ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอดอกคำใต้-พะเยา ๒


คำว่า “หนองหล่ม” หมายถึง หนองน้ำ คำว่าหล่มคือเป็นลักษณะโคลนตม และเป็นพื้นที่ชุ่มนำ บริเวณดังกล่าวเป็นหนองน้ำที่มีน้ำผุดไหลออกมาตลอดปีตามตำนานเล่าว่าช้างผู้ก่ำงาเขียว เมื่อตกมันไล่ฆ่าคนในเวียงห้าว แล้วถูกพรานจากเมืองน่านไล่ฆ่าแล้ววิ่งหนีไปติดหล่มและถูกฆ่าตายในหนองน้ำแห่งนี้ ฝนจึงตก ๗ วัน ๗ คืน และไหลพัดพาเอาซากช้างไหลไปตามลำน้ำต่อมาจึงเรียกลำน้ำดังกล่าวว่า “ลำน้ำร่องช้าง” เป็นลำน้ำสำคัญของชาวอำเภอดอกคำใต้

๓.๔. ตำบลสันโค้ง

     คำว่า “สันโค้ง” เป็นลักษณะของสภาพพื้นที่เป็นที่เนินดอน ประกอบกับการตัดเส้นทางสายแม่ต๋ำ-เชียงคำ ผ่านบริเวณดังกล่าวเป็นลักษณะของเส้นโค้ง จึงได้ชื่อว่า “สันโค้ง”

     ตำบลสันโค้ง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ และยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๙ มีพื้นที่ทั้งหมด ๘๕ ตารางกิโลเมตร มีระยะทางห่างจากตัวอำเภอ ๖  กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเมือง ๒๓ กิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ และทิศใต้ ติดกับตำบลดงสุวรรณ อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอปง ทิศตะวันตก ติดกับตำบลสว่างอารมณ์ และตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านห้วยทรายเลื่อน  คำว่า “ห้วยทรายเลื่อน” มีสองความหมาย คือลำห้วยที่มีทรายงดงามสะอาดตา มีความราบเรียบเสมอกันดี ภาษาท้องถิ่นเรียกเลื่อน(ลิด)-(คำว่าเลื่อน เป็นคำคุณลักษณะ)  อีกความหมายหนึ่งคือห้วยที่มีทรายไหลลงมา (คำว่าไหล เป็นกริยา) ซึ่งคนส่วนใหญ่มักถือเอาความหมายแรกมากกว่า
  • บ้านจำไก่ เดิมเป็นที่ชุ่มน้ำ เป็นบริเวณที่ชาวบ้านได้นำไก่บ้านไปตั้งล่อเพื่อเอาไก่ป่า
  • บ้านร่องชุมพู มีคนเล่าว่าเดิมมีต้นชมพู (ไม้พันธุ์พื้นบ้าน) อยู่ริมร่องน้ำ จึงเรียกรวมกันว่า บ้านร่องชุมพู  บ้างก็เล่าว่าบริเวณดังกล่าวมีพลูขึ้นเป็นจำนวนมากใกล้ร่องน้ำนี้ จึงเรียกว่าบ้านร่องชุมพลู ต่อมาลดรูปเป็น ร่องชุมพู  (ภาษาถิ่น -ชุม ออกเสียงเป็น จุม หมายถึงมากมาย)

                นอกจากนั้นแล้วยังมีบ้านสันป่าตอง  บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง  บ้านใหม่พัฒนา  บ้านชาติภูไท  บ้านห้วยทรายแก้ว  บ้านใหม่สันกลาง  และบ้านใหม่ดอนเจริญ

 

๓.๕. ตำบลดงสุวรรณ

                คำว่า  “ดงสุวรรณ”  เดิมชื่อว่า  “บ้านดง”  เพราะมีการอนุรักษ์ต้นไว้ขนาดใหญ่เอาไว้ ต่อมาเมื่อเป็นตำบลจึงตั้งชื่อว่าดงสุวรรณ  ก่อนหน้านี้ชาวบ้านปลูกบ้านเรือนอยู่ลึกเข้าไปตามป่าบ้าง  ทุ่งนาบ้าง แต่เมื่อมีถนนสายพะเยา-เชียงคำ ก็ย้ายมาปลูกตามริมถนนเพื่อความสะดวกในการสัญจร

     ตำบลสุวรรณ เป็นตำบลที่ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ ๑๖  ธันวาคม ๒๕๓๙ ที่ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอดอกคำใต้ ๑๑ กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด ๒๔  กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด ๔๐,๖๒๕ ไร่ หรือ ๖๕ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลป่าซาง อำเภอดอกคำใต้ ทิศใต้ ติดกับตำบล  สันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันออก ติดกับตำบลจุน อำเภอจุน  ทิศตะวันตก ติดกับตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว  

                คำขวัญประจำตำบลดงสุวรรณ

ดงสุวรรณ เสื่อไม้ไผ่  ไร่ข้าวโพด  มีประโยชน์มหาศาลลานหนองขวาง

 ถิ่นไม้กวาด งานฝีมือ  เลื่องลือนาน ร่วมสร้างงาน  สร้างคนดี มีคุณธรรม

 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านสันป่าจี้ใต้  และ  บ้านสันป่าจี้เหนือ  คำว่าป่าจี้ คือต้นจี่ มีลักษณะเป็นไม้เนื้ออ่อน คล้ายกับไม้ฝางเครือ มีลูกรสขม พอถึงเดือนสี่เป็ง มีการถวายทานข้าวใหม่ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าจะหนาว จึงตัดมาสุมฟืนแล้วจุดไฟรวมกันในบริเวณวัดเพื่อถวายความอบอุ่นแด่พระพุทธเจ้า ภาษาถิ่นเรียกว่า ไม้จี่พระเจ้า บ้างก็นำมาทำเป็นไม้จี่ตำตาคือทำเป็นคันเพื่อเชื่อมกันไม้แผ่น  ชาวบ้านให้ในการลากและดันข้าวเพื่อมากองไว้ที่ใดที่หนึ่ง ภาษาถิ่นว่าขุข้าว           

     นอกจากนั้นแล้วยังมีบ้านดง  บ้านดงใหม่  บ้านห้วยโปร่ง  บ้านกองแล  บ้านห้วยดอกเข็ม  บ้านดงหลวง  บ้านดงครก  บ้านสันป่าสัก  บ้านสันติธรรม

 

๓.๖. ตำบลดอกคำใต้

     คำว่า  “ดอกคำใต้”  เป็นชื่อของดอกไม้ชนิดหนึ่งมีสัณฐานกลม สีเหลือง มีกลิ่นหอม ภาษากลางเรียก “กระถิน”  ซึ่งชื่อนี้ไปคล้องกับบ้านดอกคำใต้ อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีผู้สันนิษฐานว่าชาวบ้านน่าจะอพยพมาจากบ้านดอกคำใต้  อำเภองาวแล้วนำดอกไม้มาด้วย (ทัศนะของพระมงคลวัฒน์)

     ตำบลดอกคำใต้    มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลสว่างอารมณ์ อำเภอดอกคำใต้   ทิศใต้ ติดกับตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง ทิศตะวันออก ติดกับตำบลสว่างอารมณ์ และตำบลบุญเกิด อำเภอดอกคำใต้  ทิศตะวันตก ติดกับตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ปัจจุบันมีเขตปกครอง จำนวน ๑๐ หมู่บ้าน คือ บ้านเหมืองล้อม  บ้านสันกลาง  บ้านบวก มะหนิ้ว  บ้านฝั่งหมิ่น บ้านดอนสนาม  บ้านเจริญราษฎร์  บ้านสันจกปก  บ้านสันป่าเป้า

  • บ้านสันป่าหนาดเหนือ-สันป่าหนาดใต้ คำว่า “ป่าหนาด”  คือต้นหนาด ที่คนโบราณถือว่าสามารถปราบพวกวิญญาณได้ (บ้านสันป่าหนาด จะมีวัดบุญฮอม เป็นศูนย์รวมจิตใจเดิมชื่อวัดสันป่าหนาด เพราะมีคนมาจากลำปาง แพร่ งาว และเชียงราย มาตั้งวัดรวมกัน ลักษณะของการสร้างบุญร่วมกันจึงเรียกว่า ฮอม หรือรวมกัน)

 

๓.๗. ตำบลบุญเกิด

                คำว่า  “บุญเกิด”  เป็นชื่อวัดที่มีพ่อบุญ ได้บริจาคที่ดินสร้างวัดในปี ๒๔๓๔ ชาวบ้านจึงให้ชื่อว่า บุญเกิด เพื่อเป็นอนุสรณ์

                เป็นตำบลเกิดใหม่ แยกมาจากตำบลดอกคำใต้ มีคนกล่าวว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอดอกคำใต้เลยทีเดียว โดยอาศัยชื่อวัดบุญเกิดตั้งชื่อชุมชนมีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลดอกคำใต้ และตำบลสว่างอารมณ์ อำเภอดอกคำใต้ ทิศใต้ ติดกับตำบลคือเวียง อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันออก ติดกับตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันตก ติดกับตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ และตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านสันช้างหิน  มีคนเล่าว่ามีชาวบ้านลงไปอาบน้ำร่องช้างบริเวณหน้าวัดได้พบช้างที่หินจำนวน ๒ ชิ้นต่อมาจึงกลายมาเป็นชื่อวัด บ้านแห่งนี้ก็ได้ชื่อชุมชนตามชื่อวัด
  • บ้านบุญเรือง เดิมท้าวบุญเรือง มีเจตนาถวายที่ดินสร้างวัด ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อวัดตามชื่อเจ้าของที่ดินนั้น
  • บ้านทุ่งหลวงพัฒนา มีนัยยะเหมือนบ้านทุ่งหลวง ตำบลสันโค้ง ที่ว่าเป็นสถานที่ของรัฐบาล (ที่หลวง) ได้สงวนเอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ ต่อมารัฐบาลจัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน

                นอกจากนี้ยังมีบ้านสายลมโชย  บ้านร่มโพธิ์งาม  บ้านบุญเกิด  บ้านหัวฝาย  บ้านศูนย์พัฒนา  บ้านใหม่พัฒนา

               

๓.๘. ตำบลหนองหล่ม

     คำว่า “หนองหล่ม”  หมายถึง หนองน้ำ คำว่าหล่มคือเป็นลักษณะโคลนตม และเป็นพื้นที่ชุ่มนำ  บริเวณดังกล่าวเป็นหนองน้ำที่มีน้ำผุดไหลออกมาตลอดปีตามตำนานเล่าว่าช้างผู้ก่ำงาเขียว เมื่อตกมันไล่ฆ่าคนในเวียงห้าว แล้วถูกพรานจากเมืองน่านไล่ฆ่าแล้ววิ่งหนีไปติดหล่มและถูกฆ่าตายในหนองน้ำแห่งนี้ ฝนจึงตก ๗ วัน ๗ คืน และไหลพัดพาเอาซากช้างไหลไปตามลำน้ำต่อมาจึงเรียกลำน้ำดังกล่าวว่า “ลำน้ำร่องช้าง” เป็นลำน้ำสำคัญของชาวอำเภอดอกคำใต้[1]

                ตำบลหนองหล่ม เป็นตำบลที่แยกมาจากตำบลปิน เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๐ โดยอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดพะเยาและมีระยะทางห่างจากตัวอำเภอดอกคำใต้ ๒๒  กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอเมือง ๓๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๑๗๖.๖๓ ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ ๑๑๐,๓๙๓.๗๕ ไร่

               มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ ทิศใต้ ติดกับตำบลบ้านปิน อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันออก ติดกับตำบลบ้านสระ อำเภอเชียงม่วน และตำบลปง อำเภอปง  ทิศตะวันตก ติดกับตำบลบ้านปิน อำเภอดอกคำใต้

คำขวัญประจำตำบลหนองหล่ม

ผาช่อตั้งตระหง่าน   ตำนานจ๊างปู้ก่ำงาเขียว[2]  ยึดเหนี่ยวครูบาคำ

หนองน้ำคู่บ้าน  สืบสานวัฒนธรรม  เลิศล้ำเจ้าพ่อคำปวน

 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านห้วยฮุง  เป็นชื่อลำห้วย ที่อยู่ด้านบน (หัวบ้าน) ของบ้านใหม่ ห้วยฮุงแบ่งเป็นห้วยฮุงแง่ซ้าย  และห้วยฮุงแง่ขวา
  • บ้านท่านคร คำว่า “ท่านคร” เป็นคำเรียกคนลำปางเป็นภาษาถิ่นว่า “คนต่าละกร” ใช้เรียกคนที่มาจากที่เจริญกว่า เนื่องจากเดิมพะเยาเป็นเมืองร้างด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างรัฐ ต่อมาเมื่อสงครามสงบแล้วคนลำปางมักจะอพยพมาปลูกสร้างบ้านเรือน จะเห็นว่าประวัติของหมู่บ้านต่าง ๆ ถึงร้อยละ ๘๐  ย้ายมาจากจังหวัดลำปาง
  • บ้านแม่พริก  คำว่า แม่พริก กล่าวกันว่า ชาวบ้านได้ไปตาวคำ หรือร่อนหาทองคำ ได้มาขนาดเท่าเมล็ดพริก  ไม่ใช่เท่าตัวพริกอย่างที่เข้าใจกัน
  • บ้านใหม่ไชยมงคล เดิมชื่อบ้านใหม่ต่อมาเกิดไฟไหม้หมดหมู่บ้าน เป็นที่คางแคลงใจเป็นอย่างมากว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? เนื่องจากการใหม้เป็นการใหม้ทั้งหมู่บ้านลักษณะการกระโดดของไฟกระโดดจากหลังคาสู่หลังคา ใครเห็นเหตุการณ์ขณะนั้นชาวบ้านไม่เหลืออะไรเลย บางกระแสถึงกับกล่าวว่าเป็นฝีมือของรัฐ เพราะสืบทราบว่าบริเวณดังกล่าวให้ที่พักพิงกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์  ต่อมาเพื่อให้เป็นมงคลแก่บ้านชาวบ้านจึงตั้งชื่อใหม่ว่า “บ้านใหม่ไชยมงคล”

     นอกจากนี้แล้วยังมีบ้านใหม่เหนือ  บ้านใหม่พัฒนา  บ้านปางงุ้น  บ้านหนองหล่ม บ้านร่วมจิต                

 

๓.๙. ตำบลบ้านปิน

                ตำบลบ้านปิน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ คำว่า ปิน คือต้นมะตูม ชาวบ้านเรียก หม่าปิน (ภาษาถิ่น) หรือ มะปิน ใช้ประโยชน์หลายอย่าง  เช่น ใช้เป็นกาวติดกระดาษก็ได้ หรือใช้เป็นยาสมุนไพรก็ดี 

     มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ ทิศใต้ ติดกับอำเภองาว จังหวัดลำปาง ทิศตะวันออก ติดกับตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันตก ติดกับตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง

คำขวัญประจำตำบลบ้านปิน

บ้านปินเมืองคนดีมีน้ำใจ  ร่องสักสวยสด ใสไร้มลพิษ

พระธาตุจอมคีรีเวียงหม้ายแหล่งร่วมจิต  ทุกชีวิตกายใจใฝ่พัฒนา

 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านสบจ้อม คำว่า สบ คือการบรรจบกันระหว่างลำน้ำร่องช้าง และลำน้ำร่องสัก ส่วนคำว่า จ้อม  คือกิริยาที่มารวมกัน พบกัน
  • บ้านงิ้วหงก ก่อนนี้มีต้นงิ้วขนาดใหญ่มีสภาพที่กิ่งหักลง จนเหลือส่วนที่ยื่นออกมาพอให้เห็น ภาษาท้องถิ่นว่า กกหงก รวมเป็น งิ้วหงก
  • บ้านม่อนผาคำ ที่ได้ชื่อว่า “ม่อนผาคำ” เพราะมีศาลเจ้าพ่อผาคำ ตั้งอยู่บนเนินเตี้ย ๆ มีหินผาอยู่ ภาษาถิ่นเรียกเนินเตี้ย ๆ ว่า “ม่อน” เมื่อรวมกันจึงเรียกว่าม่อนผาคำ
  • บ้านบานเย็น                เป็นหมู่บ้านที่แยกตัวออกมาจาก หมู่ที่ ๑ บ้านสบจ้อม
  • บ้านปงเสด็จ เป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากหมู่ที่ ๖ ในปี ๒๕๔๓ ส่วนในปีในปี ๒๕๒๖ ในหลวงเสด็จพร้อมด้วยพระราชวงศ์ ณ บริเวณบ้านนี้ 

     นอกจากนี้แล้วยังมีบ้านปินใต้  บ้านปินเหนือ  บ้านงิ้วงาม  บ้านปินพัฒนา  บ้านสันติพัฒนา

      วัดต้นต้อง มีทัศนะอยู่ ๒ แนวคิด คือวัดต้นมะต้อง ที่มี ต้นต้อง หรือภาษาไทยกลางว่าต้นกระท้อน อีกทัศนะหนึ่งก็คือ เป็นวัดที่มีบ้านเริ่มก่อตั้ง คือเริ่มแรกในการสร้างหมู่บ้าน โดยเรียกว่า ต้นตั้ง ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นวัดต้นต้อง

 

๓.๑๐. ตำบลป่าซาง

                คำว่า “ป่าซาง”  มี  ๒  ทัศนะ  คือทัศนะที่หนึ่งบอกว่าบ้านแห่งนี้เดิมอพยพมาจากบ้านป่าซาง อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน ซึ่งผู้ที่อพยพมาโดยมากเป็นลูกหลายของครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย  อีกทัศนะหนึ่งบอกว่า บริเวณแห่งนี้มีต้นซางขึ้นเป็นจำนวนมาก

     ตำบลป่าซาง ห่างจากอำเภอเมืองพะเยาประมาณ ๓๒ กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอ  ๑๕ กิโลเมตร โดยแยกออกมาจากตำบลห้วยลาน เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ ทิศใต้ ติดกับตำบล ดงสุวรรณ อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันออก ติดกับตำบลจุน อำเภอจุน ทิศตะวันตก ติดกับตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว 

                คำขวัญประจำตำบลป่าซาง

บ้านเมืองคนดี   สตรีอ่อนหวาน   ลูกหลานครูบาศรีวิชัย 

มากมายปลานา   ข้าวปลาอุดมสมชื่อป่าซาง

 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านค่ากลาง คำว่า “ค่า” มาจาก “ต้นมะค่า” เป็นไม้เนื้อแข็ง ชาวบ้านเรียก “มะค่าโมง”  เมล็ดในฟักอ่อนสามารถนำมากินได้

                นอกจากนั้นยังมีบ้านค่าเหนือพัฒนา  บ้านสันทราย  บ้านค่าพัฒนา  บ้านค่าล่าง  บ้านค่าบน  บ้านสันป่าม่วง  บ้านดอนตัน  บ้านศรีเมืองมูล

                               

๓.๑๑. ตำบลคือเวียง

     มีตำนานว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเวียง หรือชุมชนเก่าแก่ ชื่อว่าเวียงห้าว โดยยังคงสภาพเป็นคูคลองและซากอิฐ ปรากฏอยู่ 

     ตำบลคือเวียง ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยแยกมาจากตำบลปิน และตำบลบ้านถ้ำ ห่างจากอำเภอดอกคำใต้ ๑๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๓๔,๕๒๐ ไร่ หรือ ๓๓.๖๓ ตารางกิโลเมตร พื้นที่การเกษตร ๑๘,๔๑๓ ไร่

     มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลบุญเกิด อำเภอดอกคำใต้ ทิศใต้ ติดกับตำบลปิน อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันออก ติดกับตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันตก ติดกับตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านป่าเฮี้ย คำว่า ป่าเฮี้ย คือต้นเฮี้ย มีลักษณะคล้ายต้นอ้อ
  • บ้านโพธิ์ทอง บริเวณดังกล่าวมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อายุร้อยกว่าปีอยู่ จึงได้

ชื่อว่าบ้านโพธิ์ทอง

  • บ้านทุ่งกาไชย  มีเรื่องเล่าว่า มีกามาจับต้นไม้ต้นหนึ่งกลางทุ่งนา มาคอยอะไรสักอย่าง ชาวบ้านสังเกตเห็นอยู่เป็นประจำ จึงเรียกบ้านแห่งนี้ว่าทุ่งกาจัย (ภาษาถิ่น) หมายความว่าทุ่งที่กามาคอยดูนั้นเอง
  • บ้านปาง คำว่า ปาง หมายถึง ที่พักของชาวบ้านสำหรับใช้เป็นที่ทำสีเสียด เพราะอดีตชาวบ้านนิยมใช้เคี้ยวกับหมากพลู
  • บ้านแม่หล่าย คำว่า “หล่าย”  หมายถึงตรงข้าม เดิมหมู่บ้านนี้อยู่อีกฝากลำน้ำร่องช้าง เดิมขึ้นอยู่กับตำบลบ้านปิน

     นอกจากนี้แล้วยังมีบ้านไผ่ทอง  บ้านร่มโพธิ์  บ้านทุ่งพัฒนา  บ้านปางเจริญศึกษา 

 

๓.๑๒. ตำบลสว่างอารมณ์

     ตำบลนี้ตั้งตามชื่อที่คนจากจังหวัดราชบุรีมาสร้างไว้ว่า “วัดสว่างอารมณ์” ตำบลสว่างอารมณ์ เป็นตำบลที่แยกมาจากตำบลดอนศรีชุม  หมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลอำเภอดอกคำใต้ มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว และตำบลดงสุวรรณ อำเภอดอกคำใต้ ทิศใต้ ติดกับตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันออกติดกับตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันตก ติดกับตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว และตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ 

คำขวัญตำบลสว่างอารมณ์

สุดร่องช้าง   นามร่องจว้า   หนองขวางทั่วถิ่นอาศัย

สามัคคีมีน้ำใจ   มากหมวกไซ   แลสาวงาม

 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านร่องจว้า เป็นสถานที่น้ำจากร่องช้างไปลงน้ำอิง โดยลักษณะของการทะลักออกไปของน้ำ ชาวพื้นเมืองเรียกลักษณะดังกล่าวว่าเป็นการจว้าออกของน้ำ
  • บ้านสานไชงาม เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพในการจักสานขาย โดยมากจะเป็นพวกหมวกและไช ซึ่งมีฝีมืองดงามมาก
  • บ้านสันติพงษ์ หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องเล่าตลก ๆ ว่า บ้านผีโพง สมัยก่อนเมื่อนายอำเภอเรียกประชุม ชาวบ้านกลับมาดึก ๆ ถูกผีโพงขี่มาไล่ในบริเวณแห่งนี้ ส่วนข้อเท็จจริงเป็นบ้านตั้งขึ้นมาใหม่ คำว่า “สันติพงษ์” หมายความว่าเผ่าพันแห่งสันติ

                นอกจากนั้นยังมีบ้านบุญโยชน์  บ้านศรีชุม  บ้านสว่างอารมณ์  บ้านไชงาม  บ้านดอนศรีชุม

 



[1] ดูรายละเอียด พระมหาศรีบรรดร  ถิรธมโม. นิทานพื้นบ้านเมืองพะเยา. ๒๕๔๗, หน้า ๘๕.

[2] “จ๊างปู้ก่ำงาเขียว” หมายถึง ช้างตัวผู้สีน้ำตาลแดงมีงาสีเขียว

หมายเลขบันทึก: 442831เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท