การสอนอ่านอย่างเป็นกระบวนการ


การสอนอ่านมีขั้นตอนและมีทฤษฎีทางจิตวิทยาการเรียนรู้เป็นพื้นฐาน

มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ให้มีหลักการมีทฤษฎีและมีชีวิต

                                                                                            

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

          ประเด็นวิกฤติทางการศึกษาของชาติ  ที่ได้นำมากำหนดเป็นเป้าหมายของการพัฒนาเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประเด็นหนึ่งก็คือ การพัฒนาความสามารถในสื่อสาร โดยเฉพาะความสามารถในการอ่าน (reading abilities) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หน่วยงานและองค์กรเอกชนต่างๆ  ล้วนเห็นความสำคัญของการอ่าน  จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านขึ้นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น  มีโครงการปรับปรุงการให้บริการของห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความสามารถในการอ่าน คงจะไม่ใช่เรื่องของการจัดสิ่งแวดล้อมในสังคมให้เอื้อต่อการอ่านเท่านั้น เพราะการอ่านเป็นกระบวนการประมวลผลข้อมูลของบุคคล  ดังนั้น  การพัฒนาความสามารถในการอ่านจึงต้องเน้นที่การพัฒนากระบวนการอ่าน  (reading process)  อันเป็นกระบวนการภายใน  ซึ่งต้องอาศัยการสอนอ่านที่เป็นกระบวนการ (process of reading  instruction)  ของผู้สอนควบคู่กันไปด้วย

 

          ความสามารถในการอ่านแบ่งได้เป็นหลายระดับ ระดับเบื้องต้นคือ  การพัฒนาความสามารถในการอ่านออกเสียงคำหรือ “อ่านได้” ซึ่งสัมพันธ์กับความสามารถในการเข้าใจความหมาย         และการจดจำรูปลักษณ์ของคำหรือ “เขียนได้” ความสามารถดังกล่าวเป็นเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนในระดับประถมศึกษาตอนต้น  และเมื่อผู้เรียนมีมโนทัศน์เกี่ยวกับคำศัพท์และโครงสร้างของภาษา  มากขึ้นแล้ว  ในระดับประถมศึกษาตอนปลายและระดับมัธยมศึกษา  จึงจะเริ่มพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ (reading comprehension abilities) และความสามารถในอ่านระดับสูงอื่นๆ ซึ่งอาจจะเรียกโดยรวมว่า “อ่านเป็น”  เช่น การอ่านวิเคราะห์  (analytical reading)  การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ  (critical reading) เป็นต้น  แต่ปัญหาที่เรามักพบเกี่ยวกับการสอนอ่านของครูภาษาไทย รวมถึงครูวิชาอื่นๆ ที่ต้องให้ผู้เรียนอ่านหนังสือหรือเอกสารต่างๆ ก็คือ “การสอนอ่านที่ไม่เป็นกระบวนการ”  ซึ่งหมายถึง การให้นักเรียนอ่านเอกสารหรือตัวบท (text) ต่างๆ โดยผู้สอนไม่ใช้ยุทธศาสตร์ทางปัญญา (cognitive strategies)  ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลก่อน ระหว่าง  และหลังการอ่าน  ดังจะเห็นได้จากการที่ครูปล่อยให้ผู้เรียนอ่านเอกสารหรือ   ตัวบทไปตามลำพัง โดยกำหนดเวลาให้อ่าน เช่น 5 นาที หรือ 10 นาที  จากนั้นครูอาจจะใช้คำถามระดับความรู้ความจำเพื่อทบทวนเรื่องที่อ่านเท่านั้น  การสอนอ่านอย่างไม่เป็นกระบวนการดังที่ยกมา  ย่อมไม่สามารถพัฒนากระบวนการอ่านของผู้เรียนได้  ด้วยเหตุนี้ จึงต้องรีบพัฒนาการจัดการเรียนการสอนการอ่าน  ด้วยการใช้ยุทธศาสตร์การสอนอ่านอย่างเป็นกระบวนการ  

 

          ยุทธศาสตร์การสอนอ่านอย่างเป็นกระบวนการ ที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อนและสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายยุทธศาสตร์หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ “PAR” ซึ่งตัวอักษรแต่ละตัวย่อมาจากกระบวน       การเรียนการสอนการอ่านในแต่ละขั้นตอน ประกอบด้วย  P คือ  preparation หรือขั้นเตรียมการ       A  คือ  assistance  หรือขั้นให้ความช่วยเหลือ  และ R  คือ  reflection หรือขั้นสะท้อนความคิด ยุทธศาสตร์การสอนอ่านนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งพัฒนาความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจ      แต่ละขั้นตอนมีแนวทางปฏิบัติสรุปได้ดังนี้  (Richardson, Morgan และ Fleener, 2009: 16-17)

 

                   1. ขั้นเตรียมการ  (P: preparation)   การเตรียมการคือการเตรียมโครงสร้างปัญญาของผู้เรียนให้อยู่ในสภาพที่พร้อมรับข้อมูลใหม่จากการอ่าน  ซึ่งทำได้ด้วยการศึกษาความรู้และประสบการณ์เดิม  (background knowledge)  ของผู้เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านว่ามีมากน้อยเพียงใด  และหากยังไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะอ่านเลย จำเป็นจะต้องมีความรู้หรือการให้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมก่อนหรือไม่ เป็นต้น  กิจกรรมในขั้นเตรียมการ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการอ่านก็คือ การศึกษาพื้นความรู้เดิมของผู้เรียนด้วยการสนทนาและการพยายามเชื่อมโยง  หรือการปูพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นสำหรับการอ่าน ตัวอย่างเช่น  หากครูจะให้นักเรียนอ่านบทวิจารณ์วรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ก็จำเป็นที่ต้องให้ผู้เรียนทราบเนื้อหาอันเป็นภาพรวมของวรรณกรรมนั้นก่อน โดยอาจใช้การบรรยาย การให้ผู้เรียนอาสาสมัครออกมาอ่านเรื่องย่อ การใช้คำถามนำการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องย่อ เป็นต้น กิจกรรม      การเตรียมการดังกล่าว มีพื้นฐานมาจากแนวคิดการใช้โครงสร้างนำ (advance organizer) ของ Ausubel (1963) ที่เสนอไว้สรุปได้ว่า การเรียนรู้อย่างมีความหมายจะเกิดขึ้นได้  ก็ต่อเมื่อผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ (new material) กับโครงสร้างปัญญาที่ตนเองมีอยู่เดิม (existing cognitive structure) สำเร็จ

 

                   2. ขั้นให้ความช่วยเหลือ (A: assistance)  ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญยิ่ง   เพราะมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในตัวบท (text) ที่อ่าน ดังนั้นคุณภาพของการอ่านจะเกิดขึ้นหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมในขั้นตอนนี้  เป้าหมายสำคัญของขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือในการอ่านก็คือ การแก้ไขปัญหาการอ่านต่างๆ  ที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่านของผู้เรียน  ปัญหาดังกล่าว ได้แก่ ปัญหาเรื่องความเข้าใจความหมาย (semantic comprehension) ของคำศัพท์ ประโยคหรือข้อความ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้สอนมักพบปัญหาว่า ผู้เรียนไม่เข้าทราบความหมาย   ของคำศัพท์หรือข้อความ จึงส่งผลให้ไม่สามารถที่จะตีความตัวบทได้ถูกต้อง  กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือขณะอ่าน  เช่น  การใช้เทคนิคการคิดออกเสียง (think aloud) ของครู  การใช้คำถามเพื่อให้เกิดการสนทนา  การอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดระหว่างผู้เรียนด้วยกัน เพื่อขยายประเด็นเกี่ยวกับคำศัพท์หรือข้อความที่ไม่คุ้นเคยขณะที่อ่าน  การให้ผู้เรียนเขียนหรือพูด เพื่อทำนายเหตุการณ์  สรุปย่อ หรือสร้างความเข้าใจตัวบทด้วยการวาดเป็นแผนผัง แผนภาพหรือรูปภาพ      เพื่อแสดงการวิเคราะห์หรือสรุปเนื้อหา เป็นต้น  กล่าวให้เข้าใจชัดเจนขึ้นคือ ครูต้องจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนตอบสนอง (react/response) กับตัวบทให้มากที่สุด   
          
                   3. ขั้นสะท้อนความคิด (R: reflection)  การให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดหลัง       การอ่านต่างจากการทบทวนเนื้อหาของเรื่องที่อ่าน  เพราะมีจุดประสงค์ที่จะทำให้ผู้เรียนเชื่อมโยงและผนวกความคิดหรือข้อมูลที่ได้จากการอ่านกับชีวิตของผู้เรียน  กิจกรรมของการสะท้อนความคิดจึงไม่ใช่การตอบคำถามท้ายบทอ่านว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่เป็นการให้ผู้เรียน       คิดไตร่ตรองเกี่ยวกับประเด็นคำถามต่อไปนี้ เช่น 

 

                             1)  ข้อคิดหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านครั้งนี้คืออะไร 
                             2)  สิ่งที่อ่านมีประเด็นใดที่สอดคล้อง/ไม่สอดคล้อง/ กับตนเอง หรือเห็นด้วย/      ไม่เห็นด้วย อย่างไร 
                             3)  สิ่งที่อ่านนั้นมีคุณค่าพอที่ทำให้ต้องอ่านทบทวนซ้ำหรือบอกเล่าให้ผู้อื่นทราบถึงคุณค่าหรือไม่ อย่างไร  
                             4)  สิ่งที่อ่านให้ประเด็นความคิดที่เกิดประโยชน์หรือโทษในการนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไรบ้าง

 

                   การตอบคำถามข้างต้นสามารถดำเนินการในรูปของกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ   เช่น  การเขียน การวาด  การแต่ง การขับร้อง การเล่า  การอภิปรายหรือการสนทนาภายในกลุ่ม   การจัดแสดงบทบาทสมมติหรือการแสดงละคร เป็นต้น ทั้งนี้  ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกกิจกรรมการสะท้อนความคิดจากการอ่านโดยอิสระ เพื่อให้สามารถสะท้อนความคิดจากการอ่าน    ได้อย่างเต็มที่ ผลจากการสะท้อนความคิดก็คือการ “ตกผลึกแห่งปัญญา” หรือความเข้าใจที่คงทนและฝังแน่นอยู่ในโครงสร้างความรู้ของผู้เรียน 

 

          การสอนอ่านอย่างเป็นกระบวนการ เกิดจากการวิเคราะห์กระบวนการอ่านของผู้เรียนออกเป็นขั้นตอนที่มีความชัดเจน และดำเนินการใช้ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธิปัญญานิยมมาประยุกต์ เพื่อปรับโครงสร้างทางปัญญาของผู้เรียน  ให้สอดคล้องกับข้อมูลจากการอ่านในทุกๆ ขั้นตอน      ทั้งนี้ ในการออกแบบการสอนการอ่าน  ครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึงคำถามต่อไปนี้อยู่เสมอว่า ก่อนอ่าน นักเรียนมีความรู้เดิมอย่างไร และจะจัดกิจกรรมอย่างไรเพื่อปูพื้นฐานสำหรับการอ่าน  ขณะอ่าน ผู้เรียนประสบปัญหาอะไร และจะช่วยให้พวกเขาจัดการข้อมูลขณะที่อ่านในลักษณะใดได้บ้าง       และหลังอ่าน  จะใช้กิจกรรมใดเพื่อขยายความคิดหรือให้ผู้เรียนสะท้อนมุมมองของตนเองที่มีต่อ    การอ่านครั้งนั้นๆ  หากครูสามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนการอ่านได้ครบถ้วน  และเป็นไปตามกระบวนการดังที่กล่าวมา ก็ย่อมมั่นใจได้ว่าเป็นการสอนอ่านที่มีประสิทธิภาพ  และผู้เรียนจะเกิดความเข้าใจเนื้อหาที่สิ่งที่อ่านอย่างลุ่มลึกขึ้น
_________________________

 

รายการอ้างอิง

Ausubel, D. 1963. The Psychology of Meaningful Verbal Learning. New York: Grune & Stratton.

Richardson, J. S., Morgan, R. F. and Fleener, C. 2009. Reading to learn in the content areas.             (7th ed.). Belmont, CA: Wadsworth Centage Learning.

 



การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปเผยแพร่หรือดำเนินการใดๆ ควรทำตามหลักวิชาการ จรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์

 

หมายเลขบันทึก: 439463เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2011 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาดูแล้วรู้สึกดีครับ มีความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท