หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ร่วมด้วยช่วยกันสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ


.

แสงไฟส่องจากร้านค้าไปยังลานข้างร้านค้าในหมู่บ้าน สว่างพอที่จะมองเห็นผู้สูงอายุหญิงชายสี่คนเดินเหยียบไปบนกะลามะพร้าวที่คว่ำเรียงอยู่บนพื้น ขณะที่มือทั้งสองก็จับราวเหล็กพยุงค่อยเดินตามกันไปช้า ๆ  

     ยามนี้เวลายังไม่รุ่งสาง ผู้สูงอายุจะทะยอยออกจากบ้านมา ณ ที่แห่งนี้ทีละคนสองคน เพื่อนเดินย่ำบนกะลามะพร้าว ไม่เพียงเป็นการออกกำลังกายเท่านั้น การเดินเช่นนี้ยังช่วยนวดปลายประสาทที่อยู่บริเวณฝ่าเท้า การหมุนเวียนโลหิต ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ

     ใครมาถึงก่อนก็เดินก่อน ใครมาหลังก็ต่อคิว ใครเดินเสร็จแล้วก็นั่งพักซึ่งสามารถกลับไปเดินใหม่ได้เมื่อว่าง ที่เหลือหากยังไม่กลับไปบ้านก็จะนั่งคุยกันที่ม้านั่งข้างร้านคา สั่งกาแฟมาดื่มเป็นสภากาแฟยามเช้าสำหรับผู้สูงอายุ บางคนที่เตรียมหุงหาอาหารมาใส่บาตรก็รอใส่บาตรพระที่เดินบิณฑบาตผ่านบริเวณนั้นก่อนจะกลับไปบ้าน

     วันใดที่ฝนฟ้าไม่ตก ผู้สูงอายุก็มักจะมารวมตัวกันที่นี่อยู่เสมอ นอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว บริเวณนี้ก็กลายเป็นเวทีพบปะพูดคุยกัน

     ลานกะลาเพื่อสุขภาพนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการผู้สูงวัยใส่ใจสุขภาพแข็งแรง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้ชุดโครงการพี่-น้องสูงวัย อาสาสร้างสุข ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุในสังคมไทย

     โครงการดังกล่าวนี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังเป็นกุศโลบายในการดึงให้ผู้สูงอายุออกมาพบปะพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกคนอื่น อันเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตในทางหนึ่ง พื้นที่ดำเนินงานคือชุมชนบ้านแหลมกรวด ตั้งอยู่ในเกาะหมากกลางทะเลสาบสงขลา-พัทลุง ประกอบด้วย ๒ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแหลมกรวด ม.๓ และบ้านบ่อน้ำหมาก ม.๑๐ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน  

     ที่มาของโครงการฯ ดังกล่าวนี้ เกิดจากการพูดคุยของบรรดาแกนนำชุมชนจำนวนหนึ่ง ที่เห็นว่าปัญหาผู้สูงอายุของหมู่บ้านของเขาเริ่มรุนแรงขึ้น

     พวกเขาวิเคราะห์ปัญหาผู้สูงอายุในปัจจุบันว่ามีแนวโน้มจะเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายและรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เป็นโรคภัยที่สามารถป้องกันได้หากมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร ฯลฯ นอกจากการเจ็บป่วยทางกายแล้วในด้านสุขภาพจิตก็ไม่ดีนัก ด้วยมีผู้สูงอายุในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะหงอยเหงาและซึมเศร้า เหตุที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของชุมชน

     นอกจากนั้นยังพบว่าเดี๋ยวนี้ผู้สูงอายุมักไม่ค่อยรวมกลุ่มกันเหมือนในอดีตที่มักจะพบปะเจอะเจอกันในงานบุญอยู่เสมอ ส่วนใหญ่มักจะหมกตัวเองอยู่ในบ้าน นั่งนอนดูแต่โทรทัศน์ ไม่ออกไปพบปะพูดคุยทำกิจกรรมกับใคร เหตุดังกล่าวยิ่งส่งผลให้สุขภาพผู้สูงอายุอ่อนแอลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

     ข้อสรุปของวงพูดคุยที่นำไปสู่การจัดทำโครงการ คือ การดึงเอาผู้สูงอายุออกมาจากบ้านเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน พบปะสังสรรค์กัน โดยการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย

     กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนมิได้สิ้นสุดลงเมื่อโครงการยุติลง แต่ยังมีกิจกรรมที่ต่อเนื่องตามมาอีก      กุหลาบ จันทร์สว่าง อสม. และอาสาสมัครผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เล่าถึงกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากการดำเนินงานโครงการฯ หลังจากโครงการได้เริ่มต้นฯ แล้วก็มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากที่ได้รับการสนับสนุน ทั้งนี้ในบางกิจกรรมมีการดำเนินงานควบคู่กันไป เธอเล่าว่า

เดี๋ยวนี้เราจะทำกิจกรรมประจำทุกเดือน มีการไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุด้วย เราจะจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุทุกเดือน ราว ๆ กลางเดือนก็จะเชิญเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัยมาตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ พวกเราก็จะทำกับข้าวเลี้ยง ให้มากินข้างกลางวันด้วยกัน...

     กิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้สูงอายุเป็นอย่างดี เธอเล่าว่า

     มีความสุขมากเลย ตอนทำกิจกรรมพาเขามารวมกัน เห็นเขาร้องให้กอดกันที่เขามีความสุข เราก็เลยร้องตามไปด้วย เห็นเขาร้องก็ร้องด้วย...”

     ไม่เพียงเธอเท่านั้นที่มีความรู้สึกเช่นนี้ ชาวบ้านคนอื่น ๆ ในชุมชนก็มีความรู้สึกที่ไม่ต่างกัน

ผมว่าในความรู้สึกส่วนตัวนะ เดินมาทางนี้ถูกที่ถูกทางแล้ว สมกับความตั้งใจที่อยากเห็นผู้สูงอายุเข้ามาร่วม เห็นสุขภาพเขาดีขึ้น เห็นเขาเดินกันทุกวันอย่างนี้มันเป็นความภาคภูมิใจ ไม่ใช่เฉพาะผมคนอื่นก็เหมือนกันเมื่อก่อนไม่เคยมีแบบนี้...

     วีระวัฒน์ อมราพิทักษ์ กล่าวถึงความรู้สึกของตนเองหลังจากที่เขาได้ร่วมกับแกนนำคนอื่น ๆ ในชุมชนขับเคลื่อนโครงการฯ และเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

     บรรดาความเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบทมีผลอย่างยิ่งต่อผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้น เผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสมมากขึ้นในขณะที่สังคมเองก็ยังมิได้พัฒนากลไกสำหรับมารองรับจัดการกับปัญหาดังกล่าว

     การแก้ปัญหาผู้สูงอายุที่ชุมชนบ้านแหลมกรวด เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชนที่เห็นและใส่ใจต่อปัญหานี้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ และเป็นทางเลือกที่ควรได้รับการขยายผลบอกต่อ

 

อ่านเอกสารถอดบทเรียนฉบับเต็มโครงการฯ นี้ได้ที่นี่ครับ

.

หมายเลขบันทึก: 438605เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

บังมาชวนไปจัดค่ายแล้ ขอให้นัดวันด้วย ที่เกาะจังหวัดพังงาค่ะ

สวัสดีน้องหนาน 1-5 มิย. ถ้าว่างเอาวันนี้เหมาะสุด โทรไปประสานกับผอ.ไว้แล้ว รอคำตอบจากน้องหนานอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท