ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย (ต่อ)


มหาวิทยาลัยที่เน้นการสร้างคนดี

                เขามีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง และใน 1 แห่งนี้มีคณะแพทย์ซึ่งมีชื่อเสียงมาก  มีคณะจากประเทศไทยไปดูงาน ที่ศูนย์คุณธรรมจัด 3 รุ่น รุ่นสุดท้ายเขาจัดกันเอง คุณหมอประเวศ วะสี นำคณะไป มีคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล 2 คณะ คือศิริราชกับรามาฯ และจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และมีคนอื่นๆ อีก ได้รับความประทับใจในเรื่องการเรียนการสอน ที่มหาวิทยาลัยฉือจี้ เขาเน้นเรื่องคุณธรรมอย่างยิ่ง คุณธรรมคือการทำความดี คุณธรรมของเขาเป็นคุณธรรมที่ใครๆ ก็ทำได้ เด็กเล็กเก็บขยะ มาแยกขยะ ก็ทำความดี คนแก่หลังโกงเก็บขยะมา เข็นรถขยะไปโดยไม่เอาอะไรเข้าตัวเอง นำไปขายอาจจะได้วันละ 200-300 บาทก็นำรายได้เข้ากองกลาง แล้วเขาเก็บประณีตมาก ถือเป็นการปฏิบัติธรรมตลอด เหมือนกับที่ท่านพุทธทาสว่าธรรมะคือการทำหน้าที่ การทำหน้าที่และการทำการงานคือการปฏิบัติธรรม เหมือนกันเลย รายได้จากการเก็บขยะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ ได้ 1/4 อีก 3/4 มาจากการบริจาค อาจจะขึ้นชื่อผู้บริจาคเป็นตัววิ่ง แต่ไม่มีโฆษณาสินค้า เป็นสถานีที่นำเสนอแต่เรื่องดีๆ เรื่องความดี เรื่องคุณธรรม และนำเสนออย่างมีศิลปะจนคนนิยมดู ที่เรียกว่าความดีขายได้ถ้าทำได้ดี คำนี้ผมฟังมาจากนักสื่อมวลชนไทย ที่ฉือจี้ เขาทำ เขาเอาเรื่องคนเล็กคนน้อย ใครต่อใครที่ทำดีมาเล่า แต่เล่าอย่างมีศิลปะ ทำให้เรื่องความดีขายได้

                ทีนี้ในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะคณะแพทย์ เขาสอนแพทย์ให้มีจิตใจละเอียดอ่อน เช่น ในหลักสูตรจะมีวิชาการชงน้ำชา เป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อน ต้องนึกถึงว่าชามาจากไหน ใครเป็นคนปลูก ใครเป็นคนทำ มีความเคารพ มีความกตัญญูต่อคนที่ปลูกชา แล้วเวลาจะเอาน้ำชาให้คนอื่นต้องให้ด้วยความเคารพ ให้ด้วยความนอบน้อม มีวิชาศิลปะการเขียนพู่กันจีน ศิลปะการจัดดอกไม้ ที่จริงหลักสูตรหรือวิชาเช่นนี้เขาทำมาตั้งแต่ในระดับโรงเรียน สอนกันมาอย่างนี้ พอถึงมหาวิทยาลัย เขาก็สอนอย่างนี้ต่อ แล้วปรากฏว่าคนที่มาเข้าเรียนที่คณะแพทย์ของเขา ตอนมาเข้าเป็นคนที่ได้คะแนนธรรมดา อาจจะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยด้วยซ้ำไป แต่พอเรียนจบ คะแนนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยที่เขาเน้นเรื่องคุณธรรมเป็นพื้นฐาน รวมถึงความเป็นแพทย์ที่เขาเรียกว่า Humane doctor เป็นแพทย์ที่มีความเป็นมนุษย์ในหัวใจ ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ในการผลิตแพทย์ของประเทศไทยที่สมเด็จพระราชบิดาได้ตั้งต้นไว้ว่าแพทย์ต้องเป็นมนุษย์ที่ดี มนุษย์แปลว่าคนที่มีจิตใจสูง ซึ่งที่ไต้หวัน เขาทำได้จริงและทำเป็นรูปธรรม ที่โรงพยาบาลจะมีการบริการที่แพทย์เอาใจใส่คนไข้อย่างดีมาก ให้ความเคารพนับถือ อ่อนน้อมถ่อมตน และมีอาสาสมัครมาช่วยทำความสะอาด ช่วยเล่นดนตรี ช่วยดูแลคนไข้โดยไม่มีค่าตอบแทน นี่คือการทำความดี

                 จากที่ผมเล่าให้ฟังทั้งเรื่องเวียดนามและไต้หวัน ทำให้มั่นใจว่าการศึกษาของเราต้องเน้นความดีมาก่อน ความดี ความมีคุณธรรมต้องมาก่อน และพิสูจน์แล้วที่ไต้หวัน ที่เวียดนามผมไม่แน่ใจ แต่ที่ไต้หวันแน่ใจ

                ความดีจะนำไปสู่ความเก่ง แม้ไม่ตั้งใจ เพราะอย่างที่ท่านพุทธทาสว่า ความดีคือการทำตามธรรมะ ทำตามหน้าที่ที่ดีสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้าทำความดี ความดีจะช่วยให้มีความรับผิดชอบ มีความอดทน มีความขยัน มุ่งทำประโยชน์ให้คนอื่น มุ่งทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ถ้าจะทำประโยชน์ให้คนอื่นและส่วนรวมก็ต้องมีความสามารถ ไม่อย่างนั้นจะทำได้อย่างไร แต่ความสามารถมีเท่าไรก็ทำเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าต้องรอให้เก่งกาจมาก ทุกคนทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ คนแก่อายุ 80 ก็ยังทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ช่วยเก็บขยะ ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ช่วยดูแลคนที่มารักษาพยาบาล ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมาก แต่ต้องมีใจ  ฉะนั้นผมว่าความดีจะเป็นต้นทาง และเป็นแหล่งที่จะไปสร้างความสามารถ 

แนวทางการสร้างคนที่พึงปรารถนา

                ในความเห็นของผม คนที่พึงปรารถนาน่าจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

                ส่วนแรก การมุ่งมั่นทำความดีกับตนเอง หรือทำความดีให้ตนเอง  คำว่าทำความดีให้ตนเอง คือ พัฒนาตนเอง มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง พัฒนาทั้งจิตใจ ร่างกาย คุณธรรม ความสามารถ และอื่นๆ

                 ส่วนที่ 2 การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้คนอื่น รวมทั้งเห็นคุณค่าคนอื่น ให้ความเคารพคนอื่น การทำประโยชน์ที่ง่ายที่สุดคือเคารพคนอื่น เห็นคุณค่าและความสำคัญของคนอื่น ก็ทำประโยชน์ได้แล้ว

                 ส่วนที่ 3 การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ที่ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนหรือบุคคล ถ้าทำประโยชน์ให้คนอื่น เราอาจจะนึกถึงพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง แต่ทำประโยชน์ให้คนอื่นตามนัยยะของธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นที่ไต้หวันหรือที่ประเทศไทย คือให้คนอื่นที่ไม่จำกัดว่าเป็นชนชาติใด นับถือศาสนาอะไร รู้จัก ไม่รู้จัก ก็ทำประโยชน์ให้ทั้งนั้น ส่วนคำว่าทำประโยชน์ให้ส่วนรวม จะมุ่งไปที่การอยู่ร่วมกัน ให้คนได้อยู่ร่วมกันอย่าง สันติเจริญสุข คือทั้งสันติ ทั้งเจริญ และทั้งสุข ร่วมกัน

                 สรุปอีกทีหนึ่ง คนที่พึงปรารถนาน่าจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) มุ่งมั่นทำความดีให้ตนเองหรือพัฒนาตนเอง 2) มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้คนอื่น และ 3) มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม

                ทีนี้ การจะเป็นคนที่พึงปรารถนาได้ น่าจะต้องทำดังต่อไปนี้ คือ

                1) ทำความดี ผมใช้คำว่าทำความดี ไม่ใช่เป็นคนดี ทำความดีสำคัญกว่าเป็นคนดี เพราะทำความดีนี้ทำได้ทุกวัน  ทำได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น แต่ถ้าเป็นคนดี บางทีคิดลำบาก เราเป็นคนดีหรือเปล่า คนดีต้องรวมหมดทุกอย่าง คนเราอาจจะมีจุดอ่อน อาจจะทำไม่ดีบ้าง ไม่เป็นไร ตราบใดที่เราคิดทำความดีอยู่เรื่อย ส่วนดีจะมากขึ้นๆ  ส่วนไม่ดีจะน้อยลงๆ

                2) สร้างความสุข สุขคือสุขภาวะ ความเป็นสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคมและทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ นี่คือความหมายของคำว่าสุขภาพหรือสุขภาวะที่เป็นสากล คือ หนึ่ง สุขภาพทางกายคือร่างกายอนามัยดี สอง สุขภาพทางใจ จิตใจปลอดโปร่ง สบาย อารมณ์ดี สาม สุขภาพทางสังคม คือ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี และสี่ สุขภาพทางจิตวิญญาณ คือลึกเข้าไปในจิตสำนึก

                  3) พัฒนาความสามารถ เมื่อทำความดี สร้างความสุข แล้วก็พัฒนาความสามารถ เพื่อจะได้ไปทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ให้ส่วนรวมได้

                 เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่าในการผลิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย น่าจะเรียงลำดับดังนี้

                        1. ทำความดี ที่จริงไม่จำเป็นต้องรอจนเป็นบัณฑิต คือในระหว่างที่เป็นนักศึกษาให้เน้นทำความดี

                          2. สร้างความสุข คือ ความสุขนี้ต้องสร้าง ไม่ใช่รอให้มีความสุข รอให้คนอื่นมาทำความสุขให้ สร้างความสุขหมายถึงดูแลร่างกายให้ดีและดูแลจิตใจให้ดี อยู่ร่วมกับคนอื่นดี สุดท้ายคือพัฒนาทางจิตสำนึกหรือจิตวิญญาณ

                        3. พัฒนาความสามารถ

                ถ้านักศึกษาพยายามสร้าง 3 อย่างอยู่ตลอดเวลา คือ 1) ทำความดี 2) สร้างความสุข 3) พัฒนาความสามารถ ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา 

แนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย

                มาถึงประเด็นที่ว่า ถ้าจุดมุ่งหมายเป็นอย่างนั้น ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยน่าจะทำอย่างไรที่เป็นองค์รวม ที่บูรณาการ  การที่จะได้บัณฑิตที่ทำความดี สร้างความสุข พัฒนาความสามารถ สู่การเป็นมนุษย์หรือเป็นคนที่พึงปรารถนา คือคนที่มุ่งมั่นพัฒนาความสามารถตนเอง มุ่งมั่นทำความดีให้คนอื่นหรือทำประโยชน์ให้คนอื่น และมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยคงจะต้องคิดเชิงบูรณาการ ซึ่งมากกว่าที่จะเน้นการผลิตนักศึกษาอย่างเดียว การบูรณาการที่ว่านั้นน่าจะประกอบด้วยอย่างน้อย 5 ประการ

                        ประการที่ 1       คงจะต้องเริ่มที่นโยบายของมหาวิทยาลัย เพราะนโยบายคือแนวทาง ทิศทางใหญ่ที่จะกำกับการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย นโยบายน่าจะรวมถึงการมีวิสัยทัศน์ มีปรัชญา ที่ลึกเข้าไปถึงขั้นเป็นจิตวิญญาณและเป็นวัฒนธรรม ซึ่งจิตวิญญาณและวัฒนธรรมคงสร้างทันทีไม่ได้ แต่ค่อยๆสร้างได้ ถ้ามีนโยบายชัดเจนว่ามีวิสัยทัศน์ มีปรัชญาอย่างไร จะนำไปสู่การสร้างจิตวิญญาณและวัฒนธรรม

                         ประการที่ 2       เรื่องสภาพแวดล้อม ไปดูที่ไต้หวัน การจัดสภาพแวดล้อม ไม่ว่าอาคารสถานที่ มีภาพดีๆ มีประติมากรรมดีๆ เช่น รูปปั้นคนเก็บขยะ ให้เห็นคุณค่าของการเก็บขยะ รูปปั้นแสดงแพทย์ดูแลคนไข้อย่างไร อาสาสมัครมาช่วยอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น แม้กระทั่งทางเดินก็เอาใจใส่ ดูแลสภาพแวดล้อมดินให้มีโอกาสหายใจ ไม่ไปเทคอนกรีตเต็มไปหมด สภาพแวดล้อมเช่นนี้สำคัญและจะช่วยเป็นเครื่องสอนใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากที่เป็นความเรียบร้อยสวยงาม

                        ประการที่ 3       คุณภาพและบทบาทของบุคลากร รวมทั้งผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ต้องไปด้วยกัน จะผลิตบัณฑิตที่ดีโดยที่ผู้บริหาร อาจารย์ ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี หรือสร้างบรรยากาศที่ดีนั้น ย่อมได้ผลน้อย ฉะนั้นจริงๆ แล้ว เรื่องการสร้างความดีในมหาวิทยาลัยต้องรวมถึงความดีของผู้บริหาร ของอาจารย์ ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเป็นแม่แบบ เป็นตัวอย่างที่เห็นกันทุกนาทีให้แก่นักศึกษา ฉะนั้นคุณภาพและบทบาทของผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ จึงสำคัญ

                        ประการที่ 4       ตัวนักศึกษา ซึ่งจะต้องมีวิธีการในการจัดการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อการทำความดีของนักศึกษา เอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะรู้จักสร้างความสุขที่แท้จริงและมีคุณค่า เอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะพัฒนาความสามารถ และเอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะพยายามเป็นคนที่สมบูรณ์ด้วยการพัฒนาตนเอง ช่วยคนอื่น ช่วยส่วนรวม  และคำว่า นักศึกษา นี้จะต้องรวมไปถึงครอบครัวนักศึกษา และผู้ปกครองด้วย ที่เวียดนามเขาเล่าให้ฟังว่า ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองสัมพันธ์กันมาก ครูจะรู้จักผู้ปกครองและติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำ ชุมชนเขาจะมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนมาสัมพันธ์กับโรงเรียน ดูแลช่วยเหลือทั้งโรงเรียนและครู ฉะนั้นผู้ปกครองก็สำคัญ

                         ประการที่ 5       ใช้แนวทางที่อาจจะสรุปได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายและจัดการความรู้ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เครือข่ายของอาจารย์ เครือข่ายของนักศึกษา เครือข่ายใหญ่ เครือข่ายเล็ก เครือข่ายของเครือข่าย คือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ จะแยกไปตามคณะ ตามภาควิชา หรือตามความสนใจ และมีกิจกรรมที่ดี มีการจัดการความรู้ คือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่ม ระหว่างคณะ ทั้งในหมู่อาจารย์และนักศึกษา และสามารถจะคละกันได้หมดทั้งอาจารย์  นักศึกษา ผู้ปกครอง  การที่มีเครือข่าย มีการจัดการความรู้อยู่เนืองๆ และต่อเนื่อง จะช่วยทำให้สิ่งที่เป็นความดีความงามถูกค้นหา และปรากฏ เป็นการมาเปรียบเทียบแลกเปลี่ยน เก็บเป็นองค์ความรู้ ผสมผสาน ยกระดับให้เป็นความรู้ที่มีความหมายยิ่งขึ้น เอาไปประยุกต์ใช้ เอามาปรับปรุงหรือพัฒนาใหม่ อาจจะมีการศึกษาวิจัยตามมาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ฉะนั้น เรื่องความดี ความสามารถต่างๆ จะเป็นประเด็นที่เอามาพูดจากัน ค้นหา แลกเปลี่ยนและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

                         ผมคิดว่าทั้งหมดนี้น่าจะเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยจะในหรือนอกระบบก็ตาม หรือจะเป็นสถาบันการศึกษาแบบอื่นที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยก็ตาม น่าจะนำไปปฏิบัติได้ เพื่อจะให้สอดคล้องกับแนวทางที่เน้นความดี ขณะเดียวกันก็ให้มีความสุขและมีความสามารถ และทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ชอบธรรมต่อตนเอง พร้อมทั้งเพื่อประโยชน์อันมีคุณค่าต่อผู้อื่น ประโยชน์อันมีคุณค่าต่อส่วนรวม และกว้างที่สุดคือประโยชน์อันมีคุณค่าต่อมวลมนุษย์ 

เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์ 

                       ถ้าจะขอพระบรมราชานุญาตนำเอาพระราชปณิธาน เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม มาประยุกต์ เป็นคำพูดที่เป็นปณิธานแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปณิธานนี้น่าจะมีถ้อยคำทำนองนี้คือ

                        เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์

                         เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม โดยธรรมก็อย่างที่อธิบายแล้วว่าธรรมะคืออะไร เพื่อความสันติเจริญสุข คือเพื่อสันติภาพ ความเจริญ และความสุขร่วมกัน ขอเน้นคำว่า ร่วมกันของมวลมนุษย์ ซึ่งถ้าเผื่อว่าจะพัฒนาก้าวหน้ากว่านี้ในอนาคตอันไกล อาจจะหมายความรวมถึงสรรพสิ่งในจักรวาลด้วย  นั่นแปลว่าจิตวิญญาณเราก้าวไปไกลมาก ถึงขั้นที่มองสรรพสิ่งในจักรวาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งถึงตอนนั้นคงเป็นในขั้นที่เราเรียกกันว่ายุคพระศรีอาริย์ แม้ว่าจะไปถึงหรือไม่ถึง แต่ถ้าเรามุ่งไปสู่ทิศนั้น คือ เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์ ผมคิดว่าน่าจะเป็นปณิธานที่ดี ที่อาศัยพระบรมราชปณิธาน เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม มาเป็นหลักให้ประยุกต์ใช้ ก็จะถือว่าเป็นการอาศัยคุณูปการจากความเป็นธรรมราชาและมหาราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา คิดอย่างไรกับ

ธรรมัตตาธิปไตย 

               (ตอบคำถามครั้งที่ 1) ขอแลกเปลี่ยนความเห็น คงไม่มีอะไรผิด อะไรถูก ที่อาจารย์ใช้คำว่า ธรรมัตตาธิปไตย ก็เหมาะสม มีคนบอกว่าคนที่ยึดถือตัวตนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือคนซึ่งอ้างว่าเป็นคนมีคุณธรรม มีศีล เลยคิดว่าถ้าศีลแบบอื่นไม่ถูก ต้องศีลแบบเรา หรือคุณธรรมแบบอื่นไม่ถูก ต้องคุณธรรมแบบเรา ก็เป็นความจริง แสดงว่าการเข้าถึงธรรมะยังไม่ถึงขั้น ถ้าตีความตามนัยยะที่ท่านพุทธทาสก็ดี ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโตก็ดี พูดถึง

                ผมคิดง่ายๆ จากแนวทางที่ผมเสนอและอาจารย์จุมพลได้กรุณาพูดซ้ำ คือ ถ้าเรามาเน้นเรื่องทำความดี จะคลายตัวไปได้ ทำความดีหมายถึงการทำประโยชน์ให้คนอื่น ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม และพัฒนาตนเอง ถ้าเรามาเน้นตรงนี้ ก็ไม่ต้องไปพูดว่าเราดีกว่าใครหรือไม่ดีกว่าใคร มุ่งทำความดีไปเรื่อยๆ ทำประโยชน์ให้คนอื่น ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ถ้าเกี่ยวกับตนเองก็พัฒนาตนเอง การพัฒนาตนเองที่ผมกล่าวไปแล้วก็กลับมาเรื่องทำความดี และสร้างความสามารถ สร้างสุขภาวะ ทำให้ร่างกายจิตใจเข้มแข็งไปด้วย เราเน้นให้นักศึกษาทำอย่างนี้ และอาจารย์ด้วยทำอย่างนี้ ทำความดี แม้เป็นความดีเล็กๆก็ถือว่าดี

                ที่ศูนย์คุณธรรม ปีที่แล้วเรารณรงค์ว่า ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว ก็ตรงกับขบวนการฉือจี้ที่ไต้หวัน เขาเริ่มต้นจากคน 20 กว่าคน เริ่มด้วยการบอกว่า ทำเลย ทำความดีเลย ไปช่วยคนอื่นเลย เห็นคนเขาเดือดร้อนไปช่วยเขาเลย และช่วยแบบเอาตัวเองไปช่วย ภิกษุณีที่เป็นผู้นำของฉือจี้เริ่มต้นด้วยการถือหลักว่าไม่รับบิณฑบาต ไม่รับความช่วยเหลือจากคนอื่น ถ้าคนอื่นจะช่วยเหลือ ก็เอาสิ่งที่คนอื่นช่วยเหลือไปช่วยคนอื่นต่อ ทั้งหมด 100% ฉะนั้นการกินอยู่ต้องเลี้ยงตัวเอง มีคติว่า ไม่ทำ ไม่กิน ถ้าไม่ทำงานไม่กิน ฉะนั้น เขาก็ปั้นเทียนไขขาย ปลูกพืชต่างๆ ไว้กินเอง และกินอยู่เรียบง่ายมาก จึงสร้างศรัทธาได้มาก เพราะทำความดีอยู่เรื่อย เขาชวนสมาชิก 20 กว่าคนซึ่งเป็นแม่บ้าน ออมเงินวันละ 25 เซ็นต์ หรือประมาณวันละบาท เก็บใส่กระบอกไม้ไผ่เอาไว้คอยช่วยคนอื่น เล็กๆ น้อยๆ

                  ฉะนั้น ถ้าเราเน้นเรื่องทำความดี ผมคิดว่าความดีเป็นความหมายสากลได้ ไม่ต้องเป็นธรรมะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นความดีในวิถีชีวิต ทุกคนทำได้ และทำได้เลย ทำไปเรื่อยๆ ทำให้คนอื่นได้ประโยชน์ ให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ ความติดตัวตนจะลดลง ถ้าได้มาปฏิบัติธรรมตามแนวทางพุทธธรรม จะทำให้การติดตัวตนคลายออกมากขึ้น จนกระทั่งเราไม่มีคำว่าธรรมัตตาธิปไตย จะหายไปเอง แต่ถ้าเรานึกว่าเราเป็นคนดี เราเริ่มติดตัวตนแล้ว และอาจคิดว่าคนอื่นไม่ดี หรือไม่ดีเท่าเรา 

บทบาทของใคร และควรเริ่มต้นอย่างไร

                (ตอบคำถามครั้งที่ 2) พูดเรื่องอธิการบดี ผมกำลังได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีอยู่แห่งหนึ่ง มีใครแถวนี้น่าสนใจช่วยบอกผมด้วย ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด

                ผมคิดว่าที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายให้ความคิดเห็น รวมทั้งตั้งคำถาม เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีคุณค่ามาก ที่จริงวันนี้คนที่สำคัญคือพวกท่าน มากกว่าเราสองคน เพราะอาจารย์โคทมแม้เป็นอดีตอาจารย์ที่นี่ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้เป็นแล้ว คนที่สำคัญที่สุดคือคนที่ยังทำหน้าที่อยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนที่ยังมีกิจกรรมอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่คือเจ้าของเรื่องที่แท้จริง คือผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตนักศึกษา ผมคิดว่านี่เป็นประชาคมผสมผสานที่สำคัญยิ่ง ฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น จะดีไม่ดีอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับประชาคมนี้ ประชาคมนี้มีจำนวนมากมายหลากหลาย แต่ถ้าให้แคบลงมาคือท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี้ เพราะพวกเรามานั่งคุยกันในเรื่องนี้ และพรุ่งนี้จะไปคุยกันต่อ ที่จริงสามารถจะนั่งสนทนากันได้อีกยาวนานและคงมีแง่มุมต่างๆ มากมาย

                 แต่เนื่องจากเวลาหมดแล้ว ผมขอให้ความคิดเห็นสั้นๆ ในเชิงแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด หรือไม่ใช่ว่าสิ่งที่ผมพูดจะดีที่สุด ผมคิดว่าง่ายๆ เรื่องทั้งหลายถ้าเราคิดเชิงพัฒนา ผมก็อยู่ในกระบวนการพัฒนา พัฒนาสังคม พัฒนาต่างๆ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าทำที่สุดคือเริ่มจากการทำความดี หรือทำสิ่งที่ดีๆ เริ่มตรงนี้ก่อนและเริ่มที่ตัวเอง เริ่มที่กลุ่มเรา เริ่มที่หน่วยงานเรา ถ้าทำความดีอะไรได้ ทำเรื่องดีๆ อะไรได้ ก็ทำเลย เมื่อทำอย่างนี้ และทุกแห่งทุกคนทำอย่างนี้ จะเปิดโอกาสให้เราทำสิ่งถัดไป ที่ขอใช้คำว่า จัดการความรู้ รายละเอียดทั้งหลายท่านคงทราบอยู่แล้วหรือถ้าต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาหรือลองทำกัน ผมไม่ทราบว่าที่นี่ทำเรื่องจัดการความรู้มากน้อยแค่ไหน

                 คำว่าจัดการความรู้ ย่อๆ คือการไปค้นหาความดี ค้นหาความสามารถ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อจะได้มีมาตรฐาน หรือตัวชี้วัดความสามารถที่สำคัญ เราจะได้พัฒนาความสามารถขึ้นไปอีก พัฒนาความดีขึ้นไปอีก ฉะนั้นเมื่อลงมือทำความดี ทำเรื่องดีๆ จัดการความรู้ ค้นหาสิ่งที่ดี นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็จะพัฒนาทั้งความดี พัฒนาความสามารถ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต้องเน้นคำว่าทำไปเรื่อยๆ ทำต่อเนื่อง เรื่องการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม พัฒนาชุมชน เป็นเรื่องต้องใช้เวลา แต่ไม่มีทางเลือกอื่น เราต้องทำไป คือ ทำไปเรื่อยๆ จะดีขึ้น ที่มีปัญหามากก็จะมีปัญหาน้อยลง ที่ท่านทั้งหลายพูดว่ามีอุปสรรคนานาประการ สะสมมายาวนาน จะให้หายไปในวันนี้พรุ่งนี้คงไม่ได้ ต้องค่อยๆเป็นไป ซึ่งมีข้อพิสูจน์แล้ว ว่าสามารถนำสู่ความสำเร็จได้จริง ที่จริงมีเรื่องดีๆ ในประเทศไทยมากมาย อาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงสันติอโศก เขาเริ่มจากคนๆเดียว แล้วทำไปใหม่ๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ต่อว่าต่อขานเยอะเลย แต่เขามุ่งมั่นทำความดีไปเรื่อย ถึงวันนี้ต้องถือว่าสันติอโศกเข้มแข็งมากและทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย โดยเขาไม่เรียกร้องอะไร ทั้งนี้ใช้เวลาหลายสิบปีเหมือนกันคิดว่าประมาณ 40-50ปี

                  ฉือจี้ที่ไต้หวัน ภิกษุณีที่เป็นคนเริ่มต้น ตั้งปณิธานไว้ว่าจะทำ 4 อย่าง อย่างละ 10 ปี ได้แก่

                1. ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

                 2. รักษาพยาบา

                3. การศึกษา

                 4. มนุษยธรรมและวัฒนธรรม

                  เขาทำมา ปีนี้ครบ 40 ปีพอดี เขาทำครบทั้ง 4 อย่างภายใน 40 ปี จากเริ่มต้น 23 คน เดี๋ยวนี้มีคนหลายล้านคนทั่วโลก เป็นขบวนการที่คุณหมอประเวศบอกว่าเป็นขบวนการมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระที่ได้รับมอบหมายจากศูนย์คุณธรรมไปทำการวิจัย ใช้เวลา 6 เดือน แต่ใช้ชีวิตในไต้หวัน 5 ปีเป็นพระอยู่ที่นั่น ท่านบอกว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติเชิงคุณธรรม ที่เรียกว่าบรรษัทข้ามชาติเพราะเกาะเกี่ยวโยงใยเหมือนบรรษัทข้ามชาติทางธุรกิจเลย เพียงแต่ทำเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม แล้วใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการบริหารจัดการเทียบเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะคนที่มาช่วยบริหารจัดการเป็น CEO ของมูลนิธิขณะนี้ เป็นนักธุรกิจชาวไต้หวันแต่ไปอยู่อเมริกา เป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่งแต่เลิกทำเอง ปล่อยให้ลูกหลานทำ แล้วมาบริหารงานเต็มเวลาในฐานะอาสาสมัคร นอกจากนั้นยังมีนักธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ มากมายมาเป็นอาสาสมัครช่วยกันทำงาน ช่วยให้กิจกรรมของขบวนการฉือจี้เป็นไปด้วยดีมากๆ

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 43855เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อยากให้บอกค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยฉือจี้ที่ไต้หวันหน่อยคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท