กลุ่มสังคมเพื่อนแรงงานนอกระบบเขตบึงกุ่ม


 

กลุ่มสังคมเพื่อนแรงงานนอกระบบในเมือง : กรณีกิจกรรมครบวงจร เขตบึงกุ่ม

                บ้านหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนต่างปรารถนามีบ้านไว้พักพิงแต่หลายชีวิตกว่าจะหาบ้านได้สักหลังต้องใช้เวลาเก็บออมเงินด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะแรงงานอพยพย้ายถิ่นเข้ามาประกอบอาชีพในเมืองหลวงการหาบ้านซุกหัวนอนผ่อนคลายความเหนื่อยล้ายิ่งเป็นเรื่องยาก แต่ชาวชุมชนสามัคคีพัฒนาเขตบึงกุ่มร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคจนมีบ้านพักอาศัยแม้ว่าจะเป็นเพียงบ้านในที่เช่าแต่ก็เป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่และเมื่อชาวชุมชนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อนในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเพื่อการคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิการแรงงาน( สสร.) พลังการเรียนรู้ของกลุ่มสังคมเพื่อนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถนำทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่ประสานเข้ากับความรู้ใหม่จากสสร.ทำให้เป็นกลุ่มสังคมเพื่อนมีกิจกรรมครบวงจรทั้งการสะสมทุนเพื่อบ้านหลังใหม่ในอนาคต การประกอบอาชีพและการช่วยเหลือกันในชุมชนที่เรียกว่าสวัสดิการชุมชน

ความเป็นมาของชุมชนสามัคคีพัฒนา  เขตบึงกลุ่ม

ปี  พ.ศ.2525 

                เดิมพื้นที่ของชุมชนเป็นที่รกร้างของบริษัทรัตนโกสินประกันภัยเช่าไว้เป็นที่นำเอารถยนต์เก่าๆมาทิ้งไว้ ผู้อพยพย้ายถิ่นจึงเข้ามาปลูกเพิงพักพิงหรือบ้านที่อยู่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินประมาณ 30 หลังคาเรือน  ส่วนหนึ่งอพยพการไล่รื้อมาจากชุมชนเขตคลองเตยและมีคนอยู่ใกล้พื้นที่ก็เข้ามาจับจองเพื่อใช้ประโยชน์

 

ปี พ.ศ. 2535 - 2539

1.จัดตั้งแกนนำเป็นคณะกรรมการชุมชนเพื่อประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานภายนอกที่ให้การสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่ม  เริ่มขั้นตอนการดำเนินงานบริหารกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคพื้นฐานจำเป็นต่อการอยู่อาศัยของชุมชนคนจนเมือง  น้ำไฟทะเบียนบ้าน(ชั่วคราว) จำนวนสมาชิกโดยประมาณ 80-90 หลังคาเรือน

2. จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ที่ต้องการออกไปประกอบอาชีพโดยหาอาสาสมัครภายในชุมชนดูแลและสอนหนังสือ  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยผ่านเครือข่ายชุมชนสหกรณ์เคหสถานชุมชนเมืองแห่งประเทศไทยจำกัด  และศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาคนจนเมืองที่มาให้ความรู้ต่างๆ

 

ปี พ.ศ. 2540 - 2543

                 แกนนำชุมชนถูกดำเนินคดีฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่จากผู้เช่าที่ดินดั้งเดิม  ชุมชนจึงดำเนินการเจรจาขอเช่าที่ดินตรงต่อมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ เนื่องจากผู้เช่ารายเดิมใกล้หมดสัญญาโดยเสนอแผนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดูดีกว่าเดิม เช่น ถนน/ซอย บ้านที่ได้รับผลกระทบต่อการพัฒนาปรับปรุงจำนวน 104 หลังคา ต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการจำนวน 300,000 บาท ชุมชนต้องร่วมผิดชอบดำเนินการโดยระดมทุนทั้งภายในชุมชนและภายนอกภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชน โดยการจัดเดินการกุศลจากชุมชนสู่สำนักงานเขตบึงกลุ่ม ได้เงินมาปรับปรุงสภาพชุมชนแต่ยังไม่สามารถเช่าที่ได้เนื่องจากชาวชุมชนไม่ใช่นิติบุคคลจึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหกรณ์เพื่อที่อยู่อาศัย

ปี พศ. 2544 - 2553

จัดตั้งองค์กรโดยใช้รูปแบบสหกรณ์มาบริการ ชื่อสหกรณ์เคหสถานนวมินทร์บุญส่ง จำกัดจัดการที่อยู่อาศัยให้กับสมาชิกจำนวน 593 ครอบครัว รวมประชากรทั้งสิ้น 2000 กว่าคน  ดำเนินการจดทะเบียนได้เมื่อ 24 กุมภาพันธ์  2544 และการดำเนินการเซ็นสัญญาเช่าที่ดินต่อมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์เมื่อ  15 กุมภาพันธ์  2544  ระยะเวลาในการเช่า  21  ปีและต่อสัญญาเช่าทุก 3 ปี จำนวนที่ดินทั้งผืน 40 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา ตลอด10 ปีที่ผ่านมาการเช่าที่ดินกับมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์  สหกรณ์ฯ ชำระค่าเช่าที่ดินเดือนละ 52,572 บาท ด้วยดีไม่เคยผิดสัญญาเช่าโดยความร่วมมือกับคณะกรรมการชุมชนและแกนนำกำหนดบทบาทของกรรมการและสมาชิกรวมทั้งแผนงานดำเนินการพัฒนาพื้นที่      สมาชิกสหกรณ์ฯสนับสนุนให้เกิดกลุ่มต่างๆ  ที่อยู่ภายใต้   โครงสร้างดำเนินการทั้งสหกรณ์ฯ และชุมชนเพื่อการอยู่ร่วมกัน  ร่วมรับรู้ดำเนินการและรับผิดชอบภายใต้องค์กรชุมชนร่วมกัน

สรุปความคาดหวังเดิมของชุมชน  การมีที่อยู่ที่มั่นคงขึ้นและเตรียมการเพื่อที่อยู่อาศัยที่มั่นคงหลังจากหมดสัญญาเช่า  พัฒนาศักยภาพของสมาชิก  พัฒนาคุณภาพ  สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนและ การเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันให้ดีขึ้น

ความคาดหวังใหม่ที่เข้าร่วมโครงการสสร.   การสร้างกลุ่มแรงงานที่ดูแลแรงงานนอก-ใน ระบบ เกิดจิตสำนึกร่วมกันภายในชุมชน การนำโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเพื่อการคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิการแรงงาน (สสร.) โดยรศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ มาใช้ในการทำกิจกรรมให้มีความชัดเจนในพื้นที่ของชุมชนและเป็นการบูรณาการและเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกโดยรวมแม้จะต่างแนวคิดแต่จุดหมายเดียวกันเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนและชุมชนที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม 

 

ปี พศ. 2552 ปัจจุบัน เข้าร่วมกลุ่มสังคมเพื่อน 

                คุณขันแก้ว สันแดง แกนนำของกลุ่มให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเริ่มเข้าสู่โครงการ สสร.ว่า”ประธานสหกรณ์ฯชื่อคุณประจวบ ทิศทอง   ได้มาปรึกษาว่ามีโครงการของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐจำไม่ได้ว่าชื่อโครงการอะไรแต่ต้องการแกนนำที่สามารถรวมคน เพื่อนบ้านเอามาคุยกันได้  มีค่าอาหารให้คนละ 50 บาท ตอนนั้นคิดว่าไม่ยากอะไรแค่หาคนมาคุยกันเราจะได้เพื่อนที่ได้รู้ใจ เราอยากจะได้ใจเพื่อนในชุมชนอยู่แล้วจึงตอบตกลง   เมื่อได้ประชุมกับ อ.ปรีชา  เดชทองจันทร์ที่ปรึกษาโครงการสสร.ที่จุฬาฯ น่าจะ 3 หรือ 4 ครั้ง และเกิดความเข้าใจตามสโลแกนของกลุ่มสังคมเพื่อนว่า ปรับทุกข์ ผูกมิตร ร่วมคิด ร่วมแก้ แล้วก็เลยมาจัดประชุมได้  ประกอบกับประธานสหกรณ์ฯเล็งเห็นว่ามันน่าจะผนวกกับเป้าหมายของสหกรณ์และชุมชนในเวลามีกิจกรรม ก็คือเวลาชุมชนมีกิจกรรม เราก็เอากลุ่มสังคมเพื่อนเข้ามาแล้วเราก็ประชุมทีเดียวเลยกลุ่มสังคมเพื่อนก็ได้ความรู้ของโครงการตามที่เราและแกนนำไปประชุมมาก็มาเผยแพร่แล้วทางสหกรณ์เราก็ได้ประโยชน์ทำงานควบคู่กัน มีประโยชน์อย่างมากแล้วท่านประธานชุมชนและประธานสหกรณ์ทั้งสองก็ให้การสนับสนุน”

พัฒนาการและกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มเรียนรู้ชุมชนสามัคคีพัฒนา บึงกุ่ม 

                คุณขันแก้วแกนนำของกลุ่มสังคมเพื่อนได้เริ่มรับสมัครสมาชิกกลุ่มที่มีคุณสมบัติว่าต้องอายุ 18 ปีขึ้นไปจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบก็ได้และสนใจการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน กลุ่มแรกได้สามชิก 20 คน ใช้ศาลาเอนกประสงค์ของชุมชนสามัคคีพัฒนาเป็นที่พบปะพูดคุยกันเวลา 18.00 น สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง คุณขันแก้วเล่าว่า “ตอนแรกๆของการเข้ากลุ่มสังคมเพื่อน เวลาประชุมส่วนมากสมาชิกจะไม่ค่อยคุย  ไม่ค่อยถาม คุณขันแก้วจะเป็นคนพูดส่วนใหญ่  โดยเอาความรู้ที่ไปอบรมมา จากที่ประชุมแกนนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนๆไม่ค่อยได้ถาม นอกจากจะคุยเรื่องสหกรณ์ที่เขาพบว่ามีข้อสงสัย ก็จะมีการซักถาม  แต่ถ้าเรื่องภายนอก ไกลตัวจะไม่ค่อยถาม เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาน้อย เช่น  ขับซาเล้ง  ขายของเก่า  ค้าขายเร่แบบทั้งรถเข็นและเป็นแผงริมทางเท้า   ทำงานก่อสร้าง   เย็บผ้า ร้อยดอกไม้  แม่บ้าน   มีสมาชิกเป็นพนักงานประจำบริษัท และโรงงานบ้าง จึงต้องจัดวันอาทิตย์ประชุมประจำเดือนของเราเขาจะได้ร่วมประชุมได้ด้วย  ถ้าเป็นวันธรรมดาเขาจะขาดงานไม่ได้”

                เมื่อจัดกลุ่มสังคมเพื่อนได้ 2-3 ครั้งสมาชิกกลุ่มมีการพูดคุยปรึกษากันมากขึ้น “กลุ่มจะคุยในเรื่องที่สร้างสรรค์เช่นทำอย่างไรให้ชุมชนของเรามีอาหารกิน  มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  มีเงินทองใช้ปัญหาที่มันใกล้ตัวก็นำมาแก้กันก่อน เพื่อนในแต่ละคนที่มาก็จะเอาปัญหาของตนเองมาเล่า ปัญหาแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน   ส่วนใหญ่เพื่อนจะมาพูดเรื่องปัญหาเงินไม่พอใช้  เริ่มนำปัญหาแต่ละอย่างที่เพื่อนมาพูดก็เอามาแก้  แต่บางปัญหาก็จะบอกเขาว่ามันไม่แก้ได้ในเวลานั้นบางปัญหามันหนักหนาสาหัสมันต้องใช้เวลา  แต่เราก็ฟัง ปัญหาการเงิน เงินไม่พอใช้ก็จะแนะนำให้ทำบัญชีครัวเรือนกัน  ให้เพื่อนเขียนรายการใช้จ่าย เพื่อนก็ทำมา บางคนก็เขียนหนังสือไม่เป็นก็ให้ ลูกเขียนมาให้  ก็รวบรวมงานของเพื่อนมาแล้วคุยกันว่าการใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดออกไม่ใช้ก็ประหยัดเงินได้มาก หลังจากที่เราได้ประชุมกันผ่านไป เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ จากเพื่อนที่ไม่ค่อยคุยกันมันอยู่คนละซอยพอมาประชุม  เขาก็เริ่มเป็นเพื่อนกันมากขึ้น  เขาก็เริ่มรู้จักกัน  จากคนที่อยู่แถบท้ายบึง เพื่อเขาก็เริ่มใกล้ชิดกัน  คุยกันมาถามกันจำหน้าเพื่อนได้ มีการเปลี่ยนแปลงมีการคุยมากขึ้น  ได้ความสนิทมากขึ้น ถามสารทุกข์สุขดิบกัน  มีปัญหาหนักก็จะกล้ามาพูดได้โดยตรง เช่น  การยืมเงินเพื่อนในกลุ่มก็ให้ยืม ทำให้ไม่ต้องยืมเงินจากการกู้นอกระบบมาใช้  เราก็สามารถช่วยเหลือเพื่อน  ช่วยเหลือคนที่เขาลำบากมาก  ในที่นี้ก็มีคนที่จนมากๆ  ถึงขนาดไม่มีเงินซื้อข้าวให้หลานกิน ไม่มีเงินให้ลูก  พอมีกลุ่มขึ้นมาเขาก็กล้าที่จะมาบอก มาขอยืมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป  รู้สึกมันดีมากค่ะ”

          ความรู้และการเรียนรู้ของกลุ่มสังคมเพื่อน

                โครงการสสร. ให้การอบรมความรู้แก่แกนนำของกลุ่มสังคมเพื่อนได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน ที่มีประสบการณ์เรื่องสหภาพแรงงาน มาแลกเปลี่ยนได้เรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำของรายได้ของสหภาพรุ่นแรกๆ ซึ่งแรงงานรุ่นหลังๆ แม้ว่าเป็นแรงงานในระบบก็ไม่ค่อยจะรวมตัวกัน  แกนนำสังคมเพื่อนเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนความรู้กันซึ่งกันและกันและหวังว่าจะสามารถจะช่วยกันผลักดันแรงงานให้ได้รับค่าแรงที่เหมาะสม

นอกจากนี้หากแกนนำกลุ่มสังคมเพื่อนสงสัยหรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องใดโครงการสสร.จะเชิญผู้รู้ด้านนั้นๆมาให้ความรู้เช่น กลุ่มสังคมเพื่อนที่มีปัญหาเรื่องที่นายจ้างไม่ได้เอาเงินประกันสังคมจ่ายให้กองทุนประกันสังคมเวลาเกิดปัญหาเจ็บป่วย ลูกจ้างไม่ได้สิทธิประกันสังคม  ซึ่งแกนนำก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมมากขึ้นและสามารถจะนำความรู้นั้นมาเผยแพร่กับสมาชิกกลุ่ม แกนนำกล่าวว่า “ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ไปเข้าโครงการฯ เพราะอาจารย์ให้ในสิ่งที่เราไม่ได้คิดว่าเราจะเรียนรู้เพราะประสบการณ์ของแรงงานเหล่านั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก”    

                การขยายจำนวนสมาชิ

                   กลุ่มสังคมเพื่อนชุมชนสามัคคีพัฒนาจัดการประชุมประจำเดือนสมาชิกกลุ่มใหญ่ที่รวมสมาชิกทุกรุ่น 120 คนประชุมได้ประมาณ 4 -5 ครั้ง  แกนนำคิดเสริมสร้างความสามัคคีด้วยการจัดประชุมนอกสถานที่พร้อมๆกับการท่องเที่ยวไหว้พระขอพรเมื่อมีคนที่ไม่ใช่สมาชิกสนใจจะไปท่องเที่ยวด้วยต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนถือว่าเป็นการขยายสมาชิกที่ได้ผลมาก ต่อมากลุ่มคิดว่าควรจะต้องมีกิจกรรมที่ยึดเหนี่ยวสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงมีการเสนอ ทำสวนครัวใกล้บึงน้ำที่เป็นที่ว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์  ประธานสหกรณ์ฯซึ่งเป็นผู้เช่าที่ทั้งหมดจากมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ ยินดีที่จะทำให้กลุ่มสังคมเพื่อนใช้ที่ดินทำสวนครัวได้  สหกรณ์ไม่เก็บค่าเช่าที่ดิน เพราะประโยชน์เกิดแก่สมาชิก และกลุ่มจะได้ยั่งยืน   

                กิจกรรมการออม

                ก่อนที่จะเข้าร่วมกลุ่มสังคมเพื่อนชุมชนสามัคคีพัฒนามีกิจกรรมการออมทรัพย์ของกลุ่มผู้หญิง ออมวันละหนึ่งบาทตั้งแต่ปี พศ. 2543 แต่อย่างไรก็ตามสมาชิกกลุ่มก็ยังประสบกับปัญหารายได้ไม่พอกับราจ่ายโดยเฉพาะเมื่อต้องการลงทุนหรือเจ็บป่วย โครงการสสร.จึงสนับสนุนการออมให้เกิดขึ้นในกลุ่มสังคมเพื่อนเมื่อเดือดร้อนจะได้มีเงินของกลุ่มช่วยบรรเทาไว้ เริ่มจากการออมวันละบาทเดือนละ 30 บาท ออมเดือนละครั้งหักจากค่าอาหารที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมอาทิตย์ละครั้ง เดือนหนึงประชุมสี่ครั้งเป็นเวลา 3 เดือน สมาชิกจะออมมากกว่านี้ได้ ส่วนเงินจะเก็บไว้ในธนาคารที่กลุ่มเปิดบัญชีไว้ เมื่อโครงการสสร.มีแนวคิดเกี่ยวกับธนาคารแรงงานกลุ่มจึงได้นำเงินของกลุ่มมาฝากไว้กับธนาคารแรงงาน 30,000 บาท กลุ่มสังคมเพื่อนชุมชนสามัคคีพัฒนา  เขตบึงกลุ่มยังได้บริหารจัดการค่าอาหารของโครงการฯมาใช้ประโยชน์ภายในกลุ่มเช่นใช้จ่ายในการติดต่อประสานงาน ช่วยเหลือกลุ่มกิจกรรมต่างๆในชุมชน หรือสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนในชุมชน

 

                 กิจกรรมหารายได้เสริมหรือการมีฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น

                มีการเปิดร้านค้ากลุ่มสังคมเพื่อน ระยะแรกนำบัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือและรองเท้าแตะมาขายให้สมาชิก ถ้ามีเงินกำไรจากการขาย 3 % เข้าโครงการ 7% เข้ากลุ่ม มีกลุ่มอาชีพ มีการร้อยลูกปัดขายของสมาชิกกลุ่ม  ในตอนแรกก็เป็นที่นิยม แต่พอระยะหนึ่งก็เริ่มขายไม่ได้จึงหยุด  แต่ยังมีสินค้าคงเหลือ ตอนนี้เริ่ม การปลูกผักสวนครัว  การขายของของสหกรณ์   การนำโครงการในการปลูกผักสวนครัวในบึง 8  ไร่ไปเสนอกับทางสมาชิกสภากรุงเทพฯ และสมาชิกสภาเขต  เข้ามาเป็นแหล่งทุนในการพัฒนาในด้านงบประมาณต่อไป

 

                ผลของกลุ่มสังคมเพื่อน

                ผลจากการประชุมกลุ่มสังคมเพื่อนตั้งแต่กลุ่มที่ 1- 5 รวมสมาชิกกลุ่มสังคมเพื่อน 120 คนนั้น  เพื่อนเหล่านี้สามารถช่วยเวลาที่องค์กรภายนอกขอความร่วมมือเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เช่นศูนย์ประสานงาน สปสช.จะเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่าง พรบ.การเสียหายจากการรักษาของแพทย์และการเข้าชื่อเสนอกฎหมายสถาบันคุ้มครองความปลอดภัย เมื่อเอา พรบ.มาให้สมาชิกกลุ่มสังคมเพื่อน พิจารณาเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ผู้ร่วมเสนอกฎหมายประมาณ 200-300 ชื่อ โดยให้แกนนำช่วยบอกต่อสมาชิกในครอบครัวของตน  ถือเป็นกิจกรรมของกลุ่มอย่างหนึ่ง  หลังจากนั้นก็ไปร่วมกิจกรรมของหน่วยงาน การเคหะแห่งชาติบ้าง ของสำนักงานเขตบึงกลุ่มบ้างเวลาขอความร่วมมือมา งานกิจกรรมใด ๆ ก็ตามกลุ่มก็จะเน้นเอาคำว่ากลุ่มสังคมเพื่อนไปร่วมเสมอคนที่อยู่นอกกลุ่มก็ขอไปกับกลุ่มจะคัดคนที่เป็นสมาชิกกลุ่มไปก่อน เพราะเพื่อนสมาชิก จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์

                นอกจากนี้มีการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกที่เดือดร้อนเช่นการช่วยลงขันงานศพบิดาสมาชิกที่เสียชีวิตในรุ่นที่ 2 เป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือดูแลกันในยามทุกข์ยาก

                ประจวบ ทิศทองประธานสหกรณ์บริการฯในชุมชนสามัคคีพัฒนา เห็นว่า “เป็นโครงการฯที่นำไปสู่กิจกรรมที่เสริมหนุนกิจกรรมหลักของพื้นที่ให้เคลื่อนไหว มองในองค์รวมในแบบผู้บริหารจะพยายามดูว่ากิจกรรมนั้นๆ จะมาขัดต่อระบบของสหการณ์หรือไม่ถ้าไม่จะปรับให้ตรงกับคนในพื้นที่มากที่สุด เป้าหลักของการทำงานในพื้นที่ คือ การพยายามจะพัฒนาแกนนำชุมชนให้เพิ่มขึ้น ถ้าเป็นไปได้กลุ่มสังคมเพื่อนจะช่วยให้มีกลุ่มมีสมาชิกและมีแกนนำที่ชัดเจนต่อไปอนาคตข้างหน้าที่จะมาบริหารในพื้นที่ก็ได้  แต่ละกลุ่มมีการประสาน มีการคัดเลือกกันให้ส่งตัวแทนเข้ามาในการเป็นตัวแทนในการบริหารสหกรณ์  กลุ่มสังคมเพื่อนก่อให้เกิดการรวมตัวของชุมชนได้อย่างเป็นปึกแผ่นเห็นได้ชัดเจนจากคณะกรรมการก็ให้ความสนใจมาร่วมประชุมกับเราทุกครั้งก็จะพูดเรื่องสหกรณ์ สมาชิกก็จะเข้าใจบทบาทหน้าที่ของสมาชิกมากขึ้น  การเก็บค่าเช่าที่ดินทำได้ดีขึ้นเป็นหลักแสนเกือบทุกเดือนก็มีกำไรปีนี้ จากปีที่ผ่านมากำไรน้อย 70,000 กว่าบาท ปีนี้ได้ 200,000 กว่าบาท”

 

ทุนทางสังคมเดิมของชุมชนสามัคคีพัฒนา

                1. มีประธานชุมชนที่เข้มแข็ง เสียสละ มีจิตใจผูกพันธ์กับชุมชน อายุมากแต่ยังขี่รถรอบๆชุมชนดูแลความปลอดภัยให้ชุมชน เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนเพราะเป็นผู้แทนชุมชนในการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่การถูกฟ้องบุกรุกที่ดินจนได้ดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์บริการเพื่อขอเช่าที่ดินจากเจ้าของเดิมคือมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์จนทำให้ชาวชุมชนมีความภาคภูมิใจว่าเช่าที่ดินมิใช่การบุกรุกเหมือนเมื่อแรกเข้ามาตั้งบ้านเรือนในชุมชน

                2.มีกลุ่มแกนนำที่ได้รับการหล่อหลอมจากประสบการณ์ต่อเพื่อการเช่าและพัฒนาที่พักอาศัยและเข้าเป็นกรรมการชุมชนและเป็นผู้บริหารกลุ่มต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนเช่นศูนย์พัฒนาเด็ก

เงินทุนหมุนเวียน 30,000 บาท  กองทุนชุมชน1,000,000 บาท กองทุนร้านค้าสหกรณ์ชุมชนบุญส่ง

สมาชิก 32 คน กองทุน 32 ,500บาท กองทุนสวัสดิการสมาชิก 459 คน กองทุน 15,000 บาท เป็นต้น

                3. มีภาคีเครือข่ายองค์กรชุมชนหลายแห่ง เช่น 1.ชุมชนสหกรณ์เคหสถานชุมชนเมืองแห่งประเทศไทยจำกัด  2.ชมรมคนจนเมือง 3.ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคนจนเมือง  4.สมาคมร่วมกันสร้าง 5.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  6.สภาองค์กรชุมชนเขตบึงกลุ่ม ภาคีเหล่านี้ร่วมกันทำกิจกรรมพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวชุมชน

                4. มีสมาชิกชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนและต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคเรื่องที่อยู่อาศัยจนมีความสามัคคีกลมเกลียวกันพร้อมช่วยงานกันทุกเรื่อง

                5. มีประธานสหกรณ์บริการที่เข้มแข็ง แม้ว่าจะมาเข้ากลุ่มภายหลังแต่ก็เริ่มต้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของชมรมสหกรณ์ซึ่งพี่เลี้ยงช่วยเหลือชุมชนในเรื่องที่อยู่อาศัยตั้งแต่แรก จึงมีความใกล้ชิดและเข้าใจสภาพของชุมชน บริหารสหกรณ์ได้ดี

 

บทเรียนกลุ่มสังคมเพื่อนของชุมชนสามัคคีพัฒนา บึงกลุ่ม

                กลุ่มสังคมเพื่อนชุมชนสามัคคีพัฒนา เขตบึงกุ่มซึ่งมีฐานของกลุ่มสหกรณ์เคหสถานนวมินทร์ บุญส่งจำกัดเป็นรากเหง้าของความสำเร็จ ด้วยสมาชิกชุมชนได้ร่วมกันต่อสู้กับวิกฤตที่อยู่อาศัยที่บุกรุกที่ดินจากการโดนฟ้องร้องขับไล่ จนสามารถเช่าที่ดินด้วยกลุ่มของตนเอง พัฒนาชุมชนให้มีสภาพดีขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน การที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าเช่าที่ดินจากมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ การรักษาความสัมพันธ์ของสมาชิกให้สนใจร่วมกิจกรรมของสหกรณ์และจ่ายค่าเช่าให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

           การเข้าร่วมโครงการสสร.จัดกิจกรรมสังคมเพื่อนเพื่อหนุนเสริมกิจกรรมหลักของสหกรณ์ให้เข้มแข็งขึ้นซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนจากความเป็นปึกแผ่นของสมาชิกที่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของสหกรณ์มากขึ้นทำให้สหกรณ์ฯสามารถจัดเก็บเงินค่าเช่าที่และได้กำไรมากขึ้นรวมทั้งมีจิตสำนึกชุมชนร่วมรับผิดชอบต่อการพัฒนาชุมชนตนเองมากขึ้น

           กิจกรรมกลุ่มศึกษาก่อให้เกิดการกลับมากระชับพื้นที่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้น มีความใส่ใจช่วยเหลืออาทรกันและกัน เห็นได้ชัดเจนจากคำพูดของ นวพงศ์ สันแก้ว ชายหนุ่มที่เติบโตขึ้นท่ามกลางการทำงานเพื่อชุมชนของคุณแม่ขันแก้วได้ให้ความเห็นว่า “แต่เดิมที่เรามาอยู่กันมามีวิกฤติในเรื่องที่อยู่อาศัยที่เรามาร่วมมือร่วมใจกันอย่างดีแต่เราผ่านพ้นแล้วพอเราเข้าที่ทุกคนมีความสบายความเป็นปัจเจกก็สูงขึ้น  ต่างคนต่างทำมาหากินไม่ค่อยคุยกัน  ทำให้ทุกคนห่างกันไป  ความเป็นชุมชนก็ลดน้อยลง  แต่พอมีกลุ่มสังคมเพื่อนเข้ามา  ทุกคนเริ่มมีความรู้สึกความเป็นชุมชนของพวกเราเอง เริ่มมีจิตสำนึกชุมชนกลับขึ้นมาอีกครั้ง การเคลื่อนไหวกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทำให้เรากลับมาใส่ใจกันและกันอีก  ผมมีความหวังที่จะให้ชุมชนเป็นแบบนี้ต่อไป”

         สมาชิกกลุ่มศึกษามีทั้งคนที่ทำงานในระบบและนอกระบบทำให้เรียนรู้ปัญหาของการทำงานซึ่งกันและกันเข้าใจวิถีชีวิตที่แตกต่างของแรงงานแต่สมาชิกก็ช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้ทั้งสองระบบมีจุดร่วมที่จะพัฒนาชุมชนของตนและมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมโดยผลักดันนโยบายต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานและชุมชนร่วมกัน

                การที่กลุ่มชุมชนสามัคคีพัฒนาได้เปิดโอกาสให้คุณขันแก้วเป็นแกนนำกลุ่มสังคมเพื่อนก็เป็นอีกบทเรียนที่สำคัญว่าการสร้างผู้นำใหม่ๆเกิดขึ้นได้เสมอหากมีกิจกรรมหรือโครงการให้รับผิดชอบเป็นการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกชุมชน การได้เข้าร่วมกิจกรรมความรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของแกนนำ สสร. หล่อหลอมให้แกนนำมีโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้นกว่าประสบการณ์ในชุมชน

                การที่กลุ่มสังคมเพื่อนบึงกุ่มมีทุนทางสังคมเดิมที่ผ่านการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยจึงมีความรู้ในแง่ของการจัดการสหกรณ์บริการเพื่อที่อยู่อาศัยสามารถรวมทุนและมีระบบการจัดการที่ดีจนสามารถเช่าที่ดินมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยได้ด้วยตนเอง มีร้านค้าชุมชน มีเงินออมหลายรูปแบบทั้งแบบระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและระยะยาวเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของตนเองในอนาคต นับเป็นกลุ่มเรียนรู้ที่มีความก้าวหน้าพัฒนาตนเองได้อย่างครบวงจรชีวิต

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 438404เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2011 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท