลึกๆ เชื่อแน่ว่าที่นี่เป็นที่สำคัญข้าพเจ้าจะได้บทธรรมบางอย่างแน่นอน (ในจิตในใจตั้งอธิษฐาน)

การเดินเข้าไปสักการะภายในเป็นไปอย่างราบเรียบ ข้าพเจ้าเห็นคุณแม่ชีเดินกะเผลกและหิ้วถุงพะรุงพะรังจึงได้เข้าไปอาสาช่วยท่านถือของในขณะที่คนอื่นๆ ล่วงหน้าเข้าไปมากแล้ว หลังจากที่เดินจงกลมภาวนาปฏิบัติบูชาต่อการแสดงความเคารพแล้ว เราก็ออกมารวมกันที่ใต้ต้นโพธิ์ ...

การสวดมนต์รอให้พร้อมเพรียง ... หนึ่งในคณะหันมาบอกว่าทำไมลูกศิษย์ไม่เข้าไปช่วยพระอาจารย์ถือกระเป๋า ซึ่งในตอนนั้นเป็นที่งงอย่างมากสำหรับข้าพเจ้า จึงได้ตอบกลับไปว่าคือ ความไม่ควรที่สตรีเพศจะเข้าถือกระเป๋าของพระภิกษุ น่าจะเป็นโยมผู้ชายที่เข้าไปอุปฐาก แต่ในคณะของเราก็ไม่มีใครลุกขึ้นที่จะเข้าไป แต่สำหรับสายป่าแล้วพระอาจารย์ท่านสามารถที่จะดูแลตนเองได้อยู่แล้ว ด้วยความไม่รู้ไม่ทราบของโยมจึงทำให้แสดงถึงความไม่เข้าใจตามปฏิปทาของสายปฏิบัติ

การสวดมนต์บทธรรมจักรกัปปวัฒนสูตรเริ่มขึ้นแม้จะเป็นทำนองที่ไม่คุ้น แต่ในมุมมองของข้าพเจ้าในขณะนั้นคือ หากว่าเรามาเป็นหมู่ขณะสามารถพอทำได้ก็พึงทำ แต่หากขัดต่อแนวทางที่ได้ฝึกฝนมาก็คงละออกไป...

สำหรับพระอาจารย์ท่าน อันเป็นผู้ละออกจากพันธการต่างๆ และดำเนินแนวปฏิปทาตามพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านพึงรักษาปฏิปทาอย่างแน่วแน่มั่นคง เพื่อให้สายทางแห่งการปฏิบัติดำเนินไปด้วยความงดงามตามพ่อครูบาอาจารย์ท่านวางรากฐานมา

หลังจากสวดมนต์เสร็จพระอาจารย์ท่านเรียกข้าพเจ้าเข้าไปให้สติ

"ความหลงและความไม่หลง" (โมหะ) ซึ่งในเรื่องนี้ถือว่ายากมากสำหรับการปฏิบัติดูจิตดูใจตนเอง เพราะยิ่งนักปฏิบัติภาวนาหากไม่มีครูบาอาจารย์หรือสังฆะคอยให้สติก็จะพากันหลงเตลิดเปิดเปิงไปในเส้นทางที่หลุดออกจากมรรค(ศีล-สมาธิ-ปัญญา)ที่พระพุทธองค์ท่านชี้ทางไว้

ในตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจ สลับกับการโกรธและขุ่นเคืองคล้ายว่าโดนพระอาจารย์ตำหนิ เกิดเป็นมิจฉาทิฐิความคิดที่เห็นผิดไปว่า "อะไรกันหนักหนา ทำไมต้องยึดมั่นถือมั่นมากขนาดนั้น อันไหนพอยืดหยุ่นได้ก็น่าจะทำ" อนาถใจยิ่งนักอะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดไปได้เช่นนั้น ความย่อหย่อนต่อการปฏิบัติ ความศรัทธาที่มีกิเลสเข้ามาครอบงำทำให้เห็นผิดเป็นชอบ... ในตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจและร้องไห้ออกมา มองไปสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ "นี่เหรอ...คือ การเกิด เกิดและวนเวียนไม่รู้จักจบสิ้นในความทุกข์ที่มีอยู่ในจิตในใจ เราหลงมาทำอะไรอยู่นี่ เราคิดว่าเราเป็นนั่นนี่ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความเป็นเราเกิดขึ้นเลย" สถานที่ที่อยู่เบื้องหน้าตอกย้ำลงไปให้เห็นชัดในเรื่องการเกิด...

หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ แต่นั่นไม่มีใครสามารถเข้าใจได้

แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วนี่คือ พระคุณอันยิ่งใหญ่ของครูบาอาจารย์ที่ท่านกระชากออกมาจากความหลุ่มหลงในบางสิ่งบางอย่างที่เราขาดสติมองไม่เห็นและตกลงไปในที่บางที่อย่างขาด "สติและปัญญา"...

ข้าพเจ้ากลับมาที่รถ...

พิจารณาว่านี่คือ บทธรรมเรื่องอะไร...ข้าพเจ้ากำลังเรียนรู้อะไร

เมื่อถึงที่พักในตอนเย็น...ในตอนนั้นข้าพเจ้าไม่ได้สนใจหรอกว่ากลุ่มคณะจะเป็นไปอย่างไร ข้าพเจ้าขอแยกนั่งภาวนาปฏิบัติบูชาในห้องพักแทนการไปทำพิธีกรรมในการทำบุญ จิตใจ ณ ตอนนั้นระลึกถึงองค์หลวงปู่ประสาร องค์หลวงตามมหาบัว พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ข้าพเจ้าน้อมจิตน้อมใจถวายต่อท่าน...

"เมื่อจิตเป็นสมาธิ ปัญญาที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) ก็จะเกิด"

เมื่อได้สติและปัญญากลับมา ความเป็นตัวของตัวเองดูเป็นอิสระมากขึ้น หน้าที่และกิจที่พึงทำก็กลับมา การอุปฐากครูบาอาจารย์ก็เริ่มขึ้น การมาที่นี่ไม่ได้มาเที่ยวแสวงบุญหากแต่มาเรียนรู้เส้นทางแห่งชีวิต "การเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย" ที่สำคัญของความเกิดและความเสื่อมแห่งศรัทธา...

พุทธศาสนาเกิดที่อินเดียและเสื่อมลงที่อินเดีย

พุทธบริษัทสี่...เป็นผู้ทำให้เสื่อม ความลุ่มหลงที่หลงออกไปจากเส้นทางแห่งอริยมรรค... ที่พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่อง "ความจริงแห่งทุกข์"...แต่พุทธบริษัทมัวไปลุ่มหลงนำพาชีวิตออกจากวิถีแห่งมรรถแปด

หลายคนมาก...จึงก้าวข้ามไม่พ้นไปสู่การภาวนา ในมรรคแปด "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" สามสิ่งนี้ไม่สามารถละออกจากอันใดอันหนึ่งได้ ทุกอย่างต่างหนุนนำซึ่งกันและกัน ที่สุดแล้วต้องเกิดปัญญาที่แท้ (สัมมาทิฐิ)

หากว่าใครไม่สามารถดำเนินชีวิตตามมรรคแปดได้ก็ยากที่จะเข้าถึงความจริงแห่งธรรมได้...อย่างแท้จริง

...

บทธรรมบทนี้หากพระอาจารย์ไม่กระชากออกมาให้ได้สติ ข้าพเจ้าคงจะหลงจิตหลงใจไปที่ไหนสักที่ นี่แหละคือ บทแห่งความพิสูจน์ศรัทธาต่อเส้นทางแห่งการปฏิบัติ

บทเรียนที่ได้รับ

คือ..."สติและปัญญา" ก่อเกิดเป็นภาวะจิตที่เบิกบาน มีพลังในชีวิต มุ่งมั่นต่อเส้นทางแห่งอริยมรรค ไม่หวั่นไหวและสั่นคลอน ไม่มีความลังเลสงสัย ศรัทธาที่เต็มเปี่ยมและตั้งมั่นต่อการอุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาและสรรพสิ่งต่างๆ...

ใจนี้เบาโล่ง โปร่งสบายยิ่งๆ กว่าเดิมที่ผ่านมา

Note:

บทธรรมนี้เขียนถอดบทเรียนเพื่อปฏิบัติบูชาต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในวันเข้าพรรษา

๒๔ มิย.-๓ กค.๕๔

อินเดีย-เนปาล

 

0 อินเดีย-เนปาล: วันเดินทาง

1 อินเดีย-เนปาล: มุ่งสู่อินเดีย-กัลกาต้า

2 อินเดีย-เนปาล: นาลันทา

3 อินเดีย-เนปาล: บทธรรมแห่งการภาวนา ณ ไวสาลี

4 อินเดีย-เนปาล: กุสินารา

5 อินเดีย-เนปาล: ลุมพินีวัน

6 อินเดีย-เนปาล: เมืองสาวัตถี-วัดพระเชตวันมหาวิหาร

7 อินเดีย-เนปาล: สารนารถ

8 อินเดีย-เนปาล: ชีวิต

9 อินเดีย-เนปาล : วัดไทยพุทธคยา

10 อินเดีย-เนปาล : เดินทางกลับ

11 อินเดีย-เนปาล : ศรัทธาและความเสื่อม

12 อินเดีย-เนปาล : เด็กน้อย

13 อินเดีย-เนปาล : มื้อเดียว

14 อินเดีย-เนปาล : บทภาวนาบนเขาคิชกูฎ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 449291เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีวันพระใหญ่ค่ะพี่กะปุ๋ม

อนุโมทนาบุญ กับการเดินทางไปพุทธภูมินะคะ

ไว้ต้องได้ขอปรึกษาพี่กะปุ๋ม แล้วล่ะ ขอบคุณค่ะ

เมื่อสักครู่ไปสนทนาธรรมกับพระอาจารย์...

ในเรื่อง "ศรัทธา" ได้แง่คิดต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น เมื่อนึกย้อนกลับไปวันที่อยู่ลุมพินีวันนั้น หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ดูคล้ายรุนแรง ข้าพเจ้าคงจะไหลและเคลิบเคลิ้มไปอีกเส้นทางหนึ่ง และออกจากศรัทธาแห่งมรรคเป็นแน่แท้ เหตุการณ์วันนั้นข้าพเจ้ารู้สึกละอายต่อตนเองที่ต้อต้านทานในเรื่องที่พระอาจารย์ท่านพยายามจะชี้ให้เห็น จนเกิดเป็นโทสะ...

แต่วันนี้คือ ความซาบซึ้งใจในความเมตตาของท่าน ... ไม่อย่างนั้นใจของข้าพเจ้าคงจะไม่ก้าวหน้าเป็นแน่แท้...

และเมื่อวานวันเข้าพรรษาเข้ากราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์...ท่านเมตตาย้ำต่อคำสอนของหลวงปู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศีล...และศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ยากอยู่ที่จะพยายามอธิบายให้กับใครๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านเส้นทางแห่งการฝึกฝนตนเองเข้าใจได้ว่า เป็นอย่างไร

หลวงปู่ท่านพูดสั้นๆ ว่า... "คนไม่เข้าวัดเขาไม่เข้าใจหรอกว่าพระพุทธองค์สอนอะไร" ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท