ปัจจัยที่มีผลต่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติของบุคลากรในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย


ผมเคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในระดับนานาชาติไปก่อนหน้านี้ สำหรับบทความนี้ผมขอนำเสนอเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยของบุคลากรในมหาวิทยาลัยของบ้านเรากันบ้างครับ สำหรับใครที่อยู่ในแวดวงสายวิชาการในมหาวิทยาลัยคงทราบดีนะครับว่า ผลงานวิจัยและงานทางวิชาการนั้นเป็นส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งในการใช้ประเมินเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ., ภาษาอังกฤษ Assistant professor)รองศาสตราจารย์ (รศ., ภาษาอังกฤษ Associate professor) และศาสตราจารย์ (ศ., ภาษาอังกฤษ Professor) ครับ ส่วนนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โทและเอกนั้น ผลงานวิจัยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการวัดความรู้ความสามารถในการศึกษาในสาขาวิชาที่ตนเองศึกษาอยู่ สำหรับในปริญญาตรีนั้น อาจจะไม่ได้เป็นตัวกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับเผยแพร่ในระดับนานาชาติอยู่ในเกณฑ์การจบการศึกษา แต่อย่างน้อยก็ควรมีคุณภาพเพียงพอที่จะเผยแพร่ในรูปเล่มของปริญญานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ได้ เมื่อตอนที่ผมเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัยนั้น ทางคณะได้จัดให้มีการประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยระดับปริญญาตรีทุกคนครับ ผลงานของเพื่อนๆของผมบางคนนั้นได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารในระดับชาติบางฉบับด้วย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นการทำวิจัยในระดับปริญญาตรีก็ไม่ได้ละเลยในเรื่องของระเบียบวิธีวิจัยเพื่อให้นิสิตรู้จักวิธีการวิจัยที่สามารถสร้างผลงานวิจัยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับครับ ส่วนในระดับปริญญาโทและเอกนั้น จะมีความเข้มงวดของผลงานวิจัยมากกว่า โดยพบว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะกำหนดให้ผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาโทหรือเอกจะต้องมีผลงานวิทยานิพนธ์ (Thesis) หรือผลงานการค้นคว้าอิสระ (Independent Study) หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆเป็นผู้กลั่นกรอง (Peer review) หรือนำเสนอในการประชุมวิชาการ (proceeding) ระดับชาติหรือนานาชาติ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อหนดของแต่ละมหาวิทยาลัยนั่นเองครับ โดยเฉพาะระดับปริญญาเอกนั้น มีข้อกำหนดไว้ในหลายมหาวิทยาลัยเลยว่าจะต้องมีผลงานดุษฎีนิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติ  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกของมหาวิทยาลัย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตของงานวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัยได้และเป็นโอกาสในการเพิ่มผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติของงานวิจัยของนักศึกษาระดับโทและเอกอีกด้วยครับ หลังจากที่ผมจบการศึกษาระดับปริญญาตรสาขาเทคนิคการแพทย์ จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯแล้ว ก็ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในสาขาวิทยาภูมคุ้มกันครับ ซึ่งที่นี่ผมได้รับการถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ในการทำวิจัยรวมไปถึงการตีพิมพืผลงานวิจัยที่ดีจากอาจารย์ที่เก่งๆเยอะมาก ผมขอกล่าวถึงอาจารย์นายแพทย์ปรีดา มาลาสิทธิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (Advisor) ของผมในระดับปริญญาโทครับซึ่งหลังจากที่อาจารย์จบแพทยศาสตรบัณฑิตจากศิริราชแล้ว ก็ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และกลับมาสอนควบคู่กับการทำงานวิจัย วึ่งต่อมาอาจารย์ก็ได้รับรางวัลจากผลงานการวิจัยร่วมกับคณะมากมายครับ เช่น รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว. รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากมูลนิธิโทเร ประเทศไทย ครั้งที่ 11 รางวัลผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่นประจำปี 2548 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปี พ.ศ. 2550 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2550 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2550 เป็นต้นครับ รางวัลเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีได้เป็นอย่างดีว่าอาจารย์ปรีดา ท่านมีความเชี่ยวชาญในระเบีบยวิธีการวิจัยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (Co-advisor) ที่ผมต้องกล่าวถึงคือ ดร.ชัญญา พุทธิขันธ์ และ ผศ. ดร. พญ. ปนิษฎี อวิรุทธ์นันท์ ที่มีส่วนสำคัญในการทำวิจัยในระดับปริญญาโทของผมครับ เพราะท่านทั้งสองได้กรุณาให้คำชี้แนะมากมายแก่ผมในการทำวิจัยให้สำเร็จครับ ซึ่งท้ายที่สุดผลงานวิจัยในระดับปริญญาโทของผมก็มีโอกาสได้ไปนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับชาติคือ ศิริราช-รามาฯ วิชาการ และส่วนหนึ่งของวิทยานิพน์มหาบัณฑิตของผมได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติคือ Journal of Clinical Virology ในหัวข้อเรื่อง The development of a novel serotyping-NS1-ELISA to identify serotypes of dengue virus. นั่นเองครับ เห็นมั๊ยล่ะครับว่าแม้จะเป็นผลงานการวิจัยของนักศึกษาก็สามารถควบคุมให้มีคุณภาพจนสามารถตีพิมพ์ ซึ่งนี่ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยได้ครับ ศ.ดร. นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย อดีตผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ระบุว่าในช่วงพ.ศ. 2544 - 2546 ในจำนวนผลงานวิจัยของไทยที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมดนั้น มีผลงานที่เป็นของนักศึกษาปริญญาเอกอยู่อย่างน้อยกว่า 10 เปอร์เซนต์เลยทีเดียวเลยทีเดียว นี่ก็แสดงให้เห็นนะครับว่าผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกนั้นก็มีความสำคัญต่อการเพิ่มจะนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติเป็นอย่างมากเช่นกันครับ

จำนวนคณาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยก็มีผลอย่างมากต่อจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ครับ เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนอาจารย์และนักวิจัยมากกว่าก็มักจะมีจำนวนผลงานวิจัยออกมามากกว่าด้วย และที่สสำคัญคือสัดส่วนระหว่างอาจารย์ที่จบปริญญาเอกต่ออาจารย์ทั้งหมดก็มีความสำคัญไม่แพ้กันครับ เนื่องจากผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้นถือได้ว่าผ่านการเคี่ยวกรำในการทำวิจัยในสาขาเฉพาะด้านมาอย่างดีและเคยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติมาแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือผู้ที่จบปริญญาเอกจึงสามารถสร้างผลงานวิจัยที่มีความลึกซึ้งและมีคุณภาพได้ดีกว่าปริญาโทหรือตรีด้วยครับ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในมหาวิทยาลัยที่มีสัดส่วนคณาจารย์หรือนักวิจัยที่จบปริญญาเอกมากกว่าระดับอื่นๆจะมีผลงานวิจัยออกมามากว่าและมีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติสูงกว่าด้วยเช่นกันครับ ไม่ใช่ว่าคณาจารย์ที่จบระดับปริญญาโทบางท่านจะด้อยประสบการณ์ในการวิจัยหรือมีงานวิจัยออกมาน้อยกว่าอาจารย์ที่จบปริญญาเอกเสมอไปนะครับ เพราะอาจารย์บางท่านที่จบปริญญาโทมาแต่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยและตีพิมพ์มามากกว่าจนมีตำแหน่งทางวิชาการอย่างเช่น รศ. หรือ ศ. บางท่านอาจจะทำวิจัยได้ดีกว่าและมากกว่าอาจารยืที่จบปริญญาเอกบางท่านด้วยซ้ำ ดังนั้นผลงานวิจัยจึงเป็นส่วนสำคัญในการชี้ถึงคุณภาพของตำแหน่งวิชาการอย่างที่ผมเรียนไว้ข้างต้นครับ

ผมอยากเรียนผู้อ่านให้ทุกท่านได้ทราบนะครับว่า การทำวิจัยนั้นจำเป็นต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมากพอสมควรขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเรื่องที่จะทำการวิจัย และเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการทำวิจัยครับ ดังนั้นแหล่งเงินทุนวิจัยจึงมีความสำคัญต่อการสร้างผลงานวิจัยอย่างมาก ถึงแม้งานวิจัยในสาขาบางอย่างอาจไม่ต้องใช้เงินทุนมาก แต่หากต้องการให้ผลงานวิจัยออกมาดีเป็นที่ยอมรับนอกจากระเบียบวิธีวิจัยที่ดีแล้วอย่างน้อยๆก็ต้องมีเงินมาเป็นปัจจัยสนับสนุนล่ะครับ ดังนั้นมหาวิทยาลัยหลายๆแหล่งจึงต้องมีเงินทุนในการสนับสนุนในการทำวิจัยของบุคคลากรทั้งอาจารย์ นักวิจัยและนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยด้วย โดยการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่สนใจสามารถเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนส่งเสริมการวิจัยได้ครับ นอกจากแหล่งทุนในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีแหล่งทุนอื่นๆอีกมาก อย่างเช่นตอนที่ผมเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้รับทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยหรือ TGIST จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วยครับ ส่วนแหล่งทุนอื่นก็มีอีกมากเหมือนกันนะครับ เดี๋ยวนี้เอกชนหลายแห่งก็เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการทำวิจัยของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยมากขึ้น เช่น ทุนลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ทุน ปตท. ทุนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (ทุน คปก.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นต้นครับ นอกจากแหล่งทุนแล้วสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ๆที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยมากนัก ก็จำเป็นจะต้องมีนักวิจัยอาวุโสที่มีประสบการณ์ในการวิจัยมากกว่าคอยชี้แนะในการทำวิจัยด้วยครับ ซึ่งผมเองตอนที่เรียนปริญญาโทที่มหิดลนั้นแรกเริ่มตอนทำวิจัยก็ต้องบอกว่ามีความรู้ในเรื่องระเบียบวิธีวิจัยไม่มากเท่าไหร่นัก แต่ก็โชคดีที่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์หลายท่านในภาควิชาคอยให้คำแนะนำในการทำวิจัยครับ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะภาระงานสอนและงานอื่นๆของอาจารย์ในภาควิชาไม่มากจนเกินไปทำให้มีเวลามาทำวิจัยและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาได้นั่นเองครับ นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งที่ผู้ทำวิจัยส่วนใหญ่มักจะต้องเจอกันคือปัญหาและอุปสรรคในการทำวิจัยครับ ซึ่งเรื่องนี้หากมีนักวิจัยที่มีประสบการณ์มากๆมาคอยชี้แนะก็จะช่วยทำให้ปัญหาต่างๆลดลงหรือแก้ไขได้เร็วกว่าด้วยครับ นอกจากนี้ยังต้องมีสิ่งที่คอยกระตุ้นให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยให้ทำวิจัยออกมาอย่างสม่ำเสมอและเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งยกระดับให้งานวิจัยสามารถตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มีความน่าเชื่อถืออ้างอิงของวารสารหรือ Impact Factor สูงกว่าเดิมด้วยนะครับและที่สำคัญคือควรพยายามให้งานวิจัยนั้นมีคุณภาพพอที่จะได้รับการอ้างอิง (Cited)  มากด้วย สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเพิ่มจำนวนผลงานวิจัยและคุณภาพของผลงานวิจัยนอกจากจะมีนักวิจัยอาวุโสคอยชี้แนะคือการแสวงหาความร่วมมือกับนักวิจัยที่อยู่ภายในหน่วยงานเดียวกันไปจนถึงหน่วยงานอื่นๆและในระดับต่างประเทศ เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่เป็นลักษณะงานวิจัยที่มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้หลายๆอย่างครับ เพราะวิธีการนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้นักวิจัยมีโอกาสแลกเปลี่ยนและเรียนรู้องค์ความรู้ในการวิจัยจากคนอื่นๆได้เป็นอย่างดีครับ อย่างเช่นที่จุฬาฯจะมีศูนย์วิจัยที่รวมเอานักวิจัยที่สนใจในสาขาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมาร่วมกันทำวิจัย รวมทั้งอาจมีนักวิจัยจากสาขาอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกับสาขานั้นๆมาร่วมทีมวิจัยด้วยก้ได้ นอกจากนี้ทางจุฬาฯเองก็มีการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัยรวมทั้งมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมากมายเลยครับ หน่วยวิจัยที่ผมทำวิจัยตอนเรียนปริญญาโทที่ศิริราชคือหน่วยหน่วยอณูชีววิทยาการแพทย์ (Medical Molecular Biology Unit หรือ MMBU) ก็มีการรวมตัวกันของนักวิจัยหลากหลายสาขานะครับ บางท่านเชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา (Virology)  ด้านโปรตีโอมิกส์ (Proteomics) ด้านพันธุกรรม (Genetics) ด้านภูมิคุ้มกัน (Immunology) ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) และด้านชีวโมเลกุล (Molecular Biology) เป็นต้นครับ นอกจากนี้ยังมีความร่วมือกัยสถาบันอื่นๆในประเทศเช่น กระทรวงสาธารณสุข สวทช. เป็นต้น ส่วนหน่วยงานต่างประเทศที่มีความร่วมมือกัน เช่น Imperial College Oxford University เป็นต้นครับ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีเพราะนอกจากได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีแล้ว ยังมีโครงการให้นักศึกษาไปทำวิจัยที่หน่ายงานนั้นๆทำให้ได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพออกมามากมาย เมื่อมีการวิจัยที่มีคุณภาพพอที่จะตีพิมพ์ในระดับนานาชาติได้แล้วเนี่ย ก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานวิจัยจะได้รับการตีพิมพ์นะครับ อย่าลืมว่าการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาตินั้น จะต้องตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นหากผู้วิจัยที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่ดีพอก็อาจจะไม่อยากส่งผลงานไปตีพิมพ์ในระดับนานาชาติและเลือกตีพิมพ์ในวารสารระดับชาตเป็นภาษาไทยแทน ซึ่งน่าเสียดายแทนนะครับ หรือบางที่หากส่งต้นฉบับไปตีพิมพ์แล้วอ่านไม่ผ่านการกลั่นกรองเนื่องจากภาษาที่ใช้ในการเขียนนั้นมีความผิดพลาดค่อนข้างมาก ดังนั้นการมีคนที่ช่วยชี้แนะหรือมีการจัดอบรมให้กับบุคลากรในการเตรียมต้นฉบับภาษาอังกฤษเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติจึงมีความจำเป็นอย่างมากครับ เคยมีผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนคณาจารย์และนักวิจัยกว่า 80 % ที่ไม่เคยได้รับการอบรมหรือแนะนำในการเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงควรจัดให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาการทำวิจัยและการเขียนผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ เพื่อคอยช่วยเหลือบุคคลากรวิจัยในมหาวิทยาลัยของตนครับ เมื่อคณาจารย์หรือนักวิจัยได้ทำวิจัยและมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรวิจัยเหล่านี้ตื่นตัวในการทำวิจัยก้คือการมอบรางวับเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่นักวิจัยที่มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับนั่นเองครับ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่มอบรางวัลให้กับนักวิจัยที่ได้รับการยอมรับในสาขาต่างๆ ซึ่งรางวัลก็แบ่งเป็นตั้งแต่ระดับหน่วยงาน ระดับมหาวิทยาลัย เช่น ทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับชาติ เช่น รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ  และระดับนานาชาติ อย่างเช่น รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award) รางวัลโนเบล (Nobel Prize) เป็นต้นครับ ซึ่งรางวัลต่างๆเหล่านี้มีผลต่อความภาคภูมิใจของนักวิจัยทุกคนในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ได้รับการยอมรับและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมและนอกจากนี้รางวัลยังอยู่ในรูปของเงินทุนสนับสนุนการทำวิจัยอีกด้วยนะครับ คุณผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพแล้วนะครับว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเผยแพร่งานวิจัยในระดับนานาชาติของคณาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้นมีอะไรบ้างและควรจะต้องมีอะไรเพิ่มเติมในการสนับการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยครับ ผมขอสรุปปัจจัยที่มีผลต่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติของบุคลากรในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ออกมาเป็นข้อๆดังนี้ครับ

1.จำนวนอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย

2.สัดส่วนของอาจารย์ที่จบปริญญาเอกต่ออาจารย์ทั้งหมด

3.ภาระงานสอนและงานด้านอื่นๆของคณาจารย์ไม่มากจนเกินไป เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการทำวิจัย

4.จำนวนคณาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ

5.การกระตุ้นของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด

6.จำนวนนักศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก

7.แหล่งทุนสนับสนุนในการทำวิจัย

8.การสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการวิจัยของมหาวิทยาลัย

9.การชี้แนะในการทำวิจัยโดยผู้ที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา

10.ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆในการทำวิจัย

11.การแนะนำและส่งเสริมในการเตรียมต้นฉบับผลงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

12.การมอบรางวัลเพื่อประกาศเกียรติคุณและสนุนทุนวิจัย

 

 

Reference

1.ชโรชีนีย์ ชัยมินทร์และประภาพันธ์ พลายจันทร์, "ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารระดับนานาชาติ ของคณาจารย์และนักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2547 - 2549", รายงานวิจัย 2551.

2.การกำหนดเงื่อนไขการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในหลักสูตรบัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 439193เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท