แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้


แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

 

 

          โนลล์ (Malcolm S. Knowles) ได้สรุปพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่สมัยใหม่ (Modern Adult Learning Theory) ซึ่งมีสาระสำคัญต่อไปนี้ (Knowles.1978. p 31 อ้างอิงจาก  สุวัฒน์  วัฒนวงศ์.  2547: 248-249)
          1. ความต้องการและความสนใจ (Needs  and  Interests)   ผู้ใหญ่จะถูกชักจูงให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ถ้าหากตรงกับความต้องการและความสนใจในประสบการณ์ที่ผ่านมา   เขาก็จะเกิดความพึงพอใจ  เพราะฉะนั้นควรจะมีการเริ่มต้นในสิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสม  โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมทั้งหลายเพื่อให้ผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้นั้นต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ด้วยเสมอ
          2. สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้ใหญ่ (Life Situation) การเรียนรู้ของผู้ใหญ่จะได้ผลดีถ้าหากถือเอาตัวผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน (Life-Centered)  ดังนั้น การจัดหน่วยการเรียนที่เหมาะสมเพื่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่  ควรจะยึดถือเอาสถานการณ์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้ใหญ่เป็นหลักสำคัญ  มิใช่ยึดที่ตัวเนื้อหาวิชาทั้งหลาย
          3. การวิเคราะห์ประสบการณ์ (Analysis  of  Experience) เนื่องจากประสบการณ์เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับผู้ใหญ่ ดังนั้น  วิธีการหลักสำคัญของการศึกษาผู้ใหญ่ก็คือ  การวิเคราะห์ถึงประสบการณ์ของผู้ใหญ่แต่ละคนอย่างละเอียดว่ามีส่วนไหนของประสบการณ์ที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้บ้าง  แล้วจึงหาทางนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
          4. ผู้ใหญ่ต้องการเป็นผู้นำตนเอง (Self-Directing) ความต้องการที่อยู่ในส่วนลึกของผู้ใหญ่ก็คือ  การมีความรู้สึกต้องการที่จะสามารถนำตนเองได้  เพราะฉะนั้นบทบาทของครูจึงอยู่ในกระบวนการสืบหาหรือค้นหาคำตอบร่วมกันกับผู้เรียน (Mutual  Inquiry)  มากกว่าการทำหน้าที่ส่งผ่านหรือเป็นสื่อสำหรับความรู้  แล้วทำหน้าที่ประเมินผลว่าเขาคล้อยตามหรือไม่เพียงเท่านั้น
          5. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual  Difference)  ความแตกต่างระหว่างบุคคลจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละบุคคลเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น  เพราะฉะนั้นการสอนนักศึกษาผู้ใหญ่จะต้องจัดเตรียมการในด้านนี้อย่างดีพอ เช่น รูปแบบของการเรียนการสอน (Style) เวลาที่ได้ทำการสอน สถานที่สอน และประการสำคัญ คือ  ความสามารถในการเรียนรู้ในแต่ละขั้นของผู้ใหญ่  ย่อมเป็นไปตามความสามารถของผู้ใหญ่แต่ละคน (Pace  of  Learning)

ขั้นตอนการเรียนรู้ของบุคคล
กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลนั้น  เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์กันของ  4  ขั้นตอนที่สำคัญ  คือ  ความต้องการ  ข้อมูล-ข้อสนเทศ  การทดสอบ-ผลสะท้อน  และการประยุกต์  ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : ความต้องการในการเรียนรู้    เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่จะต้องทราบว่าบุคคลนั้นต้องการจะเรียนอะไร  ต้องการประสบความสำเร็จในสิ่งใด  ต้องการค้นหาคำตอบหรือแก้ปัญหาในเรื่องใด เช่น  ต้องการเรียนรู้ศิลปะการเป็นวิทยากร  เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 : การรวบรวมข้อมูล-ข้อสนเทศ  สิ่งเหล่านี้บุคคลจะเก็บรวบรวมตั้งแต่โรงเรียน  จากวิชาต่าง ๆ   เป็นการเรียนในระบบโรงเรียน และบางส่วนได้รับจากการเรียนรู้ตามอัธยาศัย หรือการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ  โดยจะได้รับจากที่บ้าน หรือสถานที่ทำงาน  เช่น  จากการอ่านหนังสือพิมพ์  การเล่นกีฬาหรือดนตรี  การชมโทรทัศน์ รับฟังรายการวิทยุ  เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 : การทดสอบและผลสะท้อน   จากการทดลองในการพยายามเรียนเรื่องใดในการเรียนของบุคคล   เช่น   การทดสอบฝีมือทางด้านอาชีพต่าง ๆ  เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 : การประยุกต์และปฏิกิริยาตอบสนอง เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ข้อสนเทศที่ผู้เรียนได้จากสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเขาอาจจะได้ประเมินดูถึงผลลัพธ์จากการทดสอบ  หรือผลลัพธ์จากการพยายามค้นหาคำตอบ  การประยุกต์ใช้ความรู้จากสิ่งที่เรียนรู้ไปสู่สถานการณ์ใหม่ ๆ  ถ้าหากทักษะการเรียนรู้ได้นำไปเกี่ยวพันกับการปฏิบัติในทักษะใหม่ ๆ และสามารถถ่ายโอนทักษะนั้น ๆ ไปสู่การเรียนรู้ใหม่ ๆ เช่น  การขับรถได้ด้วยตนเอง  การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำงานได้ด้วยตนเอง  เป็นต้น

หลักการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่  10  ประการ 
          สุวัฒน์   วัฒนวงศ์  (2547 :  7-26)  ได้ให้แนวคิดไว้ว่า การเรียนรู้ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ อาจเกิดขึ้นได้มากกว่าหรือดีกว่าในอีกสถานการณ์หนึ่ง   ซึ่งในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลักการและทฤษฎีการเรียนรู้    อันเป็นแนวทางที่นักการศึกษาและวิทยากรการฝึกอบรมควรจะได้คำนึงถึง   ซึ่งองค์ประกอบหรือหลักการ  10  ประการ ที่จะมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ และจะเป็นการช่วยให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จด้วยดี  ปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่เหล่านี้มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมากในการเรียนรู้และการฝึกอบรมผู้ใหญ่  โดยจะคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ 
          1. ควรพิจารณาและให้ความสำคัญกับ  แรงจูงใจในการเรียน (Motivation  to Learn)
          2. สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ (Learning   Environment) ต้องมีความสะดวก สบาย  เหมาะสม  ตลอดจนได้รับความไว้วางใจและการให้เกียรติผู้เรียนหรือผู้เข้ารับการฝึกอบรม
          3. ควรคำนึงถึง ความต้องการในการเรียน ของแต่ละบุคคล และ รูปแบบของการเรียนรู้  (Learning  Styles)
          4. ต้องคำนึงถึง ความรู้เดิมและประสบการณ์ (Experience) อันมีคุณค่า
          5. ควรได้พิจารณาถึงการดูแล  และให้ความสำคัญกับ เนื้อหาและกิจกรรมในการเรียนรู้ (Learning   Content  and  Activities)
          6. ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ ปัญหาที่สอดคล้องกับความจริง (Realistic Problem)  และนำการเรียนรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา
          7. ต้องให้การเอาใจใส่กับการมีส่วนร่วมทั้งทางด้าน สติปัญญา และทางด้านร่างกาย  ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
          8. ควรให้มี เวลาอย่างเพียงพอ ในการเรียนรู้โดยเฉพาะ  การเรียนรู้ข้อมูลใหม่ การฝึกทักษะใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ
          9. ให้โอกาสในการ ฝึกภาคปฏิบัติจนเกิดผลดี  หรือ  การนำความรู้ไปประยุกต์ได้
        10. ให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพ  หรือสมรรถภาพในการเรียนรู้  จนกระทั่งเขาได้แลเห็นถึงความก้าวหน้าว่า สามารถบรรลุเป้าหมาย ได้ 

วิธีการสอนผู้ใหญ่  (Teaching  Methods) 
          จาร์วิส  ได้จำแนกวิธีการสอนผู้ใหญ่ออกเป็น  3  ประเภทด้วยกัน  คือ  วิธีการสอนโดยใช้ครูเป็นศูนย์กลาง   วิธีการสอนโดยใช้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง  และวิธีการสอนโดยใช้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางรายบุคคล (Jarvis. 1983. pp 130-156   อ้างอิงจาก สุวัฒน์   วัฒนวงศ์. 2547 )
          1. วิธีการสอนโดยใช้ครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-Centered  Methods)    เป็นวิธีการที่มีครูผู้สอนหรือวิทยากรทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้ดำเนินการ จัดเป็นวิธีการสอนที่จะพยายามให้ความรู้  ข้อมูลและข้อเท็จจริงแก่ผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมเป็นสำคัญ  โดยอาจมีการใช้ศิลปะในการตั้งคำถามของครูหรือวิทยากร เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการสนองตอบในการเรียน  อย่างไรก็ตามผู้สอนบางคนหรือในการสอนบางครั้งก็ไม่สามารถใช้เทคนิคในการตั้งคำถามได้   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าไม่มีเวลา หรือเป็นเพราะว่าผู้เรียนมีจำนวนมากจนไม่สามารถที่จะถามได้อย่างทั่วถึงทุกคน
          2. วิธีการสอนโดยใช้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered  Methods)   เป็นวิธีการสอนที่มีลักษณะที่ผู้เรียนสามารถจะเรียนรู้ร่วมกันในระหว่างพวกเขากันเองเป็นส่วนใหญ่   ทั้งนี้ก็จะเป็นการนำเอาความรู้จากประสบการณ์ของผู้เรียนมาสู่สถานการณ์การเรียนการสอนด้วยเพื่อน (Peer Teaching)  แต่ก็มีบางคนกล่าวแย้งว่าวิธีการสอนแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับ “คนตาบอดจูงนำทางคนตาบอดด้วยกัน”  อย่างไรก็ตาม  ความจริงแล้วก็มีความรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้เรียนเองสามารถจะเป็นแหล่งความรู้ได้อย่างดี  ซึ่งกรณีนี้ครูผู้สอนก็จะทำหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Facilitator)” 
          3. วิธีการสอนโดยใช้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางรายบุคคล (Individual Student-Centered  Methods)   เป็นวิธีการที่มีทั้งส่วนคล้ายและแตกต่างจากแบบที่ 2 ทั้งนี้เป็นวิธีการสอนซึ่งเน้นเฉพาะผู้เรียนแต่ละบุคคลเท่านั้น  เพื่อผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมกับตนเอง  โดยมีลักษณะที่หลากหลายในวิธีการเรียน  จากการเลือกเรียนด้วยตนเอง (Self-selected  Learning)  หรือการให้ผู้สอนกำหนดกิจกรรมได้

หลักการจัดฝึกอบรมให้กับผู้ใหญ่
          ลักษณะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ที่รวบรวมไว้  มีดังนี้ (จงกลนี  ชุติมาเทวินทร์.  2542 )
          1. ผู้ใหญ่ไม่ต้องการถูกปฏิบัติเหมือนกับตนเองเป็นเด็ก  เพราะผู้ใหญ่สามารถที่จะรับผิดชอบได้  เคารพตนเอง  และกำหนดวิถีของตนเอง
          2. ผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากมายหลายอย่างที่สามารถจะนำเอามาใช้ได้ในการอบรม 
          3. ผู้ใหญ่มักจะไม่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องที่มีเนื้อหามาก ๆ หรือการที่จะต้องจดจำข้อเท็จจริง  หรือตัวเลขที่มากมาย  หรือการพูดถึงทฤษฎีเพียงอย่างเดียว  แต่ผู้ใหญ่จะต้องแสวงหาสิ่งที่แท้จริง  และคุณค่าในด้านอื่น ๆ ด้วย
          4. ผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดในสภาพการณ์ที่น่ารื่นรมย์
          5. ผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้เร็วกว่า หากได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมในการอบรม  โดยเฉพาะหากมีการทำจริงปฏิบัติจริง  แทนที่จะเป็นการนั่งฟังการบรรยายเพียงอย่างเดียว
          6. ผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้ดี  เมื่ออยู่ในสภาพที่พร้อมและพอใจที่จะเรียน 
          7. ผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้เร็วที่สุดโดยหลัก “ความเกี่ยวพันธ์กัน”  ซึ่งหมายถึง  ทุกข้อเท็จจริง  ทุกแนวคิด  และความคิดรวบยอดทั้งหลายนั้นจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด  เมื่อสิ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกับสิ่งที่เคยรู้หรือมีประสบการณ์มาแล้ว
          8. การเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ได้ค้นพบตัวเอง  เรียนรู้ด้วยตนเอง  จะเป็นกิจกรรมที่แต่ละคนสามารถรับผิดชอบด้วยตัวเอง  ในสัดส่วนเวลาของตนเอง  โดยมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้คอยแนะนำ  ซึ่งการเรียนโดยวิธีนี้ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดี 
          9. ผู้ใหญ่แต่ละคนเรียนรู้ได้เร็วหรือช้าในอัตราก้าวกระโดดที่แตกต่างกัน  และในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน  ซึ่งมีปัจจัยทางด้านจิตวิทยาและทางด้านร่างกาย  เป็นตัวกำหนดขีดความสามารถทางด้านการเรียนรู้ 
        10. สำหรับผู้ใหญ่แล้ว การเรียนรู้คือกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  คือสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด   ผู้ใหญ่จึงมีความรู้มาก ซึ่งจะมีความหมายว่าบางคนอาจจะมีประสบการณ์มากกว่าวิทยากรหรือผู้สอน  หรืออาจจะมีความรู้ในบางเรื่องมากกว่าผู้สอนก็ได้  รวมทั้งอาจจะมีความรู้มากกว่าผู้เข้าร่วมอบรมในกลุ่มเดียวกัน
        11. ผู้ใหญ่ชอบเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  ขณะที่การใช้ภาษาท่าทาง  และสื่อทัศนูปกรณ์ที่หลากหลายจะมีผลต่อการเรียนรู้มากกว่าสื่อที่เป็นภาษาเขียน
        12. ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่จะมีความรู้สึกทางด้านเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีค่อนข้างมาก   แต่ผู้ใหญ่ก็ยังมีความพอใจและความอบอุ่นใจที่ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับเด็ก ๆ
        13. กระบวนการเรียนรู้ของผู้ใหญ่จะได้ผลดีมากที่สุด   เมื่อการเรียนรู้นั้น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานปัจจุบันได้
        14. กระบวนการอบรมให้ผู้ใหญ่   ควรเริ่มต้นจากภาพรวมก่อน   ต่อจากนั้นจึงระบุทีละส่วนทีละขั้นตอน  จากนั้นจึงตามด้วยการแสดงให้เห็นภาพรวมอีกครั้ง
        15. นอกจากความสามารถของผู้ใหญ่แต่ละคนจะแตกต่างกันแล้ว  ความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันด้วย  ทั้งในเรื่องของทักษะเฉพาะ  ความรู้  เทคนิค  ทัศนคติ  และประสบการณ์
        16. อัตราการหลงลืมของผู้ใหญ่   อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและในทันทีหลังการอบรมได้ 
        17. ทุกสิ่งทุกอย่างอาจง่ายต่อการเรียนรู้และการยอมรับของผู้ใหญ่  ถ้าหากการกระทำนั้นหรือสิ่งนั้นไม่ขัดกับสิ่งที่ได้เคยเรียนรู้  หรือเคยมีประสบการณ์มาก่อน

หมายเลขบันทึก: 447142เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2011 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท