คำปรึกษาแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น
เคยเหมือนอย่างผมเคยโดนไหมครับ โดนถามเรื่องหนักๆ ต้องใช้เวลาคิดนานๆ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน ? เรื่องอกหักรักคุด จะคบต่อหรือจะเลิกร้าง จะเลือกทำงานที่ไหนดี ฯลฯ หรือแม้กระทั่ง "ตื่นๆ ขอระบายหน่อย อกจะแตกแล้ว ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง ตื่นๆๆๆๆ ฟังหน่อยๆ"
ผมละโดนประจำเลยกับเรื่องทำนองอย่างนี้ โดยเฉพาะจากคนกรุงฯ หรือคนเมือง เพราะคนกลุ่มนี้นอนดึก ไม่หลังเที่ยงคืนนอนไม่หลับ ถ้าอยู่ต่างจังหวัด (โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ทำงาน) คงโดนค่อนขอดว่าเป็นพวกน้ำค้างไม่รดกระหม่อมแล้วนอนไม่หลับ หรือ ชาวบ้านๆ จริงๆ ก็คงทำนอง "หมาไม่เหยียบรอย นอนไม่หลับ" (ฮา)
ปัญหาที่ประสบคือ ให้คำปรึกษาไปแบบหลับๆ ตื่นๆ ในหลายๆ โอกาส
ปัญหาคือ ให้คำปรึกษาแล้วคิดต่อ หลับไม่ลง--หลับไม่ลงเพราะอาการบรรเจิดในหลายๆ คราว จนต้องโทรกลับไป บอกว่า "เครื่องติดแล้ว (ต้องทน) ฟังต่อ"
วิทยานิพนธ์ส่วนไหนยากที่สุด
คำถามที่โดนถามหลังเที่ยงคืนล่าสุด คือ "วิทยานิพนธ์นี่ พี่คิดว่าส่วนไหนยากที่สุด"
ผมไม่ต้องคิดอะไรเลย เพราะคำถามนี้ เป็นเหมือนไม้ยมกคำพูดของประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เมื่อคราวโน้น
ผมตอบไปว่า "กิตติกรรมประกาศยากที่สุดครับ และข้อเสนอแนะยากอันดับรองครับ" ที่ประชุมฮาตรึม
ผมยืนยันด้วยคำอธิบายเมื่อคราวโน้นว่า ข้อความ/เนื้อหาในส่วนอื่นแม้จะยากก็ยากด้วยหลักวิชา วิทยานิพนธ์จะดีไม่ดี เด่นไม่เด่นอย่างไร ก็อาจสามารถวัดด้วยหลักวิชาการว่าคนทำแม่นยำเพียงใด หากแต่ในส่วนของ "กิตติกรรมประกาศ" ไม่ได้อยู่ในกฏเกณฑ์ดังกล่าว หากแต่เป็นอิสระโดยชอบของเจ้าของวิทยานิพนธ์ว่าจะดำเนินตามแบบหรืออิสระอย่างที่ใจอยากเขียน มันยากตรงนี้แหละ ยากตรงที่จะให้เขารับรู้อย่างที่เรารับรู้ได้อย่างไร จะสื่ออย่างไรให้ตรงกับที่ใจอยากสื่อ--เขียนอย่างที่ใจอยากเขียน
จะว่าไปแล้ว ผมว่าวิทยานิพนธ์ทั้งเล่มจะมีพื้นที่อิสระให้เขียนอย่างที่ใจอยากเขียนได้ก็ตรง "กิตติกรรมประกาศ" นี่ละ ใช้กิตติกรรมประกาศให้เป็นคำนำ เขียนในสิ่งที่อยากเขียน บันทึกในสิ่งที่อยากบันทึก
แน่นอนละ มันอาจผิดหลักการของ "กิตติกรรมประกาศ"
กิตติกรรมประกาศของงานวิจัย/วิทยานิพนธ์เชิงคุณภาพ
ผมไม่รู้นะ ผมชอบอ่านกิตติกรรมประกาศวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยเชิงคุณภาพ พอๆ กับชอบอ่านคำนำหนังสือ เพราะ "เชื่อ" ว่าเป็นพื้นที่อิสระของผู้เขียนที่พอจะเพิ่มเติมหรือบอกเล่าสารพัดสารพันเรื่องราวเบื้องหลังหนังสือเล่มนั้นๆ เหมือนอย่างที่ "ยาขอบ" ใช้คำนำเป็นพื้นที่ "เล่าเรื่อง" ยาวๆ ในหนังสือชุด "สามก๊ก ฉบับวณิพก", "ชาติ กอบจิตติ" บอกเล่าชีวิต เรื่องราว ความเป็นไประหว่างการเขียนหนังสือแต่ละเล่ม, หรือ " 'รงค์ วงษ์สวรรค์" ที่เขียนคำนำได้น่าอ่านยิ่ง--จำต้องอ่านแล้วซ้ำเล่า
จากประสบการณ์ (อาจจะผิดก็ได้) ผมรู้สึกว่าการวิจัย/วิทยานิพนธ์เชิงคุณภาพ จะมีกิตติกรรมประกาศหรือคำนำ ยาวกว่าเชิงปริมาณ
เดาๆ เอาว่า อาจเพราะการ "อิน" กับกลุ่มเป้าหมายระหว่างที่ทำวิจัย--เข้าใจและยอมรับ
ผมเองก็ไม่ต่างจากกลุ่มนั้นหรอกครับ--กลุ่มกิตติกรรมประกาศ ยาวๆๆๆ
ยาวและยาก
ยาวเพราะเห็นรุ่นพี่ ก็ทำได้
ยาวเพราะเชื่อว่าธรรมศาสตร์ อิสระในพื้นที่ตรงนี้
ยากเพราะแก้แล้วแก้อีก ไม่ได้อย่างที่ใจอยากได้
ยากเพราะหมดกระดาษไปเสียแยะ
ผมทำเกี่ยวกับเรื่อง "เด็กปั๊ม" ที่ขอนแก่น
เชิญทัศนา
-------------------------------------------------
กิตติกรรมประกาศ
เมื่อกล่าวถึงแรงงานเด็ก คนทั่วไปมักจะนึกถึงภาพของเด็กที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาพของโรงงานนรก ที่มีสภาพอับชื้น มีการกักขังให้ทำงานในบริเวณที่จำกัด ห้ามติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก มีผู้คุมที่โหดร้ายเมื่อไม่พอใจก็จะทุบตีดุด่าอย่างรุนแรง มีการใช้แรงงานเด็กเยี่ยงทาส ฯลฯ จนอาจละเลยที่จะมองถึงกลุ่มแรงงานในวัยเด็กที่ทำงานในสถานประกอบการหรือธุรกิจภาคพาณิชย์และบริการ ที่แม้จะทำงานอยู่ในสถานที่เปิดเผย แต่ก็อาจถูกเอาเปรียบจากนายจ้างทั้งด้านชั่วโมงทำงาน ค่าจ้าง หรือกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม
เด็กที่ทำงานตามสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เด็กปั๊ม” เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกผลักดันให้เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันสมควร ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นสำคัญ การเข้าสู่ตลาดแรงงานของเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหนึ่งยุทธวิธีการเอาตัวรอดของครอบครัว สภาพการทำงานกลางแจ้งที่แม้จะไม่หนักหนา แต่ก็ต้องอาศัยความคล่องแคล่วว่องไวและสุภาพตลอดเวลาที่ให้บริการกับลูกค้า คำพูดของ “ธง” ที่ว่า “ตอนฝนตกก็เหมือนลูกหมาละครับ ไปไหนก็ไม่ได้ ก็ต้องรอให้มันหยุดก่อนแล้วค่อยพากันไปสลัดขนทีนึงพร้อมกันทีเดียว” อาจสะท้อนถึงสภาพการทำงานของพวกเขาได้เป็นอย่างดี หรือคำพูดของ “เดี่ยว” ที่ว่า “ผมยกมือไหว้เขายังตะคอกใส่หน้าผมเลยครับว่า “ไหว้กูทำไมไอ้ห่า กูไม่ใช่พ่อมึงนะโว้ย” ก็อาจสะท้อนถึงการที่ต้องเผชิญกับลูกค้าที่หลากหลาย
พนักงานบริการเหล่านี้ไม่มีวันหยุดประจำปี ไม่มีวันวิสาขะ มาฆะ ปีใหม่ หรือตรุษจีน พอที่จะไปเฉลิมฉลองหรือสนุกสนานตามประสาได้ ชีวิตหากเลือกได้ย่อมต้องเลือกในสิ่งที่ตนเห็นว่าดีกว่า ดังกรณีของ “พิศ” ที่อยากจะเป็นช่างเสริมสวย “เดือน” อยากเป็นช่างตัดเสื้อ “เดี่ยว” อยากทำงานในห้างโลตัส หรือ “จอย” ที่อยากจะเป็นเจ้าของร้านขายของชำ บางคนอาจจะมองด้วยสายตาเหยียดหยันในอาชีพของเด็กเหล่านี้ ก็ควรจะมองถึงศักยภาพและความรับผิดชอบของพวกเขาที่มีต่อตนเอง อาชีพ และครอบครัวว่ายิ่งใหญ่เพียงใด มองด้วยสายตาที่เข้าใจ มองด้วยสายตาที่หาทางออกและร่วมแก้ปัญหา แม้จะทำอะไรได้ไม่มากนัก ลำพังเพียงรอยยิ้ม คำทักทายหรือขอบใจ ท่านก็อาจมีสิทธิเป็นลูกค้าใจดีของพนักงานบริการได้โดยพลัน
การศึกษาครั้งนี้สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจากหลายท่าน ผู้ศึกษาขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ ศักดิ์ศรี บริบาลบรรพตเขตต์ ที่รับธุระเป็นประธานกรรมการวิทยานิพนธ์ รองศาสตราจารย์ ดร. ศรีทับทิม พานิชพันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษา ที่ให้คำปรึกษาด้วยดีมาโดยตลอด คุณเบญจมาศ ประชัญคดี ผู้อำนวยการกองแรงงานหญิงและเด็ก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่รับภาระเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา รองศาสตราจารย์ สุรางค์รัตน์ วศินารมณ์ กรรมการวิทยานิพนธ์ ที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดแม้จะยุ่งยากกับงานประจำเพียงใด คุณกัลยา ไทยวงษ์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองแรงงานหญิงและเด็ก ที่ได้ให้ข้อสังเกตอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ทุกท่านได้ให้คำปรึกษา ชี้แนะ ท้วงติงด้วยดีตลอดมา แม้บางครั้งผู้ศึกษาจะเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษาโดยมิได้นัดหมายล่วงหน้าก็ตาม การเอ่ยนามของท่านเหล่านี้มิใช่เพื่ออ้างว่าท่านทั้งหลายเห็นด้วยหรือสนับสนุนทุกอย่างต่อสิ่งที่ผู้ศึกษานำเสนอ หรือต้องรับผิดชอบในจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของผลการศึกษานี้แต่ประการใด
เฮีย, เถ้าแก่ : ผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการศึกษาครั้งนี้ โดยไม่สนใจว่าการศึกษานั้นจะก้าวล่วงไปในระดับใด เป็นความร่วมมืออันยิ่งใหญ่ที่ผู้ศึกษาได้รับอย่างคาดไม่ถึง รวมถึงโฟร์แมน แม่บ้าน ทั้งเสมียนหน้าลานทุกคน
เด็กปั๊ม : พนักงานบริการที่ทำงานตามสถานีบริการทุกคน ที่ให้ความร่วมมือ ให้ความสำคัญกับทุกคำถามที่แม้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับชีวิตส่วนตัว ความรู้สึกและอารมณ์ ตลอดจน รูปแบบการสัมภาษณ์ที่ซักไซ้ไล่เลียงตรวจสอบจนน่ารำคาญ
ทวีศักดิ์ ใครบุตร จิตติพงษ์ พุทธขัณฑ์ : กัลยาณมิตร ที่เอื้อเฟื้อคอมพิวเตอร์และพรินเตอร์ในการจัดพิมพ์ต้นฉบับตลอดระยะเวลาในการศึกษา ทั้งให้คำปรึกษาในเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างการศึกษาได้เป็นอย่างดี
แม่ : พระในเรือน ที่ขวนขวายการศึกษาให้กับบุตรทุกคนตามประสงค์ โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการเพิ่มภาระที่หนักขึ้นกับตนเพียงใด บุตรในสายตาของแม่ยังคงเป็นเพียงเด็กที่ยังดูแลตนเองไม่ได้ พร้อมที่จะพร่ำสอนและแสดงความห่วงใยผ่านคำพูด จดหมาย ไม้เรียว หรือด้ามไม้กวาดอยู่เสมอ ทันทีที่เห็นว่าไม่ถูกต้องดีงามอยู่เรื่อยมา เสมือนหนึ่งช่างหม้อที่ทุบตีหม้ออยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากแต่หวังเพียงเพื่อประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามเท่านั้น วิทยานิพนธ์นี้หากจะมีความดีอยู่บ้างขอเป็นสิ่งบูชาพระคุณของแม่นั้น.
มงคล ยะภักดี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2543
----------------------------------------------------
ประธานกรรมการสอบ ถามว่า "แม่" ทำไมไม่ระบุชื่อเหมือนคนอื่นๆ
"แม่ เป็นเรื่องส่วนตัว ความประทับใจส่วนตัว ไม่ต้องบอกให้ใครรู้ก็ได้ครับว่าแม่ผมชื่ออะไร บอกแค่ว่าผมคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรเท่านั้นก็คงพอ ทั้งยอมรับว่าผมไม่เคยแสดงความรู้สึกที่มีต่อแม่ในที่สาธารณะให้ชาวบ้านรับรู้เช่นนี้มาก่อนเลย"
ส่วน ข้อเสนอแนะ ที่ว่ายากนั้น ยากเพราะไม่ยอมให้ผ่าน (เพราะมือไม่ถึง) เสียที จำต้องแก้แล้วแก้อีก
ในที่สุด วิทยานิพนธ์เล่มนั้น จึงมีข้อเสนอแนะราว 15 หน้า (ฮา)
ปล. ไฟล์วิทยานิพนธ์ถูกแช่แข็งไว้ใน E-mail นับแต่ปีที่สำเร็จด้วย MS-Word 3.11
เมื่อถูกถาม เลยต้องกลับมารื้อ E-mail อีกครั้ง
เช้าวันนี้ ถือโอกาสลบเมลขยะทิ้งเสียเยอะเหมือนกัน
คงต้องขอบคุณเพื่อนที่เป็นต้นเหตุ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย มงคล ยะภักดี ใน บันทึกบ้านนิคมปรือใหญ่
คำสำคัญ (Tags)#วิทยานิพนธ์#กิตติกรรมประกาศ#พระในเรือน
หมายเลขบันทึก: 43935, เขียน: 10 Aug 2006 @ 09:43 (), แก้ไข: 13 Jun 2012 @ 23:54 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 9, อ่าน: คลิก
ยากที่สุดของ Thesis ผมมองว่า ยากตอนที่จะอธิบายให้อาจารย์เข้าใจวิธีคิดของเรายังไง
(พบว่าอาจารย์บางท่าน Fix Idea ไว้ก่อนแล้ว)
และยากต่อมาคือ โครงร่าง ครับ หากโครงร่างผ่านอย่างอื่นไม่น่าจะมีปัญหา
ผมก็ถูกปลุกกลางดึกบ่อยๆ ครับ
ประมาณว่า น้องหมอเข้า ER แล้วเล่าเรื่องคนไข้ให้ฟัง ล่าสุดประมาณ ตีสอง น้องหมอเล่าความคับแค้นใจของคนไข้ที่ถูกกระทำให้ฟัง.. ซึ่งผมก็ยินดีครับ ...ว่าเราก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่เขานึกถึง
คุณมงคล สุขสบายดีนะครับ