การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก


การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก 

     สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกเกิดขึ้นได้ทั้งจากกิจกรรมของมนุษย์และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ  ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ

   1. ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

       ตัวอย่างปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก เช่น

      1.1   แสงอาทิตย์  ในเวลากลางวันแสงอาทิตย์ส่องมายังโลกส่งผลให้โลกในเวลากลางวันมีอุณหภูมิสูงกว่าเวลากลางคืน  โดยแสงอาทิตย์จะให้ความอบอุ่นแก่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนพื้นโลก ทำให้โลกมีอุณหภูมิที่ไม่หนาวเย็นจนเกินไป  เหมาะแก่การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต

      1.2   หิมะตก  ในบริเวณที่มีหิมะตกมีความหนาวเย็นมาก  ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกต่ำลงในบริเวณ ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่มีหิมะปกคลุมจะมีอากาศหนาวเย็นมาก

     1.3   ลมฟ้าอากาศ   ได้แก่  พายุฝนฟ้าคะนอง  พายุหมุนเขตร้อน  มรสุม   การแปรปรวนของอากาศ

      2.    กิจกรรมของมนุษย์

       ตัวอย่างกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก เช่น

      2.1   การตัดไม้ทำลายป่า  เป็นการทำลายต้นน้ำลำธาร เป็นผลให้ความชื้นในอากาศลดลง เกิดความแห้งแล้งฝนมีตกตามฤดูกาล  การเพาะปลูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร เมื่อฝนตกหนักไม่มีป่าดูดซับน้ำจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน ดังที่เกิดมาแล้วในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลให้หน้าดินถูกทำลาย เนื่องจากการกัดเซาะของน้ำ

      2.2   การปล่อยควัน  ควันพิษเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงหลายชนิดจากแหล่งปล่อยควันพิษมีดังนี้

             1) ครัวเรือนใช้เชื้อเพลิง คือ ถ่านไม้และแก๊สหุงต้ม จะทำให้เกิดควันที่มีฝุ่นละอองมากมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์  ไฮโดรคาร์บอน  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และอื่นๆ

            2)  อุตสาหกรรม  ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง จะทำให้เกิดแก๊สพิษสูง  คือ  แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์  และมีสิ่งอื่นๆอีก เช่น ฝุ่นละออง ไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น

            3) การคมนาคมขนส่ง มีหลายประเภทที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง เช่น เครื่องบิน รถยนต์เรือยนต์   เชื้อเพลิงคือน้ำมันจากแหล่งปิโตรเลียมซึ่งทำให้เกิดแก๊สพิษ คือ คาร์บอนมอนอกไซด์มากที่สุด  รองลงมาเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และ  แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังมี  ฝุ่นละอองไฮโดรคาร์บอนและอื่นๆ

            4) โรงไฟฟ้า การผลิตกระแสไฟฟ้ามี 2 ระบบ คือ ระบบพลังน้ำ  และระบบพลังงานความร้อน  ระบบที่ทำให้เกิดแก๊สพิษเพราะใช้เชื้อเพลิง คือ ระบบพลังความร้อนแก๊สพิษที่เกิดขึ้น   คือ   แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์  ซึ่งเกิดมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนฝุ่นละอองและอื่นๆ

            5) เกษตรกรรม  การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง โดยการพ่นจะทำให้มีสารพิษในอากาศสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ละอองจากองค์ประกอบของยาฆ่าแมลง ฝุ่นละอองจากองค์ประกอบของแก๊สไฮโดรคาร์บอนและสารพิษอื่นๆ

การตรวจสอบปริมาณสารพิษในอากาศจากแหล่งต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้

            1) แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ เกิดจากคมนาคมขนส่งมากที่สุด

            2) แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกิดจากโรงไฟฟ้ามากที่สุด

            3) แก๊สไฮโดรคาร์บอน เกิดจากคมนาคมขนส่งมากที่สุด

            4) ฝุ่นละออง เกิดจากควันเสียมากที่สุด

           แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นก๊าซพิษเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์เนื่องจากเครื่องยนต์เก่า จึงต้องทำเครื่องยนต์ให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์จึงจะเกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งไม่ใช่แก๊สพิษ แต่เป็นแก๊สที่มีผลต่อการกั้นความร้อนจากพื้นโลกสะท้อนคืนสู่บรรยากาศซึ่งเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือน-กระจก

      2.3    การทิ้งของเสียลงในน้ำ  ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย เกิดแก๊สที่มีกลิ่นเหม็นกระจายสู่อากาศ

      2.4   ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) คือปรากฏการณ์ที่โลกร้อนขึ้น เนื่องจากมีแก๊สต่างๆเพิ่มขึ้น แก๊สเหล่านี้ได้แก่ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์  มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และสารซีเอฟซี (CFC)  ซึ่งทำหน้าที่เสมือนฉากกั้นการระบายความร้อน ทำให้โลกระบายความร้อนได้ไม่สะดวก จึงทำให้โลกร้อนขึ้น และถ้าเป็นเช่นนั้นเรื่อยๆ จะทำให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิตบนพื้นโลกอย่างมาก เช่น ทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายมากขึ้น

การระวังป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

      1)  ควรช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ไม่ให้ใครมาลักลอบตัดไม้ทำลายป่า  และหากจำเป็นต้องตัดควรมีการปลูกทดแทน เพื่อมิให้พื้นที่ป่าถูกทำลายและลดจำนวนลงไปมาก เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อมา

     2)  ควรช่วยกันดูแลรักษาสภาพอากาศ โดยไม่ใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้แล้วเกิดควันพิษควรตรวจสภาพเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ารถที่ใช้ไม่ปล่อยควันดำออกมา

     3)  ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงต่างๆ และมีการเผาไหม้ ก่อให้เกิดแก๊สพิษสูงควรมีการเปลี่ยนแปลงหรือเลือกเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ได้หมด และก่อให้เกิดแก๊สพิษน้อย และใช้เชื้อเพลิงให้น้อยที่สุดหรือเท่าที่จำเป็น

     4) ในด้านการเกษตร  ควรหันมาปลูกพืชโดยวิธีทางชีวภาพในการกำจัดแมลง  ซึ่งทำให้ ไม่ต้องใช้สารเคมี หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงก็ควรใช้ให้ถูกวิธี และเลือกใช้ชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

     5) ควรช่วยกันดูแลแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่างๆให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ทิ้งขยะหรือ สิ่งปฏิกูลลงไป เพราะอาจทำให้น้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็นกระจายสู่อากาศได้

     6) เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแก๊สเรือนกระจก เช่น สารซี เอฟ ซี เป็นส่วนประกอบเพราะจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น

ผลของลมฟ้าอากาศต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม

          ลมฟ้าอากาศมีผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยเฉพาะมนุษย์ เช่น ในช่วงที่ฝนตกหนักเกิดคลื่นลมแรง ชาวประมงไม่สามารถออกเรือไปหาปลาเพื่อประกอบอาชีพได้ ดังนั้นการทำประมงจึงเป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากลมฟ้าอากาศโดยตรง ชาวประมงจึงต้องติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ  ในเขตประเทศที่มีหิมะตก ช่วงที่หิมะตกอากาศจะหนาวเย็นมาก ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอาจจะต้องก่อไฟเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นและสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ ในวันที่อากาศมีอุณหภูมิสูงเราจะรู้สึกร้อนและมีเหงื่อออกมาก  แต่ถ้าวันไหนที่อากาศเย็นและมีความชื้นสูงเหงื่อเราก็จะไม่ออกหรือออกน้อยมาก    ดังนั้นการแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ละวันก็มีผลให้เรารู้สึกสบายได้ แต่ถ้าแต่งกายไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศอาจทำให้รู้สึกอึดอัดได้

         ในปัจจุบันโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์เรือนกระจก  เกิดจากการที่มนุษย์ใช้ สารต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม  ทำให้ทุกๆปีอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ในฤดูร้อนอากาศจะร้อนและแห้งแล้งมาก พืชและสัตว์บางชนิดไม่สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตให้อยู่ในสภาพอุณหภูมิสูงได้ อีกทั้งความร้อนยังส่งผลให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และสถานที่บางแห่งที่อยู่ในระดับต่ำก็ถูกน้ำท่วมไปด้วย  พืชบางชนิดเมื่อน้ำทะเลท่วมถึงหากปรับตัวให้ทนต่อความเค็มไม่ได้ก็อาจตายไปนักเรียนจะเห็นได้ว่าลมฟ้าอากาศมีผลต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก  ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ เพราะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หากป่าไม้ถูกทำลายต้นน้ำลำธารก็ถูกทำลายไปด้วย ส่งผลให้สภาพลมฟ้าอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้งหรือเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำป่าไหลหลาก จนเกิดภัยน้ำท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เกิดความเสียหายต่างๆตามมามากมาย ซึ่งการป้องกันภัยธรรมชาติเหล่านี้ทางที่ดีที่สุดทำได้โดยการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์และอยู่กับเราตลอดไป

มลภาวะในชีวิตประจำวัน

         มลพิษของอากาศหรืออากาศเสีย (Air Pollution)  คือ อากาศที่มีสิ่งเจือปนแปลกปลอมอยู่ตั้งแต่หนึ่งชนิดขึ้นไป  ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต  ความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของมนุษย์ สัตว์ พืช รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน หรืออาจทำให้เสียทัศนวิสัย จนเป็นเหตุให้ยวดยานที่สัญจร        ไปมาดำเนินไปไม่ได้ตามปกติ

สารพิษในอากาศ

            1. ฝุ่นละออง

               แหล่งที่มา  โรงไฟฟ้า  ครัวเรือน  อุตสาหกรรม  เกษตรกรรม  การคมนาคมขนส่ง  การเผาไหม้ สิ่งปฏิกูล

              อันตรายจากพิษ  ระคายเคืองต่อเยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ  ทำให้ตาและหลอดลมอักเสบ นอกจากนี้ยังทำให้อาคาร  สถานที่  และสิ่งแวดล้อมสกปรกอีกด้วย

           2.ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)

              แหล่งที่มา โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง เกษตรกรรม ครัวเรือน และการบริการ

             อันตรายจากพิษ แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) มีพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่อไปนี้

                1. มนุษย์และสัตว์ ทำให้เกิดอาการแสบจมูก กัดเยื่อบุจมูก หลอดลม และปอด

                2. พืช โดยทั่วไปจะฟอกสีของใบไม้ และทำให้ต้นไม้ล้มตายลงในที่สุด

                3. สิ่งก่อสร้าง ทำให้สิ่งก่อสร้างที่เป็นหินปูน และหินอ่อนชำรุดและสึกหรอได้

          3. คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)

              แหล่งที่มา การคมนาคมขนส่งเป็นแหล่งที่ให้แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์มากที่สุด รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรม การบริการ เกษตรกรรม ครัวเรือน และโรงไฟฟ้า ตามลำดับ

            อันตรายจากพิษ แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นแก๊สพิษ เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงไม่มีสีไม่มีกลิ่นเมื่อหายใจเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปรวมตัวกับฮีโมโกลบิน(Haemoglobin) ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถรับออกซิเจน (O2) ได้     จึงทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เป็นผลให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นในร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ตาพร่า หายใจอึดอัด คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ เป็นต้น

 

         4. ไฮโดรคาร์บอน

            แหล่งที่มา การคมนาคมขนส่งเป็นแหล่งที่ให้สารไฮโดรคาร์บอนเป็นปริมาณมากที่สุด รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรม ครัวเรือน เกษตรกรรม การบริการ การเผาไหม้สิ่งปฏิกูล โรงไฟฟ้า และควันบุหรี่ ตามลำดับ

           อันตรายจากพิษ ทำให้อาการระคายเคืองต่อเยื่อบุระบบทางเดินหายใจ เป็นอันตรายต่อเยื่อตา เกิดอาการแสบจมูก แสบคอ และทำให้เกิดโรคมะเร็งในปอดได้ เบนโซไพรินเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่ทำให้เป็นมะเร็งในปอด ซึ่งมีอยู่ในควันบุหรี่นั้นเอง

       5.ไอของสารตะกั่ว

           แหล่งที่มา ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับตะกั่ว เช่น ทำแบตเตอรี่  ทำสายเคเบิล ทำเซรามิก ผลิตสารกำจัดแมลง ทำแผ่นตะกั่ว หล่อตัวพิมพ์ หลอมทองเหลือง ทำกระป๋อง ชุบโลหะ และการเผาไหม้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว เป็นต้น

          อันตรายจากพิษ ทำลายประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เป็นอัมพาต เหงือกเป็นสีคล้ำ

คลุ้มคลั่ง และวิกลจริต

 

       6. ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)

          แหล่งที่มา ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรดไนตริก ทำทองรูปพรรณ ไอเสียรถยนต์ นอกจากนี้ยังเกิดจากฟ้าแลบ ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น

          อันตรายจากพิษ เป็นแก๊สพิษทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดอาการแสบจมูก แสบคอ ถ้าแก๊สนี้รวมกับความชื้นในอากาศจะได้กรดไนตริก ซึ่งจะทำลายเยื่อตา เยื่อจมูก หลอดลม และปอด

ตาราง   8.1  แสดงชนิดของสาร   แหล่งผลิต   และผลต่อสภาพแวดล้อม

สาร

แหล่งผลิต

ผลต่อสภาพแวดล้อม

ฝุ่น   ละออง   เขม่า

จากธรรมชาติ :  ภูเขาไฟ   การกร่อนของหิน   การเผาไหม้จากเชื้อเพลิง

จากมนุษย์  :   โรงงาน   โรงไฟฟ้า   เครื่องยนต์

 

ทำให้อากาศขุ่นมัวและกั้นพลังงานจากดวงอาทิตย์

อันตรายต่อปอด

คาร์บอนมอนอกไซด์

เป็นแก๊สไม่มีสี

     ไม่มีกลิ่น

ประกอบด้วย  C,O

จากธรรมชาติ :  ไฟป่า

จากมนุษย์  :   รถยนต์  เครื่องจักร  โรงงาน                                            การหุงต้ม  บุหรี่

 

ทำให้อ่อนเพลีย

ทำให้ปวดศีรษะ

ปริมาณสูงๆ  อาจ             ทำให้ถึงแก่ความตาย

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์

เป็นแก๊สไม่มีสี

เป็นแก๊สที่มีกลิ่นฉุน

ประกอบด้วย  S, O

จากธรรมชาติ :  ภูเขาไฟ   มหาสมุทร

จากมนุษย์  :   โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตา  น้ำมันดีเซล   และถ่านหิน   การทำเหมือนแร่

 

ทำให้ระคายคอแสบตา

ทำให้เกิดฝนกรดเป็นอันตรายต่อพืชสัตว์   สิ่งก่อสร้าง

ไนโตรเจนไดออกไซด์

เป็นแก๊สสีน้ำตาล

ประกอบด้วย  N, O

จากธรรมชาติ :  ฟ้าผ่า  แบคทีเรียในดิน

จากมนุษย์  :   รถยนต์  เตาเผาอุณหภูมิสูง

 

ทำให้นัยน์ตา  และปอดระคายเคือง

ทำให้เกิดฝนกรด

แก๊สจากสารประกอบไฮโดรคาร์บอน

ประกอบด้วย  H, C

จากมนุษย์  :   น้ำมันรถยนต์  การเผาไหม้                  โรงงาน  บุหรี่  สเปรย์กระป๋อง

 

ทำให้เป็นมะเร็ง

ที่มา  :  หนังสือแบบเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานโลก  ดาราศาสตร์  และอวกาศ  หน้า 121

 

(ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลด ชุดฝึกฉบับเต็มได้ที่ ไฟล์)

หมายเลขบันทึก: 438670เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ดู และอ่านแล้วได่ประโยชมาก

ขอบคุณ คุณครูไพรวัลย์ วงศ์ดี มากครับที่มีข้อมูลให้ผมศึกษา

มีข้อมูลมากกว่านี้นะ

ทำไมผลของลมฟ้าอาศมีข้อมูลน้อยจัง เอามาให้เยอะกว่านี้นะคะ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาดูใหม่ค่ะ คุณครูสั่งให้มาหาแต่หาไม่เจอซักที่เลยค่ะ ช่วยหน่อยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ

ถ้าคุณไม่ช่วยคงจะโดนครูหักคะแนนแน่ๆๆ

 

มีความรู้มากๆๆคร้า :)

ดีค่ะเเต่ว่าการเปลี่ยนเเปลงอุณหภูมิของโลกอธิบายน้อยไปนิดน่ะค่ะ 

ได้ความรู้มากขึ้น

แล้วอุณหภูมิสุงมีผลต่อการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตอย่างไรคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท