สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินของพระภิกษุ


กฎหมายมังรายศาสตร์ ของพระเจ้ามังราย ได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุรูปมรณภาพตกเป็นของสงฆ์ แต่หากพระภิกษุได้ยกทรัพย์สินอันใดให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตอนยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้ที่พระภิกษุนั้นยกให้ ไม่ตกเป็นของสงฆ์ แต่กรณี ที่พระภิกษุมีคำสั่งเผื่อตาย ยกทรัพย์สินให้บุคคลใด แม้ภายหลังพระภิกษุรูปนั้นมรณภาพ ทรัพย์สินนั้นยังตกเป็นของสงฆ์อยู่ ไม่ตกเป็นของผู้ที่ยกให้ โดยคำสั่งเผื่อตายนั้น

สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินของพระภิกษุ

 

          ปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุที่เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาในระยะเวลาอันยาวนาน จะมีศรัทธาญาติโยมเลื่อมใสในพระภิกษุรูปนั้น มีการถวายจตุปัจจัยต่างๆไม่ว่าจะอาหารหวานคาว  เงินทองหรือที่อยู่อาศัย เช่น ถวายที่ดิน  เป็นต้น จะถวายในนามส่วนตัวคือถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปนั้น ๆ โดยเฉพาะ หรือถวายไว้เป็นทรัพย์สินของวัด  กรณีถวายในนามส่วนตัวทรัพย์สินนั้นก็จะตกเป็นของพระภิกษุรูปนั้นหรือไม่ยังเป็นข้อสงสัยและถกเถียงกันอยู่  ปัญหาเหล่านี้มีมาตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะเมื่อพระภิกษุที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน มรณภาพลง ก็จะเกิดปัญหาว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุจะตกเป็นของบุคคลใด  จะตกเป็นทรัพย์สินของวัดหรือจะตกเป็นของเครือญาติของพระภิกษุรูปนั้น จึงเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าจะตกเป็นผู้ใด เพราะฉะนั้น จึงต้องมีกฎหมายบัญญัติชี้ขาดเอาไว้ ไม่ให้มีประเด็นถกเถียงกันต่อไป ตัวอย่างเช่น ทางภาคเหนือหรือทางล้านนา ก็มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุ ในกรณีเมื่อพระภิกษุรูปนั้นมรณภาพลง ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย  มังรายศาสตร์   ซึ่งเป็นกฎหมายของพระเจ้าเม็งรายมหาราช กษัตริย์ผู้ปกครองนครเชียงใหม่ กฎหมายมังรายศาสตร์ ได้บัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติของพระภิกษุ ไว้ดังนี้ [๑]

          “พระภิกษุไปต๋ายในเฮือน ข้าวของยังอยู่วัดก็ดี ภิกษุไปต๋ายที่วัดข้าวของยังอยู่ที่บ้านก็ดี คันบ่สั่งผู้ใดผู้หนึ่งไว้ ข้าวของนั้นเป็นของสงฆ์เสี้ยงแล  ผิว่าพระภิกษุ หากปั๋นผู้ใดว่าของอันนั้นกูปั๋นมึงบัดนี้แล ของอันนั้นบ่เป๋นของสงฆ์  พระภิกษุสั่งเป๋นกำด้วยอาลัยว่า คันกูต๋าย ของอันนี้มึงเอาเต็อะ คันกูบ่ต๋ายบ่อหื้อเน้อ แล้วต๋ายไปดั่งอั้น กิริยาอันพระภิกษุสั่งครัวไว้สันนี้ ของยังเป็นของสงฆ์  ผู้ที่พระภิกษุสั่งไว้หื้อนั้นจักเอาบ่ได้แล

          ตามกฎหมายมังรายศาสตร์ ของพระเจ้ามังราย ได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุรูปมรณภาพตกเป็นของสงฆ์ แต่หากพระภิกษุได้ยกทรัพย์สินอันใดให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตอนยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้ที่พระภิกษุนั้นยกให้ ไม่ตกเป็นของสงฆ์ แต่กรณี ที่พระภิกษุมีคำสั่งเผื่อตาย ยกทรัพย์สินให้บุคคลใด แม้ภายหลังพระภิกษุรูปนั้นมรณภาพ  ทรัพย์สินนั้นยังตกเป็นของสงฆ์อยู่  ไม่ตกเป็นของผู้ที่ยกให้ โดยคำสั่งเผื่อตายนั้น

          กรณียกทรัพย์สินให้โดยคำสั่งเผื่อตาย ตามกฎหมายมังรายศาสตร์นี้ มองดูเสมือนดั่งว่า ยกทรัพย์สินให้ โดยพินัยกรรม  ซึ่งทรัพย์สินนั้นน่าจะตกแก่บุคคลที่พระภิกษุรูปนั้นยกทรัพย์สินให้ โดยข้อกำหนดเผื่อตายดังกล่าว ซึ่งปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในมาตรา ๑๖๖๓ ข้อกำหนดยกทรัพย์สินโดยคำสั่งเผื่อตาย ด้วยวาจา  เช่นนี้ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการยกให้โดยพินัยกรรมด้วยคำสั่งเผื่อตายดังกล่าว  พินัยกรรมด้วยวาจา   จะทำได้ต่อเมื่อ เจ้ามรดกตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม และต้องมีคำสั่งเผื่อตายยกทรัพย์สินนั้นต่อหน้าพยานที่อยู่ต่อหน้าพร้อมกันอย่างน้อยสองคน พยานสองคนนี้ต้องไปแจ้งต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้า ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่ผู้ตายสั่งด้วยวาจากำหนดการเผื่อตายเรื่องทรัพย์สินนั้นไว้ให้พยานทั้งสองลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงจะถือว่าเป็นพินัยกรรมด้วยวาจานั้นต้องได้ทำเป็นหนังสือไว้ในภายหลัง จึงจะมีผลเป็นการยกให้ภายหลังตาย

          กรณีที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมังรายศาสตร์ ที่ว่า” ภิกษุสั่งเป๋นกำด้วยอาลัยว่าคันกูต๋าย ของอันนี้มึงเอาเต๊อะ คันกูบ่ต๋ายบ่หื้อเน้อ แล้วต๋ายไปดังอั้น” ก็ไม่มีผลเป็นการยกให้ภายหลังการตายคือยังไม่เป็น พินัยกรรม  ที่จะมีผลทำให้ผู้ได้รับการยกให้ด้วยวาจานั้น  ได้รับทรัพย์สินหลังการตายของเจ้าของมรดก เช่นเดียวกับกฎหมายปัจจุบันเช่นกัน

          กล่าวโดยสรุปว่า ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาระหว่างเป็นพระภิกษุนั้น เป็นทรัพย์สินที่ศรัทธาญาติโยม ได้ถวายไว้แก่พระภิกษุ ในฐานะผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ทรัพย์สินเหล่านั้น มิได้ถวายเป็นของส่วนตัวของพระภิกษุนั้น แต่ได้ถวายแด่พระภิกษุในฐานะเป็นตัวแทนพระพุทธศาสนา  ดังนั้น จึงถือว่าทรัพย์สินเหล่านั้นมิใช่ของพระภิกษุ แต่เป็นของวัด เมื่อพระภิกษุรูปนั้นมรณภาพลงไป ทรัพย์สินเหล่านั้นจึงตกเป็นของวัด ญาติพี่น้องจะเอาไปไม่ได้ ยกเว้นไว้แต่ทรัพย์สินนั้น ที่ได้มาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และมีการจำหน่ายทรัพย์สินระหว่างยังมีชีวิตอยู่หรือทำพินัยกรรมไว้ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ [๒] มาตรา ๑๖๒๓” ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาอยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม “ และได้บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๖๒๔ “ ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้

         เมื่อวิเคราะห์ตามมาตรา ๑๖๒๓ แล้ว ในเบื้องต้นอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างอยู่ในสมณพศเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุรูปนั้น ฉะนั้น ท่านจึงสามารถจำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรมก็ได้ แต่หากพิจารณาถึงที่มาและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าหาเป็นดังเช่นที่กล่าวมาข้างต้นไม่ กล่าวคือ มาตรา ๑๖๒๓ นี้มีที่มาจากกฎหมายลักษณะมรดก บทที่ ๓๖ ซึ่งตราไว้ว่า

         “มาตราหนึ่ง ภิกษุจุติจากอาตมภาพและคฤหัสถ์จะปันเอาทรัพย์มรดกนั้นมิได้เหตุว่าเขาเจตนาทำบุญให้แก่เจ้าภิกษุเป็นของอยู่ในอารามท่านแล้ว ถ้าเจ้าภิกษุอุทิศไว้ให้ทานแก่คฤหัสถ์ ๆ จึ่งรับทานท่านได้ “

                

 

           ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้วิเคราะห์ เกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศไว้ ดังนี้[๓]

“มีข้อที่สังเกตได้ในเบื้องต้นว่าประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๓ ไม่เกี่ยวกับสมบัติของ วัด วัดเป็นนิติบุคคล...จึงถือสิทธิและมีสิทธิในทรัพย์สินได้ กรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1623 เกี่ยวเป็นเรื่องทรัพย์สินของพระภิกษุซึ่งถึงแก่มรณภาพ กฎหมายให้ทรัพย์สินของท่านที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศตกเป็นสมบัติของวัดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เหตุผลในทางนิตินัยและในทางศาสนาอยู่ที่ว่า พระภิกษุอยู่ในสถาบันอนาถาเป็นผู้ไม่หามาหรือสะสมไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติ แต่ห้ามไม่ได้ที่จะมิให้ชาวบ้านถวายของเป็นจตุปัจจัยตามศรัทธา ซึ่งสำหรับพระบางองค์ที่เทศนาโปรดสัตว์เก่ง ๆ อาจได้กัณฑ์เทศนี้เป็นเงินสะสมไว้ถึงเรือนแสนก็ได้ ของที่ชาวบ้านถวายพระนี้ในทางหลักนโยบายถือว่าเป็นของที่เขาทำบุญในศาสนา ไม่ใช่ของให้แก่พระเป็นส่วนตัว เมื่อพระถึงแก่มรณภาพ กฎหมายจึงให้ตกเป็นสมบัติของวัด ว่ากันในทางนโยบาย บทบัญญัติเช่นนี้ย่อมเป็นผลดีไปอีกทางหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีบทบังคับให้ทรัพย์สินของพระภิกษุตกเป็นของวัดเมื่อมรณภาพ “มีข้อสังเกตว่า ทรัพย์สินของพระที่ตกได้แก่วัดนั้น ตัวบทไม่ได้กล่าวว่าเป็นมฤดก และจะกล่าวว่าเป็นมรดกของพระก็กล่าวไม่ได้ เพราะสาเหตุในหลักการนโยบายที่ให้ทรัพย์ของพระตกเป็นของวัด ก็เพราะถือว่าเป็นของที่ชาวบ้านเขาทำบุญในพระศาสนา ไม่ได้ให้แก่พระเป็นส่วนตัว”

     และมีข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๒๓ว่า “ทรัพย์สินของพระภิกษุจะตกเป็นของวัดต่อเมื่อท่านมิได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิต หรือโดยพินัยกรรม ข้อนี้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ซึ่งผู้ทรงศีลเป็นพระภิกษุจะพึงบำเพ็ญจาคะ ทำบุญให้ทานแก่คนอื่น กฎหมายจึงได้บัญญัติยกเว้นไว้ให้ท่านจำหน่ายทรัพย์สินได้ ทั้งในระหว่างชีวิตและโดยพินัยกรรม ทรัพย์ใดที่ท่านได้จำหน่ายไปแล้วเช่นนี้ ย่อมไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ประเพณีในทางปฏิบัติของพระภิกษุที่เคร่งในพระธรรมวินัย เมื่อได้จตุปัจจัยมาเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ท่านมักจะจับสลากแจกจ่ายไปในบรรดาสามเณรและศิษย์วัด ไม่เก็บสะสมไว้ แม้ท่านจะทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์เมื่อท่านมรณภาพ ก็อยู่ในหลักการของการบำเพ็ญจาคะอยู่นั่นเอง ทางวัดจะโต้แย้งเอาเป็นสมบัติของวัดไม่ได้”    

             เมื่อพิจารณาดูถึงที่มาของมาตรา ๑๖๒๓ ประกอบกับวัตถุประสงค์แล้วจะเห็นว่าทรัพย์สินที่มีผู้ให้แก่พระภิกษุในขณะอยู่ในสมณเพศนั้นกฎหมายถือว่าเป็นของที่ให้เพื่อทำบุญในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ให้แก่พระภิกษุเป็นการส่วนตัว เพราะถ้าไม่ใช่เป็นพระภิกษุ ก็จะไม่มีคนทำบุญให้ หรือดังที่มีผู้ตั้งคำถามว่า“ถ้าไม่บวชจะได้มาหรือ”

 ส่วนการที่กฎหมายยอมให้พระภิกษุจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศได้นั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่พระภิกษุจะพึงบำเพ็ญจาคะ ทำบุญให้ทานแก่คนอื่น

        อนึ่ง มีข้อพึงสังเกตว่า กรณีที่พระภิกษุสึกออกจากสมณเพศ บุคคลนั้นจะนำทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมณเพศมาเป็นของตนเองได้หรือไม่ ประเด็นนี้ ว่ากันตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์แล้วไม่อาจจะทำได้ เพราะถือว่าเป็นของที่มีผู้ให้แก่พระพุทธศาสนา ไม่ใช่ให้ในฐานะส่วนตัว   แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกรณีดังกล่าว ผู้ที่สึกจากสมณเพศมักจะนำทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศออกไปด้วย อีกทั้ง นักกฎหมายบางท่านยังได้ยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กรณีข้างต้นสามารถกระทำได้ กล่าวคือ

            “ตัวอย่าง พระภิกษุ ก. อุปสมบทครั้งแรก ระหว่างอยู่ในสมณเพศมีผู้นำพระพุทธรูปทองคำ ๑ องค์มาถวาย หลังจากสึกแล้วได้อุปสมบทอีก ครั้งหลังมีผู้ถวายเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท พระภิกษุ ก. นำเงินนั้นไปเก็บไว้ที่บ้าน ต่อมาพระภิกษุ ก. มรณภาพ ดังนี้ พระพุทธรูปทองคำตกทอดแก่ทายาทของพระภิกษุ ก. ก่อนอุปสมบทตามมาตรา ๑๖๒๔ ส่วนเงิน๕๐,๐๐๐ บาท ตกเป็นสมบัติของวัดเพราะเป็นทรัพย์ที่พระภิกษุ ก. ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศ แม้ขณะมรณภาพเงินจำนวนนี้ไม่ได้อยู่ที่วัดที่เป็นภูมิลำเนา วัดก็มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท นี้ได้ตามมาตรา ๑๖๒๓”   ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบทในมาตรานี้ หมายถึง ที่มีอยู่ก่อนอุปสมบทครั้งสุดท้ายนั่นเอง ดังนั้น หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างดำรงสมณเพศครั้งก่อน แต่ลาสิขาบทออกไปแล้วกลับเข้ามาอุปสมบทใหม่ก็คงต้องถือว่าทรัพย์สินนี้ได้มาก่อนการดำรงสมณเพศนั่นเอง” ดังนั้น จึงน่าพิจารณาอย่างยิ่งว่า ควรแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินของพระภิกษุระหว่างอยู่ในสมณเพศหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ไขโดยกำหนดให้ทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้มาในระหว่างที่เป็นสมณเพศให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัด

 



       [๑] อาจารย์ทองสุก ปิงเมือง, อคีตผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ ฯ อาจารย์พิเศษ มจร. วิทยาเขตพะเยา

[๒]    รศ.มานิตย์  จุมปา, คณะนิติศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  www.panyathai.or.th/.../การเป็นเจ้าของทรัพย์สินของพระภิกษุ.

      [๓] เรื่องเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 442862เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท