11 อินเดีย-เนปาล : ศรัทธาและความเสื่อม


วันนี้มีบรรยายอยู่ที่ ม.อุบล KM & R2R ขณะขับรถมาได้ใคร่ครวญในตนเอง ใจนี้ยังตระหนักในศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยพระพุทธศาสนา พระธรรม พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างไม่น้อยไปกว่าเดิมไม่หวั่นไหวต่อความหวาดกลัวและกิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในจิตใจของเรา กล้าที่จะก้าวไปอย่างมุ่งมั่นนี่แหละคือความไม่เสื่อมของธรรมอันมีอยู่ในจิตใจของเรา

Large_img_0395_resize 

ข้าพเจ้ากลับมาจากอินเดียได้สองวัน ... มาถึงบ้านตีสามเช้าพอดี นั่งทำงานต่อและเช้ามาก็เข้าที่ทำงาน วันถัดมาก็ไปบรรยาย KM&R2R ที่ ม.อุบล เพิ่งจะมีวันนี้ที่ได้นั่งอยู่ที่ทำงาน สองวันที่ผ่านมาข้าพเจ้าได้ใคร่ครวญในเรื่อง "ศรัทธาและความเสื่อม"

เมื่อใดที่ "ใจ" ของเราปราศจากซึ่งความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) เมื่อนั้นใจของเราก็เต็มไปด้วยศรัทธาครองใจ ยิ่งความลังเลสงสัยน้อยลงเท่าไร ความศรัทธาก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น...

อะไร...ที่ทำให้เกิดศรัทธา

และอะไร...ที่ทำให้เกิดความเสื่อม...แห่งศรัทธา

ในทัศนะของข้าพเจ้ามองว่า "ความหวาดกลัว"... ความหวาดกลัวที่ครองอยู่ในใจจะทำให้บุคคลนั้นลังเลสงสัยที่จะก้าวย่าง

แล้วอะไรล่ะ...ที่จะทำให้ความหวาดกลัวน้อยลง

ทัศนะ ณ ตอนนี้ก็คงจะเป็น "สติและปัญญา"... ที่พอจะประคองให้เราดำเนินและก้าวพ้นสิ่งร้อยรัดให้ศรัทธาเราเสื่อมลง หากเราขาดสติแล้วโอกาสของเราที่จะคล้อยตามสิ่งที่มาทำให้ไขว้เขวจะมีสูง ยิ่งโดยเฉพาะความคิดและอารมณ์ทางลบ พร้อมปรุงแต่งไปได้ตลอดเวลา ...

เมื่อมีสติแล้วก็จะต้องใช้ปัญญาในการพิจารณา...หรือว่าหากสภาวะนั้นปัญญาไม่เกิดก็คงต้องประคองตนเองไว้ด้วย "สติ" ไปก่อน

การเดินทางไปอินเดีย-เนปาลครั้งนี้ข้าพเจ้าได้เจอโจทย์บทใหญ่อย่างมากต่อการถูกทดสอบในเรื่องศรัทธา...ข้าพเจ้าใช้เวลาอยู่ถึงหนึ่งวันเต็มๆ ...ณ ขณะนั้นข้าพเจ้าไม่อาจรู้ได้ว่าธรรมะ-ชาติกำลังให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เรื่องอะไร... โจทย์ใหญ่ที่ได้เจอคือ ระยะเวลาครึ่งหนึ่งของการเดินทางพอดี (วันที่ห้า) ณ สถานที่ประสูติแห่งพระพุทธองค์ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าทำได้ ณ ขณะนั้น คือ การตั้งสติ ใช้สติในการหล่อเลี้ยงประคองใจไปก่อน ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้เราไม่เป๋ไปตามอารมณ์ความคิด...ในทางลบ

วันถัดมา...ข้าพเจ้านั่งน้อมปฏิบัติบูชาอยู่เบื้องหลังครูบาอาจารย์ ต่อหน้าองค์พระพุทธเมตตา ณ เจดีย์พุทธคยาน ในขณะที่คนอื่นๆ ไปรวมกลุ่มสวดมนต์ แต่ ณ ขณะนั้นข้าพเจ้าน้อมระลึกถึงองค์หลวงปู่และภาระกิจที่หลวงปู่ให้มาเรียนรู้ ข้าพเจ้าจึงก้าวเดิมตามหลังพระอาจารย์เข้าไปปฏิบัติบูชา...

"นี่คือ หน้าที่ของผู้เป็นลูกศิษย์ ที่น้อมระลึกถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์อยู่ทุกขณะจิต"...สิ่งนี้สำหรับข้าพเจ้าแล้วคือ "สังฆานุสติ"...

ข้าพเจ้ามองไปที่เบื้องหลังของพระอาจารย์ ในใจตนเองนั้นระลึกขึ้นมาว่า "ข้าพเจ้านั้นมาที่นี่ได้ด้วยบารมีเมตตาขององค์หลวงปู่ และแม่ผู้ให้กำเนิด โดยมีพระอาจารย์ต้อท่านเป็นตัวแทนแห่งองค์หลวงปู่นำพาเรามา"...แล้วหน้าที่ของเราที่ต้องทำคือ พึงน้อมเคารพในสิ่งที่เป็นไปนั้น

พอนึกได้...เช่นนี้ "ศรัทธา" ได้บังเกิดขึ้นในใจอย่างเต็มเปี่ยม อย่างไม่มีลังเล

จิตใจของข้าพเจ้าก็ให้รู้สึกถึงความปิติและเบิกบาน เป็นบทแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ ทำให้มองเห็นใจตนเองที่บกพร่องต่อการปฏิบัติอุปฐากครูบาอาจารย์ พอนึกได้ดังนี้ข้าพเจ้ากราบขอขมาและก็รีบแก้ไขตนเอง วันเวลาที่เหลืออยู่ของการเดินทางข้าพเจ้าพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำหน้าที่เป็นศิษย์ผู้มีครูอันเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่มุ่งมั่นต่อการเดินทางการเรียนรู้แห่งภายในตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ที่เน้นเรื่องมรรคแปด อันประกอบด้วย "ศีล-สมาธิ-และปัญญา"

...

สิ่งสะท้อนซึ่งศรัทธาที่มีอยู่ คือ การไม่เสื่อมลงไปจากเดิมที่เป็นอยู่ มีแต่พอกพูนเพิ่มขึ้น พร้อมแสดงออกมาทั้งกาย วาจา และใจอย่างนอบน้อม

ศรัทธากับความงมงาย อาจดูใกล้เคียงกัน

แต่ตามปัญญาที่มีอยู่ ณ ขณะนี้แล้ว...สิ่งที่จะทำให้เราได้พิจารณาว่าที่เป็นอยู่นั้นคือ งมงายหรือศรัทธา... "ศีล-สมาธิและปัญญา" จะเป็นกรอบให้เราได้ใช้ในการพิจารณา...

ความศรัทธา...อย่างน้อยต้องอยู่เบื้องฐานแห่ง "ศีล"...

ถ้าไม่มีศีลแล้ว...ศรัทธาที่ว่า ก็น่าจะค่อนไปทางงมงาย

...

๒๔ มิย. - ๓ กค. ๕๔

0 อินเดีย-เนปาล: วันเดินทาง

1 อินเดีย-เนปาล: มุ่งสู่อินเดีย-กัลกาต้า

2 อินเดีย-เนปาล: นาลันทา

3 อินเดีย-เนปาล: บทธรรมแห่งการภาวนา ณ ไวสาลี

4 อินเดีย-เนปาล: กุสินารา

5 อินเดีย-เนปาล: ลุมพินีวัน

6 อินเดีย-เนปาล: เมืองสาวัตถี-วัดพระเชตวันมหาวิหาร

7 อินเดีย-เนปาล: สารนารถ

8 อินเดีย-เนปาล: ชีวิต

9 อินเดีย-เนปาล : วัดไทยพุทธคยา

10 อินเดีย-เนปาล : เดินทางกลับ

หมายเลขบันทึก: 447682เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2011 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมว่า ความหวาดกลัวที่ครองอยู่ในใจจะทำให้บุคคลนั้นลังเลสงสัย จริงๆที่กลัวนั้นก็มาจากกิเลส

ที่เรารักตัวเอง ถ้าเราไม่รักตัวเอง รักผู้อื่นเป็นที่ตั้ง ก็ยังคิดไม่ออกว่าในโลกนี้จะต้องกลัวอะไร

ไอ้ที่กลัวนี่กิเลสหนอ ผมเม้นหนุกๆ ผิดถูกไม่รู้อะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท