พัฒนาการปกติ เดือนที่ 8 “ขอไปเที่ยวด้วย”


ลูกจะเริ่มมีความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น เพราะเขาเริ่มเรียนรู้ ถึงความตื่นเต้นที่ได้ลองสิ่งใหม่ๆ เขาเริ่มทำอะไรเองได้มากขึ้น และจะชอบ เมื่อมีคนเล่นด้วย เด็กจะยังไม่ทราบถึงอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จากการกระทำของเขา เช่น การคว้าถ้วยกาแฟร้อน หรือ การจับมีดปอกผลไม้ ที่วางอยู่บนโต๊ะ ช่วงนี้คุณจึงต้องระวังเป็นพิเศษ และพยายามตรวจเช็คดูสภาพห้องและบริเวณที่เล่นของลูก ว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย

  1. แม่ลุ้นทุกครั้งที่เฏปืนขึ้นเล่นพัดลม เพราะอยากให้เรียนรู้ว่าโดนใบพัดพัดลมเวลาหมุนนั้นเจ็บเพียงใด และวันนี้ก็เป็นวันนั้นที่แม่รอ แต่ปรากฎว่าเฏโดนใบพัดแรงและนานเกินไป ทำให้ใบพัดบาดเลือดไหล โชคดีที่แผลปิดสนิททันทีที่แม่ห้ามเลือด นี่เป็นวิธีสอนให้ลูกเรียนรู้แบบถูกต้องรึเปล่านะ 
  2. ทุกครั้งที่กินข้าว แล้วเฏพ่น แม่จะทำหน้าดุนิดหน่อย และบอกว่า "No" ดูเหมือนว่าเฏจะเข้าได้ว่านี่คือการปฏิเสธการกระทำนั้น เก่งเหมือนกันนะลูกแม่ :)

     ลูกจะคลานได้คล่อง และเริ่มพาตัวเองไปยังที่ ที่ต้องการจะไปได้โดยเร็ว ควรต้องระวังเรื่องประตู เพราะจะเป็นที่ที่เด็กชอบมาก เนื่องจากเห็นการเคลื่อนไหวนอกห้อง ที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขา จึงเกิดอุบัติเหตุ ประตูเปิดกระแทกเด็ก หรือประตูหนีบนิ้วมือได้บ่อยๆ หรือไม่ก็อาจจะออกมานอกห้อง และคลานตกบันไดได้
  1. เฏโดนลิ้นชักหนีบเป็นประจำ แต่ไม่ร้อง โชคดีที่เฏเป็นเด็กค่อนข้างอดทนสูง ทุกครั้งที่โดนหนีบจะหยุดชะงัก และเล่นต่ออย่างระมัดระวังไม่ให้โดนหนีบอีก ลูกแม่จริง ๆ 
  2. เฏคลานได้คล่องใน "ท่าคลานเข่าเดียว" คงเพราะเจ็บหัวเข่า หรือกลัวหัวเข่าด้านไม่แน่ใจ จึงทำให้เฏเริ่มคลานช้า และดูท่าไม่อยากจะคลานมากนัก หากไม่ใส่กางเกงขายาวหรือสนับเข่า
    
ลูกจะชอบเอานิ้วเล็กๆ แหย่ตามร่อง รู ที่เห็นตามพื้น หรือกำแพง หรือแม้แต่ ปลั๊กไฟ เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ลูกจะนั่ง และคลานไปมา ได้นานขึ้น เพราะกล้ามเนื้อแขนขา และหลัง แข็งแรงขึ้น และเริ่มเกาะยืน (ชอบให้คุณอุ้มเขายืนบนตัก หรือโต๊ะ) คุณควรให้โอกาสเขาได้นั่ง และคลานเล่น บนพื้น จะดีกว่าการอุ้มตลอดเวลา หรือจับใส่ไว้ในเก้าอี้หัดเดิน (walker) เพราะเก้าอี้หัดเดิน ไม่ได้ให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝนการทรงตัว (balancing ) อย่างธรรมชาติ
  1. เฏชอบแหย่รูฝาท่อสำหรับดูดส้วมอย่างมาก เพราะเป็นที่วางน้ำถังใหญ่หลังบ้าน แม่ชอบให้เฏยืนเล่นบริเวณนี้ใกล้ ๆ แม่ ขณะที่แม่ทำอาหารไปด้วย บางครั้งขุดเศษฝุ่นผงออกมาจากรูจนหมด แม้ว่า แม่จะเอาถังน้ำที่มีน้ำอยู่ประมาณหนึ่งในสี่มาปิดทับ เฏก็จะพยายามดันถังน้ำออกเพื่อแหย่รูอีกจนได้
      
  2. เฏชอบเกาะยืนมาตั้งแต่ประมาณเดือนที่ 6 ตอนนี้ดันตัวลุกขึ้นยืน เกาะยืนได้ และบางครั้งก็ปล่อยมือที่จับสิ่งของช่วยพยุง คุณยายฝึกให้หัดเดินบ่อย ๆ พร้อมพูดว่า "ซ้าย ขวา ซ้าย" คุณยายบอกว่าถ้าไม่พูด "ซ้าย ขวา ซ้าย" เฏจะไม่เดิน (คิดไปเองรึเปล่า)
  3. ตอนนี้ให้อยู่ใน Baby walker กลับไม่เดินเสียดื้อ ๆ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร หรือเพราะอยากเดินด้วยตัวเองมากกว่าก็ไม่รู้

 

     เด็กจะเรียนรู้ จากการได้ลองทำการยืนด้วยตนเอง และเขาจะต้อง ลองแล้วลองอีก (trail and error) อีกหลายครั้ง กว่าจะรู้วิธีการ ที่จะขึ้นมาจากท่านั่ง เป็นเกาะยืน และเริ่มตั้งไข่ ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อม ในการเดินในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เด็กจะเรียนรู้ว่า พื้นหรือเครื่องเรือนแบบไหน ที่จะรองรับน้ำหนักเขาได้ (ช่วงนี้จะพบว่าเด็กมีโอกาสตกโต๊ะ หรือเก้าอี้ได้บ่อยๆ จากการพยายามปีนของเขานั่นเอง) คุณสามารถช่วยลูกหัดหย่อนก้นลงนั่ง จากท่ายืนโดยการก้มตัวลง (งอส่วนลำตัวด้านบน กับสะโพก) โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย และวางน้ำหนัก ไปทางก้น เพื่อที่จะได้นั่งลงได้ โดยไม่หงายหลัง หรือเจ็บตัว
  1. เดือนนี้เป็นเดือนที่เฏเจ็บตัวมากที่สุดตั้งแต่เกิดมา หัวฟาดพื้นวันละหลายครั้ง ตกเตียง ขณะนอนกลางวัน และแม่ลงไปทำธุระอยู่ข้างล่าง ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ตกอีก เพราะเรียนรู้ว่าอยู่บนเตียงสามารถตกได้ เฏชอบหงายหลัง ล้มตัวลงนอน เพราะลืมตัวคิดว่านั่งอยู่บนเบาะ ทำให้หัวฟาดพื้นประจำ แต่หัวไม่เคยโนสักที คงเป็นเพราะไม่รุนแรงมากจนทำให้หัวโน
  2. นอกจากนี้ยังชอบนั่งบนกำแพงหน้าบ้านแล้วแกว่งขา คอนกรีตที่ฉาบไม่เรียบเนียนทำให้เฏได้แผลขูดขีดเป็นประจำ
  3. ครั้งหนึ่งปีนเก้าอี้เพื่อยืน แต่เก้าอี้เจ้ากรรมล้มพับทับตัวเฏล้มลงไปนอนกับพื้น โชคดีที่ไม่ทับบริเวณหน้าหรือศีรษะ

     ควรให้ลูกได้มีโอกาสฝึกฝนเองให้มาก เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ และมีความมั่นใจ ในการก้าวต่อไป จะดีกว่าการปกป้องคอยอุ้มเขา กลัวเขาล้ม เพราะอาจทำให้เด็กไม่กล้า ที่จะลองทำการลุกนั่งเองให้ได้
  1. แม่ปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกจนเจ็บตัวมากไปรึเปล่าไม่รู้นะ แต่ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะหลังจากตกเตียงหนึ่งครั้ง เฏก็จะระวังตัวไม่ให้ตกเตียงอีกเลย หลังจากโดนลิ้นชักหนีบ เฏก็จะระวังเมื่ออยากเล่นลิ้นชักมากขึ้น หลังจากลื่นล้มเมื่อเกาะยืน เฏก็จะระวังมากขึ้นเมื่อพยายามปีน และหลังจากล้มตัวลงนอนหัวฟาดพื้นหลาย เฏก็พยายามผงกหัวเมื่อหงายหลังล้ม เพื่อไม่ให้หัวฟาด แต่บางครั้งก็ยังลืมตัวอยู่ดี :)
     
     ลูกจะชอบรื้อของ โดยเฉพาะของที่อยู่ในตู้ อาจเป็นตู้เสื้อผ้า หรือตู้ในห้องครัว และตู้ในห้องน้ำ ที่ใช้เก็บสารเคมีต่างๆ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ, น้ำยาล้างจาน, น้ำหอม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีอันตรายมาก ถ้าเด็กทานเข้าไป หรือหกราดเข้าตา คุณจึงควรจะเก็บของเหล่านี้ ให้มิดชิด และใช้กุญแจล็อก ให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้ลูกเปิดได้ ในบางบ้านที่ระมัดระวังมาก จะไม่ใช้พวกน้ำยาล้างห้องน้ำที่แรงเลย เพราะแม้แต่สารตกค้าง ที่อยู่บนพื้นห้องน้ำ ฯลฯ ก็อาจทำอันตรายแก่ลูกได้ แม้แต่ถังขยะเล็กๆ ในห้องของคุณ ก็อาจเหมือนขุมทรัพย์ ที่น่าตื่นเต้นของเด็ก ที่จะเข้ามารื้อค้น ซึ่งถ้ามีสารพิษ หรือ เศษของมีคม ฯลฯ อยู่ ก็จะมีอันตรายได้ จึงควรมีการนำสิ่งเหล่านี้ ไปทิ้งในที่ที่พ้นมือเด็ก ข้างนอกบ้าน จะปลอดภัยกว่า
  1. แม่ชอบพาเฏมานั่งรื้อของที่แม่กำลังสาละวนทำอยู่ด้วยกัน เช่น พักผ้า แม่พยายามให้เฏรื้อเล่นเสื้อผ้า หรือไม้แขวนเสื้อที่กระจัดกระจาย แต่เฏกลับไม่เล่น อยากจะปีนป่ายตู้มากกว่า 
  2. เฏชอบเล่นไพ่ให้กระจัดกระจาย หยิบแล้วเขวี้ยงทิ้ง ไม่เพียงแต่ไพ่ รวมทั้งสิ่งของต่าง ๆ ชอบหยิบขึ้นมาแล้วเขวี้ยงทิ้ง ประกอบกับคุณยายทำเสียง sound effect ให้เมื่อเขวี้ยง ก็ยิ่งชอบหัวเราะสนุกสนาน กลายเป็นกิจกรรมที่โปรดปราน จนแม่เริ่มกลัวว่าเฏจัเข้าใจผิดคิดว่าการเขวี้ยงของเป้นที่ควรกระทำซะแล้วสิ
     
  3. การทำความสะอาดบ้าน และเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับบ้านที่มีทารกหรือเด็กเล็ก ที่สำคัญ แม่ไม่ปล่อยให้เฏคลาดสายตานานเกินไปเป็นอันขาด
    ตาของลูกจะสามารถมองเห็น ในรายละเอียดต่างๆ ได้ดีขึ้น และจะเป็นคนช่างสังเกต เขาจะสามารถ เอานิ้วชี้ไปยังสิ่งที่ต้องการ เพื่อบอกเราได้ และจะคอยสังเกตเห็นสิ่งของใหม่ๆ ที่อยู่ในห้อง (หรือในบ้าน) ได้เสมอ
  1. เฏชอบเสื้อผ้ารวมทั้งของเล่นสีสันสดใส และมีเสียงดัง ชอบเล่นแทมบูรีนมาก ซึ่งเป็นของเล่นชิ้นแรกที่แม่เลือกให้ แล้วก็สุดคุ้ม เพราะเฏเล่นจนแตกเป็นเสี่ยง ๆ 
     
 
     เรื่องการทานอาหาร ก็จะยังไม่ค่อยแน่นอน บางวันบางมื้อ อาจจะทานได้ดี บางมื้ออาจจะไม่ค่อยยอมทานเลย แล้วแต่ว่า อารมณ์และความสนใจของเขา จะอยู่ที่ไหน จึงควรปล่อยตามสบาย ไม่พยายามยัดเยียดให้ลูกต้องทานให้หมด ตามที่คุณแม่ต้องการ แต่ควรเป็นไป ตามที่เด็กต้องการ เพราะจะเกิดการต่อต้านขึ้นได้ง่าย และในที่สุด จะกลายเป็นเด็กทานยากขึ้น
  1. บางวันก็ทานเยอะ บางวันก็ไม่ทานตามที่คุณหมอเขียน ของชอบนั้นต้องมีน้ำซุปหรือน้ำแกง รวมทั้งไข่เจียวร้อน ๆ วันไหนเล่นเหนื่อย และเว้นการทานหลายชั่วโมงก็จะทานได้เยอะ มื้อเช้าจะทานได้น้อยหน่อย กลางวันเป็นเวลาของผลไม้ หรือโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง นมสดต่าง ๆ 
  2. โชคดีที่เฏเลิกขวดนมตั้งแต่เดือนที่แล้ว ดื่มจากแก้ว และดูดหลอดได้คล่องแคล่ว แต่ไม่ยอมเลิกนมแม่เสียที แม่คิดว่าเมื่อเฏครบขวบจะค่อย ๆ ลดปริมาณนมแม่ลง และเพิ่มนมสดมากขึ้น
  3. ตอนนี้เฏแทบไม่ได้ดื่มนมผงเลย ดื่มนมสดจากกล่องเสียมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ข้างกล่องระบุว่าสำหรับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป แต่แม่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เมืองนอกเขาให้ดื่มนมสดตั้งแต่อายุ 6 เดือน แต่เมืองไทยนั้นมาตรฐานการฆ่าเชื้อ และการเก็บรักษาความเย็นให้คงที่นั้นยังไม่ดีนัก ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่แนะนำให้ดื่มนมสดก่อนหนึ่งขวบ แต่สำหรับเฏนั้นดื่มนมสดเฉพาะเมื่ออกนอกบ้าน หรือทานเล่นอร่อยๆ  ในรสชาติต่าง ๆ เท่านั้น 
     
  4. เฏกินข้าววันละสองมื้อ เช้ากับเย็น มีอาหารว่างมื้อเที่ยง และกินจุบจิบบ้างเมื่อคุณยายแกล้งป้อน ซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไร 
  5. เฏชอบดื่มน้ำผลไม้มาก ดื่มทุกวัน ในปริมาณที่เยอะพอสมควร ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี กินผักได้ทุกชนิด ตอนนี้มะเขือเทศของคุณยายที่ปลูกไว้หน้าบ้านออกลูกแล้ว แม่เด็ดให้เฏกินสด ๆ ทุกวัน วันละลูก เฏก็ชอบกิน แม่เสียอีกที่ไม่ชอบกิน บางวันพ่อก็ร่วมวงมะเขือเทศสดกับเฏด้วย กลายเป็นว่าชอบกินมะเขือเทศเหมือนพ่อ
  6. เฏชอบกินโยเกิร์ตด้วย กินได้ประมาณครั้งละครึ่งแก้ว ซึ่งเยอะพอสมควร ระบบขับถ่ายของเฏจึงไม่เคยมีปัญหาเลยตั้งแต่เกิดมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีมาก
  7. เฏนั่งชักโครกตั้งแต่ 4 เดือน ตั้งแต่ยังนั่งเองไม่ได้เลย แม่ซื้อฝารองนั่งสำหรับเด็กมาให้ จนตอนนี้นั่งเก่งแล้ว และน้อยครั้งมากที่ถ่ายเลอะกางเกง เพราะแม่จะสังเกตปฏิกิริยาลูกได้เมื่อต้องการถ่าย (ก็อยู่ด้วยกันตลอดนี่นา)

     เรื่องการนอน ก็อาจจะยังไม่ค่อยลงตัว แต่ก็ยังต้องการ การนอนกลางวันอยู่ บางครั้งลูกอาจจะไม่ยอมนอน และพยายามเล่น จนเหนื่อย หรือเพลีย แล้วหลับไปได้นานกว่าธรรมดา ซึ่งเด็กบางคนในช่วงที่เริ่มเหนื่อย หรือง่วง จะค่อนข้างหงุดหงิด และจะต้องการให้คุณอุ้ม หรือกล่อมเขาจนได้ที่ ก่อนที่จะยอมหลับไป
  1. ปกติเฏนอนวันละสองครั้ง เช้าครั้งหนึ่ง บ่ายครั้งหนึ่ง วันไหนตื่นสายก็นอนบ่ายครั้งเดียว หรือเย็นอีกครั้งก็มี เริ่มนอนดึกมากขึ้น ช่วงเวลาเข้านอนของเฏคือประมาณ สองทุ่มถึงสี่ทุ่ม บางวันล่วงเลยไปถึงห้าทุ่มแต่ก็ไม่บ่อยหนัก 
  2. ช่วงเช้าเฏจะนอนประมาณ 30 - 60 นาที ช่วงบ่ายก็ 1 - 3.5 ชั่วโมง ซึ่งค่อนข้างเยอะ อาจเพราะตอนบ่ายแม่เปิดแอร์ให้นอน
  3. เฏชอบหงุดหงิด ร้องโยเยเมื่อง่วง ซึ่งแม่ก็พยายามฝึกให้นอนหลับด้วยตนเอง โดยที่ไม่ดูดนมจนหลับไป แต่ก็ยังยากอยู่
  4. กลางคืนนี่เฏตื่นบ่อย จนการนอนน้อยสำหรับแม่ไม่ใช่ปัญหาอีกแล้ว เพราะร่างกายของแม่เริ่มปรับตัวได้ น่าแปลกจัง ที่แม่กลับแข็งแรงดี ไม่รู้สึกอดนอน หรือป่วยง่าย คงเป็นเพราะมีลูกและพ่อต้องดูแลจึง "ป่วยไม่ได้"
     
     การพัฒนาด้านภาษา ก็ได้มีการวางรากฐานไว้ ตั้งแต่ช่วงลูกยังเล็กๆ นานก่อนที่ลูกจะพูดได้คำแรก คุณควรพยายามพูดคุยกับลูกเสมอๆ โดยการทำสีหน้า และโทนเสียงสูงเสียงต่ำต่างกันไป ในช่วงนี้ลูกจะสามารถแสดงสีหน้า และแววตา ว่าเขากำลังฟังคุณอยู่ บางครั้งเขาจะพยายามทำเสียงเลียนเสียงของคุณ เพื่อเป็นการโต้ตอบกัน
  1. วางแผนกันว่าแม่จะเป็นคนพูดภาษาอังกฤษ แต่บางครั้งก็พูดไทย แต่ส่วนใหญ่ก็จะพูดและสร้างบรรยากาศภาษาอังกฤษ โดยมีคุณยายพูดภาษาไทยกลาง และคุณพ่อส่งภาษาหลากหลาย คำทักทายทุกเช้าของพ่อคือ "Good morning สวัสดีตอนเช้า 早上好 Gute moring" ซึ่งคล้องจองกันพอดี
  2. แม่เริ่มพาเฏไป VSA House บ่อยมากขึ้น เพื่อฝึกพูดกับอาสาสมัครหลากหลายภาษา 
     
     คุณพ่อคุณแม่หลายคนในช่วงตอนนี้ อาจจะผ่อนภาระการเลี้ยงดูลูก ให้แก่พี่เลี้ยง หรือคุณตาคุณยายมากขึ้น เนื่องจากต้องไปทำงาน หรือมีเวลาน้อย แต่ก็ยังอยากให้คุณ จัดเวลาให้แก่ลูก เพื่อจะได้เล่น และดูเขาเติบโต อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากความใกล้ชิดที่คุณจะมีกับลูกนั้น ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับตัวเขา และการเป็น “พ่อแม่” ของคุณในแต่ละช่วงของชีวิตลูก ก็จะผ่านเลยไป ไม่สามารถหวนคืนมาได้อีก จะมีก็แต่ความประทับใจ และความทรงจำในความรู้สึกต่างๆ ที่คุณมีให้แก่ลูก ที่จะยังคงอยู่ ซึ่งทางฝรั่งจะมีการพูดว่า “ Your child can be a child only once” ฉะนั้นขอให้คุณแบ่งเวลาของคุณ ให้เหมาะสมด้วย
  1. แม่พยายามให้เฏอยู่กับคนอื่นบ้าง นอกจากแม่ เพื่อที่จะไม่ติดแม่มากไป ตอนนี้เฏเริ่มรู้จักแปลกหน้าคน และไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า หรือแปลกที่ แต่เฏก็เข้ากับคนง่าย และส่งยิ้มเสมอที่มีคนทักทาย ซึ่งนี่ถือเป็นเสน่ห์ของเฏที่แม่คาดหวังไว้ "ไม่ต้องหล่อ แต่มีเสน่ห์ เสน่ห์นั้นสร้างยาก แต่มัดใจคนง่ายกว่าความหล่อเหลานัก" ฮาฮ่า
     

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 8     “ขอไปเที่ยวด้วย”

 

ปล. เดือนนี้เฏเที่ยวทะเลสองครั้ง

    

 

More Photo, More VDO

หมายเลขบันทึก: 440706เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2011 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณ'จริญญา'

แวะมาชื่นชมพัฒนาการของ'เฏ' ค่ะ

น่ารักมากๆค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ ขอบคุณที่ติดตามค่ะ สบายดีนะคะ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท